นาโยน # 2 เตรียมแปลงและโยนข้าว
สวัสดีค่ะทุกท่าน มาอัพเดทความคืบหน้าของ นาโยน ตอนที่สองค่ะ ว่าโดยการเตรียมแปลงและการโยนข้าว
1.เตรียมแปลงด้วยการไถครั้งที่ 1 เรียกว่า ไถ่กลบ 3 สัปดาห์ก่อนปลูก จากนั้นใส่ปุ๋ยคอก 5 กระสอบเพื่อบำรุงดิน
2. เริ่มเอาน้ำเข้านา 1 อาทิตย์ก่อนวันโยน เพื่อหมักดินให้นิ่มก่อนการไถ่แปร และเป็นการกระตุ้นให้วัชพืชเกิด โชคดีที่ฝนตกพอดี เลยไม่ต้องสูบน้ำเข้านา ผักบุ้งเริ่มงอกงามในนา
3. ช่วงเช้าของวันที่กำหนดโยนข้าว ก็ไถครั้งที่ 2 เรียกว่า ไถ่แปร บางที่ก็เรียกว่า ทำเทือก แต่ไม่ว่าจะเรียกอะไร จุดประสงค์ของการไถ่ครั้งที่ 2 เพื่อ ตีดินให้ละเอียด เกลี่ยดินให้เท่ากันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
เกลี่ยและปรับดินประมาณ 1 ชั่วโมงนิดๆ ก็เสร็จเรียบร้อย
4.หลังการไถ่แปร ปีนี้ลองหว่านมูลค้างคาว 1 กระสอบ เพื่อบำรุงดิน (ความคิดของพ่อ) ควบคู่กับการหว่าน บอระเพ็ดที่ผ่านการทุบและสับเป็นชิ้นเล็กๆ แล้ว (ความคิดแม่ ปีที่แล้วใส่แล้วรดเชื้อโรคได้เยอะ) ปริมาณ 5 กิโล ทั้งนี้เพื่อฆ่าเชื้อรา และเชื้อโรคในนา ลดการเกิดโรคในข้าว
บอระเพ็ดต้องเอามาทุบและสับเป็นชิ้นเล็กๆ ยาวประมาณ 1 นิ้ว
คนนึงหว่านบอระเเพ็ด อีกคนก็หว่านมูลค้างคาว
5. ตอนนี้แปลงนาก็พร้อมสำหรับการโยนแล้ว เราก็นำกล้าข้าว อายุ 15 วันออกจากพื้นที่เพาะชำ เพื่อนำมาโยนในแปลงที่เตรียมพร้อมแล้ว
6. เดิมทีเมื่อปีที่แล้ว ก่อนโยนจะดึงต้นกล้าออกมาจากถาดแล้วใส่ตระกร้า แล้วค่อยนำต้นกล้าเหล่านั้นมาโยน แต่มันมีเหตุบังเอิญคือ ต้นกล้าที่ถอนไว้หมดและต้องรีบโยน พ่อเลยนำถาดกล้าที่ยังไม่ได้ถอนมาพาดใส่แขนและค่อยๆ ถอนกล้าที่ละต้นแล้วโยน ปรากฎว่ามันสะดวกกว่าการถอนใส่ตระกร้าแล้วนำมาโยน ปีนี้เราก็เลยได้เทคนิค โดยถือถาดต้นกล้าข้าว โดยเอาถาดพาดกับแขนซ้ายในแนวขวาง และค่อยๆ ดึงต้นกล้าข้าวจากจุดกึ่งกลางถาดก่อน 1-2 ต้น แล้ว ปา หรือ โยน ไปด้านหน้า และถอยหลังปาไปเรื่อยๆ จนสุดอีกฝั่งของคันนา
7.ระยะความห่างของต้นกล้าแต่ละต้น ประมาณ 2 คืบ และบางจุดที่ดินแข็งหรือเป็นที่เนินก็ใช้วิธีปักดำบ้าง
