สวนปาล์ม 2,000 ไร่ ต้องใช้ปุ๋ยเท่าไหร่?

โพส @gotoknow 04 มิ.ย. 2550

สืบเนื่องจากที่ คุณลุงเกษม เจริญพาณิช ได้มาบรรยาย ความสำเร็จของคนแถวหน้า ที่คุณลุงเกษมเลิกใช้ปุ๋ยเคมี หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ มาเป็นเวลา 4 ปี แล้ว ผมจะนำเสนอข้อมูลการใช้ปุ๋ยในสวนปาล์มของคุณลุงเกษม มาเล่าสู่กันฟังนะครับ 

เมื่อสี่ปีที่แล้วคุณลุงเกษมใช้ปุ๋ยเคมี แล้วประสบกับปัญหาต่างๆ นานา แล้วได้เชิญอาจารย์วิวัฒน์ ประธานมลูนิธิกสิกรรมธรรมชาติไปดูที่สวน และคุณลุงเกษมก็ได้ไปอบรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง แล้วจึงเปลี่ยนการทำสวนปาล์มจากการใช้เคมี มาเป็นแบบอินทรีย์

ข้อมูลการใช้ปุ๋ยในสวนปาล์มของลุงเกษม

 การใช้ปุ๋ย  ปุ๋ยเคมี(บาท)  ปุ๋ยอินทรีย์(บาท)
 ราคาปุ๋ยต่อประสอบกระสอบละ 50 กิโลกรัม  680  420
 ราคาต่อตัน  ราคาต่อกระสอบ x20  13,600  8,400
 ใช้ปุ๋ยครั้งละ 120 ตัน  1,632,00  1,008,000
 1 ปีใส่ปุ๋ย 3 ครั้ง  4,896,000  3,024,000

ผลที่ได้จากการใช้ปุ๋ยเคมี

  • ระยะห่างของทางปาล์มกับต้นแคบ ทำให้ทะลายปาล์มเล็กน้ำหนักน้อย ประมาณ 80 กิโลกรัมหรือน้อยกว่า
  • ทางปาล์มหัก
  • ขายปาล์มแล้วค่าปุ๋ยกินหมดแทบไม่ได้กำไร
  • ดินเสีย

ผลที่ได้จากการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 

  • ระยะห่างของทางปาล์มกว้างทำให้ทลายปาล์มใหญ่มีน้ำหนักถึงทะลายละ 120 กิโลกรัม
  • ทางปาล์มสมบูรณ์ไม่หัก
  • ขายปาล์มแล้วมีกำไร
  • ดินดี

แล้วคุณล่ะยังใช้ปุ๋ยเคมีทำลายแผ่นดินเกิดอยู่อีกหรื

ความเห็น

คุณลุงเกษม เจริญพาณิช เป็นบุคคลตัวอย่างอีกท่านหนึ่งของชาวเกษตรกรที่พัฒนา ซึ่งถ้าทำปุ๋ยอินทรีย์เองก็จะลดต้นทุนลงได้อีกเกือบล้านบาท เหมือนอย่างเจ้าของสวนปาล์มใหญ่กว่าหมื่นไร่ที่สุราษฏร์ สามารถหมักเศษซากจากผลผลิตปาล์มมาทำไบโอก๊าซและกากนำมาทำปุ๋ยหมักใช้เองครับ

พี่สัญญาไปแล้ว ว่าจะไม่ใช้สารเคมีในไร่ของพี่ ขอบคุณข้อมูล ที่เอามาให้ดูความแตกต่างนะคะ

พอเพียง และ เพียงพอ บ้านไร่จันทร์เจ้า 

มีคนยอนหลายคน ว่าที่ว่างให้ปลูกปาล์ม ยายอิ๊ดไม่เคยคิดเลย ว่าจะปลูก มีเหตุผลส่วนตัวดังนี้


