รูปภาพ เทคนิคการจัดการแบบองค์รวม ในการปลูกผักปลอดภัย
การปลูกผักปลอดภัย โดยใช้เพียง ปุ๋ยหมักตื่นตัว จะให้ประสบความสำเร็จต้องนำ การจัดการองค์รวม มาใช้ร่วม อาทิ เช่น
- การฉีดน้ำฝอยแรง ควบคุมแมลงศัตรูพืชผัก
- การให้พืชผักได้รับแสงแดดเต็มที่ แต่ไม่ใช่ ๑๐๐%
- การเลือกสายพันธุ์ และชนิดของพืชผักให้เหมาะสมกับ ฤดูกาล และวิธีปลูกที่แตกต่างกัน
- การไม่ทำลายระบบรากพืชผัก และให้รากเจริญเติบโตอย่างสมดุลย์
- การเข้าใจจุดแข็ง จุดอ่อนใน แต่ละช่วงการเจริญเติบโตของพืช
- การเข้าใจจุดแข็ง จุดอ่อน ของแมลงศัตรูพืชผัก
- การเข้าใจจุดแข็ง จุดอ่อนของแมลงที่มีประโยชน์ ตัวห้ำ ตัวเบียน
- และที่สำคัญที่สุด คือ การเข้าใจจุดแข็ง จุดอ่อนของตนเอง
อนึ่ง การใช้ปุ๋ยหมักตื่นตัว มิใช่เป็นการให้เลือกเพียงสองทาง ระหว่าง ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมี ซึ่งไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง เราได้ใช้ปุ๋ยหินร็อคฟอสเฟต ใส่เข้าไปในการกองปุ๋ยหมักตื่นตัว เพื่อจะได้นำธาตุอาหารที่ละลายน้ำได้ยาก ให้จุลินทรีย์ในกองปุ๋ยหมักฯ ได้ช่วยย่อยสลายให้เป็นรูปแบบที่รากพืช หรือจุลินทรีย์ในดินจะสามารถนำไปใช้ได้ทันที อย่างมีประสิทธิภาพ และนี้ก็คือ หนึ่งในความสำเร็จของโครงการในปัจจุบันการปลูกผักปลอดภัย
*****************************************
เนื่องจาก ภาระหน้าที่หลายๆอย่าง ประกอบกับเป็นช่วงที่งานมากเป็นพิเศษ ในการเตรียมการผลิตผักปลอดภัยในช่วงฤดูเกี่ยวข้าว และเทศกาลสำคัญที่จะมาถึงในฤดูหนาว แม้จะตั้งใจให้ความรู้ และแนวคิดในการทำปุ๋ยหมักตื่นตัว และการปลูกผักปลอดภัย อย่างเต็มที่ แต่ในช่วงนี้ก็ขอเน้นเป็นการนำเสนอรูปภาพเป็นสำคัญ มีอธิบายประกอบเล็กน้อย เพื่อจะได้มีเวลาทำงานที่สำคัญอื่นๆ ควบคู่กันไป
ขอโทษถ้าอาจจะทำให้การดู ภาพ อาจจะไม่เข้าใจชัดเจนในตอนนี้ แต่ก็จะพยายามมาตอบ อธิบายเพิ่มเติมทันทีที่มีเวลาครับ
***************************************
ในตอนนี้จะขอนำเสนอ เทคนิคการปลูกผักเป็นกลุ่ม หรือเป็นแถวร่วม ในระยะชิด กว่าวิธีการปลูกปกติ เพื่อ ใช้พื้นที่ และประหยัดต้นทุน อาศัยการได้เปรียบของการใช้ปุ๋ยหมักตื่นตัว และการฉีดน้ำฝอยแรง ให้พืชผักได้รับความชื้น ธาตุอาหาร และปกป้องความเสียหาย กระทบกระเทือนระบบรากพืชผัก แต่เนื่องจากเทคนิควิธีการนี้เพิ่งนำเข้าทดลองย่อย จึงไม่กล้าจะแสดงความคิดเห็น หรือแนะนำมากนัก ต้องขอเวลาอีก สองสามปี ก็คงจะพอจะเข้าใจเทคนิค ความสัมพันธ์ต่างๆมากขึ้น แม้หลายๆวิธีดูพื้นๆ ง่ายๆก็ตาม แต่ก็มีอะไรพิเศษบางอย่างที่ ต้องค้นคว้า ศึกษาต่อไป
หอมแบ่ง กับผักชีจีน
หอมแบ่ง กับผักกาดหอม
หอมแบ่งในถุงดำ และผักชีจีนในถุงดำ ในแปลงมะละกอ ต้นมะละกอที่เห็นสูงๆ เกือบ หกเมตร เป็นแม่พันธุ์ อายุ ๔ปี ยังให้ลูก ให้หลานตลอด ต่อเนื่อง
