พืช-ผัก-หญ้า ก็เป็นยา

หมวดหมู่ของบล็อก: 

พืช-ผัก-หญ้า ก็เป็นยา


   อยู่บ้านสวนพอเพียง ไม่ลืมคุยเรื่องพืชผักหญ้า ก็เป็นยา ส่วนจะเป็นยาอย่างไรนั้น หลายท่านเคยได้ยิน “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” วันนี้เลยชวนคุยกันถึงพืชผักหญ้าก็เป็นยาด้วยการนำเอา รสของพืช-ผัก-หญ้า มาว่ากันตามหลักการ “รสยา” เพื่ออย่างน้อยหากรู้สึกไม่สบายเนื้อตัว ก็พึ่งตัวเองกันในเบื้องต้นด้วยการปรุงอาหารให้มีรสอร่อยแล้วพ่อครัวแม่ครัวเก่ง ๆ ของบ้านสวนฯได้พลิกแพลงให้รสอาหารหนึ่งมื้อที่มีเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด เป็นตำรับอาหารที่เป็นทั้งอาหารและเป็นยาได้  


รสยา จำแนกโดยหลัก ๆ มักกล่าวถึง รสประธาน ๓ รส  และ รสยา ๙ รส


รสประธาน ๓ รส


ก.รสร้อน (ตัวอย่าง เช่น เมล็ดพริกไทย หัวกระเทียม ขิง ข่า กานพลู กระชาย รากช้าพลู ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ เป็นต้น) เมื่อปรุงหรือผสมแล้วหากเป็นยาก็เป็นยารสร้อน สรรพคุณแก้ในทางวาโยธาตุ(ธาตุลม) แก้ลมจุกเสียด บำรุงธาตุ  


ข.รสเย็น (ตัวอย่าง เช่น ใบตำลึง รากมะกรูด รากมะนาว รากมะปรางหวาน ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค  ใบหญ้าใต้ใบ ใบบัวบก เป็นต้น) เมื่อปรุงหรือผสมเป็นยาแล้วมีรสเย็น สรรพคุณแก้ในทางเตโชธาตุ(ธาตุไฟ) แก้ไข้ ตัวร้อน แก้ไข้พิษ ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้


ค.รสสุขุม(ตัวอย่าง เช่น อบเชย แฝกหอม หญ้าฝรั่น เประหอม กฤษณา เกสรบัวหลวง เป็นต้น) เมื่อปรุงหรือผสมเป็นยาแล้ว ก็มีรสสุขุมแก้ในทางอาโปธาตุ(ธาตุน้ำ) แก้ทางโลหิตและเสมหะ บำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย


รสยา ๙ รส


๑.รสฝาด สรรพคุณ ชอบสมาน สำหรับสมานบาดแผล ปิดธาตุ แก้ท้องร่วง แก้บิด  (ตัวอย่าง เช่น ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน เปลือกแค  )


๒.รสหวาน สรรพคุณ ซึมซาบไปตามเนื้อ ทำให้เนื้อชุ่ม บำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย (ตัวอย่าง เช่น ชะเอมไทย ชะเอมเทศ น้ำตาลอ้อย น้ำตาลสด ดอกอังกาบ ดอกคำฝอย รากหญ้างวงช้าง )


๓.รสเมาเบื่อ สรรคุณ แก้พิษ (ตัวอย่าง เช่น หัวบุก รากเล็บมือนาง ลูกสะบ้า ชุมเห็ดเทศทั้งห้า )


๔.รสขม สรรพคุณ บำรุงโลหิตและน้ำดี เจริญอาหาร(ตัวอย่าง เช่น หัวบัวขม มะระทั้งห้า(ต้น-ใบ-ดอก-ราก-ผลของมะระ) หัวแห้วหมู )


๕.รสเผ็ดร้อน สรรพคุณ แก้ลม ลมจุกเสียด แน่นเฟ้อ ขับผายลม บำรุงธาตุ (ตัวอย่าง เช่น รากช้าพลู รากกระชาย เถาสะค้าน รากกระเพรา หัวกระเทียม เมล็ดพริกไทย )


