ดอกไม้บนทางผ่าน ตอน หนังสือดอกไม้
สำหรับอ้อยหวาน ดอกไม้ คือ หนังสือเล่มใหญ่ ที่บรรจุทุกอย่างของโลกไว้ ให้เราได้เรียนรู้ หนังสือดอกไม้ บันทึกทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกวิชา ตั้งแต่ วิทยาศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ ธรรมชาติ วรรณกรรม ปรัชญา และศาสนา มีให้อ่าน ให้เรียนรู้ไม่รู้จบ
แค่ติดตามดูดอกไม้ดอกหนึ่ง ตั้งแต่เริ่มเป็นตุ่มเล็กๆ จนแบ่งบาน และในที่สุดก็ปลิดจากขั่ว บางดอกยังทิ้งตุ่มน้อยๆ ที่เติบโตเป็นลูก ก็เหมือนได้อ่านหนังสือเล่มใหญ่
วันนี้ก็มาถึงดอกไม้บนทางผ่านกลุ่มสุดท้าย ดอกไม้ที่อ้อยหวานได้เก็บ (รูป) ไว้เป็นที่ระลึกในช่วงที่ได้กลับไปเยี่ยมบ้าน เป็นช่วงที่ปักษ์ใต้บ้านเราฝนตกทุกวัน ทำให้ทุกอย่างดูชุ่มชื้น เขียวขจี อ้อยหวานได้เก็บรวบรวมเป็นหนังสือดอกไม้ เล่มน้อยๆ เป็นบันทึกในความทรงจำ ดอกไม้แต่ละดอกบอกเล่าเรื่องได้มากมาย..
ดอกชวนชม จาก ริมทาง นครศรีธรรมราช
ชวนชม มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Adenium แต่ชื่อที่นิยมเรียกคือ desert rose …กุหลาบทะเลทราย มีพันธ์ดั้งเดิมทั้งหมด 12 สายพันธ์ และลูกผสมอีกมากมาย เป็นพันธ์ไม้ที่นิยมทำเป็นบอนไซและทำกราฟติ้ง (Grafting)
อ่านรายละเอียดเทคนิคการทำกราฟติ้งชวนชม ได้จากบล็อกเก่าของอ้อยหวาน ที่นี่ http://www.bansuanporpeang.com/node/26306
ชวนชม มีถิ่นกำเนิดในทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา ภาคตะวันออกและภาคใต้ของทวีปแอฟริกา ชวนชมเป็นพืชมีพิษ ชนเผ่าทั่วแอฟริกาใช้น้ำยางชวนชมเป็นยาพิษอาบลูกศร สำหรับล่าสัตว์ใหญ่
แต่ก็ยังมีบางชนเผ่า ที่ใช้ชวนชมเป็นยาสมุนไพร เช่นชนเผ่าทาราคา (Tharaka ) ในแคนยา แอฟริกา ผู้หญิงทาราคา จะเคี้ยวเปลือกชวนชม เพื่อให้แท้งลูก แป้งจากก้านใช้เป็นยาทาแก้เหาและหมัดในสัตว์เลี้ยง
ในโซมาเลีย ใช้ยาต้มจากรากชวนชม เป็นยาหยอดจมูกรักษาโรคจมูกอักเสบ ในซาอุดีอาระเบียใช้น้ำยางและเปลือกชวนชม เป็นยารักษาโรคกระดูกเคลื่อน โรคไขข้อเคล็ดขัดยอก อัมพาต บวมแผลติดเชื้อ
กล้วยไม้กะเร่กะร่อน จากเกาะยอ สงขลา
อ้อยหวานเคยเห็นกล้วยไม้กะเร่กะร่อนแว็บไปแว็บมาในขณะนั่งรถ เห็นเกาะอยู่บนต้นตาลหรือต้นปาล์มทั่วไป แต่ไม่เคยมีโอกาสได้หยุดรถลงไปดูใกล้ๆ กะเร่กะร่อนคงได้ชื่อมาจากสถานะเดิมคือเป็นกล้วยไม้ไม่มีสกุล หรือมีสกุลแต่ไม่สูงส่ง เธอเติบโตออกดอกเอง โดยไม่ต้องให้ใครมาดูแล ประคบประหงม อยู่สูงก็ได้ อยู่ต่ำก็ดี บนต้นไม้ บนทราย แม้แต่บนหิน กะเร่กะร่อนก็ไม่หวั่น เธอเติบโตออกลูกออกดอกแพร่กระจายไปทั่ว เธอสมบุกสมบันจนน่าชมเชย น่าเอาอย่าง อ้อยหวานขอตั้งชื่อใหม่ให้ว่า ‘กล้วยไม้เธอเท่ห์มาก’
