บ้านดินนานาชาติ อนาคตของโลกอยู่ในดิน 1
อ้อยหวานได้ติดตามอ่านบล็อกจักรยานทางไกลอยู่หลายบล็อก มีอยู่บล็อกหนึ่งเธอปั่นจักรยานอยู่ที่ โมร็อคโค และได้เก็บรูป คาร์ส (Ksar) ป้อมปราการหรือปราสาทในแอฟริกาทางเหนือ ติดตามอ่านบล็อกจักรยานของเธอได้ที่นี่ เป็นป้อมปราการที่สร้างด้วยดินเหนียวทั้งหลังสวยงามมาก จากรูปนี้ได้จุดประกายความอยากรู้อยากเห็นของอ้อยหวาน ทำให้ได้ขุดคุ้ยตามดู ทำให้รู้ว่าแอฟริกาเป็นทวีปที่มีบ้านดินสวยๆ และใช้งานได้จริง ผู้คนยังอาศัยอยู่ในบ้านดินเหมือนสมัยก่อนเก่า
ป้อมปราการในรูปข้างบนคือ Ksar of Ait-Ben-Haddou สร้างขึ้นในสมัยศตวรรษที่ 17 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นมรดกโลกตั้งแต่ปีค.ศ. 1987 และเป็นฉากของหนังหลายๆ เรื่อง
ป้อมปราการ Ksar of Ait-Ben-Haddou อีกรูปจาก WIKIPEDIA
คนสมัยก่อนฉลาดนัก ฉลาดในการกินอยู่ที่เป็นมิตรกับโลก ต่อเมื่อผู้คนบนโลกต่างพากันวิ่งฉับๆ ให้ทันสมัย..ล้ำสมัย หลับหูหลับตาวิ่งจนไม่รู้ว่าเราได้ทำร้ายโลกไปมากมายแค่ไหน กว่าจะได้หยุดแล้วหันมาดูโลกอีกทีก็เกือบจะสายไป (หรือสายไปแล้ว?) อย่างบ้านดินก็เหมือนกันคนสมัยก่อนเขาสร้าง เขาอยู่บ้านดินกันตั้งแต่ปีมะโว้ ย้อนหลังไปหลายร้อยปี บ้านเก่าทรุดโทรมลง ดินก็กลับไปรวมกับพื้นโลก ซ่อมแซมใหม่ก็เก็บดินเก่าขึ้นมาสร้าง ไม่มีอะไรเหลือ ไม่มีอะไรขาด และไม่มีอะไรเกิน
ทวีปแอฟริกาที่ถือว่าล้าหลังที่สุดในโลก มาคิดดูอีกทีก็อาจเป็นการดี เพราะได้เก็บรักษาความเป็นอยู่เก่าๆ ไว้ ความเป็นอยู่ที่เป็นมิตรกับโลก ความเป็นอยู่แบบพอเพียง ที่ผู้คนในยุคดิจิทอลกำลังสนใจถามหา และอาจจะเป็นแบบอย่างของบ้านดินทั่วโลกก็ได้
บล็อกนี้เป็นการเล่าสู่กันฟังตามแบบฉบับของอ้อยหวาน ถ้าต้องการแบบลึกซึ้งก็ต้องปรึกษาผู้สันทัดอีกทีนะค่ะ
บ้านดินหลังแรกคือ บ้านดิน ทาทา ซอมบา (Tata Somba) เป็นบ้านของชนเผ่าแทมมาริ (Tammari) ที่อาศัยอยู่ในประเทศโทโก (Togo) ประเทศเล็กๆ ในทวีปแอฟริกา
บ้านดิน ทาทา ซอมบา (Tata Somba) เป็นบ้านแบบเก่าสองชั้นแถมมีดาดฟ้าด้วย ชั้นล่างจะใช้เป็นที่คอกสัตว์ในเวลากลางคืน ส่วนผู้คนจะอยู่กันชั้นบน ห้องครัว ห้องนอน แบ่งโซนกันเรียบร้อย ดาดฟ้าใช้เป็นที่ตากข้าวตากปลา มีห้องเก็บข้าวปลาอาหารโดยเฉพาะ เป็นชีวิตที่พึ่งพาตัวเองและพอเพียงจริงๆ
อ้อยหวานถูกใจกับหลังคาที่เปิดได้แบบนี้จริงๆ เรียบๆ ง่ายๆ ทำเองเสียก็ซ่อมเอง ไม่เหมือนกับหลังคาหรือประตูเปิดปิดสมัยนี้ เสียทีหนึงต้องตามหาช่างกันวุ่นวาย
ต่อมาคือบ้านดินโอบุส (Obus) บ้านของชนเผ่ามัสกุม (Musgum) ที่อาศัยอยู่ในประเทศแคเมอรูน (Cameroon) บ้านดินที่สร้างเลียนแบบเปลือกหอย มีการตกแต่งผนังบ้านที่นอกจากดูสวยงามแล้ว ยังช่วยในการระบายน้ำฝน
และใช้สำหรับปีนขึ้นไปซ่อมแซมบ้าน ช่างเป็นการออกแบบที่ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์แบบ
บ้านดินของชนเผ่ากูรูนสิ (Gurunsi) ในประเทศกาน่า (Ghana) และประเทศเบอร์กิน่า ฟาโซ่ (Burkina Faso) เป็นบ้านดินที่มีการเขียนตกแต่งฝาผนังเป็นรูปทรงเรขาคณิตสวยงาม
