เรื่องเล่าจากประสบการณ์ การปลูก "แก่นตะวัน" ตอนที่ 1
ต่อเนื่องจากที่เคยตั้งคำถาม “ต้นแก่นตะวัน” และลงบล็อก “มาทำยำแก่นตะวันกันเถอะ” ก็มีสมช.หลายท่านถามเรื่องแก่นตะวันทั้งหน้าไมค์และหลังไมค์ จึงคิดว่าต้องทำสิ่งที่ตัวเองไม่ค่อยคล่อง คือ เขียนบล็อก เพื่อแชร์ประสบการณ์แบบบ้าน ๆ คือสอบผ่านเพราะได้ทำแล้ว ได้ปลูกแล้ว ได้ผลผลิตแล้ว ได้กินแล้ว และได้แจกจ่ายหัวพันธุ์บ้างแล้ว แบบนี้ต้องเล่าสู่กันอ่านซะแล้ว... (หลายแล้วจริง ๆ) เรื่องของแก่นตะวัน เคยมีเพื่อนสมช. บ้านสวนฯ เขียนบล็อกและกระทู้บ้างแล้ว ขออ้างอิงสองท่านนะคะ ตามนี้ค่ะ
แก่นตะวัน สุดยอดพืชมหัศจรรย์สารพัดประโยชน์ ของ แม่นัทของน้องโบอิ้ง http://www.bansuanporpeang.com/node/15891
ลุงโรส ก็เคยเอารูปดอกมาทาย http://www.bansuanporpeang.com/node/4117
ส่วนตัวเองเคยได้ยินชื่อแก่นตะวันครั้งแรกเมื่อประมาณ 7-8 ปี มาแล้ว ไปเดินงานกาชาด ตามซุ้มขายสมุนไพร เห็นหัวชนิดนึง หน้าตาคล้ายขิงหรือข่าแต่แง่งเยอะกว่า หน้าตาขี้เหร่กว่าว่างั้นเถอะ แต่ชื่อเพราะ “แก่นตะวัน”คนขายบอกว่าสารพัดประโยชน์ เหมาะมากสำหรับคนสูงอายุ คนอ้วนและคนเป็นเบาหวาน ถามราคาบอกว่ากิโลละ 200 บาท โอ้ย.. ราคาขนาดนั้น หน้าตาแบบนั้น อันตัวเราก็ยังไม่เข้าเกณฑ์ที่ว่า (เ้ข้าข้างตัวเอง) จึงเดินจากมา
แต่...เมื่อปีที่แล้ว เริ่มสนใจสมุนไพรค้นในกูเกิ้ล เจอแก่นตะวันอีกจึงสนใจศึกษาข้อมูลดู ชักสนใจได้ข้อมูลมาฝากพี่น้อง อาจจะซ้ำบ้างก็ถือว่าทบทวนนะคะ
มีหัวแก่นตะวันเป็นของตัวเอง
"แก่นตะวัน" นั้น เรียกได้หลายชื่อทั้ง "ทานตะวันหัว" และ "แห้วบัวตอง" มีชื่อภาษาอังกฤษว่า เยรูซาเล็ม อาร์ติโช้ก (Jerusalem artichoke) บางทีก็เรียกว่า ซันโช้ก (sunchoke) ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์คือ Helianthus tuberosus L. เป็นพืชดอกในตระกูลทานตะวัน ซึ่งมีต้นกำเนิดในตอนใต้ของประเทศแคนาดา และตอนเหนือของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอากาศค่อนข้างหนาวเย็น แต่มีความทนทานต่อสภาพภูมิอากาศ จึงสามารถปลูกได้ดีในเขตร้อน และเขตกึ่งหนาวอย่างทวีปยุโรป ทำให้ต้น "แก่นตะวัน" เป็นที่รู้จักในหลาย ๆ ภูมิภาค
โดยลักษณะต้นของ "แก่นตะวัน" จะสูงประมาณ 1.5 ถึง 2 เมตร มีขนตามกิ่งและใบ ส่วนดอกของ "แก่นตะวัน" มีสีเหลืองสดใสคล้ายกับดอกบัวตอง และทานตะวัน แต่ขนาดจะเล็กกว่ามาก นอกจากนี้ "แก่นตะวัน" ยังมีหัวใต้ดินคล้ายมันฝรั่งไว้สำหรับเก็บสะสมอาหาร ซึ่งที่หัวของแก่นตะวันนี่เอง ที่จัดว่ามีสรรพคุณดีเยี่ยม ส่วนหัวของ "แก่นตะวัน" จะมีสารอินนูลิน (Inulin) ที่เต็มไปด้วยน้ำตาลฟรุกโตสโมเลกุลยาว จึงเป็นพืชพรีไบโอติกที่มีเส้นใยสูงมาก หากรับประทานเข้าไป สารดังกล่าวจะไปช่วยดักจับยึดไขมันในเส้นเลือด ไม่ว่าจะเป็นคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ หรือ LDL ที่เรารับประทานเข้าสู่ร่างกายมากเกินไปทิ้งออกทางอุจจาระ จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้เป็นอย่างดี และถ้าใครที่ไม่ค่อยแข็งแรงเพราะมีภูมิคุ้มกันต่ำ "แก่นตะวัน" ก็ถือเป็นสมุนไพรที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้ดีขึ้น เพราะอินนูลินจะไปช่วยลดปริมาณแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร เช่น โคลิฟอร์ม (Coliforms) และ อี.