"ไพล" สมุนไพรไทย แก้เคล็ดยอกช้ำบวม
สืบเนื่องจากที่ป้าติ๋วพูดถึงต้นไพลที่กำลังปลูก เมื่อวานนี้เดินสวนจึงเพิ่งสังเกตุว่าต้นไพลออกดอกเป็นรูปตามภาพด้านล่างซึ่งไม่ค่อยจะเหมือนรูปดอกไพรของพี่สร ทำให้เกิดความสงสัย (ว่า..ให้ป้าติ๋วไปผิดต้นหรือเปล่า) เมื่อไปสืบค้นจึงได้ทราบเพิ่มเติมว่าไพลมีทั้ง ไพลดำ และไพลแดง แต่ส่วนใหญ่ไพลบ้านจะเป็นดอกสีออกดำ หรือสีม่วงเข้ม ส่วนที่สีดอกดำสนิท หรือสีแดงจะหายากกว่า จึงอาจจะอนุมานว่าต้นไพลที่สวนของผมน่าจะเป็นไพลแดง
ผมไม่แน่ใจว่าไพลแดง และไพลดำจะมีสรรพคุณต่างกันหรือไม่ แต่จะขออนุญาตแชร์ความรู้ที่ค้นหามาได้ ขอให้เครดิตกับข้อมูลที่มีลงในเวปต่างๆ ที่ไปรวบรวมมาครับ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zingiber cassumunar Roxb.
ชื่ออื่น : ไพลมีชื่อท้องถิ่นต่าง ๆ กันไป เช่น ภาคเหนือเรียก "ปูเลย" ภาคกลางเรียก "ไพล" หรือ "ว่านไฟ" แม่ฮ่องสอนเรียก "มิ้นสะล่าง"
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไพลเป็นไม้ล้มลุกเนื้ออ่อน ลงหัวเป็นแง่งติดต่อกัน เป็นพืดเหมือนจำพวกว่านหรือขิง สูงประมาณ 1-1.5 เมตร ไพลเจริญงอกงามใน ฤดูฝน ต้นโทรมในฤดูหนาวทุกปีเป็นไม้ลงหัว มีเหง้าขนาดใหญ่อยู่ใต้ดิน เนื้อในเหง้าสีเหลือง มีกลิ่นหอมร้อนเฉพาะตัว บางคนว่าหอม บางคนว่าเหม็น ใบเรียวยาว ปลายใบแหลม ดอกเป็นช่อ ลักษณะเป็นแท่งกลมยาวปลายแหลมออกจาก เหง้าใต้ดิน ดอกเป็นเกล็ดซ้อนทับกันเป็นปุ่มคล้าย ลูกตุ้มถ่วงนาฬิกา โตกลม ปลายแหลม คล้ายลูกมะกอก มีดอกเล็กๆ แซงออกตามเกล็ด ดอกมีความสวยงามเช่นเดียวกับดอกขิง หรือดอกกะทือ
การขยายพันธุ์ : ไพลสามารถขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด แง่งหรือเหง้าซึ่งเป็นส่วนของลำต้นใต้ดิน โดยทั่วๆ ไปจะใช้ส่วนของเหง้าเป็นท่อนพันธุ์ในการปลูก ไพลชอบดินร่วนซุย ไม่ชอบน้ำขังหรือดินที่มีการระบายน้ำไม่ดีเนื่องจากจะเน่าเสียโดยเฉพาะดินที่มีสภาพเป็นกรด เมื่อมีฝนชุกหรือความชื้นในดินสูง จะทำให้เกิดโรคแง่งเน่า สามารถปลูกกลางแจ้งจนถึงมีแสงแดดพอควร ส่วนต้นเหนือดินมักจะยุบหรือแห้งเมื่อเข้าฤดูแล้ง
การปลูกโดยใช้เหง้าสามารถทำได้ 2 วิธี คือ :
1. ปลูกโดยใช้เหง้า ตัดเป็นท่อน ๆ ชุบด้วยสารเคมีป้องกันเชื้อรา ทิ้งไว้สักครู่ แล้วทำการปลูกลงในแปลงที่เตรียมไว้
2. ปลูกโดยใช้เหง้าเพาะให้งอกก่อน โดยทำการเพาะเหง้าที่ตัดเป็นท่อน ๆ ในกระบะทราย ให้แทงยอด แตกใบประมาณ 2-3 ใบ จึงย้ายลงปลูกในแปลงปลูก
การเก็บเกี่ยว :
