ทดลองใช้ดินขุยไผ่เป็นวัสดุในการปลูกบอนสี

หมวดหมู่ของบล็อก: 

ทดลองใช้ดินขุยไผ่เป็นวัสดุในการปลูกบอนสี

คนวงการไผ่อย่างผม จะให้ใช้ใบก้ามปูใช้ใบมะขามมันก็ดูจะขัดกันอยู่ไม่น้อย เพราะไม่ว่าจะหันไปทางไหนรอบตัวก็มีแต่ใบไผ่ ที่สวนไผ่อาบูมีดินขุยไผ่ให้ใช้เยอะไม่ต้องซื้อ

ว่าแล้วก็ถือโอกาสเอาวิธีการแยกหน่อบอนสีนางไหม โดยใช้ดินขุยไผ่เป็นวัสดุปลูกมาให้ดูเป็นแนวทางซะเลย โดยมีวิธีการคร่าวๆ ดังนี้

1. หาดินขุยไผ่ที่เกิดจากการทับถมกันของใบไผ่ ซึ่งมีอยู่ทั่วไปตามโคนกอไผ่ทุกชนิด (หรือใครจะเอาใบไผ่มาหมักเองก็ได้)

2. นำต้นบอนสีมาล้างดินเก่าออกให้หมด โดยใช้น้ำฉีดเบาๆ ระวังอย่าให้รากบอนสีเสียหาย

3. ใช้มีดคมๆ แทงแยกหน่อบอนสีออกจากกอแม่ (ถ้ามีปูนแดงใช้ปูนแดงป้ายรอยแผลเพื่อป้องกันเชื้อรา)

4. นำดินขุยไผ่ใส่ในกระถางประมาณ 1 ใน 3 ของกระถาง แล้วนำต้นบอนสีวางลงบนดินขุยไผ่

5. นำดินขุยไผ่โรยทับให้ทั่ว ไม่ต้องกดให้แน่น เพราะบอนสีชอบดินโปร่งๆ รากจะเดินดีกว่าดินแน่นๆ

6. รดน้ำให้ชุ่ม เป็นอันจบขั้นตอนการแยกหน่อบอนสี

#หมายเหตุ ใครมีตู้หรือโรงอบก็ให้นำเข้าตู้ บอนสีจะได้ฟื้นตัวเร็ว ทว่าบอนสีของที่นี่เน้นโตแบบธรรมชาติ ไม่ต้องอบ แต่ใช้วิธีการวางในถาดน้ำแล้วนำไปตั้งตามใต้ร่มไม้

#หลักสำคัญ! ในการแยกหน่อบอนสีควรทำตอนเย็นๆ หรือไม่ก็ทำวันวันฝนตก บอนจะได้ไม่เหี่ยวไม่เฉา ฟื้นตัวได้เร็ว

บอนสีรุ่นหลังๆ ของที่นี่มักจะใช้ดินขุยไผ่เป็นวัสดุปลูก จากที่สังเกตุดู การเติบโตถือว่าดีมาก การกัดสีดี ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากดินขุยไผ่มีมูลไส้เดือนเป็นส่วนผสมโดยธรรมชาติ ใบไผ่มีองค์ประกอบของธาตุไนโตรเจนเยอะ ที่สำคัญดินขุยไผ่เป็นที่อยู่ของไตรโคเดอร์มาซึ่งช่วยป้องกันการเกิดเชื้อราในดินได้ดี

#ว่าแล้วก็หันมาทำเกษตรสายชิวกันน่ะครับ! ของรอบตัวเรามีคุณค่าในตัว อยู่ที่เราจะหยิบจับมาใช้ให้เกิดประโยชน์