ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ด้วยทศพิธราชธรรม และหลักการทรงงาน
ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท
ด้วยทศพิธราชธรรม และหลักการทรงงาน
ตลอดระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญ
พระราชกรณียกิจเป็นเวลานานกว่า ๖๐ ปีในรัชกาล
เหล่าพสกนิกรชาวไทยต่างได้รู้ถึงพระราชกรณียกิจมากล้น
ที่ทรงปฏิบัติ และพระราชจริยวัตรที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตาอย่างหาที่สุดมิได้
ซึ่งหากเราชาวไทยสามารถเรียนรู้ข้อคิด ประสบการณ์ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท
ทั้งในส่วนของการตั้งมั่นในทศพิธราชธรรม
และหลักการทรงงานในเรื่องต่าง ๆ นั้น ก็จะเป็นการเสริมสร้างและพัฒนาชีวิต
ให้ก้าวเดินไปได้อย่างมั่นคงและถึงพร้อมด้วยประโยชน์สุขแก่ตนเองและผู้อื่น
ซึ่งปวงชนชาวไทยสามารถดำเนินชีวิตตามรอยพระยุคลบาทได้
ด้วยหลักการและแนวทาง ดังต่อไปนี้
หลักการทรงงาน
ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์
ที่พรั่งพร้อมด้วยทศพิธราชธรรม ทรงตรากตรำพระวรกาย
เสด็จฯ เยี่ยมเยียนประชาชนในทุกหนทุกแห่งทั่วประเทศ
ด้วยพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา
พระราชทานพระราชดำริ
เพื่อประโยชน์สุขของประชาราษฎร์ และนำมาซึ่งความผาสุก
แก่ประชาชนอย่างแท้จริง
โดยได้ประมวลหลักการทรงงานไว้ดังนี้
๑. ทำงานอย่างผู้รู้จริง
ให้ศึกษางานที่จะทำให้ดี อย่าผลีผลาม ความรู้จะหยุดนิ่งมิได้ ต้องขวนขวาย ต้องเก็บบันทึกไว้ แล้วนำกลับมาใช้ประโยชน์ “ความรู้” ต้องพัฒนาอยู่เรื่อย ๆ ต้องรู้หมดและรู้อย่างแท้จริง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เช่น การที่จะพระราชทานโครงการใดโครงการหนึ่ง จะทรงศึกษาข้อมูลรายละเอียดอย่างรอบครอบและครบถ้วน ทั้งจากข้อมูลเบื้องต้น จากเอกสาร แผนที่ สอบถามจากเจ้าหน้าที่ นักวิชาการ และประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ได้รายละเอียดที่ถูกต้องและตรงกับความเป็นจริง เพื่อที่พระองค์จะได้พระราชทานความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็วตรงตามที่ประชาชนต้องการ ซึ่งนั่นก็คือ ไม่ว่าเราจะทำอะไรต้องรู้จริง ศึกษาให้เข้าใจ แล้วจึงลงมือปฏิบัติ
๒. ระเบิดจากข้างใน
คือการทำสิ่งใดต้องสร้างฐาน ต้องเริ่มจากความพร้อม ความเห็นพ้องต้องกันในกลุ่ม เล็ก ๆ ก่อน แล้วค่อยๆ สร้าง ค่อย ๆ ก่อ จะมั่นคงถาวร พระองค์ทรงมุ่งเน้นพัฒนาคน ทรงมี พระราชกระแสรับสั่งว่า “ต้องระเบิดจากข้างใน” นั่นหมายความว่า ต้องสร้างความเข้มแข้งให้คนในชุมชนที่เราเข้าไปพัฒนา ให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน แล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก มิใช่นำเอาความเจริญ หรือ บุคคลจากสังคม ภายนอกเข้าไปหาชุมชน หมู่บ้าน ที่ยังไม่มีโอกาสเตรียมตัวหรือตั้งตัว
๓. อดทน มุ่งมั่น