***********************************************
ผักชีจีน ฮ่องเต้ และผักกาดหอม ในกระถาง ๑๕นิ้ว
ในกระถาง ๑๔นิ้ว
ผักชีจีนในถุงดำ ในแปลงปลูกมะละกอ มีข่าทุกๆชนิด และตะไคร้ แซม ตลอดแนว ส่วนทางซ้ายมือด้านใน มี ถั่วพู แตงกวา บวบเหลี่ยม มะระ ถั่วฝักยาว ตามแนวตาข่ายเสา ตลอดแนว
ผักชีจีน มะเขือเปราะ ผักกาดหอม และถั่วพู
ถุงดำเป็นปีกสองข้างช่วยรักษาระบบรากของมะเขือเปราะ และให้ธาตุอาหาร ตลอดจนใช้ความชื้นร่วมกัน
สังเกตดีๆ จะเห็นพืชในกลุ่มนี้ ก็ปลูกในถุงดำ ขนาด ๖คูณ ๑๒นิ้ว
*******************************************
แตงกวา ผักหวานบ้าน มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว พริกหอม และกะเพรา
แตงกวา พริกหอม ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ ผักหวานบ้าน และมะละกอ
ผักหวานบ้าน พริกหอม และกะเพรา
สังเกตดีๆ จะเห็นพืชในกลุ่มนี้ ก็ปลูกในถุงดำ ขนาด ๖คูณ ๑๒นิ้ว
จากพืชโนเนมเมื่อ ปีสองปีก่อน ปัจจุบันกลายเป็นพืชผักที่สำคัญมากๆ ในทุกๆเสา ทุกๆแปลง ต้องมีถั่วพู ปัจจุบัน เก็บขายร้านค้า และลูกค้าโดยตรง อาทิตย์ละ ๕๐๐-๑๐๐๐ฝัก ในเดือนหน้า รุ่นหลักจะออกอีก สามรุ่นพร้อมกัน คาดว่า จะมีผลผลิต เพิ่มเป็นอาทิตย์ ละ ๒๐๐๐-๔๐๐๐ฝัก และสามารถเก็บเกี่ยวไปตลอดช่วงฤดูกาลเกี่ยวข้าว และเทศกาลสำคัญในฤดูหนาว
ถั่วพู ต้นที่คัดมีลักษณะเด่นที่ขนาดฝัก และสีฝัก
ต้นคัดพันธุ์ มีลักษณะเด่นที่ ความดกของฝัก เป็นพิเศษ
***********************************************
มะเขือเปราะ กับใบแมงลัก
หนอนตัวเบิ้มๆ ชอบมากเพราะ ไม่ได้ใช้อะไรเลย
หลังจากรอคอย สามเดือน เพราะแต่งใบ สี่ครั้งเพื่อควบคุมเพลี้ยต่างๆ ก็เริ่มเห็นผลมะเขือ
***************************************************
มะเขือเทศก็ปลูกในถุงดำ วางติดกันด้านกว้าง สี่ถุงดำ และมีผักกาดหอม และผักชีจีน เป็นปีกช่วยรักษาระบบราก และให้ธาตุอาหาร
มะเขือเทศช่อแรกๆ เริ่มสุกแล้ว
******************************************
ถั่วฝักยาว อายุ หนึ่งเดือนกำลังจะเริ่มเก็บฝัก
ปลูกในถุงดำ ทั้งพันธุ์สีเขียว และสีแดง
**********************************************
Link to 2S' blogs >>>
http://www.bansuanporpeang.com/blog/1707
**********************************************
- บล็อกของ 2s
- อ่าน 38268 ครั้ง
ความเห็น
BeeFuu
14 กันยายน, 2010 - 10:30
Permalink
สวยจริง ๆ ค่ะ ชอบมากเลย
สวยจริง ๆ ค่ะ ชอบมากเลย
"ความสุขของชีวิตในวันนี้ คือทำตามวิถีพอเพียงของพ่อ"
คนยอง
14 กันยายน, 2010 - 11:45
Permalink
สงสัย
พืชผักในสวนมีทั้งปลูกในแปลง และปลูกในถุงดำ
มันแตกต่างกันยังไง แล้วมีข้อดีข้อเสียยังไงครับ
ขอบคุณครับ
นนท์
14 กันยายน, 2010 - 20:04
Permalink
ชื่นชมมากคับ
ขอชื่นชมเป็นอย่างมากคับ เห็นแปลงผักแล้วสบายตาจริงๆคับ
ปลูกผักได้สวยงาม เห็นแปลงร่องผักก็สวยจริงๆคับ
NONT..
