ข้อคิดจากการเพาะปลูก

หมวดหมู่ของบล็อก: 

สวัสดีค่ะพ่อแม่พี่น้องบ้านสวนฯ ทุกคน

หายไปนาน    ในโอกาสที่อำนวย ก็ยังมหมกมุ่นอยู่กับการเพาะปลูกอยู่เหมือนเดิมค่ะ    มาชมกันว่าทำอะไรไปบ้าง 

หนึ่งในภารกิจที่ได้ทำในช่วงหยุดยาวปีใหม่ที่ผ่านมา   คือการตัดริดกิ่งไม้ ที่อยู่หน้าบ้าน มีต้นชมพู่มะเหมี่ยว   ฝรั่งไร้เมล็ดที่โดนเพลี๊ยกิน  เสาวรสที่เลื้อยไปทั่วลามไปถึงสายไฟฟ้า   ทำให้ต้นไม้ด้านล่างไม่เติบโต เพราะโดนบังแดด  เมื่อตัดแต่งกิ่งเสร็จ  ก็โล่งขึ้น แสงแดสามารถส่องลงไปถึงด้านล่าง

แต่ปัญหาที่ตามมาคือ  กองกิ่งไม้ใบไม้มากมาย   ถ้านำไปทิ้งที่อื่นก็จะไปสร้างปัญหาให้  เลยต้องย่อยให้เล็กลงเก็บใส่ถุงไว้  หลายสิบถุง 

ส่วนหนึ่งนำไปคลุมดินที่สวนใหญ่  และอีกส่วนหนึ่ง  รองก้นกระถางต้นไม้ที่จะปลูกและนำมาแปรสภาพเป็นดินหมัก  โดยเลียนแบบกลไกธรรมชาติ  คือนำดินที่ขาดธาตุอาหารผสมกับอินทรีย์วัตถุที่หาได้  เช่นเศษใบไม้  ปุ๋ยคอก  เศษวัสดุจากครัวเรือน   นำมาผสมๆ กัน  โรยด้วยน้ำหมักที่ผสมน้ำ+กากน้ำตาลลงไป เพิ้อเป็นอาหารแก่จุลินทรีย์ในน้ำหมัก  เมื่อจุลินทรีย์กินน้ำตาลหมดก็จะขยายปริมาณ  เร่งกระบวนการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุต่างๆ ให้เร็วขึ้น  หลังจากนั้นคลุกให้เข้ากัน

นำมาหมักไว้ในถุง   ทิ้งไว้ประมาณ 2  อาทิตย์จนหายร้อนจึงนำมาใช้ปลูกผัก 

เศษอาหารและของเหลือจากครัวเรือนนำมาหมักด้วยผงโบกาฉิ   ตามคำแนะนำของสมช.ตุ้ย  วิธีการตามลิงค์นี้ค่ะ http://www.bansuanporpeang.com/node/3935   ทำแล้วรู้สึกดี  ที่สามารถช่วยลดภาระให้แก่สิ่งแวดล้อม

 

ใบไม้ที่ร่วงหล่นรกหูรกตา  ก็เก็บรวบรวมมารองก้นกระถาง  ประมาณครึ่งหนึ่ง 

ปิดทับด้วยดินหมัก   ไม่ต้องใช้ดินมาก  กระถางจะได้ไม่หนัก สะดวกต่อการเคลื่อนย้าย  ถ้าดินยุบค่อยเติมใหม่

เศษซากกิ่งไม้ใบไม้ หรือแม้แต่ขยะสด   ถ้าเรามองเห็นคุณค่า  ก็สามารถแปรสภาพให้มาเป็นอาหารอันโอชะสำหรับพืชผัก

เมื่อก่อนผักที่ปลูกในกระถาง  ต้นจะไม่ค่อยใหญ่  แต่มาครั้งนี้  มีวี่แววของความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้

ผักกวางตุ้งใบอวบใหญ่ ตัดมาเฉพาะใบ   ส่วนต้นปล่อยไว้  แล้วใบใหม่ก็จะงอกออกมา  จนต้นไม่งามแล้ว จึงค่อยถอนออก

ผักคะน้า  ต้นเริ่มอวบอ้วน  ต่างจากที่เคยปลูกในครั้งก่อนๆ มาก

ใบโหระพาอิตาเลี่ยน  เห็นความเปลี่ยนแปลงทุกวัน  กลิ่นหอมมาก   อีกไม่นานจะได้ลองทำซอสใบโหระพาแล้ว

กระเจี๊ยบเขียว   เคยเพาะหลายครั้งไม่สำเร็จ  แต่คราวนี้งอกงามแล้วจร้า....