1.เบี้ยน้อยหอยน้อย ลงทุนสูง


2.ทำเองไม่ได้ ต้องจ้างคนมาก ต้องมีรถทุก


คือหากปลูกยาง ไม่มีเบี้ย ก็ทำเองได้ไม่หนักแรง ตัดเองก็ได้ แต่ปาล์มแทงยาก ต้องจ้างคน ยางลงทุนเรื่องปุ๋ยน้อย น่าจะเหมาะกับคนมีทุนค่ะ และอีกอย่างไม่รู้จักปาล์มเท่าทีควรค่ะ

#แตกต่าง.แต่.ไม่แตกแยก#

ขอแสดงความคิดเห็นดังนี้

  1. สวนปาล์ม ๒๐๐๐ไร่ ใช้ปุ๋ยเคมี ๓ครั้งใน ๑ปี ๓๖๐ตัน(ครั้งละ ๑๒๐ตัน) น่าจะถูกต้อง คือใช้ปุ๋ยเคมี(สูตร ...) ๑๘๐กก. ต่อ ไร่ แต่เมื่อใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปริมาณที่ใช้ ต้องใช้มากกว่า ปุ๋ยเคมีหลายเท่า เพราะมีธาตุอาหารที่ต่ำกว่ามาก โดยปกติก็ต้องใช้มากกว่า ปุ๋ยเคมี ๕-๒๐เท่า หรือไม่น้อยกว่า ๑๐๐๐กก. ต่อไร่ ต่อปี (หรือ ๒๐๐๐ตัน ต่อ ๒๐๐๐ไร่)
  2. แม้ว่า ปุ๋ยอินทรีย์จะมีข้อได้เปรียบ ด้านการปรับปรุงดิน(กายภาพ) และด้านการมีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์มากมาย(ชีวภาพ) แต่เราก็มีข้ออ่อนด้อย ด้านธาตุอาหารหลักต่ำ(แม้จะมีธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริม)(เคมีภาพ) ยากมากที่จะมีธาตุอาหารหลัก N-P-K เกินกว่า 3%(ยกเว้นจะทำสูตรพิเศษ ในปริมาณที่ไม่มากนัก แต่ต้นทุนก็จะสูงตามไปด้วย)
  3. แม้ที่สวนจะใช้แต่ปุ๋ยหมักตื่นตัวในการใส่แปลงผักเพียงอย่างเดียวมายาวนานมาก แต่เราก็ได้ใส่หินร็อคฟอสเฟตเข้าไปในปุ๋ยหมัก เพราะนอกจากจะค่อยๆปลดปล่อยให้ ฟอสฟอรัส ยังให้ แคลเซียม และแมกนีเซียม และที่ควรจะพิจารณาคือ ผักอินทรีย์ ที่ต้องได้รับใบอนุญาตนานาชาติ สามารถให้ใช้หินฟอสเฟตได้(แน่นอน จัดเป็นปุ๋ยเคมีจากแหล่งธรรมชาติ)
  4. ไม่ใช่แค่สวนปาล์ม หรือสวนผัก จะเป็นนาข้าว ไร่อ้อย ไร่มัน ไร่ข้าวโพด หรือสวนยาง ก็ดี ยิ่งต้องการได้ผลผลิตสูงๆ มากๆ พืชเศรษฐกิจเหล่านี้ยิ่งดูดใช้ธาตุอาหารในดินเป็นจำนวนมากๆ ถ้าธาตุอาหารที่เราใส่เข้าไปไม่เพียงพอ ดินก็จะขาดธาตุอาหารไปเรื่อยๆ (ศัพท์สมัยใหม่เรียกว่า ขาดดุลย์ธาตุอาหารในดิน)
  5. สวน 2S มีเนื้อที่ปลูกผักรวมประมาณ ๑๖๐๐๐ตร.ม. หรือ ๑๐ไร่ จะปลูกผักได้ประมาณ ๖-๗รุ่นต่อปี หรือเท่ากับ ๖๐-๗๐ไร่ต่อปี ในปีนี้ยังเหลืออีก สองเดือน เราใช้ปุ๋ยหมักตื่นต้วไปแล้ว ๑๕๐ตัน ซึ่งทำใช้เองมาเป็นปีที่ ๘ ติดต่อกัน ลองคำนวณต้นทุนเอาเองก็แล้วกัน แต่เราก็ไม่เคยท้อถอย เพราะเราเห็นประโยขน์ของปุ๋ยหมักตื่นตัว(ซึ่งเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชนิดหนึ่ง) แต่เราก็ได้ใช้ปุ๋ยหินร็อคฯ(ซิ่งเป็นปุ๋ยเคมีชนิดหนึ่งตามที่ได้กล่าวมาแล้ว) ใส่ในปุ๋ยหมัก เพื่อเพิ่มธาตุอาหารหลัก และธาตุอาหารรองให้ปุ๋ยหมักตื่นตัวให้มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น
