ทำอย่างไรถึงได้บุญ
เนื่องจากสมช.บางส่วนก็ชอบเข้าวัดทำบุญอยู่แล้ว บางส่วนก็ชอบทำบุญ
แต่ไม่เข้าใจในเรื่องการทำบุญว่าต้องทำอย่างไร ทั้งๆที่เป็นพุทธศาสนิกชน
วันนี้เลยอยากนำความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาให้ได้รู้และเข้าใจในการ
ปฏิบัติง่ายๆแม้ยากจนก็สร้างบุญมากกว่าคนร่ำรวยได้ ดังต่อไปนี้
บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการคือ สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ หรือกล่าว
อย่างง่ายๆว่าเป็นการกระทำที่เกิดเป็นบุญ เป็นกุศลแก่ผู้กระทำดังต่อไปนี้
๑. บุญสำเร็จได้ด้วยการบริจาคทาน (ทานมัย) คือการเสียสละนับแต่ทรัพย์
สิ่งของ เงินทอง ตลอดจนกำลังกาย สติปัญญา ความรู้ความสามารถ
เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยส่วนรวม รวมถึงการละกิเลส โลภะ โทสะ
โมหะ ออกจากจิตใจ จนถึงการสละชีวิตอันเป็นสิ่งมีค่าที่สุดเพื่อการปฏิบัติธรรม
๒. บุญสำเร็จได้ด้วยการรักษาศีล (สีลมัย) คือการตั้งใจรักษาศีล และ
การปฏิบัติตนไม่ให้ละเมิดศีล ไม่ว่าจะเป็น
ศีล ๕ หรือศีล ๘ ของอุบาสกอุบาสิกา
ศีล ๑๐ ของสามเณร หรือ ๒๒๗ ข้อของพระภิกษุ เพื่อรักษากาย
วาจาและใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ พ้นจาก
กายทุจริต ๔ ประการ คือ
ละเว้นจากการฆ่าสัตว์
ละเว้นจากการลักทรัพย์
ละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม และ
เสพสิ่งเสพติดมึนเมา อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
วจีทุจริต ๔ ประการ คือ
ไม่พูดส่อเสียด
ไม่พูดปด
ไม่พูดเพ้อเจ้อ และ
ไม่พูดคำหยาบ
มโนทุจริต ๓ ประการ คือ
ไม่หลงงมงาย
ไม่พยาบาท
ไม่หลงผิดจากทำนองคลองธรรม
๓. บุญสำเร็จได้ด้วยการภาวนา (ภาวนามัย ) คือการอบรมจิตใจ
ในการละกิเลส ตั้งแต่ขั้นหยาบไป จนถึงกิเลสอย่างละเอียด ยกระดับ
จิตใจให้สูงขึ้นโดยใช้สมาธิปัญญา รู้ทางเจริญและทางเสื่อม จนเข้าใจ
อริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เป็นทางไปสู่ความพ้นทุกข์
บรรลุมรรค ผล นิพพานได้ในที่สุด
๔. บุญสำเร็จได้ด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่
(อปจายนมัย=อะปะจายะนะมัย)
คือการให้ความเคารพ ผู้ใหญ่และผู้มีพระคุณ ๓ ประเภท คือ
ผู้มีวัยวุฒิ ได้แก่พ่อแม่ ญาติพี่น้องและผู้สูงอายุ
ผู้มีคุณวุฒิ หรือคุณสมบัติ ได้แก่ ครูบาอาจารย์ พระภิกษุสงฆ์ และ
ผู้มีชาติวุฒิ ได้แก่พระมหากษัตริย์ และเชื้อพระวงศ์
๕. บุญสำเร็จได้ด้วยการขวนขวายในกิจการที่ชอบ
(เวยยาวัจจมัย=ไวย ยา วัด จะ ไม)
คือ การกระทำสิ่งที่เป็นคุณงามความดี ที่เกิดประโยชน์ต่อคนส่วนรวม
โดยเฉพาะทางพระพุทธศาสนา เช่น การชักนำบุคคลให้มาประพฤติ