มะเขือเทศก็เช่นเดียวกัน  เพาะมา 4-5 ครั้ง ไม่เคยได้ทานผล   บางทีก็เหี่ยวเฉาไปเฉยๆ   บางทีออกดอกมากมาย  โดนฝนกระหน่ำ ดอกก็ร่วงไป  หรือบางทีติดผล แต่ก็โดนแมลงเจาะไช แต่มาคราวนี้   ดอกออกเยอะพอควร   ใช้ฮอร์โมนไข่และหัวปลีเร่งและบำรุงดอก เริ่มติดผลให้เห็นแล้ว    และถ้าวันใดฝนทำท่าจะตก  เราก็ยกกระถางเข้าชายคา   แต่ถ้าไม่ทัน ก็ช่วยไม่ได้ 

บางส่วนเริ่มทะยอยสุก  

ต้นนี้  คือ มะเขือเทศ Sungold  หนึ่งกระถาง  เพาะกล้าเพียงหนึ่งเมล็ด  ดูลำต้นสมบูรณ์เปล่งปลั่ง  เริ่มติดผลให้เห็นแล้วค่ะ  หวังว่า เราคงได้ลิ้มรสลูกๆ ของเธอน๊ะ 

ชิโซะแดง  (Red  Perilla) ก็โตวันโตคืน   เปล่งประกายความงามให้เห็น  ต้นนี้ชอบน้ำและชอบแดด ไม่มีโรคและแมลงมารบกวน

 

มะเขือพวง

มันแซง ลองปลูกในกระถาง

 ผักสลัดคอสเขียว 

ลองปลูกในกระถางใบน้อย ก็งอกงามดี

แตงกวาญี่ปุ่นกำลังเลื้อย 

ต้นเฉาก๊วยแผ่กิ่งก้านงามมากๆ

ข้าวที่ลองปลูกในกระถางก็สุกแล้ว  นำมาตาก

เมื่อย้อนนึกกลับไปในอดีตที่เพาะอะไรไม่ค่อยสำเร็จ  จนพาลคิดไปว่า เป็นคนมือร้อน  คงไม่เหมาะกับการเพาะปลูกแน่ๆ  มาถึงวันนี้ ความคิดเริ่มเปลี่ยนไป  ได้ข้อสรุปว่า จริงๆ แล้ว เป็นเพราะเรายังไม่เข้าใจเหตุและปัจจัยนั้นๆ  ดีพอ   และที่สำคัญ คือ ต้องมีความเพียร ดังเช่นเจ้าแมลงตัวนี้  จะเห็นมันเพียรพยายามบินมาเจาะรูที่ไม้ไผ่ท่อนนี้บ่อยๆ

ความสำเร็จเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ปรารถนา   แต่ในอีกมุมหนึ่งความล้มเหลวก็เป็นบทเรียนที่ดีให้เราได้เรียนรู้เช่นกัน

  เศษใบไม้แปรสภาพมาเป็นธาตุอาหารในดิน  หล่อเลี้ยงพืชผักให้งอกงาม....และวันนี้กลายมาเป็นอาหารให้แก่เรา  ขอบคุณจากใจน๊ะจ๊ะ

มะเขือเทศอบในน้ำมันมะกอกกับซอสใบโหระพา (Pesto Sauce)

มะเขือเทศยัดใส้อบกับไข่คน และขนมปังปิ้งหน้าซอสใบโหระพา

 

ส้มตำมะเขือเทศ 

ปลาร้าสับกับผักแว่น แซ่บสุดๆ

ขอขอบคุณบ้านสวนฯแห่งนี้ และเพื่อนสมช.ทุกท่านสำหรับการแบ่งปัน  ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนค่ะ

 

ความเห็น

เห็นแล้วมีกำลังใจเพิ่มอีกเยอะค่ะ วันนี้เพิ่งกลับมาจากการการอบรมพัฒนาที่ดินตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพิ่งได้รับความรู้เรื่องน้ำหมักต่างๆ การใช้ประโยชน์จากพด. ของกรมพัฒนาที่ดิน ทำให้เข้าใจสิ่งที่พูดคุยกันในเวบมากขึ้น แล้วจะพยายามสร้างผลงานติดตามรุ่นพี่ไปค่ะ 

ขอบคุณค่ะ

ยินดีมากเช่นกันค่ะ ที่สิ่งที่เขียนไปสามารถสร้างกำลังให้คุณอรพินท์ได้   การได้เริ่มลงมือทำในสิ่งที่เราเชื่อมั่น  และเพียรพยายามทำอย่างเต็มกำลัง ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ก็ถือว่าประสบความสำเร็จไปกว่าครึ่งแล้วค่ะ  สู้ๆ นะคะ  จะรอชมผลงานค่ะ 

เชื่อครับว่าเปลี่ยนแปลงได้จริง ต้องใช้ความพยายาม อดทน ช่างสังเกต และเวลา ผมมายังไม่ถึงขั้นนี้เลย ขอชื่นชมครับ

..โอกาสไม่ได้มีทุกวัน..

