เวทีประลองหน้าแล้ง - เครื่องสูบน้ำ

หมวดหมู่ของบล็อก: 


หน้าฝนสระกลายเป็นร่องน้ำ


ผลจากความแล้ง ระดับน้ำที่เคยสูงจนสระกลายเป็นร่องน้ำ (รูปบนสุด)  ในวันนี้น้ำลดระดับลงอย่างต่อเนื่องทำให้เห็นภาพสระที่ชัดเจนขึ้น  ประกอบกับภัยแล้งทำให้การวางแผนเรื่องน้ำชัดเจนขึ้นตามลำดับ

ปัญหา

  1. หน้าฝนน้ำล้นคันดินทำให้สระกลายเป็นร่องน้ำ  ไม่สามารถเลี้ยงปลาได้
  2. ถ้าจะเลี้ยงปลา จำเป็นต้องมีการถ่ายเทน้ำ โดยการกำจัดน้ำเสีย  และเติมน้ำดีเข้ามา
  3. น้ำในสระลดตามระดับน้ำในลำห้วย/อ่างเก็บน้ำ  เนื่องจากระดับน้ำในหน้าฝนกับหน้าแล้งต่างกันมากกว่า 2 เมตร  ทำให้ระบบนิเวศน์เปลี่ยนไปอย่างมาก พืชน้ำเหี่ยวตาย  ปลาอาศัยอยู่ได้ยากเพราะระดับน้ำลดลง  ทำให้การรักษานิเวศน์ของสระทำได้ยาก
  4. ดินในสวนแห้งมาก  จำเป็นต้องสูบน้ำจากลำห้วยขึ้นไปรดน้ำต้นไม้เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งในระหว่างที่ธรรมชาติยังไม่เข้าสู่จุดสมดุล

แนวทางการแก้ไขปัญหา

  1. เสริมคันดินอีกประมาณ 1.5-2 เมตร กว้างประมาณ 2-3 เมตร  เพื่อให้สระยังคงเป็นสระในช่วงฤดูฝน
  2. ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจากสระ (ท่อน้ำเข้า 1) เพื่อเอาน้ำเสียจากปลาไปรดน้ำต้นไม้  ต้นไม้ได้แร่ธาตุจากของเสียของปลา (มีไนโตรเจนอยู่) และน้ำเสียได้รับการบำบัดผ่านรากพืช และชั้นดินก่อนจะซึมกลับลงในลำห้วย / สระ
  3. ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจากลำห้วยเพื่อนำน้ำดีจากลำห้วย (ท่อน้ำเข้า 2) เข้ามาเดิมในสระ

 

ตอนนี้เพิ่งทำข้อ 2 เสร็จข้อเดียวอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ต้นไม้ที่อยู่ด้านบนของสวนรอดพ้นจากภัยแล้งในปีนี้ตามที่โชว์รูปไว้ในบล็อกเวทีประลองหน้าแล้ง - พืชสวน vs พืชท้องถิ่น ขอได้บ้างบางส่วนก็ยังดี  ส่วนข้อ 1 & 3 ต้องใช้รถตักซึ่งตอนนี้ยังเข้ามาไม่ได้ (เขาจะรอให้น้ำแห้งกว่าตอนนี้อีกถึงจะเอารถเข้ามาขุดลอกลำห้วยได้) แน่นอนว่าใช้เครื่องสูบน้ำไฟฟ้าตามที่บอกเล่าไว้ในบล็อกเครื่องสูบน้ำ - ไฟฟ้า หรือเครื่องยนต์ ? 

ให้ช่างก่อสร้างอาคารติดตั้งเครื่องสูบน้ำ  จะทำเป็นที่หมักปุ๋ยชีวภาพน้ำไปด้วยในอนาคตอันใกล้นี้  อาคารสร้างจากอิฐบล็อกฉาบผนังบาง