- ระยะเก็บเกี่ยว ตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงวันที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไพล จะใช้ระยะเวลานาน 2-3 ปี เป็นระยะเวลาที่เหมาะสม เพราะจะทำให้ได้น้ำมันไพลที่มีปริมาณและคุณภาพสูง
- วิธีการเก็บเกี่ยว ใช้จอบ เสียมขุดเหง้าไพลขึ้นมาจากดิน (ต้องระวังไม่ให้เกิดแผลหรือรอยช้ำกับเหง้า) เขย่าดินออก ตัดรากแล้วนำไปผึ่งลมให้แห้ง
- การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว เก็บหัวไพลที่ตัดราก และผึ่งลมให้แห้งแล้ว เก็บบรรจุกระสอบพร้อมที่จะนำไปสกัดน้ำมัน โดยเครื่องกลั่นไอน้ำ สำหรับไพลที่จะนำไปผลิตเป็นลูกประคบแห้ง ให้คัดเลือกส่วนที่สมบูรณ์ปราศจากโรคและแมลง มาล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง จากนั้น นำสมุนไพรมาทำให้แห้ง โดยหั่นเหง้าไพลเป็นชิ้นบาง ๆ วางบนถาดหรือกระด้ง เกลี่ยให้บาง คลุมด้วยผ้าขาวบางเพื่อป้องกันฝุ่นละออง และป้องกันการปลิวนำไปตากแดดให้แห้ง หมั่นกลับบ่อย ๆ หรือโดยการอที่อุณหภูมิ 50 C สำหรับ 8 ชั่วโมงแรก แล้วลดอุณหภูมิลงเป็น 40-45 C หมั่นกลับบ่อย ๆ จนแห้ง โดยการใช้เหง้า ชอบดินเหนียวปนทราย แสงแดดพอควร มีความชุ่มชื้นสม่ำเสมอ
การใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืช : บดไพลแห้งให้ละเอียด แล้วละลายในแอลกอฮอล์ในอัตราส่วนร้อยละ 15 โดยน้ำหนักแล้วนำไปฉีดพ่น หรือนำไปใช้หมักเช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรขมิ้น สรรพคุณยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราสาเหตุโรคพืช
สรรพคุณยาไทย : ใช้ได้ทั้งเป็นยาภายในและยาภายนอก มีฤทธิ์แก้บิด ขับลม แก้หอบหืด ทำยาทาภายนอก หรือผสมในลูกประคบ แก้ปวดเมื่อย ทาแผล ใส่ในหม้อต้มน้ำสมุนไพร ใช้อาบ อบ ประคบได้ เหง้าไพลใช้เป็นยารักษาอาการเคล็ดขัดยอก ปวดเมื่อย ฟกช้ำ
วิธีใช้ :
เหง้าไพลสด ตำคั้นน้ำทาบริเวณที่ปวดเมื่อย ขัดยอก
เหง้าไพลสด ตำละเอียดผสมเกลือเล็กน้อย คลุกเคล้าให้ทั่ว แล้วนำมาห่อผ้าทำเป็นลูกประคบ อังไอน้ำให้ความร้อน ประคบบริเวณที่ปวดเมื่อย เช้า-เย็น จนกว่าจะหาย
ทำเป็นน้ำมันไพล โดยเอาไพลสด 2 กก. ทอดในน้ำมันพืชร้อนๆประมาณ 10 นาที กรอง รอจน น้ำมันอุ่นๆ จึงใส่ การบูรลงไป 4 ช้อนชา เทใส่ภาชนะที่มีฝาปิดสนิท รอจนเย็นจึงเขย่าการบูรให้ละลาย ได้เป็นน้ำมันไพล ใช้ทาถูนวดเมื่อปวดเมื่อย วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ :
เหง้าไพลที่ใช้เป็นยาควรมีอายุไม่ต่ำกว่า 3 ปี จะมีน้ำมันหอมระเหยประมาณ 0.8 % ซึ่งมีองค์ประกอบ หลักเป็นสารกลุ่ม terpenoid และ phenylbutanoid เช่น a-pinene , sabinene, a-terpinene, terpinen-4-o1 เป็นต้น และมีสารสีเหลือง ชื่อ curcumin
