ลำไย ที่ไม่ใช่ ลำไย ของแปลกใหม่จากเมืองยะลา (เพิ่มเติมข้อมูล)

หมวดหมู่ของบล็อก: 

ในโลกนี้ยังมีสิ่งที่เราไม่รู้จักอีกมากมาย ไม่ต้องมองไกลตัวเอาแค่ใกล้ๆ ตัวบางทีเราก็รู้ได้ไม่หมด ระดับประเทศไม่ต้องพูดถึง ระดับภาคดูจะใหญ่เกินไป แล้วภายในจังหวัดของเราล่ะ เรารู้อะไรมากน้อยแค่ไหน ข้อเท็จจริงคือทุกคนยังไม่รู้อีกเยอะเลย ดูจากตัวอย่างนี้ปะไร คนพื้นที่รู้จักกันมากน้อยเพียงใด ไปดูกัน

เริ่มจากกล่องพัสดุ EMS ส่งตรงจากยะลาถึงกรุงเทพฯ

ภายในบรรจุวัตถุส่งกลิ่นค่อนข้างแรง ขนาดยังไม่เปิดยังได้กลิ่น กลิ่นเป็นไงนะเหรอ ประมาณว่า เอากลิ่นผลไม้หลายๆชนิดมารวมกันทั้ง ระกำ สละ จำปาดะ บวกด้วย ทุเรียน ขนาดนั้นเลยเชียว

นี่ไง โฉมหน้าของผลไม้แปลกแห่งเมืองยะลา ที่เขาเรียกกันว่า "ลำไย" ไม่เห็นเหมือนลำไยสักนิด แล้วทำไมจึงชื่อ ลำไย ผมคงตอบไม่ได้แน่ เกิดจากท้องแม่มาก็นานแล้วเพิ่งได้เห็นคราวนี้เอง งานนี้ต้องอาศัยคนพื้นถิ่นยะลาช่วยไขข้อข้องใจให้หน่อย แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเขาเรียกลำไย ลำไย ก็ ลำไย แต่ไม่ใช่ลำไย(ที่ใครๆรู้จัก)ก็แล้วกัน

ลำไย (ยะลา) เป็นผลไม้ลูกค่อนข้างใหญ่ คะเนว่า 1 ลูก ประมาณ 1/2 กก.

ผ่าออกมาแล้วหน้าตาเป็นแบบนี้ เนื้อติดเมล็ด เนื้อผลกินได้ เห็นว่าใช้ปรุงรสในน้ำบูดู ผมชิมแล้ว เปรี้ยวนิด หวานหน่อย กลิ่นแรงอย่างที่บอก รสชาติพอรับได้

1 ลูกมีเพียงเมล็ดเดียว ขนาดใหญ่พอดู

ขนาดเมล็ดเทียบกับผล

 

ขนาดเมล็ดเทียบกับขวดนมเปรี้ยวยี่ห้อหนึ่ง

        ลูกลำไยแห่งเมืองยะลานี้ (มีที่อื่นด้วยหรือเปล่าไม่รู้) ผมเสาะหามาตั้งแต่ได้ยินชื่อครั้งแรกแล้ว หามานานมาก เป็นผลไม้แปลกที่อาจารย์ท่านหนึ่งที่ผมบังเอิญไปรู้จักกับท่าน แนะนำให้รู้จักจากรูปที่ท่านถ่ายไว้ เมื่อครั้งไปเยี่ยมหาท่านที่บ้านในอำเภอเมืองยะลา อาจารย์ท่านนี้ชอบต้นไม้เช่นกันและติดตามอ่านเวบบ้านสวนพอเพียง บ้างแต่ไม่ได้เป็นสมาชิก อาจารย์บอกว่าจะหามาให้ปลูกเพราะรู้ใจว่าผมชอบแนวนี้ แต่ด้วยสถานการณ์ทางใต้อาจารย์คงไม่มีเวลาที่จะไปหาให้ เนื่องจากปัจจุบันท่านเกษียณแล้วและมีอาชีพใหม่เป็นนักข่าวประจำท้องถิ่นของหนังสือพิมพ์ฉบับบหนึ่ง

