อดีต..กับ..ปัจจุบัน ที่กาญจนบุรี
อดีตคือบทเรียนราคาแพงสำหรับป้จจุบันและอนาคตของมนุษย์ชาติ แต่เราก็ไม่เคยสนใจบทเรียนจากอดีตเหล่านี้ มนุษย์เรายัง ‘ย่ำ’ และ ‘ย้ำ’ รอยเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก ประเภทเจ็บแล้วไม่จำ รอยร้าวในประวัติศาสตร์จึงเป็นเพียงเหตุการณ์หนึ่งที่ผ่านมา..แล้วผ่านไป ทิ้งอนุสรณ์สถานไว้ให้ดูต่างหน้า แต่ได้สอนใจ หรือสกิดใจมนุษย์ชาติในปัจจุบันหรือในอนาคตหรือไม่ คำตอบคงจะเห็นได้จากข่าวสารทั่วโลก
ฤา สันติภาพจะเป็นแค่ความฝันของใครสักคนหนึ่ง
หลังจาก วันอันยาวนานบนสองล้อ อ้อยหวานกับเพื่อนร่วมปั่นก็วางแผนกันว่าวันนี้จะเป็นวันเบาๆ สบายๆ แต่วันพักก็ไม่ใช่การพักแบบนอนเอกเขนกอบร่ำแอร์เย็นๆ ไปเสียทีเดียว เช้าตรู่ของวันนั้นเราปั่นออกจากที่พักเพื่อไปชมสะพานที่โด่งดังระดับโลกก่อนที่นักท่องเที่ยวอื่นๆ จะแห่กันมาชม เราปั่นกันไปแบบสบายๆ ไม่เร่งรีบ เพราะสะพานข้ามแม่น้ำแควอยู่ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรีไปเพียง 4 กิโลเมตร กะกันว่าเดินชมสะพานเสร็จ ก็หาข้าวเช้าทานกันแถวๆ นั้น
สะพานข้ามแม่น้ำแคว ที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า The Bridge on the River Kwai เริ่มต้นเดิมทีนั้นมาจากวรรณกรรมฝรั่งเศสที่มีชื่อว่า Le Pont de la Rivière Kwai ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นในปี 1952 สองสามปีต่อมาผู้กำกับภาพยนตร์ยิ่งใหญ่ชาวอังกฤษ เซอร์เดวิด ลีน ได้เอามาสร้างเป็นภาพยนต์ที่ยิ่งใหญ่ และมีชื่อเสียงโด่งดังมากในยุคนั้น ภาพยนต์ The Bridge on the River Kwai นี้ได้ส่งเข้าชิงรางวัลออสการ์ประจำ ปี 1957 จำนวน 8 สาขา และได้รับ 7 รางวัลได้แก่ ผู้กำกับยอดเยี่ยม นักแสดงนำชาย กำกับภาพ ตัดต่อ บทภาพยนตร์ดัดแปลง ดนตรีประกอบ และภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และจากภาพยนต์นี้เองที่ทำให้ชื่อเสียงของสะพานดังก้องโลก แต่สะพานในหนังนั้นถ่ายทำที่ประเทศศรีลังกา ไม่ได้ถ่ายทำในเมืองไทย โดยเฉพาะสะพานไม้ที่ออกแบบสร้างใหม่ให้ดูยิ่งใหญ่ ต่างจากของจริงจากภาพถ่ายในอดีตอย่างสิ้นเชิง ดูหนังตัวอย่างได้ ที่นี่
ขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย
ความงามอันสงบเงียบของเช้าวันนี้ คงจะแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากอดีตวันวานเมื่อเจ็ดสิบกว่าปีก่อน
ประวัติ
