เล่าเรื่องใบชา

หมวดหมู่ของบล็อก: 

บล็อกแอบดูเมืองจีนเพิ่งจะเสร็จไปสดๆ ร้อนๆ แม้จะก้าวเท้าออกจากแผ่นดินจีนมาเป็นเดือนแล้ว อ้อยหวานขอเหลียวหลัง ชะเง้อคอดูจีนอีกสักบล็อก แต่จะเป็นการจิบน้ำชาและเล่าเรื่องใบชา ขอบอกไว้ก่อนว่าความรู้เรื่องใบชาของอ้อยหวานนั้นน้อยนิด มีแต่เรื่องพื้นๆ เล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ส่วนน้ำชา ดื่มก็ได้  ไม่ได้ดื่มก็โอเค แต่ที่ถูกใจแบบรักเลยคือกาน้ำชา ที่บ้านมีกาชาเก็บสะสมไว้เกือบ 50 ใบ เพราะคุณผู้ชายก็ชอบกาชาเหมือนกัน

ก่อนไปเมืองจีนอ้อยหวานถามลูกทั้งสองคนว่าอยากได้อะไรจากเมืองจีน ทั้งสองคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ชาจีน” เพราะค่านิยมการจิบน้ำชากำลังมาแรง ลูกสาวของอ้อยหวานสะสมใบชาจนเต็มตู้ และดื่มน้ำชาแทนการดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลม ส่วนลูกชายก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่จะล้ำหน้าพี่สาวไปนิดนึง คือ ไม่ดื่มเฉยๆ เป็นคนที่ชอบหรือสนใจอะไรแล้ว จะขุดคุ้ยหาความรู้ไปจนถึงต้นตอ เช่น รู้ว่าอุณหภูมิของน้ำที่จะใช้ชงชานั้น ขึ้นอยู่กับชาแต่ละชนิด และส่วนใหญ่จะไม่ใช่น้ำที่เดือดพวยพุ่งมากๆ เพราะถ้าร้อนจัดจะทำให้ใบชาไหม้และมีรสขม เป็นต้น

 

เมื่อไปถึงเมืองจีน ไปบ้านไหนหรือเข้าพักโรงแรมไหน ก็ต้องมีการต้อนรับด้วยน้ำชา ก็คนจีนดื่มน้ำชามาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ย้อนไปไกลถึง 3000 กว่าปี อีกทั้งมณฑลฝูเจี้ยนและมณฑลกวางตุ้งนั้นเป็นแหล่งผลิตใบชาอันดับต้นๆ ของประเทศจีน

 

คณะของเรามีโอกาสไปนั่งจิบชา ชิมชา ที่ร้านขายชาก่อนถึงเมืองเซี่ยเมิน ร้านค่อนข้างใหญ่มีใบชาหลากหลายชนิด อ้อยหวานชิมชาจนลิ้นชา เลือกซื้อใบชากันไม่ถูกเลย คนที่ดื่มชาแล้วงั้นๆ อย่างอ้อยหวาน ลองชิมแล้วก็ยังว่ามันเหมือนๆ กันไปหมด ดีที่ลูกสั่งมาว่าอยากได้ชาอู๋หลงและชาผู่เอ๋อร์ ทำให้แคบมาสักนิดนึง แต่โอ้..ชาอู๋หลงก็มีอีกหลายชนิดแตกต่างกันไป ส่วนชาผู่เอ๋อก็ทำไมมันแพงอย่างนี้ กว่าจะออกมาจากร้านได้ กระเป๋าสตางค์ก็เบาไปมาก

 

ไหใบชาที่ร้านขายชา ราคาไม่เบาเลย

 

แล้วโชคใบชาก็หล่นทับอ้อยหวานอีก คนจีนที่นี่เขานิยมให้ของขวัญเป็นใบชา ใส่กล่องและถุงสีแดงสวยๆ มีคำอวยพรดีๆ ควรค่าเป็นของขวัญที่ทั้งคนให้และคนรับเป็นปลื้ม พ่อของอ้อยหวานได้รับของขวัญใบชามามากมาย และขนกลับไปเมืองไทยไม่หมด ใบชาของพ่อส่วนหนึ่งเลยได้เดินทางไกลมาแคนนาดา เป็นของฝากให้หลานๆ และลูกเขยคนไกล

