รวยแต่เปลือก หรือ จนไม่ลง

หมวดหมู่ของบล็อก: 

ตอนเด็กๆ  ได้ยินคำนี้บ่อย  รวยแต่เปลือก  พ่อบอกว่า คนเราวัดความรวยกันที่ความสุข  ครอบครัวมีความสุข ลูกๆมีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ พ่อถือว่าพ่อรวยแล้ว รวยน้ำใจ รวยความสุข  แต่คนที่เขาบอกว่ามีเงินทองเยอะๆ  ใส่ทองหยองเต็มตัว อาจจะไม่มีความสุขก็ได้  บางคนข้าวปลาอาหารไม่มีให้ลูกกิน  แต่พ่อแม่อวดร่ำอวดรวยด้วยทรัพย์สินเงินทองของนอกกายที่ไปหยิบยืมคนอื่นเค้ามา  เพื่อให้ดูไม่น้อยหน้าคนอื่น   เป็นความรวยที่ไม่จริง  รวยแต่เปลือกนอก แต่ข้างในอาจจนก็ได้

 

เมื่อก่อน มองคนที่เค้ามีเงินเยอะ มีเสื้อผ้าดีๆ  ได้กินอาหารขยะ  เราก็คิดว่า โห เค้ารวยจังเลย  มีเงินในกระเป๋าเยอะด้วย   เพื่อนๆบางคนมาเรียนหนังสือได้เงินมาวันละร้อยบาท  ทำไมเราจนจังเลย  พ่อให้ห่อข้าวมากินที่โรงเรียนทุกวัน  กับข้าวก็เป็นผักปลาที่พ่อหามาจากกลางทุ่ง  กับข้าวบ้านๆ  ผักบ้านๆ เราอยากกินพิซซ่าเหมือนเพื่อนจัง    ถามพ่อว่า เราจนเหรอ ทำไมหนูต้องคดข้าวห่อไปโรงเรียนทุกวัน   พ่อบอก  กินอาหารอย่างนี้แหละ หนูจะได้ฉลาดเรียนเก่งๆ  ถ้าหนูไปกินอาหารอย่างเพื่อนๆหนูนะ  เดี๋ยวจะสอบไม่ได้ที่หนึ่ง   ด้วยความบ้าเรียนเก่ง อยากสอบได้ที่หนึ่ง  เลยต้องกินอาหารที่พ่อทำให้ทุกวัน 

 

จนเราโตมา  เรียนจบมีงานทำ หาอาหารเองได้  เงินทองที่มีในกระเป๋า ซื้อพิซซ่า หรือไก่ผู้พันได้เป็นรถสิบล้อ  แต่ทำไมเราถึงไม่อยากกินเลย  ใจนั้นอยากกินแต่กับข้าวบ้านๆฝืมือพ่อ 

 

สังคมที่เราเดินผ่านมา ทำให้รู้ว่า  สังคมนี้อย่ามองแต่เปลือก  ให้มองไปหาแก่นสารข้างใน  เกษตรกรในสังคมชนบทบ้านเรา มีอยู่มีกิน อุดมสมบูรณ์ ร่ำรวยกันถ้วนหน้า   กลับบ้านที่ต่างจังหวัดแต่ละครั้ง  ไปบ้านใครก็ได้กินข้าวฟรี ผักฟรี อุดมสมบูรณ์  ถ้าเขาไม่ร่ำรวยจริงๆ เขาจะให้เรากินฟรีมั้ยละ   นี่เขาให้เรากินฟรี แสดงว่า เขาร่ำรวยน้ำใจ มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์  ถึงให้เรากินฟรีได้

 

บางคนในสังคมเมืองในเมืองไทย  หรือ คนที่มาอยู่เมืองนอก   บางคนชอบคุยอวดกันว่า ฉันร่ำรวยมีเงินทองเยอะ   ฉันมีสามีฝรั่งรวย  ค่านิยมแบบนี้ทำให้เด็กสาวหลายคนอยากมีสามีฝรั่งบ้าง เพราะคิดว่า รวย  มีเงินทองให้ใช้จ่ายสบาย 

 

