"หมาน้อย...ไม่เห่า"

หมวดหมู่ของบล็อก: 

"หมาน้อย...ไม่เห่า"

ประมาณเดือนกว่าๆที่เอามาเลี้ยงดูกัน เลี้ยงไม่ยากเลย คอยให้อยู่ในสายตา ให้ “ย่า” คอยมองดูใกล้ๆ  เจ้าตัวน้อยนี้มีขนอ่อนนุ่มบางๆอยู่ทั่ว ชอบนัวเนียกับไม้หลักที่ปักไว้ใกล้ๆไม่ทิ้งห่าง ก็ตั้งชื่อเขาตามที่เจ้าของเดิมเรียกไว้ ว่า “หมาน้อย” เป็นเจ้าตัวน้อยที่ใครไปใครมานายใหม่จะชอบอวดและโชว์ให้เห็นความน่ารักของเขาที่เขาน่ารักไม่เบา ไม่ดื้อ ไม่ซน

ไม่ทำให้ใครต้องระคายแม้ปลายก้อย มาถึงวันนี้อายุเขาน่าจะสามเดือนเศษได้ วันแรกๆดูแลเขาใกล้ชิดทีเดียวต้องพาเขารับแดดยามเช้าแล้วพาหลบแดดใกล้เที่ยง เพราะย้ายที่อยู่ มาไกลจากสกลฯหรือบุรีรัมย์โน่น เจ้าของขายในราคาชีวิตละยี่สิบห้าบาทด้วยท่าทีที่ไม่ลังเลใจเลย  เรานัดดูตัวกันก่อนหน้านี้สักหนึ่งสัปดาห์  “หมาน้อย”พอรู้ว่าจะมาอยู่กับนายใหม่ เขาดูสลดไปสองสามวันแรก หลังปูที่หลับปัดที่นอนจัดเตรียมไว้ให้เขาและให้ได้อยู่ใกล้ๆกับ “ย่า” อย่างน้อยเขาก็ยังมี “ย่า” เป็นเพื่อน ดูว่าวันนี้เขาจะลืมๆบ้านเก่านายเก่าไปได้บ้างแล้ว

ก็อดดีใจไม่ได้ และที่ดีใจอีกอย่าง  คือ  เขา...ไม่ร้อง หรือ เห่า ไม่กัด ไม่ตะกาย เหมือนลูกหมาซนๆทั่วไป

 

อยากขอแนะนำตัว “หมาน้อย”  ว่าทำไมเป็นอย่างนั้น

อย่างแรกที่อยากบอกเล่าถึงหน้าตาเขา....เป็นอย่างนี้ค่ะ

 

 

ส่วนข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องมีดังนี้ค่ะ

 (จาก www.thrai.sci.ku.ac.th/node/879 )

 

 “หมาน้อย”เป็นไม้เถาเลื้อยพันชนิดหนึ่งที่ขึ้นตามคันนา ใบเป็นรูปหัวใจแต่โคนใบเป็นแบบก้นปิด หน้าใบและหลังใบมีขนปกคลุมหนา ขนมันนุ่มเหมือนขนหมาน้อย

นำไปทำเป็นอาหารได้ทั้งอาหารหวานและอาหารคาว ใช้ทำเป็นขนมวุ้นใส่น้ำเชื่อมกินได้ ขนมวุ้นเขียวๆ เหมือนเฉาก๊วยแต่สีเขียว  

มีสรรพคุณเป็นยาเย็น แก้ร้อนใน ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ใช้น้ำคั้นจากรากและใบของเครือหมาน้อยใส่ในแกงหน่อไม้แทนใบย่านางได้  เครือหมาน้อยทำเป็นวุ้นได้เพราะในใบมีสารเพคตินธรรมชาติถึงร้อยละ ๓๐ สารเพคตินนี้จะเป็นพวกเดียวกับวุ้นพุงทะลายหรือวุ้นในเม็ดแมงลัก เพคตินมีคุณสมบัติในการพองตัวอุ้มน้ำเป็นการเพิ่มกากอาหารให้ลำไส้ ช่วยในการขับถ่าย ลดระยะเวลาของอุจจาระที่ตกค้างอยู่ในลำไส้ ช่วยดูดซับสารพิษที่เกิดขึ้นจากการย่อยกากอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ หรือสารพิษตกค้างอื่นๆ เป็นการลดปัจจัยหรือความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทั้งยังลดการดูดซึมของน้ำตาลและไขมัน จึงเหมาะที่จะใช้เป็นอาหารของผู้ป่วยเบาหวานและคอเลสเตอรอลในเลือดสูงได้ดี