ชนเผ่ากูรูนสิส่วนใหญ่ยังคงอาศัยอยู่ในบ้านดินแบบดั้งเดิม ที่ทำจากส่วนผสมของดินเหนียว ฟาง และมูลวัว การเขียนตกแต่งฝาผนังนั้นจะเขียนโดยผู้หญิงในหมู่บ้านซึ่งเป็นวิธีโบราณสืบทอดกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบหก
ชนเผ่าโดกอน (Dogon) ในประเทศมาลี (Mali) ผู้คนยังคงอาศัยอยู่ในบ้านดินแบบดั้งเดิม ยุ้งข้าวจะมีการยกพื้น
แต่ละครอบครัวจะมียุ้งข้าวกันสองหลัง ของผู้ชายหลังหนึ่ง ของผู้หญิงอีกหลังหนึ่ง
นอกจากบ้านที่อยู่อาศัยแล้ว มัสยิดในประเทศมาลี (Mali) ยังสร้างด้วยดินอีกด้วย
มัสยิดใหญ่แห่งเจนเน (Great Mosque of Djenné) เป็นมัสยิดดินที่สร้างด้วยดินที่ใหญ่ที่สุดในโลก มัสยิดดั้งเดิมสร้างขึ้นในสมัยศตวรรษที่ 13 ซึ่งได้สลายตัวไปตามกาลเวลา มัสยิดที่เห็นอยู่ในปัจจบันสร้างขึ้นในปี 1906 เป็นช่วงที่ประเทศมาลีเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส มัสยิดใหญ่แห่งเจนเนนี้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นมรดกโลกตั้งแต่ปีค.ศ. 1988
พนังของมัสยิดใช้ก้านของต้นปาล์ม Borassus เป็นไม้คาน และใช้สำหรับตกแต่ง นอกจากนี้ยังใช้เป็นนั่งร้านสำหรับการซ่อมแซมที่ต้องทำกันประจำทุกปี เรียกว่าอเนกประสงค์จริงๆ
มัสยิดลาราบันกา (Larabanga) เป็นมัสยิดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในรูปแบบสถาปัตยกรรมซูดาน ตั้งอยู่ในหมู่บ้านลาราบันกา ประเทศกานา เป็นมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศกานา และเก่าแก่ที่สุดในแอฟริกาตะวันตก
มัสยิด Bobo-Dioulasso ในประเทศเบอร์กิน่า ฟาโซ่ (Burkina Faso) สร้างขึ้นในรูปแบบสถาปัตยกรรมซูดานเหมือนกัน
ภายในมัสยิด Bobo-Dioulasso
มัสยิด Djinguereber ใน ทิมบัคตู (Timbuktu) ในประเทศมาลี (Mali) สร้างขึ้นในสมัยศตวรรษที่ 13
ทิมบัคตู (Timbuktu) เมืองแห่งบ้านดิน เมืองทิมบัคตูทั้งเมืองได้รับแต่งตั้งให้เป็นมรดกโลกในปี 1988
โปรดติดตามอ่าน บ้านดินนานาชาติ อนาคตของโลกอยู่ในดิน ในตอนต่อไป
อ่านบล็อกบ้านดินของอ้อยหวานในตอนต่อไปได้ที่นี่ค่ะ
บ้านดินนานาชาติ อนาคตของโลกอยู่ในดิน 1
บ้านดินนานาชาติ อนาคตของโลกอยู่ในดิน 2
เทคนิคในการสร้างบ้านดิน.. การค็อฟ (Cob)
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่นี่ค่ะ
https://en.wikipedia.org/wiki/Earth_structure
http://www.designboom.com/architecture/musgum-earth-architecture/
http://www.amusingplanet.com/2013/01/decorated-mud-houses-of-tiebele-burkina.html
https://en.wikipedia.org/wiki/Great_Mosque_of_Djenn%C3%A9
https://en.wikipedia.org/wiki/Larabanga_Mosque
http://www.traveladventures.org/continents/africa/bobo-dioulasso-grande-mosque.html
https://en.wikipedia.org/wiki/Djinguereber_Mosque
I would like to Thanks everyone for all the resources for this blog. Thank you.
