วิศวกร? หรือ วิศวเกษตร? ตอนที่ 2

หมวดหมู่ของบล็อก: 

ตอนที่ 2 วิกฤต คือ โอกาส


หลังจากที่ทัศนคติที่ผมมีต่อรูปแบบการทำงานบริษัทมันเปลี่ยนแปลงไป ความทุ่มเทมันก็เริ่มลดลง แต่ความรับผิดชอบยังเท่าเดิมนะครับ ทำหน้าที่ของตัวเองที่ได้รับมอบหมายเต็มร้อยเหมือนเดิม แต่เริ่มศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับการประกอบอาชีพอิสระ พวกธุรกิจส่วนตัวเพิ่มมากขึ้น ผมเริ่มท่องไปในโลกอินเตอร์เน็ทมากขึ้น เพื่อดูว่าตอนนี้คนเขานิยมทำอะไรกันและมีอะไรที่เหมาะสมกับเรา และเราพอจะทำได้ ผมตั้งโจทย์ในใจว่า อนาคตข้างหน้าผมควรทำอะไร? จนกระทั้งวันหนึ่งผมได้เข้าไปใน Wep.Youtube.Com แล้วได้ไปเห็นคลิป “ลุงนิลคนของความสุข” เกษตรกรผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยล้มเหลวจนเคยคิดที่จะจบชีวิตตัวเอง แต่แล้วเขาก็พลิกชีวิตตัวเองกลับมาประสบความสำเร็จในการทำการเกษตรแบบผสมผสาน  โดยดำรงตนอยู่บนพื้นฐานของความพอเพียง   ผมเปิดดูสารคดีของลุงนิลด้วยกันกับแฟน ซ้ำแล้วซ้ำอีก ด้วยความสนใจและสงสัยว่า ลุงนิลทำได้อย่างไร? และการเกษตรผสมผสานมันเป็นอย่างไร? ดูซ้ำหลายต่อหลายครั้ง รวมทั้งค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมใน Wep. Google.Com เกี่ยวกับการเกษตรแบบผสมผสาน จนได้มีโอกาสพบเห็นเกษตรกรตัวอย่างท่านอื่นๆ อีกมากมายหลากหายรูปแบบ แต่ละคนจะมีรูปแบบของตัวเอง แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน ก็คือ การทำกิจกรรมบนพื้นฐานของคำว่า “พอเพียง”


ตั้งแต่ครั้งแรกที่ผมได้รู้จักลุงนิลบนโลกอินเตอร์เน็ท ผมก็ให้คำตอบกับคำถามในใจของตัวเองได้แล้ว ว่าผมควรทำอะไร? คงไม่ต้องตอบนะครับว่า มันคืออะไร


แต่ในใจส่วนลึกของจิตใต้สำนึกก็ยังมีข้อขัดแย้งอยู่อีกหลายอย่าง เช่น จะทำเกษตรแล้วเงินทุนละมีหรือยัง? แล้วรถที่ยังต้องผ่อนอยู่ทุกเดือนอีกละจะเอาเงินที่ไหนส่งค่างวด? ไหนจะเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ต้องส่งคืนทุกปีอีกละ? โอแม่เจ้า!!!  ใจมันเต็มร้อย แต่ ความพร้อมไม่มีเลยเอาเสียเลย!  ทำให้ผมได้แต่ฝัน..ฝัน..แล้วก็ฝัน ว่าเมื่อไหร่ที่ผมพร้อมผมจะกลับไปทำการเกษตรแบบผสมผสาน นั่นซิ!!! แล้วมันเมื่อไหร่ละ? หลายคนคงติดปัญหาเดียวกับผม


