เที่ยว แล้ว เล่า 3 (สุดรอยสงคราม ... ข้ามไปกินหมาก ...?)

หมวดหมู่ของบล็อก: 

    เก็บความสวยงามไว้เบื้องหลัง (อ่านความตอนที่แล้วได้ตรงนี้ครับ)  คณะของเรามุ่งสู่เบื้องหน้า ... ทางรถไฟ รอยสงคราม ...

        ที่สุดเราก็มาถึง ... หลังจอดรถเรียบร้อย ก้าวลง หมุนตัวกลับ มุมเหมาะให้เก็บภาพบ่งชี้ที่หมาย

     เครื่องโทร ฯ เคลื่อนที่ ถูกล้วงออกมาใช้งานตามปกติ ตามแบบฉบับผู้ไร้กล้องคุณภาพอีกแล้วครับ ... บางท่านเห็น ปุ๊บ ... ร้อง ...

          “อ๋อ ... เราก็ไปมาแล้ว ... ”

     แม้ท่านที่ยังไม่เคยเยือน เห็นแล้วอาจบอก

          “อ๋อ ... เคยเห็นภาพมาแล้ว แถมยังถูกให้เรียนในวิชาประวัติศาสตร์ ด้วยซ้ำ”

ตรงนี้ไงครับ ... เจดีย์สามองค์ ด่านเดินทัพประวัติศาสตร์

 ลูกสั่งให้ยืนคู่ ... เก็บภาพไว้เป็นหลักฐาน

 

     อันการศึกระหว่าง สยาม VS พุกาม  แม้เราไม่เคย ยล แต่ก็ เคยยิน จากเนื้อหาที่เรียนในวิชา ประวัติศาสตร์ แม้จะสอบได้คะแนนเฉียดฉิว ตก ... ว่า ตรงนี้คือเส้นสำคัญในการเดินทัพ เส้นทางหนึ่ง แต่จุดประสงค์ที่ จะพาท่านไปดูคราวนี้ ไม่ใช่ร่องรอยการเดินทัพด้วยเท้า และใช้ ช้าง ม้า เป็นพาหะ ... อีกทั้งไม่ใช่เส้นทางศึกของไทย

     หากแต่เป็นเส้นทางศึก ที่สร้างขึ้นครั้งสงครามโลกครั้งที่สอง โดยแรงงานเชลยสงครามฝ่ายสัมพันธ์มิตร ภายใต้การควบคุมของกองกำลังฝ่ายพันธ์มิตร คือญี่ปุ่น

 

 

 

 

     ร่องรอย เส้นทางรถไฟสายมรณะ ณ สุดแดนสยามประเทศ คือที่นี่ ... ด่านเจดีสามองค์

 

 

 

 

 

 

ทางรถไฟ ขนาดความยาวเดียวกับที่วางไว้ ณ ช่องเขาขาด (“Hellfire Pass”) ถูกวางไว้เป็นอนุสรณ์หน้า ‘ศาลาสันติภาพ ไทย ญี่ปุ่น’

 

     ถ่ายเก็บภาพไว้เสร็จ เดินไปยังด่านตรวจคนเข้าเมือง ด้วยคิดว่า ไหน ๆ ปล่อยทุกข์เบาแล้ว ปล่อยหนักออกมาด้วย จะเป็นไรไป ... อ้อ ... ม่าย ... ช่าย ...

     ไหน ๆ มาทั้งที ก็อย่าให้เสียเที่ยว เข้าไปดูอะไรใน ‘เมียนม่าร์’ ซะหน่อย เป็นผลพ่วงน่าจะดี ... จึงเตรียมความพร้อม โดย เดินไปหมายปล่อยทุกข์เบา ณ ห้องสุขา ...

ระหว่างทางผ่านไปปล่อยทุกข์ ...เห็นป้ายนี่ ก็เก็บภาพมาด้วย

เสร็จปล่อยทุกข์ ... ติดต่อเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ที่นี่

 

     เมื่อได้รับอนุญาต ... คณะกลับมาที่รถ เพื่อจะขับเข้าไปกันเอง ... เด็กหนุ่ม คนหนึ่ง มุ่งหน้ามายังกลุ่มของเรา พร้อมข้อเสนอ นำเที่ยว ด้วยภาษาไทยกลาง ชัดถ้อย ชัดคำ

        ... อัตราค่าบริการ เรอครับ เขาบอกว่า “สุดแต่ผู้รับบริการจะพอใจ” ...