เป็นยาลดการอักเสบ แก้เคล็ด ขัดยอก แก้ปวด โดยทำการศึกษาทางด้านเภสัชวิทยาของ น้ำมันไพล พบว่า มีผลลดการอักเสบได้ และทำการศึกษาทางคลินิกพบว่า ครีมไพลสามารถรักษาอาการ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดบวมจากกล้ามเนื้อ อักเสบ เคล็ดขัดยอก และฟกช้ำ และนอกจากนี้ ยังพบว่าน้ำคั้นจากเหง้าไพลมีฤทธิ์ ทำให้ปลายประสาทชา จึงทำให้ลดอาการปวดเมื่อยได้ จากการทดลองในสัตว์ทดลอง พบว่ามีฤทธิ์ลดการอักเสบ แก้หอบหืด คลายกล้ามเนื้อ ต้านการเต้นของ หัวใจที่ผิดปกติ ฆ่าเชื้ออสุจิ ไล่แมลง เป็นยาชาเฉพาะที่ ต้านการฝังตัวของตัวอ่อนในมดลูก และต้านเชื้อ แบคทีเรีย ไพลนอกจากจะใช้เป็นยาถูนวดแก้ปวดเมื่อยเคล็ดยอกแล้ว ยังมีประโยชน์อื่นๆ อีกเช่น
เป็นยากันยุง โดยใช้น้ำมันไพล ซึ่งจะต่างกับน้ำมันหอมระเหยอื่น ๆ ตรงที่เมื่อถูกกับผิวหนัง แล้วจะไม่ รู้สึกร้อน เมื่อทา ผิวหนังจะป้องกันยุงได้ หรือใช้ผงเหง้าไพลแช่ในแอลกอฮอล์ 95 % 12-48 ชั่วโมง กรอง แล้วนำไปทำให้ เข้มข้นประมาณ 30 % ทาตามแขนขา ป้องกันยุงกัดได้นานถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง หรือใช้ขี้ผึ้งไพล ความเข้มข้น 30 % จะป้องกันยุงกัดได้นานถึง 3 ชั่วโมง (ทดลองกับยุงลายและยุงรำคาญ)
เป็นยาทาแผลพุพอง หนองฝี หรือโรคผิวหนังบางชนิดได้ เนื่องจากมีฤทธิ์ต้านจุลชีพได้ หลายชนิด เช่น ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนองฝี ต้านเชื้อราบางชนิด ที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังได้
การศึกษาด้านความเป็นพิษของไพล : แบ่งเป็น 2 ส่วน
1. การทดสอบความเป็นพิษเมื่อใช้ภายนอก พบว่าไพลหรือ น้ำมันไพลไม่มีพิษระดับเฉียบพลัน และ กึ่งเรื้อรัง ไม่ระคายเคือง และไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ต่อผิวหนัง
2. การทดสอบความเป็นพิษเมื่อใช้เป็นยาภายใน การศึกษาพิษระยะสั้นของไพลในหนูถีบจักร โดยให้ไพลหรือสารสกัดไพลขนาดต่างๆเพียงครั้งเดียว พบว่าไม่ปรากฏ อาการพิษเฉียบพลันใดๆ ถึงแม้จะให้ขนาดสูงถึง 10 ก./กก. แต่การศึกษาพิษระยะยาว ในหนูขาว 1 ปี ซึ่งเปรียบเทียบระยะเวลา ได้ประมาณ ครึ่งหนึ่งของช่วงชีวิตหนูขาว พบว่าไพลเป็นพิษต่อตับ คือทำให้เกิดตับแข็ง และเกิดการก่อมะเร็งที่ตับหนูขาว ซึ่งพบความรุนแรงได้ 3 ระดับ จำนวนตับหนูขาว ผิดปกติจะเพิ่มขึ้นตามขนาดของยาไพลที่ได้รับและพบมะเร็งที่ตับ (hepatocellular carcinoma) ของ หนูขาวที่กรอกยาไพล ขนาดต่ำ 1 ตัว การทดลองนี้ได้ผลสอดคล้องกันทั้งการเจริญเติบโต และ สุขภาพของ หนูขาว