ถั่วพู พืชโปรตีนสูง
ถั่วพูเป็นพืชที่กำลังมาแรงแซงโค้งถั่วชนิดอื่นๆ
เดิมทีนักโภชนาการไม่ค่อยสนใจถั่วพูเลย
ต่อมาพบว่าถั่วพูคือยอดอาหารเหนือชั้นกว่าพี่น้องตระกูลถั่วทั้งหลาย
เพราะถั่วพูที่มีระบบการสร้างปมรากมากกว่าใคร
สามารถตรึงธาตุไนโตรเจนในอากาศได้อย่างดีเยี่ยม
ทำให้ถั่วพูคว้าแชมป์พืชมีโปรตีนสูง
ถั่วพูยังจัดเป็นพืชไม่กี่ชนิดที่กินได้แทบทุกส่วน
คนไทยคุ้นเคยกับการกินฝักอ่อนสดๆ หรือนำมาลวก
ใบอ่อน มาทำสลัดก็ได้ กินสดๆ แบบผักทั่วไป
หรือทำแกงจืดได้ เมล็ดอ่อนใช้กินแบบเมล็ดถั่วลันเตาก็อร่อยดี
และเมล็ดแก่ของถั่วพูนี้น่าสนใจมากๆ เพราะนอกจากรสอร่อยแล้ว
เมล็ดถั่วพูแก่มีโปรตีนอยู่ถึง ๓๔% พูดได้ว่าพอๆ กับเมล็ดถั่วเหลือง
ถั่วพูจึงจัดอยู่ในอันดับเป็นพืชที่ให้แหล่งโปรตีนที่ดีเยี่ยม
ถั่วพูนำมาทำผลิตภัณฑ์อาหารได้ดีเหมือนถั่วเหลือง
และดูเหมือนว่าจะได้เปรียบกว่าตรงรสชาติที่ไม่มีกลิ่นเต้าหู้
ถั่วพูน่าจะดีพอๆ หรือดีกว่าถั่วเหลืองด้วยซ้ำแต่ไม่ค่อยได้รับการโปรโมท
เนื่องจากถั่วเหลืองเป็นอุตสาหกรรมเกษตรของสหรัฐอเมริกา
จึงทุ่มงบวิจัยและโปรโมทมาก แต่บ้านเมืองไทยปลูกถั่วเหลืองได้น้อย
จึงต้องนำเข้ามาก ถ้านักวิชาการไทยมาช่วยกันศึกษาและส่งเสริมเกษตรไทย
ปลูกถั่วพูมากๆ เชื่อว่าถั่วพูสามารถแปรรูปได้มากมายและโดนใจแน่นอน
ในเมล็ดถั่วพูมีน้ำมันอยู่ราว ๑๗%
และเป็นน้ำมันชั้นดี คือมีปริมาณไขมันไม่อิ่มตัวสูงถึง ๗๐%
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรดโอเลอิกราว ๓๒.๓ – ๓๙.๐ %
และกรดลินโนเลอิกประมาณ ๒๗.๒ – ๒๗.๗%
กรดชนิดนี้มีส่วนช่วยลดโคเลสเตอรอลในเลือดได้
นำมาใช้ในรูปเครื่องสำอางช่วยบำรุงความชุ่มชื้นให้ผิวหนังได้ดี
ลองมาดูสรรพคุณทางยาสมุนไพรของถั่วพูสักนิด
แม้ว่าสรรพคุณจะไม่โดดเด่นเร้าใจ
แต่ก็มีความน่าสนใจที่เหมาะกับประเทศเมืองร้อนนัก
ว่าตามสรรพคุณรสยา หัวถั่วพู มีรสหวานและขื่นเล็กน้อย
ชูกำลัง แก้อ่อนเพลีย หิวโหยหาแรงมิได้ ทำให้ดวงจิตชุ่มชื่น
ฝักถั่วพู มีรสมันเย็น แก้ไข้ร้อน แก้หอบ บำรุงกำลัง
ซึ่งคนเมืองร้อนมักจะมีอาการร้อนในง่าย และอ่อนเพลียได้ง่าย
วิธีใช้มีอยู่หลายวิธี ง่ายที่สุดดังประสบการณ์ของท่านหนึ่งว่า
“แต่ก่อนนั้นส่วนมากนอนดึกและตื่นเช้า เพราะดูหนังสือเป็นประจำ
ตื่นเช้ามักจะมึนและเวียนหัว ตาลาย อ่อนเพลีย
ผมใช้ถั่วพูอ่อนหรือปานกลางต้มจิ้มน้ำพริก หรือใช้สดๆ ก็ได้
กินเป็นประจำทำให้หายจากอาการที่เป็นอยู่ แต่ต้องกินอย่างน้อยมื้อละ ๕ ฝัก