          เรารับข้อเสนอโดยไม่อิดออด ต่อรอง เพราะกำลังมองหาอยู่พอดี ... ก็ไปไม่ถูกนี่ครับ

     ทันทีที่ผ่านแผงเหล็กเลื่อนกั้นรถเข้า – ออก ... เราต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการขับ จากขับชิดซ้าย เป็น ขับชิดขวา ทันที ... เพราะได้รับการกำชับจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมาก่อนหน้าแล้ว ทั้งมัคคุเทศก์ บอกย้ำอีกครั้ง

     เราขับรถไปบนถนนดิน ที่ค่อนข้างเรียบ และกว้างพอรถเล่นสวนกันได้ ตามคำแนะนำของผู้นำเที่ยว โดยไม่ได้ออกปากถามว่าจะไปไหน

     จากการพูดคุย เพื่อรู้จักมัคคุเทศก์ ระหว่างนั่งรถ ... จึงทราบว่า เขาเป็นคนพื้นถิ่นชาวพม่า ... แต่ก่อนหน้านี้ เคยมาทำงานในประเทศไทย หลายปี จึงพูดภาษาไทยได้คล่อง

นี่เป็นสถานที่แรก ที่มัคคุเทศก์นำคณะเรามาชม

 

     เขาบอกว่า วัดนี้สร้างมาประมาณ 30 ปี แล้ว ชื่อ “วัดเสาร้อยต้น” ... ซึ่งคุยไป คุยมา ข้าพเจ้าจึงรู้ว่า ที่เขาบอกมาในตอนแรก แม้เขาพูดจริง ... แต่ไม่หมดจริง

ก็ดูส่วนหนึ่งของจำนวนเสา ที่ถ่ายจากบางมุม ซีครับ

     และ ขณะคณะตื่นตา อยู่กับจำนวนเสา ... เสียงมัคคุเทศก์คนเดิมนั่นแหละ บอกกับเราว่า

         “จริง ๆ แล้ว เสาของวิหารนี้ มี 115 ต้น” ... ไหมล่ะ ที่บอกว่าไม่หมดจริงก็ตรงนี้แหละ ... ขาดไปตั้ง 15 ต้นแน่ะ

ภายใต้สัมผัส ถึงความอลังการ ข้าพเจ้าก็ยังเก็บภาพโคนต้นเสาไว้

 

แล้ว ... มุมกล้อง ก็ไล่ขึ้นไปเก็บภาพยอดเสา และความงดงามของเพดาน

 

     ดูกันจุอารมณ์ พอควร ... มัคคุเทศก์ แนะนำให้เราขึ้นไปดูชั้นบนของวิหาร โดยให้ลูกสาวของข้าพเจ้าเปลี่ยนกางเกงขายาว ที่สรวมเพื่อความสะดวกในการขับรถระหว่างเดินทาง เป็น ผ้าถุง ที่มีผู้นำมาให้เช่ารออยู่ เสียก่อน ... เพราะที่นี่เขาไม่อนุญาตให้สุภาพสตรี สวมกางเกงขึ้นไปชั้นบนวิหาร

ชั้นบน ประดิษฐาน พระพุทธรูป ... ซึ่งด้านหลังองค์พระ

ประดับ ประดา ด้วยไฟ ... กระพริบ หมุน ... หลากสี สวยงาม

     เสร็จจากกิจกรรมไหว้พระ มัคคุเทศก์ ก็ชวนเราเดินทางต่อ ...

     ผ่าน พระอุโบสถ ที่ตั้งอยู่ทางด้านขวา ... ทุกคนในคณะ ได้ตื่นตากับรูปปั้นสงฆ์อุ้มบาตร ที่วางดุจเดินตามหลังกันเป็นทิวแถว สุดตา ...

