เลี้ยงปลาบู่ขายได้ราคาดี
การเลี้ยงปลาบู่
ชื่อวิทยาศาสตร์ Oxyeleotris marmoratus
ชื่อสามัญ Sand goby
ชื่อไทย ปลาบู่
ลักษณะทั่วๆไป ของปลาบู่ทรายจะมีลักษณะลำตัวกลม ยาวส่วนหัวค่อนข้างแบนใหญ่และเรียวลงไปตามส่วนจนถึงหาง มีปากที่กว้างทางด้านบน มุมปากเฉียงลงยาวถึงระดับเดียวกันกับกึ่งกลางหางตา มีขากรรไกรล่างยาวกว่าเขากรรไกรบน ที่บริเวณด้านบนของขากรรไกร จะมีฟันเป็นซี่ ๆ ขนาดเล็กแหลมคมเรียงต่อกันเป็นแถวเดียว ที่บริเวณคอหอยจะมีฟันซี่เล็ก ๆ ๔ ส่วน บริเวณข้างลำตัวจะมีจุดสีดำลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม ข้าวหลามตัดจากฐานครีบหลังลายยาวลงมาตามลำตัวทั้งสองข้าง มีประมาณ ๔ - ๕ แถบ สีของลำตัวเป็นสีน้ำตาลปนเทา ส่วนบนของหัวมีจุดสีดำประปราย ด้านท้องมีลักษณะสีขาวจาง ๆ ส่วนหลังและด้านข้าง ลำตัวจะมีสีขาวปนเหลืองหรือสีเหลืองอ่อน ๆ ข้างลำตัวและที่ครีบทุกครีบจะมีลายดำพาดหาง ยกเว้นครีบหางจะมีสีน้ำตาลเกือบดำ
ลักษณะของตา ตาปลาบู่ทรายจะโปนออกอยู่ทางด้านบนของหัว ระหว่างตาและริมฝีปากมีรูจมูกสองคู่ โดยคู่หน้ามีลักษณะเป็นหลอดยื่นมาติดกับร่อง ที่แบ่งปากและริมฝีปากด้านบน ส่วนคู่หลังอยู่ค่อนขึ้นไปทางด้านบนของตา
ลักษณะครีบ ครีบกลมใหญ่ มี ก้านครีบเล็ก ๆ ๑๕ ก้าน ครีบหูมีสีดำสลับขาว ครีบหลังแบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนที่หนึ่งมีก้านครีบ ๖ ก้าน ส่วนที่สองตอนท้ายมีก้านครีบ ๑๐ ก้าน ครีบอกมีก้านครีบ ๑๘ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบรวม ๙ ก้าน ครีบหางมีลักษณะกลม มีก้านครีบ ๑๕ - ๑๖ ก้าน ครีบท้องอยู่ในแนวเดียวครีบหู สำหรับครีบกันอยู่ในแนวเดียวกับด้านท้ายของครีบหลัง
ลักษณะของเกล็ด มี ๒ ลักษณะเกล็ดกลมขอบเรียวจะอยู่ส่วนหัวของ ปลาส่วนเกล็ดทีมีปลายเป็นหนามอยู่บริเวณลำตัว เส้นข้างของลำตัวจะมีเกล็ดอยู่ประมาณ ๗๐ - ๙๐ เกล็ด
แหล่งที่อยู่อาศัย ปลาบู่ทรายจัดเป็นปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในตระกูล ของปลาบู่ด้วยกัน มีแหล่งที่อยู่อาศัยทั่ว ๆ ไป ในเกาะสุมาตรา บอร์เนียว มาเลเซีย และ ประเทศไทย
สำหรับในประเทศไทยพบปลาบู่ทรายอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วทุกภาค ทั้งในแม่น้ำ ลำคลอง อ่างเก็บน้ำทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก การเจริญเติบโตและแพร่ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว แทบทุกแห่ง อาทิ อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรีตามลำน้ำเจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง ซึ่งจากการวิเคราะห์คุณสมบัติของน้ำตามแหล่งที่อยู่อาศัย ที่พบแล้วสรุปได้ว่าปลาบู่ทรายอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำสะอาด ที่มีคุณสมบัติดังนี้
ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ ๓ ส่วนในล้าน
ความเป็นด่าง ๓๕ ส่วนในล้าน
ความกระด้าง ๒๓ - ๑๖๔ ส่วนในล้าน
ความเป็นกรดด่าง ๖.๓ ๘.๖
นิสัยการกินอาหาร ปลาบู่ทรายจัดเป็นปลาที่กินสัตว์เป็นอาหาร ซึ่งอาหาร ที่ปลาบู่ทรายชอบกินนั้นได้แก่ลูกปลา กุ้งแมลงในน้ำ หอย ฯลฯ มักจะชอบหลบอาศัยในดินอ่อน หรือตามซอกหินโพรงไม้ถึงแม้ว่าปลาบู่ทรายจะกินปลา ลูกกุ้ง เป็นอาหารแต่โดยลักษณะนิสัยแล้วปลาบู่ทรายไม่ ดุร้ายเมื่อเทียบกับปลาช่อนหรือปลาชะโดโดยปกติแล้วจะอยู่กับที่นิ่ง ๆ เมื่อเหยื่อผ่านหน้าจึงจะงับกินเป็นอาหาร ถึงแม้ว่าปลาบู่ทราย จะดูว่าเป็นปลาที่เชื่องช้าแต่จะมีความว่องไวมากเมื่อสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น
นิสัยในการกินอาหารของปลาบู่วัยต่างๆ แตกต่างกัน เช่น ในช่สงที่ฟักออกจากต่อจากนั้นจะกินแพลงก์ตอนสัตว์ ที่มีขนาดเล็กที่ปลาสามารถกินได้หลังจากนั้นจะกินกุ้งและปลาเป็นตามลำดับ
การเลี้ยงปลาบู่ทราย
การเลี้ยงปลาบู่ทรายเดินจะรวบรวมได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็น ส่วนใหญ่แต่มาในระยะหลังความต้องการของผู้บริโภคมีมาก ประกอบกับปลาบู่เป็นปลาที่ราคาแพงและเป็นที่ต้องการของ ตลาดต่างประเทศ จึงมีผู้สนใจเลี้ยงกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันโดยมี การทดลองเลี้ยงกันในบ่อและในกระชัง
การเลี้ยงปลาบู่ทรายในบ่อ จากผลการทดลองในบ่อเลี้ยงปลาบู่ของเอกชนหลาย รายจะพอสรุปเป็นแนวทางได้ดังนี้
๑.บ่อปลาควรตั้งอยู่ในแหล่งที่มีการถ่ายเทน้ำได้สะดวกและ มีน้ำตลอดปีความลึกของบ่อประมาณ ๑.๕๐ เมตร
๒.การปล่อยปลาลงเลี้ยงไม่ควรปล่อยเกิน ๑ ตัวต่อตารางเมตรในการเลี้ยงปลาบู่ชนิดเดียวและลด อัตราส่วนลงตามสมควรเลี้ยงรวมกันกับปลาชนิดอื่น และขนาดปลาเมื่อเริ่มเลี้ยงควรมีขนาดใกล้เคียงกันโดยทั่วไปมีขนาดประมาณ ๑๐๐ กรัม
๓.อาหารของปลาบู่ควรเป็นอาหารสดคาว เช่น ลูกกุ้ง ลูกปลา หรือปลาสดสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ
๔.การให้อาหารควรให้อาหารเป็นเวลาและ อัตราการให้อาหารควรอยู่ระหว่าง ๓ - ๕ เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว
๕.ระยะเวลาของการเลี้ยงไม่ควรเกิน ๑๒ เดือน ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการจัดหาลูกปลาลงปล่อยในครั้งต่อไป
