เที่ยวสวนลุงพี เดือนเมษา
ปรกติช่วงเดือนเมษาในหน้าร้อน ที่อื่นๆจะแห้งแล้งแต่ที่สวนลุงพีกลับตรงกันข้าม เพราะจะเป็นช่วงที่ชลประทานปล่อยน้ำเข้าที่นา ทำให้สวนของผมจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำ(และหญ้าคา) เลยต้องเข้าไปดูหน่อยว่าจะมีต้นอะไรถูกน้ำท่วมบ้าง เลยมีโอกาสได้เก็บภาพและเมล็ดพันธุ์มาฝากเพื่อนๆสมาชิกบ้านสวนฯด้วย ขอเริ่มต้นด้วย "โด่ไม่รู้ล้ม"
พ่อผมไปได้มาต้นหนึ่งปลูกไว้ในกระถาง เมื่อออกดอกแล้วมีเมล็ด ผมลองเอาไปโปรยเล่นๆตามทางเดิน จนบัดนี้สิบปีผ่านไป มีอยู่กลาดเกลื่อนเต็มพื้นที่
ลองดูลักษณะต้นแบบใกล้ๆ
เวลามีดอก จะเห็นแบบนี้
ดูภาพดอกเค้ากันแบบจะๆ (แถมด้วยผึ้งอีกหนึ่งตัว)
ใครอยากได้โด่ไปปลูกที่บ้าน ส่งชื่อที่อยู่มาที่กล่องข้อความ แต่ผมขอเตือนไว้ก่อนนะครับว่า ถ้าไม่คิดจะเอาไปใช้เป็นสมุนไพร แล้วปล่อยให้โตในที่ดินนานๆ มันจะกลายเป็นวัชพืชที่จะสร้างความรำคาญให้กับท่านอย่างมากมาย เพราะก้านดอกแข็งๆของเค้านั้น โด่ไม่รู้ล้มสมกับชื่อจริงๆ
- บล็อกของ ลุงพี
- อ่าน 7290 ครั้ง
ความเห็น
ป้าต่าย
29 เมษายน, 2011 - 17:49
Permalink
ลุงพี
ที่บ้านไม่มี...ลองเอามาโด่ซักหน่อยทิ..
คิดให้แตกต่าง...แต่อย่าแตกแยก
แก้ว กุ๊ก กิ๊ก
29 เมษายน, 2011 - 19:00
Permalink
อิอิ
ถ้าตั้งชื่อบล็อก ตามชื่อต้นไม้ คนคงวิ่งมาดูกันอย่างรวดเร็วเลย เพราะอยากรู้
นึกแล้วขำ นั่งหัวเราะคนเดียวค่ะ :uhuhuh:
สาวน้อย
29 เมษายน, 2011 - 19:10
Permalink
ลุงพี..ถ่ายรูปสวย
ไม่ค่อยเห็นบล้อกลุงพีมีรูป.....ฝีมือขั้นเทพ..เหมือนกันนะคะ...แต่ว่าไม่มีหนุ่มไหนสนใจเลยหรอคะ...แสดงว่าหนุ่มบ้านสวนแข็ง....แรงกันทุกคน
ชีวืตที่เพียงพอ..
คนยอง
29 เมษายน, 2011 - 21:08
Permalink
ลุงพี่
ลุงพี่ผมเคยเห็นแต่ไม่รู้ว่าเป็นโด่ไม่ล้ม นึกว่าไม่มีประโยชน์
ก็เลยไม่สนใจ
แล้ว แล้วได้ผลหรือเปล่าลุง...............