วันนี้มาเจอ กะเร่กะร่อน อย่างใกล้ชิด ออกดอกงดงามหน้าที่พักบนเกาะยอ แอบดีใจแทนเธอ ดีใจว่ามีคนเห็นคุณค่าและความงามของเธอแล้ว เธองามไม่แพ้ใคร และยังชื่นชมเธอที่ไม่ลืมรากเง้าเดิม เพราะยังเห็นเธอตามรายทางเหมือนก่อนเก่า
กล้วยไม้กะเร่กะร่อนมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cymbidium finlaysonianum
ดอกพลับพลึง จาก เกาะสิเหร่ ภูเก็ต
พลับพลึง โดย อังคาร กัลยาณพงศ์
ครั้งปฐมกัลป์ยังหลับใหล อีกวันเดียวพระอาทิตย์จะดับร่วง ดาวพระเสาร์จะโคจรมาชนดวงจันทร์ มหาวายุอุกลาบาต จะพลัดมาล้างโลก พระเป็นเจ้าอนุญาตให้แผ่นดิน หย่อมหญ้า จุลินทรีย์ และสรรพสิ่งในพิภพนี้พูดได้ จะหัวเราะร้องไห้ก็ตามที
แผ่นดินจึงถามไฟป่าว่า เจ้าไหม้พฤกษาสิ้นป่าดงพงไพร แต่ไฉนเว้นพลับพลึงไว้กอเดียวกลางกองเพลิง นิ่งอยู่ครู่หนึ่งเปลวไฟร้องไห้ แผ่นดินเอ๋ย แต่ชาติปางหลังครั้งยังไม่มีวงแหวนล้อมดาวพระศุกร์ บุรุษหนึ่งแววตาสีกลางคืน วเนจรไปจนตาย กลับชาติเกิดเป็นเปลวไฟ พลับพลึงเคยเป็นมารดา เมื่อรฤกได้ ถึงแม้เราจะเป็นเปลวไฟ แต่ถ้ารู้ว่า จะไหม้สิ่งที่รัก เราก็ขอดับตัวเอง เหลือเพียงผงเถ้าธุลี
เราเป็นถ่านเถ้าธุลีเสียดีกว่าจะเป็นเปลวไฟไหม้สิ่งที่รัก ตราบประลัย ฟากฟ้า เวลา นาที เราก็ไม่ลืมความรัก จะพูดไปจนปลายลิ้น เป็นป่าช้าฝังหัวใจเอง แผ่นดินและนานาพฤกษาชาติ ต่างก็สนทนากันเป็นครั้งสุดท้าย แล้วก็ดับวาจาเป็นใบ้ไปชั่วนิรันดร
ขอบคุณ ข้อมูลจาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
อังคาร กัลยาณพงศ์ (13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 — 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555) เป็นทั้งกวีและจิตรกร เกิดที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ศึกษาระดับประถมที่ โรงเรียนวัดจันทาราม ต่อมาก็เรียนที่วัดใหญ่จนจบประถมสี่ แล้วย้ายไปเรียนที่โรงเรียนมัธยมประจำจังหวัด คือ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช ศึกษาศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง และที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
จิตรกรกวี อังคาร กัลยาณพงศ์ หรือ ที่คนทั่วไปเรียกติดปากว่า “ท่านอังคาร” ผู้เป็นเจ้าของรางวัลกวีนิพนธ์ดีเด่นคนแรกของ มูลนิธิเสฐียรโกเศศนาคะประทีป ปี 2515 , รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ ซีไรต์ (S.E.A. Write ) ปี 2529 จากผลงานกวีรวมเล่มชื่อ "ปณิธานกวี" และ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ปี 2532