๖.อัตราการเจริญเติบโตของปลาที่เลี้ยงในบ่อควรมีค่า เฉลี่ยเดือนละประมาณไม่ต่ำกว่า ๓๐ กรัม จึงนับว่าได้ผลดี
๗.การจับปลาบู่ออกจากบ่อ ควรจับให้หมดภายในครั้งเดียว ทั้งนี้เพื่อเป็นการประหยัดค่า ใช้จ่ายในกรณีที่ต้องการสูบน้ำออกจากบ่อและเพื่อป้องกันปลาที่เหลือบอกช้ำ
ความแตกต่างระหว่างเพศและพฤติกรรมการวางไข่ของปลาบู่
ลักษณะความแตกต่างระหว่างเพศโดยภายนอกแล้วจะไม่สามารถสังเกตเห็นได้ชัด หากต้องการดูเพศปลาบู่ทรายจะต้องดูที่เครื่องเพศของปลา โดยจับปลาหงายท้องขึ้นแล้วสังเกตดูจากลักษณะดังจะกล่าวต่อไปนี้
ปลาเพศผู้ จะมีอวัยวะอยู่ถัดจากช่องทวารมาทางด้านหางเป็นแผ่นของ ดิ่งเนื้อขนาดเล็กปลายเรียวแหลมและมีรูซึ่งเป็นทางออกของน้ำเชื้อ
ปลาเพศเมีย ก็จะมีแผ่นเนื้อเช่นเดียวกันแต่มีขนาดใหญ่กว่ามากและตอนปลาย ของอวัยวะเพศไม่แหลมแต่มีรูขนาดใหญ่ซึ่งเป็นทางออกของไข่
การผสมพันธุ์วางไข่ในธรรมชาติ ในธรรมชาติปลาบู่ทรายจะเริ่มการวางไข่เมื่อย่าง เข้าสู่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมโดยปลาบู่เพศผู้ที่มีความยาว ๑๔.๕ เซนติเมตร และมีน้ำหนัก ๔๔ กรัมขึ้นไปเพศเมียมีความยาว ๑๒.๕ เซนติเมตรหนัก ๓๔ กรัมขึ้นไป จะสามารถผสมพันธุ์กันได้โดยระบบสืบพันธุ์มี ความพร้อมตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงฤดูวางไข่จะสังเกตได้ ว่าติ่งเพศจะมีสีแดงเข้มทั้งเพศผู้เพศเมีย
ความดกของไข่ ปลาบู่ทองมีรังไข่แบบสองพู (bilobed) จากการนับจำนวน ไข่โดยวิธีสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบความยาวลำตัวและน้ำหนัก รังไข่พบว่าปลามีความยาวมาตรฐาน ๑๕.๒ เซนติเมตร มีน้ำหนักรังไข่ ๑.๖ กรัม จำนวนไข่ทั้งสิ้น ๖,๘๐๐ ฟอง และปลาที่มีความยาว ๒๑.๕ เซนติเมตรน้ำหนักรังไข่ ๔.๗ กรัมมีไข่จำนวน ๓๖,๐๐๐ ฟอง ซึ่งความแตกต่างของจำนวนไข่ส่วนใหญ่จะแปรผันไปตามขนาดของปลาเป็นสำคัญ
นิสัยการวางไข่ ปลาบู่ทราย สามารถที่จะทำการแพร่ขยายพันธุ์ได้ในน้ำจืดทั่วไป โดยไข่และน้ำเชื้อผสมกันภายนอกตัวปลา (external fertilization) และแม่ปลาจะวางไข่ติดกับวัสดุต่างๆ ในน้ำ เช่น เสาไม้ ตอไม้ โพรงไม้ ก้อนหิน ในตอนเช้าตรู่การวางไข่จะเริ่มจากตัว ผู้จะเริ่มทำความสะอาดรังเพื่อให้มีความเหมาะสมและจะชักตัวเมียให้เข้ารัง หลังจากนั้นไม่นานตัวเมียมีความเคยชินกับสภาพก็จะเริ่มวางไข่ให้ติดกับวัตถุ เมื่อไข่ออกมาตัวผู้ก้จะฉีดน้ำเชื้อเข้าผสมช่วงเวลาในการวางไข่นั้นจะ ขึ้นอยู่กับจำนวนไข่ที่มีอยู่ในท้องปลาตัวเมียภายหลังจากวางไข่เสร็จ แล้วตัวผู้ก็จะไล่ตัวเมียออกจากรัง ส่วนตัวเองก็จะเฝ้าไข่ตลอดเวลาโดยใช้ครีบหูที่มีขนาดใหญ่พัด โบกไปมา เพื่อการไหลเวียนของน้ำตลอดเวลา ไข่ปลาบู่เป็นไข่ติดรูปร่างยาวรีปลายมนมีเม็ดน้ำมันมากที่อุณหภูมิ ๒๕ - ๒๗ องศาเซลเซียส ไข่ปลาบู่ทรายจะใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ ๒ - ๘ ชั่วโมง
โรคและพยาธิของปลาบู่ (Diseases and Parasites)
เนื่องจากการเลี้ยง ปลาบู่ทรายส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงในกระชังจึงทำให้ปัญหาปลาตายน้อย เพราะโรคระบาดมีไม่มากเหมือนปลาชนิดอื่นที่เลี้ยงในบ่อ แต่ถึงอย่างไรก็ดี การเลี้ยงปลาในกระชังโดยทั่วไปจะลอยกระชังบริเวณเดียวกัน เป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าเกิดโรคระบาดแล้วจะทำให้ติดกันได้ ง่ายและยากแก่การควบคุม ดังเช่น ครั้งแรกปรากฏที่จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อปี ๒๕๒๓ เป็นผลให้ปลาบู่ตายเป็นจำนวนมาก และปลาที่เหลือรอดอยู่ขายได้ราคาต่ำกว่าปกติ ต่อมาได้ศึกษา เกี่ยวกับชนิดของพยาธิที่พบในปลาบู่ทรายซึ่งรวบรวมจากแหล่งธรรมชาติ จำนวน ๒๔๐ ตัว ในการตรวจสอบจากส่วนต่างๆ ของลำตัว เช่น ใต้ซอกเกล็ด ช่องจมูก ปาก เหงือก และจากเมือก ฯลฯ พบพยาธิทั้งสิ้น ๑๐ ชนิด เป็นพวกโปรโตซัว พยาธิตัวแบน พยาธิหัวหนาม และ Isopob อย่างละ ๑ ชนิด อย่างละ ๑ ชนิด พยาธิตัวกลม ๓ ชนิด และ Copepod ๒ ชนิด ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
๑.Saprolegnia sp. ปลาที่มีเชื้อราชนิดนี้เข้าทำลายจะมีอาการอ่อนเพลียว่ายน้ำลอย หัวหลังจากนั้นไม่กี่วันก็จะตายปลาที่ตายด้วยเชื้อราดังกล่าวจะสังเกต ได้โดยผิวหนังขาดเหมือนถูกน้ำลวกเกิดบาดแผลบางครั้งแผลลึกถึงกระดูก ถ้าเป็นบริเวณโคนครีบอาจทำให้ครีบหลุดหายได้ปลาที่มีเชื้อ Saprolegnia เกาะจะมองเห็นเป็นกลุ่มสีน้ำตาลคล้ายพุ่มไม้ขนาดเล็กมีแขนงมากมายรวมกันเป็นกระดูก โดยที่ส่วนหนึ่งฝังลึกเข้าไปในเนื้อเยื่อของปลาทำให้เกิดบาดแผล เชื้อราชนิดนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
๒. Henneguya sp. เป็นพวกโปรโตซัวที่มีการขยายพันธุ์โดยสปอร์ พบเข้าเกาะที่เหงือกปลาบู่ทรายเป็นจำนวนมาก โดยเซลล์ของเหงือกปลาจะสร้างเมือกออกมาหุ้มสปอร์นั้นไว้โดยรอบเมื่อมองด้วยตาเปล่า จะเป็นจุดสีเทาหรือขาวขุ่นอยู่ระหว่างซี่เหงือก รูปร่างของ สปอร์มีลักษณะเป็นกระสวยขนาดเล็กมีฝา ซึ่งเป็นสารพวกไคติน ๒ ฝา ประกอบกันอยู่คล้ายของกระจกนาฬิกา ๑ คู่ ทางปลายด้านหน้ามีแคปซูลรูปไข่ ๒ หาง Henneguya sp. ที่พบในปลาบู่ทรายมีขนาด เล็กมากเมื่อเทียบกับที่พบจากแหล่งอื่น พยาธิชนิดนี้พบมากและพบตลอดเวลาที่ทำการศึกษา