ลุงพี
29 เมษายน, 2011 - 21:15
Permalink
เปิ้ล
เรื่องแบบนี้ เค้าเรียกลางเนื้อชอบลางยา ต้องลองเองครับ :uhuhuh:
พอกิน พอใช้ พอใจ คือความหมายของ พอเพียง
พัฒน์..ลูกธรรมดา
29 เมษายน, 2011 - 21:36
Permalink
เหมือนจะเคยเห็นแถวนี้
เหมือนจะเคยเห็นแถวนี้ เอาใปใช้อย่างไรครับ
อ่าน
ลุงพี
29 เมษายน, 2011 - 22:10
Permalink
โด่ไม่รู้ล้ม : แก้ไข้ แก้ปวดเมื่อย แก้ไอ บำรุงกำหนัด
เรื่องของโด่ไม่รู้ล้ม...แค่ชื่อก็กินขาด
โด่ไม่รู้ล้มเป็นสมุนไพรที่ใครเห็นครั้งเดียวก็จำได้ เพราะใบของโด่ไม่รู้ล้มจะเรียงตัวกันใกล้ผิวดิน ขอบใบหยัก มีขนปกคลุมทั้งสองด้าน ที่แปลกคือก้านช่อดอกยาวโด่ ชู ขึ้นมาไม่ยอมล้มลงแม้ต้นจะแห้งตาย ซึ่งด้วยลักษณะเช่นนี้นี่เอง จึงได้ชื่อว่า โด่ไม่รู้ล้ม แต่ดูเหมือนว่าชื่อโด่ไม่รู้ล้มจะเป็นที่นิยมเรียกกันในพ่อหมอยาในแถบภาคกลาง ส่วนพ่อหมอยาแถวๆ อีสานจะเรียกชื่อสมุนไพรชนิดนี้คล้ายๆ กันแทบทุกจังหวัดว่า คิงไฟนกคุ่ม ขี้ไฟนกคุ่ม ไกนกคุ่ม เพราะเจ้านกคุ่ม (นกในวงศ์นกกระทา) ชอบมานอนซุกในกอของสมุนไพรชนิดนี้ ส่วนหมอยาที่อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปางเรียกว่า ช้างย่ำปื๊ด หมอยาไทยใหญ่เรียกว่า หญ้าแสนหวี หมอยาบางท่านเรียก หญ้าไอ (เพราะแก้ไอได้ดี) ส่วนบางพื้นที่เรียกตามลักษณะของราก กล่าวคือโด่ไม่รู้ล้มจะมีรากมากมายจึงเรียกว่า หญ้าสามสิบสองราก
เราจะพบโด่ไม่รู้ล้มได้ตามพื้นที่รกร้าง ว่างเปล่าในทุกๆ ภาค และเป็นสมุนไพรที่หมอยาส่วนใหญ่รู้จัก ซึ่งพอจะกล่าวได้ว่าสมุนไพรชนิดนี้เป็นสมุนไพรพื้นฐานของหมอยาพื้นบ้านทั่วไป แต่สิ่งที่น่าฉงนก็คือมันมีชนิดเล็กกับชนิดใหญ่ ซึ่งคนไทยใหญ่เรียก ชนิดเล็กว่า หญ้าแสนหวีอ้อน ส่วนชนิดใหญ่เรียกว่า หญ้าแสนหวีใหญ่ และหมอยาไทยใหญ่เชื่อว่า หญ้าแสนหวีอ้อนจะมีฤทธิ์ดีกว่าชนิดใหญ่ และบางครั้งก็งงๆ เพราะโด่ไม่รู้ล้มมีพี่น้องคล้ายๆ กันอีกต้น ชื่อ กระต่ายขาลา ในตำรับยาของพ่อประกาศ ใจทัศน์ (หมอยาจังหวัดยโสธร) ใช้รากกระต่ายขาลาคู่กับรากคิงไฟนกคุ่ม ต้มกินแก้ปวดเมื่อย บำรุงกำลังและแก้ไอ
โด่ไม่รู้ล้ม…ยาบำรุงกำลัง ของหมอยาทุกภาค
สรรพคุณเด่นของโด่ไม่รู้ล้มที่หมอยาทุกภาครับรู้ร่วมกันคือ การต้มหรือดองกินเป็นยาบำรุงกำลัง อาจจะเป็นเพราะชื่อ โด่ไม่รู้ล้ม ก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะนิยมต้มหรือดองร่วมกับยาบำรุงกำลังตัวอื่น เช่น กำลังช้างสาร ม้ากระทืบโรง กำลังทรพี เป็นต้น