แต่แล้วโอกาส (วิกฤติ) ก็มาถึง เมื่อมีคำสั่งแต่งตั้งให้ผมไปรับตำแหน่ง Supervisor ฝ่ายผลิต แต่ยังคงทำงานควบในตำแหน่ง Supervisor ฝ่ายวิศวกรรมการผลิต ในตอนแรกผู้บริหารบอกว่า “ต้องการให้ผมเข้าไปช่วยแก้ปัญหาที่มีอยู่เยอะแยะมากมายในฝ่ายผลิต” ผมก็เลยไม่คิดอะไรมาก ก็ยังคงทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป ถึงแม้งานจะหนักขึ้นเป็นเท่าตัว จนผ่านไปสามเดือน ก็มีคำสั่งแต่งตั้งออกมาอีกรอบ คราวนี้ให้ผมไปรับตำแหน่ง Supervisor ฝ่ายผลิตวัตถุดิบด้านเส้นใย Polymer  เสริมความแข็งแรง เพิ่มอีกหนึ่งตำแหน่ง ตอนนี้ก็ควบสามกระทรวง มันส์มาก!! ในหนึ่งวันผมต้องนั่งทำงานสามโต๊ะ แต่ก็ยังคงทำงานที่รับผิดชอบต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้สึกว่าภาระงานเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพราะเดิมทีผมก็ทำงานให้กับทั้งสามฝ่ายนี้อยู่แล้ว แต่เป็นงานสนับสนุน มันจึงไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับผม บางครั้งพี่ๆ น้องๆ ที่บริษัทก็มีแซวบ้างว่า “ผมไปเหยียบตาปลาผู้บริหารบ้างหรือเปล่า!” จนเวลาผ่านไปอีกประมาณสามเดือนหนังสือแต่งตั้งก็ออกมาอีกฉบับ คราวนี้หนักหน่อย คือ มีคำสั่งให้ยุบหน่วยงาน ฝ่ายวิศวกรรมการผลิตที่ผมเป็นผู้บุกเบิกมาตั้งแต่ต้น และสั่งย้ายผู้ใต้บังคับบัญชาในสังกัดผมทั้งหมดให้ไปสังกัดกับฝ่ายผลิต และแต่งตั่ง (แต่งตั้งไม่ใช่โยกย้าย!) ด่วนผมไปรับตำแหน่ง Supervisor ฝ่ายซ่อมบำรุง ประมาณว่าประกาศออกวันนี้พรุ่งนี้ให้มีผลบังคับใช้  ย้ายด่วน!!! แต่ผมก็ยังคงยิ้ม แล้วบอกกับตัวเองว่า “ชีวิตผมปีนี้มันคงติดสปริงก็เลยโดนเด้งบ่อย ช่วงระยะเวลาไม่ถึงปี เด้ง 3 ที่” แต่ก็ดีหน่อยเพราะรอบนี้ผมรับผิดชอบเพียงกระทรวงเดียว แต่ก็งงๆ เพราะจะให้ผมไปทำอะไรที่หน่วยงานซ่อมบำรุง  ผมเลยไปถามผู้จัดการฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่อนุมัติให้ย้าย ว่า “จะให้ผมไปทำอะไรที่หน่วยงานซ่อมบำรุงครับ?” แต่กลับไม่มีใครให้คำตอบได้ มีเพียงคำตอบเดียว คือ “เองต้องไป ถ้าไม่ไปเท่ากับฝ่าฝืนคำสั่งผู้บังคับบัญชา” เอาแล้วไง!! สงสัยจะเหยียบตาปลาเข้าแล้วจริงๆ


เย็นวันนั้นผมรีบโทรศัพท์กลับบ้านเพื่อปรึกษาพ่อกับแม่ ว่าผมควรทำอย่างไรดี? ในตอนนั้นพ่อกับแม่บอกกับผมว่า “ให้ทนทำไปก่อนหรือไม่ก็ลองหางานใหม่ดู เพราะแม่ยังไม่อยากให้กลับบ้านตอนนี้ กลับมาแล้วไม่รู้จะมาทำอะไร ยางแปลงใหม่ก็ยังกรีดไม่ได้” เท่ากับว่าคงเหลือทางเลือกให้ผมสองทาง ทางแรก คือ ทนทำงานที่นั่นต่อไปและทำมันให้ดีที่สุด กับทางเลือกที่สอง คือ เปิดโอกาสให้ตัวเองโดยการหางานใหม่ที่ดีกว่า รุ่งเช้าของอีกวันผมเลยตัดสินใจเลือกทางเดินที่สอง และยื่นใบลาออกเพื่อเตรียมหาที่ทำงานใหม่ วันนั้น ผู้จัดการฝ่ายซ่อมบำรุงพูดกับผมว่า “พี่คงเป็นผู้จัดการที่แย่มากๆ รับเองมาเป็นลูกน้องได้ไม่ถึงครึ่งวันเองก็ลาออก”


