ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คำตอบของสุขภาวะในชีวิตและสิ่งแวดล้อม

หมวดหมู่ของบล็อก: 

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  คำตอบของสุขภาวะในชีวิตและสิ่งแวดล้อม : ภาพสะท้อนจากประสบการณ์ของเยาวชนที่เข้าร่วมค่ายจิตนิเวศวิทยาเชื่อมคนเชื่อมโลก


สัณห์ชาย  โมสิกรัตน์

 

เมื่อนำประสบการณ์ของเยาวชนที่เข้าร่วม ‘ค่ายจิตนิเวศวิทยาเชื่อมคนเชื่อมโลก’ มาศึกษาและค้นคว้าเพิ่มเติม  ทำให้เห็นแนวทางการใช้ชีวิตที่ส่งเสริมสุขภาวะส่วนบุคคล  สังคม  และสิ่งแวดล้อม  ซึ่งมีแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการมีชีวิตเช่นนั้น  แล้วการจะตระหนักในคุณค่าของวิถีชีวิตดังกล่าวได้  ต้องอาศัยโอกาสในการได้ใคร่ครวญประสบการณ์ชีวิตจนเกิดสติในการบริโภค  มีทิฏฐิที่เห็นคุณค่าภายในตนและสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน  ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำรัสถึงปัจจัยที่ทำให้เข้าถึงการดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาเศษฐกิจพอเพียงไว้ว่า คือ ‘การระเบิดจากภายใน’ ซึ่งงานวิจัยที่หยิบยกมานำเสนอในบทความนี้  ชี้ให้เห็นว่ารูปแบบการดำเนินชีวิต  มีความสัมพันธ์กับค่าสภาวะทางจิตใจและค่านิยมของบุคคล  ซึ่งผู้ที่มีสุขภาวะทางจิต  จะมีรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เป็นคุแก่สิ่งแวดล้อม

เกริ่นนำ

เยาวชนทั้งหมด 17 คน  ที่เข้าร่วมค่ายจิตนิเวศวิทยาเชื่อมคนเชื่อมโลกตั้งแต่วันที่ 4 – 7 เมษายน พ.ศ. 2554  ที่ผ่านมา  ในวันสุดท้ายก่อนที่เยาวชนจะเดินทางออกจากศูนย์เรียนรู้การเกษตรเพื่อการพึ่งตนเองและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น (สวนลุงโชค) ซึ่งเป็นสถานที่ดำเนินกระบวนการและพักแรมตลอด 4 วัน 3 คืน  เยาวชนได้เขียนบอกเล่าประสบการณ์ของตนในค่ายอย่างอิสระ  ซึ่งกลุ่มเพราะใจได้นำประสบการณ์เหล่านี้มาศึกษาด้วยวิธีทางคุณภาพ (qualitative)  ปรากฏการณ์และข้อมูลจากการศึกษาเพิ่มเติมที่ผู้เขียนได้หยิบยกมานำเสนอในบทความนี้  เป็นปรากฏการณ์ที่มีมิติเกี่ยวข้องกับลักษณะทางจิตใจ (psychological) ที่สัมพันธ์กับลักษณะทางนิเวศ  (ecological)

เนื้อหา

จากการศึกษาประสบการณ์ของเยาวชน  พบว่ากระบวนการของค่าย  อัธยาศัยและมิตรภาพที่เยาวชนได้รับจากคนรอบข้างในค่าย  และทัศนียภาพรอบตัว  ทำให้เยาวชนรู้สึกผ่อนคลาย  สามารถแสดงออกถึงความเป็นตัวเองได้อย่างธรรมชาติ  สภาวะจิตใจดังกล่าว  เอื้อให้เยาวชนพร้อมเปิดรับประสบการณ์ต่างๆในค่ายได้อย่างเต็มที่  ซึ่งพอจะกล่าวได้ว่าบรรยากาศในค่ายครั้งนี้  ไม่สร้างเงื่อนไขให้เยาวชนรู้สึกต้องป้องกันตนเอง (defensive)  การป้องกันตนนั้น  คือการที่บุคคลโต้ตอบสิ่งที่คุกคามเพื่อคงความรู้สึกปลอดภัยในตน (secure self)  โดยการเพิกเฉย (denying)  หรือบิดเบือน (distorting) ประสบการณ์ที่คุกคามนั้น (Lazurus, 1996 อ้างจาก Won S. Shin และคณะ, 2010)  แล้วความสัมพันธภาพที่ก่อให้เกิดการป้องกันขึ้นนั้น  โดยทั่วไปมักจะเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมทางสังคม (social environment) ที่มีการใช้อำนาจ  สภาพแวดล้อมทางสังคมไม่จำกัดเพียงแต่ความคาดหวังของบุคคล  สังคม  หรือบรรทัดฐานต่างๆ (norms)  แต่เป็นอะไรก็ตามที่มีแนวโน้มเตือนให้บุคคลระลึกถึงเงื่อนไขทางสังคม (Won S. Shin และคณะ, 2010) 