ให้รู้จักการอดทน ทำจนเป็นนิสัย ไม่ว่าสิ่งดีๆ ที่เข้ามา ทุกข์ที่เข้ามา สุขที่เข้ามา เราก็รับด้วยใจสงบ ไม่ตื้นเต้นหรือกังวลที่เกิดขึ้นกับตัวเรา เหมือนดังคำว่า “ธรรมะ” ซึ่งนั่นก็คือ ธรรมชาติ ธรรมดา นอกจากนี้ หากเกิดปัญหา เราก็ทำจิตใจให้รู้สึกท้าทายกับปัญหานั้น เห็นปัญหาแล้วกระโดดเข้าใส่เป็นการท้าทายสติปัญญา อย่ากลัวปัญหาและละลายปัญหาจากเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย
๔. อ่อนน้อม ถ่อมตน เรียบง่ายและประหยัด
ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เช่น นาฬิกาข้อพระกรที่พระองค์ทรงใช้ ไม่จำเป็นต้องราคาแพง แต่ทรงเน้นที่ประโยชน์ของการบอกเวลา ทรงอ่อนน้อมถ่อมพระองค์มาก เวลาที่เสด็จฯ เยี่ยมราษฎร ทรงโน้มพระวรกาย คุกเข่า และประทับพับเพียบเข้าหาประชาชน ในการพัฒนาและช่วยเหลือราษฎรทรงใช้หลักในการแก้ไขปัญหาด้วยธรรมชาติ เรียบง่ายและประหยัด ราษฎรสามารถทำได้เอง หาได้ในท้องถิ่น และประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่ในภูมิภาคนั้นมาแก้ไขโดยไม่ต้องลงทุนสูง หรือใช้เทคโนโลยีที่ยุ่งยากนัก
๕. ซื่อสัตย์ สุจริต กตัญญู
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกตัญญูต่อพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบรมวงศ์มาก ทรงให้ความสำคัญในเรื่องความซื่อสัตย์มาก ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า
“...ถ้าทุจริตแม้แต่นิดเดียว ก็ขอแช่งให้มีอันเป็นไป พูดอย่างนี้หยาบคาย แต่ว่าต้องให้มีอันเป็นไป แต่ถ้าไม่ทุจริต สุจริต และมีความตั้งใจมุ่งมั่น สร้างความเจริญ ก็ขอต่ออายุให้ถึง ๑๐๐ ปี ...ความสุจริตจะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นอันตราย ภายใน ๑๐ ปี เมืองไทยน่าจะเจริญ ข้อสำคัญต้องยืดความสุจริตให้สำเร็จ และไม่ทุจริตเสียเอง...”
๖. รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นและเคารพความคิดที่แตกต่าง
ในทุกครั้งที่เสด็จ ฯ ในพื้นที่ต่างๆ ทรงทำประชาพิจารณ์ (Public Hearing) ทุกครั้งโดยวิธีการของพระองค์นั้น เป็นวิธีที่เรียบง่ายและตรงไปตรงมา โดยจะทรงอธิบายถึงวัตถุประสงค์และผลที่จะได้รับจากโครงการพัฒนากับพระสกนิกรที่มาเฝ้าฯล้อมรอบอยู่ หลังจากนั้นจะทรงถามถึงความต้องการของประชาชน ความสมัครใจและให้ตกลงกันเองในกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ และกลุ่มที่จะต้องเสียสละในขณะนั้นเลย พร้อมทั้งทรงกางแผนที่ เพื่อตรวจสอบถึงข้อมูลและข้อเท็จจริงของสภาพภูมิประเทศ และหลักจากนั้น ก็จะทรงเรียกผู้นำท้องถิ่นและฝ่ายปกครองให้มารับทราบและดำเนินการขั้นต้น ก่อนที่จะพระราชทานให้หน่วยงานปฏิบัติที่เกี่ยวข้องดำเนินการในเชิงบริหารและวิชาการต่อไปจนเสร็จสิ้นโครงการ
“..มีคนบอกว่าโครงการพระราชดำริแตะต้องไม่ได้ ข้อนี้เป็นความคิดผิดหรือความคิดที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะหากโครงการพระราชดำริแตะต้องไม่ได้ เมืองไทยไม่เจริญ..”