หมอยาพื้นบ้านทุกภาคนิยมใช้รากเครือหมาน้อยเป็นยาแก้ปวดเมื่อยตามตัว แก้ปวดหลังปวดเอว แก้ไข้ แก้เจ็บคอ ไข้ออกตุ่ม โดยจะฝนกินหรือต้มกินก็ได้ จะใช้เดี่ยวๆ หรือใช้ร่วมกับสมุนไพรตัวอื่นหรือใส่ในยาชุม (ยาตำรับที่มีสมุนไพรหลายชนิดผสมกัน)  ยังใช้รักษาประดงไฟ ซึ่งมีลักษณะอาการออกร้อนตามตัวซึ่งภาษาทางการแพทย์เรียกว่า burning sensation
 ใช้หัวของเครือหมาน้อยฝนกินกับน้ำแก้ปวดประจำเดือน แก้ไข้ทับระดู ปรับสมดุลของประจำเดือนให้เป็นปกติทั้งอาการที่มีประจำเดือนมากหรือน้อย อาการไม่สบายก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome, PMS) รวมทั้งรักษาสิวที่เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน โดยมีความเชื่อร่วมกันว่า เครือหมาน้อยเป็นยาปรับสมดุลฮอร์โมนของผู้หญิง 

หมอยาไทยบางที่ใช้เครือหมาน้อยเป็นยารักษาระบบทางเดินอาหารในหลายๆ อาการ เช่น ใช้เป็นยาช่วยย่อยอาหาร แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ จุกท้อง แก้กินผิด (อาการวิงเวียนศีรษะ มืนหัวหลังกินอาหารบางชนิด) แก้ท้องบิด แก้ท้องเสีย แก้เจ็บท้อง (อาการปวดเกร็งที่ท้อง) แก้ถ่ายเป็นเลือด โดยใช้รากต้มกิน หมอยาพื้นบ้านในอเมริกาใต้ก็ใช้เครือหมาน้อยในสรรพคุณเดียวกัน คือใช้ต้านอาการปวดเกร็งทั่วไป และใช้รักษาโรคลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome, IBS) โรคลำไส้อักเสบ เป็นต้น การศึกษาสมัยใหม่พบว่า เครือหมาน้อยมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อและต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด รวมทั้งเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดท้องเสีย

หมอยาในจังหวัดปราจีนบุรีแนะนำให้ขยี้ใบเครือหมาน้อยให้เป็นวุ้นพอกรักษาฝี อาการปวดบวมตามข้อ หรืออาการอักเสบของผิวหนัง ผดผื่น คัน รวมทั้งจากแมลงสัตว์กัดต่อย นอกจากนั้นยังใช้พอกหน้าสำหรับผู้หญิงที่เป็นสิวผิวพรรณไม่ดีอีกด้วย
ในกลุ่มหมอยาไทยใหญ่ โดยใช้ทั้งต้นต้มน้ำกิน หมอยาพื้นบ้านบราซิลก็ใช้เครือหมาน้อยในสรรพคุณนี้เช่นกันโดยใช้ราก ต้น เปลือก ใบ ของเครือหมาน้อยต้มกิน เพื่อใช้ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง นิ่ว ทางเดินปัสสาวะอักเสบ การศึกษาสมัยใหม่พบว่า สารสกัดจากเครือหมาน้อยสามารถลดความดันโลหิตในสัตว์ทดลองได้