2s
14 กันยายน, 2010 - 22:32
Permalink
ขอบคุณมากสำหรับทุกความคิดเห็น ทุกๆกำลังใจต่อเนื่อง ผักปลอดภัย
ขอมาตอบรวมที่นี้นะครับ
สวน 2S อยู่ที่ หมู่บ้าน โสกตลิ่ง-โสกจาน ห่างจากที่ว่าการอำเภอบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ๒.๕ กม. (2S = สอง โสก (โสกตลิ่ง-โสกจาน))
ตั้งใจทำให้หมู่บ้าน ให้ชุมชน ซึ่งทุกๆคนที่นั้นทราบดีตลอดมายาวนาน ถึงได้กล่าวย้ำตั้งแต่แรกจน ปัจจุบันว่า สวนระดับหมู่บ้าน ยินดีต้อนรับทุกๆคน เพียงแต่ว่า ทีมงานมีความรู้สูงสุดเพียง ป.๖ ส่วน 2S อาจจะมีความรู้สูงหน่อย แต่ก็ได้ตั้งสัจจะว่า จะปฏิบัติ ทำหน้าที่ ที่เรียนมา พยายามจะทำปุ๋ยหมักตื่นตัว และสวนผักปลอดภัยให้สำเร็จ ให้เป็นประโยชน์แก่เกษตรกรรายย่อย ชุมชน และประเทศ เต็มกำลังความสามารถ
ส่วนการอธิบาย ครูบาอาจารย์ที่พร่ำสอนมายังอยู่เกือบครบ เก่งกว่า 2Sมากๆ จึงไม่กล้าอธิบายไปมากนัก และแต่ละวัน ก็ทำงาน แค่กลับกองปุ๋ยหมัก ฉีดน้ำฝอยแรง และจัดการแบบองค์รวมเท่านั้น ความรู้พื้นๆ ตามชนบทบ้านนอก ไม่มีโอกาสไปไหน เรียนรู้อะไรที่ไหน คงจะมีความสามารถเพียงระดับหมู่บ้าน แต่ยึดมั่นความสัตย์ รู้ก็ว่ารู้ ไม่รู้ก็ว่าไม่รู้
สำหรับเมล็ดพันธุ์ จะรายงานให้ทราบเป็นรายพืชผัก ในภายหลังครับ ที่จริงในการรายงานราคาพืชผักก็ได้ระบุไว้บ้างแล้วครับ
รักษาสุขภาพนะครับ
เพื่อพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ การทำปุ๋ยหมักตื่นตัว และสวนผักปลอดภัย
2s
14 กันยายน, 2010 - 23:26
Permalink
สำหรับคำถามที่ว่า สงสัย
สำหรับคำถามที่ว่า
ถ้าใช้วัสดุผสมกรอกในถุงดำ ก็ยิ่งจะแตกต่างกันมากๆ เอาแค่ในกรณีที่ใช้ดินไม่ได้ผสมอะไรเลย อย่างที่จะได้เห็นในรูปถั่วฝักยาว และถั่วพู ต่อไป แต่เป็นดินจากโคนต้นก้ามปู ต้นไผ่ ใต้กองฟาง บริเวณต้นละหุ่ง แม้ไม่ได้ผสมอะไรก็ยังแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะในฤดูฝน ปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากโครงสร้าง จุลินทรีย์ในดิน ความสมดุลย์ของธาตุอาหารพืช การระบายน้ำ และความรุนแรงของปัญหาไส้เดือนฝอย(ที่นี้รุนแรงมาก)
ผักที่โปรดปรานที่ปลูกในดินถุงดำที่ไม่ได้ผสมอะไรเลย ส่วนใหญ่จะเป็นพืชที่มีระบบรากดี และทนทานไส้เดือนฝอย อาทิเช่น กะเพรา โหระพา ใบแมงลัก มะเขือเปราะ มะเขือยาว มะเขือคื่น มะเขือพวง พริกพม่า พริกกระเหรี่ยง และที่สำคัญที่สุดขาดไม่ได้ สองพืชหลัก ถั่วพู และถั่วฝักยาว ซึ่งก่อนจะนำดินในถุงไปเทลงแปลงปลูกจะต้องปลูกถั่วทั้งสองชนิดก่อนเป็นรุ่นสุดท้ายเสมอ ทุกๆครั้ง