แต่ที่เราพบเห็นมา จากการใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองนอกแปดปีแล้ว   คนที่บอกว่า เขารวยอย่างนั้นอย่างนี้   สามีทำงานได้เงินเดือนหนึ่งเป็นล้านบาท ให้เมียเก็บเงิน แต่ด้วยความใช้ชีวิตอย่างประมาท เสียเงินกับการพนัน ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ทำให้เงินหมดไป แต่ตอนนี้สามีตกงาน  มานานหลายเดือน  ที่เมืองนอก ตกงาน ก็คือ ไม่มีงานอะไรให้ทำ นอกจากนั่งนอนอยู่ที่บ้าน เพราะคนที่นี่ไม่มีที่ดินในการทำการเกษตร  จะปลูกอะไรกินก็ไม่ได้  เพราะอากาศที่หนาวเย็น   คนที่นี่ตกงานก็รอรับเงินจากรัฐ  ซึ่งไปกู้ยืมมาจากกองทุนของยุโรป  รัฐเลี้ยงให้คนของเขาเป็นคนขี้เกียจ ไม่ทำงานรอรับเงินอย่างเดียว 

 

คนที่เรารู้จักหลังจากที่สามีตกงาน ก็ยังใช้เงินมือเติบ  อ้างตัวว่าฉันร่ำรวยอยู่ตลอดเวลา  อาหารก็ต้องซื้อกินอาหารขยะ ไม่รู้จักซื้อหาของที่มีประโยชน์มาให้ลูกกิน เพื่อลดต้นทุน  

 

สามีตกงานหลายเดือนเข้า  เงินเลยหมด   เขาก็โทรหาเรา  เออ  ยืมเงินหน่อยซี  เราก็ถามว่า เท่าไหร่  คือนึกว่า จะยืมแค่ห้าสิบยูโร  แต่เขาตอบว่า หนึ่งพันยูโร  เพราะตอนนี้ไม่มีเงินใช้เลย  ทั้งครอบครัวมีอยู่ยี่สิบยูโร  ลูกสี่คน 

 

เราอึ้ง  แต่ก็ให้ยืมค่ะ    มานั่งคิดดูแล้ว  คนเราถ้าไม่รู้จักคำว่าพอเพียง  ใช้ชีวิตอย่างประมาท  ให้มีเงินทองเยอะเท่าไหร่ ก็หมด  

 

เมื่อก่อนเราเคยชวนเค้ามาทำงานกับเรา  แต่เป็นแผนกร้านอาหาร เค้าบอกว่าไม่อยากทำ เหนื่อย  เค้าไม่เคยทำงานหนักมาก่อน 

 

เมื่อวานพอเค้ายืมตังค์เราเสร็จ  แล้วเล่าให้เราฟังถึงปัญหาของเค้า  เราก็อยากช่วยเหลือ เราบอกว่า   ไปทำงานที่โรงแรมฉันมั้ย   เดี๋ยวคุยกับจีเอ็มให้   เค้าบอกว่าเค้าไม่เคยทำงานหนัก  ถ้าทำส่วนออฟฟิตน่าจะทำได้  แต่เราบอกเค้าว่า  ส่วนออฟฟิตเค้าใช้วุฒิการศึกษา และภาษาต้องได้ด้วย  แต่ถ้าแผนกร้านอาหาร  เราคุยให้ได้  หรือว่าทำส่วนที่เป็นครัวก็พอได้  สรุปเค้าไม่อยากทำงาน เพราะไม่เคยเหนื่อยมาก่อน

 

บางครั้งคนเรา ชีวิตต้องสู้  อย่ายึดติดแต่กับหัวโขนที่สวมอยู่   หัวโขนที่คอยหลอกว่า  ฉันมีสามีฝรั่ง  ฉันต้องร่ำรวย มีเงินทองเยอะๆ  เป็นมาดามอยู่บ้าน งานการไม่ต้องออกไปทำ สามีเลี้ยงได้    คนเราพอยึดติดกับหัวโขนมากๆ  ทำให้เกิดการหลอกตัวเอง  แม้ว่าเงินทองในกระเป๋าตัวเองไม่มีซักบาท  ก็ต้องไปหยิบยืมมาใช้เพื่อให้คนอื่นรับรู้ว่าตัวเองยังร่ำรวยอยู่  มีกินมีใช้อย่างฟุ่มเฟือยอยู่   นี่แหละ  ที่เค้าเรียกว่า  รวยแต่เปลือก  หรือ จนไม่ลง 