 

ต้นชามีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Camellia sinensis เป็นพืชในสกุล Camellia และอยู่ในวงศ์ Theaceae มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอินเดีย

ต้นชาเป็นไม้พุ่มที่มีใบเขียวตลอดปี โดยปรกติแล้วจะไม่ปล่อยให้สูงเกินสองเมตร ดอกจะมีสีเหลืองซีดเกือบขาว มีขนาด 2.5-4 ซ.ม. มี 7-8 กลีบ ใบมีขนาดยาว 4-15 ซม กว้าง 2-5 ซม ยอดและใบอ่อนสองสามใบจากยอดเท่านั้นที่จะเก็บมาทำใบชา การเก็บชาจะเก็บด้วยมือทุกๆ หนึ่งหรือสองอาทิตย์ ต้นชาที่นิยมปลูกกันจะมีสองสายพันธุ์คือ ชาจีน (Camellia sinensis var. sinensis) เป็นชาใบเล็ก และชาอัสสัม (Camellia sinensis var. assamica) เป็นชาใบใหญ่ที่ใช้ทำชาดำ

ขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย

 

ลูกชาหนึ่งลูกจะมีเมล็ดอยู่สามเมล็ด เม็ดของชานั้นมีขนาดใกล้เคียงกับเมล็ดแมคคาเดเมีย ในยูนานทางภาคใต้ของประเทศจีนใช้น้ำมันจากเม็ดชาทำอาหาร

น้ำมันเมล็ดชาเป็นที่รู้จักในประเทศจีน นานกว่า 1,000 ปี มาแล้ว เนื่องจากมีองค์ประกอบของไขมันที่ดีต่อร่างกายไม่ด้อยไปกว่าน้ำมันมะกอก และไม่มีกรดไขมันทรานส์ ซี่งทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมวิตามินเอ ดี อี และเค ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้น้ำมันชายังมีกรดไขมันอิ่มตัวซึ่งไม่ดีต่อร่างกายต่ำ ในขณะที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว หรือกรดโอเลอิก (กรดโอเมก้า 9) สูงถึงประมาณ 87-81% กรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (กรดโอเมก้า 6) ประมาณ 13-28% และ กรดแอลฟาไลโนเลอิก (กรดโอเมก้า 3) ประมาณ 1-3% กรดไขมันไม่อิ่มตัวเหล่านี้สามารถช่วยลดระดับ LDL (คลอเรสเตอรอลชนิดไม่ดี) และเพิ่มระดับ HDL (คลอเรสเตอรอลชนิดดี) ในร่างกาย ป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดตีบตัน โรคอัมพาต โรคความดัน โรคเบาหวาน และโรคหัวใจได้ จึงดีต่อสุขภาพของผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน สตรีมีครรภ์ และผู้สูงอายุ

อ่านรายละเอียดได้ที่เว็ปไซด์ของ ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน

 

ต้นชาของลูกสาว ปลูกจากเมล็ดที่สั่งซื้อทางอินเทอร์เน็ท ต้นชานั้นถ้าปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติโดยที่ไม่ไปตัดเล็มมัน จะสูงได้ถึง 3 เมตร

 

และแน่นอนชัวๆ ว่าชาวจีนดื่มน้ำชาเป็นชาติแรกของโลก มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันอย่างแน่ชัด โดยเริ่มจากการใช้น้ำชาในการรักษาโรค ต่อมาน้ำชาก็กลายมาเป็นเครื่องดื่มประจำวันของคนจีนทั่วประเทศ และแพร่หลายไปทั่วโลก คำภาษาอังกฤษ ‘ที’ (tea) หรือฝรั่งเศส ‘เท’ (té) มาจากสำนวนแต้จิ๋ว ‘เต้’ ที่แปลว่าชา ส่วนคำว่า ชา (cha) ในภาษาไทย ญี่ปุ่น หรืออินเดียนั้น มาจากสำนวนกวางตุ้ง 'ฉ่า' ก็แปลว่าชาเช่นกัน

