คำอธิษฐาน ๑๐ ประการของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ... Guru of Dhamma

นำมาจาก http://inspirationtip.blogspot.com

ในหมู่ชาวพุทธ ผู้สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในประเทศไทยหรือแม้แต่ในต่างประเทศ น้อยคนนักที่จะปฏิเสธว่าไม่เคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เพราะท่านเป็นผู้สร้างวรรณกรรมอมตะทางพระพุทธศาสนาชั้นยอดฝากไว้ในบรรณพิภพมากมาย

จากนวนิยาย อาจารย์สุชีพก็ได้หันมาสร้างผลงานที่ถือว่าเป็น “มณีทางปัญญา” ที่ล้ำค่าที่สุดประดับไว้ในวงการศึกษาพระพุทธศาสนาทั้งระดับประเทศและระดับสากล ซึ่งปัจจุบันมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว นั่นก็คือ ท่านได้เรียบเรียง “พระไตรปิฎกฉบับประชาชน” ที่เป็นฉบับสมบูรณ์แบบออกมาสำเร็จเป็นฉบับแรก และเป็นคนแรกของโลกก็ว่าได้ ความวิเศษมหัศจรรย์ของพระไตรปิฎกฉบับนี้ก็คือ ท่านได้ย่อเนื้อหาพระไตรปิฎกทุกบททุกตอนจากต้นฉบับพระไตรปิฎกฉบับเดิมที่เป็นภาษาบาลี คือ ๔๕ เล่ม ให้เหลือเพียง ๑ เล่ม

..เป็นพระไตรปิฎก ๑ เล่ม ที่มีเนื้อหาครอบคลุม ๔๕ เล่มโดยสมบูรณ์..

ผู้ที่ปรารถนาจะเจริญรอยตาม “ปราชญ์แห่งปราชญ์ ครูแห่งครู” ท่านนี้ จนมีความรู้ความรู้ความสามารถทางพระพุทธศาสนาอย่างเอกอุ จนกระทั่งสามารถก้าวขึ้นมาสู่บัลลังก์ทองของความเป็นเลิศทางวิชาการเช่นเดียวกับท่านย่อมทำได้โดยไม่ยาก เพราะท่านทิ้งลายแทงมหาสมบัติที่ท่านได้ปฏิบัติตาม จนเห็นผลสำเร็จมาแล้วด้วยตนเอง ดังต่อไปนี้...

คำอธิษฐานของอาจารย์สุชีพ

คำอธิษฐานข้อที่ ๑

“ขออย่าให้ข้าพเจ้าเป็นคนคิดได้ดีอะไรอย่างลอยๆ นั่งนอนคอยแต่โชควาสนา โดยไม่ลงมือทำความดี หรือไม่เพียรพยายามสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ตน ถ้าข้าพเจ้าจะได้ดีอะไร ก็ขอให้ได้เพราะได้ทำความดีอย่างสมเหตุผลเถิด”

คำอธิษฐานข้อที่ ๒

“ขออย่าให้ข้าพเจ้าเป็นคนลืมตน ดูหมิ่นเหยียดหยามใครๆ ซึ่งอาจด้อยกว่าในทางตำแหน่ง ฐานะการเงิน หรือในทางวิชาความรู้ ขอให้ข้าพเจ้ามีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น ให้เกียรติแก่เขาตามความเหมาะสมในทางติดต่อเกี่ยวข้องกันเถิด อย่าแสดงอาการข่มขู่เยาะเย้ยใครๆ ด้วยประการใดๆเลย จะติดต่อเกี่ยวข้องกับใครๆ ก็ขอให้มีความอ่อนโยนนุ่มนวล สุภาพเรียบร้อยเถิด”

คำอธิษฐานข้อที่ ๓

“ถ้าใครพลาดพลั้งลงในการครองชีวิต หรือต้องประสบความทุกข์ความเดือดร้อนเพราะเหตุใดๆ ก็ตาม ขออย่าให้ข้าพเจ้าเหยียบย่ำซ้ำเติมคนเหล่านั้น แต่จงมีความกรุณาหาทางช่วยเขาลุกขึ้น ช่วยผ่อนคลายความทุกข์ร้อนให้แก่เขาเท่าที่จะสามารถทำได้”