๓.Dactylogyrus sp. เป็นพยาธิจำพวกพยาธิตัวแบน พบเกาะบริเวณซี่เหงือก ปลาเช่นเดียวกัน ตัวมีขนาดเล็กมากเมื่อขยายตัวกล้องจุลทัศน์จะพบว่าลำตัวใสไม่มี การเกาะจะใช้อวัยวะที่เรียกว่า opishator ซึ่งมีลักษณะเป็นถ้วยตรงกลางมีข้อใหญ่ ๑ คู่ ตามธรรมชาติพยาธิชนิดนี้ไม่ค่อยพบว่าทำอันตรายแก่ปลามากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาขนาดใหญ่ นอกจากจะทำให้เกิดความระคายเคือง แต่ในสถานะเพาะฟักลูกปลา ถ้ามีพยาธิเข้าเกาะลูกปลา ถ้ามีพยาธิเข้าเกาะลูกปลามาก ๆ จะทำให้ลุกปลาตาได้ พยาธิชนิดนี้พบสม่ำเสมอตลอดเวลาแต่มีปริมาณไม่มากนัก
๔.Camallanus sp. เป็นพยาธิตัวกลมพบอยู่ในทางเดินอาหารลำตัวเต็มวัย มีลักษณะยาวเรียว เป็นทางกระบอก มองด้วยตาเปล่าจะเห็นเป็นเส้นด้ายสีแดงสั้น ๆ ความยาวประมาณ ๕ มิลลิเมตร กว้าง ๐.๔๓ มิลลิเมตร ปากกว้างแต่ไม่มีริมฝีปาก ตัวอ่อนของ Camallanus นอกจากจะเป็นพยาธิของปลาแล้วยังเป็นพยาธิของ Copepod และ Crustacean อื่น ๆ อีกพยาธิชนิดนี้พบเป็นบางเดือนเท่านั้น
๕.Spintectus sp. เป็นพยาธิตัวกลมพบในทางเดินอาหารลำตัวเป็นรูปทรง กระบอกขดเป็นวงกลม ผิวหนังเป็นหนามแหลมยาว แถวรอบลำตัวตามขวาง แถวที่ ๑– ๘ มีหนาม แถวละ ๒๔ - ๒๘ อัน ส่วนแถวต่อไปจะมีหนามไม่ต่ำกว่า ๓๐ อันแต่เห็นไม่ค่อยชัดเจนเหมือน ๘ แถว ปากเป็นรูป ทรงกระบอกแต่ไม่มีริมฝีปากพยาธิชนิดนี้พบเป็นจำนวนมากเกือบตลอดปี ตัวอ่อนของ Spintectus เป็นพยาธิพบในตัวอ่อนแมลงชีปะขาว
๖.Unknown Cyst. เป็น Cyst ของพยาธิตัวกลมฝังอยู่ในกระเพาะอาหาร และลำไส้บางส่วนโดยขดเป็นวงกลมและมีเยื่อบางๆ หุ้มอยู่เมื่อเขี่ยให้เยื่อให้ขาดออกจะพบว่าตัวพยาธิที่มีรูปร่างทรงกระบอก หัวแหลมท้ายแหลม ส่วนหัวมีส่วนหยักตรงกลางคล้ายริมฝีปาก พยาธิชนิดนี้พบไม่มากนักและพบเป็นครั้งคราวเท่านั้น
๗.Pallisentis sp. เป็นพยาธิตัวกลมพบในลำไส้ ลำตัวมีสีขาวขุ่นแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนหน้ามีงวงที่ยืดหดและมีหนามโดยรอบทำหน้าที่ยึดเกาะ ลำไส้ของปลาส่วนของลำตัวจะมีผนังหนาขึ้น โดยมีความกว้างและความยาวมากกว่าส่วนหน้า ปลายหางมนกลมและมีทวารหนักอยู่ปลายสุด พยาธิชนิดนี้พบตลอดปีแต่มีปริมาณไม่มากนัก
๘.Lemaea sp. รู้จักในชื่อหนอนสมอชอบเกาะทำลายบริเวณลำตัว คนครีบและในช่องปากของปลาที่มีหนอนสมอเกาะมาก ๆ จะอ่อนแอเกิดโรคได้ง่าย ๆและเมื่อหนอนสมอหลุดออกแล้วจะเกิดบาดแผลขึ้นทำให้เชื้อโรคอื่น ๆ เข้าทำลายได้ง่ายรูปร่างลักษณะมีลำตัวยาวเรียว ผิวหนังเรียบไม่มีปล้องส่วนที่เรียกว่าสมออยู่ถัดจาก ส่วนหน้าสุดของลำตัวเข้ามาเล็กน้อย มีลักษณะเป็นเยื่อบาง ๆ รูปร่างยาวรีกายในถุงจะ มีไข่เป็นจำนวนมากพยาธิชนิดนี้พบอย่างสม่ำเสมอเกือบตลอดปี
๙.Ergasils sp. พบเฉพาะตัวเมียเกาะเหงือกปลาบู่ รูปร่างคล้าย พวก Cyclop แต่พบน้อยมาก
๑๐. Aega sp. เป็นพวก Isopod เกาะที่บริเวณส่วนหัวของปลา และพบน้อยมากเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังพบว่าปลาบู่ที่ตายส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นแผลบริเวณข้างลำตัว ซึ่งมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย Aoromonas hydrophila สำหรับการรักษาโรคนี้โดยทั่วไป เกษตรกรนิยมใช้วิธีผสมยาปฏิชีวะลงในอากาศที่เลี้ยงในปลาบู่แต่ไม่ค่อยได้ผลนัก เพราะปลายู่มีนิสัยกินอาหารช้าประกอบกับการเลี้ยงปลาบู่เป็นการเลี้ยงในกระชังที่มีน้ำไหล จึงทำให้ยาละลายหายไปกับน้ำเสียเป็นส่วนใหญ่
การตลาดของปลาบู่
ปลาบู่เป็นปลาที่รสชาติ มีความเชื่อของชาวจีนว่าเป็นปลาที่กินไปแล้วจะเป็นยาชูกำลังปลาบู่ จึงเป็นปลาที่มีความต้องการของตลาดสูงทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ภายในประเทศปลาบู่จะหาได้ยากตามตลาดเพราะจะมีตามร้านอาหาร และภัตตาคาร เนื่องจากราคาของปลาบู่นั้นสูงและผลผลิตปริมาณยัง น้อยส่วนตลาดต่างประเทศจะเป็นประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน ขนาดของปลาบู่ที่ตลาดต้องการตั้งแต่ ๔ - ๘ ขีด อาจมีเกินไปถึง ๑ กิโลกรัมบ้าง รับทั้งบู่ป่าและปลาบู่เลี้ยง แต่ปลาบู่ป่าราคาสู้ปลาบู่เลี้ยงไม่ได้ คือราคาจะถูกกว่า (ปลาบู่ป่า ๒๕๐ บาท ปลาบู่เลี้ยง ๓๖๐ บาท) โดยจะมีผู้รับซื้อไปซื้อถึงบ่อหรือผู้เลี้ยงจะจับมาส่งผู้รับซื้อก็ได้ถ้า เรียกผู้รับซื้อไปจับปลาปริมาณปลาบู่ที่จะให้จับควรมีปริมาณมากพอสมควร
หลังจากที่ผู้รับซื้อได้ปลาบู่มาแล้วก็จะนำลงในบ่อพักซีเมนต์ หลังจากนั้นจะแพ็กกล่องขึ้นเครื่องบินส่งไปยังประเทศที่สั่ง
ถ้าในประเทศก็จะส่งให้กับเจ้าประจำที่ซื้อขายกันมา
ราคาของปลาบู่จะสูงสามารถในช่วงต้นปี ช่วงตรุษจีนจะราคาดีและความต้องการสูงมาก ในช่วงอื่นของ ปีก็จะขึ้นลงบ้างแต่อยู่ในระดับที่สูงมากตลอดทั้งปี (ประมาณ ๓๐๐ โดยเฉลี่ย) แต่ตอนนี้ปลาบู่ทองยังขาดตลาด อยู่คือไม่พอต่อความต้องการของตลาด แนวโน้มของราคาจึงไม่น่าจะตกลงง่าย ๆ
แนวโน้มการตลาดเชื่อว่าปลาบู่จะมีการบริโภคกันมากขึ้นภายในประเทศ เนื่องจากปลามีรสชาติดี รวมถึงความเชื่อจากอดีตตลาดน้อยลง ส่วนในตลาดต่างประเทศก็กำลังขยายตลาดให้มีความกว้างขวางเพิ่มมากขึ้น ทั้งในยุโรป อเมริกาและตะวันออกกลาง จึงเป็นที่คาดหมายได้ ว่าปลาบู่จะมีราคาสูงขึ้นอย่างแน่นอน