โด่ไม่รู้ล้ม...ยาแก้ปวดเมื่อย บำรุงเอ็น แก้เอ็นขัด
เมื่อครั้งที่จบจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ออกมาทำงานที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ได้มีส่วนในการทำงานรณรงค์ ส่งเสริมการใช้สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน และมีโอกาสไปร่วมงานกับโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง (ต่อมาพัฒนาเป็นมูลนิธิสุขภาพไทย) ซึ่งทางโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองได้นำตำรับยาสมุนไพรแก้ปวดเมื่อยนำไปใช้ทดแทนยาชุดแก้ปวดในชุมชน ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งหยุดกินยาชุด ยาซอง ยาสูตรผสมแก้ปวดเมื่อย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลข้างเคียงทั้งนั้น ตำรับยาดังกล่าวประกอบด้วย โคคลาน โด่ไม่รู้ล้ม ทองพันชั่ง ซึ่งตำรับยาดังกล่าวนี้สืบทอดมาจากตระกูลของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม อดีตวุฒิสมาชิกและผู้นำชุมชนที่อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา
นอกจากนี้แล้วหมอยาไทยใหญ่ยังใช้สมุนไพรชนิดนี้ในการเป็นยา แก้เอ็น แก้เอ็นขัด แก้ปวดเมื่อย เช่นเดียวกัน
โด่ไม่รู้ล้ม…ยาแก้ไอ แก้หลอดลมอักเสบ
โด่ไม่รู้ล้ม มีชื่ออีกชื่อคือ หญ้าไอ เพราะสรรพคุณที่เด่นมากของสมุนไพรชนิดนี้คือการแก้ไอ ไม่ใช่เฉพาะเพียงแต่หมอยาเท่านั้นที่รู้จักใช้โด่ไม่รู้ล้มเป็นยาแก้ไอ แม้แต่แม่บ้านธรรมดาก็รู้และมีประสบการณ์ในการใช้ด้วย โดยจะใช้รากหรือใช้ทั้งห้าก็ได้ ต้มกิน แก้ไอ แก้หลอดลมอักเสบ ส่วนตำรับของหมอยาพื้นบ้านเมืองเลยก็มีการใช้คิงไฟนกคุ่มผสมกับง้อบแง็บ แก่นไม้กระบก แก่นไม้อีเลี่ยน แช่น้ำกินแก้ไอเช่นกัน
โด่ไม่รู้ล้ม…ยาแก้ไข้ แก้หวัด
นอกจากจะใช้แก้ไอแล้ว โด่ไม่รู้ล้มยังมีสรรพคุณในการแก้ไข้ได้อีกด้วย แม้สรรพคุณในการแก้ไข้จะเป็นที่นิยมรองลงมาจากการแก้ไออยู่บ้าง แต่หมอยาหลายแห่งนิยมใช้โด่ไม่รู้ล้มในสรรพคุณนี้ โดยใช้ทั้งห้า หรือส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้ต้มกิน และยังใช้แก้ตานซางในเด็ก (เด็กที่มีอาการหัวร้อน ก้นเย็น กินไม่ได้และหงุดหงิดง่าย) โดยเอาส่วนรากมาแช่น้ำให้เด็กกิน ตำรับหมอชาตรี ศรีวิชัย