ข้อควรระวัง! ไม่ควรใช้ในคนท้อง




วิธีการทำอาหารจากเครือหมาน้อย
เลือกใบเครือหมาน้อยที่มีสีเขียวเข้มที่โตเต็มที่แล้วประมาณ ๑๐-๒๐ ใบ ล้างให้สะอาดแล้วนำมาขยี้กับน้ำสะอาด ๑ ถ้วย เวลาขยี้ใบจะรู้สึกเป็นเมือกลื่นๆ เมื่อขยี้จนได้น้ำสีเขียวเข้มให้กรองเอากากใบเครือหมาน้อยออก บางคนคั้นน้ำจากใบย่านางใส่ลงไปด้วยจะทำให้วุ้นแข็งตัวเร็ว จากนั้นนำน้ำวุ้นที่ได้ปรุงรสตามชอบ หากต้องการรับประทานเป็นของคาวก็เติมพริกป่น ปลาป่น เนื้อปลาต้มสุก หัวหอม น้ำปลา ข้าวคั่ว ใบหอม และผักชีหั่น ถ้าอยากแซบก็ใส่น้ำปลาร้าแทนน้ำปลาก็ได้ หรือถ้าต้องการรับประทานเป็นของหวาน อาจคั้นน้ำใบเตยใส่เพิ่มลงไป การใส่เกลือลงไปเล็กน้อยจะช่วยให้วุ้นแข็งตัวเร็วขึ้น แต่อย่าใส่มากจะออกรสเค็ม ตั้งทิ้งไว้อีกประมาณ ๔-๕ ชั่วโมง น้ำคั้นจะจับตัวเป็นก้อนเหมือนวุ้น มักเรียกว่า วุ้นหมาน้อย แล้วเติมน้ำหวานหรือน้ำตาลลงไป รับประทานเป็นอาหารว่างที่ทั้งอร่อยและมีประโยชน์ทางยาอีกด้วย

หมายเหตุ
ชาวไทยพวนนิยมคั้นเครือหมาน้อยกับใบย่านาง จะทำให้วุ้นเครือหมาน้อยแข็งตัวได้ดีกว่า เพราะในใบย่านางจะมีเกลือแร่อยู่จำนวนหนึ่งที่ทำให้เกิดเป็นวุ้นได้เร็วขึ้น เช่นเดียวกับการใส่น้ำปลา น้ำปลาร้า หรือเกลือ ช่วยทำให้เกิดวุ้นได้ดีเช่นกัน

 

 

นี่ละค่ะ ความอยากชิม "วุ้นหมาน้อย" เป็นเหตุให้ต้องหา “ย่า” หรือ “เครือย่านาง” มาไว้ด้วย สักวันก็จะได้เอามาทำวุ้นหมาน้อยกัน  สนใจจะเลี้ยง “หมาน้อย”ไว้อีกสักชีวิตไหมคะ 

ความเห็น

อ่านตอนแรกก็นึกว่าหมาเป็นใบ้เบื่ออาหาร ไม่ยอมเห่าไม่ยอมกินข้าว 555

ที่แท้ก็ สมุนไพรเครือหมาน้อยนี่เอง ขอบคุณมากนะครับสำหรับข้อมูลดี

ทำความดีนะครับ จะได้มีความสบายใจ   msn/krawmovie@hotmail.com

คุณชัย ..ถ้าเขาเห่าต้องเป็นเรื่องแน่ค่ะ อีกหลายอย่างที่เขาไม่เหมือนหมาน้อยทั่วไปนะคะ 


แล้วที่บ้านมีเครือหมาน้อยมากไหมคะ น่าจะได้ลองทำวุ้นหมาน้อยดู

 จะลองดูครับ เพราะ เครือหมาน้อย ผมพอจะหามาปลูกได้ เคยขึ้นไปสำรวจบนเขาแล้วมีเจ้าต้นนี้อยู่ ส่วนย่านางมีปลูกอยู่แล้ว เมื่อทุกอย่างครบคงได้ลองทำกันล่ะทีนี้ ผลเป็นอย่างไรจะรายงานให้ทราบครับ