กระบวนการที่วิทยากรนำเสนอให้กับเยาวชน  เอื้อให้เยาวชนได้สำรวจและตระหนักถึงสภาวะภายในจิตใจของตน  โดยเฉพาะความรู้สึกที่มีต่อประสบการณ์ต่างๆ  และเอื้อให้เกิดความเข้าอกเข้าใจกันระหว่างสมาชิกในค่าย  การเข้าใจตนเองและคนรอบตัวมากขึ้น  มีผลส่งเสริมให้เยาวชนรู้สึกมั่นใจในคุณค่าภายในตน  มีแรงบันดาลใจในการพัฒนาตน  และตระหนักในความคิดความรู้สึกที่ตนมีต่อคนรอบข้าง  ซึ่งทั้งหมดนี้มีผลต่อสุขภาวะทางจิตและทัศนคติในการดำเนินชีวิตของเยาวชน  ดังที่เยาวชนรายงานว่ากระบวนการต่างๆนั้น  ทำให้รู้สึกว่าได้ปลดปล่อยตนเองออกจากความคิด  และเกิดความรู้สึกสมดุลย์ขึ้นภายในจิตใจ  ทำให้รู้สึกเชื่อมั่นว่าในการเผชิญกับสิ่งต่างๆที่เข้ามาในชีวิต  เขาสามารถอาศัยศักยภาพภายในตนได้อย่างเต็มที่ยิ่งขึ้น  ซึ่งนอกเหนือจากการใช้เพียงแค่ความคิดดังเช่นที่คุ้นเคย 

สิ่งที่เยาวชนรายงานออกมานั้น  สอดคล้องกับที่ Shin และคณะ, (2010) ได้นำเสนอว่า  สภาพแวดล้อมซึ่งปราศจากสิ่งที่เตือนให้บุคคลรู้สึกถึงเงื่อนไขของสังคม  เอื้อให้เกิดพฤติกรรมเผชิญปัญหา (coping behavior) ซึ่งเข้ามาแทนที่การใช้พฤติกรรมป้องกันตนเอง (defensive behavior) แล้วเมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่เยาวชนรายงานถึงความรู้สึกทางบวกที่ปรากฏขึ้นเมื่อได้เข้ามาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ  สอดคล้องกับที่ Mayer และคณะ (2011) ได้ศึกษาพบว่า  การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ  มีผลในการเพิ่มความสามารถในการไตร่ตรองปัญหาชีวิต (ability to reflect on a life problem) อารมณ์ทางบวก (positive emotions) ศักยภาพในการสนใจหรือสมาธิ (attentional capacity) และความรู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติ (connectedness to nature) ซึ่งนอกจากที่ธรรมชาติจะมีผลในทางบวกต่อจิตใจแล้ว  การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ  ก็มีผลในทางบวกกับตัวชี้วัดทางด้านสุขภาพด้วย (Sjerp De Vries และคณะ, 2003) ดังที่เยาวชนรายงานถึงความรู้สึกว่าตนมีสุขภาวะทางกายที่ดีขึ้น เช่น รู้สึกหายใจได้เต็มปอด, รู้สึกว่าตนหลับสนิท  และตื่นด้วยความรู้สึกสดชื่น  เป็นต้น  จึงกล่าวได้ว่ากระบวนการของวิทยากรและสภาพแวดล้อมในค่าย  มีส่วนในการส่งเสริมคุณลักษณะทางบวกในประสบการณ์ของเยาวชน