ขอบคุณ ข้อมูลจาก WIKIPEDIA
อ้อยหวาน ขอคารวะ ท่านอังคาร ด้วยใจจริง ท่านคือยอดกวีที่แท้จริง
ดอกพลับพลึง จาก เกาะสิเหร่ ภูเก็ต
พลับพลึงมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Crinum asiaticum หรือ Spider Lily
คนอีสานมักจะเรียกพลับพลึงว่า ว่านชน เนื่องจากเมื่อพลัดตกหกล้มหรือไปชนกระแทกอะไรมาก็ให้ใช้ว่านนี้รักษา ประโยชน์ทางยาของพลับพลึงนั้น เป็นที่รู้กันโดยหมอยาในหลายท้องที่นิยมใช้แบบเดียวกันนั่นคือใช้พลับพลึงในการแก้ฟกช้ำดำเขียว แก้อักเสบ เคล็ดขัดยอก ปวด บวม โดยวิธีใช้ก็แสนง่าย เพียงนำใบพลับพลึงมาย่างไฟให้ตายนึ่ง คือย่างพอให้ใบอ่อนตัวลง แล้วพันรอบอวัยวะที่เจ็บ หัก บวม ปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก นอกจากนี้ในมารดาหลังคลอดก็นิยมใช้ใบพลับพลึงในการทับหม้อเกลือ ที่ท้อง สะโพก เพื่อลดอาการอักเสบ ฟกช้ำ จากการคลอดลูก และเพื่อให้มดลูกเข้าอู่เร็ว หรือคนที่ปวดศีรษะ ก็สามารถนำใบพลับพลึงอังไฟ แล้วมาพันรอบศีรษะไว้ อาการปวดก็จะทุเลาลง แต่ถึงแม้ประโยชน์ของเจ้าว่านชนจะมีมากมาย ก็ใช้ได้แค่ภายนอกเท่านั้น ไม่ใช้เป็นยากินเนื่องจากมีพิษ
ขอบคุณ ข้อมูลจาก หนังสือสมุนไพรอภัยภูเบศร
กนกนารี จากสวนของโรงแรมชิโนเฮ้าส์ ภูเก็ต
กนกนารี มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Selaginella plana หรือ Asian Spikemoss มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย อินโดจีน และอินโดนีเซีย
กนกนารีเป็นพืชเก่าแก่ชนิดหนึ่งของโลก ถึงแม้ว่าจะผลิตสปอร์ได้เหมือนกับเฟิร์น แต่กนกนารีไม่ใช่พืชในตระกูลเฟิร์น กนกนารีเป็นพืชตระกูล Spikemoss ที่มีทั้งหมดด้วยกัน 700 สายพันธุ์
ดอกบัวสีน้ำเงิน จาก ศาลหลักเมือง นครศรีธรรมราช
ดอกบัวสีน้ำเงิน มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Nymphaea caerulea หรือ Blue Egyptian water lily
ดอกบัวสีน้ำเงิน ถือเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิของอียิปต์ ดังจะเห็นภาพบัวชนิดนี้อยู่ตามผนังสุสานสมัยโบราณ เช่นเดียวกับหัวเสาหิน ซึ่งนิยมสลักเป็นรูปดอกบัว ความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ทำให้ดอกบัวชนิดนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศอียิปต์ตอนบน
