ตอบโจทย์ที่ 3 การปรับปรุงดิน 1 (The third answer Soil improvement)

หมวดหมู่ของบล็อก: 

สวัสดีครับ หลังจากที่ผมพยายามตอบโจทย์ไปแล้วสองข้อ คือการปรับปรุงแหล่งน้ำและผมจะปลูกอะไรดี ชีวิตผม (คนเมือง) ก็เริ่มเปลี่ยนไปโดยให้และใช้เวลาในการเป็นเกษตรกรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมที่ปลูกต้นไม้เพื่อให้ดูสวยงามหรือเดินเที่ยวสวนเกษตรเพื่อหาของกินโดยเฉพาะผลไม้อร่อย ๆ (แฮ่ ๆ) กับปัจจุบันที่เริ่มมีจุดหมายด้านการเกษตรอย่างจริงจัง (การพัฒนาไร่สุโขทัยนี้ดี) พอผมเริ่มปลูกต้นไม้ผมก็อยากเห็นการเจริญเติบโตของเขา แต่เนื่องด้วยที่ไร่กับที่อยู่อาศัยปัจจุบันค่อนข้างห่างไกลโดยประมาณหนึ่งเดือนถึงจะได้ไปที่ไร่สักครั้ง (เหมือนรอนัดกับสาว ๆ เลย 55) ทำให้เวลาส่วนมากที่อยู่กรุงเทพก็ได้แค่นึกถึงว่าต้นไม้ที่ปลูกไว้จะได้น้ำพอไหม (คนงานที่จ้างให้ดูแลเราก็ไม่แน่ใจเขาจะดูแลได้ดีแค่ไหน) นอกจากนี้เวลาว่างผมก็ใช้เวลากับการอ่านหนังสือตำราด้านดิน น้ำ ปุ๋ย จุลินทรีย์ ฯลฯ ส่วนบ้านที่อยู่ปัจจุบันก็ทดลองปลูกและศึกษาดูส่วนที่เราไม่เคยรู้เช่น การดูมะละกอต้นตัวผู้ ต้นตัวเมีย ต้นกระเทย ก็แปลกดีจากก่อนหน้านี้ที่กินอย่างเดียว อีกอย่างคิดว่าความเป็นเจ้าของทำให้เกิดการทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจและความพยายามทำตามอุดมการณ์ให้ไร่สุโขทัยนี้ดีสมชื่อ (โม้เสียหน่อย 55) ตามเป้าหมาย โดยผมคิดว่าน่าจะขอใช้เวลาอีกนานหน่อยนะครับ (หวังว่า 3 ปีที่ไร่น่าจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างได้)                       

สำหรับคราวนี้เลือกโจทย์การปรับปรุงดิน โดยถ้าเพื่อนสมาชิกเห็นรูปถ่ายที่ไร่ไปก่อนหน้านี้แล้วน่าจะพอมองออกว่าสภาพดินขาดความอุดมสมบูรณ์อย่างแรง (มองด้วยตาก็เห็นอย่างชัดเจน) ลักษณะของดินเมื่อเปรียบเทียบกับหนังสือน่าจะเรียกว่า ดินร่วนเนียวปนทราย (scl) กับดินร่วนปนทรายแป้ง (sil) ลักษณะจะเห็นเด่นชัดเมื่อโดนน้ำ ดินจะมีลักษณะเหมือนแป้งเหนียว ๆ (ขี้โคลน)  พูดได้เลยว่าดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ในตอนก่อนหน้านี้ผมก็เคยใช้เครื่องมือวัดความเป็นกรดด่าง pH Meter การสุ่มอ่านจากทั่วบริเวณไร่ได้ค่าต่ำสุดคือ 4.8 และ สูงสุดคือ 6.8  ก็พอสรุปได้ว่าดินบริเวณนี้มีความเป็นกรดเล็กน้อยจนถึงกรดจัด ยังไม่ถึงระดับกรดรุนแรง (ต่ำกว่า 4.5) และเนื่องความขี้สงสัยอยากรู้ค่าตัวเลขความสมบูรณ์ของพื้นที่จริง ๆ จึงคิดอยากจะส่งดินเพื่อตรวจสอบโดยได้ขอคำแนะนำจากนักวิชาการสถานีพัฒนาที่ดินสุโขทัย ผมก็สุ่มขุดดินรอบที่กระจายกันประมาณ 15 จุดแล้วนำมาคลุกผสมกันแล้วนำมาเพียง 1 กก. โดยใส่ถุงตามตัวอย่าง

จากตัวอย่างผมเก็บดิน 2 แบบ ดินที่เป็นหน้าดินที่ใช้สำหรับปลูกไม้ผลและพืชผักกับอีกส่วนคือดินชั้นล่างที่ขุดขึ้นมาถมเป็นถนนหรือจากบ่อน้ำชั้นล่าง

สำหรับการตรวจดิน (ฟรี) เจ้าหน้าที่บอกว่าสามารถตรวจธาตุเพียง P-K-Ca (ฟอสฟอรัส-โปแตสเซียม-แคลเซียมและค่า pH กับปริมาณอินทรียวัตถุ) สำหรับ N ไนโตรเจนไม่นิยมตรวจเพราะมีการสูญสลายได้โดยง่าย แต่จากหนังสือที่ได้ศึกษามาได้ให้ข้อมูลว่าพืชต้องการธาตุทั้งหมด 16 ชนิดประกอบด้วย

ธาตุหลัก 3 ชนิด ไนโตรเจน(N) ฟอสฟอรัส(P) และโพแทสเซียม(K)

ธาตุรอง 3 ชนิด แคลเซียม(Ca) แมกนีเซียม(Mg) และซัลเฟอร์หรือกำมะถัน(S)