 

ขอบคุณมากค่ะ ก็คิดเหมือนกับคุณเสินค่ะ แต่ที่เห็นต่าง ก็คือ คุณเสินจะถ่อมตัวมากไป จากผลงานที่ปรากฎ ต้องเรียกท่านปรมาจารย์ด้านการเพาะปลูกแล้วค่ะ

คุณมูนไลท์ปลูกอะไรก็งามไปหมด  เคล็ดลับเป็นอย่างนี้นี่เอง   ทุกอย่างมันก็ขึ้นอยู่กับดิน  ดินดีอุดมไปด้วยธาตุอาหารก็จะทำให้พืชที่ปลูกเติบโตดี  เคล็ดลับที่ไม่ลับแต่ยากที่จะทำได้   พี่ต้องพยายามให้มากกว่านี้อีก

ขอบคุณค่ะ คุณจุ๋ม  ดินเป็นหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ   แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ด้วย  เช่นเรื่องน้ำ  แสงแดด  อุณหภูมิ   และปุ๋ยเสริม  รวมทั้งพืชแต่ละชนิดก็มีความต้องการปัจจัยนั้นแตกต่างกัน    ฟังดูเหมือนยุ่งยาก  แต่ถ้าเรามีความรู้และความเข้าใจเพียงพอ   ผลที่คาดหวังก็มีทางเป็นไปได้สูงค่ะ  ขอเป็นกำลังใจให้คุณจุ๋มด้วยนะคะ      

สวยงามมากๆค่ะ  เศษอาหารและของเหลือจากครัวเรือนที่หมักมีกลิ่นเหม็นไหมค่ะ อยากทำแต่กังวลเรื่องกลิ่น และกลัวว่ามีสัตว์เช่นหนูมารบกวน

 

อ๊อดเคยอ่านเจอในหนังสือคู่มือ การทำปุ๋ยหมักของชาวตะวันตก ซึ่งเขาไม่แนะนำให้เราเอาเศษอาหารมาหมัก นอกจากเศษพืชผัก ผลไม้เท่านั้นค่ะ อย่างเช่น เศษขนมปัง เนื้อสัตว์ ข้าว ก้างปลา อะไรพวกนี้ เขาจะไม่นิยมเอามาหมัก เขาบอกว่ามันจะไปเพิ่มเชื้อโรคในดิน แล้วก็ทำให้พืชผักเป็นโรค รวมทั้งอาจจะมีสัตว์ไปคุ้ยเขี่ยส่งกลิ่นเหม็นรบกวนบ้านข้างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวันอะไรประมาณนั้น แต่ถ้าหากจะทำปุ๋ยหมักแบบธรรมชาติจากเศษเนื้อสัตว์ก็สามารถทำได้ เช่น ปุ๋ยปลา โดยการนำปลาเน่าที่ทิ้งจากโรงงานมาหมักให้ได้กรรมวิธีที่ถูกต้อง และปลอดภัยจากเชื้อโรค ซึ้งเราสามารถที่จะหมักเองก็ได้  โดยใช้หัวปลาที่แม่ค้าเขาตัดทิ้งตามท้องตลาดทั่วไปมาหมักก็ได้ค่ะ ส่วนวิธีการหมักนั้นสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางกูเกิ้ล หรือดูคลิปวีดีโอได้ทาง ยูทูบ เซิสเป็นภาษาอังกฤษคำว่า "Fish Organic Fertilizer"  หรือเซิสคำว่า "Making Your Own Fish Emulsion" ก็ได้ค่ะ