๗. ความตั้งใจจริงและมีความเพียร
ทำงานต้องมีความตั้งใจ อย่าทำงานไปวัน ตั้งใจทำงานจะทำให้มีแรง มีกำลังใจ และต้องขยันหมั่นเพียร งานบางอย่างยาก แต่ก็ต้องฟันฝ่าไปให้ได้ ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานข้อคิดเกี่ยวกับความเพียรในพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระมหาชนก” ความตอนหนึ่งว่า
“..คนเราทำอะไรต้องมีความเพียร แม้ไม่เห็นฝั่งก็ต้องว่ายน้ำ และมีคำตอบอยู่ว่ามีประโยชน์อย่างไร เพราะถ้าหากไม่เพียรที่จะว่ายน้ำเป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน ก็จะไม่พบเทวดา คนอื่นไม่มีความเพียรที่จะว่ายน้ำ ก็จงเป็นอาหารของปลา ของเต่า เพราฉะนั้น ความเพียรแม้จะไม่ทราบว่าจะถึงฝั่งเมื่อไหร่ ก็ต้องเพียรว่ายน้ำต่อไป..”
๘. กาแฟต้นเดียว : ก้าวแรกที่กล้าก้าว
เป็นตัวอย่างหนึ่งของการพัฒนาชาวเขา คือเมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไปทอดพระเนตรไร่กาแฟที่ชาวกะเหรี่ยงปลูกไว้บริเวณพื้นที่บ้านอังกาน้อย ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยที่ไร่แห่งนั้นมีต้นกาแฟเพียงต้นเดียว มีพระราชกระแสกับข้าราชบริพารที่อยู่ในขบวนเสด็จฯ ที่ไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ในการเสด็จฯ ข้ามเขาสูงมาเพื่อการนี้ด้วยพระสุรเสียงที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตาว่า “..แต่ก่อนเขาปลูกฝิ่น เราไปพูดจาชี้แจงชักชวนให้เขามาปลูกกาแฟแทน กะเหรี่ยงไม่เคยปลูกกาแฟมาก่อน ยังดีที่กาแฟยังไม่ตายเสียหมด แต่ยังเหลืออยู่หนึ่งต้นนั้น ต้องถือว่าเป็นความก้าวหน้าสำหรับกะเหรี่ยง..” จึงต้องเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรจะได้แนะนำเขาต่อไปว่า ทำอย่างไรกาแฟจึงจะเหลืออยู่มากกว่าหนึ่งต้น ปรากฏว่าปีต่อมาราษฎรชาวกะเหรี่ยงดอยอินทนนท์ขายกาแฟได้เป็นเงินต่อไร่ต่อปีสูงกว่าที่เคยขายฝิ่นได้
๙. คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม
โดยต้องคิดให้ดี ให้ลึกซึ้ง อย่างเช่นโครงการเขื่อนป่าสักฯ เป็นการดำเนินโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่เป็นตัวอย่างที่ดี ที่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมและไม่ได้ละเลยคนส่วนน้อยที่ต้องเสียสละเพื่อส่วนรวม เมื่อส่วนรวมได้ประโยชน์อย่างมากมาย คนส่วนรวมต้องช่วยคนกลุ่มเล็กที่เสียสละอย่างเต็มที่
“..การปฏิบัติงานทุกอย่างของข้าราชการ มีผลเกี่ยวเนื่องถึงประโยชน์ส่วนรวมของบ้านเมืองและประชาชนทุกคน เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นที่ข้าราชการทุกคนจะต้องทำหน้าที่ทุกๆ ประการให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์โดยเต็มกำลังสติปัญญา ความรู้ ความสามารถ เพื่อผลการปฏิบัติราชการทุกอย่างจะได้บรรลุความสำเร็จอย่างสูงและบังเกิดประโยชน์อย่างที่สุดแก่ตนเอง แก่หน้าที่และแก่แผ่นดิน..”