ดอกบัวสีน้ำเงินนี้มีความเชื่อมโยงกับตำนานเรื่องการสร้างโลก ซึ่งชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่า เดิมจักรวาลเป็นที่มืดเต็มไปด้วยมหาสมุทร ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดๆ ต่อมามีดอกบัวสีน้ำเงินขนาดยักษ์ผุดขึ้นจากน้ำและค่อยๆ แย้มกลีบออก พระผู้สร้างที่ถือกำเนิดขึ้นทรงประทับอยู่ตรงใจกลางดอกซึ่งเป็นสีทอง กลิ่นหอมหวานจากดอกบัวได้อบอวลไปทั่วพื้นน้ำ แสงสว่างสาดส่องออกมาจากร่างของพระองค์ เพื่อขับไล่ความมืดให้อันตรธานไป พระผู้สร้างนี้ก็คือองค์สุริยเทพ “รา” ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของสรรพชีวิตนั่นเอง
ดอกบัวสีน้ำเงิน จาก ศาลหลักเมือง นครศรีธรรมราช
ในสมัยอียิปต์โบราณ ถือว่าดอกบัวสีน้ำเงินเป็นยาชูกำลัง ที่เหนือกว่าโสม เป็นยาเสริมสร้างสมรรถภาพทางเพศ ที่เหนือกว่าไวอากร้า ป็นยากระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ที่เหนือกว่าใบแปะก๊วย
คนอียิปต์โบราณ นิยมบริโภคดอกบัวสีน้ำเงินใน 3 รูปแบบคือ ชาดอกบัวสีน้ำเงิน เหล้าไวน์หมักด้วยดอกบัวสีน้ำเงิน และบุหรี่ ผสมด้วยดอกบัวสีน้ำเงินแห้ง สรรพคุณคล้ายกับใบกระท่อมนั่นเอง
ดอกชบา จาก ริมทาง นครศรีธรรมราช
ชบาเป็นพืชตระกูลใหญ่ มีทั้งกลีบซ้อนและกลีบลา มีหลายสีให้เลือกมากมาย ลองแวะเข้าไปดูในลิงค์นี้ http://www.exotic-hibiscus.com/ แล้วจะร้องว่า โอ้..เจ้าดอกชบา งามแท้ๆ แม่คุณเอ๋ย มีหลายสี หลายลาย แต่ละดอกธรรมชาติช่างสร้างสรร และมนุษย์มาเติมต่อ สรรสร้างให้อีก ทำให้มีชบาที่มีสีและรูปทรงงามแปลกตา
ดอกชบา จากสวนของโรงแรมชิโนเฮ้าส์ ภูเก็ต
ชบาแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ เป็น 2 กลุ่ม คือ ชบาเขตร้อน และ ชบาเขตหนาว ชบาเขตหนาว ซึ่งเป็นชบาที่สามารถปลูกได้ที่แคนนาดา ในฤดูหนาวต้นชบาจะตายหมด แต่รากจะนอนหลับ เพื่อจะเติบโตเป็นต้น ออกดอกอีกครั้งในฤดูร้อน
*****หมายเหตุ ในรูปเป็นชบาเขตร้อน
ดอก Brazilian Red Cloak จากบ้านคุณไหม หาดใหญ่
ดอก Brazilian Red Cloak อ้อยหวานไม่ทราบชื่อไทย มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Megaskepasma erythrochlamys ที่จริงดอกของ Brazilian Red Cloak นี้ จะต้องชูช่อโดดเด่น เงยหน้าอวดฟ้าสวยงามนัก แต่เธอโดนฝนซัดสาดมาหลายวัน ไม่สามารถชูหน้าอวดฟ้าได้ เพราะช่อใหญ่ รวมกลุ่มกันหลายดอก แม้นก้มหน้า เธอก็ยังงามไม่น้อยเลย
หยดน้ำบนใบบัว จากเขาคอหงส์ หาดใหญ่
หากบัวเป็นหนังสือ ก็คงเป็นหนังสือเล่มใหญ่ มีเรื่องเล่า มีเรื่องให้ศึกษาและให้อ่านมากมาย แค่หยดน้ำบนใบบัว ก็มีเรื่องราวหลายเรื่อง อ้อยหวานขอเริ่มเปิดไปที่หน้าวิทยาศาสตร์