โด่ไม่รู้ล้ม…ยาขับนิ่ว ขับปัสสาวะ
โด่ไม่รู้ล้มเป็นสมุนไพรที่ช่วยในการขับปัสสาวะที่ดีตัวหนึ่ง ซึ่งมักใช้ประกอบกับสมุนไพรตัวอื่นในการเป็นยาขับนิ่ว
โด่ไม่รู้ล้ม…ยารักษาแผล รักษาโรคผิวหนัง ผดผื่นคัน ยาต้มอาบให้แม่หลังคลอด
โด่ไม่รู้ล้มยังเป็นหมอรักษาโรคผิวหนังที่ดีไม่น้อย แม้คนจะไม่นิยมใช้เป็นยาทางผิวหนังเท่ากับกะเม็ง แต่ในพื้นที่ที่ไม่มีกะเม็งหมอยาจะใช้โด่ไม่รู้ล้มเป็นยารักษาแผลมีหนองแทน โดยจะเคี่ยวกับน้ำมันเก็บไว้ใช้ทาหรือใช้การต้มน้ำล้างหรืออาบก็ได้ และใช้ต้มอาบหลังคลอดบุตร
โด่ไม่รู้ล้ม…ยารักษาฟัน
หมอยาในแถบจังหวัดปราจีนบุรีจะใช้รากของโด่ไม่รู้ล้มเป็นยารักษาฟัน โดยจะต้มกับเกลืออมรักษาฟันทำให้ฟันไม่ผุหรืออมแก้ปวดฟันก็ได้ หรือจะใช้รากคั่วแล้วแช่กับเหล้าอมแก้ปวดฟันก็ได้
รายงานการวิจัย
มีรายงานว่าสารสกัดของโด่ไม่รู้ล้มมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยับยั้งไวรัส ต้านความเป็นพิษต่อตับ ลดความดันโลหิต ต้านการอักเสบ แก้ปวด แก้ไข้(แต่ไม่ดีนัก) ต้านการเกิดเนื้องอก ระงับการเกิดพิษที่ตับ ป้องกันไม่ให้ตับอักเสบจากสารพิษ
ข้อควรระวังและข้อห้ามใช้
ผู้หญิงมีครรภ์ห้ามรับประทาน หรือผู้ที่กลัวหนาวแขนขาเย็น คนที่กินแล้วมีอาการปวดมวนท้อง และไม่ควรต้มเข้มข้นเกินไป จะทำให้ปวดมวนท้อง
พอกิน พอใช้ พอใจ คือความหมายของ พอเพียง
ดาวเรือง
30 เมษายน, 2011 - 05:31
Permalink
ลุงพีคะจุ๋มอยากได้เมล็ดโด่ไม่รู้ล้มด้วยค่ะ
คนที่เป็นภูมิแพ้ก็จะไอแยะมาก แถมหลอดลมอักเสบประจำอยู่แล้ว น่าจะปลูกไว้ต้มน้ำกินบ้างนะคะ ที่อยู่ฝากไว้แล้วนะคะ
Tui
30 เมษายน, 2011 - 08:24
Permalink
ผมไม่เคยเห็น ต้น จริง แบบนี้
ผมไม่เคยเห็น ต้น จริง แบบนี้ เลย ครับ สมุนไพร ขึ้นง่ายๆ แบบนี้ดี เลย
ป้าปุก
30 เมษายน, 2011 - 08:41
Permalink
ขอบคุณลุงพีค่ะ
รูปสวยมาก ได้ความรู้มากมายค่ะ
เห็นเป็นแค่หญ้าวัชพืชรกๆ มีอยู่ทั่วไป แต่แท้จริงมีประโยชน์ คุณค่ามหาศาล
ทำให้ได้ข้อคิดว่า แต่ละสรรพสิ่งล้วนมีคุณประโยชน์อยู่ในตัวมากมาย หากแต่เราต้องเรียนรู้ที่จะดึงศักยภาพของเขาออกมาใช้ให้เป็น ขอบคุณลุงพีที่นำความรู้มาให้ หูตาสว่างเลยค่ะ
หน้า