ปฏิบัติธรรม มีทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น ในฝ่ายสัมมาทิฎฐิ
๖. บุญสำเร็จได้ด้วยการให้ส่วนบุญ (ปัตติทานมัย) คือ การอุทิศ
ส่วนบุญกุศลที่ได้กระทำไว้ ให้แก่สรรพสัตว์ทั้งปวง การบอกให้ผู้อื่น
ได้ร่วมอนุโมทนาด้วย ทั้งมนุษย์และอมนุษย์ ได้ทราบข่าวการบุญ
การกุศลที่เราได้กระทำไป
๗. บุญสำเร็จได้ด้วยการอนุโมทนา (ปัตตานุโมทนามัย)
คือ การได้ร่วมอนุโมทนา เช่น กล่าวว่า “สาธุ” เพื่อเป็นการยินดี
ยอมรับความดี และขอมีส่วนร่วมในความดีของบุคคลอื่น ถึงแม้ว่า
เราไม่มีโอกาสได้กระทำ ก็ขอให้ได้มีโอกาสได้แสดงการรับรู้
ด้วยใจปีติยินดีในบุญกุศลนั้น ผลบุญก็จะเกิดแก่บุคคลที่ได้
อนุโมทนาบุญนั้นเองด้วย
๘. บุญสำเร็จได้ด้วยการฟังธรรม
(ธัมมัสสวนมัย=ธรรม-มัส-สะ-วะ-นะ-มัย)
คือ การตั้งใจฟังธรรมที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อน หรือที่เคยฟังแล้ว
ก็รับฟังเพื่อได้รับความกระจ่างมากขึ้น บรรเทาความสงสัยและ
ทำความเห็นให้ถูกต้องยิ่งขึ้น จนเกิดปัญญาหรือความรู้ก็พยายาม
นำเอาความรู้และธรรมะนั้นนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สู่หนทางเจริญต่อไป
๙. บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม (ธัมมเทสนามัย)
คือ การแสดงธรรมไม่ว่าจะเป็นรูปของการกระทำ หรือการประพฤติ
ปฏิบัติด้วยกาย วาจา ใจ ในทางที่ชอบ ตามรอยบาทองค์พระศาสดา
ให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่บุคคลอื่น หรือการนำธรรมไปขัดเกลากิเลส
อุปนิสัยเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น ให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา
มาประพฤติปฏิบัติธรรมต่อไป
๑๐. บุญสำเร็จได้ด้วยการทำความเห็นให้ตรง (ทิฏฐชุกัมม์)
คือ ความเข้าใจในเรื่อง บาป บุญ คุณ โทษ สิ่งที่เป็นแก่นสาร
สาระหรือที่ไม่ใช่แก่นสารสาระ ทางเจริญทางเสื่อม สิ่งอันควร
ประพฤติ สิ่งอันควรละเว้น ตลอดจนการกระทำความคิดความเห็น
ให้เป็นสัมมาทิฏฐิอยู่เสมอ
บาง คนเข้าใจว่าการทำบุญนั้นจะต้องมีเงินสำหรับการทำบุญเท่านั้น
จึงจะเรียกว่า บุญ
คนที่ไม่มีเงินหรือมีเงินน้อยก็หมดโอกาสที่จะทำบุญสร้างกุศลได้ หรือ
หมดโอกาสทำบุญอย่างคนอื่นที่มีเงิน
ซึ่งการทำบุญโดยใช้เงินทำบุญนั้นเป็นหนึ่งในวิธีการทำบุญสิบอย่างเท่านั้น
การทำบุญด้วยเงินเป็นการทำให้ผู้ทำรู้จักเสียสละทรัพย์ของตนเพื่อประโยชน์
แก่ผู้อื่น ละความตระหนี่ถี่เหนียว ละความเห็นแก่ตัว และละความโลภลงได้
บางคนหลงภูมิใจเข้าใจว่าทำบุญทำทานด้วยเงินที่ตนมีมากมายในชีวิตนี้
และได้ทุ่มเททำบุญทำทานด้วยเงินมากมายขนาดนี้จึงถือว่าเป็นบุญที่
