ปลูกยางพารานอกพื้นที่ภาคใต้

หมวดหมู่ของบล็อก: 

    หลังจากผมมีประสบการณ์และความสำเร็จในการทำสวนยางในภาคใต้จากที่ดินที่ซื้อมา 4-5 ไร่ และที่ดินที่พ่อแม่แบ่งให้อีกประมาณ 10 ไร่  วันนี้ได้ผลผลิตหลังจากแบ่งแล้วประมาณสัปดาห์ละ 5,000 บาท  จึงมีแนวคิดที่จะขยายกิจการ แต่ติดที่พื้นที่ภาคใต้ไม่มีที่ดินแล้ว ราคาจึงสูงมาก ที่ดินเปล่าที่เหมาะปลูกยาง ไร่ละประมาณ 150,000 - 200,000 ครับ   ผมจึงมีแนวคิดที่จะออกไปปลูกยางพารานอกพื้นที่ภาคใต้  ได้รับประสบการณ์จะนำมาเล่าสู่กันฟังครับ  พื้นที่เป้าหมาย  อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน  ก่อนอื่นก็ไปดูก่อนว่าแถวนั้นเขาปลูกกันได้ผลแล้ว  ผมไปดูมาประมาณ 10 แปลง แปลงที่เก่าแก่ที่สุด ให้ผลผลิตมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี (ประมาณจากหน้ายางที่หมดไปหนึ่งหน้าแล้ว) ที่เหลือมีตั้งแต่ยาง  1- 5 ปี  โตเป็นปกติครับ  เลยตัดสินใจซื้อ

      เมื่อ มีนาคม 2554 ผมไปโอนที่มาแปลงหนึ่ง  เป็นที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 547 เมตร  เป็นที่ไร่ข้าวโพดเก่า  ภาพที่เห็นได้มาจาก PointAsia  ครับ  เป็นแปลงสีเขียวๆ กลางภาพครับ  ส่วนด้านบนของภาพ เป็นสวนลำใยเห็นต้นเป็นจุดๆ ครับ  คนที่นี่ปลูกลำใยเกือบทั้งนั้น ทางเข้าเป็นดินลูกรัง มีไฟฟ้าเข้าไปถึงประมาณ 5 กม. ยังเหลืออีก 2 กม. จะถึงที่ของผม สองข้างทางเป็นสวนลำใย

        เจ้าของเดิม(ตามเอกสารที่เริ่มจดทะเบียนเป็น นส.3)เป็นคนท้องถิ่น  หลังจากนั้นมีคนจังหวัดอยุธยามาซื้อจากหลายเจ้า จึงเป็นที่ดินติดกันหมด จากเอกสาร นส.3 จำนวน 9 ฉบับ  เนื้อที่ รวม  98 ไร่ เศษ  เมื่อเจ้าของเดิมเสียชีวิต  ลูกชายได้รับช่วงเป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งจะต้องแบ่งมรดกกันระหว่างพี่น้อง 8 คน  จึงต้องขายทั้งแปลงใหญ่  ผมเริ่มติดต่อตั้งแต่ประมาณเมษายน 2550  แต่ติดขัดด้วยไม่มีเงิน  จึงได้แค่ไปดูที่และก็วนเวียนไปดูทุกปีด้วยมีความหวังและอยากได้เป็นของตนเอง ระหว่างที่ยังขายไม่ได้เจ้าของก็ให้คนในท้องถิ่นเช่าปลูกข้าวโพดไป  (แม้ผมซื้อมาแล้วก็ยังให้เขาปลูกข้าวโพดต่ออีก 1 ปี  เพราะเขาเตรียมเมล็ดพันธุ์ไว้แล้ว)   จนกระทั่งปีใหม่ มกราคม 2554  ผมไปเยี่ยมเจ้าของที่ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกดังกล่าว ทราบว่าที่ดินยังขายไม่ได้ และไม่ได้ขึ้นราคา  ประกอบกับผมมีเงินเหลือเก็บอยู่นิดหน่อย บวกกับเห็นช่องทางในการหาเงินกู้จาก ชพค. และสหกรณ์  จึงได้เอาเงินเก็บมัดจำไว้  ที่เหลือลงมือยื่นคำร้องขอกู้กับสหกรณ์บ้าง ธนาคารบ้าง ชพค.บ้าง  ท้ายที่สุดที่โหดที่สุดคือธนาคารพาณิชย์  และได้เงินจากแหล่งต่างๆ ดังนี้