๑๐. เข้าใจความต้องการของประชาชน
ถ้าประชาชนไม่ต้องการอย่าไปยัดเยียดอะไรให้ ดังเช่นการดำเนินงานโครงการต่างๆ ให้แก่ประชาชนนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานพระราชดำริแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่เสมอๆ ว่า
“..การเข้าใจถึงสถานการณ์ของผู้ที่เราจะช่วยเหลือนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การช่วยเหลือให้เขาได้รับสิ่งที่เขาควรจะได้รับตามความจำเป็นอย่างเหมาะสม จะเป็นการช่วยเหลือที่ได้ผลที่สุด..อีกประการหนึ่ง ในการช่วยเหลือนั้น ควรยึดหลักสำคัญว่า เราจะช่วยเขาเพื่อให้เขาสามารถช่วยตนเองได้ต่อไป..”
๑๑. พึ่งตนเอง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสอนให้ชาวไทยสามารถดำรงชีวิตด้วยตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็นการพึ่งตนเอง ทั้งทางด้านจิตใจ ที่ต้องเข้มแข็ง มีจิตสำนึกที่ดี สร้างสรรค์ให้ตนเองและชาติโดยรวม ด้านสังคม ก็ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็งเป็นอิสระ หรือแม้กระทั่งด้านเศรษฐกิจ ที่ต้องมุ่งลดรายจ่ายเป็นสำคัญและยึดหลักพอเพียง พอกิน พอใช้ และสามารถอยู่ด้วยตนเองในระดับพื้นฐานดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า
“..ยืนบนขาของตนเอง (ซึ่งแปลว่าพึ่งตนเอง) หมายความว่าสองขาของเรานี้ ยืนบนพื้นให้อยู่โดยไม่หกล้ม ไม่ต้องไปขอยืมขาของคนอื่นมาใช้สำหรับยืน..”
๑๒. ส่งเสริมคนดีและคนเก่ง
ควรให้การสนับสนุนผู้ปฏิบัติงาน เพราะคนดี คงเก่ง จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาความเจริญในด้านต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ดังพระราชดำรัสที่ว่า
“..ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีไดทั้งหมด หากอยู่แต่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้..”
๑๓. การเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน
ต้องคิดถึงคนอื่นบ้าง อย่าคิดถึงแต่ตนเอง เห็นแก่ตัวอย่างเดียวอยู่ไม่รอด ต้องรู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานดำริแก่คนไทยไว้ว่า “..สังคมใดก็ตาม ถ้ามีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ด้วยความมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน สังคมนั้นย่อมเต็มไปด้วยไมตรีจิต มิตรภาพ มีความร่มเย็นเป็นสุข น่าอยู่..”
อีกทั้ง ทรงรับสั่งอยู่เสมอเกี่ยวกับการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ว่า ที่พระองค์ทรงทำอยู่นั้นทรงใช้หลักสังฆทานความหมายนี้ลึกซึ้งมาก คือ “ให้เพื่อให้” พระองค์ไม่เคยนึกว่าเมื่อให้แล้วจะต้องอย่างนั้นอย่างนี้หลักสังฆทานให้โดยไม่เลือก ในฐานะเพื่อนมนุษย์ผู้ประสบความทุกข์ยากก็มีโครงการเข้าไปช่วยเหลือ ให้เพื่อให้จริงๆ ไม่ได้ให้เพื่อคิดหวังอะไรตอบแทน
๑๔. ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
คือยึดความพอดี พอเพียง พอควร เป็นที่ตั้ง อย่าทำอะไรให้ล้นเกินพอดี เศรษฐกิจพอเพียงอธิบายอย่างง่ายที่สุด คือ ถ้ากินมากก็จุก ไม่กิน หรือกินน้อยก็หิวโหย ทำอะไร ให้พอดี แต่ต้องทำอย่างเต็มศักยภาพที่แต่ละคนมีอยู่ เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลางโดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์
“..พอเพียงนี้มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่าพอ ก็เพียงพอ เพียงนี้ก็พอดังนั้นเองคนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข..”