คำอธิษฐานข้อที่ ๔

“ใครก็ตามมีความรู้ความสามารถขึ้นมาเท่าเทียมหรือเกือบเท่าเทียมข้าพเจ้าก็ดี มีความรู้ความสามารถหรือมีผลงานอันปรากฏดีเด่นสูงส่งอย่างน่านิยมยกย่องยิ่งกว่าข้าพเจ้าก็ดี ขออย่าให้ข้าพเจ้ารู้สึกริษยาหรือกังวลใจในความเจริญของผู้นั้นเลยแม้แต่น้อย ขอให้ข้าพเจ้าพลอยยินดีในความดี ความรู้ ความสามารถของบุคคลเหล่านั้นด้วยความจริงใจ ช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้กำลังใจแก่คนเหล่านั้น อันเข้าลักษณะการมีมุทิตาจิตในพระพุทธศาสนา ซึ่งตรงกันข้ามกับความริษยา ขออย่าให้เป็นอย่างบางคนที่เกรงนักหนาว่า คนอื่นจะดีเท่าเทียมหรือดียิ่งกว่าตน คอยหาทางพูดจาติเตียน ใส่ไคล้ให้คนทั้งหลายเห็นว่าผู้นั้นยังบกพร่องอย่างนั้นอย่างนี้ ขอให้ข้าพเจ้ามีน้ำใจสะอาด พูดส่งเสริมยกย่องผู้อื่นที่ควรยกย่องเถิด”

คำอธิษฐานข้อที่ ๕

“ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีน้ำใจเข้มแข็งอดทน อย่าเป็นคนขี้บ่นในเมื่อมีความยากลำบากอะไรเกิดขึ้น ขอให้มีกำลังใจต่อสู้กับความยากลำบากนั้นๆ โดยไม่ต้องอ้อนวอนให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มาช่วย ขออย่าเป็นคนอ่อนแอเหลียวหาที่พึ่ง เพราะไม่รู้จักทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนเลย ขออย่าให้ข้าพเจ้าเป็นคนชอบได้อภิสิทธิ์ คือสิทธิเหนือคนอื่น เช่น ไปตรวจที่โรงพยาบาล ก็ขอให้พอใจนั่งคอยตามลำดับ อย่าวุ่นวายจะเข้าตรวจก่อนทั้งที่ตนไปถึงทีหลังเลย ในการสอบแข่งขันเพื่อคัดเลือกใดๆ ขออย่าให้ข้าพเจ้าคิดหาวิธีลัดหรือวิธีทุจริตใดๆ รวมทั้งขออย่าได้วิ่งเต้นเข้าหาคนนั้นคนนี้เพื่อให้เขาช่วยให้ได้ผลดีกว่าคนอื่น ทั้งๆที่ข้าพเจ้าอาจมีคะแนนสู้คนอื่นไม่ได้เถิด”

คำอธิษฐานข้อที่ ๖

“ถ้าข้าพเจ้าทำงานในที่ใด ขออย่าให้ข้าพเจ้าคิดเอาเปรียบหรือคิดเอาแต่ได้ในทางส่วนตัว เช่น เถลไถลไม่ทำงาน รีบเลิกงานก่อนกำหนดเวลา ขอจงมีความขยันหมั่นเพียร พอใจในการทำงานให้ได้ผลดีด้วยความตั้งใจและเต็มใจเสมือนหนึ่งทำงานให้แก่ตนเอง เพื่อประโยชน์ของตนเอง ฉะนั้นเถิด”

“อันเนื่องมาแต่ความไม่คิดเอาเปรียบในข้อนี้ ถ้าข้าพเจ้าเผอิญก้ำเกินข้าวของที่ทำงานไปในทางส่วนตัวได้บ้าง เช่น กระดาษ ซอง หรือเครื่องใช้ใดๆ ขอให้ข้าพเจ้าระลึกอยู่เสมอว่าเป็นหนี้อยู่ และพยายามใช้หนี้คืนด้วยการซื้อใช้ หรือทำงานให้มากกว่าที่กำหนด เพื่อเป็นการชดเชยความก้ำเกินนั้น ข้อนี้รวมทั้งขอให้ข้าพเจ้าอย่าเอาเปรียบชาติบ้านเมือง เช่น ในเรื่องการเสียภาษีอากร ถ้ารู้ว่ายังเสียน้อยไปกว่าที่ควร หรือที่กฎหมายกำหนดไว้ ขอให้ข้าพเจ้ามีความตั้งใจที่จะชดใช้แก่ชาติบ้านเมืองอยู่เสมอ เมื่อมีโอกาสตอบแทนได้เมื่อไร ขอให้รีบตอบแทนโดยทันที เช่น ในรูปแห่งการบริจาคบำรุงโรงพยาบาล บำรุงการศึกษา หรือบริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์อื่นๆ แบบบริจาคให้มากกว่าที่รู้สึกว่ายังเป็นหนี้ชาติบ้านเมืองอยู่เสมอ และในข้อนี้ ขอให้ข้าพเจ้าปฏิบัติแม้ต่อเอกชนใดๆ ขออย่าให้ข้าพเจ้าคิดเอาเปรียบหรือโกงใครเลยแม้แต่น้อย
แม้แต่จะซื้อของ ถ้าเขาถอนเงินเกินมา ก็ขอให้ข้าพเจ้ายินดีคืนให้เขากลับไปเถิด อย่ายินดีว่ามีลาภ เพราะเขาทอนเงินเกินมาให้เลย”