หลังจากที่ผมยื่นใบลาออกสิ่งดีๆ ก็เริ่มเข้ามาในชีวิต เริ่มตั้งแต่ ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลเดินเข้ามาบอกกับผมว่า “เวลาที่เหลืออีก 30 วัน เองไม่ต้องทำงานแล้วนะ! ให้ใช้เวลาเข้าเน็ทหางานแล้วกันวันไหนจะไปสมัครงานหรือสัมภาษณ์งานก็ไปได้เลยพี่อนุญาต พี่ก็ช่วยเองได้แค่นี้” เดือนนั้นผมก็เลยสบายหน่อย ตอกบัตรรับเงินเดือนโดยไม่ต้องทำงาน วันๆ ก็ไม่ต้องทำงานเข้าเน็ทหางานบ้างก็ไปสัมภาษณ์งาน  (แต่สำหรับใครที่เจอปัญหาอย่างผมตอนนั้น ผมแนะนำให้หางานให้ได้ก่อนที่จะยื่นใบลาออกนะครับ เพราะท่านอาจจะไม่โชคดีเหมือนผม) แต่ก็ยังมีอีกสิ่งที่ผมทำเสมอๆ คือ สอนงานต่อให้กับพี่อีกคนที่มารับช่วงงานต่อจากผม โดยหลังจากผมยื่นใบลาออกไม่ถึง 15 วัน ผมก็ได้โอกาสจากบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แห่งหนึ่งที่อยู่ไม่ไกลกันมากนักให้ผมเข้าไปทำงาน โดยเสนอฐานเงินเดือนที่สูงกว่าเก่า ด้วยเจ้าของบริษัทคาดหวังให้ผมเข้ามาช่วยงาน เพราะท่านต้องการคนมาช่วยเรื่องการปรับปรุงกระบวนการผลิตและวิเคราะห์ข้อมูลการผลิตทั้งหมด ซึ่งมันเป็นงานที่ผมถนัด ผมเลยตอบรับโอกาสนั้น แต่ทว่าผมก็ทำได้เพียง 6 เดือน หน้าที่หลักของผม คือ ให้คำปรึกษา และวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของบริษัทเพื่อเตรียมแผนการปรับปรุงบริษัท (ปรับปรุงแบบยกเครื่องใหม่กันเลยก็ว่าได้) จากประสบการณ์ที่ผมมี ทำให้ผลงานต่างๆ ในช่วงการทดลองงานเป็นที่ยอมรับแก่ท่านเจ้าของบริษัท แต่ดูๆ แล้วไม่ค่อยเป็นที่พึงพอใจในระดับผู้บริหารเท่าไหร่นัก อาจจะด้วยเหตุที่ผมทำงานตรงให้กับเจ้าของบริษัทก็เป็นได้ ซึ่งก่อนที่ท่านจะตัดสินใจทำเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงบริษัทท่านมักจะปรึกษาผมก่อนเสมอ แล้วจึงปรึกษาผู้บริหารท่านอื่นๆ อีกครั้ง ด้วยสาเหตุนี้เลยทำให้การทำงานของผมยากขึ้นและอึดอัดใจขึ้นทุกวัน คงเป็นด้วยวัยวุฒิของผมที่เด็กเกินไปในสายตาผู้บริหาร เพราะตอนนั้นผมอายุเพียง 30 ปี ในขณะที่ผู้บริหารท่านอื่นล้วนแล้วแต่มีอายุมากกว่าผม นี่แหละที่เขาว่า “คุณวุฒิได้แต่วัยวุฒิไม่ผ่าน!”


จนวันสุดท้ายของความอดทนมาถึง เมื่อถึงวันที่ผมต้องนำเสนอแผนการปรับปรุงประจำปี 2010 แก่ผู้บริหารและเจ้าของบริษัท ซึ่งแผนงานตัวนี้เจ้าของบริษัทได้ทบทวนมาแล้วหนึ่งรอบก่อนที่ผมจะมานำเสนอ แต่ทว่าคำตอบที่ผมได้รับกลับมาจากผู้บริหาร คือ “เรายังไม่พร้อมที่จะปรับปรุงบริษัทตามที่คุณนำเสนอมา เพราะทุกวันนี้ทั้งปัญหาและงานที่ทำอยู่ก็ล้นมืออยู่แล้ว”  ผมเลยถามกลับไปว่า “ก็ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ล้วนแต่เกิดจากการที่เราไม่มุ่งเน้นเรื่องการปรับปรุง แต่เอาเวลามาเสียไปกับการแก้ปัญหาประจำวันไม่ใช่เหรอ?” สถานการณ์เริ่มตึงเครียดครับ ทั้งเจ้าของบริษัท ผู้บริหาร และผม สุดท้ายก็ได้ข้อสรุป คือ หยุดเรื่องนี้ไว้ก่อนไว้มีความพร้อมเมื่อไหร่ค่อยมาคุยกันอีกครั้ง ผมบอกกับตัวเองมาตลอดว่าถ้าที่นี่ไม่ใช้ที่ๆ เหมาะกับผม คราวนี้คงถึงเวลาเสียที ที่ผมจะต้องกลับบ้าน ผมจะได้ทำอะไรเพื่อตัวเองและครอบครัวบ้าง ด้วยเหตุว่า “ถ้าที่นี่ยังไม่พร้อมที่จะปรับปรุงผมก็คงไม่มีประโยชน์กับที่นี่ เพราะคุณจ้างผมมาปรับปรุงบริษัท แต่หากไม่อนุญาตให้ผมปรับปรุง ผมก็คงหมดประโยชน์” เย็นวันนั้นผมเลยตัดสินใจลาออก แต่ผมก็ไม่ได้ให้เหตุผลกับบริษัทว่าทำไมผมจึงลาออก แต่ท่านเจ้าของบริษัทคงรู้ดีว่าผมลาออกด้วยเหตุอะไร