เนื่องจากเว็บมีปัญหาทางเทคนิค ในการนำรูปมาแสดง จะนำมาแสดง และอธิบายประกอบในตอนหลังเที่ยงคืน ส่วนข้อดี ข้อเสีย ค่อยๆนำเรียน เวลาพูดถึงแต่ละรายพืชผักนะครับ
เพื่อพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ การทำปุ๋ยหมักตื่นตัว และสวนผักปลอดภัย
2s
15 กันยายน, 2010 - 00:21
Permalink
รูปถั่วฝักยาวรุ่นปัจจุบันกำลังเริ่มเก็บฝัก ผลจากการจัดการองค์รวม
ข้อมูลพื้นฐาน:
เริ่มเก็บได้สองครั้ง ในวันที่ ๑๐ และ๑๒กันยายน และครั้งที่ ๓ วันนี้ (หยอดเมล็ดถั่วในถุงดำ วันที่ ๙สิงหาคม ๒๕๕๓)
ปกติช่วง ๑-๒อาทิตย์แรกฝักจะยังยาวสมบูรณ์ หลังจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับการดูแลองค์รวมในการควบคุมเพลี้ยอ่อน และหนอนเจาะฝักถั่ว ว่าจะได้ผลมากน้อยเพียงไร
ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า มีการทดลองย่อยอยู่ตลอดเวลา การวางถุงดำมีทั้งชิดติดกัน และวางสามถุง และเว้นระยะ ซึ่งก็ยังติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง
ลักษณะถั่วพันธุ์เนื้อของภาคอิสาณ จะพองเร็ว เหมาะกับการทำอาหาร และตำถั่ว
ดก และสมบูรณ์ ได้มาตรฐานค่อนข้างสูง
*******************************************
ถั่วพูเหมือนเดิม ดูไกลไม่มีอะไรน่าสนใจ ใบเหลืองตั้งแต่ยังไม่ได้ควบคุมองค์รวม เพลี้ยอ่อนดูดน้ำเลี้ยงตั้งแต่แรกๆ แต่ดูความดกของฝัก ในรุ่น ๑-๓ เป็นไปดีเกินคาด แต่ก็ยังตั้งเป้าไว้ที่ ๑๐๐ฝักต่อต้น ในช่วงเก็บเกี่ยว ๒เดือน ถ้าควบคุมเพลี้ยอ่อนได้ผล
********************************************
เพื่อพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ การทำปุ๋ยหมักตื่นตัว และสวนผักปลอดภัย
2s
17 กันยายน, 2010 - 04:28
Permalink
ภาพ เทคนิคการจัดการองค์รวม ตอน การเข้าใจจุดแข็ง จุดอ่อนตนเอง
จุดอ่อนของคนชนบทบ้านนอก ที่สำคัญคือ การด้อยการศึกษา การมีรายได้น้อย ปัญหารายได้ ค่าครองชีพ และการขาดความรู้ ความเข้าใจในสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน แต่ก็จะขอกล่าวมุ่งมาในประเด็น เรื่อง อาหาร หนึ่งในปัจจัยสี่ ของทีมงาน
เคยเล่าว่า นอกจาก ค่าแรงงาน ก็ยังมีสวัสดิการ มาม่า ไข่ ปลากระป๋อง และกาแฟ โอวัลติน เงินกู้ยืมใช้หนี้ ธกส. และแบ่งปันข้าวเปลือก(เหนียว) นอกเหนือจากสิทธิในการซื้อผักปลอดภัยในราคาพิเศษ เพื่อให้ลดค่าใช้จ่าย และสามารถ พอดำรงชีวิตได้ตามสมควร