ความเห็น

คงต้องใช้คำว่า "การเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อม" มีส่วนผลักดันให้เกิดพฤติกรรม อาจจะไม่ใช่ทั้งหมดแต่ก็เกือบร้อยเปอร์เซนต์ เด็กที่ถูกเลี้ยงดูอย่างมีวินัยและรับผิดชอบทั้งการกิน การอยู่ การใช้จ่าย ก็มักจะได้รับพฤติกรรมอย่างนั้นไปด้วยเมื่อโตขึ้น...แต่บางครั้งมันก็เหมือนกับการถูกลงโทษอย่างไม่เป็นธรรมเท่าใดนัก..จากสิ่งที่ประสบพบมา...เมื่อวิกฤติปี 40 คนที่ดำรงตนด้วยความประมาท ใช้เงินอย่างไม่คิดว่าจะมีคำว่าตกงาน เมื่อถึงเวลานั้นเลือดตาแทบกระเด็น ผมเอง..อย่างที่เคยเล่าทำแต่งาน เก็บแต่เงิน จะใช้ทีคิดแล้วคิดอีก (ด้วยความที่ไม่ได้คาบช้อนเงินมาเกิด พ่อแม่ทั้งสอนทั้งเป็นตัวอย่างเรื่องความประหยัด) ช่วงนั้นไม่เดือดร้อนนัก แต่เพื่อนที่เคยทำงานด้วยกัน ตำแหน่งบริหาร มีเงินเดือนที่ดี โบนัสออกเที่ยวนอกทุกปี แถมยังค่อนแคะเราว่าจะเก็บเงินไปถึงไหน พอถึงเวลาวิกฤติกลับมาขอยืมเงินเพราะตกงานและบ้านกำลังจะถูกยึด (ราชาเงินผ่อน) ตอนนั้นคิดหนัก..เพราะมองไม่ออกว่าวิกฤตจะยาวนานขนาดไหน..บ้านของเราเองก็ยังเป็นหนี้อยู่แม้จะไม่มากนัก แต่ที่สุดก็ไม่ได้ให้ไป เพราะรู้สึกว่า การที่เราเก็บเราไม่ได้ใช้เงินซื้อความสุข แต่ขณะที่คนอื่นใช้เงินอย่างสนุกสนาน ถ้าให้ยืมมันเท่ากับเราช่วยเพื่อน แต่เอาเปรียบทั้งต่อตัวเองและลูกเมีย (ที่เราก็ขอให้เค้าช่วยประหยัด) เหมือนถูกลงโทษกันทั้งบ้าน...(พอทุกอย่างเริ่มลงตัว..มีความชัดเจนเรื่องอนาคต..ผมก็เริ่มให้รางวัลกับตัวเอง..ก่อนที่จะไม่มีโอกาสได้รับรางวัล)

ไหนๆก็ไหนๆ..ผมขอฝากอีกเรื่อง..ค่านิยมสังคมไทยเรื่องการตรงต่อเวลา..ผมมักโดนเพื่อนๆว่าซีเรียสกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง..จริงอยู่..แต่ผมจะสอนลูกเสมอว่า..ถ้านัดแล้วไม่ตรงนัด จะนัดไปทำไม..แล้วคนที่ไปตรงนัดกลับต้องไปรอคนไม่ตรงนัด เท่ากับเป็นการลงโทษคนดี แล้วมันก็จริง..ลูกบอกว่า..ลูกต้องไปรอทุกครั้ง..บางครั้ง late เป็นชั่วโมง..ผมเลยถามว่า..ถ้าเราไม่ช่วยกันเปลี่ยนแปลงค่านิยมที่แสนจะทุเรทนี้ ต่อไปจะเป็นยังไง..ทุกคนจะยิ่ง late เพราะต่างคนต่างไม่อยากรอ..ผมถามลูกว่าแล้วแก้ปัญหายังไง..ลูกบอกนัดก่อนเวลานัดจริงสักชั่วโมง..แล้วค่อยไปตามเวลาจริงไม่ใช่เวลานัด..แต่ก็อุตส่าห์มีคน late อีกจนได้..ผมได้แต่บอกลูกว่า.."พ่อรับไม่ได้นะ..ถ้านัดกับพ่อต้องตรงเวลาเว้นแต่เหตุสุดวิสัยจริงๆ.."..เดี๋ยวนี้ถึงเบื่อสังคมไง..