ผมปลูกเอง และคอยรดน้ำเป็นประจำจะมีฝักให้ใช้ได้ในเวลาต้องการ ”
สำหรับการใช้หัวถั่วพูปอกเอาเปลือกออก ประมาณ ๑ กำมือ
ต้มน้ำเดือดเติมน้ำตาลทรายแดงเล็กน้อย ต้มเคี่ยว ๓๐ นาที
ให้ถั่วพูสุก จะกินแต่น้ำหรือกินทั้งน้ำและเนื้อก็ได้รสอร่อย
หรือทำเป็นชาชง หลังจากฟื้นไข้ หลังทำงานหนัก หรือเวลาอ่อนเพลีย
นำหัวถั่วพูสับตากแดดให้แห้งสัก ๒ วัน นำมาคั่วพอเหลืองๆ ชงน้ำร้อนกินต่างน้ำ
อาการอ่อนเพลียจะค่อยๆ หายไป คนโบราณว่ายานี้ถือเป็นยาบำรุงกำลังดีนัก
ต้องขอบคุณ admin จากบทความมติชนสุดสัปดาห์
ที่ทำให้ฉันคลั่งไคล้ถั่วพู รักถั่วพู ปลูกถั่วพู และกินถั่วพู
เห็นคุณ maket ชาวโอเค อยากให้โชว์เมนูเกี่ยวกับถั่วพู
รีบสนองความต้องการทันใด มีเมนูสุดง่าย ผัดถั่วพู ทุบพริกแก้เลี่ยน
หรือว่าจะกินยำถั่วพูของโปรดของเด็กๆที่บ้าน
เวลาแขกไปไทยมาก็ยำเป็นแบบครบเครื่องไทยแท้
จนมีฝรั่งมังค่า เขียนชมไว้ในสมุดเซ็นต์เยี่ยมว่า
"The Thai food is excellent
and very Traditional"
ใครยังไม่ชอบถั่วพู..คิดใหม่ได้น่ะ..จะบอกให้
1.พันธุ์ ถั่วพูที่ใช้ปลูกส่วนมากเป็นพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งได้ปลูกมานานแล้ว ลักษณะฝักจะมีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร และพันธุ์ฝักใหญ่ยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร
2. การเตรียมดินปลูก ถั่วพูเป็นพืชที่มีรากลึกปานกลาง การเตรียมดินควรไถดินลึกประมาณ 25-30 เซนติเมตร ตากดินทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน ใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก พรวนดินให้ละเอียด ยกร่องเป็นแปลง มีทางเดิน พร้อมปลูกได้
3. การปลูก ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 60 เซนติเมตร และระยะระหว่างแถว 100 เซนติเมตร ถั่วพูนิยมปลูกด้วยเมล็ด หลังจากเตรียมดินเสร็จแล้ว ให้ขุดหลุมปลูกตามระยะปลูก หยอดเมล็ดลงหลุมๆ ละ ประมาณ 5 เมล็ด ลึกประมาณ 2 เซนติเมตร กลบด้วยดินบางๆ คลุมด้วยฟางข้าว รดน้ำให้ชุ่มชื้น หลังจากเมล็ดงอกประมาณ 1-2 สัปดาห์ ให้ถอนแยกเหลือหลุมละ 3 เมล็ด
4. การทำค้างถั่วพู มีวิธีทำได้หลายแบบ เช่น ค้างเดี่ยว ปักตรงหลุมละ 1 หลัก โดยใช้ไม้ลวกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว ยาวประมาณ 2 เมตร หรือ ค้างแบบคู่ คือ ปักค้างตรงทุกร่อง และรวมปลายเป็นคู่ๆ ไป หรือใช้ตาข่ายขึงเป็นร่องๆ ก็ได้ แต่ต้องมีหลักไม้ปักทุกหลุม คอยจับเถาถั่วพูพันหลักด้วย จะช่วยให้เต็มค้างไวขึ้น