ภาพนี้แหละครับ

 

     ได้รับข้อมูลจาก มัคคุเทศก์ ว่า รูปปั้นพระบิณฑบาต ที่เห็นนั้น มีทั้งหมด 128 รูป ... เขาสาธยายเพิ่มว่า เจตนาปั้นไว้เป็นเขตรั้วพระอุโบสถ

     ข้าพเจ้าคิดอยู่คนเดียวลึก ๆ ในขณะนั้นว่า ... ‘ต่างจากวัดในบ้านเราลิบ ... บ้านเราเขาสร้างกำแพงอิฐถือปูน ฉาบทับ ... ซุ้มประตู ดูแข็งแรง ประหนึ่งกันคนในออก คนนอกเข้า ... แต่ที่นี่เขาเปิดให้แสวงบุญ แสวงธรรม ฟรี’

     จากจำนวนรูปปูนปั้น ... ข้าพเจ้าฉุกคิด ... จึงถามถึงจำนวนสงฆ์ ที่จำพรรษาขณะนั้น ... มัคคุเทศก์ให้ข้อมูลว่า มีจำนวน 120 รูป

     จากจุดนี้ มองเบื้องลึกไกลไปทางหลังภาพ บนยอดเขา ที่มีภูผาตระหง่าน ประหนึ่งยามผู้พิทักษ์ ... จะเห็นยอดเจดีย์ และ ตุง บนยอดเสา

         คืออะไร ? .... มาครับ ไปดูกัน ....

     ทางขึ้น สู่จุดที่เห็นซึ่งกำลังจะนำท่านไปดูนั้น มีสองทาง ให้เลือก ... คือ ทางบันได ที่พุ่งตรง ๆ ขึ้นไป อย่างภูเขาทองสมัยก่อน ซึ่งข้อมูลจากมัคคุเทศก์ บอกว่ามี จำนวนขั้นบันได 227 ขั้น ... มีหลังคาคลุมตลอดเส้นทาง และมีศาลาให้พัก เป็นช่วง ๆ

     แต่คนแก่ ไม่เลือกเพราะ ขณะนั้นฝนโปรยเม็ดอยู่ แม้จะไม่หนักก็เหอะ ... ฮึ ๆ ๆ ... ก็แก้ตัวไปงั้น ๆ แหละ ที่จริงไม่ได้นำไม้คานไปด้วย จึงขี้เกียจ ‘หอบ’

      จึงเลือกนั่งรถยนต์ขึ้นไป แม้จะต้องขับวนหน่อย ก็ไม่เป็นไร ... ใช่จะขับเองซะเมื่อไร

 

 

 

 

     ถึงแล้วครับ จุดที่เห็นจากไกล เมื่อกี้ ... นี่ ลานจอดรถ กับ ตุง ที่เห็นมาจากเบื้องล่าง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

     ยอดเจดีย์ที่เห็น ก็นี่แหละครับ ... เจดีย์ชเวดากอง เขาจำลองมา ครับ

 

 

 

 

 

     หลังจากคณะ นมัสการพระพุทธรูป ในเจดีย์ เสร็จ เราลงจากยอดเขา ... มัคคุเทศก์บอกเราว่า จะนำไปเที่ยวตลาดอำเภอพญาตองซู  ...

 

 

 

 

     ถึงแล้วครับ ตลาดพญาตองซู ... เขาบอกให้เราเลี้ยวซ้าย ตรงสามแยกที่เห็นข้างหน้า

 

 

 

 

 

 

 

 

     เราจอดรถไว้ริมถนน ... ที่เห็นนี่แหละ ขอย้ำว่านี่ “ถนนในตลาด ตัวอำเภอ” ล่ะครับ

     เห็นไกล ๆ ข้างหน้า เขาบอกว่า “ที่ว่าการอำเภอ”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

       ลงจากรถ เราเดินผ่านหน้าร้านค้าต่าง ๆ ย้อนกลับไปสามแยกที่ผ่านมาเมื่อครู่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

     เดินท่อง ชมตลาด ซึ่งขายทั้งของสด ของชำ

 

 

 

 

 

 

     จากที่สังเกต ... มีสินค้าประเภทหนึ่ง วางขายกันแทบทุกร้าน ...