คำอธิษฐานข้อที่ ๗

“ขออย่าให้ข้าพเจ้ามักใหญ่ใฝ่สูง อยากมีหน้ามีตา อยากมีอำนาจ อยากเป็นใหญ่เป็นโต ขอให้ข้าพเจ้าใฝ่สงบ มีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ ไม่ต้องเดือดร้อนในเรื่องการแข่งดีกับใครๆ ทั้งนี้เพราะข้าพเจ้าพอจะเดาได้ว่า ความมักใหญ่ใฝ่สูง ความอยากมีหน้ามีตา ความอยากมีอำนาจและอยากเป็นใหญ่เป็นโตนั้น มันเผาให้เร่าร้อน ยิ่งต้องแข่งดีกับใครๆด้วย ก็ยิ่งทำให้เกิดความคิดริษยา คิดให้ร้ายคู่แข่งขัน ถ้าอยู่อย่างใฝ่สงบ
มีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ ก็จะเย็นอกเย็นใจ ไม่ต้องนอนก่ายหน้าผากถอนใจเพราะไม่สมหวัง ขอให้ข้าพเจ้ามีความเข้าใจซาบซึ้งในพระพุทธภาษิตที่ว่า ‘ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ละความชนะความแพ้เสียได้ ย่อมเป็นสุข’ ดังนี้เถิด”

“แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า เมื่อใฝ่สงบแล้ว ข้าพเจ้าจะต้องอยู่อย่างเกียจคร้าน ไม่สร้างความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรม ข้าพเจ้าทราบดีว่าพระพุทธศาสนามิได้สอนให้คนเกียจคร้าน งอมืองอเท้า แต่สอนให้มีความบากบั่นก้าวหน้าในทางที่ดี ไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม และความบากบั่นก้าวหน้าดังกล่าวนั้น ไม่จำเป็นต้องผูกพันอยู่กับความทะยานอยากหรือความมักใหญ่ใฝ่สูงใดๆ คงทำงานไปตามหน้าที่ให้ดีที่สุด ผลดีก็จะเกิดตามมาเอง”

คำอธิษฐานข้อที่ ๘

“ขอให้ข้าพเจ้าหมั่นปลูกฝังความรู้สึกมีเมตตาปรารถนาดีต่อผู้อื่น และมีกรุณาคิดจะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ซึ่งพระพุทธเจ้าแนะนำให้ปูพื้นจิตใจด้วยเมตตากรุณาดังกล่าวนี้อยู่เสมอ จนกระทั่งไม่รู้สึกว่ามีใครเป็นศัตรูที่จะต้องคิดกำจัดตัดรอนเขาให้ถึงความพินาศ”

“ใครไม่ดี ใครทำชั่วทำผิดขอให้คิดได้ กลับตัวได้เสียเถิด อย่าทำผิดทำชั่วอีกเลย ถ้ายังขืนทำต่อไปก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ เขาจะต้องรับผลแห่งกรรมชั่วของเขาเอง เราไม่ต้องคิดแช่งชักให้เขาพินาศ ขาก็จะต้องถึงความพินาศของเขาอยู่แล้ว จะต้องแช่งให้ใจเราเดือดร้อนทำไม ขอให้ความเมตตาคิดจะให้เป็นสุข และกรุณาคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ ซึ่งข้าพเจ้าปลูกฝังขึ้นในจิตนั้น ขออย่าเป็นไปในวงแคบและวงจำกัด ขอจงเป็นไปทั้งในมนุษย์และสัตว์ทุกประเภท รวมทั้งสัตว์ดิรัจฉานด้วย เพราะไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์เหล่านั้น ต่างก็รักสุข เกลียดทุกข์ รู้จักรักตนเอง ปรารถนาดีต่อตนเองด้วยกันทั้งสิ้น”

คำอธิษฐานข้อที่ ๙

“ขอให้ข้าพเจ้าอย่าเป็นคนโกรธง่าย ต่างว่าจะโกรธบ้าง ก็ขอให้มีสติรู้ตัวโดยเร็วว่ากำลังโกรธ จะได้สอนใจตนเองให้บรรเทาความโกรธลง หรือถ้าห้ามใจให้โกรธไม่ได้ ก็ขออย่าให้ถึงกับคิดประทุษร้ายผู้อื่น หรือคิดอยากให้เขาถึงความพินาศ ซึ่งนับเป็นมโนทุจริตเลย ขอจงสามารถควบคุมจิตใจให้เป็นปกติได้โดยเร็วเมื่อมีความไม่พอใจหรือความโกรธเกิดขึ้นเถิด”

