แหกกฎ ไคโตซาน ปรับสูตรตามสภาพแวดล้อม

หมวดหมู่ของบล็อก: 

ในระหว่างที่กำลังหาข้อมูลน้ำหมักเพื่อจำกัดเชื้อรา ในคลิปที่ดูก็อังเอิญพูดถึงประโยชน์และการทำไคโตซาน แต่น่าเสียดายที่จำชื่อคลิปนั้นไม่ได้ว่าชื่ออะไร เพราะเปิดเยอะมาก แต่ก็เป็นการเปิดมุมมองและความสนใจ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยได้ยินชื่อไคโตซานมาบ้างว่าดี ต่อคน พืช สัตว์  แต่รู้ว่าแพง และเป็นเรื่องไกลตัวเลยไม่ค่อยได้ใส่ใจ  แต่ครั้งนี้เพราะความสนใจเปลี่ยนมุมมาที่การเกษตร พอเห็นว่าอะไรช่วยพืชให้แข็งแรง ทนโรคได้ ก็เลยสนใจ

เนื่องจากตนเองก็ไม่ได้เรียนสายวิทย์ ศัพท์แสงสูตรเคมีบางครั้งก็อ่านไม่เข้าใจ ดังนั้นก็จะเล่าให้ทุกท่านฟังแบบบ้านๆ ตามความเข้าใจของผู้เขียนนะคะ "ไคโตซาน" เป็นสารที่ได้จากการย่อย ไคติน ซึ่งสามารถพบได้ใน เปลือกกุ้ง กระดองปู แกนปลาหมึก และอื่นๆ เช่น ราบางชนิด และเปลือกหอย แต่ที่นิยมเอามาทำส่วนมากจะมาจาก 3 แหล่งดังที่กล่าวมา

ประโยชน์ของไคโตซาน คือ

1. ยับยั้งและสร้างความต้านทานโรคให้กับพืช  ยับยั้งสาเหตุของโรคพืช ที่เกิดจาก เชื้อไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อราบางชนิด หรือก็คือการรักษาพืชที่ติดโรคแล้วนั้นเอง และสร้างความต้านทานโรคให้กับพืชที่ไม่ติดเชื้อ กระตุ้นระบบป้องกันตัวเองของพืช ทำให้พืชผลิตเอนไซม์และสารเคมีเพื่อป้องกันตนเองหลายชนิดพืชจึงลดโอกาสที่จะ ถูกคุกคามโดยเชื่อสาเหตุโรคพืชได้

2.สร้างความต้านทานของพืชต่อแมลงศัตรูพืช  โดย ไคโตซาน จะกระตุ้นให้มีการผลิตสารลิกนินและแทนนินของพืชมากขึ้น พืชสามารถป้องกันตัวเองจากการกัด – ดูด ทำลายของแมลงศัตรูพืช จะสังเกตุว่าต้นพืชที่ได้รับ ไคโตซาน จะมีแวกซ์เคลือบที่ผิวใบ

3.ช่วยเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดิน ส่งเสริมการเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดิน (ที่มา : kaitozan)

ชั้นตอนการทำ 

ที่มา : (Jounal of Scientific & Industrial Research vol.63,jan 2004, pp20-31)

แปลตามความเข้าใจ คือ เปลือกกุ้ง ปู แกนปลาหมึก --> ตำ/สับ/บด ให้เล็กลง ---> แยกโปรตีนออก ด้วยโซดาไฟ --> แช่กรดเกลือ เพื่อสะลายแร่ธาตุอื่น เช่น แคลเซียม เพื่อให้ได้สารไคตินที่บริสุทธิ์มากที่--->ล้างน้ำและนำไปตากให้แห้ง--->กำจัดสี--->ได้สารไคติน--->กำจัดหมู่อะเซทิลด้วยโซดาไฟ-->ล้างน้ำและนำไปตากให้แห้ง--> แล้วสิ่งที่ได้ก็คือ ไคโตซาน เมื่อจะนำไคโตซานไปใช้ก็ให้ละลายในกรดน้ำส้ม หรือน้ำสั้มสายชู นั่นเอง