๑๕. ภูมิสังคม
การพัฒนาใด ๆ ต้องสอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนั้นๆ เนื่องจากแต่ละแห่งคนไม่เหมือนกัน ต้องคำนึงถึงสภาพภูมิประเทศของบริเวณนั้นว่าเป็นอย่างไร และสังคมวิทยาเกี่ยวกับลักษณะนิสัยใจคอของคน ตลอดจนวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีก็ไม่เหมือนกัน ทรงใช้คำว่า “ภูมิสังคม” คือ ทรงดูลักษณะภูมิศาสตร์และลักษณะของสังคม ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่า
“..การพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์ และ ๓ ภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา ภูมิประเทศตามสังคมวิทยา คือ นิสัยใจคอของคนเรา จะไปบังคับให้คนคิดอย่างอื่นไม่ได้ เราต้องแนะนำ เราเข้าไป ไปช่วย โดยที่จะคิดให้เขาเข้ากับเราไม่ได้ แต่ถ้าเราเข้าไปแล้ว เราเข้าไปดูว่าเขาต้องการอะไรจริงๆ แล้วก็อธิบายให้เขาเข้าใจหลักการของการพัฒนานี้ ก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง..”
๑๖. รู้ รัก สามัคคี
รู้ คือ รู้ต้นเหตุ รู้ปลายเหตุ แล้วถึงเริ่มทำงาน จะได้มีประสิทธิภาพ ต้องรู้ถึงปัจจัยทั้งหมดทั้งรู้ถึงปัญหา และรู้ถึงวิธีการแก้ไขปัญหา
รัก คือ ความรัก ความเมตตา ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการกระทำ และไปลงมือปฏิบัติแก้ไขปัญหานั้น ๆ อีกทั้งความรักที่มีความเมตตากรุณาเป็นพื้นฐาน ก็สามารถนำไปสู่ความปรารถนาที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลสนับสนุนให้บุคคลอื่นบรรลุประโยชน์ หรือเข้าถึงจุดหมายของชีวิตของเขาในระดับต่าง ๆ ได้
สามัคคี คือ การที่จะลงมือปฏิบัตินั้น ควรคำนึงเสมอว่า เราจะทำงานคนเดียวไม่ได้ต้องทำงานร่วมมือร่วมใจเป็นองค์กร เป็นหมู่คณะ จึงจะมีพลังเข้าไปแก้ปัญหาให้ลุล่วงได้ด้วยดี
๑๗. เข้าใจ เขาถึง พัฒนา
เป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจก่อน การพัฒนาในด้านต่าง ๆ ต้องเข้าใจภูมิประเทศ เข้าใจคนเข้าใจหลักปฏิบัติ และที่สำคัญ เราเข้าใจเขาและจะต้องทำอย่างไรให้เขาเข้าใจเราด้วย เราเข้าถึงเขาแล้ว ต้องทำอย่างไรให้เขาอยากเข้าถึงเราด้วย เมื่อเข้าใจกันแล้วก็สามารถที่จะนำไปสู่พัฒนาในขั้นต่อไปได้
๑๘. ปลูกป่าในใจคน
เป็นการปลูกป่าลงบนแผ่นดิน ด้วยความต้องการอยู่รอดของมนุษย์ ทำให้ต้องการบริโภคและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง เพื่อประโยชน์ของตนเองและสร้างความเสียหายให้แก่สิ่งแวดล้อม ไม่รู้จักพอ ปัญหาความไม่สมดุลจึงบังเกิดขึ้น ดังนั้นในการที่จะฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้กลับคืนมา จะต้องปลูกจิตสำนักในการรักผืนป่าให้แก่คนเสียก่อน ดัง พระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า
“..เจ้าหน้าที่ป่าไม้ควรจะปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน แล้วเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดิน และรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง..”
๑๙. ทำงานอย่างมีความสุข
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเกษมสำราญ และทรงมีความสุขทุกคราที่ได้ช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเคยรับสั่งครั้งหนึ่งว่า
“..ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากการมีความสุขร่วมกัน ในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น..”