8.เทคนิคการโยนต้นกล้า ทำได้หลากหลาย จะหยิบที่ละต้นแล้วปาไปด้านหน้า หรือจะหยิบหลายต้น แล้วโยนออกไปข้าวหน้า ก็ได้ แล้วแต่ถนัด ตุ้มดินในข้าวจะถ่วงให้ด้านที่เป็นดินตกลงมาที่แปลงเสมอ ในกรณีตุ้มดินน้อยทำให้ต้นข้าวเอียงหรือไม่จมดิน เราก็อาจช่วยโดยนำต้นกล้านั้นมาปักดำ หรือจะปล่อยไปก็ได้ เดี๋ยวต้นข้าวก็สามารถตั้งตัวได้เองภายใน 3-7 วัน
9.หากตรงไหนของแปลงที่มีน้ำมากก็ต้องระบายน้ำออก ให้ระดับน้ำพอเปียกแฉะ ทั้งนี้เพื่อให้ต้นข้าวได้หาอาหารจากหน้าดิน และได้ตั้งตัว
ท่อระบายที่ทำเป็นแบบฉุกเฉิน ถ้าจะให้ดีควรเป็นท่อขนาดใหญ่ประมาณ 6 นิ้ว จะระบายน้ำได้เร็วกว่านี้
บทสรุปของนาโยน ข้าวจะยังล้มอยู่เมื่อโยนเสร็จ คนที่เคยทำนาดำมาก่อนอาจจะรับไม่ค่อยได้ที่ข้าวล้ม และไม่เรียงเป็นแถวเป็นแนว ปีที่แล้วแม่ของดีจัง ก็เป็น คือ รับไม่ได้กับการที่ข้าวล้ม ไม่ตั้ง ถึงขั้นต้องมาจับต้นข้าวตั้ง เหมือนมานั่งดำใหม่บางต้น แต่ท้ายที่สุดก็ดำใหม่ไม่ไหวเลยปล่อยมันไป และค้นพบว่าในที่สุดข้าวที่ล้มอยู่ เขาจะตั้งตัวได้เอง เพราะต้นข้าวจากนาโยนมีรากข้าวที่แข็งแรง และการที่รากข้าวลอยอยู่บนผิวดิน ยิ่งทำให้รากข้าวหาอาหารได้ง่ายขี้น และท้ายที่สุดเขาจะตั้งตัวได้เอง
สุดท้าย การทำนาโยนรอบนี้มีเพื่อนๆ ที่เป็นอาสาสมัครมาร่วมทำนาโยนด้วย 3 คน ซึ่ง 2 คนไม่เคยทำนามาก่อน และหนึ่งในนี้เป็นชาวญี่ปุ่นที่มาทำงานในเมืองไทยเกิน 10 ปี อีก 1 คนเคยทำนาดำมาก่อน แม้จะมีประสบการณ์ต่างกันแต่ทั้งสามคนต่างมุ่งมั่น ท่มเท สนุกสนานในการทำนาโยน ซึ่ง 3 คนก็มี 3 สไตล์ในการโยน ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นาโยน ไม่ยากอย่างที่คิด คนไม่มีประสบการณ์ก็ทำได้ แน่นอนว่าการโยนเป็นเพียงหนึ่งส่วนของการ "ทำนา" เพราะยังมีขั้นตอนการดูแลอย่างไร ให้ข้าวเติบโต รอดพ้นจนถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว แต่อย่างไรก็ตาม การทำนาโยน ก็เป็นแรงบันดาลใจ ให้คนที่ทำนาไม่เป็น มีกำลังใจ ริเริ่มในการทำนา และทำให้คนทำนาเป็น มั่นใจว่า สามารถเป็นคำตอบของการทำนาได้
เราคงต้องมารอดูกันต่อนะคะว่า ต้นข้าวที่ล้มอยู่จะลุกขึ้นมายืนต้น ตั้งตรงได้หรือไม่ และเราจะสามารถควบคุมระดับน้ำในนาและวัชพืชได้หรือไม่ แล้วพบกันตอนต่อไปค่ะ
- บล็อกของ Deejang
- อ่าน 7525 ครั้ง
ความเห็น
พี่หนาน
29 มิถุนายน, 2016 - 10:53
Permalink
Re: นาโยน # 2 เตรียมแปลงและโยนข้าว
ขอขอบคุณบันทึกที่...