ขอบคุณ ข้อมูลจาก WIKIPEDIA
ขอให้เพื่อนๆมีแต่ความสุข
ขอบคุณค่ะ
อ้อยหวาน
- บล็อกของ อ้อยหวาน
- อ่าน 26488 ครั้ง
ความเห็น
ยายจ่อย
27 กันยายน, 2015 - 16:25
Permalink
Re: บ้านดินนานาชาติ อนาคตของโลกอยู่ในดิน!
ติดตามสารคดี มีชีวิต ของพี่อ้อยหวานตลอด บ้านดิน ชอบแนวคิด มาก
อยากมีสักหลังเหมือนกัน และในลล็อกนี้ สวยงามลงตัว พร้อมกับแนวคิดรักษ์โลก ขอบคุณสิ่งดีดีจากพี่ค่ะ
ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้
แดง อุบล
28 กันยายน, 2015 - 09:27
Permalink
Re: บ้านดินนานาชาติ อนาคตของโลกอยู่ในดิน!
บ้านแต่ละหลังสวยงามเหลือเกินค่ะ
"เชื่อในผล แห่งการทำความดี"
เสิน
28 กันยายน, 2015 - 10:54
Permalink
Re: บ้านดินนานาชาติ อนาคตของโลกอยู่ในดิน!
ผู้คนบนโลกต่างพากันวิ่งฉับๆ ให้ทันสมัย..ล้ำสมัย หลับหูหลับตาวิ่งจนไม่รู้ว่าเราได้ทำร้ายโลกไปมากมายแค่ไหน กว่าจะได้หยุดแล้วหันมาดูโลกอีกทีก็เกือบจะสายไป (หรือสายไปแล้ว?)
มนุษย์พวกนี้แหละที่ดูถูกว่า " คนแต่ก่อนโง่"
..โอกาสไม่ได้มีทุกวัน..
sujiraporn
28 กันยายน, 2015 - 13:45
Permalink
Re: บ้านดินนานาชาติ อนาคตของโลกอยู่ในดิน!
สวยงาม น่าอยู่ นะคะนั่น
TOOK SRONSIT
28 กันยายน, 2015 - 18:31
Permalink
Re: บ้านดินนานาชาติ อนาคตของโลกอยู่ในดิน!
สวยมากคะ น่าจะเย็นสบายทุกฤดูนะคะ
ความสะดวกสบายมีขาย แต่ความสุขเงินซื้อไม่ได้ เพราะความสุขมิใช่เงิน
นานุวัฒน์
28 กันยายน, 2015 - 18:31
Permalink
Re: บ้านดินนานาชาติ อนาคตของโลกอยู่ในดิน!
ชีวิตที่มีความสุข คือชีวิตที่ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ แต่แอบสงสัยว่าข้างในจะร้อนไหม
“นานุวัฒน์ ทำเกษตรให้สนุกและมีความสุข”
ลูกอีสาน
29 กันยายน, 2015 - 02:29
Permalink
Re: บ้านดินนานาชาติ อนาคตของโลกอยู่ในดิน!
สวยน่าอยู่ครับพี่อ้อยหวาน