5. การให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ และเพียงพอ ตามความต้องการของพืช
6. การใส่ปุ๋ย ควรใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 หรือ สูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน เริ่มใส่หลังปลูกประมาณ 30 วัน
7. การกำจัดวัชพืช คอยถอนหรือถากหญ้าอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้วัชพืชแย่งน้ำแย่งปุ๋ยถั่วพูและเป็นที่อยู่อาศัยของแมลง
8. การเก็บเกี่ยว การปลูกถั่วพูด้วยเมล็ดใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน จึงจะออกดอก และให้ฝักเมื่อฝักโตจนได้ขนาดก็เก็บฝักไปขายหรือบริโภคได้
9. โรค ถั่วพูไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคมากนักแต่นานๆ จึงพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชบ้าง เช่น เมนโคเชป
10. แมลง แมลงที่พบได้แก่ เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน หนอนกระทู้ผัก ป้องกันและกำจัดด้วยน้ำหมักชีวภาพ จำพวกสะเดา บรเพ็ด พื้ชจำพวกที่มีรสขม ฝาด คัน ต่างๆ ยาฉุน ยางจากการตัดยอดปลีกล้วย(ไล่มดและแมลงที่มักจะเป็นพันธมิตรอาศัยกันและกันกับเพลี้ย)
ถั่วพูเป็นพืชล้มลุก ลำต้นชนิดเลื้อยพันทอดเกี่ยวไปตามแนวต่างๆ
ใบของต้นถั่วพูมีลักษณะกลมสีเขียวเข้ม ดอกมีสีม่วงอ่อน เมื่อดอกได้รับการผสมเกสรแล้ว มันก็จะกลาย เป็นฝักไม่ยาวมากนัก และมีส่วนที่เป็นหยักตามขอบของฝัก ฝักมี 4 พู เมื่อแก่เต็มที่ฝักจะแห้งและมีสีน้ำตาล
ถั่วพูเป็นพืชที่ปลูกได้ง่าย นำเมล็ดแก่ฝังดินปลูกได้ทันที เจริญเติบโตได้ดีในทุกภาคของประเทศไทย นิยมปลูกกันตามริมรั้วหรือสวนหลังบ้าน หรือปลูกเป็นพืชหัวไร่ปลายนาสำหรับกินเป็นผักสวนครัว
ส่วนที่ใช้เป็นอาหาร ยอดอ่อน ดอกอ่อน ใบอ่อน ฝักอ่อน รสมัน (กินเป็นผัก) และหัวใต้ดิน (กินเป็นอาหารแป้ง)
คนไทยทุกภาคกินฝักอ่อนถั่วพูเป็นผัก มีทั้งที่กินสด ลวกราดน้ำกะทิ กินแกล้มกับน้ำพริกต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำพริกปลาร้า อาจใช้ประกอบอาหารยำ ลาบ ผัดกับน้ำมัน นำมาหั่นใส่ในทอดมันหรือแกงเผ็ดก็ได้
ส่วนทางใต้กินยอดอ่อน ดอกอ่อน และฝักอ่อน เป็นผักสด หรือนำไปต้ม ผัด ใส่แกงส้ม แกงไตปลา
ญี่ปุ่นใช้ฝักอ่อนถั่วพูทอดเทมปุระ ปรุงอาหารกับเครื่องเทศรสจัดได้ทุกชนิด ฝักอ่อนดองไว้กินได้ด้วยตามความนิยมของชาวอินเดียและศรีลังกา