โคไล (E.Coli) ในขณะเดียวกัน "แก่นตะวัน" ก็จะไปเพิ่มการทำงานของแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายคือ บิฟิโดแบคทีเรีย (Bifidobacteria) และแลคโตบาซิลัส (Lactobacillus) ให้เจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้น สารอินนูลิน (Inulin) เป็นสารเยื่อใยอาหารที่ให้ความหวาน จะไม่ถูกย่อยในกระเพาะ และลำไส้เล็ก อยู่ในระบบทางเดินอาหารเป็นเวลานาน ทำให้ไม่รู้สึกหิว กินอาหารได้น้อย ช่วยลดความอ้วนและป้องกันและ โรคเบาหวาน หัวแก่นตะวัน เป็นวัตถุดิบแปรรูปเป็นเอทานอลได้ด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก
อ่านมาหลายที่ มีสารพัดประโยชน์ สารพัดสรรพคุณ (อาจจะแถมโฆษณาชวนเชื่อด้วย) คงต้องใช้วิจารณาญาณส่วนตัวด้วยนะคะ แต่โดยส่วนตัวแล้วชอบปลูกพืชที่กินได้อยู่แล้ว สรรพคุณด้านยาให้เป็นของแถมแล้วกัน เพราะมีความเชื่อส่วนตัวว่า กินให้อยู่ในหลักที่สมดุล กินอาหารและให้หลากหลาย พยายามกินอาหารที่ไม่ผ่านแปรรูป จะได้ประโยชน์สูงสุด การกินสมุนไพรโดยหวังให้เป็นยาอาจจะดื้อยา และไม่ได้ผล อาจมีพิษสะสมตามมาเพราะความไม่สมดุล การกินเป็นอาหารจะได้สรรพคุณด้านยาตามมาเอง ขออนุญาตยกคำของปราชญ์ชาวบ้านชาวมหาสารคามท่านหนึ่ง (ขออภัยจำชื่อท่านไม่ได้แต่จำคำพูดของท่านได้ดี)
ท่านบอกว่า "กินข้าวกับปลาเป็นหลัก กินผักเป็นยา กล้วยน้ำว้าบำรุงกำลัง" เห็นด้วยอย่างมาก ยังจำเสมอและพยายามทำแบบนั้นตลอดมา อาจจะได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ก็พยายามค่ะ
แก่นตะวันเป็นพืชที่ปลูกง่าย ชอบดินร่วนปนทรายระบายน้ำดี หากมีน้ำขังแฉะจะทำให้หัวเน่า เอ๋...น่าสน บ้านเราอยู่อิสานดินร่วนปนทราย เหมาะมาก น้ำไม่ห่วงว่าจะขัง ห่วงแต่จะแห้งมากกว่า อย่ากระนั้นเลยต้องหามาปลูกให้สมชื่อคนชอบสรรหายิ่งแถวบ้านไม่มี ต้องหา ต้องลอง ในที่สุดก็สั่งซื้อจากเวบนึงกิโลกรัมละ 300 บาท ค่าส่ง EMS อีกกิโลละ 100 บาท แม่เจ้าสั่งมา 2 กิโล ตัวเบาเลย ทดลองทำหลายเมนู รสชาติ...ผ่านค่ะ... แบ่งหัวบางส่วนมาปลูก ...ไว้คราวหน้าจะมาเล่าต่อนะคะ
ขอบคุณที่ตามอ่านเรื่องยาว ๆ
ขอบคุณบ้านสวนพอพียงที่ทำให้มีวันนี้
- บล็อกของ Suthikarn
- อ่าน 11878 ครั้ง
ความเห็น
saeng77
5 มีนาคม, 2012 - 10:15
Permalink
Re: เรื่องเล่าจากประสบการณ์ การปลูก "แก่นตะวัน" ตอนที่ 1
น่าสนใจคะ อยากหามาปลูกเหมือนกันคะ
Suthikarn
5 มีนาคม, 2012 - 10:53
Permalink
Re: เรื่องเล่าจากประสบการณ์ การปลูก "แก่นตะวัน" ตอนที่ 1
ถ้าไม่เกี่ยงเรื่องรอนาน เก็บเกี่ยวรอบหน้ามาแจกแน่ ๆ ค่ะ
จะปลุกทุกอย่างที่กิน แม้จะไม่ได้กินทุกอย่างที่ปลูก
พ่อน้องออม
5 มีนาคม, 2012 - 15:39
Permalink
Re:คุณ suthikarn แก่นตะวัน
ถ้ามีผลผลิตชุดใหม่ขอแบ่งหน่อยนะครับ ตอนคุณเขียนบล็อค ยำแก่นตะวัน ก็เปิดเข้าไปดูอยู่ว่ามันเป็นแบบไหนเจ้าแก่นตะวันเนี่ย ไม่ได้อ่านรายระเอียดงานก็กำลังยุ่งเลยผ่านไป ถ้ามีรบกวนนะครับ
EAKAPONG_36@hotmail.com Tel 087 959 9004
jirapa_saibutra
5 มีนาคม, 2012 - 15:12
Permalink
Re: เรื่องเล่าจากประสบการณ์ การปลูก "แก่นตะวัน" ตอนที่ 1
สงสัยว่าต้องไปเสาะหามาไว้ที่บ้านบ้างแล้วละ....:uhuhuh:
obbit
13 สิงหาคม, 2012 - 20:32
Permalink
Re: เรื่องเล่าจากประสบการณ์ การปลูก "แก่นตะวัน" ตอนที่ 1
ปลูกอยู่เหมือนกัน ครับ จะเก็บผล ได้ สินเดือนนี้ :admire:
ระยะทางไปจังหวัดต่างๆ
หน้า