การทำสบู่ และการตั้งสูตรสบู่ ตอนที่ 1

หมวดหมู่ของบล็อก: 

สวัสดีค่ะ เพื่อนๆ คะ ห่างหายไปนานจากบ้านใหญ่เลย กว่าจะหาทางเข้าบ้าน ลำบากมาก 55

จากการเป็นสมาชิกเวปบ้านสวน แต่เรื่องการปลูกผักปลูกหญ้าของเรา ฝีมือไม่ค่อยกระเตื้องเท่าไหร่ เพราะพื้นที่ไม่มี ได้แต่ป่ลูกต้นไม้บนดาดฟ้า ก็พอแก้ขัดไปได้บ้าง ไปๆ มาๆ จากการเป็นสมาชิกเวปบ้านสวน ทำให้ได้รู้ถึงพื้นฐานของการทำสบู่แบบหลอมเท ที่เพื่อนๆ ช่วยกันแชร์  จนตอนนี้ พัฒนามาเป็นสบู่สูตรธรรมชาติ ซึ่งสามารถมีลูกเล่นที่เยอะกว่า

             จากการที่ไปเรียนและพัฒนาฝีมือมาเรื่อยๆ จนพัฒนามาเป็นผู้ขาย ในตอนแรกการเรียนรู้ในการทำยากมากค่ะ และเราก็ลงเรียนแต่ขั้นพื้นฐาน เขาก็สอนแต่พื้นฐาน ทำตามเขาไป ยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ ก็อาศัยฝึกมือไปเรื่อยๆ เรื่องทริปเล็ก ๆ น้อยๆ ทำยังงัยจะให้สบู่ออกมาเริ่ด ตามแบบที่เราชอบ ต้องเรียนรู้เองค่ะ หาอ่านจากกูเกิ้ลบ้าง เข้ากลุ่มสบู่ ฟังเขาคุยกันบ้าง ที่สำคัญ มีมิตรที่ดี ก็จะช่วยแบ่งปันความรู้กัน ใหม่ๆ สบู่เสียบ้างดีบ้าง จนตอนนี้ พัฒนาออกมาเป็นสบู่หน้าตาสวยๆ ให้ครอบครัว และลูกค้าได้ทดลองใช้ จนทำเป็นอาชีพเสริม

    วันนี้นุสิจะไม่พูดถึงสูตรหลอมเท นะคะ เพราะหลายๆ คนในนี้ทำกันเป็นแล้ว เพียงซื้อเบสสบู่มาแล้วหลอมด้วยหม้อตุ๋น หรือหม้อสแตนเลสสองชั้น และละลายใส่สมุนไพร และน้ำผึ้งตามที่ชอบ ก็ได้สบู่มาใช้กันแล้ว แต่วันนี้จะขอพูดถึงวิธีการทำสบู่สูตรธรรมชาติ ซึ่งไม่ค่อยมีเปิดเผยในเรื่องของการตั้งสูตร วันนี้จะสอนการตั้งสูตร จนถึงทำสบู่เป็น และใช้คำศัพท์อย่างง่าย เพื่อความเข้าใจกับนักทำสบู่มือใหม่นะคะ

             ก่อนอื่น ต้องทราบก่อนว่า สบู่สูตรธรรมชาตินั้น มีสารตั้งต้นอะไรบ้าง

1. น้ำ (ตามตำราจะใช้น้ำกลั่น แต่ใช้น้ำเปล่าก็ได้ ไม่เสียหายอะไร )

2. น้ำมัน (แบ่งเป็น น้ำมันอ่อน และ น้ำมันแข็ง ) หลักจำง่ายๆ คือ

-   น้ำมันแข็ง  เช่น น้ำมันมะพร้าว / น้ำมันเมล็ดปาล์ม / น้ำมันปาล์ม / เชยบัตเตอร์ / โกโก้บตเตอร์

-  น้ำมันอ่อน เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันละหุ่ง  น้ำมันทานตะวัน  น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันงา  น้ำมันข้าวโพด น้ำมันมะกอก น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันคาโนล่า ( ถ้าจำไม่ได้ ก็ให้จำแต่น้ำมันแข็งเอาไว้ ที่เหลือ ให้คิดว่า เป็นน้ำมันอ่อนหมดเลย อย่างนี้จำง่ายดี)