ถั่วพูมีคุณค่าทางโภชนาการเทียบเท่าถั่วเหลือง หากมองในแง่พืชที่เป็นแหล่งโปรตีนพบว่าเมล็ดถั่วพูให้โปรตีนสูงกว่าเมล็ดถั่วเหลือง และในทุกส่วนที่นำมากินได้ของถั่วพู (เช่น ดอก ใบอ่อน หัวใต้ดิน) ล้วนประกอบไปด้วยโปรตีนและธาตุอาหารต่างๆ ทั้งสิ้น เช่น ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม และเหล็ก
ในประเทศเพื่อนบ้านของไทยมีการกินหัวถั่วพู โดยนำมาต้มกินคล้ายหัวมัน หัวใต้ดินมีปริมาณโปรตีนร้อยละ 20-30 นักโภชนาการของไทยนำหัวถั่วพูมาแปรรูปเป็นแป้งสำหรับประกอบอาหารต่างๆ ได้ดี นำไปเชื่อมเป็นขนมหวานได้ รวมทั้งฝานเป็นแผ่นบางๆ ทอดกรอบแบบมันฝรั่งก็เป็นอาหารขบเคี้ยวโปรตีนสูงได้ด้วย แต่ไม่มีผู้ปลูกหัวถั่วพูในเชิงการค้า
เมล็ดถั่วพูแก่มีโปรตีนร้อยละ 29-37 มีกรดอะมิโนและกรดอะมิโนจำเป็นหลายชนิดคล้ายถั่วเหลือง มีน้ำมันร้อยละ16-18 สกัดเป็นน้ำมันพืชปรุงอาหารได้ น้ำมันที่ได้จากเมล็ดถั่วพูมีคุณสมบัติทางเคมีและฟิสิกส์ใกล้เคียงกับน้ำมันพืชอื่นๆ
น้ำมันเมล็ดถั่วพูมีกรดโอเลอิกร้อยละ 39 กรดไลโนเลอิกร้อยละ 27 และพบกรดบีเฮนิกและกรดพารินาริกด้วย ไม่ทำให้เกิดคอเลสเตอรอลในหลอดเลือด นอกจากนั้นในเมล็ดถั่วพูมีสารโทโคฟีรอลในปริมาณสูง สารนี้มีผลทำให้น้ำมันมีรสหวานและอยู่ตัว และมีคุณสมบัติต้านอ็อกซิเดชั่นช่วยชะลอความเสื่อมสภาพของเซลล์ร่างกายได้
สรรพคุณทางยา
รากใช้ประกอบสมุนไพรและน้ำดอกไม้ เป็นยาแก้โรคหัวใจและชูกำลัง หัวใต้ดินเผาหรือนึ่งกินช่วยบำรุงกำลัง เมล็ดแก่ของถั่วพู ตากแห้งบดเป็นผงละลายน้ำครั้งละ 5-6 กรัม กินวันละ 3 เวลา ก่อนอาหาร ช่วยบำรุงร่างกาย
สรรพคุณทางการเกษตร
ถั่วพูใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ดี ต้นเจริญได้ในดินเสื่อมโทรม ใช้ได้ทั้งในรูปของใบอ่อน เถาแห้ง เปลือกฝักหัวใต้ดิน และกากเมล็ดที่สกัดน้ำมันออกแล้ว เหมาะที่จะปลูกเป็นแปลงใหญ่แล้วปล่อยสัตว์เข้าไปแทะเล็มเองเหมือนทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ทั่วไป ได้คุณค่าอาหารมากกว่ากินหญ้า ทำให้มีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี
นอกจากนี้ยังใช้ถั่วพูใช้เป็นพืชบำรุงดินได้ดี เนื่องจากปมรากของถั่วพูเป็นที่อาศัยของเชื้อไรโซเบียมที่มีคุณสมบัติในการตรึงไนโตรเจนจากอากาศ การปลูกถั่วพูจึงเป็นการเพิ่มไนโตรเจนแก่ดิน และหากไถกลบต้นถั่วพูหลังการเก็บผลผลิตแล้วจะกลายเป็นปุ๋ยพืชสดที่อุดมคุณค่าแก่ดิน
ถั่วพูกินได้ เลี้ยงสัตว์ได้ ปรับปรุงดินได้ ผลิตน้ำมันได้ เหมาะเป็นพืชยุคเศรษฐกิจพอเพียงที่สุด ทุกวันมีใบอ่อนดอกอ่อนปลิดให้กิน
- บล็อกของ pakdeepim
- อ่าน 7317 ครั้ง
ความเห็น
ญาณวรรณ พร้อมปร...