หลักการทรงงาน
ที่ประมวลไว้มิใช่หลักสำหรับผู้ปฏิบัติงานราชการเท่านั้น
หากแต่เป็นหลักการทำงานที่ดีที่ทุกๆ คน
สามารถนำไปปรับใช้กับวิถีชีวิตและการทำงานของแต่ละคนได้
ซึ่งจะเป็นมงคลชีวิตของผู้นำไปปฏิบัติ
เป็นแนวทางที่นำไปสู่ความสุขที่แท้จริงและยั่งยืนได้
เพราะนี้คือ
แก่นแท้ของการดำเนินชีวิตที่มาจาก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงเป็นหลักชัยแห่งชีวิต
ของชาวไทยทั้งปวง
*************************************
- บล็อกของ witlessness
- อ่าน 5726 ครั้ง
ความเห็น
นงคราญ วชิรา
24 สิงหาคม, 2010 - 12:11
Permalink
ยินดีต้อนรับค่ะ
เป็นกำลังใจให้เขียนบลอคดีๆอย่างนี้อีกนะคะ
ไม่ต้องเอาอย่างในหลวงท่านทั้งหมดขอแค่เสี้ยวหนึ่งทำให้ได้ประเทศไทยจะเจริญกว่านี้เยอะ
เจ้โส
24 สิงหาคม, 2010 - 12:55
Permalink
ขอบคุณน้องวิทย์
ขอบคุณน้องวิทย์นะคะที่นำเอาสิ่งดี ๆ มาฝาก
garden_art1139@hotmail.com
ป้าเล็ก..อุบล
24 สิงหาคม, 2010 - 13:27
Permalink
ขอบคุณ
เพิ่งได้อ่านเป็นครั้งแรก ขอบคุณค่ะ
084-167-4671
anongrat2508@hotmail.com
witlessness
24 สิงหาคม, 2010 - 13:30
Permalink
จำ(มา)อวด
***ผมไม่ได้เขียนเองหรอกนะครับ เป็นบทความที่ผมได้จากไหน ผมก็จำไม่ได้แล้ว แต่ผมก็ใช้เป็นแนวทางในการมีชีวิตครับ***
วิทย์
แดง อุบล
24 สิงหาคม, 2010 - 15:16
Permalink
ขอบคุณค่ะ
ขอบคุณค่ะ
"เชื่อในผล แห่งการทำความดี"
นนท์
24 สิงหาคม, 2010 - 18:11
Permalink
ขอขอบคุณ
ขอบคุณนะคับที่น้อมนำคำสอนของพ่อมาฝากคับ
NONT..
สวนฟักแฟงแตงไทย
24 สิงหาคม, 2010 - 18:19
Permalink
ขอบคุณมาก
อ่านแล้ว ..
ซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านยิ่งนัก
มานี มานะ วีระ ชูใจ
24 สิงหาคม, 2010 - 20:47
Permalink
ขออนุญาต..ก็อปนะครับ
จะเอาไปลงที่หน้าบร็อคผม...
เป็นเพียงแค่มดตะนอย ตัวจ้อยจิด ทีพลัดติดกลางช่อ พอเพียงใหญ่
คือหนึ่งเสียงหนึ่งคิดเห็น ที่เป็นไป อาจถูกใจหรือไม่บ้าง ลองชั่งดู
witlessness
25 สิงหาคม, 2010 - 09:12
Permalink
ยินดีมากครับ อยากให้เผยแผ่ออกไปเยอะๆ ครับ
ยินดีมากครับ อยากให้เผยแผ่ออกไปเยอะๆ ครับ ผมอยากให้คนไทยได้อ่านเยอะๆ แล้วน้อมนำไปเป็นหลักในการใช้ชีวิต ถึงไม่ได้ทุกข้อ แค่ข้อเดียว ผมก็ว่าชีวิตเปลี่ยนแล้วครับ
"คนไทย เท่านั้นที่ทำให้เมืองไทยน่าอยู่"
กิ่ง_พม่าคอนศรี
24 สิงหาคม, 2010 - 20:57
Permalink
จะน้อมรับ
ใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตค่ะ
หน้า