        สำหรับลูกลำไยที่ผมได้รับมานี้ เป็นความกรุณาจากคุณแม่ของน้องที่ทำงานคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนยะลาและรู้จักพืชพันธุ์ชนิดนี้เป็นอย่างดี แล้วยังรู้ว่าจะหาไม้พรรณนี้ได้ที่ไหน ก็ไม่มีอะไรมากหรอกครับ สาเหตุ หรือ ต้นเหตุมาจากกิตติศัพท์ความชอบในพรรณไม้แปลกของผมนั่นเอง ที่บังเอิญไปเข้าหูคุณแม่ของน้องคนนี้เข้า จึงช่วยส่งเสริม ขอบคุณมากๆ ครับคุณแม่ (หามาให้อีกนะครับ อิอิ)

เพิ่มเติมข้อมูล         ลำไย ในประเทศไทยน่าจะมีเฉพาะทางภาคใต้ตอนล่าง บางแห่งเรียก บินยา และ ลำยา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mangifera caesia Jack ขอบคุณคุณอินเนียร์ที่ช่วยเพิ่มเติมข้อเหล่านี้

        ในส่วนข้อมูลเพิ่มเติม ต้นลำไย เป็นญาติสนิทกับมะม่วงเนื่องจากอยู่ในสกุล (Genus) เดียวกัน จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าต้นลำไยต้องมีลักษณะ ต้นและใบ เหมือนมะม่วงแน่นอน จากข้อมูลพบว่า ต้นลำไย สูงได้ถึง 30 เมตร ปลูกกันมากแถบ บาหลี(เรียก Wani) สุมาตรา และบอเนียว และมีปลูกใน มาเลเซีย (เรียก Binjai หรือ Malasian Mango), ฟิลิปปินส์ (เรียก Bayuno)

 

ความเห็น

ของแปลก..แปลกมากๆค่ะ กลิ่นแบบทุเรียนไหมคะ

ใช่ครับ กลิ่นคล้ายทุเรียน และคล้ายผลไม้อื่นๆผสมกัน

อืม แปลกดีค่ะ เพิ่งเคยได้ยิน

ใช่ครับ ตอนที่ได้ยินชื่อครั้งแรกแปลกใจมาก ยิ่งตอนจะได้เห็นของจริงยิ่งตื่นเต้นใหญ่ เพราะกลิ่นตลบอบอวนมาก

อันว่าลำไยนี้มีรสเปรี้ยว ใช้ตำใส่ในน้ำพริกแทนมะนาวหรือส้มอย่างอื่นเช่นส้มจี๊ดหรืออย่างทางภาคตะวันออกใช้ระกำเปรี้ยว รูปร่างอย่่างในภาพ วิธีใช้ก็ตักเฉพาะเนื้อสีเหลืองอ่อนใส่ลงในครกแล้วยีให้เข้ากันกับส่วนผสมแทนมะนาวดังกล่าวครับ เมื่อสุกแล้วเนื้อเหลวๆใช้ช้อนตักได้เลย                                    

 แสดงว่าคุณอินเนียร์รู้จักเจ้านี่ดี ยังพอหาต้นดูได้มั๊ย ถ่ายรูปมาให้ดูหน่อย อยากเห็นต้นครับ

ไม่เคยเห็นต้นครับ เคยเห็นแต่ผลเจอขายในตลาดตั้งแต่ผมยังเป็นเด็กอยู่ครับ(มักจะมีขายตอนไม่ใช่ฤดูที่มะนาวไม่ออกลูก) นานๆจะเจอวางขายในตลาดครับ ผมเปิดพจนานุกรมเขียนว่า เป็นคำที่เรียกเป็นภาษาท้องถิ่น เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ชนิด Mangifera caesia Jack ในวงศ์ Anacardiaceae ดอกสีม่วงอ่อน ลำไยนี้ บางที่เรียกว่า บินยา หรือลำยา ผมคัดลอกคำอธิบายนี้มาจากพจนานุกรมครับเผื่อว่าจะเป็นประโยชน์บ้าง

ได้ข้อมูลเพิ่มอย่างนี้ หารายละเอียดเพิ่มเติมได้ไม่ยาก ขอบคุณครับ

เป็นความกรุณาของคุณลุงrose 1000ครับ

อืม..แปลกจริงๆ ด้วยค่ะ เกิดมาก็เพิ่งจะเคยเห็น ได้ความรู้ใหม่แต่เช้าเลยวันนี้ ขอบคุณค่ะ

หน้า