  • ปั๊มน้ำติดตั้งบนโครงเหล็กฉากเพื่อความง่ายในการบำรุงรักษา และลดการเป็นสนิมของเครื่องปั๊มน้ำจากน้ำที่นองบนพื้น
  • ติดตั้งช่องอากาศทุกด้านของผนังเพื่อให้ความชื้นระเหยออกไปได้ง่าย
  • มีปั๊มไฟฟ้า 2 ตัวเป็นระบบสำรองซึ่งกันและกัน (อันนี้ฟุ่มเฟือยเล็กน้อย)
  • มีการติดตั้งที่เติมน้ำเพือล่อน้ำ/ไล่อากาศ
  • มีการติดตั้งระบบเติมน้ำใส่ถังปุ๋ย  และส่งน้ำที่ผสมปุ๋ยแล้วกลับเข้าทางท่อดูดเพื่อจ่ายไปยังต้นไม้
  • ด้านขาออกติดตั้ง check valve เพื่อป้องกันฆ้อนน้ำ  เนื่องจากต้องส่งน้ำขึ้นไปค่อนข้างสูง และไกล
  • ทางท่อขาออกติดตั้งแอร์แว 2 ตัวเพื่อทำให้ปั๊มน้ำเดินเรียบขึ้น และมีน้ำส่งขึ้นไปด้านบนอย่างสม่ำเสมอ

บทเรียนจากการติดตั้งปั๊ม

กว่าจะทำให้เครื่องสูบน้ำทำงานได้เรียบร้อยต้องจัดการกันอยู่หลายสัปดาห์ ซึ่งมีบทเรียนหลายเรื่องดังนี้

ปัญหา สาเหตุ / วิธีแก้ไข
ล่อน้ำขาเข้าได้แต่น้ำรั่วออก ลิ้นหัวกระโหลกอันเก่าเสื่อม  ทำการเปลี่ยนหัวกระโหลกใหม่
สูบน้ำได้น้อย หรือสูบไม่ขึ้น อากาศรั่วเข้าท่อดูด  ทำการซ่อม/เปลี่ยนท่อดูด และอัดน้ำยาตามรอยต่อต่างๆ ให้แน่น
หัวกระโหลกอยู่ใกล้พื้นสระมากเกินไป  ใช้ไม้ยันให้หัวกระโหลกออกไปอยู่ตรงกลางสระ  ใส่ทุ่นดึงให้หัวกระโหลกลอยพอสมควร  เพราะถ้าลอยอยู่ใกล้ผิวน้ำมากไปก็จะทำให้อากาศเข้าได้
มีอากาศค้างในท่อ  ใช้ช่องไล่อากาศที่ตัวปั๊มค่อยๆ ไล่อากาศในท่อออกไปให้หมด

โครงการถัดไปคือทำสิ่งที่ตรงข้ามกับพี่ตั้มที่ขุดสระไป  พี่ตั้มขุดดินเพื่อให้เป็นสระน้ำ  ผมจะถมคันดินเพื่อให้กลายเป็นสระน้ำ  และปรับปรุงริ่มตลิ่งเพื่อลดการพังทะลายของดินลงไปในลำห้วย/อ่างเก็บน้ำ โดยปัญหาของการพังทะลายในสวนน่าจะเกิดจากหลายปัจจัยดังนี้ :