  • จากสหกรณ์ ร้อยละ 75
  • จากเงินเก็บ  ร้อยละ 10
  • หยิบยืมจากญาติและเพื่อนที่สนิทสนม (ไม่มีดอกเบี้ย) ร้อยละ 15  (คืนหลังจากได้เงินอื่นมาภายใน 6 เดือน)

ครั้นช่วงกลางเดือนมีนาคม 2554 จึงไปโอนที่เป็นชื่อผมเองเรียบร้อย

        จากวันนั้นเป็นต้นมา  ผมจึงต้องวางแผนสำหรับการปลูกยางพารา

ความเห็น

ขอเสนอความคิดครับพี่ ฝากอนาคตไว้กับสิ่งไม่แน่นอนนะครับ ผมว่าแบ่งสัก 20 ไร่ ปลูกสวนป่าถ้ายางราคาตก  อย่างน้อยก็มีไม้ไว้ใช้สอยหรือขายครับ ระยะเวลา 10 ปีก็น่าจะเริ่มใช้ได้แล้วแล้วราคาคงไม่มีตกด้วย ส่วน 10 ไร่ปลูกไม้ผลที่กินได้ 2-3 ปีก็ได้กินครับ

สวนจินตนาการ

นำจินตนาการ มาผสานให้เป็นจริง

ตอบรวมกับหลายๆ ความคิดเห็นก่อนหน้านี้ด้วยครับ

ทำนาทำสวนอยุ๋ที่ http://gotoknow.org/blog/southern-agriculture/toc

ตอบรวมกับหลายๆ ความคิดเห็นก่อนหน้านี้ด้วยครับ  ขอบคุณครับในข้อเสนอแนะ  ความจริงผมไม่ได้ปลูกพืชเชิงเดี่ยวนะครับ  ที่ผมพูดเช่นนี้เพราะว่าผมคิดจากฐานกิจกรรมทางการเกษตรของผมทั้งหมด ผมทำทุกอย่างอยู่แล้วครับเพื่อบริหารความเสี่ยง  เพียงแต่ผมไม่ได้ทำในที่ดินแปลงเดียว  ทุกวันนี้ผมทำนาปีละ 10-15 ไร่ ครับ ผมไม่ต้องซื้อข้าวกินนะครับ ผมทำโรงสีข้าวกินเองด้วยเงินทุนประมาณเจ็ดหมื่น ขายได้ปีละหลายอยู่เหมือนกัน ผมปลูกต้นไม้ที่บ้านอีกจิปาถะครับ และปลูกเป็นสวนผสมผสานครับ มีลองกองประมาณ 10 ต้น  ส้มโอหอมหาดใหญ่ 16 ต้น ขาวแตงกวา 3 ต้น มะพร้าวน้ำหอม 7 ต้น มังคุด 8 ต้น กล้วยน้ำว้า+กล้วยไข่+กล้วยนางพญา อีกประมาณ 30 กอ ไผ่ตงอีก 12 กอ สละอีก 14 กอที่ไม่เคยได้กินลูก เพราะขี้เกียจผสมเกษร  ไม่นับพืชล้มลุกอีกตามฤดูกาล เช่น ข้าวโพด แตงโม  ผลไม้ทั้งหมดไว้กินเอง+แจก+เหลือขายครับ  ที่บรรยายมาทั้งหมดเพื่อให้เห็นว่าผมไม่ลืมแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงครับ  เพียงแต่ผมคิดในภาพรวมของกิจกรรมของผมทั้งหมดครับ  มีัอย่างเดียวที่ผมไม่ทำคือการเลี้ยงสัตว์ เพราะเคยเลี้ยงไก่เบตงในสวนยาง  เจอปัญหาเวลาเราไม่อยู่บ้านนานๆ ต้องฝากคนอื่น เป็นภาระ ทุกวันนี้เลยมีสัตว์เลี้ยเพียงหมา แมว และปลาคาล์ฟ  สัตว์มันอดไม่ได้ เจ็บป่วยต้องดูแล ไม่อยากทรมานมัน   ต่อแนวคิดที่ว่าทำไมไม่แบ่งโซน  มีหลายคนแนะนำมาก่อนแล้วครับ  การแบ่งโซนเหมาะสำหรับพื้นที่ที่เราอยู่ในแปลงนั้น ทะยอยทำไปเรื่อยๆ ปีละเท่าที่เรามีแรงจะทำ  แต่แปลงที่ผมทำนี้ต้องไม่ลืมว่าผมอยู่ห่างออกไปตั้ง 1,600 ก.ม. เพียงแต่ที่นั่นเป็นบ้านของภรรยา มีญาติโกโหติกาช่วยดูแลให้  การจัดการจึงควรจะทำแบบพรึบทีเดียวไงครับ  แนวคิดที่จะให้ปลูกสวนป่า ผมว่าต้นยางพาราก็เป็นต้นไม้ใช้สอยอยู่แล้วครับ  ต้นขนาดเส้นผ่า ศก. ประมาณ 1 ฟุต  ราคาไม้ยางพาราวันนี้ประมาณต้นละ 1,000 บาทแล้วครับ  แถมก่อนที่จะถึงวันขายลำต้น ได้น้ำยางเป็นผลตอบแทนครับ  แต่ไม้อื่นต้องรอเป็น 10-20 ปี จึงจะได้ใช้ประโยชน์  เคยมีคนปลูกสวนสักทอง  ระหว่างรอขายไม้ ไม่มีรายได้เลยครับ  แนวคิดเรื่องที่จะไม่ให้ปลูกยางเป็นพืชเชิงเดี่ยวผมจึงคิดจะปลูกสับปะรดและกาแฟไงครับ

