การผลิตผักปลอดภัย ตอน ระยะทดลอง สู่ผลิตเป็นการค้า

หมวดหมู่ของบล็อก: 

 


ตอนที่ ๒  โครงการผลิตผักปลอดภัยเป็นการค้า -คื่นฉ่าย ผักชีจีน และผักกาดหอม-


 


ในตอนที่แล้ว ได้ให้ข้อมูล และบอกเล่าความสำคัญ ของพืชอันดับ ๑ และ๒ ของสวนสองโสก ว่า คื่นฉ่าย (และผักชีจีน) มีความสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าจะใช้หนี้ คืนเงินกู้ยืม และดอกเบี้ย ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็ต้องทำคื่นฉ่ายให้ได้ตามเป้าหมาย ไม่น้อยกว่า ๑๕๐๐๐กก. ต่อปี หรือมีรายได้ ไม่น้อยกว่า ๑ล้านบาท ต่อปี ถ้าไม่ทุ่มเท เตรียมใจ เตรียมงาน และปรับปรุงแผนงาน แก้ปัญหา ก็ยากจะทำได้ตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความมั่นใจว่า ในระยะเวลา ไม่นานนัก(ไม่เกิน๓-๕ปี) จะสามารถผลิตได้ ถึง ๓๐๐๐๐กก. ต่อปี ถ้า ทีมงานยังคงแข็งแรง และพัฒนางานต่อเนื่อง แต่ก็ต้องอาศัยโชค และต้องทำปุ๋ยหมักตื่นตัวได้เพียงพอ เพราะทำการผลิตผักปลอดภัย มากกว่า ๒๕ชนิดพืช (ไม่รวมพืช ในระยะทดลอง)  


ถ้าจะกล่าวว่า พอจะประสบความสำเร็จเล็กน้อย ในการผลิตผักปลอดภัย ก็ต้องขอบคุณ บูรพาจารย์ ที่ได้ถ่ายทอด



ขั้นตอนการผลิตผักปลอดภัย โดยหลักการมี ๓ขั้นตอน หรือ ๓ระยะ คือ ๑. ทดลอง ๒. ทดลองผลิต และ๓. ผลิตเป็นการค้า


ถ้าจะอธิบายลงรายละเอียด จะเป็นวิชาการเกินไป จะขอเล่า ตามที่ปฏิบัติง่ายๆ ใช้ภาษาง่าย ดังนี้


   


ระยะทดลอง( พ.ศ. ๒๕๔๕-๒๕๔๖)



ในปี ๒๕๔๕ มีพืชผัก ถูกคัดเลือก ทำการทดลอง ๑๕ชนิด โดยแบ่งให้ทีมงานรับผิดชอบ ๔ทีม ทีมละ ไม่น้อยกว่า ๕ชนิด โดยเฉพาะ พืชครูที่สำคัญ ๕ชนิดที่ คนชนบทอิสาณ ทำอาหารเป็นประจำ เช่น ผักชีจีน ผักกาดหอม หอมแบ่ง ผักบุ้ง และคื่นฉ่าย จะมีอย่างน้อย ๒กลุ่ม ทำงานทดลองซ้ำกันในผักทั้ง ๕ชนิดนี้ แต่ต่างสายพันธุ์กัน และ/หรือ วิธีปลูกที่ต่างกัน 


พืชผักทุกชนิด จะต้องเริ่ม จากระยะทดลอง คื่นฉ่าย( และผักชีจีน) ก็เช่นกัน ใช้เวลาทดลอง ติดต่อกันถึง ๙รุ่น ประมาณ ๒ปี ในระยะทดลอง จะเน้นเรียนรู้ขั้นต้นเพียงสองสามอย่าง คือ สามารถผลิตนอกฤดูกาลได้ผลผลิต และคุณภาพหรือไม่ อะไรคือ ปัญหา อุปสรรค และทดลอง อัตราปุ๋ย/ธาตุอาหาร ระดับพื้นฐาน(มาก-กลาง-น้อย) ตอนแรก ระยะทดลอง จะไม่พะวง ถึงต้นทุนการผลิตใดๆ ให้คิดเพียงว่า ทำให้ได้คุณภาพที่ตั้งไว้ในแต่ละฤดูกาล(นอกฤดูกาล)(% ที่จะสำเร็จ แต่ที่แน่ๆ คือ เป็นสวนผักปลอดภัย ๑๐๐๐% จริงแท้แน่นอน ที่จะฝากไว้ให้ แผ่นดินเกิด ส่วนอนาคตจะเป็นอย่างไร ก็แล้วแต่วาสนา บารมีที่สร้างสมมา)


 