 

ชาจีนแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 6 ประเภทคือ ชาเขียว ชาขาว ชาเหลือง ชาอูหลง ชาดำ และชาผู่เอ๋อร์ ทั้งหมดนี้มาจากต้นชาชนิดเดียวกัน แต่แตกกันตรงกรรมวิธีแปรรูปและตากแห้ง และบางชนิดต้องมีการหมักและบ่มอีกด้วย ยิ่งผ่านกรรมวิธีแปรรูปมากเท่าไรสีของน้ำชาจะยิ่งเข้มข้นขึ้น

 

ชาอูหลงที่วางขายอยู่ในซอยเล็กๆ ทื่ถนนคนเดิน จงซานลู่ (Zhongshan) เมืองเซี่ยเมิน (Xiamen)

ชาอูหลง เป็นชากึ่ง หมัก ผ่านกระบวนการนวดเล็กน้อย ใช้เวลาไม่มากนัก มีกลิ่นหอม รสชาดชุ่มคอ ถ้าเป็นชาน้ำร้อนจะเห็นสีเขียวของใบชาอยู่ รสชาติจะจืดกว่าชาเขียว น้ำชามีสีแดงเข้ม หมักใบสดระหว่างผลิตบางส่วน ต้นกำเนิดของชาอูหลงอยู่ที่ประเทศจีน ในจังหวัดฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ซึ่งภาษาจีนใช้ว่า “วูหลงฉา” อันแปลความหมายได้ว่า มังกรดำ

ขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย

 

ส่วนถาดนี้เป็นชาดำ แต่คนจีนจะเรียกกันว่าชาแดง เพราะชาที่สีดำของคนจีนคือชาผู่เอ๋อร์เท่านั้น

 

ชาผู่เอ๋อร์ชนิดแผ่นกลม ที่ราคาแพงมาก อ้อยหวานซื้อมาหนึ่งก้อนเป็นของขวัญให้พ่อ เป็นชาผู่เอ๋อร์แผ่นกลมที่เขาอัดมามีรูปลิงอยู่ตรงกลางสำหรับปีลิงโดยเฉพาะ และมีคำอวยพรอยู่ด้วย

ชาผู่เอ๋อร์ เป็นชาที่ปลูกทางภาคใต้ของมณฑลหยุนหนาน (ยูนนาน) ที่อำเภอผู่เอ๋อร์ โดยชนชาติหยี ซึ่งเป็นชนชาติส่วนน้อยของมณฑลหยุนหนาน ชาผู่เอ๋อร์ นับว่าเป็นชาที่ดังและมาแรงมากในปัจจุบัน เปรียบกันว่ามีราคาเท่ากับทองคำเลยทีเดียว ชาผู่เอ๋อร์เป็นชาหมัก น้ำชามีสีดำ ผลิตมากจากชาพันธ์ใบใหญ่ยูนนานเท่านั้น ชาชนิดนี้ผู้ใดได้ดื่มเป็นครั้งแรกจะรู้สึกว่ามีกลิ่นแรงและรสชาติเข้มข้น มาก แต่เมื่อดื่มเป็นครั้งต่อ ๆ ไปจะรู้สึกติดใจจนลืมไม่ลง ชาผู่เอ๋อร์มีกรรมวิธีการผลิดแบบโบราณโดยการหมักไว้ในเข่งตะกร้าสานด้วยไม้ ไผ่และรองด้วยใบตอง หมักแล้วอัดเป็นก้อนตั้งแต่ขนาดเท่าหัวแม่มือ ไปจนถึงขนาดเท่าโต๊ะกลม ๆ แล้วเก็บไว้ตั้งแต่ 1 ปี 5 ปี 10 ปี ไปจนถึง 20 ปี แล้วนำออกขาย

ขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย

 