  • ความแตกต่างของระดับน้ำในหน้าฝน/หน้าแล้ง การลดระดับน้ำในลำห้วยทำให้แรงดันน้ำในดินสูง  กำลังของดินลดลง  และเมื่อตลิ่งแห้งตัวแรงตึงผิว (Capillary) จะหายไปทำให้ดินขาดเสถียรภาพในทางธรณี  การปลูกต้นไม้ที่ช่วยยึดดินริ่มตลิ่งจะช่วยชะลอการกัดเซาะดังกล่าว
  • การกัดเซาะของคลื่นโดยเฉพาะบริเวณที่ใกล้อ่างเก็บน้ำ เนื่องจากลมส่วนใหญ่ในเพชรบุรีจะพัดจากทิศใต้ขึ้นไปทางเหนือ  ที่ดินของผมอยู่ทางทิศเหนือของอ่างเก็บน้ำจึงมักจะถูกคลื่นน้ำที่เกิดจากลมกัดเซาะมากกว่าที่ดินที่อยู่ทางด้านใต้ของอ่างเก็บน้ำ  และบริเวณในอ่างเก็บน้ำจะไม่มีแนวกันลม (เพราะไม่มีต้นไม้ขึ้นในกลางอ่างเก็บน้ำได้)   จึงสามารถเกิดคลื่นได้มากกว่าด้านที่ติดกับลำห้วย    การปลูกพืชชายน้ำ (marginal plant) จะช่วยชะลอแรงปะทะของคลื่นไม่ให้โดนตลิ่งโดยตรง
  • ปริมาณฝนที่ตกหนักมากในหน้าฝนทำให้เกิดน้ำไหลที่ผิว (run-off water) จากด้านบนลงมาในลำห้วยมาก  เมื่อเกิดการไหลที่ผิวดินโดยเฉพาะบริเวณริมตลิ่งเกิดเป็นแรงเฉือน  หากแรงดังกล่าวมีขนาดสูงกว่ากำลังต้านทานแรงเฉือนของผิวดินจะทำให้เกิดการกัดเซาะทั้งแบบการพังทลายแบบเลื่อนหมุน การพังทลายที่บริเวณผิวลาด และบริเวณท้องน้ำ  จึงมีความจำเป็นที่จะต้องชะลอการไหลลงมากของน้ำให้ได้นานที่สุด  เครื่องมือที่ดีที่สุดคือการทำร่องชะลอน้ำ (permaculture swale) ควบคู่ไปกับการปลูกพืชคลุมดิน

จะเห็นว่ายังมีภาระกิจอีกมากที่ต้องทำก่อนที่หน้าฝนจะมาเยือนในปีนี้  โดยเฉพาะการทำนำแนวคิดเพอร์มาคัลเจอร์อย่างร่องชะลอน้ำ (permaculture swale) มาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการน้ำในสภาพพื้นที่ชายเขาของไทย  ชาวบ้านแถวนี้หาว่าผมเพี้ยน เพราะพวกเขาชอบใช้รถไถปราบที่ให้เรียบแต่ผมไม่ยอมให้ไถง่ายๆ  พวกเขาชอบที่เรียบๆ เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการแต่ผมกลับจะขุดร่องชะลอน้ำให้ที่ดินกลับเป็นคลื่นไม่เรียบ  พวกเขาเน้นให้จ้างคนมาตัดหญ้าให้โล่งๆ แต่ผมกลับชอบให้มันรกๆ ในระดับหนึ่ง (ถ้ารกมากก็ต้องมีตัดบ้าง)  พวกเขาแนะนำให้ติด springer ทั่วสวนแต่ผมกลับจะขุดร่องชะลอน้ำแทนการติด springer  พวกเขาฉีดทั้งยาฆ่าหญ้า/ยาฆ่าแมลงแต่ผมเดินฉีดเชื้อรา/น้ำหมัก พวกเขาฉีดฮอร์โมนเร่งต้นไม้ให้ออกผลเยอะๆแต่ผลปล่อยตามธรรมชาติ  พวกเขานั่งห่อผลไม้ทีละลูกแต่ผมกลับปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ  พวกเขาตัดไม้ไปเผาถ่านแต่ผมกลับปล่อยให้ไม้ผุพังขวางทางน้ำในสวน

ผมกำลังทำสิ่งที่ชาวบ้านแถวนี้ไม่ทำกัน  ผมอาจจะเพี้ยน และอาจจะคิดผิดจริงๆก็ได้ แต่วันนี้สวนผมมีนกมาอาศัยอยู่มากกว่าสวนข้างๆ ทั้งหมด  มีแมลงหน้าตาแปลกๆ มีพืชแปลกๆ ให้ชมกัน ผมยังมีความสุขกับการมาสวนแล้วได้พบเจอสิ่งเหล่านี้  ได้ยินเสียงนกร้องทั้งวัน (เมื่อก่อนจะได้ยินเฉพาะตอนพลบค่ำ) ได้เดินไปเก็บผลไม้สดๆ ได้ครั้งละไม่กี่ผลกลับมาทานทุกสัปดาห์โดยที่เราแทบไมได้ลงแรงดูแลมันเลย ผมก็เลยยังคงเพี้ยนทำมันต่อไป ฮ่าๆๆ

ความเห็น

แอร์แวใหญ่มากกกกกกกกกก :good-job:

หน้า