เอามะพร้าวห้าวมาขายสวน
ไม่รู้ว่าเป็นการเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนหรือเปล่า แต่เห็นมีเพื่อนสมาชิกหลายท่านที่อยากเป็นเกษตรกร บางคนก็มีพื้นฐานอยู่แล้ว บางคนก็เหมือนผมคือไม่มีพื้นฐานทางด้านการเกษตร ก็ได้อาศัย Internet เป็นแหล่งหาความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมไปพลางๆ เห็นอะไรดีๆ น่าสนใจ ก็เลยเอามาบอกกล่าวกันครับ บางท่านอาจจะรู้แล้ว ปฏิบัติอยู่แล้ว แต่ก็หวังว่าคงเป็นประโยชน์กับสมาชิกบ้านสวนพอเพียงนะครับ
พืชผักเงินล้าน
การปลูกพืชผัก ใครก็ทำได้ แต่จะทำอย่างไรให้มีผักกินตลอดปี และขายได้ตลอดปี ตลาดมีความต้องการและไม่ต้องเก็บไปขายที่ตลาด คนกินผักจะมาซื้อและเก็บเองในแปลงของเรา เพราะผักเราปลอดภัยจากสารเคมีคนกินสบายใจ คนปลูกปลอดภัยผลพลอยได้มีตามมา คือกำไรและภายใต้ตามแนวเศรษฐกิจแบบพอเพียง และเพียงพอสำหรับครอบครัว
1. การเลือกชนิดพืชผัก ที่จะปลูก ต้องดูฤดูกาลและความต้องการของตลาดด้วย ไม่จำเป็นต้องปลูกผักนอกฤดูกาล เพราะถึงแม้ราคาจะแพง แต่ก็เสี่ยงกับการระบาดของโรค และแมลง ซึ่งจำเป็นต้องให้สารเคมีควบคุมการระบาด การปลูกผักตามฤดูกาลถึงแม้ราคาถูกแต่ถ้าปลูกหมุนเวียนตลอดปี โดยไม่ต้องใช้สารเคมีก็มีเงินได้
2. การเตรียมพื้นที่หว่านกล้าหรือแปลงปลูก ตามภูมิปัญญาชาวบ้านและสำนักงานเกษตรอำเภอเวียงชัย ให้ดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและใช้มาตรฐาน(GAP) ตามระบบโรงเรียนเกษตรกรตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาเกษตรกรสามารถนำความรู้ทางด้านวิชาการผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นในการผลิตผักปลอดภัยจากสารพิษได้เป็นอย่างดีผู้บริโภคมีความเชื่อถือ สรุปได้ดังนี้
- การเตรียมแปลงหว่านกล้า ไถตากดินไว้ประมาณ 7 วัน เพื่อกำจัดวัชพืช หลังจากนั้นทำการย่อยดินให้ละเอียดคลุกเคล้าด้วยปุ๋ยคอก จำนวน 2 กก./พื้นที่ 1 ตารางเมตร หรือปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ จำนวน 2 กก./พื้นที่ 1 ตารางเมตร พร้อมกับโดโลไมท์ จำนวน 1 กก./ตารางเมตร จากนั้นทำการหว่านเมล็ดพันธุ์ผักแล้วแต่ชนิด ตามภูมิปัญญาชาวบ้านหลังจากหว่านเมล็ดผักแล้วจะโรยด้วยแป้งฝุ่นเด็ก สามารถป้องกันมดได้ดีและก่อนหว่านเมล็ดพันธุ์ผักควรห่อเมล็ดพันธุ์ผักในผ้าขาวบางแช่ในน้ำอุ่น อุณหภูมิ 50-55 องศา นาน 10-15 นาที เพื่อกระตุ้นความงอกและฆ่าเชื้อโรคที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์
- การเตรียมพื้นที่ปลูก ไถตากดินไว้ประมาณ 7 วันเพื่อกำจัดวัชพืชหลังจากนั้นทำการย่อยดินพร้อมกับใส่ปุ๋ยคอกจำนวน 1,000-2,000 กก./ไร่ และปูนโคโลไมท์ จำนวน 200-300 กก./ไร่ คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วทำการย้ายกล้ามาปลูกต่อไป สำหรับพืชตระกูลพริก มะเขือ ควรรองก้นหลุมด้วยเชื้อไตรโดเคอร์มา เพื่อป้องกันโรคเน่าและโรคเหี่ยว
3. การดูแลรักษา หลังจากย้ายกล้าปลูกแล้วควรมีการรดน้ำสม่ำเสมอ มีการกำจัดวัชพืช และให้น้ำหมักชีวภาพอาจจะใช้รดลงดินหรือฉีดพ่น ทุก 5-7 วัน ในช่วงที่ไม่มีแสงแดดจะทำให้กล้าพืชผักเติบโตแข็งแรง การใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลืองให้กระจายทั่วแปลงสามารถกำจัดตัวเต็มวัยของผีเสื้อ ศัตรูพืชผักได้ดี ถ้ามีการระบาดของด้วงหมัดผัก อาจใช้กาวเหนียวสีเหลืองทาบนถุงพลาสติกขนาดกว้างประมาณ 50-80 ซม. ติดไม้โบกไปมาบนพืชผักสามารถกำจัดด้วยชนิดผักได้เป็นจำนวนมาก
4. การป้องกันกำจัดโรคและแมลง ต้องทำแบบผสมผสานไม่ควรใช้สารเคมีเพราะผักเป็นพืชอายุสั้น เช่นการใช้สะเดา น้ำสกัดสมุนไพรไล่แมลง กับดักกาวเหนียวสีเหลือง การให้เชื้อไตรโดเคอร์มา รวมถึงการใช้ปูนโดโลไมท์ในการเตรียมแปลง สามารถสร้างความแข็งแรงให้กับพืชผักได้ดี
5. การเก็บเกี่ยว การจัดการด้านตลาด การเก็บเกี่ยวพืชผักแต่ละชนิดให้เก็บเกี่ยวตามอายุและสภาพความสมบูรณ์ของพืชผักที่จะเก็บเกี่ยวพอกับความต้องการของตลาดการทำความสะอาดการบรรจุเป็นสิ่งสำคัญเพราะคนซื้อจะดูที่ความสะอาดการบรรจุที่สวยงามด้วย แต่ถ้าซื้อจากสวนโดยตรงก็ไม่จำเป็นเท่าไหร่
ข้อคิด การปลูกผักให้มีรายได้ตลอดปี ต้องศึกษาตลาดและความต้องการของผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องปลูกผักนอกฤดู ขอให้มีผักขายตลอดปี เรามีกินหรือขายเป็นรายได้
**********************
นายสมศักดิ์ เครือใจยา
นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร 6 ว.
สำนักงานเกษตรอำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย โทรศัพท์ 053-769232
- บล็อกของ กระต่ายดำ
- อ่าน 5927 ครั้ง
ความเห็น
สายพิน
31 พฤษภาคม, 2011 - 20:47
Permalink
ขอบคุณ คุณกระต่ายดำนะคะ
ขอบคุณ คุณกระต่ายดำนะคะ ข้อมูลความรู้ที่นำมาฝาก
หน้า