คุณค่าทางโภชนาการของปลาบู่
คุณค่าทางอาหารของเนื้อปลาบู่ทรายสด วัดจากปลาที่มีขนาดความยาว ๓๕ เซนติเมตร หนัก ๖๑๐ กรัม ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะต่อการบริโภคพบว่ามีส่วนที่เป็นเนื้อที่สามารถกินได้ ๕๗.๕๐ เปอร์เซ็นต์และมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้ คุณค่าทางโภชนาการดังนี้ คุณค่าทางโภชนาการเปอร์เซ็นต์โปรตีน ๑๕.๐๔ ไขมัน ๐.๑๕ คาร์โบไฮเดรต ๒.๑๔ ความชื้น ๘๒.๓๕ เถ้า ๐.๕๗
การขนส่งลำเลียง
การขนส่งลำเลียงเริ่มตั้งแต่การขนส่งลูกพันธุ์ปลาบู่ขนาดเล็ก 1 - 2 นิ้วไปยังผู้เลี้ยง และการลำเลียงปลาบู่ขนาดตลาดไปยังกลุ่มผู้บริโภค วิธีการลำเลียงมี 2 วิธี
1. การลำเลียงโดยใช้ถุงพลาสติกอัดออกซิเจน เหมาะสำหรับใช้ลำเลียงลูกปลาบู่ขนาดเล็ก 1 - 2 นิ้ว และปลาบู่ขนาด 50 - 250 กรัม วิธีนี้เป็นการลำเลียงที่เหมาะสมที่สุดไม่ทำปลาบอบช้ำ ปกติใช้ถุงพลาสติกขนาด 20 x 30 เซนติเมตร ใส่น้ำสูงประมาณ 10 - 15 เซนติเมตร ถุงปลาแต่ละถุงสามารถบรรจุลูกปลาขนาด 1 - 2 นิ้ว จำนวน 500 - 700 ตัว เมื่อใส่พันธุ์ปลาแล้วอัดด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์รัดปากถุง สำหรับพันธุ์ปลาที่จับได้จากธรรมชาติควรบรรจุถุงละ5 - 20 ตัว แล้วแต่ขนาดพันธุ์ปลา ปริมาณน้ำในถุงพลาสติกลำเลียงไม่ควรใส่มากนักทำให้มวลน้ำในถุงมีการโยนตัวไปมามากทำให้ปลาถูกกระแทกไปมาบอบช้ำมากขึ้น สำหรับการลำเลียงพันธุ์ปลาจากธรรมชาติไปเลี้ยงในกระชังควรบรรจุถุงพลาสติกอัดออกซิเจนดีกว่าลำเลียงด้วยถาดสังกะสี
2. การลำเลียงโดยใช้ถาดสังกะสี เหมาะสำหรับใช้ลำเลียงปลาบู่ขนาดตลาดไปขายพ่อค้าคนกลางหรือภัตตาคาร ขนาดถาดลำเลียงมีความกว้าง 45 เซนติเมตรยาว 70 เซนติเมตร สูง 9 เซนติเมตร ด้านข้างตามความยาวของถาดมีรูกลมขนาด 1.5 - 2.0 เซนติเมตร เรียงเป็นแถวเดี่ยว ส่วนด้านกว้างมีหูหิ้วทั้ง 2 ข้างถาดทำด้วยสังกะสีและมีฝาครอบถาด ภายในมีแผ่นสังกะสีกั้นกลาง แบ่งออกเป็น 2 ช่อง
วิธีการลำเลียง นำปลาบู่มาวางเรียงกันเป็นแถวเพียงชั้นเดียวจนเต็มถาดแล้วเอาน้ำพรมให้ทั่วและใส่น้ำพอท่วมท้องปลาเล็กน้อยจากนั้นปิดฝา ถ้าปลามีจำนวนมากก็ลำเลียงถาดขึ้นรถซ้อนเป็นชั้น ๆ วิธีนี้เหมาะสำหรับขนปลาบู่ขนาดตลาดไปขายเพราะขนได้ครั้งละจำนวนมาก ประกอบกับปลาบู่เป็นปลาที่อดทนมากพอสมควรเมื่อลำเลียงไปถึงปลายทางแล้วถูกนำไปพักในบ่อปูนแสดงไว้ให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อหรือใส่ภาชนะอื่น ปลาบู่ก็ยังสามารถมีชีวิตได้นานพอสมควร
เดิมการเลี้ยงปลาบู่ใช้วิธีช้อนลูกปลาตามรากหญ้า รากพันธุ์ไม้น้ำในลำคลองหนองบึง ในปัจจุบันเนื่องจากสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม การใช้เครื่องมือจับปลาผิดประเภทและการทำการประมงเกินศักยภาพ ทำให้ลูกปลาในธรรมชาติมีปริมาณลดลง แต่เนื่องจากความต้องการปลาบู่เพื่อการบริโภคและการส่งออกมีจำนวนสูงยิ่ง ๆ ขึ้น จึงทำให้มีการขยายตัวด้านการเลี้ยงปลาบู่ ซึ่งกรมประมงได้ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาบู่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ
การเพาะพันธุ์ปลาบู่มี 2 วิธี คือ
1. วิธีการฉีดฮอร์โมน
2. วิธีการเลียนแบบธรรมชาติ
สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดปทุมธานี ได้พัฒนาการเพาะพันธุ์ปลาบู่เป็นเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ โดยเน้นการเพาะพันธุ์วิธีเลียนแบบธรรมชาติซึ่งให้จำนวนรังไขได้มากกว่าวิธีฉีดฮอร์โมนผสมเทียม และสามารถอนุบาลลูกปลาบู่โดยการใช้อาหารธรรมชาติมีชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งมีวิธีดำเนินการ ดังนี้
1. การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่ดีมีผลทำให้อัตราการฟักและอัตรารอดตายสูงและได้ลูกปลาที่แข็งแรง พ่อแม่พันธุ์ปลาบู่ที่ดีควรมีลักษณะ
1.1 ควรเป็นปลาวัยเจริญพันธุ์ เพราะไข่ที่ได้มีอัตราฟักและอัตรารอดตายสูง
1.2 พ่อแม่พันธุ์ควรมีน้ำหนักอยู่ในช่วง 300 - 500 กรัม แต่ไม่ควรเกิน 1 กิโลกรัม และไม่ควรเป็นปลาที่อ้วนหรือผอมเกินไป
1.3 เมื่อจับพ่อแม่พันธุ์ขึ้นมาจากที่กักขังใหม่ ๆ ควรรีบคัดปลาที่มีสีนวลดูปราดเปรียว และควรเป็นปลาที่ปรับสีสู่สภาพเดิมได้เร็วเมื่อหายตกใจ ไม่ควรคัดพ่อแม่พันธุ์ที่มีสีเหลืองซีดผิดปกติ
1.4 เมื่อลูบตามตัวปลาจากหัวไปหางแล้วรู้สึกตัวปลาลื่นแสดงว่าเป็นปลาที่มีสุขภาพดี
1.5 บริเวณนัยต์ตาไม่ขาวขุ่น
1.6 ไม่ใช่ปลาที่จับได้ โดยการใช้ไฟฟ้าช็อตเพราะเมื่อเลี้ยงไปสักระยะหนึ่งแล้ว ปลาจะตายมากหรือตายหมดทั้งกระชัง
1.7 ไม่มีพยาธิภายนอกหรือเชื้อราเกาะตามลำตัว ถ้ามีปริมาณไม่มากควรกำจัด รักษา และป้องกันก่อนนำไปทำเป็นพ่อแม่พันธุ์
1.8 บริเวณครีบอก ครีบหู ครีบหาง และครีบท้องไม่ควรมีบาดแผลฉีกลึกถึงโคนครีบ
1.9 ตามลำตัวไม่ควรมีบาดแผลถึงแม้จะเป็นบาดแผลเล็ก ๆ ก็ตามเพราะทำให้ติดเชื้อโรคและลุกลามถึงตายในที่สุด ถ้าจำเป็นควรรักษาให้หายก่อนนำไปเป็นพ่อแม่พันธุ์