“และเนื่องมาจากความปรารถนาข้อนี้ ขอให้ข้าพเจ้าอย่าเป็นคนผูกโกรธ ให้รู้จักให้อภัย ทำใจให้ปลอดโปร่งจากการผูกอาฆาตจองเวร ขอให้มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น โดยรู้จักเปรียบเทียบกับตัวข้าพเจ้าเองว่า ข้าพเจ้าเองก็อาจทำผิด พูดผิด คิดผิด หรืออาจล่วงเกินผู้อื่นได้ ทั้งโดยมีเจตนาและไม่เจตนา ก็ถ้าข้าพเจ้าเองยังทำผิดได้ เมื่อผู้อื่นทำอะไรผิดพลาดล่วงเกินไปบ้าง ก็จงให้อภัยแก่เขาเสียเถิด อย่าผูกใจเจ็บ หรือเก็บความรู้สึกไม่พอใจนั้นมาขังอยู่ในจิตใจให้เป็นพิษเป็นภัยแก่ตัวเองเลย”

คำอธิษฐานข้อที่ ๑๐

“ขอให้ข้าพเจ้ามีความรู้ความเข้าใจและสอนใจตัวเองได้เกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธศาสนาทั้งทางโลกและทางธรรม กล่าวคือ พระพุทธศาสนาสอนให้รู้จักสร้างความเจริญแก่ตนในทางโลก และสอนให้ประพฤติปฏิบัติยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น ให้มีปัญญาเข้าใจปัญหาแห่งชีวิต เพื่อจะได้ไม่ติดไม่ยึดถือ มีจิตใจเบาสบายอันเป็นความเจริญในทางธรรม ซึ่งรวมความแล้วสอนให้เข้ากับโลกได้ดี ไม่เป็นภัยอันตรายแก่ใครๆ แต่กลับเป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ แต่ก็ได้สอนไปในทางธรรมให้เข้ากับธรรมได้ดี คือให้รู้จักโลก รู้เท่าโลก และขัดเกลานิสัยใจคอให้ดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อบรรลุความดับทุกข์พ้นทุกข์ ขอให้ข้าพเจ้ามีความเข้าใจดีทั้งทางโลกทางธรรม และปฏิบัติตนให้ถูกต้องได้ทั้งสองทาง รวมทั้งสามารถหาความสงบใจได้เอง และสามารถแนะนำชักชวนเพื่อนร่วมชาติ ร่วมโลก ให้ได้ประสบความสุขสงบได้ตามสมควรเถิด”

บทสรุป

“ความปรารถนาหรือคำอธิษฐานรวม ๑๐ ประการของข้าพเจ้านี้ ข้าพเจ้าตั้งไว้เพื่อเป็นแนวทางเตือนใจ หรือสั่งสอนตัวเอง เพราะปรากฏว่าตัวข้าพเจ้าเองยังมีข้อบกพร่อง ซึ่งจะต้องว่ากล่าวตักเตือน คอยตำหนิตัวเองอยู่เสมอ ข้าพเจ้าจึงคิดว่า ถ้าได้วางแนวสอนตัวเองขึ้นไว้เช่นนี้ เมื่อประพฤติผิดพลาด ก็อาจระลึกได้ หรือมีหลักเตือนตนได้ง่ายกว่าการที่จะนึกว่า ข้าพเจ้าดีพร้อมแล้ว หรือเป็นบุคคลที่สมบูรณ์แล้ว ซึ่งนับว่าเป็นความประมาทหรือลืมตัวอย่างยิ่ง”

อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๓ รูปร่างสังขารของท่านล่วงไปแล้วตามกฎแห่งความไม่เที่ยง (อนิจจัง) ไม่ทน (ทุกขัง) และไม่แท้ (อนัตตา) แต่อนุสาวรีย์แห่งความดีงาม คือผลงานจำนวนมากของท่านยังคงอยู่เป็น “ประภาคารแห่งปัญญา” ให้กับชนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี เหมือนกับที่ท่านยังคงมีชีวิตอยู่

ชีวิตของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เป็นชีวิตสะอาดและเป็นสุชีวิต คือ ชีวิตที่ดีงาม สมกับชื่อของท่านอย่างแท้จริง.

“สุภาพบุรุษแก้ว โกมล

ชีพสะอาดสว่างยล เยี่ยงได้

ปุญญาธิกาลดล บัณฑิต

นุภาพนิพนธ์ให้ ห่างห้วงโมหันธ์”

*****

ส่วนหนึ่งจากหนังสือ ธรรมะบันดาล

โดย ท่าน ว.วชิรเมธี

ขออนุโมทนา ...

 แหล่ง : http://inspirationtip.blogspot.com