23 กุมภาพันธ์, 2012 - 08:55
Permalink
Re: ถั่วพู พืชโปรตีนสูง
ขอบคุณสำหรับความรู้ ดีมากเลยค่ะ
ธนัช
23 กุมภาพันธ์, 2012 - 10:04
Permalink
Re: ถั่วพู พืชโปรตีนสูง
คนไทยยังเชื่อฝรั่งที่หลอกคนทั่วโลกว่า กรดไขมันไม่อิ่มตัวเป็นน้ำมันชั้นดี
เราจำเป็นต้องหัดคิดดูว่า ตั้งแต่เปลี่ยนไปเชื่อฝรั่งเป็นต้นมา โรคความเสื่อมเกิดขึ้นมากเป็นทวีคูณหรือเปล่า
แล้วพวกฝรั่งก็หาวิธีแก้ไขโรคความเสื่อมแบบวัวพันหลัก แล้วเราก็เชื่อมันอีก จ่ายเงินทองเป็นว่าเล่นเพื่อซื้อเทคโนโลยี
เลิกทีเถอะไอ้ความคิดแบบตะวันตก มันจะพาประเทศฉิบหายตามมันหมด
เสิน
23 กุมภาพันธ์, 2012 - 10:11
Permalink
Re: ถั่วพู พืชโปรตีนสูง
ขอบคุณในความรู้เกี่ยวกับถั่วพลูมากๆเลยครับ
เป็นแบบนี้ผมจะปลูกให้เยอะๆเลย
เดินมาถูกทาง
..โอกาสไม่ได้มีทุกวัน..
คนตูล
23 กุมภาพันธ์, 2012 - 10:09
Permalink
Re: ถั่วพู พืชโปรตีนสูง
ขอบคุณสำหรับความรู้คะ ชอบทานถั่วพูเหมือนกัน :admire2:
ยุพิน
23 กุมภาพันธ์, 2012 - 10:41
Permalink
Re: ถั่วพู พืชโปรตีนสูง
อ่านมาตั้งแต่ต้นจนจบชอบคำนี้จับใจ "The Thai food is excellent and very Traditional" ฉะนั้นเราต้องมากินอาหารอย่างไทยๆ พืชผักพื้นบ้านแบบไทยๆ ลืมเรื่องหาหมอไปเลย ขอบคุณเรื่องราวของถั่วพูถึงแม้จะยาวไปหน่อย แต่ก็นำมาบอกเล่า . :cheer3:
ชัยวัฒน์ หาดใหญ่
23 กุมภาพันธ์, 2012 - 11:04
Permalink
Re: ถั่วพู พืชโปรตีนสูง
ผมก็ชอบกินฝักถั่วพูอ่อนมาก เดี๋ยวนี้ตลาดแถวหาดใหญ่กำเล็ก ๆ ราคา 10 บาท แหนะ ... ต้องเริ่มหาเมล็ดพันธุ์มาปลูกใหม่อีกครั้งแล้ว :admire:
เจ้โส
23 กุมภาพันธ์, 2012 - 11:22
Permalink
Re: ถั่วพู พืชโปรตีนสูง
กินพืชผักให้หลากหลาย ผักพื้นบ้านเรามีเยอะแยะ ข้อสำคัญอย่ากินตามกระแส
ขอบคุณนะคะ สำหรับข้อมูลดี ๆ
garden_art1139@hotmail.com
BeeFuu
23 กุมภาพันธ์, 2012 - 11:32
Permalink
Re: ถั่วพู พืชโปรตีนสูง
ดีจังที่เราเป็นคนชอบกินถั่วพูอยู่แล้ว
"ความสุขของชีวิตในวันนี้ คือทำตามวิถีพอเพียงของพ่อ"
Suthikarn
23 กุมภาพันธ์, 2012 - 12:05
Permalink
Re: ถั่วพู พืชโปรตีนสูง
ขอบคุณที่นำความรู้ดี ๆ ที่นำมาแบ่งปันค่ะ
จะปลุกทุกอย่างที่กิน แม้จะไม่ได้กินทุกอย่างที่ปลูก
น้ำเมย
23 กุมภาพันธ์, 2012 - 12:45
Permalink
Re: ถั่วพู พืชโปรตีนสูง
มีประโยชน์แบบนี้ ต้องปลูกบ้างแล้วครับ :admire2:
หน้า