๖.รสมัน สรรพคุณ แก้เส้นเอ็น บำรุงเส้นเอ็น เพิ่มไขมัน ให้ความอบอุ่นกับร่างกาย (ตัวอย่าง เช่น เมล็ดกระบก เมล็ดถั่ว เมล็ดถั่วเขียว เนื้อกระจับสด เมล็ดงา )


๗.รสหอมเย็น สรรพคุณบำรุงหัวใจ (ตัวอย่าง เช่น ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค หญ้าฝรั่น ต้นเตยหอม เปราะหอมแฝกหอม )


๘.รสเค็ม สรรพคุณ ซึมซาบไปตามผิวหนัง (ตัวอย่าง เช่น หัวหอม เกลือสินเธาว์ เกลือสมุทร)


๙.รสเปรี้ยว สรรพคุณ กัดเสมหะ แก้เสมะ ฟอกโลหิต ระบายอุจจาระธาตุ (ตัวอย่าง เช่น ลูกมะขามป้อม ลูกมะดัน ฝักมะขามไทย น้ำมะกรูด น้ำมะนาว น้ำส้มสายชู ใบส้มป่อย ลูกมะแว้ง ลูกมะกอก ลูกมะอึก )


นอกจากนี้ยังเพิ่มยารสจืด สำหรับแก้ทางเตโชธาตุ(ธาตุไฟ)(ตัวอย่าง เช่น ใบแค ใบมะยม รากมะกรูด รากมะนาว ผักพังพวย ผักกะเฉด เถาตำลึง รางจืด)


อย่างไรก็ตามตามตำราว่าไว้ว่ายังมีรายละเอียดการใช้บางอย่างที่ไม่ถูกต้องก็อาจแสลงกับโรคที่มีอยู่ได้


   ในวันนี้นำเสนอเรื่อง "พืช-ผัก-หญ้า ก็เป็นยา" มุ่งหวังว่าหากปลูกพืช-ผัก-หญ้าใด เมื่อนำมาเป็นอาหารแล้วลองสังเกตว่าน่าจะเข้าได้กับรสยาใด นำมาประยุกต์ปรับในอาหารมื้อนั้น อาหารมื้อนั้นนอกจากมีรสอร่อยแล้ว ยังทำให้สบายตัวได้อย่างง่าย ๆ น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการพึ่งตัวเองเบื้องต้นทางสุขภาพได้อย่างดี


ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ เวช-เภสัชกรรมแผนโบราณ และช่วยสอบวิชาเภสัชกรรมแผนโบราณ โดยหมอมัธยัสถ์ ดาโรจน์ โรงพิมพ์เทพรัตน์การพิมพ์  กทม. พ.ศ.๒๕๒๖


 

ความเห็น

ขอบคุณมากค่ะ  คุณอ๊อด ดีจังค่ะ ได้กินผักเป็นยา

น้า ช่างหามาาพิมพ์ เขียน ยาวตอบยาว แบบนี้ เขาก็ รู้ ว่าน้า อยู่ ว่างๆ กันหมด ซิครับ อิอิ

ขอบคุณสำหรับข้อมูล บ้างท่านเห็นอะไรดี หามากินก่อน พืชสมุนไพร หลายๆ อย่างมี ผลข้างเคียง มากมาย เช่น ญ้าฝรั่น หญิงมีครรภ์ ห้ามทานมีอีกหลายอย่างผมคงามรู้น้อย ตัว ผมจะจำ ผลข้างเคียง และ วิธีใช้ ขนาด ก่อนเลยค่อยหามาทาน

ติดใจมานาน เวลาคุยกับใคร เรื่อง สมุนไพร อั้นนั้น ก็ ดี อันนี้ ก็ ดี พอถามว่าเอามาใช้ ยังไง ก็ บอกดื่มกิน ที่จริ วิธีปรุงมีอีกมากมาย บางอย่างต้องแห้งก่อน บางอย่างต้อง สด คิดมาก แล้ว ปวดหัว ครับ น้าตอนนี้ผมไม่สรรห สมุนไพรอะไรมาปลูกแล้ว ที่มี อยุ่ ก็ ยังงงๆ กับ การใใช้ อยู่ เลย ครับ