นักวิทยาศาสตร์เรียก ปฏิกิริยาที่หยดน้ำกลิ้งบนใบบัวว่า lotus effect อธิบายแบบรวบรัดได้ว่า เพราะพื้นผิวของใบบัวมีลักษณะคล้ายหนามเล็ก ๆ จำนวนมากมายมหาศาลเรียงตัวอยู่ และยังมีปุ่มเล็ก ๆ ที่มีคุณสมบัติคล้าย “ขี้ผึ้ง”เคลือบอยู่ภายนอก ทำให้น้ำไม่สามารถกระจายตัวบนใบบัวได้ จึงต้องกลิ้งไปกลิ้งมาอย่างที่เราเห็น นักวิทยาศาสตร์ได้วิวัฒนาการ lotus effect มาใช้ในการเคลือบพื้นผิวของวัสดุต่าง ๆ เช่น “สีทาบ้าน” ผลิตภัณฑ์แก้ว เสื้อกันฝน และผลิตภัณฑ์กันน้ำอื่นๆ
หยดน้ำบนใบบัว จากเขาคอหงส์ หาดใหญ่
เมื่อพลิกหนังสือเล่มนั้นไปอีกหน่อย ก็จะไปถึงหน้าปรัชญา มีคำสอนที่ระบุไว้ในคัมภีร์พระเวทของอินเดีย องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ตรัสว่า "โอ้มนุษย์! ชีวิตของเจ้านี้ เหมือนหยดน้ำวิ่งวนอยู่บนใบบัว ซึ่งอาจจะตกลงมาจากใบบัวไม่นาทีใดก็นาทีหนึ่ง” ซึ่งขอแปลง่ายๆว่า..
ชีวิตคือความไม่แน่นอน เปรียบเหมือนกับหยดน้ำบนใบบัว นาทีหนึ่งแปร่งประกาย ดุจเพชร อีกนาทีหนึ่ง วูบลับตกจากใบบัว
หยดน้ำบนใบบัว จากเขาคอหงส์ หาดใหญ่
ส่วนในพุทธศาสนา มีพุทธภาษิตกล่าวไว้ว่า
หยาดน้ำไม่ติดบนใบบัว วารีไม่ติดบนดอกบัวฉันใด
ผู้เข้าถึงธรรม ก็ไม่ติดในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ที่รับรู้ ฉันนั้น
และอีกบทหนึ่งคือ
ผู้ใดไม่ติดในกาม เหมือนหยาดน้ำไม่ติดใบบัว
และเมล็ดผักกาดไม่ติดปลายเข็ม
ผู้นั้นเราเรียกว่า พราหมณ์
อ้อยหวานขอบคุณเพื่อนทุกๆคน ที่แวะมาเปิดอ่านหนังสือดอกไม้เล่มน้อยของอ้อยหวาน หวังว่าหนังสือเล่มนี้ ได้ให้อะไรแก่ผู้อ่านบ้าง อย่างน้อยก็..รอยยิ้ม
อ่านดอกไม้บนทางผ่าน ตอนแรกๆ ได้ที่นี่่ค่ะ
http://www.bansuanporpeang.com/node/27717
http://www.bansuanporpeang.com/node/27725
http://www.bansuanporpeang.com/node/27740
http://www.bansuanporpeang.com/node/27747
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่นี่ค่ะ
http://thebiggestplantdictionary.blogspot.ca/2012/04/selaginella-plana-biggest-plant.html
http://www.abhaiherb.com/knowledge/thaiherb/2182
http://www.bluelotus-export.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=329676
http://www.antiguahorticulture.com/912/
http://annstropics.com/Descriptions/Megaskepasma_erythrochlamys-Brazilian_Red_Cloak.html
http://www.p2i.com/blogs/articles/magic_lotus_leaf_natures_nanotechnology
http://www.harekrsna.de/Lotus-FLower.htm
http://www.kanlayanatam.com/sara/sara84.htm
I would like to Thanks everyone for all the resources for this blog. Thank you.
