ตามล่าหาน้ำบาดาล 2 (Finding Groundwater 2)
สวัสดีเพื่อนสมาชิกบ้านสวนพอเพียงทุกรับท่านค ความเดิมจากตอนที่แล้ว หลังจากได้สอบถามเพื่อนบ้านและอ่านข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับพื้นที่แหล่งน้ำบาดาล ก็ทำให้พอมั่นใจเกิน 80% ว่าพื้นที่บริเวณแห่งนี้น่าจะมีน้ำใต้ดิน (บาดาล) อยู่ ประกอบกับเห็นสภาพการณ์วิกฤตภัยแล้งที่มาเยี่ยมเยือนแล้ว (ทำให้ผมตัดสินใจได้ไม่ยากเลย ที่เหลือคือทุบกระปุกออมสินแล้วตั้งงบประมาณเพื่อการนี้เท่าไร เอิ๊ก- เสียตังค์อีกแล้ว) อีกอย่างผมก็คิดว่าการหาแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคเป็นความจำเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน (Infrastructure) ครับ บ้านที่สร้างไว้ก็จวนเสร็จแล้วจำเป็นต้องหาน้ำสำหรับอุปโภค ไม่ว่าจะเป็นน้ำจากสระที่ขุดไว้ (ต้องพัฒนาระบบกรอง) น้ำจากบ่อน้ำตื้นหรือจากบ่อบาดาลก็ต้องหาแล้วล่ะครับ
หลังจากตัดสินใจจะเลือกใช้วิธีเจาะน้ำบาดาล (เพราะคิดว่าในระยะยาวน่าจะดีกว่า) ถัดมาคือการสอบถามข้อมูลว่ามีใครรับเจาะน้ำบาดาลบ้าง จากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นพบว่าหน่วยราชการจังหวัดสุโขทัยไม่มีเครื่องเจาะน้ำบาดาล (Amazing! ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ! เพื่อนสมาชิกลองคิดดูว่าราชการจะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งได้แค่ไหน ผมนี่กลุ้มใจแทนเกษตรกรเลย -- การเจาะน้ำบาดาลของส่วนราชการ จ.สุโขทัย เช่น อบต. จะขอเครื่องจักรจากจังหวัดกำแพงเพชรหรือพิษณุโลกมาทำการเจาะให้ครับ) จากนั้นผมได้ลองคุย ๆ ดู 3 เจ้าซึ่งก็ว่าราคาและวิธีแตกต่างกันไป ผมสมมติเป็นเจ้าที่ 1, 2 และ 3 แล้วกัน
- ชาวบ้านที่รับเจาะเครื่องขนาดเล็ก คิดที่เมตรละ 400 บาท (ไม่เจอไม่คิดเงิน)
- มืออาชีพด้านเจาะบาดาล เครื่องเจาะขนาดใหญ่ คิดเหมา 80,000 บาท (ไม่เจอไม่คิดเงิน)
- ส่วนราชการเครื่องเจาะขนาดใหญ่ 120,000-140,000 บาทขึ้น (เห็นว่าพื้นที่ติดเชิงเขา –หินเยอะเลยไม่รับเจาะ -คาดว่าคงจะมีงานเยอะด้วยครับ)
ก่อนจะไปถึงงานเจาะขอเพิ่มเติมรายละเอียดการหาแหล่ง(ตา)น้ำของแต่ละวิธีทั้งที่ได้อ่านศึกษาและดูมารวม ๆ กัน ก่อนอื่นหลักการ (ทฤษฎี) ที่ท่านแนะนำไว้ว่าบริเวณที่มีแหล่งน้ำใต้ดินนั้น น้ำใต้ตินก็จะระเหยขึ้นมาบนดิน ดังนั้นให้สังเกตบริเวณนั้นจากต้นไม้ใหญ่ใบเขียว(น้ำหล่อเลี้ยงต้นไม้) จอมปลวก (ความชื้นทำให้จอมปลวกนำดินมาสร้างจอมปลวกได้) หรือนำกะลามะพร้าววางไว้หนึ่งคืนเป็นตารางสี่เหลี่ยม (หลาย ๆ ใบ) รุ่งเช้ามาเปิดกะลาดูใบไหนมีความชื้นก็คว่ำไว้ ใบไหนแห้งก็เอาออกไป รวมทั้งหมดที่เห็นกะลาคว่ำก็จะเป็นเส้นทางน้ำใต้ดิน
ถัดมาที่เห็นคนเจาะน้ำบาดาลใช้หาแหล่งน้ำคือ การใช้ดาวน์ซิง (Dowsing Rod) ลักษณะเป็นแท่งเหล็ก (นิยมทองแดง) เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มม. งอเป็นรูปตัว L ยาวประมาณ 40-60 ซม. จำนวน 2 เส้น ตรงด้ามจับก็ใช้ฉนวนเช่นท่อพีวีซี เดินหาไปถ้าพบบริเวณตาน้ำ แท่งเหล็กก็จะเคลื่อนเข้าหากัน ก็ว่ากันว่าใช้กันมานมนานใช้ค้นหาแหล่งน้ำ แหล่งแร่ ประวัติก็มหัศจรรย์ดีครับ