เช้าวันรุ่งขึ้นผมและแฟนก็ตัดสินใจเดินทางกลับบ้านทันที เนื่องจากว่าก่อนหน้านี้ผมได้เล่าถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำงานที่นี่ให้พ่อกับแม่ฟังมาโดยตลอด ในขณะที่เมื่อก่อนผมไม่เคยเล่าอะไรเกี่ยวกับเรื่องงานให้ท่านฟังเลย เพราะคิดว่ามันไม่จำเป็น เล่าไปท่านคงไม่เข้าใจ ซึ่งเป็นความคิดความเข้าใจที่ผิดมาโดยตลอด มันกลายเป็นว่าเราเก็บปัญหาต่างๆ ไว้คนเดียว จนสุดท้ายมันระเบิดออกมา  แต่กับการตัดสินใจกลับบ้านครั้งนี้ผมกลับรู้สึกว่ามีความสุข เพราะพ่อกับแม่ท่านก็อนุญาต และพร้อมที่จะเผชิญปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นไปด้วยกันกับผม จนกระทั่งสายๆ เมื่อผมและแฟนเดินทางลงใต้มาถึงจังหวัดชุมพร ทางบริษัทก็โทรมาหาผมอีกครั้ง พร้อมทั้งเสนอเงื่อนไขเพื่อแรกกับการให้ผมกลับมาทำงาน  โดยจะปรับเพิ่มเงินเดือนให้ผมอีกเป็นจำนวนเงินที่สูงพอสมควร  (ขออนุญาตไม่บอกตัวเลขนะครับ) เพราะใจผมตอนนั้นมันเปลี่ยนไปแล้ว มันไม่ได้อยู่ที่บริษัทแล้ว ถึงแม้ตอนนั้นตัวผมอยู่ชุมพรแต่ใจผมมันไปไกลถึงพังงาแล้ว ใจมันเริ่มคิดถึงแปลงเกษตรที่เขียวชอุ่ม คิดถึงความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ผมเลยปฏิเสธข้อเสนอนั้นไปโดยไม่ลังเล


ผมว่าแรงกระตุ้นเหล่านั้นมันเป็นโอกาส (วิกฤต) ที่ทำให้ผมได้เริ่มต้นการใช้ชีวิตแบบไม่ยึดติดกับตัวเงินเป็นครั้งแรกเลยก็ว่าได้  และเมื่อเงินไม่ใช้เงื่อนไขที่สำคัญที่สุด      (ไม่สำคัญที่สุด กับ ไม่สำคัญไม่เหมือนกันนะครับ!) เหล่าข้ออ้างต่างๆ ที่ทำให้ผมไม่สามารถทำตามฝันได้ในตอนแรกก็กลายเป็นเรื่องเล็กลงทันที เพราะตอนนี้ผมได้ตัดสินใจที่จะเริ่มใช้ชีวิตในแบบของลูกวิศวเกษตรบนพื้นฐานของความไม่พร้อม หรือที่เรียกว่า “เริ่มจากติดลบ!” นั่นเท่ากับว่าผมคงต้องพยายามให้มากกว่าคนอื่นๆ


ต่อจากนี้ไป ก็อยู่ที่ตัวผมแล้วครับว่าจะใช้ประโยชน์จากวิกฤตที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ให้เป็นโอกาสได้อย่างที่ตั้งใจไว้หรือไม่?


ขอบคุณทุกปัญหา! ที่ทำให้ผมเข้มแข็งและลุกขึ้นใหม่ได้อีกครั้ง!


ขอบคุณทุกแรงกดดันที่ทำให้ผมอ่อนแอจนถึงที่สุด! เพราะ มันช่วยให้ผมตัดสินใจอะไรต่อมิอะไรได้ง่ายขึ้น!