2. การเตรียมบ่อพ่อแม่พันธุ์ การเตรียมบ่อพ่อแม่พันธุ์โดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ ขนาดบ่อเพาะพันธุ์ไม่ควรใหญ่หรือเล็กจนเกินไปเพื่อสะดวกต่อการดูแล และจัดการกับพ่อแม่พันธุ์ สำหรับบ่อขนาด 800 ตารางเมตร ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ 150 คู่ ให้ผลผลิตดีที่สุดลูกปลาวัยอ่อนเป็นศัตรูโดยตรงต่อไข่ปลาบู่ เนื่องจากลูกปลาเหล่านี้เข้ามากินไข่ปลาบู่ได้ถึงแม้ว่าพ่อแม่พันธุ์ปลาบู่คอยเฝ้ารังไข่อยู่ก็ตาม อีกทั้งยังเป็นศัตรูทางอ้อม คือ ไปแย่งอาหารปลาบู่อีกด้วย สำหรับระดับน้ำในบ่อควรให้อยู่ช่วง 1.00 - 1.10 เมตร แล้วทิ้งไว้ 2 - 3วัน เพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติขึ้นในบ่อและควรทำการวิเคราะห์คุณสมบัติของน้ำก่อนปล่อยปลาเพื่อให้แน่ใจว่าน้ำนั้นมีความเหมาะสมแล้วจึงปล่อยพ่อแม่พันธุ์
3. การเลี้ยงและดูแลพ่อแม่พันธุ์ การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาบู่ควรให้อาหารผสมซึ่งมีสูตรอาหารดังนี้
ปลาเป็ด 94 เปอร์เซ็นต์
รำละเอียด 5 เปอร์เซ็นต์
วิตามินเกลือแร่ 1 เปอร์เซ็นต์
อาหารผสมดังกล่าวให้ในอัตรา 5 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักปลาทุกวันหรือ 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักปลาทุก 2 วัน เมื่อปลามีความคุ้นเคยกับสูตรอาหารดังกล่าวแล้ว ถ้าหากผู้เลี้ยงต้องการเปลี่ยนสูตรอาหารควรเปลี่ยนทีละน้อยโดยเพิ่มอาหารสูตรใหม่ในอาหารสูตรเดิมสำหรับมื้อแรกที่จะเปลี่ยนอาหาร ควรมีอัตราส่วนอาหารเดิมต่ออาหารใหม่ไม่เกิน 1:1 โดยน้ำหนักเนื่องจากปลาบู่จะไม่ยอมรับอาหารที่เปลี่ยนให้ใหม่ทันที นิสัยปลาบู่ชอบออกหากินตอนเย็นและในเวลากลางคืน ควรให้อาหารปลาบู่ตอนเย็น ส่วนการจัดการน้ำในบ่อควรเปลี่ยนถ่ายน้ำเดือนละประมาณหนึ่งในสี่ของปริมาตรน้ำในบ่อ ซึ่งน้ำที่เข้าบ่อควรมีการกรองหลายชั้นเพื่อป้องกันศัตรูปลาทั้งทางตรงและทางอ้อมเข้ามากับน้ำ พร้อมทั้งล้อมรั้วรอบ ๆ บ่อพ่อแม่พันธุ์เพื่อป้องกันศัตรูปลาเข้าบ่อ เช่น ปลาช่อน ปลาหมอ งูกินปลา ตะกวด ฯลฯ ไม่ให้เข้ามาทำร้ายพ่อแม่พันธุ์ที่เลี้ยงไว้
4. การเพาะพันธุ์ปลาบู่ การเพาะพันธุ์ปลาบู่มี 2 วิธี คือ การฉีดฮอร์โมนและการเลียนแบบธรรมชาติ สำหรับวิธีหลังสามารถผลิตพันธุ์ปลาบู่ได้จำนวนมากและได้อัตราการรอดตายสูง
4.1 วิธีการฉีดฮอร์โมน การเพาะพันธุ์ปลาบู่เริ่มครั้งแรกในปี พ.ศ. 2515 โดยนำปลาบู่เพศผู้ที่มีน้ำหนัก 168 และ 170 กรัม เพศเมีย 196 กรัม และ202 กรัม มาทำการฉีดฮอร์โมนเพียงครั้งเดียวด้วยต่อมใต้สมองของปลาในขนาด 1,500 กรัม ร่วมกับคลอลิโอนิค โกนาโดโทรปิน (Chorionic Gonadotropin, C.G.0) จำนวน 250 หน่วยมาตรฐาน (International Unit, I.U.) ฉีดเข้าตัวปลาโดยเฉลี่ยตัวละ 62.5 หน่วยมาตรฐาน หลังจากฉีดฮอร์โมนแล้วนำพ่อแม่พันธุ์ไปปล่อยลงในบ่อซีเมนต์ขนาด 2 x 3 ตารางเมตร น้ำลึก 75 เซนติเมตร และใช้ทางมะพร้าวเป็นวัสดุให้แม่ปลาบู่วางไข่ ปรากฏว่าแม่ปลาที่มีน้ำหนัก 202 กรัม วางไข่ประมาณ10,000 ฟอง มีอัตราการฟัก 90 เปอร์เซ็นต์
4.2 วิธีการเลียนแบบธรรมชาติ หลังจากปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาบู่ได้ 3 วันแล้ว ปักกระเบื้องแผ่นเรียบขนาด 40 x 60 เซนติเมตรหรือวัสดุอื่นที่ง่ายต่อการโยกย้ายลำเลียง เช่น หลักไม้ ตอไม้ ฯลฯ เพื่อให้ปลาบู่มาวางไข่ นำแผ่นกระเบื้องเหล่านี้ไปปักไว้เป็นจุด ๆ รอบบ่อแต่ละจุดปักเป็นกระโจมสามเหลี่ยมและหันด้านที่ขรุขระไว้ข้างใน โดยปักด้านกว้างในดินก้นบ่อ พร้อมทั้งทำเครื่องหมายปักหลักไม้ไว้แสดงบริเวณที่ปักกระเบื้องเพื่อสะดวกในการตรวจสอบและเก็บรังไข่ เมื่อปลาบู่มีความคุ้มเคยกับกระเบื้องแผ่นเรียบแล้ว ในตอนเย็นจนถึงตอนเช้ามืดปลาบู่ส่วนใหญ่เริ่มทำการวางไข่ผสมพันธุ์ที่กระเบื้องแผ่นเรียบ ส่วนใหญ่ปลาบู่วางไข่ติดด้านในของกระโจมกระเบื้อง รังไข่ปลาบู่ส่วนใหญ่เป็นรูปวงรี แต่จะมีบางครั้งเป็นรูปวงกลมลักษณะไข่ปลาบู่เป็นรูปหยดน้ำ สีใส ด้านแหลมของไข่มีกาวธรรมชาติติดอยู่ไว้ใช้ในการยึดไข่ให้ติดกับวัสดุ ช่วงเช้าหรือเย็นของทุกวันให้ทำการตรวจสอบแผ่นกระเบื้องและนำกระเบื้องที่มีรังไข่ปลาบู่ติดไปฟัก การลำเลียงรังไข่ปลาบู่ควรให้แผ่นกระเบื้องที่มีไข่ปลาแช่น้ำอยู่ตลอดเวลา ข้อควรระวังในการเก็บรังไข่ขึ้นมาฟัก คือ เมื่อพบกระเบื้องที่มีรังไข่ติดอยู่แล้ว ต้องนำขึ้นไปฟักทันที เพระถ้านำกลับลงไปปักไว้ที่เดิมพ่อแม่ปลาบู่ที่เฝ้าอยู่ใกล้ ๆ จะมากินไข่หมด ในกรณีกระเบื้องแผ่นเรียบที่ผ่านการใช้งานมานานควรทำความสะอาดโดยแช่แผ่นกระเบื้องในสารเคมีกำจัดเชื้อรา ได้แก่ มาลาไค้ท์กรีน ชนิดปราศจากธาตุสังกะสี ความเข้มข้น 2.4 พีพีเอ็ม ตลอดคืน ก่อนนำไปปักเป็นกระโจมในบ่อดิน
5. การฟักไข่ การฟักไข่ปลาบู่ทำในตู้กระจกขนาดกว้าง 47 เซนติเมตร ยาว 77 เซนติเมตร ลึก 60 เซนติเมตร โดยใส่น้ำลึก 47 - 50 เซนติเมตร ก่อนนำรังไข่มาฟักต้องฆ่าเชื้อด้วย มาลาไค้ท์กรีน ชนิดปราศจากสังกะสี ความเข้มข้น 1 พีพีเอ็ม โดยวิธีจุ่ม การฟักไข่ต้องให้อากาศตลอดเวลา ตู้กระจกขนาดดังกล่าว 1 ตู้ใช้ฟักรังไข่ปลาบู่ 4 รัง เมื่อไข่ฟักเป็นตัวจนหนาแน่นตู้กระจกแล้วก็รวบรวมลูกปลาไปอนุบาลในบ่อซีเมนต์ขนาด 6 ตางรางเมตร เนื่องจากไข่ปลาฟักเป็นตัวไม่พร้อมกัน จึงจำเป็นต้องคอยย้ายรังไข่ออกไปฟักในตู้กระจกอันเนื่องมาจากของเสียที่ไข่ปลาและลูกปลาขับถ่ายออกมาและการสลายตัวของไข่เสีย โดยปกติไข่ปลาจะใช้เวลาฟักออกมาเป็นตัวหมดทั้งรังประมาณ 3 - 5 วัน