ตลอดระยะเวลา 4 วัน 3 คืนที่เยาวชนได้อาศัยอยู่ในชุมชนที่ดำเนินชีวิตด้วยการเกษตรและการพึ่งพาธรรมชาติ  มีการกินอยู่ที่เรียบง่าย  และเยาวชนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเกษตรและการฟื้นฟูธรรมชาติ  ทำให้เยาวชนตระหนักว่าตนมีความสามารถดำเนินชีวิตดังกล่าว  ซึ่งทำให้เขารู้สึกมีสุขภาวะทั้งทางร่างกายและจิตใจ  และเยาวชนเห็นว่าวิถีชีวิตที่พึ่งพาตนเองและธรรมชาติเช่นนี้  สามารถอยู่เหนือความวุ่นวายและการแย่งชิงในโลกปัจจุบันได้  แล้ววิถีชีวิตเช่นนี้ก็สามารถสร้างความเจริญให้แก่ตนและแบ่งปันความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ชุมชน  อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศด้วย 

บรรยากาศและวิถีชีวิตที่เอื้อให้เยาวชนผ่อนคลายจากความเครียดความกดดันที่เคยมี  รู้สึกมีความสุข  ความสบายใจ  ทำให้เยาวชนพอใจกับการมีชีวิตในรูปแบบและสภาพแวดล้อมเช่นนี้  ประสบการณ์ในค่าย  ได้ทำให้เยาวชนตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งต่างๆทั้งภายในและภายนอกตนเอง  ว่าต่างเป็นปัจจัยให้มีชีวิตและจิตใจเป็นสุขเช่นในปัจจุบันนี้  ประสบการณ์ต่างๆที่เยาวชนรู้สึกประทับในค่ายนี้  เยาวชนเชื่อว่าเป็นประสบการณ์ที่ไม่สามารถพบเจอได้โดยง่าย  เยาวชนจึงรู้สึกขอบคุณปัจจัยต่างๆที่มีส่วนให้มีชีวิตและได้พบเจอประสบการณ์ที่เยาวชนรู้สึกประทับใจในค่ายนี้ อาทิ  ผู้สนับสนุนและผู้ออกทุนทรัพย์ให้เยาวชนได้มาเข้าค่าย  อาจารย์ที่โรงเรียนซึ่งชักชวนให้มา  วิทยากรกลุ่มเพราะใจ  ลุงโชคและบุคลากร  บิดามารดา  ต้นไม้  ผืนดิน  แม่น้ำ  ท้องฟ้า  ดวงอาทิตย์  และตนเอง  เป็นต้น

                จากงานวิจัยในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นวัยรุ่นของ  Kirk W. Brown และ Tim Kasser  ชี้ให้เห็นว่า  สุขภาวะส่วนบุคคล (subjective well-being : SWB) นั้นมีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมการรับผิดชอบต่อระบบนิเวศ (ecologically responsible behavior : ERB) แล้วผู้ที่มี SWB และ ERB สูงนั้น  จะเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าภายใน (intrinsic values) ได้แก่ ความงอกงามภายในบุคคล (personal growth)  ความสัมพันธ์ (relationship) และการมีส่วนร่วมกับชุมชน (community involvement)  มากกว่าการให้ความสำคัญกับคุณค่าภายนอก (extrinsic values) ซึ่งได้แก่  ความสำเร็จด้านการเงิน (financial success)  ภาพลักษณ์ (image)  และความนิยม (popularity)  แล้วเมื่อศึกษาเพิ่มเติม  พบว่าค่าของสติ (mindfulness) ซึ่งเป็นสภาวะที่บุคคลเปิดกว้างในการรับรู้สภาพความจริงทั้งภายนอกและภายในโดยไม่บิดเบือน  จะสัมพันธ์กับ intrinsic values และ SWB กับ ERB  แต่ผู้ที่มีวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายโดยสมัครใจ (voruntary simplicity : VS)  ซึ่งเป็นเป็นผู้ที่มีการแสดงออกถึงการลดการบริโภคเชิงวัตถุ (material consumption) แล้วเพิ่มการทำประโยชน์โดยไม่พึ่งพาวัตถุ  ซึ่งมีค่าของ ERB ในทางบวก  แต่กลับไม่สัมพันธ์กับ SWB  ซึ่งมีความหมายว่า  ผู้ที่มีรูปแบบชีวิตที่แสดงออกถึงการลดการบริโภคและมีพฤติกรรมที่รับผิดชอบต่อระบบนิเวศนั้น  อาจไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลที่มีสุขภาวะและสติในการดำเนินชีวิตก็ได้