3. ด่าง ( NaOH หรือ โซเดียมไฮดรอกไซด์ หรือ โซดาไฟ ภาษาบ้านเรานี่เอง)

***  เมื่อครบ 3 ข้อนี้แล้ว มาดูรายละเอียดตอนที่ 2 กันเลยค่ะ

การรู้คุณสมบัติของน้ำมัน เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะทำให้เราสามารถตั้งสูตรสบู่ได้ตรงตามที่เราต้องการ เช่น ต้องการฟองเยอะๆ ฟองโตๆ ก้อนแข็งหรือฟองครีม ฟองละเอียด เป็นต้น

การทำสบู่ สูตรน้ำมันที่เราควรใช้คือ น้ำมันแข็ง : น้ำมันอ่อน 60:40  หรือ 50:50  ถ้า 70:30 สบู่ทีได้ ก็จะแข็งมาก ค่าชำระล้างสูง แล้วแต่เราเลือกอยากให้สบู่เราเป็นแบบไหน

สบู่ที่มีน้ำมันแข็งมาก ค่าชำระล้างจะสูง เวลาถูตัวจะดังเอี้ยดๆ นึกออกมั้ยคะ สบู่ที่ได้จะแข็ง ฟองเยอะ ละลายเร็ว เหมาะกับคนผิวมัน อาบสะอาด

ส่วนสบู่ที่มีน้ำมันอ่อนมาก สบู่ที่ได้ จะนิ่ม ฟองเนียนนุ่มเป็นครีม ฟ้องไม่เยอะ ละลายช้า ค่าบำรุงผิวจะสูง ชำระล้างน้อย เหมาะกับคนผิวธรรมดา ถึงผิวแห้ง เพราะเวลาอาบจะไม่รู้สึกเหนียวเหนอะหนะ

ข้อ 3.  ทีนี้มาดูคุณสมบัติของน้ำมันแต่ละตัวโดยคร่าวๆ กันนะคะ ขออนุญาตก็อปมาแปะไว้ตรงนี้ เพราะรายละเอียดมันเยอะ ค่ะ

น้ำมันมะพร้าว  >>  ให้สบู่ที่แข็งและมีฟองเป็นครีม แต่อาจจะทำให้ผิวแห้ง จึงต้องใช้น้ำมันอื่นๆร่วมด้วยเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น

 น้ำมันเมล็ดปาล์ม >> ให้สบู่แข็งมาก มีความคงทน  ทำความสะอาดได้ดี  

 น้ำมันปาล์ม >>  ให้สบู่เป็นก้อนแข็ง มีความคงทน ฟองเป็นครีม

น้ำมันมะกอก >>  ให้ เนื้อสบู่ที่นุ่มนวลต่อผิวพรรณ มีสีออกเหลือง เนื้อสบู่ค่อนข้างนิ่ม ฟองเป็นครีมละเอียด อุดมด้วยวิตามินอีให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวพรรณ

น้ำมันงา >>  ให้สบู่สีขาวอมชมพูค่อนข้างนิ่ม ฟองนุ่มนวล ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวพรรณมาก

น้ำมันถั่วเหลือง >>  เป็น น้ำมันที่ใช้เป็นส่วนผสมในสบู่เพื่อเพิ่มความนุ่มนวล เพิ่มวิตามินอีและความชุ่มชื้นแก่ผิวพรรณ เนื้อสบู่นิ่ม ฟองละเอียด แต่ฟองไม่มาก

น้ำมันรำข้าว >>ได้สบู่สีขาวอมเหลือง เนื้อสบู่นิ่ม ฟองน้อยละเอียด ให้ความชุ่มชื้นสูง

น้ำมันเมล็ดทานตะวัน >>สบู่จะมีสีขาวอมเหลือง เนื้อสบู่ไม่แข็งมาก ฟองไม่มาก เพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวพรรณสูง

น้ำมันข้าวโพด >>สบู่ที่ได้มีสีขาวอมเหลือง เนื้อสบู่ไม่แข็งมาก ฟองละเอียด

 น้ำมันละหุ่ง >> สบู่มีฟองมากขึ้น  เนื้อสบู่นิ่ม เพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวพรรณ

 เชย์บัตเตอร์ >>  ใด้สบู่แข็ง เพิ่มความนุ่มนวล ฟองครีม เพิ่มค่าบำรุงแก่ผิวพรรณ  

 ตอนนี้เรารู้จักสบู่คร่าวๆ แล้วนะคะ ทีนี้ เรามาดูวิธีตั้งสูตรสบู่กันเล้ยยยยยยยย

ก่อนอื่น เพื่อนๆ ต้องเข้าไปที่เวป Soapcalce เพื่อตั้งสูตรสบู่ก่อนค่ะ http://soapcalc.net/calc/soapcalcwp.asp

จากภาพด้านล่างนี้ ดูตัวเลขสีแดงๆ ตามเลยนะคะ

1. NaOH คือ ด่าง กรณีทำสบู่ก้อน (ในเครื่องจะเลือกให้ Auto ) ส่วน KOH จะเลือกต่อเมื่อทำสบู่เหลว จะเห็นได้ว่า สารตั้งต้นต่างกันค่ะ

2. ในบ้านเราใช้หน่วยเป็นกรัม ให้เลือกที่กรัม แล้วใส่ตัวเลขลงไป ปกติ  สบู่ 1 กิโลกรัม เราจะใช้น้ำมัน 800 กรัม

3. เป็นช่องใส่เปอร์เซ็นของน้ำ สูตรมาตราฐาน เราใส่น้ำ 38 กรัม แต่บางคนต้องการให้สบู่แข็งขึ้น อาจตั้งน้ำที่ 35 หรือน้อยกว่านี้ ซึ่งวิธีนี้ เรียกว่า "การลดน้ำ " เหตุที่ต้องลดน้ำ ใช้อย่างไรบ้างตอนไหน จะบอกในคราวต่อไป

4. Super Fat  ตรงนี้เป็นการตั้งค่าน้ำมันส่วนเกิน ค่ะ การทำสบู่ ถ้าเราคำนวนด่างกับน้ำมันพอดีกันเลย หากมีด่างตกค้าง สบู่ก็จะเป็นอันตรายต่อผิว เวลานำไปใช้ ฉะนั้น ในการตั้งสูตร เขาจึงนิยมใส่น้ำมันเพิ่มเข้าไปในช่องนี้ เรียกว่า "น้ำมันส่วนเกิน" เมื่อด่างกับน้ำ และน้ำมันทำปฎิกริยากันจนเกิดเป็นสบู่ แล้วยังมีน้ำมันส่วนนี้ที่หลงเหลืออยู่ ที่ไม่ถูกทำปฎิกริยาให้เป็นสบู่ไปด้วย นอกจากผิวจะไม่ถูกทำลายแล้ว น้ำมันส่วนเกินนี้ ยังไปบำรุงผิวให้ชุ่มชื่น ไม่แห้งตึงอีกด้วย เหมือนกับเราทาออย หรือ โลชั่นบำรุงผิวค่ะ นึกภาพออกใช่มั้ยคะ ช่องล่างถัดมาคือ Fragrance น้ำหอม ใส่สัก 1 ออนซ์ หรือ 28.5 กรัม ถ้าอยากให้หอมแรง ก็ใส่มากกว่านี้ได้

5. ช่องนี้ เราใช้เข้าไปเลือกน้ำมันค่ะ น้ำมันอะไรก็ได้ ที่หาได้ง่ายในบ้านเรา แต่สัดส่วนอย่างที่บอกคือ ควรมีน้ำมันแข็งมากกว่าน้ำมันอ่อน  ไม่งั้นสบู่ที่ได้ก็จะนิ่ม ใช้วิธีดับเบิ้ลคลิก หรือ คลิกหนึ่งครั้งที่ชื่อน้ำมัน และคลิกที่ Add แล้วก็ใส่ % ลงไป

6. พอเราเลือกน้ำมันที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว คลิกที่ Calculate Recipe เพื่อให้เครื่้องคำนวนค่ะ ว่าเราใส่น้ำมันจากที่ดึงมา ครบ 100% หรือว่าขาด เกิน เครื่องจะเด้งฟ้องเลย พอเราใส่ตัวเลขในช่อง % ช่องกรัม ก็จะเด้งมา Auto ค่ะ

