เรื่องเก่าๆมาเล่าขานให้ลูกหลานฟัง
สืบเนื่องจากการไปค้นห้องเก็บของ อันเป็นเหตุให้บังเอิญไปพบเจอะเจอขวดบ่มไวน์ท้อแท้ ที่หลงหูหลงตาอยู่ถึงแปดปี (อีกขวดที่ทำพร้อมกัน หมดภายในหกเดือน) ได้เปิดดูของเก่าๆที่เก็บไว้ จึงได้เกร็ดเล็กๆน้อยๆมาฝอยให้ลูกหลานฟัง
อันดับแรก คือนี่ครับซีดีชุดผู้ใหญ่ลี ของวงบางกอกแซกโซโฟนควอเตด
เป็นซีดีที่หายากที่สุดในประเทศไทย เพราะผมเก็บบ่มมาตั้ง 12 ปีแล้วเพิ่งจะเจอ (เก็บซ่อนอยู่ในห้องเก็บของนี่เอง บ่มนานกว่าไวน์ท้อแท้อีกนะเนี่ยะ) เคยพยายามหาซื้อจากแหล่งต่างๆ ที่เค้าร่ำลือกันว่ามีซีดีที่หายากจำหน่าย จนหมดความพยายามไปแล้ว สุดท้ายก็มาเจอซุกเอาไว้ในห้องเก็บของนี่เอง บอกตรงๆว่าตอนที่แผ่นนี้ออกวางจำหน่ายใหม่ๆผมไม่กล้าฟัง จนเวลาผ่านไปสักสิบปีผมถึงสนใจอยากจะฟัง เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า.....
ณ.ช่วงเวลานั้น ผมทำมาหากินประกอบอาชีพเป็นซาวด์เอนจิเนียร์ จึงเป็นโอกาสที่ได้มีส่วนร่วมในผลิตผลงานชิ้นนี้ โปรเจ็คเป็นงานในลักษณะทดลองทั้งทางด้านดนตรีและการบันทึกเสียง คือด้านดนตรีนอกจากแซกโซโฟนซึ่งเป็นเครื่องดนตรีหลักของวงนี้แล้วยังมีการนำเครื่องตีเช่นมาริมบ้า ตะโพนและเปิงมางคอกมาร่วมบรรเลงด้วยและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงทำนองพื้นบ้านเก่าๆเช่น น้อยใจยา เมาะอีนังลามอ บุหงารำไป ต้อนวัวขึ้นภู ซัมเป็ง หรือเพลงที่รู้จักกันดีอยู่แล้วเช่น ค้างคาวกินกล้วย ผู้ใหญ่ลี และบัวขาว(เพลงที่ผมชอบเป็นพิเศษ)ได้ถูกนำมาเรียบเรียงและบรรเลงได้อย่างน่าสนใจและไพเราะเสนาะโสตยิ่งนัก
ส่วนด้านการบันทึกเสียงนับได้ว่าเป็นการทดลองอย่างแรงนิ (แหลงใต้บ้านเรา) เพราะเป็นการบันทึกในระบบดิจิตอลล้วนๆแบบ DDD คือบันทึก แก้ไข และลงสื่อเป็นแบบดิจิตอลล้วน (เพื่อนสมาชิกลองไปหยิบซีดีเก่าๆเมื่อประมาณสิบปีที่แล้วมาดูซิครับ ส่วนมากเราจะเห็นมีคำว่า AAD อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมเล็กๆ นั่นคือในขั้นตอนการบันทึกเสียงและการแก้ไขจะยังทำในรูปแบบอนาล็อกอยู่) ในการบันทึกเสียง จากการที่ผมมีไมโครโฟนแบบ Match paired (ไมค์สองตัวที่มีผลตอบสนองต่อความถึ่เหมือนกันมากที่สุด) มี Microphone Pre-amplifier ชนิดหลอด บวกกับผมเพิ่งได้เครื่องบันทึกเสียงลงฮาร์ดิสค์รุ่นใหม่ล่าสุด(ในสมัยนู้น)มาใช้ ผมเลยเสนออาจารย์ ดร.สุกรี (ผอ.วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล) ว่าผมจะอัดเสียงระบบ xy-stereo ซึ่งจะต้องอัดนอกห้องสตูดิโอ โดยผมจะใช้ไมค์สองตัววางเลียนแบบตำแหน่งของหูมนุษย์ และอีกสองตัวเก็บเสียงรอบๆอีกนิดหน่อย ซึ่งด้วยวิธีนี้จะได้มิติของเสียงทางด้านความลึก หรือตำแหน่งหน้าหลังของเสียงดนตรีด้วย ด้วยเหตุนี้เองตัวผมจึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ของอัลบั้มชุดนี้ ในการบันทึกเสียงสิบหกเพลงต้องเปลี่ยนสถานที่ถึงห้าแห่ง หลังจากบันทึกเสร็จผมก็บินไปธุระที่ต่างประเทศปล่อยให้ลูกน้องทำหน้าที่ตัดต่อ แก้ไข ทำมาสเตอร์ส่งโรงงานเพื่อผลิตซีดี พอได้ซีดีมาตอนนั้นผมรู้สึกเบื่อมากๆ เพราะตอนอัดผมก็ต้องนั่งฟังบืนฟังเป็นร้อยๆเที่ยวแล้ว และอีกสาเหตุก็คงเป็นอย่างที่ผมเคยเกริ่นเอาไว้คือ ไม่กล้าครับผมกลัวความผิดหวัง ทุ่มแรงกายแรงใจไปมากกับงานสร้างสรรค์ประเภท Experimental กลัวว่าจะกระทบถึงงานชิ้นต่อๆไป
แต่ถึงตอนนี้ ถ้าใครมีความสามารถหามาไว้ในครอบครองได้ ในฐานะนักดนตรีเก่าและซาวด์เอนจิเนียร์ ผมขอฝากอัลบั้มชุดนี้ไว้ให้พิจารณา (กรุณาอุดหนุนแผ่นแท้นะครับ อิอิ คงหาซื้อกันได้หรอกนะ ขนาดผมหาซื้อมาตั้งนานยังไม่ได้เร้ย)
อันดับต่อไปเกี่ยวเนื่องกับวันพ่อ ซึ่งปรกติสองปีที่ผ่านมาทุกช่วงวันเกิดผม วันแม่ วันปิยะฯ และวันพ่อ ผมจะอาสาไปเป็นธรรมบริกรคอยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมวิปัสสนากรรมฐานครั้งละสิบวัน แต่วันพ่อปีนี้จำเป็นต้องงด เพราะต้องไปเป็นลูกกตัญญูเนื่องจากคุณพ่อได้รับเลือกให้เป็นพ่อดีเด่น และผมก็ไปค้นเจอสิ่งนี้เข้าในห้องเก็บของ เป็นกล่องดิสค์ขนาด 5.25" หลานๆคงงงกันละซี่ ยุคปัจจุบันขนาดดิสค์ 3.5" ก็แทบจะไม่มีให้เห็น ตอนที่ลุงเรียนน่ะใช้ดิสค์ขนาด 8" อีกตะหาก นี่ยังไม่นับเวลาทำการบ้านต้องแบกกระดาษเจาะรูเป็นปึ๊งๆส่งให้เครื่องคอมพิวเตอร์รันโปรแกรมเพื่อส่งอาจารย์ นี่ครับดิสค์แผ่นหนึ่งที่ผมเจอในกล่องนี้
เป็นแผ่นเก็บสำรองงานของผมตั้งแต่เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๓๑ ช่วงนั้นผมได้รับการร้องขอจากผู้มีพระคุณท่านหนึ่งให้ช่วยทำงานด้านสื่อสารข้อมูลให้หน่อย (ก่อนหน้านั้นไม่เกินสองปี AIT เพิ่งทดลองเชื่อมต่อข้อมูลสื่อสารระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในประเทศไทย และ IBM เพิ่งจะวางตลาด IBM PC ในเมืองไทย) เมื่อตกปากรับคำแล้วก็นัดไปพบลูกค้าเพื่อสำรวจและเก็บข้อมูลความต้องการของลูกค้า ท่านผู้นั้นนัดผมให้ไปพบที่ประตูวัดพระแก้วตอนสายๆวันหนึ่ง ระหว่างเดินทางผมคิดว่างานนี้คงจะมีความสำคัญมาก ท่านอาจจะให้ผมไปสาบานต่อหน้าพระแก้วมรกตก่อนรับงาน พอถึงเวลานัดหมาย ท่านก็พาผมเดินเข้าไปในส่วนพระบรมมหาราชวังแต่ลัดเลาะไปทางปีกขวาขึ้นไปบนชั้นสองของตึกเก่าๆ พบกับสุภาพสตรีท่านหนึ่งที่จะคอยให้รายละเอียดเกี่ยวกับงานที่ผมจะต้องทำ และเนื่องจากเป็นงานการกุศลผมจึงสามารถที่จะเข้ามาทำให้ได้เฉพาะช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ซึ่งก็เป็นอันตกลง หลังจากนั้นผมเดินลงมาด้วยน้ำตาคลอเบ้า จวบจนพ้นประตูพระบรมมหาราชวังไปแล้วนั่นแหระถึงจะรู้สึกตัว เหตุใดนั่นหรือครับ................