ปล. เศษพืชผักจากครัวเรือน เช่น เปลือกกล้วย เปลือกแตงกวา แอปเปิ้ล เปลือกผลไม้ เปลือกแตงโม อ๊อดจะหั่นชิ้นเล็กๆ แล้วก็เอาไปฝังดินเลยค่ะ มันก็ค่อยๆเปื่อยไปเอง แต่ระวังเจ้าหมาที่บ้นไปคุ้ย...ต้องให้แน่ใจว่ามีรั้วรอบขอบชิดแน่นหนาพอ แต่ก็มีพวก แรคคูนมาขุดคุ้ยบ้างบางครั้งค่ะ  โดยเฉพาะเวลาฝังเปลือกแตงโม กับฝัง อโวคาโดเน่าๆ มันได้กลิ่นมันจะคุ้ยกระจายเลย แต่อย่างอื่นไม่มีปัญหา เรื่องกลิ่นไม่มีเลยค่ะ เพราะไม่รดน้ำ ถ้าดินเปียกอาจจะส่งกลิ่น เพราะเน่า แต่ถ้าดินแห้งๆ ตามกลไกของธรรมชาติ มันจะปกป้องซึ้งกันและกัน ย่อยสลายเร็วมากๆ บางครั้ง ฝังไว้ 3 วัน ลองไปขุดดูก็ไม่มีแล้วค่ะ ย่อยสลายเร็วมากๆ ไม่มีกลิ่นเลย (บอกเล่าจากประสบการณ์ตรงที่เคยทำนะค่ะ)

ถ้าจะทำหลุมเปียกก็ได้ค่ะ คือแยกกองขยะเลย แบบว่ เราขุดเป็นวงกลว้างๆหน่อย แล้วก็ฝังเศษผัก ผลไม้ลงไป แล้วก็เอาดินกลบ รดน้ำให้ชุ่ม ให้เปียกเลย แล้วก็เอาใส้เดือนมาเลี้ยง ใส้เดือนจะกินเศษผลไม้เศษผัก แล้วก็ขี้ เยี่ยวออกมา เป็นปุ๋ยชั้นดีอีกต่อนึง ไม่มีเรื่องกลิ่นแน่นอนค่ะ ไม่ต้องกังวลเรื่องกลิ่นเหม็นเน่า (แยกเศษอาหารเศษเนื้อออกก่อนนะ ไม่งั้นเหม็นแน่) แต่ทำหลุมเปียกแบบนี้ ดินต้องชื้นอยู่ตลอดเวลานะค่ะ ไม่งั้นใส่เดือนมันตาย ถ้าไปตลาด หรือซุปเปอร์มาเก็ต ก็ลองเข้าไปถามผู้จัดการดูว่า มีมะละกอเน่าที่ขายไม่ออกใหม ถ้ามีก็ขอเขากลับบ้านเลย เอามาหั่นเป็นชิ้นๆ แล้วก็ฝังดินให้ใส้เดือนมันกิน รับรองเดือนเดียว ได้ใส่เดือนตัวเป้งๆเลย

ขอบคุณคุณอ๊อดมากค่ะ ที่มาช่วยตอบคำถามคุณอ้อยหวาน 


เคยอ่านเจอเหมือนกันค่ะ  ประเด็นข้อกังวลเรื่องการนำเศษอาหารมาหมัก    ต้องขอโทษด้วยนะคะที่บางประเด็นอาจจะไม่ได้ลงรายละเอียดเท่าที่ควร   


คือที่บ้านไม่มีบริเวณที่เป็นที่ดิน   อยากกำจัดเศษเหลือจากครัว  (90% จะเป็นเศษผักผลไม้   อีก 10% จะเป็นของคาว )    เคยคิดจะเลี้ยงไส้เดือนเหมือนกัน   ได้ลองถามข้อมูลผู้เลี้ยงแบบอาชีพมาแล้ว  เลยเปลี่ยนใจ เพราะ สำหรับตัวเอง คิดว่าไม่สะดวกในการบริหารจัดการหลังจากนั้น  จริงๆ ก็คือ ถ้ามันออกลูกออกหลานออกมาเยอะ กลัวค่ะ    ก็เลยมาลงที่การทำดินหมัก  ที่ทำนี้ลองทำสองแนวทาง  คือ แนวที่หมักด้วยเศษพืชผักอย่างเดียว ตามที่คุณอ๊อดกล่าวมา อีกแนว คือผสมกับเศษอาหารด้วย   เพราะฝ่ายหลังเห็นว่า ไม่น่าจะมีปัญหา   เนื่องจากดินในธรรมชาติก็เกิดจากการผุพังของหินกับอินทรีย์วัตถุทั้งที่เป็นซากพืชซากสัตว์ทับถมกัน  โดยมีจุลินทรีย์ตามธรรมชาติเป็นตัวย่อยสลาย  ฟังดูก็มีเหตุผล  และการที่มีอินทรีย์วัตถุที่หลากหลาย ก็จะทำให้ดินมีธาตุอาหารหลายๆ อย่างเป็นการปรับค่าความสมดุลระหว่างความเป็นกรดและด่าง เลยถือโอกาสทดลองตามแนวทางที่สองไปด้วยเลย  แต่จะใส่เศษซากอาหารคาวในสัดส่วนที่น้อย เศษพืชผักในปริมาณที่มากกว่าค่ะ  อย่างที่บอกที่บ้านไม่มีบริเวณ เลยต้องหมักไว้ในถุงที่มีรูระบายอากาศ เพื่อให้อ็อกซิเจนผ่านเข้าไปได้ จะได้ช่วยเร่งการย่อยสลายให้แก่จุลินทรีย์   คราวนี้ ลองมาดูผลกันค่ะ    ระหว่างการหมักทั้งสองแนวไม่มีกลิ่นรบกวน    เพราะถ้ามีเพื่อนบ้านคงโวยวาย  แต่ถุงตามแนวทางที่สอง  พบว่าจะมีมดและมีหนอนอยู่บริเวณด้านนอก (ถ้าจะมีปัญหา ก็คงอยู่ตรงนี้)  สำหรับแนวที่หนึ่งไม่มีปัญหา  สองอาทิตย์ผ่านไป ลองเปิดดูทั้ง สองแนว ปรากฎว่าวัตถุย่อยสลายได้ดีค่ะ   (ทั้งนี้ทั้งนั้น อินทรีย์วัตถุที่จะนำมาหมักควรย่อยให้มีขนาดเล็กลงก่อน  จะช่วยให้การย่อยสลายเร็วขึ้น ตามที่คุณอ๊อดบอกค่ะ)