จากผลการวิจัยของ Brown และ Kasser สรุปได้ว่า  สุขภาวะส่วนบุคคลและพฤติกรรมการรับผิดชอบต่อระบบนิเวศนั้นมีความเชื่อมโยงกัน  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ  คนที่มีความสุขนั้น  จะมีการดำเนินชีวิตที่เอื้อให้เกิดความยั่งยืนในระบบนิเวศ  แล้วสติและคุณลักษณะของการให้ความสำคัญกับคุณค่าภายใน  ก็ส่งเสริมทั้งความสุขและพฤติกรรมการรับผิดชอบต่อระบบนิเวศ  ซึ่ง Brown และ Kasser อภิปรายไว้ว่า  เป็นเพราะคุณลักษณะของสติ  ที่เป็นสภาวะทางจิตใจซึ่งสะท้อนให้บุคคลตระหนักถึงกิจกรรมการบริโภคของตน  แล้วส่งเสริมให้บุคคลมีทางเลือกในการจับจ่ายของตนได้มากขึ้น  และโดยคุณลักษณะของการให้ความสำคัญกับคุณค่าภายใน (intrinsic value)  จะไม่ต้องอาศัยวัตถุในการสร้างความพึงพอใจแก่ตน (fulfillment)

                ความสำคัญของสติ  ที่ทำให้บุคคลตระหนักในการบริโภคของตนที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม  และมีตระหนักถึงทางเลือกในการบริโภคของตนมากขึ้น  ซึ่งสอดคล้องกับความหมายของภาวะสันโดษในพุทธศาสนา  ธารีวรรณ เทียมเมฆ (2551) ได้กล่าวไว้ว่า  สันโดษ  เป็นมงคลชีวิตข้อหนึ่งในพุทธศาสนา  ซึ่งหมายถึง  ภาวะที่บุคคลมีความรู้สึกยินดีพอใจในสิ่งที่มี สิ่งที่ได้ และสิ่งที่เป็นในขณะนั้น ซึ่งได้มาตามกำลังความสามารถของตน อย่างถูกต้องชอบธรรม เมื่อบุคคลมีหรือได้สิ่งต่างๆมาแล้ว ก็ใช้กำลังสติปัญญาความสามารถของตนในการใช้สอยและรักษาสิ่งเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อตนเองและผู้อื่น  ซึ่ง ธารีวรรณ เทียมเมฆ  ได้ศึกษาผลของกลุ่มจิตวิทยาพัฒนาตนและการปรึกษาแนวพุทธที่มีผลต่อความสันโดษของนักศึกษามหาวิทยาลัย  พบว่านักศึกษาที่เข้ากลุ่มจิตวิทยาพัฒนาตนและการปรึกษาแนวพุทธ  ซึ่งกระบวนการกลุ่มนั้นได้เอื้ออำนวยให้นักศึกษาเกิดการใคร่ครวญภาวะสันโดษในชีวิตของตนอย่างลึกซึ้ง  และได้เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตของเพื่อนสมาชิกผ่านการเอื้ออำนวยของผู้นำกลุ่ม  จนเกิดความเข้าใจในชีวิตตามความเป็นจริง  ทำให้ยินดีกับชีวิตของตนอย่างที่เป็นอยู่  แล้วเมื่อนักศึกษามีความเข้าใจและยินดีกับชีวิตตามความเป็นจริงแล้ว  ภาวะสันโดษย่อมเกิดขึ้น