ผลการตรวจสอบซีรั่มทางชีวเคมี การชันสูตรซากและการตรวจสอบทางจุลพยาธิ วิทยาของอวัยวะ ภายใน ส่วนการศึกษาพิษระยะยาว ของไพลในลิงแสมอายุ 2 ปี เปรียบเทียบระยะเวลา ได้ไม่ถึง 1 ใน 5 ของช่วงชีวิตลิงแสม ถึงแม้จะพบว่าลิงแสมที่ได้รับไพล ขนาดต่ำ มีการเจริญเติบโตเร็ว และ มีจำนวน เม็ดเลือดแดงอัดแน่น สูงกว่ากลุ่มอื่น แต่ลิงที่ได้รับไพลขนาดสูง เกิดอาการเป็นพิษต่อตับอย่าง เฉียบพลัน การเจริญเติบโตช้า สุขภาพไม่แข็งแรง ตับเสียสมดุล ในการสร้างโปรตีน แต่ร่างกายมีการปรับสภาพเป็น ระยะ ๆ เซลล์ของตับสามารถซ่อมแซมหรือฟื้นฟูใหม่ได้ เมื่อสิ้นสุดการทดลอง 2 ปี จึงไม่พบความผิดปกติ จากการตรวจทาง จุลพยาธิวิทยา
จากผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าในผงไพลน่าจะมีสารที่เป็นพิษต่อตับ ทั้งนี้มิได้เกิดจากการปนเปื้อน คงเนื่องจากสาร ในธรรมชาติของเหง้าไพล และสรุปว่ายังไม่มีความปลอดภัยที่จะนำเหง้าไพลมาใช้เป็น ยารับประทานติดต่อกัน นอกเสียจาก จะทำการ ขจัดสารที่เป็นพิษต่อตับออกจากผงไพลเสียก่อน แม้จะมี การวิจัยพบว่าไพลสามารถบรรเทาอาการหอบหืดได้ดี แต่ได้ ข้อมูลวิทยาศาสตร์ ที่พึงสังวรไว้ให้มีความ ระมัดระวังในด้านความปลอดภัยในการที่จะนำสมุนไพรมาใช้เป็นยา
ขอบคุณบ้านสวนพอเพียง
ข้อมูลรวบรวมมาจากหลายๆ link ตามนี้ครับ
http://soclaimon.wordpress.com/2011/08/30/ไพลป่าแดง-สวยหายาก
http://www.baanmaha.com/community/thread13110.html
http://www.magnoliathailand.com/webboard/index.php?topic=2701.0
http://ittm.dtam.moph.go.th/product_champion/herb10.htm
http://www.thaifitway.com/education/ndata/n2db/question.asp?QID=22
- บล็อกของ teerapan
- อ่าน 11824 ครั้ง
ความเห็น
RUT2518
26 กันยายน, 2011 - 06:07
Permalink
Re: "ไพล" สมุนไพรไทย แก้เคล็ดยอกช้ำบวม
ข้อมูลดีๆ ขอบคุณครับ
นายลำใย ศรีษะแก้ว
26 กันยายน, 2011 - 10:25
Permalink
Re: "ไพล" สมุนไพรไทย แก้เคล็ดยอกช้ำบวม
ไพลผมเองก็เอาไปปลูกไว้หลายกอ..แต่หาไม่เจอ..ต้องรอดูตอนโตอย่างเดียว..ซึ่งผู้ปกครองผมบ่นประจำ..ปลูกเยอะแต่จำไม่ได้..เพราะไม่จัดโซนต้นไม้..สงสัยต้องจัดระเบียบสวนใหม่หรือเปล่าก็ไม่รู้..
สายพิน
26 กันยายน, 2011 - 14:42
Permalink
Re: "ไพล" สมุนไพรไทย แก้เคล็ดยอกช้ำบวม
คุณธีรพันธ์ ที่บ้านปลูกไพลด้วยค่ะ แต่ปลูกจำนวนไม่มากเลย กะว่าให้รู้จักกันว่านี้คือไพล ต้องขอขอบคุณข้อมูลความรู้นี้ที่เสาะหามาให้ ขอบคุณมากจริง ๆ
สาวภูธร
26 กันยายน, 2011 - 16:32
Permalink
Re: "ไพล" สมุนไพรไทย แก้เคล็ดยอกช้ำบวม
:cute: :cute: :cute:
หน้า