อ่านแล้วดูยากใช่ไหมคะ ดีอ่านหลายรอบก็ไม่เข้าใจ จนได้ดูคลิปที่น้องๆ นักเรียนทดลองแยกสานไคโตซานจากกุ้ง และจากหอยเชอร์รี่เพื่อชะลอการเน่าของมะนาว ค่อยเริ่มเข้าใจว่าทำยังไง

อ่านมาจนถึงตอนนี้ก็ดูช่างเป็นวิชาการเหลือเกิน อย่ากระนั้นเลย เรามาเข้าสู่สูตรการประยุกต์ใช้ ตามสไตล์คนที่คิดแล้วลองทำ ด้วยการลองผิดลองถูกดีกว่า  คือตอนที่ไปอ่านมา ดูคลิปมา มันก็มีสูตรที่ประยุกต์มากมาย ถ้าเราจะเอาให้ได้ไคโตซานบริสุทธิ์ ไม่มีสารอื่นเจือปนมาก็ควรทำตามสูตรด้านบนที่กล่าวมา  พอมาพิจารณาถึงสภาพของตัวเองที่ อยู่คอนโด เลิกงานดึก เสาร์อาทิตย์ ก็ไม่ได้อยู่บ้าน เพราะไปสวน คำถามคือจะเอาเวลาไหน ไปหาสารประกอบเหล่านั้น  ดังนั้นสูตรทางการ ตัดไปก่อนเลย คงทำได้ลำบาก และนอกจากนี้ มันก็เกิดคำถามที่สองตามมา ว่าทำไมต้องได้ สารบริสุทธิ์  ได้สารไคโตซานแบบมีอย่างอื่นเช่น แคลเซียมปนด้วยไม่ได้เหรอ ในเมื่อที่สวนของเราก็มีต้นไม้ที่ต้องการแคลเซียม เช่น ดอกซ่อนกลิ่น เป็นต้น เลยนำมาสู่การทดลองทำสูตร ดังนี้

1.เอาเปลือกกุ้ง ปู มาแช่น้ำส้มสายชูเลย  มีคนที่ทำแบบนี้แล้วเอาไปรดกุหลาบแล้วได้ผล (pantip) แต่เหมือนคนที่ทำเขาใช้เปลือกกุ้งสด แล้วแช่น้ำส้มสายชู แต่ของเรา เป็นปูที่นึ่งสุกแล้ว ก็ลองดูว่ามันจะได้ไหม  เมื่อแทะปูเสร็จ แทนที่กระดูกและกระดองปู จะถูกทิ้งลงถังขยะ เราก็เก็บมาลงถังน้าส้มสายชูซะเลย  ขั้นตอน คือ เมื่อทานเสร็จก็นำเศษปูไปล้างทำความสะอาด และผึ่งให้แห้งประมาณ 1 แดด (ปูนึ่งแดดเดียว 55) จากนั้นก็นำมาตำ เพื่อให้ขนาดมันเล็กลง จะได้ย่อยสลายง่าย  แต่จากสภาพของครกที่ทุกท่านเห็น มันไม่ค่อยสมดุลย์กันเท่าไหร่ ครกนี้มีไว้แค่ตำน้ำพริก เมื่อต้องมาตำปู มันก็เลยเป็นแบบนี้ คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มันเป็นอะไรที่เร็วมาก เริ่มจากบังเอิญได้เจอเรื่องไคโตซาน ส อ พอมาวัน พุธที่ 6 น้องก็โทรมาบอกว่าเย็นนี้มีปูนึ่งนะ อิชั้นก็คิดในใจ เสร็จเรา การทำไคโตซานจะได้เริ่มแล้ว อุปกรณ์ทุกอย่างหาเอาเท่าที่มี ซื้อแค่น้ำสมสายชู

เปลือกปูแดดเดียว

เอามาทำให้ละเอียด

แต่จากครกเล็กก็ละเอียดได้แค่นี้

เติมน้ำส้มสายชูให้ท่วม

เป็นอันเสร็จสูตรที่ 1 รอสัก 2-3 เดือนเดี๋ยวมารายงานต่อค่ะ

2.บางสูตรบอกว่าให้ใช้ พด และกากน้ำตาล หรือน้ำตาลทราย เพื่อช่วยในการย่อยสลาย งั้นเราก็มาลองสูตรทำเองตามสภาพ ที่ไม่รู้ว่าจะไปหา พด ได้ที่ไหน  อย่ากระนั้นเลย เอายาคูลล์ กะน้ำตาลทรายขาวไปก่อนละกัน