(อธิบายเพิ่มเติม: คือผมเรียนมาในสายวิทยาศาสตร์ แต่ก็เคยอ่านเรื่องลึกลับพิศวงอะไรประมาณนี้ตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อไม่ได้เจอหรือไม่ได้มีโอกาสได้ใช้ก็อาจจะไม่ได้สนใจ ปัจจุบันสายวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาแรงธรรมชาติ 4 ชนิด ประกอบด้วย
- แรงโน้มถ่วง (Gravity Force) น่าจะเห็นในชีวิตประจำวันเวลาทำของตกร่วงลงพื้นดิน น้ำขึ้น-น้ำลง
- แรงแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Force) น่าจะเห็นในชีวิตประจำวันเช่นการหมุนมอเตอร์ การส่งคลื่นโทรทัศน์ วิทยุ โทรศัพท์เป็นต้น
- แรงนิวเคลียร์แบบเข้ม (Strong Nuclear Force) แรงยึดพันธะโมเลกุลหรืออะตอม (หรือควาร์ก)
- แรงนิวเคลียร์แบบอ่อน (Weak Nuclear Force) แรงที่ทำให้ดวงอาทิตย์ส่องแสง การเปลี่ยนโปรตอนเป็นฮีเลียมเป็นต้น
อันนี้ไม่เกี่ยวกับ แรงลม แรงเสียดทาน ฯลฯ แบบที่เรียกกันนะครับ อย่าหาว่าผมเพ้อเจ้อเลยนะครับ ชีวิตงานประจำต้องใช้ทฤษฎีด้านบน (โดยเฉพาะแรงแม่เหล็กไฟฟ้า) นี้อธิบายให้คนเข้าใจ แต่ผมก็ยังสงสัยปรากฏการณ์ Dowsing ที่ทำให้มันดึงเข้าหากันเหมือนกัน (เรื่องบางอย่างเราเข้าใจแต่เราก็จับไม่ได้เช่น ดูการเล่นกล ก็จับกลเขาไม่ได้) อาจจะมีแรงชนิดอื่นที่วิทยาศาสตร์ยังไม่รู้จัก หรืออาจจะมีความจริงที่ซ่อนอยู่ดังเช่น เราเคยเรียนว่า ภายในอะตอมนิวเคลียสมีนิวตรอนและโปรตอน ปัจจุบันเรารู้ว่ามีสิ่งที่เรียกว่าควาร์กแทนที่ เฮ้อเดี๋ยวจะไปไกลพอดีกว่า
การหาแหล่งน้ำบาดาลอีกแบบหนึ่งซึ่งอาจจะมีหลักวิชาการที่รองรับคือใช้ วิธีธรณีฟิสิกส์ โดยการสำรวจวัดสภาพความต้านทานไฟฟ้า (Resistivity Method)
ถ้าท่านใดยังจำวิทยาศาสตร์มัธยมได้ น่าจะพอรู้จักกฏของโอห์ม (Ohm’s Law)
E = IR
E = แรงดันไฟฟ้าหน่วยเป็นโวลต์ (V)
I = กระแสไฟฟ้าหน่วยเป็น แอมป์
R = ความต้านทานไฟฟ้าหน่วยเป็นโอห์ม ( Ω )
หลักการหาน้ำคือการวัดสภาพความต้านทานไฟฟ้า (ฉนวน) หรือความนำไฟฟ้า (ส่วนกลับฉนวนแล้วแต่จะเรียก) โดยการให้แรงดันไฟฟ้าแรงสูง (High Volt) ผ่านขั้วไฟฟ้า (Electrode) กระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านดินซึ่งปรกติจะมีน้ำแทรกซึมอยู่ก็จะให้กระแสไหลผ่านได้จำนวนหนึ่งซึ่งจะวัดกระแสที่ไหลผ่านได้แล้วนำมาแปลความหมาย
ความยากของวิธีนี้จะขึ้นอยู่กับการแปลความหมาย ทั้งในเรื่องชนิดดินและหิน องค์ประกอบของน้ำรวมทั้งสารประกอบในน้ำ อันนี้จะยากเกินไปสำหรับผมในการอธิบายครับ คงต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญมีความรู้เฉพาะด้านครับ
หลังจากได้ข้อมูลก็ตัดสินใจโดยให้เจ้าที่ 1 เริ่มงานเจาะครับ ดังรูปแรกด้านบน
ครั้งหน้าจะอธิบายขั้นตอนการขุดเจาะน้ำบาดาลที่เห็นแล้วกันนะครับ สวัสดีครับ
- บล็อกของ TuayFoo
- อ่าน 5136 ครั้ง