ก่อนจะพาชมการเตรียมแปลงปลูก(ภาพแห่งความสำนึกที่ทำให้เกิดความคิด การคืนคุณให้แผ่นดินอย่างจริงจัง และอยู่ในโลกที่เป็นจริง ที่เราจะต้องปฏิบัติเป็นประจำ) จะพาชม นาข้าว ที่ได้จัดสรรเป็นสวัสดิการให้แก่ ทีมงานสวน สองโสก เป็นปีที่ห้า(สวัสดิการข้าว ๓ปี และยกที่นา ไร่ให้ดูแลกันเอง ในปีที่ ๔-๕)
ที่นา ที่บ้านหนองลุมพุก ห่างจากที่ว่าการอำเภอบ้านไผ่ ๒ กม. เนื้อที่ นาข้าว ๔ไร่ ไร่มัน ๑.๒๕ไร่ และสระน้ำ ๐.๗๕ไร่ รวม ๖.๐๐ไร่ ได้มอบให้เป็นสวัสดิการแก่ทีมงาน สวนสองโสก ซึ่งมอบการตัดสินใจ และรับผิดชอบเอง โดยขอให้ นำข้าวเหนียว(กข ๑๐) ทำบุญถวายวัดในเทศกาลสำคัญ ใส่บาตร และฟางข้าวเพื่อทำปุ๋ยหมัก และขอให้ปลูกหญ้าแฝกขอบสระต่อเนื่อง และปุ๋ยพืชสด โสนอัฟริกัน ทุกๆ ๓ปี เพื่อรักษาสมดุลย์ของดิน (และอนุญาต ให้ใช้ปุ๋ยยูเรีย กับนาข้าว และไร่มันได้) และต้องรายงานข้อมูลพื้นฐานให้ทราบ
ทางทิศตะวันออก ติดถนนเข้าสู่หมู่บ้านโสกตลิ่ง ห่างจากที่ตั้งสวนสองโสก(สวน 2S) ประมาณ ๑ กม.
นาหว่าน ที่ไม่ได้ใช่้สารคุมวัชพืช จะมีปัญหาวัชพืชเสมอ ซึ่งทีมงานได้ทำการถอนทิ้ง (รวมถึง โสนอัฟริกัน ที่งอกขึ้นมาในช่วงที่ไม่ต้องการ) ทิ้งในวันนี้( ๑๖กันยายน)
ทิศตะวันตก เข้าสู่เขตเทศบาลบ้านไผ่ ประมาณ ๑ กม.
ทิศใต้ หลังนาข้าว เป็นไร่มัน และสระน้ำ ซึ่งทีมงานได้ปลูกมันรุ่นใหม่ ปลายเดือนสิงหาคม รุ่นก่อนหน้าได้เก็บขาย ปลายเดิอนกรกฏาคม(อายุ ๘เดือน) ได้ผลผลิต ๑.๙ตัน(ผลผลิตปานกลาง สำหรับ ๑.๒๕ไร่) แต่ได้ราคาสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ ๔.๑๒บาท ต่อ กก. รวมเป็นเงิน ๘,๙๐๐บาท ถือเป็นสวัสดิการที่ดี น่าพอใจ
********************************************
ไม่ใช่สวัสดิการ แต่เป็นโลกแห่งความจริง หน่อไผ่ กับดอกลิ้นฟ้า กินกับแจ่ว กับป่น ของทืมงาน
********************************************
ที่ได้เรียนไว้ตั้งแต่ กล่าวนำ ว่าจะพาชมการเตรียมแปลงปลูก(ภาพแห่งความสำนึกที่ทำให้เกิดความคิด การคืนคุณให้แผ่นดินอย่างจริงจัง และอยู่ในโลกที่เป็นจริง ที่เราจะต้องปฏิบัติเป็นประจำ)
ยาย ลา หญิงชนบท ผู้ยากจน ผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา จริงจัง นุ่งขาว ห่มขาว ทุกวันพระ แต่ต้องใช้แรงงาน แทนควาย ในวันปกติ ภาพจริงที่ไม่ตลก ตั้งแต่นั้นมา 2S ไม่หลอกตัวเอง และได้อยู่ในโลกที่เป็นจริง ที่เราจะต้องปฏิบัติเป็นประจำ