แสวงหาชีวิตที่สงบ..หลบลี้หนีความวุ่นวาย

เรื่องตรงเวลา  นี่ก้อถือมากเหมือนกัน   ถ้าบอกว่าบ่ายโมง  ก้อจะไปรอก่อนบ่ายโมงอย่างน้อยห้านาที   ทำจนเป็นนิสัย  แต่ลองพี่มาเจอคนไอริช หรือ อังกฤษ แล้วจะหนาว  หนักกว่า พี่ไทยเราอีก  บอกว่า อีกนาทีไปถึง  รอด้วยนะ  เราก็รอกันซี  โน่น อีกครึ่งชั่วโมงถึงจะเห็นหน้า   

 

แล้วอย่างที่ทำงาน  เราไปรอสิบห้านาที  ก่อนเริ่มงาน  เพราะ ต้องสำรวจความเรียบร้อยของเครื่องแต่งกาย  เตรียมตัวเตรียมใจเริ่มงาน   แต่คนไอริช  มาสาย แล้วเครื่องแต่งกายไม่เรียบร้อย   แต่แผนกที่ก้อทำงาน ไม่ค่อยมีเท่าไหร่ เพราะเค้าทนฟังเสียงบ่นจากก้อไม่ไหว  ถ้าเห็นอย่างนี้ ก้อเรียกมาคุยทันที  รับไม่ได้จริง

 

 

   การตรงต่อเวลาเป็นสิ่งที่ดี  แต่เมืองไทย  ยิ่งเป็นพิธีการแล้ว  แปลกที่ผู้ใหญ่มักไม่ตรงเวลา  เช่น  งานปลูกต้นไม้ ของจังหวัดหนึ่ง  เชิญชวนให้  ชาวบ้าน  นักเรียน  ชุมชม  มาร่วมกันเพื่อปลูกต้นไม้  พิธีเริ่ม 9.00 น.  แต่ประธาน คือ ผู้ว่า(บางคน) นายอำเภอ(บางคน)  ฯลฯ  กว่าจะมาถึง  11.00 น. 

ตัวอย่างทำนองนี้มีมากมายในประเทศไทย  จะสร้างสำนึกให้เยาวชนตรงต่อเวลาได้อย่างไร

ลูกสาวมีนัดสัมภาษณ์อดีต รมต. คนนึง (เพื่อทำรายงาน)  ลูกสาวไปรอก่อนเวลานัดเกือบชั่วโมง..แต่นักการเมืองคนนั้น late ไปสองชั่วโมงจากเวลานัด..คงมองว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญมั๊ง..ไม่รู้จะให้นัดทำไม..ถ้าเรื่องมากอย่างนั้น

แสวงหาชีวิตที่สงบ..หลบลี้หนีความวุ่นวาย

มีคนแบบนี้เยอะจริงๆค่ะ ใน กทม

อย่างเพื่อนหลายคน ที่ทำงานเหมือนเรา รายได้ก็รู้รู้ว่าพอๆกัน ....แต่ต้องใช้กระเป๋าหลุยวิตอง ..แบบที่ก๊อปเหมือนที่สุดในโลก ใบละหลายพัน (จะใช้ของจริงก็ไม่มีปัญญา) แต่ก็ยอมรับสภาพตัวเองไม่ได้

บ่ายๆต้องนั่งจิบกาแฟสดร้าน___บั๊ก  ราคาแต่ละแก้ว มากกว่าค่าอาหารหนู1วัน

มีชีวิตแบบจนไม่ลง สาเหตุเพราะ ไม่รู้จักพอ

แค่นั้นเองค่ะ น่าสงสารมาก

 

 

ใช่ค่ะ  เพราะความไม่รู้จักพอคำเดียว  

โชคดีที่จนสม่ำเสมอ แนบสนิท ทนนาน ปานภูผาทับนิ้วก้อยเท้าเลย

กลายเป็นว่าเมื่อสนิทกันแล้ว...อย่างไรก็อย่างนั้น

ว่าไงว่าตามกัน

ที่สำคัญ ดันรู้เสียแล้วว่าจนคืออะไร

ไม่ต้องนิยามอะไรอีก

ขอให้ได้คืนนะครับ

ออกปากรุนท็อกที !!!