ภาพด้านล่างคือ หลังจากที่นุสิใส่ตัวเลขทั้งหมดที่ต้องการลงไปแล้ว ถัดจากช่องที่ 7. ลงมาคือ View or Print recipe คลิกเข้าไปเลยค่ะ เพื่อจะเข้าสู่หน้าถัดไป

** ตรงช่องสีฟ้าเล็กๆ ที่คำว่า All คือค่าสบู่ที่ได้ จากในตารางจะเห็นว่า สบู่แข็ง 49 ค่าทำความสะอาด 21 การบำรุงผิว 47 ฟอง 21 ฟองครีม 28 **

จากภาพด้านล่าง จะเห็นค่าทั้งหมด เครื่องคำนวนให้เราเรียบร้อยเลยค่ะ น้ำมันแต่ละตัว ใช้จำนวนด่างที่ไม่เท่ากัน จากสูตร เราจะชั่งน้ำหนักดังนี้

น้ำ 304 กรัม + ด่าง 114.66 กรัม + น้ำมัน 800 กรัม + น้ำหอม 24.80 กรัม ตั้งค่า Super fat (น้ำมันส่วนเกิน) 5%

เปอร์เซ็นของน้ำที่ใช้่ในสูตรนี้คือ 38 %

ด้านล่างสุดซ้ายมือตรงคำว่า Show graph ถ้าต้องการเห็นชัดๆ ว่าสบู่ที่ได้ออกมาเป็นอย่างไร ก็ให้คลิกตรงนี้ แล้วภาพแผนภูมิสีเขียวจะขึ้นมาค่ะ

ตัวเลขในวงเล็บ คือ ค่าที่สบู่ที่ดีควรจะเป็น

จากตัวอย่าง

ค่าความแข็ง ควรจะอยู่ที่ 29-54 แต่สบู่ของเราที่คำนวนออกมาได้ค่า 49% ถือว่าปลอดภัย และดี

ค่าทำความสะอาด ควรอยู่ที่ 12-22 แต่เราได้ที่ 21 ถือว่าอยู่ในเล้นท์ ถือว่าดี

ค่าบำรุงผิว ควรอยู่ที่ 44-69 แต่เราได้ 47 ถือว่าดี

ค่าฟอง ควรอยู่ที่ 14-46 เราได้ 21 ถือว่ากลางๆ ยังโอเคอยู่ค่ะ

ค่าฟองครีม ควรอยู่ที่16-48 แต่เราได้ 28 ถือว่าใช้ได้ค่ะ

แต่ถ้าอยากได้ฟองเยอะๆ แบบฟองฟ็อต หรือ ฟองครีมเปอร์เซ็นที่มากหน่อย ก็ต้องกลับไปเลือกน้ำมันใหม่ แล้วหัดทำกลับไปกลับมา แล้วเราจะได้สบู่แบบที่เราต้องการค่ะ

** นี่เป็นเพียงความรู้พื้นฐานเท่านั้น ยังต้องเรียนรู้อีกเยอะ เทคนิคใหม่ๆ ทำยังงัยให้สบู่เป็นแบบที่เราอยากให้เป็น ตรงนี้ ขอให้เป็นประสบการณ์ลงมือปฎิบัติจริงของเพื่อนๆ นะคะ วันนี้ให้เพื่อนๆ หัดตั้งสูตรก่อน แล้วค่อยลงมือปฎิบัติจริง สบู่จะได้ไม่เสียนะคะ **

สำหรับการทำสบู่ตอนที่ 1 ขอจบเท่านี้ก่อน แล้วพบกันใหม่ค่ะ บ้าย บาย ...^^

 เวปข้างล่างนี้ เป็นการเรียนรู้อย่าละเอียดจากผู้รู้ท่านอื่นที่กรุณาแบ่งปันถ่ายทอดใก่นักทำสบู่มือใหม่ ลองเข้าไปอ่านเพิ่มเติมดูนะคะ

https://www.gotoknow.org/posts/416406

ความเห็น

ยินดีค่ะ รอติดตามตอนต่อไปค่ะ

สอบถามค่ะ ที่โรงเรียนทำสบู่กันแต่ฟอกแล้วผิวแห้งตึงเกินไป ควรใส่อะไรผสมด้วยดีคะ

 

หน้า