บ้านยาย ลา ซึ่งกำลังทำงานแทนควาย อยู่ทางขวามือ (ถัดจากภาพ) ตั้งแต่ได้ทบทวนเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง ได้ตั้งสัจจะว่า ถ้ายังไม่บรรลุเป้าหมาย จะไม่จับรถยนต์ จะไม่เดินทางไปไหน แม้แต่ในเมืองขอนแก่น
*********************************************
*********************************************
ระยะระหว่างแถวปลูกพืชผักอายุสั้นเกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะหยอดเมล็ด หรือย้ายปลูก จะใช้ระยะ ๑๕ซ.ม. ทีมงานกำลังจะหยอด(โรย) ผักบุ้ง สายพันธุ์ทดสอบใหม่ เพื่อเตรียมคัดเลือก เมื่อจะถึงสำคัญในฤดูหนาว ซึ่งผักบุ้งจะขาดตลาดมาก และมีราคาสูง เนื่องจากอากาศหนาวทำให้ อายุการเก็บเกี่ยวยาวนาน และผลผลิตต่ำกว่าในฤดูอื่นๆ ตั้งแต่ ต้นธันวาคม-มีนาคม ในช่วงสี่เดือนนี้ ทางสวนจะต้องผลิต และส่งตลาด +- ๑๐๐กก. ต่อวัน ซึ่งเมื่อหมดเทศกาลปีใหม่ผักเกือบทุกชนิดราคาลดลงมาก ก็จะมีแต่ ผักบุ้ง กับพืชตระกูลแตงที่จะมีราคาสูงไปตลอด จนกว่าจะหมดสิ้นฤดูหนาว
ในการย้ายปลูกผักชีจีน หรือหยอดผักชีจีนร่วมกับ หอมแบ่ง ก็ใช้ระยะระหว่างแถว ๑๕ซ.ม. เช่นกัน
********************************************
(บ้านยาย ลา อยู่ทางด้านหลัง) ในการออกแบบแปลงปลูก จะมีขนาดกว้าง ๑.๓๕-๑.๔๐เมตร (อิฐบล็อค ยาว ๔๐ซม. ๓ก้อน และอิฐบล็อคแดง ๘ซม. ๒ก้อน)
ภาพแนวขวาง
การออกแบบ สแลนดำเพื่อให้ใช้ได้ทุกฤดูกาล ค่อนข้างจะออกแบบได้ไม่ง่ายนัก แต่อย่างไรก็ตาม ต้องให้พืชผักได้รับแสงแดดเต็มที่ และหยดน้ำฝนไม่ทำให้พืชผักเสียหาย
ทางซ้ายมือ ระบบดั้งเดิม ส่วนทางขวามือระบบดัดแปลงล่าสุด จะค่อยๆ อธิบาย ต่อๆไป
ส่วนคื่นฉ่าย (รวมถึง โหระพา) เป็นพืชที่ต้องการประจำ ไม่พอเพียง จึงต้องปลูกในถุงดำเพิ่มเติม
พืชอันดับหนึ่งของสวน เช่น คื่นฉ่าย ผักกาดหอม สลัดแก้ว จะได้รับสิทธิ์พิเศษ สามารถใช้พื้นที่ เพาะเมล็ดพันธุ์ ใช้ปลูกเมื่อมีความต้องการของตลาดเป็นพิเศษ เรียกแผ่นนี้ ว่าแผ่นโพลี่ ปัจจุบัน ได้นำเข้าทดลอง ประมาณ ๑๕๐แผ่น (ทั้ง ๔สี)
โหระพาในถุงดำ
โรงเรือนกว้าง ๕เมตร สแลนดำ ๒เมตร ๒ผืน จึงเหลือ ช่องว่าง ๑เมตร ถ้าสังเกต ดีๆ ช่วงที่ สแลนดำติดกัน จะมีการยกต่างระดับ ๓๐ซม. เพื่อรับแสง และระบายอากาศเพิ่มขึ้น
มะเขือเทศปลูกในถุงดำ วางติดกับ ๔ถุง และมีผักกาดหอมเป็นปีกทั้งสองข้าง
*********************************************
การออกแบบการใช้ประโยชน์ ช่องทางเดิน ทางระบายน้ำในแปลง ด้วย ถั่วพู ผักหวานบ้าน กะเพรา พริกหอม และแตงกวาดูเหมือนจะเป็นไปได้ ค่อนข้างน่าพอใจ