คือแบบว่า ถ้าไปพบปะกับความรวยเมื่อไหร่ จะทำตัวไม่ถูกเลยใช่มั้ยค่ะ  ไม่คุ้นเคย  555  ส่วนความจนนี่ไม่กลัว เพราะสู้กันมาทุกรูปแบบแล้วรับมือได้หมด 

สำหรับผมไม่ค่อยคุ้นเคยกับคำว่า  จนไม่ลง   แต่จะคุ้นคำว่า จนลงๆ

ตลอดเลย   55555555 เข้าเรื่องดีกว่า

ปกติเกิดมาก็ไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทองมาครับ  ฐานะทางบ้านลูกชาวนา

มีกินมีใช้ไปวันๆ  ป๊าเป็นคนที่ประหยัดรู้จักเก็บหอมรอมริบ เป็นแบบอย่างที่ดีเสมอ

และสอนให้เห็นค่าของเงินทุกๆ สตางค์

แต่ไม่ใช่ว่าบ้านเรานับถือเงินตราเป็นพระเจ้านะครับ

เกิดมาจำความได้  จะถูกฝึกให้รู้จักทำงานช่วยตนเอง

รับจ๊อบหาเงินใช้เองบ้างตั้งแต่เด็ก

จนปัจจุบัน ทำงาน หาเงินใช้ได้เอง  แต่ก็ไม่เคยหลงระเริงไปกับเงินตรา

ยังคงคิดเสมอว่าอนาคตไม่ได้มีแค่ปากท้องเราคนเดียว

พ่อแม่ก็นับวันจะแก่เฒ่า  หน้าที่ของลูกที่ดีคือการดูแลท่านเป็นอย่างดีก่อนหมดลมหายใจ

ไม่ใช่พอจากไปแล้วจัดงานใหญ่โต

 

ทุกวันนี้ถ้าตกงานก็คงอยู่ได้สบาย เพราะได้ปรับเอาความรู้ในบ้านสวน

ไปใช้มากมาย อย่างน้อยๆ ก็มีข้าวกิน ผักปลาไม่ขาด

 

ทุกวันนี้มีชีวิตที่สุขสบายกว่าเมื่อก่อนเยอะ แต่ก็ไม่ลืมว่าเราเปรียบเหมือนเมล็ดพืช

ที่มาจากดิน  หากวันหนึ่งจะต้องจมลงไป ย่อมยอมรับสภาพได้  เก็บพักตัว รอเม็ดฝน

แสงสว่างและปัจจัยที่พอเหมาะ  และพร้อมจะเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ได้อีกหลายๆ ครั้ง

 

เมื่อจิตใจแข็งแกร่งพอ.........

...วิถีชีวิตแห่งเกษตรกรรมที่สมบูรณ์ จะหล่อเลี้ยงบุคคลทั้งร่างกายและวิญญาณ เป็นหนทางไปสู่ความสมบูรณ์แห่งความเป็นมนุษย์...

           เรื่องจนไม่ลง  รวยแต่เปลือก  หน้าใหญ่  เป็นค่านิยมที่สะสมเพิ่มเติมมากขึ้นในสังคมไทย 

-คนไทยพันธุ์ใหม่  ชอบความสบาย  เอาง่ายๆไว้ก่อน  จึงใช้จ่าย มากกว่ารายรับ

-ต้องสร้างทัศนคติให้คนพันธุ์ใหม่ว่า  ไม่ต้องเสียสละหรอกครับ  แต่อย่าเอาเปรียบคนอื่นๆ ก็แล้วกัน

***คนที่ไม่เอาเปรียบคนอื่นๆ  ก็ย่อมละอายที่จะหยิบยืมจากคนอื่น  ในเมื่อละอายที่จะหยิบยืม  ก็ต้อง ประหยัด  จ่ายไม่เกินรายรับ** นอกจากนั้นเมื่อไม่เอาเปรียบคนอื่นๆ  จะไม่กินแรงเพืือน  ไม่ดกงเพื่อน  ทุกคนจะแฮบปี้  องค์กรจะก้าวน้า

***ทำตัวอย่างให้เยาวชนเห็น  จะแข่งกันอวดร่ำอวดรวย***

***ฝึกให้ลูกหลานรู้จักทำงาน ไม่เอาแต่เรียนๆๆๆๆทุกวัน จันทร์ถึงอาทิตย์  ซึ่งผิดวิสัยของเด็ก

อย่างน้อยทำงานช่วยตัวเอง  เช่น กวาดขยะในบ้าน  ซักเสื้อผ้าเอง  รินน้ำให้พ่อแม่  ฯลฯ  สอนให้เห้นถึงค่าของเงิน  ต่อไปในอนาคต  เด็กๆ เหล่านี้  จะรู้คุณค่าของเงิน  รู้จักใช้จ่าย  ส่วนผู้ใหญ่ที่หน้าใหญ่  รวยแต่เปลือก  ดัดยาก  ปล่อยให้ตายไปเถอะ

หน้า