“หมาก” และ ส่วนผสมสำหรับกินกับหมาก ครับ

 

     ท่อง ทั่วตลาด ... แล้วกลับสู่ที่จอดรถ สิ่งเร้าจากสินค้าที่เห็นวางขาย ดึงให้เราแวะ ... ?

 

 

 

     แผง “ขายหมาก” เจรจา ต้าอ้วย ... (แหะ ๆ ๆ ผ่านมัคคุเทศก์ พูดเองได้ซะเมื่อไรละ) ... ได้ความว่า เขามีให้เลือกว่า จะเอา หมากหวาน หรือ หมากเมา

     ป้า สั่งหมากหวาน หนึ่งชุด 10.- บาท

 

 

 

 

 

 

 

 

 

     ข้าพเจ้า ขอถ่ายส่วนผสม เครื่องหอม มาด้วย ที่เห็นนี่แหละครับ ... ไม่ว่าจะหมาก หวาน หรือเมา เขาก็ผสมเจ้านี่ หมดแหละ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

     อ้อ ... ถ่าย ส่วนผสมสำหรับหมากหวาน มาด้วย คือ ... “น้ำผึ้ง” ครับ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

               นี่ครับ หมากหวาน ที่ป้าซื้อ ....

                   แต่หายไปอยู่ในปากป้า ... คำหนึ่ง ละ

 

 

 

 

 

 

      เห็นหมาก และคนขาย ของพม่าแล้ว นึกถึงหมากที่ขายในสนามบินใต้หวัน ขึ้นมา ตงิด ๆ เลยเอามาเทียบให้ดู ... แต่คนขาย ไม่ได้เอามาเทียบนะครับ ... คุณเธอคงไม่ยอมมาด้วยเป็นแน่ ฮึ ๆ ๆ ๆ

นี่ครับ หมาก ที่ขายในสนามบินใต้หวัน

 

นี่หละ … Presenter หมากพม่า ... ที่สะท้อนมาว่า หมากพม่า หอม หวาน ... หมากจีน ฝาด ฮึ ๆ ๆ ๆ

 

       เสร็จกิจ ตะลอน ตลาด ... มัคคุเทศก์ เสนอเมนู อาหารพม่า ของร้านชื่อดัง ของที่นั่นให้เราเข้าลองลิ้ม ...

 

 

           หน้าตา รูปลักษณ์ ... ล่อตัณหา ... แต่รสชาติ ไม่สนอง “รัดดวง” (ไม่เป็นที่ชื่นชอบ) ของข้าพเจ้า ทุกจาน จืด ...

     ที่เห็นในถ้วย คาช้อน ล้อมด้วยผัก เขาบอกว่าน้ำพริก (ฟรี) ... แต่ข้าพเจ้าว่า เหมือนแกงไตปลาลืมใส่พริก อย่างไร ก็อย่างนั้นเทียว

 

 

 

 

 

     เสร็จสิ้น การลิ้ม ลอง อาหาร เรากลับ ... หยุดรถ ส่ง มัคคุเทศก์ ที่ด่านก่อนข้ามเขตแดน พร้อมสินน้ำใจตอบแทนบริการ หนึ่งใบสีม่วง ...

     ไปแจ้งการกลับเข้าประเทศ ต่อเจ้าหน้าที่ ... รับบัตรประจำตัวประชาชนคืน

     จุดหมายต่อไป ... บ้านเรา ที่แสนสุขใจ ละครับ ... คงไม่ต้องบอกละนะครับ ว่า “จบ”

             “สวัสดีครับ”

ความเห็น

   ตามมากันเฮอ ... นึกหวายังติด ฮันนิมูนทัวร์ 5555

      ลุงตอนเด็ก ๆ ต้องหลักกิน ม้ายพันหนัน โทกตีมือ หวา แหล็นเชีัยน

        มาก พมา ห้อม หว้าน หร้อย กินแหล่ว หนึกถึง ยาอมมากห้อม หยี่ฮ้อ นึง ... น้ากิน คับ น้ากิน

        มาก ไต้หวัน ฟาด ม้ายหร้อย แต อดเส่อม้ายไหว้ ... 55555

หน้า