คราวนี้มาถึงประเด็นที่คุณอ้อยหวานถาม  คงจะหมายถึง การหมักโบกาฉิ ในถังหมักสีฟ้าใช่ไหมค่ะ   ตอนที่หมักทดลองสองแนวเหมือนกันค่ะ  แนวแรกใส่แต่อินทรีย์วัตถุที่เป็นพืช  ปิดทับด้วยผงโบกาฉิเป็นชั้นๆ ไป  ทำไปประมาณครึ่งถัง    ลองใส่เศษที่มีซากอาหารคาวผสมอยู่ลงไปด้วยปิดทับด้วยผงโบกาฉิ  ระหว่างนั้นพบว่ามีหนอนปรากฏอยู่บริเวณขอบถัง  เหมือนกับที่หมักดินในถุงตามแนวที่สอง (ถ้ากังวลกับจุดนี้ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ค่ะ) ทำให้นึกถึงเรื่องการหมักปลาร้า เคยทราบมาว่า  เวลาหมักปลาร้า  บางทีก็จะมีหนอนอยู่บริเวณขอบปากไห  เลยคิดว่าสาเหตุน่าจะคล้ายๆ กัน     สำหรับคำถามที่ว่า จะมีหนูมารบกวนหรือไม่    คำตอบคือ ไม่มีค่ะ เพราะปิดฝา  ส่วนเรื่องกลิ่น   มีแน่นอนค่ะ   แต่จะไม่ใช่กลิ่นของเน่า   เป็นกลิ่นเปรี้ยวๆ  คล้ายนมเปรี้ยว  ถ้ามีกลิ่นรุนแรง เหม็นเน่า แสดงว่าจุลินทรีย์น่าจะตาย  เคยถามเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดินค่ะ ว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราหมักโอเคแล้ว  คำตอบก็คือ กลิ่นต้องเป็นกลิ่นออกเปรี้ยวๆ ค่ะ  อย่างไรก็ตาม คุณอ้อยหวานอย่าเพิ่งเชื่อทีเดียวนะคะ ลองศึกษาจากบล็อกของคุณตุ้ยดู  ตามลิงค์ด้านบน  ถ้าอยากลองแต่ยังไม่มั่นใจ  ทำในปริมาณน้อยๆ ก่อนก็น่าจะดีนะคะ       


ปล. ทั้งสองอย่างลองใช้แล้ว  ทดสอบโดยใส่ไส้เดือนลงไปด้วย     ประมาณสองสามอาทิตย์หลังจากนั้น  ลองขุดดินในกระถางที่ใส่กากที่หมักโบกาฉิลงไป  ดูว่าไส้เดือนจะเป็นอย่างไรบ้าง  ปรากฎว่ายังสบายดีค่ะ  ตัวอวบอ้วนเชียว


สุดท้ายขอบคุณคุณอ๊อดที่มาช่วยคอมเม้นต์  และขอบคุณคุณอ้อยหวานที่ยกประเด็นข้อสงสัยค่ะ

ชื่นชมผลงานค่ะงามๆๆ

 

 

 

หน้า