การสำรวจข้อมูลระยะไกล (Remote Sensing)

หมวดหมู่ของบล็อก: 

 

 

สวัสดีเพื่อนสมาชิกบ้านสวนพอเพียงทุกท่านครับ ผมนั่งดูภาพนี้ของไร่สุโขทัยนี้ดีทำให้จินตนาการถึงสารคดีที่ดูทางโทรทัศน์เรื่องเกี่ยวกับความแห้งแล้งเช่น ทุ่งหญ้าสวันนาในแอฟริกาที่สัตว์จำนวนมากต่างรอคอยฝน ประเทศไทยเราอาจจะไม่ถึงขนาดนั้นแต่ในอนาคตไม่ช้าก็อาจจะเกิดขึ้นได้ ถ้าหากเรายังไม่สามารถหยุดยั้งการรุกล้ำป่าไม้ต้นน้ำได้ (ผมเคยนั่ง off road เข้าป่าก็หลายที่อยู่ อาทิเช่นที่ จ.กาญจนบุรี ในอุทยานเลยนะครับ ข้างนอกก็มีต้นไม้ขึ้นขับเข้าไปไม่เกินครึ่งชั่วโมง ไหงกลายเป็นทุ่งข้าวโพดเต็มไปหมดเลย ทางภาคอิสาน (ไม่เว้นแม้แต่จังหวัดสุโขทัย) ก็สวนยางพาราเต็มไปหมด หรือนั่งดูโทรทัศน์ที่จ.น่านเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจก็มีลักษณะคล้าย ๆ กัน ป่าไม้หัวล้านอยู่ตรงกลาง)

หลังจากบ่นตามประสาวัยรุ่น (แก่แล้ว) ก็อยากจะพูดถึงเรื่องการสำรวจข้อมูลระยะไกล (Remote Sensing) ความจริงระบบฐานข้อมูลเทคโนโลยีหรือ IT ในบ้านเราก็มีการพัฒนาไปมากพอสมควร หลาย ๆ หน่วยงานก็มีการประยุกต์นำมาใช้งาน เช่น ปริมาณฝน ปริมาณน้ำในเขื่อน สภาพภูมิอากาศ การจำแนกแผนที่ดิน ฯลฯ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าแต่ละหน่วยงานมีการประชาสัมพันธ์ให้บุคคลภายนอกรวม ทั้งเกษตรกรอย่างเรานำมาใช้ได้คุ้มค่าแล้วหรือยัง (หมายถึงสังเคราะห์ให้เรียบร้อยแล้วนำผลที่ได้มาแจ้งแก่เกษตรกร อาทิ ปรากฏการณ์เอลนิโญ) เพราะบางครั้งการตีความจากข้อมูลดิบของแต่ละบุคคล (ที่ขาดความรู้ความชำนาญอาจจะเกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย หรือแม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญก็ยังอาจเกิดขึ้นได้ดังข่าวที่ออกมา กรมชลประทานบอกระวังน้ำท่วม (อาจจะเฉพาะพื้นที่บางจังหวัดหรือภาคใต้เป็นต้น) ในขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาบอกระวังภัยแล้ง (อาจจะครอบคลุมทั้งประเทศ) จึงขอถือโอกาสนี้มาแนะนำการใช้ประโยชน์เบื้องต้นจากการสำรวจระยะไกล 

เพื่อน ๆ สมาชิกบ้านสวน ฯ หลาย ๆ ท่านอาจจะมีโอกาสก้าวเท้าเดินไปดูสวนดูไร่ของตัวเองตามต้องการ แต่สำหรับผมโอกาสสำหรับทำเช่นนั้นค่อนข้างยาก เนื่องด้วยระยะทางที่อยู่อาศัยกับไร่สุโขทัยนี้ดีไม่ใช่ระยะใกล้ ๆ เลย ฉะนั้นนอกจากโทรศัพท์สอบถามญาติ ๆ (บางครั้งก็เกรงใจเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ) ก็พยายามใช้ระบบข้อมูลเทคโนโลยีที่มีอยู่ตอบคำถามที่เราสงสัยบ้างเป็นบางครั้ง อาทิเช่น ฝนตกไหม? แทนที่จะโทรศัพท์สอบถามเป็นครั้ง ๆ เปิด website www.thaiwater.net ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์กรมหาชน) ก็พอจะมีข้อมูล (ใกล้เคียงกับความจริง เนื่องจากสถานีเก็บข้อมูลแต่ละที่มีความห่างกันพอสมควร แล้วฝนเดียวนี้ก็ชอบตกเป็นหย่อม ๆ ด้วย –บางทีเดินข้ามแยกไฟแดงไปไม่เห็นฝนก็มี 55) ข้อมูลปริมาณน้ำฝนแต่ละจังหวัด หรือที่วัดได้ตามสถานีวัดน้ำฝนแต่ละแห่ง

อีกหนึ่ง website www.satda.tmd.go.th ที่น่าจะเป็นประโยชน์ในตอนนี้คือแผนภาพถ่ายดาวเทียมของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งได้นำเสนอไปในคราวที่แล้ว สำหรับกรมอุตุมิยมวิทยา www.tmd.go.th ก็มีข้อมูลเยอะเหมือนกัน

ยังมีอีกหลาย ๆ websites รวมทั้ง Apps บนมือถือ iOS Android ที่เปิดโอกาสในการเข้าถึง (สำรวจ) ข้อมูลจากระยะไกล น่าจะมีประโยชน์กับเกษตรกรทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ถ้ามีโอกาสจะลองมานำเสนออีกครั้งครับ สวัสดีครับ Laughing

ความเห็น

เรื่องฟ้าฝน ส่วนใหญ่ผมจะฟังรายงานอากาศของกรมอุตุฯจากวิทยุและทีวีครับ

..โอกาสไม่ได้มีทุกวัน..

 

หน้า