เมืองไทยปี 35 อาจารย์หลายๆมหาวิทยาลัยเพิ่งเริ่มมีการสื่อสารข้อมูลจากบ้านมายังคอมพิวเตอร์ที่คณะเพื่อตรวจการบ้านนักศึกษา ในปี 37 เริ่มมีการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อค้นคว้าหาข้อมูลเนื่องจากมีเครือข่ายขนาด 64Kbps ซึ่งเร็วที่สุดในประเทศไทย เทียบกับปัจจุบัน 6 Mbps ที่พวกเราๆบ่นว่า ทำไมยังช้าฟระ ลองนึกย้อนสภาพดูซิครับ โจทย์ที่ผมได้รับเมื่อยี่สิบกว่าปีมาแล้วคือ ให้เครื่องคอมพิวเตอร์อีกเครื่องสามารถต่อเข้ามาใช้งานเครื่องที่ตึกนี้ได้ไม่ว่าจากที่ใดในประเทศไทย และไม่ว่าเวลาใดๆก็ตาม นั่นคือต้องสามารถรองรับสปีดของการสื่อสารที่อาจจะเหลือเพียงแค่ 150 bps และสูงสุดก็ไม่มีทางเกิน 2400 bps ผมน้ำตานองเพราะงานหินหรือครับ เปล่าเลยอาจจะท้าทายความสามารถอยู่บ้าง แต่การที่ครั้งหนึ่งในชีวิตจะได้มีโอกาสถวายงานพระองค์ท่าน แต่สาเหตุใหญ่ที่ทำให้ผมน้ำตาไหลพรากก็เมื่อทราบว่าพระองค์ท่านทรงงานหนักมาก ข้อมูลทั้งหมดจะเก็บอยู่ที่สำนักราชเลขาฯ พระองค์จึงมีพระประสงค์ที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้น เพื่อที่พระองค์จะทรงงานได้ตลอดเวลา และงานหนึ่งซึ่งแม้จะผ่านการกลั่นกรองจากขั้นตอนต่างๆมาแล้วก็ตามที พระองค์ท่านก็ยังทรงลำบากพระวรกายในการพิจารณาทบทวนอีกครั้ง สิ่งนั้นคืองานพระราชทานอภัยโทษ ในแต่ละปีจะมีนักโทษหลายๆคนที่รู้สึกสำนึกผิดและมีความประพฤติดี จะมีโอกาสได้รับพระราชทานอภัยโทษและกลับไปเป็นคนดีของสังคมต่อไป เป็นไงครับการให้ทานดั่งเทน้ำคว่ำเหยือก
ในวโรกาสที่จะถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวา ขอพระองค์จงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน พระพุทธเจ้าข้า ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะฯ
- บล็อกของ ลุงพี
- อ่าน 8346 ครั้ง
ความเห็น
sothorn
18 พฤศจิกายน, 2010 - 21:23
Permalink
5.25"
5.25" ผมยังทันครับลุงพี
CU Writer, Dbase III+, Lotus 123
ขอบคุณเรื่องเล่าจากลุงพีครับ
ลุงพี
18 พฤศจิกายน, 2010 - 21:27
Permalink
ฮ่าๆ....ผู้ใหญ่ครับ
ผมเป็นคนทำภาษาไทย สำหรับโปรแกรมพวกนี้ครับ
ว่าแต่เอ....ตอนนั้นผู้ใหญ่กี่ขวบอ่ะ
พอกิน พอใช้ พอใจ คือความหมายของ พอเพียง
sothorn
18 พฤศจิกายน, 2010 - 21:33
Permalink
20 ขวบ
ผมเรียนปี 2 ปี 2537 อายุ 20 ขวบ ครับลุงพี
ดวงหทัย
18 พฤศจิกายน, 2010 - 21:37
Permalink
มาฟังคนแก่เขาคุยกัน
อิอิ แผ่น 5.25 ไม่ทันค่ะ แต่ Dbase ทันเรียนตอน ม.4
ลุงพี
18 พฤศจิกายน, 2010 - 21:44
Permalink
เธอทำให้ช้านรู้สึกเหมือนตอนสิบสี่.........