การอนุบาลลูกปลาบู่แบ่งตามอายุของลูกปลาเป็น 3 ระยะคือ
1) การอนุบาลในบ่อซีเมนต์ขนาดเล็ก
2) การอนุบาลในบ่อซีเมนต์ขนาดใหญ่
3) การอนุบาลในบ่อขนาดใหญ่หรือในบ่อดิน
1. การอนุบาลในบ่อซีเมนต์ขนาดเล็ก การอนุบาลช่วงนี้เป็นช่วงที่สำคัญในการเพาะขยายพันธุ์ปลาบู่ การอนุบาลลูกปลาให้ได้อัตราการรอดตายต่ำหรือ สูงขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 4 ประการ คือ อัตราการปล่อย การจัดการน้ำในการอนุบาล การให้อากาศ ชนิดอาหารและการให้อาหาร
1.1 อัตราการปล่อยลูกปลาบู่วัยอ่อน ควรปล่อยอัตรา 20,000 ตัว ต่อ 6 ตารางเมตร หรือ ปริมาณ 3,300 ตัว/ตารางเมตร
1.2 การจัดการน้ำในการอนุบาล เนื่องจากลูกปลาบู่วัยอ่อนมีขนาดเล็กมากและบอบช้ำง่าย ดังนั้น การจัดการระบบน้ำต้องทำอย่างนุ่มนวลเพื่อไม่ให้ ลูกปลาบอบช้ำ ในการอนุบาลวันแรกควรเติมน้ำต้องทำอย่างนุ่มนวลเพื่อไม่ให้ลูกปลาบอบช้ำ ในการอนุบาลวันแรกควรเติมน้ำโดยกรองผ่านผ้าโอลอนแก้วให้ได้ระดับน้ำเฉลี่ย 20 - 25 เซนติเมตร จนได้ระดับน้ำเฉลี่ย 40 - 45 เซนติเมตรจึงเริ่มถ่ายน้ำ 50 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณน้ำทั้งหมดทุกวันจนลูกปลาอายุได้ 1 เดือน การเพิ่มระดับน้ำในระยะแรกควรเปิดน้ำเข้าช้า ๆ อย่าเปิดน้ำรุนแรงเพราะลูกปลาในช่วงระยะนี้บอบบางมากและเพื่อไม่ให้ของเสียที่อยู่ก้นบ่อฟุ้งกระจายขึ้นเป็นอันตรายต่อลูกปลาวัยอ่อน ส่วนการถ่ายเทน้ำในบ่อควรถ่ายน้ำออกโดยใช้วิธีกาลักน้ำผ่านกล่องกรองน้ำ การสร้างกล่องกรองน้ำนี้ควรให้มีขนาดพอเหมาะกับบ่ออนุบาลเพื่อสะดวกในการทำงานและขนย้าย กล่องกรองน้ำทำด้วยโครงไม้หรือท่อพีวีซีบุด้วยผ้าโอลอนแก้ว การถ่ายน้ำออกควรทำอย่างช้า ๆ เพราะลูกปลาบู่วัยอ่อนสู้แรงน้ำที่ดูดออกทิ้งไม่ได้ ลูกปลาจะไปติดตามแผงผ้ากรองตายได้ในช่วงท้ายของการอนุบาลประมาณ 1 - 2 อาทิตย์ สามารถเปลี่ยนผ้ากรองให้มีขนาดตาใหญ่ขึ้นอีกเล็กน้อยจากเดิม โดยให้มีความสัมพันธ์กับขนาดลูกปลาบู่
1.3 การให้อากาศ การให้อากาศในบ่ออนุบาลสำหรับลูกปลาวัยอ่อนในช่วงครึ่งเดือนแรกจำเป็นต้องปล่อยให้อากาศผ่านหัวทรายอย่างช้า ๆ และค่อย ๆ เพราะลูกปลาระยะนี้ยังไม่สามารถว่ายทวนกระแสน้ำที่เคลื่อนตามแรงดันอากาศมาก ๆ ได้
1.4 ชนิดอาหารและการให้อาหาร อาหารที่ใช้ในการอนุบาลลูกปลาบู่ส่วนใหญ่เป็นอาหารธรรมชาติมีชีวิต ยกเว้นระยะแรกที่ลูกปลาเพิ่งฟักจะให้อาหารไข่ระยะต่อมาให้โรติเฟอร์และไรแดง
วิธีการเตรียมอาหารและการให้อาหารมีชีวิต
1.4.1 อาหารไข่ ตีไข่แดงและไข่ขาวให้เป็นเนื้อเดียวกัน และใช้น้ำร้อนเติมลงไปขณะที่ตีไข่ในอัตราส่วนน้ำร้อน 150 ซีซีต่อไข่ 1 ฟองนำอาหารไข่ไปกรองด้วยผ้าโอลอนแก้วแล้วกรองด้วยผ้ากรองแพลงก์ตอนขนาดตา 59 ไมครอน อีกครั้งหนึ่ง นำไปอนุบาลลูกปลาช่วง 3 วันแรกของการอนุบาลในช่วงเช้า กลางวันและเย็น ปริมาณที่ให้โดยเฉลี่ย 40 ซี.ซี. ต่อบ่อต่อครั้ง
1.4.2 โรติเฟอร์น้ำจืด โรติเฟอร์เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ขนาดเล็กมีหลายชนิดทั้งที่อาศัยอยู่ในน้ำกร่อยและน้ำจืด ส่วนโรติเฟอร์น้ำจืดที่นำมาใช้อนุบาลลูกปลาบู่วัยอ่อน คือ Brachinonus calyciflorus ในการเพาะโรติเฟอร์นั้นต้องเพาะสาหร่ายเซลล์เดียวที่เรียกว่า คลอเรลล่า หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า น้ำเขียว เพื่อให้เป็นอาหารของโรติเฟอร์
1. ใส่น้ำเขียวคลอเรลล่า ที่มีความหนาแน่นประมาณ 5 x 10 เซลล์/1 ซี.ซี.ประมาณ 2 ตัน ทิ้งไว้ 2 - 3 วัน ระหว่างนั้นต้องคนบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการตกตะกอนของน้ำเขียว เมื่อสีน้ำเข้มขึ้นให้เพิ่มระดับน้ำเป็น 40 เซนติเมตร และใส่ปุ๋ยในปริมาณครึ่งหนึ่งของปุ๋ยที่ใช้ในข้อ 2
2. ทิ้งไว้ 2 - 3 วัน น้ำจะมีสีเขียวเข้มให้นำโรติเฟอร์ที่กรองจนเข้มข้นประมาณ 20 ลิตร (ความหนาแน่น 3,621 ตัวต่อซี.ซี.) มาใส่ในบ่อเพาะน้ำเขียวถ้าเป็นไปได้ควรมีการเพิ่มอากาศลงในบ่อเพาะ
3. เมื่อโรติเฟอร์ขยายตัวเต็มที่ น้ำจะเป็นสีชาและมีฟองอากาศลอยตามผิวน้ำมาก ก็ให้การกรองโรติเฟอร์ไปใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงลูกปลาบู่วัยอ่อนด้วยผ้าแพลงก์ตอน 59 ไมครอน หลังจากโรติเฟอร์เหลือจำนวนน้อยในบ่อให้ล้างบ่อและดำเนินการเพาะโรติเฟอร์ขึ้นใหม่ ทั้งนี้ควรให้โรติเฟอร์น้ำจืดอนุบาลลูกปลาบู่ในตอนเช้า กลางวัน และเย็นมื้อละ 4 - 6 ลิตร/บ่อ/ครั้ง สำหรับลูกปลาอายุ 2 - 12 วัน หลังจากนั้นค่อย ๆลดปริมาณให้โรติเฟอร์จนลูกปลาอายุได้ 30 - 37 วัน
1.4.3 ไรแดง ไรแดงเป็นแพลงก์ตอนสัตว์อีกชนิดหนึ่งมีขนาดเล็กแต่ขนาดใหญ่กว่าโรติเฟอร์อย่างเห็นได้ชัด ชอบอยู่รวมกลุ่มมีสีแดง สำหรับวิธีเพาะไรแดง มีขั้นตอน คือ
1. ทำความสะอาดบ่อซีเมนต์และตากทิ้งไว้ 1 วัน
2. กรองน้ำด้วยถุงกรองผ้าโอลอนแก้วให้ได้ระดับน้ำ 20 เซนติเมตรและละลายปุ๋ยตามสูตรใดสูตรหนึ่ง ดังนี้
สูตรที่ 1 : อามิ - อามิ หรือกากผงชูรส จำนวน 5 ลิตร
ปุ๋ย N-P-K สุตร 16 - 20 - 0 จำนวน 2 ก.ก.