พืชผักกินผล ทุกชนิดที่ทดสอบ ไม่ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด เพราะ อายุการเก็บเกี่ยวที่ยาวนาน ปัญหาต่างๆ มากกว่า และในขณะนั้น ด้อยประสบการณ์ และยังทำงานประจำ ส่วนผักกินใบที่สอบผ่าน มีเพียง ๓ชนิด คือ คื่นฉ่าย ผักชีจีน และผักกาดหอม(ผักสลัดแดง)



อนึ่งในขณะนั้นยังทำเกษตรผสมผสานที่ สวนบ้านไผ่ มีการเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่พื้นเมือง นกกระทา หมู ห่าน และปลากินพืช ปลูกไม้ผล เช่น มะม่วง พุทรา ขนุน น้อยหน่า มะพร้าว และกล้วย เป็นต้น ไม้ดอก เช่น โป๊ยเซียน มะลิ ดาวเรือง ฯลฯ และทำนาข้าวหอมมะลิ ส่วนสวนที่ แม่สรวยเชียงราย ปลูกไม้ป่า ไม้ผล ลำไย ลิ้นจี่ และผักพื้นบ้าน เป็นต้น (สวนที่ ดอนตาล มุกดาหาร ไม่ได้ทำอะไร)


มองย้อนไปแล้วไม่น่าจะรอดถึงทุกวันนี้ เพราะไม่มีโครงการใดมีกำไร แม้แต่โครงการเดียว อาศัยรายได้จากงานประจำ และเงินกองกลาง(มรดก) ปัจจุบันไม่มีรายได้ใด ก็เหลือแต่ สวนทั้งสามสวน หนี้สิน และโครงการผักปลอดภัย( และงานอดิเรก ปุ๋ยหมักตื่นตัว) ซึ่งภายใน ๓-๕ปี ก็คงจะทราบผลว่า จะทำการผลิตเป็นการค้า ได้จริงหรือไม่ ถ้าให้ประเมินอย่างเป็นกลาง ก็มีโอกาส แต่ไม่น่าเกินกว่า ๖๐%


ระยะทดลองผลิต(๒๕๔๗-๒๕๕๑) 



ในปี ๒๕๔๗ มีเพียงผัก ๓ชนิด สอบผ่านได้รับการคัดเลือก เข้าสู่ระยะทดลองผลิต คือ ผักกาดหอม ผักชีจีน และคื่นฉ่าย ในระยะนี้จะมี งานทดลองผลิต เกือบทุกอย่าง อาทิเช่น ทดสอบสายพันธุ์ ๕-๑๐สายพันธุ์ ทดสอบการตอบสนองต่อ ธาตุอาหาร ๓ระดับ มาก-กลาง-น้อย การคัดเลือกวิธีการปลูกที่เหมาะสมในแต่ละฤดูกาล และเปรียบเทียบต้นทุน ต่อหน่วยพื้นที่ และต่อช่วงระยะเวลาผลิต การปรับแต่ง เทคนิคการเพาะเมล็ด การปลูก ระบบน้ำ การป้องกันกำจัดโรค-แมลง ต้องใช้เวลาช่วงนี้ ถึง ๔ปีเต็ม จึงพอจะฝืนใจ ให้ผ่านสู่ระยะ ผลิตเป็นการค้า 



ทีมงานจะได้รับการย้ำแล้ว ย้ำอีกว่า เมื่อเข้าสู่ระยะผลิตเป็นการค้า (ขึ้นเวที จริง หรือเข้าสู่สนามรบ) จะไม่มีการทดลอง(ยกเว้นทดลองย่อย) เพราะ ถ้า ขึ้นเวทีจริง หรืออยู่ในสนามรบ ยังมาซ้อม มาทดสอบ ทดลองวิธีการต่างๆ ก็มีแต่ แพ้ กับแพ้ ตายกับตาย ในสมรภูมิเท่านั้น


 


ระยะผลิตเป็นการค้า (ปลายปี ๒๕๕๑ จนถึงปัจจุบัน)



 เริ่มทำแผนโครงการ ติดต่อกับ ธนาคาร ๔แห่ง ได้รับการอนุมัติขั้นต้น ๒ธนาคาร และตัดสินเลือก ธนาคารที่ให้วงเงินกู้ ต่อเนื่องกัน ๗-๑๐ปี ใช้ชื่อว่า โครงการ สวนเกษตรปราณีต-ยั่งยืน เน้นการทำสวนผักปลอดภัย และปุ๋ยหมักตื่นตัว ใช้ทรัพย์สิน และที่ดินที่ตั้งโครงการ ๒๐ไร่ เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน



ในปีนี้ ๒๕๕๓ เป็นระยะที่ ๒ (เปิดวงเงินที่ ๒) แต่ได้ลงทุนไปเร็วกว่าแผนที่กำหนด โดยเพิ่มพืชผัก มากกว่า ๒๕ชนิด เป็นการผลิตเป็นการค้า ๓ชนิด คือ ผักกาดหอม ผักชีจีน และผักคื่นฉ่าย ส่วนอีก ๒๒ชนิด อยู่ในระยะทดลองผลิต และอีก ๕ชนิด อยู่ในระยะทดลอง


 





ส่วน คื่นฉ่าย และผักชีจีน นอกจากจะปลูกในแปลงบล็อค ยังจะปลูกในถุงดำอีก ๕๐๐๐๐ถุง ยังตั้งเป้าการผลิตทั้งสองพืช เบอร์ ๑ และ๒ อยู่ที่ ๑๒๐๐๐กก. และ ๔๐๐๐กก. ต่อปี ตามลำดับ (ปี ๒๕๕๔) เป็นไปได้ที่ ถั่วพู (รวมกับถั่วฝักยาว) จะมีรายได้ใกล้เคียง หรือมากว่า ผักชีจีน


อนึ่งราคาผักทั้งสาม-สี่ชนิด ในช่วงปลายฤดูฝน ยังมีราคาสูงต่อเนื่อง โดยมีราคาส่งจากสวน คื่นฉ่าย ๑๒๐บาท/กก. ผักชีจีน ๑๐๐บาท/กก. และ ถั่วพู ๘ฝัก ๕บาท (ถั่วฝักยาว ๙ฝัก ๕บาท)



 


ในปีหน้า จะมีพืชผัก ๔ชนิด เริ่มผลิตเป็นการค้า ได้แก่ ถั่วพู (และถั่วฝักยาว) หอมแบ่ง ผักบุ้ง และตระกูลมะเขือ-พริก(มะเขือเทศ มะเขือเปราะ และพริกขี้หนู-หอม) โดยแต่ละพืช(หรือ กลุ่มพืชในตระกูลเดียวกัน) ต้องสามารถทำรายได้ ปีละไม่น้อยกว่า ๑๐๐๐๐๐บาท (ภายใน ๒-๓ปีที่ก้าวสู่ระยะผลิตเป็นการค้า)(แต่ยังคงทำงานทดลองย่อยได้ต่อเนื่อง) สำหรับ พืชผักรุ่นต่อไป จะมี ถั่วพู เป็นหัวหน้าทีม เพราะในปี ๒๕๕๔-๒๕๕๖ จะปลูกปีละ ๒๐๐๐๐-๓๐๐๐๐ต้น โดยคาดหมายว่า จะมีรายได้ต้นละ ๒๕-๕๐บาท (ในปี ๒๕๕๓ จะปลูก ๓๐๐๐ต้น ตอนนี้ปลูกได้แล้ว ๑๐๐๐ต้น) 






รายชื่อสายพันธุ์พืชผักที่ผลิตเป็นการค้า


คื่นฉ่าย ป็นพันธุ์ต้นขาว กว่า ๙๐% ได้แก่ ราชพฤกษ์ กรองทอง และไทรทอง


ผักชีจีน เป็นพันธุ์กอใหญ่ ได้แก่ สายสมร และสายพิรุณ


 ผักกาดหอม ใช้สายพันธุ์มากกว่า ๑๐สายพันธุ์ อาทิเช่น สีเขียว ได้แก่ แกรน แรปปิดส์ (๔-๕บริษัท) กรีนโอ๊ค คอส ส่วนสีแดง มี เร็ดแลคตัส เร็ดโอ๊ค เป็นต้น



รายชื่อสายพันธุ์พืชผัก ที่จะผลิตเป็นการค้า ในปี ๒๕๕๔ 


อมแบ่ง มีสายพันธุ์ ลับแล นครพนม และสายพันธุ์ท้องถิ่น "นาโพธิ์" 


ถั่วพู มีสายพันธุ์ ตองสาม และสามเอ และเก็บเมล็ดพันธุ์เอง อีก ๖สายพันธุ์ 



ถั่วฝักยาว มีพันธุ์ ลำน้ำพอง ลำน้ำชี และสายพันธุ์ท้องถิ่น "ทองหมุน"


ผักบุ้ง มี สายพันธุ์ ใบไผ่ และเลิศพันธุ์




รายชื่อพืชผัก ที่อยู่ในระยะทดลองผลิต(ขั้นสุดท้าย)