  6. ประเทศไทยปลูกข้าวนาปีประมาณ ๖๕ล้านไร่ และข้าวนาปรัง ๑๕ล้านไร่ ไม่สามารถจะหาปุ๋ยอินทรีย์ได้มากพอที่จะใส่ในนาข้าวเพื่อให้ธาตุอาหารเพียงพอ กับที่ต้นข้าว และข้าวเปลือกดูดใช้ (ยิ่งไม่ต้องรวม เมื่อต้องการผลผลิตต่อไร่สูง และไม่พูดถึงต้นทุนการขนส่ง) และถ้ารวมพืชเศรษฐกิจหลักอีกสัก ๓-๔ชนิด เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย และยางพารา ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะผลิตปุ๋ยอินทรีย์ให้เพียงพอ (ยิ่งถ้าจะใส่ไห้เพียงพอกับที่ พืชเหล่านี้ ใช้ธาตุอาหารในดินไปในแต่ละปี)
  7. การรณรงค์ไม่ใช่สารเคมีเป็นการถูกต้องอย่างยิ่ง แต่การจ้ดปุ๋ยเคมีทุกๆชนิดเป็นสารเคมี น่าจะพิจารณาให้รอบคอบ แม้ว่าที่สวนจะเป็นสวนที่ใช้แต่ปุ๋ยหมักตื่นตัวเพียงอย่างเดียว(แต่ก็ยอมรับ หินฟอสเฟต ตามกติกาสากล) และไม่คิดว่า การผลิตผักปลอดภัย ควรจะเลือกเอาระหว่าง ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยเคมีอย่างใดอย่างหนึ่ง
  8. 2S พูด และแสดงความคิดเห็นในฐานะเกษตรกรรายย่อยปลูกผักปลอดภัย เป็นอาชีพ และเรียนมาทางด้านพืชผักโดยตรง และเรียนต่อระดับสูงขึ้นด้านการจัดการศัตรูพืชผสมผสาน และโชคดี เป็นทีมแรกในประเทศที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมมะเขือเทศ และพริกหวาน สำเร็จเป็นการค้าส่งต่างประเทศ(ใช้สารเคมี ทุกรูปแบบ) และก็โชคดีอีก เป็นทีมแรกในประเทศที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์ส่งต่างประเทศ(ปัจจุบันเป็นเกษตรกรรายย่อยทำสวนผักปลอดภัยระดับหมู่บ้าน)
  9. 2S ไม่มีผลประโยชน์ใดแอบแฝง มีตัวตน มีสวนผักปลอดภัยระดับหมู่บ้าน ผลิตผักมากกว่า ๒๕ชนิด ๓๖๕วัน ให้ชุมชน บ้านไผ่ และอำเภอใกล้เคียง และ กล้ากล่าวว่า น่าจะเป็นเพียงสวนผักเพียงไม่กี่แห่ง ที่ใช้แต่ปุ๋ยหมักตื่นตัว และการจัดการองค์รวม ในการผลิตผักปลอดภัยโดยไม่ได้ใช้อะไรเลย เป็นสวนผักไม่กี่แห่งที่ ครอบครัวกล้าพาลูกหลานตัวเล็กๆ มาด้วยเวลามาซื้อผัก ๕บาท ๑๐บาท โดยสนิทใจ

เพื่อพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ การทำปุ๋ยหมักตื่นตัว และสวนผักปลอดภัย