๑. เขียนบันทึกได้งดงาม มีลำดับขั้นตอนอย่างเหมาะสม
๒. มีภาพสวยงามประกอบได้อย่างลงตัว
๓. มีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
๔. มีความรู้สอดแทรกอย่างหลากหลาย
๕. มีความรักความสามัคคีที่แสดงออกให้เห็นอย่างลงตัว
๖. อยากถามว่า ต้นไม้ที่อยู่กลางนา คือ ต้นอะไรครับ
ขอบคุณอีกครั้งครับผม
Deejang
29 มิถุนายน, 2016 - 21:50
Permalink
Re: นาโยน # 2 เตรียมแปลงและโยนข้าว
ขอบคุณคะพี่หนาน ต้นไม้ที่ปลูกไม้เป็นเรื่องของอนาคตค่ะ คืออีกสัก 5-10ปี ที่แปลงอาจจะไม่ได้ปลูกข้าวเลยอยากปลูกต้นไม้ไว้ ซึ่งเดิมปลูกบนคันนา แต่ตอนหลังมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงนาจากแปลงเล็กมาเป็นแปลงใหญ่ คันนาหายไป ต้นไม้เลยอยู่กลางนาค่ะ เพื่อไม่ให้ต้นไม้บังแสงเกินไปก็ตัดกิ่งออกบ้างเหมือนกันค่ะ
ธีระชัย_พรหมคีรี
29 มิถุนายน, 2016 - 11:35
Permalink
Re: นาโยน # 2 เตรียมแปลงและโยนข้าว
ได้ความรู้แต่ไม่มีนา
ดีใจที่เกิดมาเป็นคน จึงเลือกที่จะทำและไม่ทำในสิ่งใดๆใด้ดีกว่า
ริมสวนยาง
29 มิถุนายน, 2016 - 13:17
Permalink
Re: นาโยน # 2 เตรียมแปลงและโยนข้าว
ความรู้ใหม่ เลยค่ะ น้องดี ...น่าสนุก อย่างที่คิดไว้จริงๆ ..มีเพื่อนๆสนใจ มาลงนาด้วย ดีมากๆค่ะ...(โยน แล้วถอยหลัง นี่เอง) ได้ภาพประกอบ เลยร้อง อ๋อ....ยินดีด้วย จ่ะ--รอติดตามชม อีกสัก 15 วัน คงสวยงาม ลำต้นตรง นะ...
Deejang
29 มิถุนายน, 2016 - 21:52
Permalink
Re: นาโยน # 2 เตรียมแปลงและโยนข้าว
ขอบคุณค่ะพี่บัว เพื่อนๆ สนุกกันใหญ่ค่ะ ตื่นมาตอนเช้าเมื่อยแขนมากค่ะ
TuayFoo
29 มิถุนายน, 2016 - 14:41
Permalink
Re: นาโยน # 2 เตรียมแปลงและโยนข้าว
ว้าว คุณดีจังเริ่มปลูกข้าวแล้ว ขอบคุณที่สละเวลาเขียน Blog ให้ดูให้เห็นครับ
ไร่สุโขทัยนี้ดี ไร่นี้มีแต่ความสุข
Deejang
29 มิถุนายน, 2016 - 21:52
Permalink
Re: นาโยน # 2 เตรียมแปลงและโยนข้าว
ขอบคุณค่ะ ด้วยความยินดีค่ะ
kandee
30 มิถุนายน, 2016 - 17:12
Permalink
Re: นาโยน # 2 เตรียมแปลงและโยนข้าว
นาสวยงามมากค่ะคุณดี นี่ขนาดยังไม่เห็นข้าวเขียวๆก้รู้สึกงามตามธรรมชาติ พื้นน้ำมีน้ำดูชุ่มฉ่ำ สดชื่น มีต้นไม้
มีบรรยากาศของชาวนา แต่เป็นชาวนารุ่นใหม่ มันดูทันสมัยมาก เป็นอาชีพที่ทันสมัยที่สุดในยุคนี้ยุคหน้า จงภูมิใจค่ะ ผู้ผลิตพืชอาหารของโลกจะอยู่รอด และมีความสุขกว่าอาชีพใดๆ ปรบมือให้ค่ะ^^
ความสุข..อยู่ที่ใจ
Deejang
1 กรกฎาคม, 2016 - 18:09
Permalink
Re: นาโยน # 2 เตรียมแปลงและโยนข้าว
ขอบคุณมากค่ะ คุณกานดี ภูมิใจที่ได้เป็นชาวนายุคใหม่ค่ะ
เสิน
1 กรกฎาคม, 2016 - 13:13
Permalink
Re: นาโยน # 2 เตรียมแปลงและโยนข้าว
ทุกอย่างลงตัว ดูแลปุ๋ย - น้ำให้ดี ได้ข้าวแน่นอนครับ.. ที่น่าเป็นห่วงคือ ต้นสัก ไม้ป่ามาเป็นไม้น้ำ อาจปรับตัวไม่ได้
..โอกาสไม่ได้มีทุกวัน..
หน้า