กล่องก็ไม่มี ได้กล่องคิตตี้น่ารักมา ก็จำยอม เพื่่อการทดลอง

ใส่น้ำส้มสายชูลงไป

ใส่ยาคูลล์ 2 ขวดและน้ำตาล สีก็จะดูขาวขุ่นขึ้น ไม่ใส

ถ้าเทียบกันจะเห็นว่า สูตร 2 ฝั่งซ้ายมือจะมีสีขาวขุ่นกว่าสูตร 1

ผ่านมา 4 วันก็คือวันนี้ลองไปเปิดฝากล่องแล้วดมกลิ่นดู ปรากฎว่าสูตร 2 มีกลิ่นหอม ในขณะที่สูตร 1 มีกลิ่นคาวเล็กน้อยตามธรรมชาติ ไม่ถึงกับเหม็น ไม่มีกลินเน่า แค่นี้ก็สบายใจไปนึงเปลาะ  แต่ยังไม่หมด ด้วยความที่ไปอ่านเจอ บางคนบอกว่าถ้าใส่สับปะรด จะช่วยหย่นระยะการหมักจากปี เป็นไม่กี่เดือนได้  งั้นเราจะรออยู่ใย ก็เพิ่มเลยซิคะ

มันก็เลยออกมาหน้าตาเป็นแบบนี้

3.บางสูตรบอกว่าต้องมีน้ำขี้เถ้า เพราะขี้เถ้าเป็นด่าง (เดาว่าใช้ขี้เถ้าแทนโซดาไฟ) เพื่อแยกโปรตีนออก  แล็วสภาพอย่างอิชั้น จะไปหาขี้เถ้ามาจากไหนคะ ในระหว่างลงแอร์พอตลิงค์ เพื่อกลับคอนโด ก็เห็นร้านหมูปิ้ง ได้แต่คิดว่า ไปขอซื้อขี้เถ้าจากพี่เขาจะดีไหม เพราะยังไงเราก็เป็นลูกค้าเขาอยู่แล้ว แต่ถ้าขอแบบนั้นมันก็ยังร้อนอยู่ อย่าเลย แแล้วในระหว่างนั้นก็ำยายามคิดว่า อะไรที่มีสภาพเป็นด่างคล้ายขี้เถ้า ถ่าน?? ได้หรือเปล่า แล้วก็นึกขึ้นได้ว่า เคยซื้อถ่านสุขภาพที่ทำจากไผ่รวกมาไว้ เพื่อดับกลิ่นและจับแสงจากหน้าจอมือถือ ทั้งหลาย คิดได้อย่างนั้น รอยยิ้มเจ้าเล่ห์ก็มา อันว่าถ่านที่พูดถึงนั้น มันเป็นของอิชั้น 4 ชิ้น และของน้องอีก 4 ชิ้น และในสูตรเขาบอกว่าถ้าใช้ขี้เถ้าก็ต้อง 1 กก แล้วท่านคิดว่าท่าน 4 ชิ้นจะพอไหม งั้นเราก็รวบมันมาทั้ง 8 เลยแล้วกัน  กลับมาถึงคอนโด เก็บเรื่องงานที่เครียดๆ วางไว้ แล้วไปทำสูตร 3 ดีกว่า ว่าแล้วก็เอาถ่านมาตำให้ละเอียด เพื่อให้ได้น้ำที่มีสภาพเป็นด่างคล้ายขี้เถ้า ก็คิดเอาเองว่ามันแทนกันได้  พอน้องกลับมาถึงบ้าน มันก็เริ่มโวยวายว่า แกทำลายข้าวของอีกแล้วใช่ไหม ซึ่งมันหมายถึงถ่านนั้นเอง เราก็อย่าได้แคร์ ได้แต่ยิ้ม พยักหน้าและตำถ่านต่อไป

ได้น้ำถ่านมาทั้งหมด 4 ขวดก็พอสำหรับสูตร 3

 