สะพานข้ามแม่น้ำแควสร้างขึ้นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยกองทัพญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรได้แก่ ทหารอังกฤษ อเมริกัน ออสเตรเลีย ฮอลันดา และนิวซีแลนด์ ประมาณ 61,700 คน และกรรมกรชาวจีน ญวน ชวา มลายู ไทย พม่า อินเดีย อีกจำนวนมาก มาก่อสร้างทางรถไฟ สายยุทธศาสตร์เพื่อเป็นเส้นทางผ่านไปสู่ประเทศพม่า ซึ่งเส้นทางช่วงหนึ่งจะ ต้องข้ามแม่น้ำแควใหญ่ จึงต้องมีการสร้างสะพานขึ้น การสร้างสะพานและทางรถไฟ สายนี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก ความทารุณของสงคราม และโรคภัย ตลอดจนการขาดแคลนอาหาร ทำให้เชลยศึกจำนวนหลายหมื่นคนต้องเสียชีวิตลง
ทางรถไฟสายมรณะสายนี้เริ่มต้นจากสถานีหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัด ราชบุรี ผ่านจังหวัดกาญจนบุรี ข้ามแม่น้ำแควใหญ่ไปทางทิศตะวันตกจนถึงด่าน เจดีย์สามองค์ เพื่อให้ถึงปลายทางที่เมืองตันบูซายัดประเทศพม่า รวมระยะทางใน เขตประเทศไทย 300 กิโลเมตรใช้เวลาในการสร้างเสร็จเพียง 1 ปีตั้งแต่เดือนตุลาคมพ.ศ.2485 ถึงเดือนตุลาคมพ.ศ.2486 เพื่อใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ผ่านประเทศพม่า
ขอบคุณข้อมูลจากการท่องเที่ยวไทย
สันติสุขจงเจริญ…
อ้อยหวานขอฉลองเช้าแห่งวันสงบสุขที่ปราศจากสงคราม และนักท่องเที่ยวเป็นฝูง!! ด้วยการปั่นไปบนสะพาน แต่ส่วนใหญ่จะเข็นเพราะทางบนนั้นมีช่องโหว่ให้ชมน้ำอยู่มากมาย
วัดและรูปแกะสลักของพระโพธิสัตว์กวนอิม อยู่ฝั่งตรงกันข้าม ช่างเป็นรูปปั้นที่งดงามมาก ดึงดูดความสนใจของอ้อยหวานตั้งแต่อยู่บนสะพาน ว่าแล้วต้องตามไปดู
เดินข้ามไปสุดปลายสะพานเท่านั้นเองก็จะถึงสถานที่ปฏิบัติธรรม ของมูลนิธิกวงอิมสุนทรธรรม กาญจนบุรี หรือ วิหารพระโพธิสัตว์กวนอิม อ้อยหวานไม่แน่ใจว่าใช้ชื่อไหน ข้อมูลในเน็ทก็ไม่ค่อยจะมี อาจจะเป็นเพราะว่าเพิ่งสร้างเสร็จ เพราะทุกอย่างดูใหม่เอี่ยมและสวยงาม รูปแกะสลักของเจ้าแม่กวนอิม สูง 18 เมตร สลักด้วยหินหยกขาวจากประเทศจีน รวม 88 ชิ้น น้ำหนักรวม 220 ตัน ยืนบนฐาน 8 เหลี่ยม เป็นรูปแกะสลักที่งดงามมาก
รอบๆ บริเวณสงบ สะอาด
ตัวอาคารออกแบบและจัดวางอย่างน่าดูชม สระน้ำหรือบ่อน้ำที่ก่อเป็นรูปดอกบัวนั้นมีดอกบัวปลูกอยู่เต็ม ส่วนรอบๆ นอกจากจะมีต้นไม้ปลูกอยู่รายรอบแล้ว ยังมีคอลเล็คชั่นของชวนชมปลูกในกระถาง ตั้งวางอยู่โดยรอบ
และไม่ใช่มีอยู่แค่สิบยี่สิบกระถางนะจะบอกให้ มีเป็นร้อยเลยละ แฟนชวนชมอย่างอ้อยหวานได้เริงร่าอย่างเบิกบานใจ
ดูต้นนี้สิ สวยจริงๆ ใช้วิธี “กราฟติ้ง” (Grafting) หรือการเสียบกิ่ง..ทาบกิ่ง..ทำให้มีดอกหลากหลายสีในต้นเดียวกัน ดูวิธีทำได้ที่บล็อกเก่าแก่ของอ้อยหวาน ชวน..มาชม.. ชวนชม
ชวนชม หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Adenium แต่ชื่อที่นิยมเรียกคือ desert rose …กุหลาบทะเลทราย มีพันธ์ดั้งเดิมทั้งหมด 12 สายพันธ์ และลูกผสมอีกมากมาย
นี่ก็ลูกผสม
กลีบซ้อนก็มี สีหวานสวยเชียว
ภายในวิหาร