มะละกอ มีสายพันธุ์(ส้มตำ) ท้องถิ่น ๓สายพันธุ์ สายพันธุ์(กินสุก) มีพันธุ์ แขกดำ และฮอลแลนด์



ผักหวานบ้าน กลุ่มผักสมุนไพร(โหระพา กะเพรา ใบแมงลัก) กลุ่มมะเขือ-พริก(มะเขือเทศ มะเขือเปราะ มะเขือยาว พริกขี้หนูสวน พริกหอม) กลุ่มแตง-บวบ(แตงกวา บวบงู บวบเหลี่ยม มะระ)




(จบตอนที่ ๒ ตอน ระยะ/ขั้นตอนการผลิตผักปลอดภัย สวนสองโสก)


********************************************************************************


********************************************************************************


ส่วนตอนที่ ๓ ที่จะนำเสนอต่อไป เรื่อง ปุ๋ยหมักตื่นตัว (Rapid Compost) หัวใจในการผลิตผักปลอดภัย




 ซึ่งมี ฟางข้าว(50%โดยปริมาตร) แกลบสด(20%) ปุ๋ยคอก(15%) กากกาแฟ(5%) จอก(5%) ใบไม้(5%) และใส่หินร็อค ประมาณ สาม-ห้า กิโลกรัมต่อ กล่องกลม ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๒๐เมตร และสูง ๑.๐๕-๑.๑๐เมตร(ซึ่งขนาดของกล่องกลมมีความสำคัญมากในการที่จะให้ได้ อุณหภูมิภายในกองหมัก สูง ๖๐-๗๐องศาเซลเซียสตามมาตรฐานสากล ที่จะควบคุมโรค แมลงเป้าหมาย และจะเป็นสภาพที่เหมาะสมยิ่ง ที่จุลินทรีย์จะทำการเจริญเติบโต ทำการย่อยกองปุ๋ยหมักอย่างรวดเร็ว ภายใน ๔๕วัน)





***************************************************************************************


Link to 2S' blogs >>>  http://www.bansuanporpeang.com/blog/1707


*************************************************************


 

ความเห็น

แวะมาดูก่อนครับ พรุ่งนี้จะมาอ่านแต่เช้า (เลียบแบบพี่จันทร์เจ้า555)

ทำความดีนะครับ จะได้มีความสบายใจ   msn/krawmovie@hotmail.com

เห็นทำได้ผลจริงๆ  ก็2sนี่แหละ  แต่ว่า  ถ้าปลูกผักขาย  โดยต้องกู้เงิน  อืม..คิดหนัก

เห็นแล้วบอกได้คำเดียว สุดยอด ค่ะ

 

น่าสนใจมาก ถึงเนื้อหาจะเยอะแต่เชื่อมั๊ยว่าอ่านจนจบ เป็นการปลูกผักที่มีการวางแผนและทำอย่างมีระบบมาก ชื่นชมค่ะขอให้สำเร็จทุกขั้นตอนในเร็ววันค่ะ

มีความรู้ดี เหมาะกับคนที่สนใจจะผลิตแบบจำหน่าย ลอกไปได้เลย

 

สุดยอดเลยครับพี่สองเอส จากครั้งแรกๆที่พี่ทำเป็นคลิป ตอนนี้ทำเป็นรายละเอียดนำเสนอได้ดีแท้ เล่นกันหนักๆ เอากันให้รู้ไปเลยว่า ตัวเลขต่างๆ นั้นมีที่มาที่ไปยังงัย ล้ำลึกมากครับ ขอแสดงความนับถือในสิ่งที่ทำเป็นอย่างยิ่งครับ

มาชื่นชมค่ะ และขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆๆที่นำมาแบ่งปันกันค่ะ ขอให้ประสบความสำเร็จทุกๆอย่างอย่างที่ตั้งใจไว้นะคะ

ความจนมีอย่างน้อยสามแบบ
(๑) จนเพราะไม่มี (จนวัตถุเงินทอง)
(๒) จนเพราะไม่พอ (มีวัตถุเงินทองแต่ไม่รู้จักพอ)
(๓) จนเพราะไม่เท่า (มีทุกอย่างแต่ยังเปรียบเทียบกับคนอื่นที่ มีเหนือกว่า)

เข้ามาชื่นชมค่ะ ผักงาม ๆ ทั้งนั้นเลย

 

 

msn:lekonshore@hotmail.com

ชีวิตคนเรานั้นสั้นนัก จงมีความสุข สนุกกับชีวิต อย่ามัวคิดอิจฉาใคร

กำลังหาสบการณ์หาข้อมูลอยู่ อยากทำบ้าง

ของรับเมล็ดฟักข้าว ครับผมLaughing

หน้า