ขอบคุณทุกวิกฤต! ที่ทำให้ผมมีโอกาสคิด และทำในสิ่งใหม่ๆ


ขอบคุณกำลังใจ! ที่ทำให้ผมรู้ว่า  ผมไม่ได้ยืนอยู่เพียงลำพัง


สำหรับตอนหน้าอาจต้องใช้เวลาสักหน่อยนะครับ เพราะปลายฝนแล้วคงต้องเร่งมือปลูกต้นไม้ในสวนก่อนครับ


 ติชมเต็มที่เลยครับเพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงในครั้งต่อๆ ไป


ความเดิมตอนที่ 1 http://www.bansuanporpeang.com/node/5981 


R-Boo


ความเห็น

สวัสดีครับพี่ผู้ใหญ่โสธร


ก่อนผมจะตัดสินใจพี่ผู้ใหญ่ก็เป็นอีกหนึ่งต้นแบบทางความคิดของผมเลยก็ว่าได้


เพราะผมได้อ่านบล๊อคของพี่ผู้ใหญ่มาตลอดอ่านแล้วเป็นแรง!!


ขอบคุณมากๆ ครับ


R-Boo

มหาสมุทรยิ่งใหญ่ได้ด้วยอยู่ต่ำกว่าแม่น้ำสายเล็กๆ!

อ่านบทความของ R-Boo แล้วเรามีหลายอย่างคล้ายๆกัน

แต่ตอนนี้ที่ยังไม่ออก เพราะแรงกฎดันยังไม่มากพอ

ต้องขออีกหน่อย...


เขียนได้ดี จะติดตามตอนต่อไปครับ

 .... 

อารมณ์ผมตอนนั้นมันกดดันสุดๆ ประมาณว่าไม่มีผืนดินตรงไหนในบริษัทเหลือให้ผมยืนเลย


55555


แต่ตอนนี้นึกขอบคุณเขาแล้ว เพราะผมว่าตอนนี้ผมพบความสุขในแบบของผมแล้ว


R-Boo

มหาสมุทรยิ่งใหญ่ได้ด้วยอยู่ต่ำกว่าแม่น้ำสายเล็กๆ!

เป็นกำลังใจให้วิศวเกษตรคนใหม่นะคะ

ผมจะพยายามทำให้ดีที่สุดครับ


R-Boo

มหาสมุทรยิ่งใหญ่ได้ด้วยอยู่ต่ำกว่าแม่น้ำสายเล็กๆ!

เหมือนฝาแฝดอินจันนะคะ ถ้าความรู้สึกกับความคิดที่ลงตัวไปด้วยกัน


พลังอำนาจในการตัดสินใจ พุ่งตรงอย่างเดียว


อะไรก็ไม่ใช่ปัญหา อะไรก็ไมใช่สิ่งที่จะยื้อให้ต้องอดทนต่อไป


ทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นแรงกดดัน ปัญหา หรือวิกฤตไม่สามารถจะมาขวางได้


ยินดีกับการตัดสินใจ เป็นกำลังใจกับสิ่งที่ต้องก้าวไปข้างหน้า


เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะว่า...บทเรียนทำให้เข้มแข็งขึ้น

ตอนนี้ผมเข้มแข็งขึ้น แต่ก็กำลังอ่อนแอเล็กน้อยกับเรื่องการทำการเกษตร


ด้วยความที่ยังใหม่ เลยต้องขอคำแนะนำจากพี่ๆ ด้วยนะครับ


R-Boo

มหาสมุทรยิ่งใหญ่ได้ด้วยอยู่ต่ำกว่าแม่น้ำสายเล็กๆ!

  สนับสนุนการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ของคนที่สังคมยกย่องให้เป็นคนต้นแบบ เพื่อที่จะไม่ต้องลองผิดลองถูกด้วยตัวเองมากจนเกินไปครับ ช่วงนี้อาจหนักหน่อยตรงที่ต้องเริ่มคัดกรองความรู้แหล่ะครับ รักษาแนวคิดแบบนี้เอาไว้ให้ได้ อย่าไปตาโตเด็ดขาดส่วนใหญ่จะตาโตกันมาก สำหรับคนที่ปรับตัวเข้ามาหาชีวิตแบบนี้

" ความพอเพียงนี่แหละครับ กระดุมเม็ดแรกที่ต้องติดให้ถูกต้อง "

  ร่วมเป็นกำลังใจครับ

ผมจะจำกระดุมเม็ดแรกนี้ไว้ครับ


R-Boo

มหาสมุทรยิ่งใหญ่ได้ด้วยอยู่ต่ำกว่าแม่น้ำสายเล็กๆ!

ขอเป็นกำลังใจให้ครับ น้อง

หน้า