คุณกุหลาบพันปี โชคดีกว่าเป็นไหนๆเลยค่ะ เพราะมีครบเครื่อง แถมสามารถหาต้นนี้ได้อีก 


ที่บ้านนี้ เครือยังเล็กมาก ยังไม่อยากไปยุ่งอะไรเขามากกว่านี้ กะว่าแข็งแรงอีกสักนิดจะย้ายลงดิน


ถ้าอย่างไร ได้ลองทำวุ้นหมาน้อยแล้ว ชิมรสชาติ ผลเป็นอย่างไร เล่าสู่กันฟังนะคะ จะได้อดใจรอให้หมาน้อยโตอีกหน่อยนึงนะคะ แล้วขอลอกเลียนวิธีการจากคุณกุหลาบพันปีอีกที

อ่านที่ช่วงแรก(ไม่เลื่อนลงมาดูรูป) เข้าใจว่าเป้นหมาจริงๆ อ่านๆ ไปถึงได้รู้ว่าเป็นต้นไม้

เด็กผมเคยเอาใบไม้ชนิดหนึ่งมาทำเป็นวุ้นเล่น แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นชนิดเดียวกันหรือเปล่าครับ (เด็กเรียกว่าต้นใบวุ้น) เพราะลักษณะใบไม่เหมือนกัน ทุกวันนี้ไม่ค่อยได้เห็นแล้ว

สมัยเด็กเคยเล่นถ้าจำไม่ผิดคือเอาใบพู่ระหงส์มาตำคั้นเอาน้ำที่เป็นวุ้นๆออกมา ...อาจมีใบไม้หลายอย่างนะคะ ที่มีสารแพคติน แต่ก็ไม่ทราบเหมือนกันค่ะว่าใบวุ้นที่ว่านี้อย่างเดียวกันหรือไม่ บางอย่างต้นเดียวกันแต่พอต่างที่ก็เรียกชื่ออีกแบบหนึ่ง แตคุณวิทย์ว่าไม่เหมือนกันก็อาจเป็นคนละต้นก็ได้ อันนี้ไม่ทราบจริงๆน่ะค่ะ (เผื่อว่าท่านใดมีข้อมูลบอกเล่าก็จะดีมากเชียวค่ะ)

พี่สายพินหลงให้เข้าใจผิดเสียค่อนเรื่อง


มาเฉลยตอนรูป โล่งอกไป

 

 

msn:lekonshore@hotmail.com

ชีวิตคนเรานั้นสั้นนัก จงมีความสุข สนุกกับชีวิต อย่ามัวคิดอิจฉาใคร

คุณเล็ก วันแรกได้หมาน้อยมา ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ ดีใจว่าหมาบ้านเราไม่ทำเสียงดังให้ใครเดือดร้อน รอบบ้านมีคนเลี้ยงมากค่ะ เห่ากันขรมราวกับวงดนตรี เพื่อนบ้านที่ไม่เลี้ยง ก็หงุดหงิดเสียงไปบ้างเหมือนกัน


คุณเล็กสนใจเลี้ยงไว้บ้างก็ดีนะคะ เห็นว่า เครือหมาน้อย ปัจจุบันก็ยังพอจะหาได้บ้างน่ะค่ะ

เคยได้ยินชื่อมานาน  เพิ่งเห็นภาพวันนี้ค่ะ

"เชื่อในผล แห่งการทำความดี"

ไม่เคยเห็นมาก่อนแม้แต่ภาพ พอถามจากแม่ค้าขายผักทางอีสานที่มาขายวันเสาร์ว่ารู้จักไหม  แม่ค้าก็เต็มใจหามาให้ในอาทิตย์ถัดมาน่ะค่ะ เลยได้เห็นของจริงเลย  อีกอย่างค่ะ ใบหมาน้อยจะดูแปลกตามากกว่าใบอย่างอื่น คือ ขนที่ใบนี้จะนุ่มมือ ลักษณะที่เห็นคล้ายขนลูกสุนัขหรือลูกแมวที่เพิ่งเกิดน่ะค่ะ พอเห็นครั้งเดียวจากของจริง ต่อไปจำแม่นเลยค่ะ

หน้า