ขอให้เพื่อนๆมีแต่ความสุข
ขอบคุณค่ะ
อ้อยหวาน
- บล็อกของ อ้อยหวาน
- อ่าน 15214 ครั้ง
ความเห็น
ก้องนคร อุ่นกลม
7 มกราคม, 2014 - 09:27
Permalink
Re: ดอกไม้บนทางผ่าน ตอน หนังสือดอกไม้
ฝีมือการถ่ายภาพของพี่อ้อยแม้นถ่ายแค่ดอกหญ้าก็งามเกินบรรยาย ซ้ำข้อมูลที่นำมาอ้างอิงล้วนประกอบด้วยความรู้อย่างจัดแจ้ง ข้าน้อยขอคารวะ คำนับหนึ่งจอก
Sopha B'
7 มกราคม, 2014 - 14:20
Permalink
Re: ดอกไม้บนทางผ่าน ตอน หนังสือดอกไม้
ติดตามชม
ริมสวนยาง
7 มกราคม, 2014 - 15:23
Permalink
Re: ดอกไม้บนทางผ่าน ตอน หนังสือดอกไม้
ขอบคุณมากค่ะ พี่อ้อย --เป็นหนังสือดอกไม้ทีทรงคุณค่ะมากค่ะ--น้องในบ้านสวนคงอ่านกันได้ทั่วถึง และตลอดเวลาจากห้องสมุด"อ้อยหวาน-บ้านสวนฯ" ค่ะ
auttaya
7 มกราคม, 2014 - 19:47
Permalink
Re: ดอกไม้บนทางผ่าน ตอน หนังสือดอกไม้
ขอบคุณน้องอ้อยที่ใช้ความสามารถผลิตหนังสือเล่นนี้ ติดตามทุกหน้าและทุกภาพค่ะ
สมจิต
7 มกราคม, 2014 - 20:35
Permalink
Re: ดอกไม้บนทางผ่าน ตอน หนังสือดอกไม้
ขอบคุณค่ะ ที่เล่าเรื่องดีๆ ให้ได้อ่าน ติดตามทุกบล็อกค่ะพี่อ้อยหวาน
เสิน
7 มกราคม, 2014 - 21:16
Permalink
Re: ดอกไม้บนทางผ่าน ตอน หนังสือดอกไม้
ฝีมือถ่ายภาพเยี่ยมจริงๆครับ
พลับพลึงชนิดนี้บ้านผมเรียก พลับพลึงตีนเป็ด
..โอกาสไม่ได้มีทุกวัน..
priraya
8 มกราคม, 2014 - 08:29
Permalink
Re: ดอกไม้บนทางผ่าน ตอน หนังสือดอกไม้
ฝีมือการถ่ายภาพเยี่ยมค่ะ ตามมาชื่นชมดอกไม้กับคุณอ้อยหวาน พลอยได้กำไรชีวิตไปด้วย....
ป้าต่าย
8 มกราคม, 2014 - 10:16
Permalink
Re: ดอกไม้บนทางผ่าน ตอน หนังสือดอกไม้
หนังสือเล่มใหม่ที่ป้าได้อ่านได้มีความรู้ก็คือบล็อกคุณอ้อยหวานนี้ไง ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลยสุดยอดๆๆๆ
คิดให้แตกต่าง...แต่อย่าแตกแยก
Luckylak
8 มกราคม, 2014 - 16:44
Permalink
Re: ดอกไม้บนทางผ่าน ตอน หนังสือดอกไม้
ขอบคุณน้องอ้อยหวานมากค่ะ หนังสือมีประโยชน์และมีคุณค่าสำหรับบุคคลที่แสวงอ่านค่ะ
เจ้โส
8 มกราคม, 2014 - 22:49
Permalink
Re: ดอกไม้บนทางผ่าน ตอน หนังสือดอกไม้
ฝีมือถ่ายภาพขั้นเทพเลยนิ
garden_art1139@hotmail.com