ตามล่าหาน้ำบาดาล 2 (Finding Groundwater 2)

หมวดหมู่ของบล็อก: 

สวัสดีเพื่อนสมาชิกบ้านสวนพอเพียงทุกท่านครับ  ความเดิมจากตอนที่แล้ว หลังจากได้สอบถามเพื่อนบ้านและอ่านข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับพื้นที่แหล่งน้ำบาดาล ก็ทำให้พอมั่นใจเกิน 80% ว่าพื้นที่บริเวณแห่งนี้น่าจะมีน้ำใต้ดิน (บาดาล) อยู่ ประกอบกับเห็นสภาพการณ์วิกฤตภัยแล้งที่มาเยี่ยมเยือนแล้ว (ทำให้ผมตัดสินใจได้ไม่ยากเลย  ที่เหลือคือทุบกระปุกออมสินแล้วตั้งงบประมาณเพื่อการนี้เท่าไร เอิ๊ก- เสียตังค์อีกแล้ว) อีกอย่างผมก็คิดว่าการหาแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคเป็นความจำเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน (Infrastructure) ครับ บ้านที่สร้างไว้ก็จวนเสร็จแล้วจำเป็นต้องหาน้ำสำหรับอุปโภค ไม่ว่าจะเป็นน้ำจากสระที่ขุดไว้ (ต้องพัฒนาระบบกรอง) น้ำจากบ่อน้ำตื้นหรือจากบ่อบาดาลก็ต้องหาแล้วล่ะครับ

หลังจากตัดสินใจจะเลือกใช้วิธีเจาะน้ำบาดาล (เพราะคิดว่าในระยะยาวน่าจะดีกว่า) ถัดมาคือการสอบถามข้อมูลว่ามีใครรับเจาะน้ำบาดาลบ้าง จากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นพบว่าหน่วยราชการจังหวัดสุโขทัยไม่มีเครื่องเจาะน้ำบาดาล (Amazing! ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ! เพื่อนสมาชิกลองคิดดูว่าราชการจะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งได้แค่ไหน ผมนี่กลุ้มใจแทนเกษตรกรเลย  -- การเจาะน้ำบาดาลของส่วนราชการ จ.สุโขทัย เช่น อบต. จะขอเครื่องจักรจากจังหวัดกำแพงเพชรหรือพิษณุโลกมาทำการเจาะให้ครับ)  จากนั้นผมได้ลองคุย ๆ ดู 3 เจ้าซึ่งก็ว่าราคาและวิธีแตกต่างกันไป ผมสมมติเป็นเจ้าที่ 1, 2 และ 3 แล้วกัน

  1. ชาวบ้านที่รับเจาะเครื่องขนาดเล็ก คิดที่เมตรละ 400 บาท (ไม่เจอไม่คิดเงิน)
  2. มืออาชีพด้านเจาะบาดาล เครื่องเจาะขนาดใหญ่ คิดเหมา 80,000 บาท (ไม่เจอไม่คิดเงิน)
  3. ส่วนราชการเครื่องเจาะขนาดใหญ่ 120,000-140,000 บาทขึ้น (เห็นว่าพื้นที่ติดเชิงเขา –หินเยอะเลยไม่รับเจาะ -คาดว่าคงจะมีงานเยอะด้วยครับ)

ก่อนจะไปถึงงานเจาะขอเพิ่มเติมรายละเอียดการหาแหล่ง(ตา)น้ำของแต่ละวิธีทั้งที่ได้อ่านศึกษาและดูมารวม ๆ กัน ก่อนอื่นหลักการ (ทฤษฎี) ที่ท่านแนะนำไว้ว่าบริเวณที่มีแหล่งน้ำใต้ดินนั้น น้ำใต้ตินก็จะระเหยขึ้นมาบนดิน ดังนั้นท่านให้สังเกตบริเวณนั้นจากต้นไม้ใหญ่ใบเขียว(น้ำหล่อเลี้ยงต้นไม้) จอมปลวก (ความชื้นทำให้จอมปลวกนำดินมาสร้างจอมปลวกได้) หรือนำกะลามะพร้าววางไว้หนึ่งคืนเป็นตารางสี่เหลี่ยม (หลาย ๆ ใบ) รุ่งเช้ามาเปิดกะลาดูใบไหนมีความชื้นก็คว่ำไว้ ใบไหนแห้งก็เอาออกไป รวมทั้งหมดที่เห็นกะลาคว่ำก็จะเป็นเส้นทางน้ำใต้ดิน

ถัดมาที่เห็นคนเจาะน้ำบาดาลใช้หาแหล่งน้ำคือ การใช้ดาวน์ซิง (Dowsing Rod) ลักษณะเป็นแท่งเหล็ก (นิยมทองแดง) เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มม. งอเป็นรูปตัว L ยาวประมาณ 40-60 ซม. จำนวน 2 เส้น ตรงด้ามจับก็ใช้ฉนวนเช่นท่อพีวีซี เดินหาไปถ้าพบบริเวณตาน้ำ แท่งเหล็กก็จะเคลื่อนเข้าหากัน ก็ว่ากันว่าใช้กันมานมนานใช้ค้นหาแหล่งน้ำ แหล่งแร่ ประวัติก็มหัศจรรย์ดีครับ

(อธิบายเพิ่มเติม: คือผมเรียนมาในสายวิทยาศาสตร์ แต่ก็เคยอ่านเรื่องลึกลับพิศวงอะไรประมาณนี้ตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อไม่ได้เจอหรือไม่ได้มีโอกาสได้ใช้ก็อาจจะไม่ได้สนใจ ปัจจุบันสายวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาแรงธรรมชาติ 4 ชนิด ประกอบด้วย