มากมายมหาศาล หาใครจะมาทำบุญมากเท่าตนมิได้ โดยเฉพาะคนที่
ไม่ค่อยมีเงินทำบุญจะมาแข่งวาสนาบารมีในเรื่องการทำบุญไม่ได้
แต่ตนไม่ได้สร้างบุญอย่างอื่นเลย เช่นรักษาศีล, ฟังธรรม ,ทำสมาธิ เป็นต้น
จึงเป็นความเข้าใจผิดสำหรับผู้ที่นิยมทำบุญสร้างกุศลด้วยการใช้เงิน
และคิดว่าเงินนั้นซื้อบุญได้ เงินนั้นแลกเปลี่ยนเป็นบุญได้
นอกจากการทำบุญที่ต้องใช้เงินแล้วยังมีการทำบุญสร้างกุศลโดยไม่ต้องใช้เงิน
อีก๙วิธี คนจนคนมีเงินน้อยก็มีสิทธิ์มีโอกาสทำบุญทำกุศลมากมายหลายอย่าง
ที่ไม่ต้องใช้ เงินอย่างคนรวยเขาทำกัน บุญอีก๙อย่างคือ
บุญกริยาวัตถุ๑๐ ข้อ๒ ถึงข้อ๑๐ นั้นสูงมากกว่าบุญที่ทำทาน
ด้วยเงินเพียงอย่างเดียว
มีความสุขมากๆ สุขภาพแข็งแรง นะคะ*.:。✿*゚‘゚・✿.。.:*
ขอขอบคุณ
WWW.INTARAM.ORG
การเข้าถึงพระนิพพานจากบล็อกโอเคเนชั่น
- บล็อกของ ป้าจี๊ด
- อ่าน 3684 ครั้ง
ความเห็น
สาวน้อย
26 พฤษภาคม, 2011 - 21:57
Permalink
ป้าจี๊ด...ขอบคุณค่ะ
เพิ่มความเข้าใจเรื่องมาอีกเยอะเลยค่ะ...ขอบคุณมากค่ะ
ชีวืตที่เพียงพอ..
แก้ว กุ๊ก กิ๊ก
26 พฤษภาคม, 2011 - 22:30
Permalink
ขอบคุณค่ะป้าจี๊ด
ทำบุญด้วยการปฏิบัติตน เป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ โดยไม่เบียดเบียนตนเองด้วย
ย่าตอน
26 พฤษภาคม, 2011 - 23:28
Permalink
ป้าจิ๊ดคะ
การให้ธรรม ชนะการให้ทั้งปวง ขอบคุณที่ช่วยทำให้การทำบุญกระจ่างชัดยิ่งขึ้นค่ะ
นู๋หวึ่ง
27 พฤษภาคม, 2011 - 00:41
Permalink
ป้าจี๊ด
ขอบคุณค่ะ
ชีวิตไม่ได้เกิดมา เพื่อยอมแพ้
น้อย คนแต่แรก
27 พฤษภาคม, 2011 - 02:54
Permalink
ป้าจี้ด
ขอบคุณคะจะเข้ามาอ่านเรื่อยๆคะ
ดาวเรือง
27 พฤษภาคม, 2011 - 03:05
Permalink
ได้ความรู้ค่ะป้าจี๊ด....
ขอบคุณมากนะคะ จะได้ทราบว่ามีวิธีทำบุญมากกว่าการให้เงิน ให้ทาน ให้แรงงาน ให้คำแนะนำที่ดี ฯลฯ
RUT2518
27 พฤษภาคม, 2011 - 05:28
Permalink
ป้าจี๊ดครับ
ขอบคุณมากนะครับ
Thanawit
27 พฤษภาคม, 2011 - 08:01
Permalink
ขอบคุณครับ ป้าจี๊ด .....
ขอบคุณครับ ป้าจี๊ด ..... สิ่งเหล่านี้ มีให้เรียนในวิชาพระพุทธศาสนา เมื่อครั้งผมยังเด็ก แต่เดี๋ยวนี้ ไม่รู้ว่ายังมีการสอนในโรงเรียนอยู่อีกหรือป่าว ....
เมื่อรู้สึกว่ากำลังแย่ จงให้กำลังใจตัวเอง ด้วยการคิดว่า "ยังมีคนอื่นที่แย่กว่าเราอีก"
ตั้ม
27 พฤษภาคม, 2011 - 11:17
Permalink
ขอบคุณป้าจี๊ด
การทำบุญที่ง่ายที่สุดคือ การมีสำนึกดี คิดดี ปฏิบัติชอบ ผมว่าเป็นเบื้องต้น เริ่มจากตัวของเราสู่ตัวเราก่อน จากนั้นจากเราสู่ผู้อื่น จากนั้นจากเราสู่สังคมโดยกว้าง และผมให้คะแนนกับการปฏิบัติบูชามากที่สุด ทรัพย์สินบริจาคเป็นส่วนรอง
แสวงหาชีวิตที่สงบ..หลบลี้หนีความวุ่นวาย