ทำนาทำสวนอยุ๋ที่ http://gotoknow.org/blog/southern-agriculture/toc

เริ่มต้นเหมือนกันกับผมเลยครับ แต่ของผมตอนนี้ปลูกไปเรียบร้อยแล้วครับ อายุตอนนี้ยาง 3 ปีแล้วครับ แต่อยู่อำเภอด่านซ้าย จ.เลย เป็นที่ดิน ภบท.5  จำนวน 150 ไร่ หลังเกษียณอายุ คงจะไปอยู่ในสวนเหมือนกันครับ คงจะประมาณปี 65 ไล่ๆกันแหล่ะครับ



ที่ดินผมซื้อไว้เมื่อปี 50 ยังเป็นข้าวโพดอยู่ครับ(ภบท.5)



ปัจจุบัน ปี 55 อายุยาง 3 ปีแล้วครับ (ผมปลูกปี 52)


แซมด้วยกาแฟครับ



ใช้น้ำประปาต่อจากภูเขาครับ


 

เยี่ยมมากครับ พี่เริ่มปลูกกาแฟเมื่อไรครับ ผมขอเรียนรู้ด้วยคนนะครับ เช่นเรื่องพันธุ์ การให้น้ำ การบำรุงรักษา  แล้วยางเป็นพันธุ์อะไรครับ

ทำนาทำสวนอยุ๋ที่ http://gotoknow.org/blog/southern-agriculture/toc

แถวจังหวัดเลยยางRRIM 600 และ 251 ที่เขานิยมปลูกกัน แต่ที่เจริญเติบโตดีและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่คือ RRIM600 (ผมปลูกตามคนอื่นข้างๆครับ เพราะคนอื่นเขาโตใกล้จะกรีดแล้วครับ)สรุปคือส่วนมากปลูกRRIM600 ครับ กาแฟผมซื้อมาจากชุมพร(ญาติซื้อมาให้พันธุ์อปราปริก้าหรืออะไรผมไม่แน่ใจครับเพราะส่วนมากญาติจะเป็นคนดูแลให้ครับ เพราะผมทำงานที่กทม.หลายเดือนจะขึ้นไปดูสักที คงจะอยู่ประจำหลังเกษียณอายุ) การดูแลรักษายางและกาแฟเหมือนทางใต้ครับเพราะที่นี่สภาพอากาศคล้ายๆกันครับ

หน้า