รำละเอียด จำนวน 5 ก.ก.
ปูนขาว จำนวน 3 ก.ก.
สูตรที่ 2 : อามิ - อามิ จำนวน 20 ลิตร
ปุ๋ย N-P-K สูตร 16 - 20 - 0 จำนวน 1.5 ก.ก.
ยูเรีย จำนวน 1.5 ก.ก.
ปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟส จำนวน 260 กรัม
ปูนขาว จำนวน 3 ก.ก.
3. เติมน้ำเขียวลงบ่อประมาณ 1 - 2 ตัน คนบ่อย ๆ ประมาณ 3 วัน คลอเรลล่าขยายตัวเต็มที่ซึ่งสีน้ำจะมีสีเขียวเข้ม
4. ใส่ไรแดงประมาณ 1.5 - 2.0 กิโลกรัม
5. ประมาณ 2 - 3 วัน ต่อมา ไรแดงจะยายตัวเต็มที่แล้วดำเนินการรวบรวมไรแดงจนหมดบ่อ หลังจากนั้นเริ่มต้นเพาะไรแดงใหม่ต่อไป
การให้ไรแดงควรให้เมื่อลูกปลามีอายุ 12 วันขึ้นไป และควรให้ไรแดงในปริมาณ 200 กรัม/6 ตารางเมตร/ครั้ง ในตอนเช้า กลางวัน และเย็น จนลูกปลามีอายุประมาณ 25 วัน จึงลดปริมาณลงตามความเหมาะสม ลูกปลาบู่อายุ 30 - 37 วัน มีความยาวประมาณ 8 - 10 มิลลิเมตร จึงย้ายลูกปลาบู่ไปอนุบาลในบ่อขนาดใหญ่
2. การอนุบาลในบ่อซีเมนต์ขนาดใหญ่ เมื่อลูกปลาอายุได้ประมาณ 1 เดือนก็ทำการย้ายไปอนุบาลต่อในบ่อซีเมนต์ขนาด 50 ตารางเมตร ที่มีระดับน้ำประมาณ 40 - 50 เซนติเมตรโดยคัดลูกปลาให้มีขนาดใกล้เคียงกัน แล้วปล่อยลูกปลาในอัตราตารางเมตรละ 100 - 160 ตัว ในช่วงสัปดาห์แรกให้อาหารธรรมชาติมีชีวิต ได้แก่ ไรแดง หนอนแดง ฯลฯ ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวปลา
ช่วงสัปดาห์ที่สองเริ่มฝึกให้กินอาหารสมทบที่มีสูตรอาหารประกอบด้วยปลาเป็ด 94 เปอร์เซ็นต์ รำละเอียด 5 เปอร์เซ็นต์ วิตามินเกลือแร่ 1 เปอร์เซ็นต์ การฝึกให้ลูกปลาบู่กินอาหารสมทบ ควรค่อย ๆ ลดปริมาณไรแดงและเพิ่มอาหารสมทบสำหรับอาหารสมทบนั้นปั้นเป็นก้อนเล็ก ๆ โยนให้ลูกปลาบู่รอบบ่อ และควรเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวัน ๆ ละ 5 - 10 เซนติเมตร การเลี้ยงปลาบู่ในบ่อกลางแจ้งอาจประสบปัญหาสาหร่ายชนิดที่ไม่ต้องการโดยเฉพาะพวกที่เป็นเส้นใยขึ้นทั่วบ่อระหว่างอนุบาลลูกปลาซึ่งยากลำบากต่อการดูแล ควรใช้น้ำเขียวเติมเป็นระยะ ๆ ตามความเหมาะสมของคุณภาพน้ำความขุ่นและสีน้ำ อีกทั้งช่วยขยายอาหารธรรมชาติในบ่อ ได้แก่ ไรแดง อีกด้วย
3. การอนุบาลในบ่อขนาดใหญ่ หรือในบ่อดิน การอนุบาลลูกปลาบู่ขนาด 2.5 เซนติเมตรขึ้นไปส่วนใหญ่เลี้ยงในบ่อซีเมนต์และบ่อดินส่วนการเลี้ยงในกระชัง นั้นปรากฏว่าไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ มีอัตรารอดและอัตราการเจริญเติบโตต่ำไม่เหมาะสมที่จะใช้อนุบาลลูกปลาขนาดดังกล่าว สำหรับการอนุบาลลูกปลาขนาดดังกล่าวในบ่อซีเมนต์ลูกปลาจะมี อัตรารอดสูงกว่าบ่อดินและรวบรวมปลาบู่ได้สะดวก แต่อัตราการเจริญเติบโตช้าโดยปล่อยลูกปลาขนาด 5 เซนติเมตร จำนวน 3,000 ตัว หรือตารางเมตรละ60 ตัว ให้อาหารปลาประกอบด้วย ปลาเป็ด 94 เปอร์เซ็นต์ รำละเอียด 5 เปอร์เซ็นต์ วิตามินเกลือแร่ 1 เปอร์เซ็นต์ ระยะเวลาเลี้ยง 90 วัน อัตรารอด ประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ ลูกปลาที่มีน้ำหนักเฉลี่ย 1.46 กรัม เพิ่มขึ้นเป็น 4.97 กรัม ความยาวเฉลี่ย 5 เซนติเมตรเพิ่มเป็น 7.55 เซนติเมตร นอกจากนี้ การติดตั้งระบบน้ำหมุนเวียนโดยดึงน้ำจากบ่อพักมาเลี้ยงลูกปลาบู่แล้วปล่อยกลับสู่บ่อดินหมุนเวียนตลอดเวลาก็สามารถทำได้ ส่วนการอนุบาลลูกปลาบู่ในบ่อดินได้อัตรารอดไม่สูงนักและรวบรวมลูกปลา ได้ลำบากแต่มีการเจริญเติบโตเร็ว จากการทดลองเลี้ยงปลาบู่ในบ่อดินของสถานีเพาะเลี้ยงปลาจังหวัดปทุมธานี ใช้เวลาเลี้ยง 2 เดือน โดยใส่ปุ๋ยมูลไก่แห้งเพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติ และให้อาหารสมทบ (ปลาเป็ด 94 เปอร์เซ็นต์ รำละเอียด 5 เปอร์เซ็นต์ วิตามินเกลือแร่ 1 เปอร์เซ็นต์) ในอัตรา 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนัก ปลาพบว่า ได้อัตรารอดเฉลี่ย 44 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักลูกปลาเริ่มปล่อย 0.04 - 0.39 กรัม ได้น้ำหนักเฉลี่ย 2.4 กรัม
จากการศึกษาอัตราปล่อยลูกปลาบู่ขนาด 1.5 - 3.0 เซนติเมตรในบ่อดิน พบว่า อัตราปล่อย 10,000 ตัวต่อบ่อดินครึ่งไร่ หรือตารางเมตรละ 12.5 ตัวใน เวลา 1 เดือน ได้อัตรารอดมากที่สุด คือ 61.06 เปอร์เซ็นต์
ผมนำมาจาก เว็บไซต์ http://www.baanmaha.com ผมเองก็สนใจที่จะเลี้ยงเหมือนกันครับ แต่คงต้องรอศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และรอศึกษาความรู้เพิ่มเติมจากผู้ที่ประสบการณ์และชำนาญการด้านนี้อยู่ครับ
- บล็อกของ kitipong
- อ่าน 256303 ครั้ง
ความเห็น
suthus
20 พฤศจิกายน, 2009 - 19:13
Permalink
การเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างหนาแน่น
การเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างหนาแน่นเป็นวิธีการของระบบทุนที่ต้องอาศัยการลงทุนที่สูง การดูแลที่ดี มีการศึกษาหาความรู้ที่มากพอควร จากประสบการณ์เมื่อเกือบยี่สิบห้าปีที่ผ่านมาของผม ได้ไปเป็นผู้จัดการควบคุมดูแลการเลี้ยงกุ้งแบบหนาแน่นให้แก่ฟาร์มใหญ่ ที่ลงทุนเกือบสี่ล้านบาทและได้คืนทุนมาภายในการเลี้ยงครั้งเดียวในสมัยนั้น และผมก็ทำแบบขยายการลงทุนไว้ให้ แต่ก็ได้้ออกมาก่อนเนื่องจากหุ้นส่วนเขารับเงื่อนไขการทำงานของผมไม่ได้(สมัยนั้นผมคิดค่าจ้างเป็น 5% ของรายรับที่ได้ ไม่เอาเงินเดือน แต่ค่าใช้จ่ายระหว่างการทำงานต้องออกให้หมด ก็ได้รถเก๋งโตโยต้าโคโรล่ามาคันหนึ่งเมื่อเกือบยี่สิบห้าปีที่แล้ว) หลังจากนั้นห้าปีก็มีปัญหา ซึ่งในเวลานั้นผมก็ได้สรุปการเลี้ยงแล้วว่า ถ้าเป็นการเลี้ยงแบบไม่หนาแน่นเป็นวิธีการที่ดีที่สุดปลอดภัยที่สุด ไม่ว่าจะปลาหรือกุ้งก็ผ่านมาและเป็นเช่นเดียวกันครับ(ที่ผ่านมาเป็นฟาร์มขนาดเกินร้อยไร่ทั้งสิ้น)
บริษัทใหญ่ๆด้านการเกษตร ไม่มีใครเลี้ยงเองขนาดใหญ่ ล้วนให้คนอื่นเลี้ยงและดูแลแทนเป็นส่วนมาก ขายพันธุ์ อาหาร ยา และรับซื้อที่มีผลผลิตดีๆเท่านั้น ไม่ต้องเสี่ยงเองครับ เพราะกำไรดีกว่าเสี่ยงน้อยกว่า ดังนั้นอย่าแขวครับท่าน พวกเราต้องพอเพียงไม่ตกอยู่ในวัฎจักรของผู้อื่น เรากำหนดตัวเราเองครับ
kitipong
21 พฤศจิกายน, 2009 - 08:05
Permalink
เสวนาต่อ
ขอบคุณครับอาจารย์ที่เตือนสติ
ผมเพียงนำเสนอและมีแนวคิดพวกว่าปลาบู่+ปลาไหลเป็นปลาพื้นบ้าน อาจจะเพาะเลี้ยงไว้บริโภคเองหรืออาจจำหน่ายภายในหมู่บ้าน ตลาดนัดประจำตำบล,อำเภออะไรประมาณนั้นนะครับ เนื่องจากคิดว่าเป็นปลาที่เพาะพันธ์และการเลี้ยงดูที่ยากกว่าปลาปกติทั่วไปครับ
สวัสดีครับ จำป้อจายคนนี้ได้ก่
suthus
21 พฤศจิกายน, 2009 - 21:02
Permalink
เลี้ยงพอทานเหลือพอขาย
ผมกลัวว่าท่านจะลงมือเลี้ยงแบบเป็นล่ำเป็นสัน(อาจจะเป็นทุกข์เป็นร้อน) เพราะในเมื่อพวกเราหันมาใช้ชีวิตอย่างพอเพียงแล้วก็คงไม่อยากหวนกลับไปใหม่อีกเพราะความอยากที่จะได้อยากที่จะมีเยอะๆนะครับ(ทางบ้านผมทำแบบใหญ่ๆเกือบเชิงเดียว มีผมที่แหกคอกไม่ร่วมด้วย) ก็วันจันทร์พบกันตามหมายกำหนดที่นัดไว้และน้องส้มด้วยครับ(มาสายๆสัก11.00น.ก็ได้ จะได้รอน้องเขาด้วย ถ้าท่านสะดวกนะครับ ถ้าไม่สะดวกก็ไม่เป็นไร เพราะผมสะดวกแค่เดินไปใกล้นิดเดียวจากเมโทรเก่าครับ
เรื่องปลาไหลผมมีประสบการณ์บนเขามา คือที่เขตน้ำตกห้วยแก้วเชียงรายใกล้โรงเรียนที่ผมไปช่วยเรื่องห้องสมุดและคอมเมื่อสามปีที่แล้ว มีพื้นที่นาผืนหนึ่งกำลังจะปรับดินเพื่อปลูกพืชอื่นๆและทำทางระบายน้ำเข้าและออกจากแปลงที่ติดลำห้วยติดเขตป่า ระหว่างที่ขุดคูน้ำก็สามารถจับปลาไหลได้ทุกวัน ซึ่งพอกับการนำมาบริโภค ส่วนตัวเล็กๆที่มีมากกว่าได้รับการปล่อยสู่ธรรมชาติ นี่แหละคือวิถีการดำรงชีพแบบดั่งเดิมไม่โลภไม่อดอยากขาดแคลน พร้อมทั้งเก็บผักกูดมาทานได้โดยไม่ต้องเลี้ยงไม่ต้องลงทุน เพราะทุนทางธรรมชาติยังมีและคงอยู่ชั่วชีวิตเราได้ถ้าไม่.....
kitipong
22 พฤศจิกายน, 2009 - 07:49
Permalink
เสวนาต่อ
ครับ อาจารญ์พูดถึงอาหารตามธรรมชาติบ้านเราแล้วหิวข้าวขึ้นมาทันทีเลยครับ เบื่ออาหารในกรุงฯแล้ว ไม่พ้นผัดๆทอด ครับ อยากทานพวกน้ำพริก ลวกผัก ,ผัดเผ็ดปลาไหล แซบกว่าเยอะครับ ตกลงครับอาจารย์นัดวันจันทร์ (พรุ่งนี้ 23/11/52) 10:00-11:00 น.ครับ ถ้าไปถึงแถวบิ๊กซีแล้วจะโทรอาจาร์ยนะครับ
สวัสดีครับ จำป้อจายคนนี้ได้ก่
toncomhard
26 มกราคม, 2010 - 14:20
Permalink
ปลาๆๆ
ที่บ้านก้อมีครับ ปลาบู่ตามธรรมชาติ ตัวไม่โตน่ะครับ ประมาณ 1-2 นิ้วเอง ส่วนมากไม่ค่อยมีโรคน่ะครับ
intorn
17 กุมภาพันธ์, 2010 - 16:46
Permalink
ใครเลี้ยงบ้างงงงงง
อยากเลี้ยงปลาบู่ครับ เคยเอาปลาบู่จากบ้านที่สุรินทร์มาเลี้ยงที่แฟลตในกรุงเทพ บังเอิญตัวมันหย่ายยยย อ่างเลี้ยงมันเล็ก ก้อเลยโดดออกมา ซี้แหง๋เลย เอามาสองตัว เสียยยดายยยยมาก ๆๆ เอามาจากที่เค้าจับได้ตามธรรมชาติ
http://www.oknation.net/blog/roungkaw/2009/01/04/entry-2
ชีวิตอยู่ได้ ด้วยความพอเพียง และ เพียงพอ
MSN : it_lover@hotmail.com
ตุ้ย
16 ธันวาคม, 2010 - 19:56
Permalink
ปลาบู่
เลี้ยง ยาก มากๆๆครับใครไม่เชื่อลองดูได้ มีประสพการณืมา4ปี
เลี้ยงยากมากๆ:sweating:
st.luke2009
31 สิงหาคม, 2011 - 14:42
Permalink
Re: เลี้ยงปลาบู่ขายได้ราคาดี
ตอนนี้ราคาตกมาก เมื่อเดือนที่แล้วผมขายไป ประมาณ 80 กก. พ่อค้าส่งให้เพียงโลละ 250 บาท เท่านั้น :desperate:
ผมจับเองโดยใช้คอนโดดักลงทุนน้อย ใช้ปลาเป็ดที่หาได้เป็นอาหาร พออยู่ได้ แต่ยึดเป็นอาชีพหลักไม่ได้
ayeweb
13 กุมภาพันธ์, 2016 - 11:44
Permalink
Re: เลี้ยงปลาบู่ขายได้ราคาดี
ขอบคุณครับ
เดี๋ยวนี้ยังได้ราคาดีไหมเอ่ย
พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำหนองคาย nongkhaiaquarium.com | drupal