จุลธาตุ 7 ชนิด ได้แก่ เหล็ก(Fe) แมงกานีส(Mn) โบรอน(B) โมลิบดินัม(Mo) ทองแดง(Cu) สังกะสี(Zn) และคลอลีน(Cl)

อีก 3 ธาตุพืชได้จากน้ำและอากาศ คือ คาร์บอน(C) ไฮโดรเจน(H) และออกซิเจน(O)

ข้อมูลด้านบนคิดว่าเพื่อนสมาชิกก็คงผ่านตามาพอสมควร แต่เมื่อเจาะลงรายละเอียด (ค้นหาในบทความและอินเตอร์เน็ต) กลับไม่ปรากฎว่าเกษตรกรท่านใดเขียนถึงขบวนการตรวจวิเคราะห์ดินอย่างละเอียดเลย เอาเถอะครับไหน ๆ ก็กินอิ่มแล้วไม่มีงานทำก็เลยไปสอบถามเจ้าหน้าที่ก็แนะนำให้ติดต่อสำนักวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ดิน (สวด.) ที่กรุงเทพ (ตรงข้ามรพ.เมโย ถ.พหลโยธิน ม.เกษตรศาสตร์) เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่าการตรวจธาตุอื่นโดยมากจะเป็นไปเพื่องานวิจัยเท่านั้น เพราะธาตุรองและจุลธาตุโดยมากก็มีอยู่ในดินพอเพียงยกเว้นแต่พื้นดินที่อาจจะมีปัญหามากเช่น ดินเป็นกรด อาจจะต้องวิเคราะห์ธาตุอื่น ๆ ประกอบเพิ่มเติม ตัวอย่างนี้เป็นผลการวิเคราะห์ดินที่จะได้รับ (ยังไม่ใช่ดินที่ผมส่งตรวจนะครับเห็นเจ้าหน้าที่บอกรอประมาณ 1 เดือนเศษ ๆ คือ รอตัวอย่างให้มากพอแล้วจึงผสมน้ำยาเพื่อตรวจ)

Note: ข้อมูลเพิ่มเติมคือที่สำนักสามารถตรวจธาตุรองและจุลธาตุเพิ่มได้อีก 7 ตัวคือ แคลเซียม แมกนีเซียม ซัลเฟอร์ เหล็ก แมงกานีส ทองแดง สังกะสี โดยให้บริการตรวจตัวอย่างธาตุละ 300 บาท นอกจากนี้มหาวิทยาลัยบางแห่งอาทิเช่น ม.เกษตรศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ฯ ก็มีหน่วยงานที่ให้บริการสำหรับตรวจได้เช่นกัน แต่ก็มีค่าใช้จ่ายเช่นกัน ตัวอย่าง ม.สงขลาฯ http://www.sec.psu.ac.th/download/price/price_testing_01jul57.pdf ตรวจได้ครอบจักรวาลเลยครับ

สำหรับข้อมูลดินคร่าว ๆ เราก็สามารถดูได้จากแผนที่ดินที่กรมพัฒนาที่ดินได้แผยแพร่ไว้ นอกจากนี้อาจจะเทียบเคียงกับพื้นที่เกษตรบริเวณใกล้บ้านท่าน (ระดับตำบล) โดยดูได้ที่ http://lddmapserver.ldd.go.th/soilanaly2/UserSearchSoil.aspx สวัสดีครับ 

ความเห็น

การตรวจสอบดิน ก่อนปรับปรุงก็มีส่วนสำคัญ ยิ่งพื้นที่มากก็ยิ่งมีความจำเป็น ถ้าเน้นปลูกเพื่อการค้าก็ต้องลงทุนในพื้นที่เพิ่มอีกมาก  ในระยะยาวถ้าเพิ่มประเภทอินทรีย์เข้าไปเยอะๆ ดินก็จะดีเร็วขึ้น

..โอกาสไม่ได้มีทุกวัน..

 

ขอบคุณครับ ผมประสบการณ์ด้านเกษตรน้อยมาก ๆ ก็เลยพยายามอิงหลักวิชาการมาช่วยให้มากเท่าที่จะทำได้ครับ

ไร่สุโขทัยนี้ดี ไร่นี้มีแต่ความสุข

ที่สวย วิวดี ทำออกมา ความสุขรออยู่ครับ ที่ที่ทำก็ไม่ไดัวัดความเป็นกรด เบส และธาตุอาหาร เมื่อก่อนที่แห่งนี้ก็มีปัญหาปลูกอะไรก็ไม่ดี แต่รู้สึกจะปลูกพืชเชิงเดี่ยวนะครับ พอเรามาทำก็เลยต้องเพิ่มธาตุอาหารเข้าไป ส่วนใหญ่เน้นพวกมูลสัตว์ กับพวกจุลินทรีย์น่าจะทำให้ดินดีขึ้นไวครับ ส่วนอีกวิธีที่น่าสนใจคือพืชคลุมดิน ตระกูลถั่วครับ ปอเทือง(ขอฟรีได้พัฒนาที่ดินครับ) อีกอย่างถ้ามีแหล่งน้ำ(มีสระ)ต้องมีหญ้าแฝกครับ(ป้องกันหนัาดิน_ฟรีที่เดียวกันครับ)

“นานุวัฒน์ ทำเกษตรให้สนุกและมีความสุข”

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำครับ เนื่องด้วยผมยังมือใหม่ด้านเกษตร หลาย ๆ อย่างก็ยังมองไม่ออกเลยหาความรู้จากตำราเสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนประสบการณ์ก็พยายามสะสมอยู่ครับ ปอเทืองกับหญ้าแฝกขอฟรีมักจะหมดไวครับ 55 แต่กำลังหาอยู่ครับ

ไร่สุโขทัยนี้ดี ไร่นี้มีแต่ความสุข