ใบชาไม่ใช่จะเป็นเพียงแค่เครื่องดื่มในชีวิตประจำวันของชาวจีนเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลไปถึงศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีของจีนอย่างลึกซึ้งเข้าไปในสายเลือดเลยทีเดียว เช่นในพิธีแต่งงานจะต้องมีพิธียกน้ำชา ที่คู่บ่าวสาวจะต้องคุกเข่าเสริฟน้ำชาให้พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ ส่วนในศิลปะนั้นชาก็มีอิทธิพลมากมาย ตั้งแต่วรรณคดี ศิลปะการเขียนด้วยพู่กัน ปรัชญา รวมไปถึงงานปั้นงานฝีมือ กาน้ำชาของจีนนั้นจัดได้ว่าเป็นเลิศในปฐพี

กาชาในรูปข้างบนนั้นสวยมากๆ และก็แพงมากๆ ด้วย

 

ไม่เพียงแต่กาชาที่สวยเหลือหลาย โถใส่ชาก็งามจริงๆ หนอ อันนี้เป็นโถชาส้มโอที่อ้อยหวานเคยเล่าไว้ใน บล็อกนี้

 

โถนี้สวยไหมค่ะ 3800 หยวน สองหมื่นกว่าบาทเอง!!

 

หรือกลั้นใจยกทั้งไหไปเลย

 

ที่หมู่บ้านของพ่อเขาใช้ชุดชาแบบนี้กัน มีชี่อเรียกว่า ชากังฟู (kung fu tea) แต่ไม่มีมัดมวยนะ ชุดชากังฟูนี้จะมาเป็นชุด มีถาด ถ้วยที่มีฝาปิดเรียกว่า ไกวาน (Gaiwan) และถ้วยน้ำชาเล็กๆ น่ารัก เรียกว่าต้องค่อยๆ จิบน้ำชาจริงๆ

กรรมวิธีชงชากังฟู (kung fu tea) ก็เป็นศิลปชั้นเลิศ ประดิดประดอย พิถีพิถัน คนชงก็ค่อยๆ ชงไป คนคอยดื่มก็ต้องใจเย็น ถึงเวลาดื่มก็ค่อยๆ จิบ เพราะถ้วยมันเล็ก กรรมวิธีย่อๆ มีดังนี้  เริ่มจากเอาน้ำร้อนราดถ้วยไกวาน (Gaiwan)  ใส่ใบชาลงในถ้วยให้เต็ม แล้วเทน้ำร้อนลงไป น้ำชาครั้งแรกนี้เขาไม่ดื่มกัน แต่จะใช้ล้างถ้วยชา น้ำที่สอง ที่สาม ที่สี่ หรือมากกว่านั้นถึงจะเป็นน้ำชาที่ใช้ดื่มกัน พอแขกดื่มเสร็จก็ต้องวางน้องถ้วยน้อยๆ ลงบนถาด จากนั้นคนชงก็จัดการเอาน้ำร้อนล้างถ้วยอีกครั้ง แล้วเริ่มขั้นตอนชงเหมือนเดิมอีก โดยไม่ต้องเปลี่ยนใบชา ทำเช่นนี้ไปทุกรอบจนกว่าแขกจะลาจาก และถาดรองรับน้ำข้างล่างก็เต็มพอดี บางบ้านจะมีท่อน้ำเล็กถ่ายน้ำจากถาดไปลงในถังอีกที

 

ชุดชากังฟู (kung fu tea) ชุดนี้เป็นของอีกบ้านหนึ่ง เขาใช้กาชาเล็กๆ แทนถ้วยไกวาน (Gaiwan) และมีไม้ไว้คีบถ้วยร้อนๆด้วย

เล่าเรื่องใบชาก็จบลงเพียงเท่านี้ ขอลาไปจิบน้ำชาก่อนนะค่ะ

อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับชาเพิ่มเติม ได้ที่นี่ค่ะ

http://www.lcsd.gov.hk/ce/Museum/Arts/7thingsabouttea/en/ch1_0_0.htm

http://chineseteas101.com/

https://en.wikipedia.org/wiki/Tea

https://en.wikipedia.org/wiki/Camellia_sinensis

http://www.mymajestea.com/blog/tea_article_one_three_multiple_teas/

http://www.guideinchina.com/food/detail/id/80.html

https://en.wikipedia.org/wiki/Chinese_tea_culture

 

 

I would like to Thanks everyone for all the resources for this blog. Thank you.