 สรุป

                ประสบการณ์จากค่ายครั้งนี้  ทำให้เยาวชนมีความสุข เข้าใจความสุข  และเห็นทางในการดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุข  ซึ่งจากทั้งผลจากการศึกษาประสบการณ์ของเยาวชนและงานวิจัยทางจิตวิทยาที่ได้นำเสนอไปนั้น  สะท้อนให้เห็นว่าสุขภาวะทางจิตมีผลต่อรูปแบบการดำเนินชีวิต  ผู้ที่มีสติ (mindfulness)  เข้าใจและพอใจในตน  (สันโดษ, life-satisfaction) มีผลต่อสุขภาวะทางจิต (well-being)  จะนำไปสู่การมีรูปแบบชีวิต (life-style) ที่มีเกื้อกูลผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม  ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ที่เน้นให้มีการผลิตและบริโภคอย่างมีเหตุผล  สร้างความก้าวหน้าตามกำลัง  ซึ่งเป็นลักษณะของการดำเนินชีวิตอย่างมีสติ  แล้วเมื่อมีความเจริญแล้ว  ก็แบ่งปันให้กับชุมชนและสังคม  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานแนวทางในการเข้าถึงแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไว้ว่า  “ต้องระเบิดจากข้างใน”  ซึ่งหมายถึงผู้ที่จะดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น  มิใช่ยึดถือเอาเพียงรูปแบบ  หากต้องเกิดความตระหนักในคุณค่าของการดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญานี้ 

                แนวทางการศึกษาและค่านิยมในปัจจุบัน  ที่หล่อหลอมให้เชื่อว่าชีวิตที่ดีนั้นมาจากการรายได้ที่ดี  จนเกิดวิถีของการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น  ไปจนถึงสิ่งแวดล้อมกันอย่างแพร่หลาย  จากประสบการณ์ของเยาวชนในค่ายเล็กๆครั้งนี้  เป็นตัวอย่างที่พอจะสะท้อนให้เห็นถึงวิถีของการมีชีวิตที่ดี  ซึ่งสวนทางกับกระแสหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของโลก  ผลจากประสบการณ์และการศึกษาเพิ่มเติมดังที่หยิบยกมาข้างต้น  ได้นำเสนอว่าชีวิตที่ดีสามารถเข้าถึงได้ด้วยการมีสติ  และเข้าใจถึงคุณค่าของการมีชีวิตเพื่อความงอกงามภายในจิตใจของตนและคนรอบข้าง  มีความพอใจในการสร้างความก้าวหน้าตามกำลังที่มี  แล้วแบ่งปันให้แก่ชุมชนและสิ่งแวดล้อม  เฉกเช่นแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ไว้เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยทั้งมวล

 

อ้างอิง

ธารีวรรณ เทียมเมฆ.  (2551). ผลของกลุ่มจิตวิทยาพัฒนาตนและการปรึกษาแนวพุทธที่มีต่อความสันโดษของนักศึกษามหาวิทยาลัย. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัญฑิต สาขาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ภูมิพลอดุลยเดช, พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา. (2552).  คำพ่อสอน : ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ. โรงพิมพ์กรุงเทพ.

สัณห์ชาย  โมสิกรัตน์.  (2554). ประสบการณ์ของเยาวชนที่เข้าร่วมค่ายเยาวชนจิตนิเวศเชื่อมคนเชื่อมโลก. www.prohjai.com

Brown, K. W. and T. Kasser  (2005). Are Psychological and Ecological Well-Being Compatible? The Role of Values, Mindfulness, and Lifestyle.  Social Indicators Research, 74, 349 – 368.

Mayer, S. F., Frantz, M. C., Brueglman-Senecal, E., Dolliver, K. (2008). Why Is Nature Beneficial? : The Role of Connectedness to Nature. Environment and Behavior, 41, 607 – 643.

Shin, S. W., Yeoun, S. P., Yoo, W. R., Shin, S. C. (2010). Forest Experience and Psychological Health Benefit: The State of The Art and Future Prospect in Korea. Environmental Health and Preventive Medicine, 15, 38 – 47.

 

ความเห็น

อ่านแล้วมีประโยชน์ครับท่าน..ขอบคุณที่นำบทความดีๆมานำเสนอ..