ชานระเบียงด้านหน้า เราใช้เวลาเดินชมและนั่งพักอยู่ที่นี่อยู่นาน ช่างเป็นสถานที่ที่สงบและสวยงามจริงๆ
สิงโตอารักขาหน้าวิหาร
สะพานข้ามแม่น้ำแคว มองจากลานพระโพธิสัตว์กวนอิม
คู่ขาปั่นของอ้อยหวานอยากสัมผัสประสบการณ์นั่งรถไฟสายมรณะ ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Death Railway
หลังจากแวะทานข้าวเช้าตรงร้านค้าแถวสะพานแล้ว เราก็ปั่นย้อนกลับเข้าเมืองไปยังสถานีรถไฟ เพื่อสอบถามข้อมูลและซื้อตั๋วรถไฟสำหรับวันรุ่งขึ้น ก่อนถึงสถานีรถไฟเราปั่นผ่านสุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรัก ก็เลยแวะหน่อยนึง
สุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรัก เป็นสุสานที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2488 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง มีพื้นที่ประมาณ 17 ไร่ เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านได้อุทิศให้เป็นสถานที่บรรจุศพทหารเชลยศึกบางส่วนที่ เสียชีวิตในระหว่างการสร้างทางรถไฟจากกาญจนบุรีไปถึงพม่า สุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรัก เป็นหนึ่งในอีกหลายแห่ง ที่เป็นที่ฝังศพของผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สร้างทางรถไฟแห่งนี้ ที่สุสานนี้มีหลุมศพถึง 6,982 หลุม เป็นศพของชาวต่างชาติ ที่เป็นเชลยศึก ชาวบ้านจึงเรียกกันติดปากว่า ป่าช้าอังกฤษ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสุสานนี้มีเฉพาะศพชาวอังกฤษ ยังมีเชลยศึกจากประเทศอื่นๆ ด้วยเช่น อเมริกา เนเธอร์แลนด์ และออสเตรเลีย
ขอบคุณข้อมูลจาก kanchanaburi.co
ไม่ว่านิยามของสงครามจะเปลี่ยนไปอีกกี่ร้อย ความหมาย แต่สิ่งที่เราทุกคนได้รับจากผลของสงครามคือ ความสูญเสีย การพลัดพราก ความหวาดกลัว ความสิ้นหวัง เสียงกรีดร้องร่ำไห้ และความสูญเสียทั่วทุกหย่อมหญ้า บาดแผลทางจิตใจสาหัสไม่แพ้บาดแผลตามร่างกาย แม้จะผ่านเวลามาหลายสิบปี หลายคนยังคงไม่ลืมภาพความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น สงครามคือเครื่องมือสู่สันติภาพ หรือสงครามคือความสิ้นหวัง?
จากบทความพิเศษโดย นันทยา ชุ้นสกุล
โปรดติดตามปั่นเที่ยวไทยกับอ้อยหวานในตอนต่อไป
อ่านปั่นเที่ยวไทยตอนที่แล้วได้ที่นี่
ปั่นจักรยานทัวร์ริ่ง มันปิ้ง ปิ้ง จริงๆ นะ
หอมกลิ่นไอฝน ยลความงามสีเขียว ณ.เชิงเขานครศรีธรรมราช
เยือนถิ่นตะนาวศรี ดินแดนแห่งขุนเขา ณ.สวนผึ้ง
ขอให้เพื่อนๆ มีแต่ความสุข
ขอบคุณค่ะ
อ้อยหวาน
- บล็อกของ อ้อยหวาน
- อ่าน 12730 ครั้ง
ความเห็น
เสิน
5 กุมภาพันธ์, 2016 - 10:28
Permalink
Re: อดีต..กับ..ปัจจุบัน ที่กาญจนบุรี
ไม่มีอะไรจะได้มาเปล่าๆ บางอย่างต้องแลกด้วยชีวิต... สะพานข้ามแม่น้ำแคว
..โอกาสไม่ได้มีทุกวัน..
หน้า