ดูได้จากผลผลิตที่กำลังเก็บเกี่ยว อาทิเช่นผักหวาน
เก็บขายทุกอาทิตย์ต่อเนื่องมา ๒เดือนเต็ม ได้รับการตอบรับอย่างดี
**********************************************
น่าพอใจ ขนาดของฝักถั่วพู รุ่นที่ ๑และ ๒
ความดกของถั่วพู รุ่นที่๒
สภาพต้นถั่วพูในรุ่นที่ ๓ ก็ดูได้มาตรฐาน ที่ควรเป็น เมื่อสามารถควบคุมเพลี้ยอ่อนได้
การปลูกในถุงดำ และใช้พื้นที่ทุกๆตารางนิ้วให้เกิดประโยชน์ ก็แสดงให้เห็นว่า สามารถปลูก หอมแบ่ง ผักกาดหอม และคื่นฉ่ายได้ดีพอสมควร
พอไม่อายใคร โดยเฉพาะหอมแบ่งในหน้าฝน และได้ราคาตั้งแต่ กก.ละ ๔๕-๘๕บาท
************************************************
การปลูกถั่วฝักยาวในถุงดำ ได้ความดกในระดับไม่อายใคร
ถั่วฝักยาว ภาษาอังกฤษ Yard Long Bean หรือแปลทับศัพท์ ถั่วยาว หนึ่งหลา ก็พอจะไม่อายเขา ยาวประมาณ กว่า ๙๐ซม. หรือ ๑หลาในรุ่นแรกๆ (ทั้งสองฝักคู่)
เพื่อพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ การทำปุ๋ยหมักตื่นตัว และสวนผักปลอดภัย
TNCEL
9 มีนาคม, 2011 - 08:15
Permalink
ปัญหาไส้เดือนฝอย
การปลูกละหุ่ง หรือสบู่ดำ รากจะไล่ไส้เดือนฝอยได้ อาจจะปลูกเป็นพืชปรับปรุงดิน และมักเหมาะกับการเตรียมดินก่อนลงกล้วย เพราะไส้เดือนฝอยเป็นปัญหาสำคัญ
เชื้อราเขียวไตรโคเดอร์ม่าก็กำจัดไส้เดือนฝอยได้ ใช้ประกอบกัน
สาวภูธร
19 มกราคม, 2012 - 09:35
Permalink
Re: รูปภาพ เทคนิคการจัดการแบบองค์รวม ในการปลูกผักปลอดภัย
ปลูกได้เป็นระเบียบและสัดส่วนมากเลย ใช้ประโยชน์ได้เต็มพื้นที่ :good-job: :good-job:
chirawan
14 ตุลาคม, 2013 - 05:03
Permalink
Re: รูปภาพ เทคนิคการจัดการแบบองค์รวม ในการปลูกผักปลอดภัย
ถูกใจมาก..กำลังทำอย่างนี้อยู่ทีเดียว..ปลูกพืชในถุง ทำแปลงแบบไม่ต้องขุด (เหนื่อย เปลืองแรงด้วย) เมื่อวานไปหาดินก้ามปูมาได้หลายกระสอบเลย จริงๆแล้ว พืชผักที่คุณโพสต์ลง ที่บ้านดิฉันมีทุกอย่างเลย ถั่วฝักยาว แตงกวา ฟักทอง มะเขือก็ปลูกแล้ว ลงลังบ้างลงถุงบ้าง กำลังรอปลูกและขยายพันธุ์ก็หลายอย่าง เวลามีน้อยแต่พยายามทำให้แต่ละวันให้เป็นวันพักผ่อน สิ่งหนึ่งที่ต้องการคำแนะนำ คือการปลูกหอม กระเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้น้ำ ตอนนี้ลองปลูกไวักินใบไม่กล้าให้น้ำเยอะ กลัวเน่า..ขอคำแนะนำด้วยค่ะ ดูบล็อกของคุณแล้วมีความสุขมาก วันนี้กำลังจะเข้าอบรมทำบล็อกกับเขาเหมือนกัน...ยังมีไฟอยู่..
หน้า