รอบนี้มีกุ้งมาเพิ่ม เหตุเพราะไปไหว้พระแถวฉะเชิงเทรา แวะกินข้าว และกุ้งเผาก็คือเมนูนึ่ง แทะเสร็จก่อนกลับก็บอกน้องพนักงานว่า รบกวนช่วยห่อเปลือกกุ้งให้ด้วยนะคะ น้องเขาก็ไม่ว่ากระไร แต่เขาก็อาจแปลกใจ ว่ามันจะเอาไปทำอะไร๊ เราก็ อย่าได้แคร์ค่ะ หนักแน่นในปณิธาน (ดูดีเนอะ)

เลยบอกน้องไปว่า ต่อไปนี้นะ ถ้าไปกินข้าวที่ไหน แล้วมีปู กุ้ง แกห่อเปลือกกลับมาด้วย ชั้นจะเอามาทดลอง น้องมันก็ได้แต่ทำหน้า เอือมระรา แต่ก็สนับสนุนอย่างดี

หลังจากได้เปลือกกุ้งปูมาแล้ว ก็ล้างทำความสะอาดและตากไว้ 1 แดด

แล้วเอาไปแช่น้ำถ่าน ทิ้งไว้ 1 วัน เพื่อสลายโปรตีน (คิดว่านะ เทียบเคียงเอา) เมือวันนี้ที่ต้องมาล้างน้ำถ่าน ก็ได้ค้นพบว่ากลิ่นเน่ามันช่างรุนแรงเหลือเกิน ซึ่งไม่เคยเจอจาก 2 สูตรก่อนหน้านี้ อาจเป็นเพราะ เปลือกปู กุ้ง มันโดนน้ำเลยทำปฏิกริยากัน ได้แต่บอกตัวเอง รอบต่อไปคงไม่ใช้สูตรนี้ หรือถ้าจะใช้ก็ต้อง ได้วัสดุมาแล้วแช่เลย คอยเอาไปตากแดด (แต่แช่เป็นวัน วันก็เน่าได้เหมือนกันนะคะ ยังคิดไม่ตก) 

แม้จะล้างหลายน้ำมากกลิ่นก็ยังแรงอยู่ เลยต้องปรับสูตรให้คล้ายคลึงกับสูตร 2 เนื่องจากเห็นแล้วว่าสูตร 2 มีกลิ่นหอม กลิ่นจะได้ไม่รบกวนมากนัก เพราะอยู่คอนโด พื้นที่น้อย แค่ล้างเปลือกทั้งหลายที่กลิ่นแรง แม้จะทำที่ระเบียงด้านนอก กลิ่นยังโชยเข้ามาในห้อง สิ่งที่เพิ่มเข้ามาในสูตรนี้คือ โยเกิร์ต

และเนื่องจากไปแวะ mini xx แถวคอนโดแล้ว แต่ไม่มีถังขาย เลยเปลี่ยนเป็นขวดน้ำแทนไปก่อน มันก็เลยออกมาเป็นแบบนี้

    

อีก 2-3 เดือนเราจะมาทดสอบกันว่า มีไคโตซานอยู่ในน้ำหมัก ทั้ง 3 สูตรหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ถือว่าได้น้ำหมักไปใช้ ถ้ามีก็ยิ่งดีใหญ่ ไม่มีความเสี่ยงอะไร ลงทุนก็ไม่แพง น้ำสัมสายชู ประมาณ 100 บาท ยาคูลล์ 4 ขวด และ โยเกิร์ต 1 ถ้วย  แต่สิ่งที่จะได้กลับมาคือการเรียนรู้ ภูมิปัญญาที่จะเกิดขึ้นกับตัวเรา  อยากบอกทุกท่านว่าอย่ากลัว กับการเริ่มที่จะทำอะไรบางอย่าง เริ่มเล็กๆ ค่อยๆ ทำ เรียนรู้และพัฒนาต่อไป การทำเกษตร คือ การทดลองทางวิทยาศาสตร์ : มันมีเหตุผล มันมีที่มาที่ไป มันมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ควบคู่กับการมองโลกแบบสังคมศาสตร์  มันไม่มีอะไรแน่นอนตายตัว ขึ้นอยู่กับบริบท ขอให้สนุก มีความสุขกับการทำเกษตรค่ะ

 

https://www.facebook.com/dreamforestfarm?ref=hl

ความเห็น

ติดตามอยู่ค่ะไปถึงไหนแล้ว

ทำแล้วได้ผลเป็นอย่างไงครับ

 

หน้า