 

ขอให้เพื่อนๆมีแต่ความสุข

 

ขอบคุณค่ะ

 

อ้อยหวาน

ความเห็น

สวยงาม มากค่ะ ถ้วยชา...และขอบคุณสำหรับควมมรู้เรื่องชา...ดีทีเดียว ที่ สมาชิกบ้านพี่อ้อย ชอบสิ่งที่เกี่ยวกับ ชา เหมือนกัน.....ต้นชา ของน้องหลานสาว..จะปลูกลงดิน มั้ยคะ พี่อ้อย

 

ต้นชาคงต้องอยู่ในกระถางไปตลอดชีวิต เพราะถ้าลงสวน หิมะมาทีเดียวก็ไม่เหลือค่ะน้องบัวริม ดื่มชาก็ดีเหมือนกันเนอะ ดีกว่าพวกน้ำหวานน้ำอัดลม แต่ก่อนพี่ติอโค๊ก กว่าจะเลิกได้หลายปีทีเดียว ตอนนี้กลายมาเป็นติดกาแฟเสียเนี๋ย แต่หวานน้อยลง

เมื่อนานมาแล้วได้ไปเที่ยวดอยแม่สลอง เดินชิมชาเกือบทุกร้าน ชาบางชนิดชิมที่ร้านก็อร่อยดีคะ ซื้อกลับมาชง ไม่อร่อยเหมือนที่ชิม มาได้ความรู้ว่าเขาใช้น้ำฝนในการชงชาคะ  แต่ชาพี่อ้อยหวานเยอะจัง จะกินทันมั้ยคะ

ความสะดวกสบายมีขาย แต่ความสุขเงินซื้อไม่ได้ เพราะความสุขมิใช่เงิน

การชงชาถ้าศึกษาจริงๆ นี่ละเอียดอ่อนมาก เป็นศิลปะแขนงหนึ่งเลยทีเดียว พี่ยังกะจะเอาหิมะมาต้มชาดู คิดว่ามันคงจะอร่อยเหมือนกันนะ

ถ้ามีเพื่อนมาทานข้าวที่บ้านอ๊อดก็จะชงชารับแขกค่ะ ถ้าอยู่คนเดียวจะขี้เกียจชง ไม่ค่อยดื่มชาเท่าไหร่ รู้สึกมันไม่สนุก อิอิ ไว้ว่างๆ ขอเชิญพี่อ้อยมาค้างที่บ้านได้นะค่ะ อ๊อดย้ายบ้านแล้ว มาอยู่วอร์ชิงตันสเตทค่ะ ไกล้ๆพอร์ทแลนด์ มีลู่ปั่นจักรยานทั่วเมือง ถ้ามาก็เอาจักรยานมาด้วยนะคร้าาาา คิดถึงค่ะ ไม่ได้คุยกันนานเลย

อ๊อดสบายดีนะ ห่างหาย ร้างลากันไปหลายคน พี่ก็อยู่ตรงนี้แหละไม่ไปไหน แต่รอดูสวนของอ๊อดอยู่..

ปีที่แล้วพี่ไปแถวๆ บ้านอ๊อดมาแล้ว น่าอยู่มาก อย่าลืมไปชมสวนกุหลาบบนเขานะ สวยจริงๆ

ส่วนชานั้นลูกพี่เขาชอบกันมาก เขาบอกว่าดีกว่าดื่มกาแฟ

หนูจะจิบชา แค่ตอนช่วงที่เมืองไทย อากาศเย็นๆ ค่ะพี่อ้อย ...ร่างกายอบอุ่นดี....คิดถึง จังเลย

การจิบน้ำชา กับคนจีน เป็นของคู่กัน ค่ะ---คิดถึงมากค่ะ พี่อ้อย ฝากความคิดถึง คุณผู้ชาย ด้วยค่ะ

ดื่มชา เป็นประจำ อารมณ์ดีครับพี่อ้อย---แต่ที่เมืองจีนนี่ ชาเค้าขึ้นชื่อ ถ้วยชา สวยมากครับ

จงเตือนตน ด้วยตนเอง

ภาพสวยเรื่องราวเนื้อหาครบครันน่าติดตามชมเหมือนเดิมเลยค่ะ

หน้า