  1. แรงโน้มถ่วง (Gravity Force) น่าจะเห็นในชีวิตประจำวันเวลาทำของตกร่วงลงพื้นดิน น้ำขึ้น-น้ำลง
  2. แรงแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Force) น่าจะเห็นในชีวิตประจำวันเช่นการหมุนมอเตอร์ การส่งคลื่นโทรทัศน์ วิทยุ โทรศัพท์เป็นต้น
  3. แรงนิวเคลียร์แบบเข้ม (Strong Nuclear Force) แรงยึดพันธะโมเลกุลหรืออะตอม (หรือควาร์ก)
  4. แรงนิวเคลียร์แบบอ่อน (Weak Nuclear Force) แรงที่ทำให้ดวงอาทิตย์ส่องแสง การเปลี่ยนโปรตอนเป็นฮีเลียมเป็นต้น

อันนี้ไม่เกี่ยวกับ แรงลม แรงเสียดทาน ฯลฯ แบบที่เรียกกันนะครับ อย่าหาว่าผมเพ้อเจ้อเลยนะครับ ชีวิตงานประจำต้องใช้ทฤษฎีด้านบน (โดยเฉพาะแรงแม่เหล็กไฟฟ้า) นี้อธิบายให้คนเข้าใจ แต่ผมก็ยังสงสัยปรากฏการณ์ Dowsing ที่ทำให้มันดึงเข้าหากันเหมือนกัน (เรื่องบางอย่างเราเข้าใจแต่เราก็จับไม่ได้เช่น ดูการเล่นกล ก็จับกลเขาไม่ได้) อาจจะมีแรงชนิดอื่นที่วิทยาศาสตร์ยังไม่รู้จัก หรืออาจจะมีความจริงที่ซ่อนอยู่ดังเช่น เราเคยเรียนว่า ภายในอะตอมนิวเคลียสมีนิวตรอนและโปรตอน ปัจจุบันเรารู้ว่ามีสิ่งที่เรียกว่าควาร์กแทนที่ เฮ้อเดี๋ยวจะไปไกลพอดีกว่า

การหาแหล่งน้ำบาดาลอีกแบบหนึ่งซึ่งอาจจะมีหลักวิชาการที่รองรับคือใช้ วิธีธรณีฟิสิกส์ โดยการสำรวจวัดสภาพความต้านทานไฟฟ้า (Resistivity Method)

ถ้าท่านใดยังจำวิทยาศาสตร์มัธยมได้ น่าจะพอรู้จักกฏของโอห์ม (Ohm’s Law)

E = IR

E = แรงดันไฟฟ้าหน่วยเป็นโวลต์ (V)

I = กระแสไฟฟ้าหน่วยเป็น แอมป์ ( A )

R = ความต้านทานไฟฟ้าหน่วยเป็นโอห์ม (Ω)

หลักการหาน้ำคือการวัดสภาพความต้านทานไฟฟ้า (ฉนวน) หรือความนำไฟฟ้า (ส่วนกลับฉนวนแล้วแต่จะเรียก) โดยการให้แรงดันไฟฟ้าแรงสูง (High Volt) ผ่านขั้วไฟฟ้า (Electrode) กระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านดินซึ่งปรกติจะมีน้ำแทรกซึมอยู่ก็จะให้กระแสไหลผ่านได้จำนวนหนึ่งซึ่งจะวัดกระแสที่ไหลผ่านได้แล้วนำมาแปลความหมาย

ความยากของวิธีนี้จะขึ้นอยู่กับการแปลความหมาย ทั้งในเรื่องชนิดดินและหิน องค์ประกอบของน้ำรวมทั้งสารประกอบในน้ำ อันนี้จะยากเกินไปสำหรับผมในการอธิบายครับ คงต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญมีความรู้เฉพาะด้านครับ

หลังจากได้ข้อมูลก็ตัดสินใจโดยให้เจ้าที่ 1 เริ่มงานเจาะครับ ดังรูปแรกด้านบน

ครั้งหน้าจะอธิบายขั้นตอนการขุดเจาะน้ำบาดาลที่เห็นแล้วกันนะครับ สวัสดีครับ

ความเห็น

ข้อมูลมากมายเรยค่ะ ปีนี้บ่อที่บ้านก้เพิ่งมาได้น้ำช่วงปลายปี ไว้อุปโภค ขอให้เจอน้ำอย่างที่ตั้งใจค่ะ

ความสุข..อยู่ที่ใจ

เจอครับ แต่มีเรื่องราวที่อยากถ่ายทอดเป็นประสบการณ์ให้เพื่อนสมาชิกครับผม

ไร่สุโขทัยนี้ดี ไร่นี้มีแต่ความสุข

งานใหญ่จริงๆ ได้ความรู้เพิ่มครับ ขอบคุณ 

“นานุวัฒน์ ทำเกษตรให้สนุกและมีความสุข”

เล่าสู่กันฟังครับ

ไร่สุโขทัยนี้ดี ไร่นี้มีแต่ความสุข

ขอบคุณสำหรับ ความรุ้ค่ะ ...บล็อคหน้า  ได้เห็นน้ำ แน่นอน ค่ะ

อ่ะ ยังไม่แน่ครับ

ไร่สุโขทัยนี้ดี ไร่นี้มีแต่ความสุข

สรุปว่าเอาเจ้าแรก

..โอกาสไม่ได้มีทุกวัน..

 

เร่ิมต้นที่เจ้าแรกครับ 

ไร่สุโขทัยนี้ดี ไร่นี้มีแต่ความสุข