นับย้อนไปตอนที่ผมทำภาษาไทยเสร็จปี 31 ตอนนั้นผู้ใหญ่ก็อายุ 14 น่ะซิ
พอกิน พอใช้ พอใจ คือความหมายของ พอเพียง
white
19 พฤศจิกายน, 2010 - 08:07
Permalink
แชร์ความหลัง
ของผมมี RW ด้วยนะ Dbase III+ ต้องใช้ 2 แผ่นจึงจะทำงานได้ เำพราะยังไม่มี Harddisk
ส่งข้อมูลก็ส่งผ่าน LL (Lab Link) ระหว่าง ทาง LPT ระยะทางไม่เกิน 10m.
ก็มาร่วมแชร์ความหลังครับ
--------
twitoon[at]gmail[dot]com
แก้ว กุ๊ก กิ๊ก
18 พฤศจิกายน, 2010 - 21:46
Permalink
สุดยอดค่ะลุง
หนูฟังเรื่องที่ลุงเล่าแล้วอึ้งค่ะ ถึงแม้ว่าจะไม่เข้าใจเรื่องคอม นัก แต่ทึ่งจริงๆเลย
ลุงพี
18 พฤศจิกายน, 2010 - 22:40
Permalink
แก้วครับ
ด้วยความเร็วในการรับส่งข้อมูลที่ช้ากว่าปัจจุบันเป็นพันเท่า ลุงอยากให้พวกเราได้รับรู้ถึงความยากลำบากและพระวิริยะอุตสาหะของพระองค์ท่าน ที่ทรงตรากตรำพระวรกายเพื่อพสกนิกรตลอดเวลาที่ผ่านมา
พอกิน พอใช้ พอใจ คือความหมายของ พอเพียง
ป้าหน่อย
18 พฤศจิกายน, 2010 - 21:56
Permalink
เจออีกคนแล้ว
เจออีกคนแล้ว คนดีศรีบ้านสวน
โชคดีจัง ขอบคุณนะคะลุงพี
ชอบฟังเรื่องเก่าเอามาเล่าใหม่
กี่ครั้งๆ ก็ไม่เบื่อค่ะ
เพลงแนวๆ นี่ล่ะ ชอบเข้าเส้นโลหิต
ขอบคุณลุงพูนด้วยค่ะ ที่ช่วยหา
ทันได้ใช้ โลตัส 123 ก็เพราะ
ไปทำงานให้ ฟาร์ม(สาขาแก่งคอย)
ของเครือเจริญ ไม่เคยรู้จักแม้แต่คอมฯ
ไปถึงเค้าส่งไปเรียน 3 เดือน
เพราะต้องมาใช้ประมวลผลแลบส์
อ้อลืมบอก หน่อยจบสัตวบาล
ทำงานอยู่ ฟาร์มลูกไก่ ทดลอง
ลูกอิสานกันดารแท้ แต่บ่อเหี่ยวทางน้ำใจเด้อ
หากแหม่นใหลหลั่งรินปานฝนแต่เมืองฟ้า
มาเด้อพวกพี่น้อง สานสัมพันธ์ให้มันแก่น
ให้ยืนยาวแนบแน่นพอปานปั้นก้อนข้าวเหนียว เด้อพี่น้อง
ลุงพูน
18 พฤศจิกายน, 2010 - 21:58
Permalink
ป้าหน่อย
อยู่เครือเจริญ รู้จักคุณปรีชา (แก่) ไหมครับ
หน้า