ตุ้ย อย่างนั้นเชียว โอ้โฮ ถ้าตุ้ยไม่ทักก็พลอยลืมไปว่าพิมพ์ยาวตอบยาวคนอื่นจะรู้หมดว่าอยู่ว่าง ๆ อิอิ ล้อเล่นนะ ที่จริงกว่าจะพิมพ์เสร็จก็หมุนตัวไปทำอย่างอื่นหลายรอบเลย พิมพ์เสร็จเล่นเอาเหงื่อตกเหมือนกันละ ส่วนตอบยาว ๆ นี้ก็ยังคิดว่า ตอบสั้นบางทีก็ไม่ค่อยจะรู้เรื่อง(แต่เผลอ ๆ น้าตอบยาวอาจยิ่งไม่รู้เรื่องใหญ่) เลยไม่ค่อยได้แสดงความเห็นในหลาย ๆ บล็อกที่อยากแสดงความเห็นนะ


จริงอย่างตุ้ยว่าแหละว่าต้องรู้ปริมาณและวิธีการใช้ ดังนั้นตัวอย่างพืช-ผัก-หญ้า เลยเอาอย่างที่ชื่อคุ้น ๆ และคิดว่าน่าจะพอเป็นไปได้ เออนะ น้าก็ลืมไปว่า ญ่าฝรั่น ต้องเขียนอย่างนี้จึงถูก(ตามที่ตุ้ยเคยแนะนำมาแล้ว อิอิ เห็นไหมว่าลืมได้ เขียนคำสะกดผิดได้เหมือนกัน) ต้องขอบคุณที่เขียนมาให้อ่านอีกครั้งเลยนึกจำขึ้นได้


ที่ว่าบล็อกนี้ก็ว่าเอาแต่พืช-ผัก-หญ้าที่เป็นชื่อคุ้น ๆ ในครัวมาประกอบตัวอย่าง ยังไงน้าว่าการเขียนบล็อกนี้ก็พลอยให้น้าได้ทบทวนและเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน อีกหน่อยคงมีสักวันหายงงไปบ้าง หรือไม่ก็งงไปอีกนาน


ขอบคุณมากค่ะ ตุ้ย

เราก็อย่ากินเป็นยา ซิคะ เรากินเป็นอาหารอย่างละนิดหน่อย เพิ่มภูมิคุ้มกันแบบครอบจักรวาลไว้ก่อน

:admire2:

พี่โจ ส่วนตัวแล้วเป็นคนชอบสรรหาไม้ดีๆ มาปลูก แต่ ด้วยความที่พื้นที่จำกัด เลยต้องศึกษามากหน่อย พอได้แต่อ่าน ไม่ได้มีความรู้ลึกซึ้งอะไร ผมเลยงง กับการใช้สมุนไพรนะครับบางอย่างทานน้อยไปก็ไม่ได้ผล เช่น ดีบัว ทานมากไปก็เป็นพิษ เช่น สมุนไพรระบายธาตุ ตัวอย่างที่บ้านปลูกดอกไม้จีน ( เดลินลี่ ) นะครับ เก็บมาทานสดมาก ก็ไม่ได้ ท้องล่วง ต้องล้างตากแห้ง ถึงทานได้มากหน่อย เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้เลยทำให้กังวลนะครับ ตอนนี้ ทานผักสด ผลไม้ ยาสมุนไพร ใช้ที่เขามีขายตาม ร้านสุขภาพแทน อาหารเสริม วิตมินก็ไม่ทานนะ ครับ ดูแลอาหารและออกกำลังกายแทน ครับพี่

แต่ก็ชอบความคิดพี่ครับ ทานเป็นผักแทน ไม่ต้องทานเป็นยา เข้าท่าดีครับ ^_^

ขอบคุณค่ะ สำหรับข้อมูลดีๆแบบนี้

ชีวิตไม่ได้เกิดมา เพื่อยอมแพ้

ขอบคุณมากค่ะ นู๋หวิ่ง เข้ามาให้กำลังใจกันในบล็อกนี้ ดีใจว่าได้พอเป็นประโยชน์บ้างค่ะ

หน้า