เอกสารประกอบการฝึกอบรมชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
มีเอกสารประกอบการฝึกอบรมมาฝาก
เอกสารประกอบการฝึกอบรม
ชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สู่เศรษฐกิจพอเพียง
วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบูรณ์
- ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
- ความเป็นมาของโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
- เกษตรอินทรีย์
- ดินและส่วนประกอบของดิน
- การอนุรักษ์ทรัพยากรดิน
- ปุ๋ยและการใช้ปุ๋ย
- ระบบการปลูกพืช
- จุลินทรีย์หรือชีวมวลและการทำงาน
- การขยายจุลินทรีย์
- ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยชีวภาพแห้ง
- ปุ๋ยน้ำจากพืชผัก
- ปุ๋ยน้ำจากผลไม้รวม
- ปุ๋ยน้ำจากเศษอาหาร
- ปุ๋ยปลา
- ปุ๋ยจากหอย ปู กุ้ง
- ปุ๋ยจากซากสัตว์
- สารชีวภาพป้องกันกำจัดศัตรูพืช
- สารชีวภาพป้องกันกำจัดโรคพืช
สมควร ภู่ทิม
มกราคม 2553
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อ 4 ธันวาคม 2540.... “ความจริงเคยพูดเสมอในที่ประชุมอย่างนี้ว่า การที่จะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกิน และมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกิน หมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้ให้มีพอเพียงกับตัวเอง”
หลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ความพอเพียงหมายถึงความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ต่อผลกระทบใดๆอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ภายใต้เงื่อนไขความรู้ที่ต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังในการนำวิชาการมาใช้ในการวางแผน และดำเนินงานทุกขั้นตอนและเงื่อนไขคุณธรรม ต้องเสริมสร้างจิตใจของคนในชาติ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา
เป้าหมายของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
มุ่งให้เกิดความสมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
ความเป็นมาของโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นโครงการความร่วมมือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาโดยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี วิทยาลัยประมงและต่อมาภายหลังได้มีการขยายเข้าสู่วิทยาลัยการอาชีพในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเพื่อร่วมสืบสานพระราชปณิธานเกษตรกรรมและพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า “อยู่ที่เราพออยู่พอกินและมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพออยู่พอกิน แบบพอมีพอกิน หมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้ให้มีพอเพียงกับตัวเอง” ซึ่งตรงข้ามกับเศรษฐกิจการค้า ที่ให้มีการพึ่งพาตนเองมากที่สุด ไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่นหรือปัจจัยจากภายนอกมากนัก พยายามทำทุกอย่างที่กินและกินทุกอย่างที่ทำได้ ถ้าต้องการกินผักก็ต้องปลูกผัก ต้องการกินปลา กินไก่ก็เลี้ยงปลาเลี้ยงไก่ หาทางลดรายจ่ายให้มากที่สุด ในเมื่อไม่ต้องจ่ายหรือจ่ายน้อย เนื่องจากของทุกอย่างที่ต้องการมีในครัวเรือนแล้ว รายได้ที่มีอย่างจำกัดก็ไม่สูญเสียกลับมีมากขึ้นและหลังจากเหลือกินก็แบ่งปันและขายเป็นการเพิ่มพูนรายได้ไปในตัวในขณะเดียวกันการผลิตทุกสิ่งทุกอย่างก็พยายามลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุด เพาะฉะนั้นผู้ที่ยึดถือพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงจึงไม่ใช่คนจนเสมอไป แต่จะค่อยๆมั่งมีขึ้นเรื่อยๆ อย่างมั่นคง และสมบูรณ์แบบ ดังนั้นเพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้จัดทำโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยการนำจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพและการทำเกษตรกรรมธรรมชาติเข้ามาดำเนินการในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ให้คณาจารย์ นักเรียน นักศึกษาและขยายผลไปยังสถาบัน โรงเรียน ชุมชน ประชาชน เกษตรกร ฯลฯ เป็นการช่วยเหลือสังคม และพัฒนาคุณภาพชีวิตของท้องถิ่นตลอดจนการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งประโยชน์เหล่านี้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน เพื่อความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สังคมมีความเอื้ออาทรต่อกัน และสามารถขยายผลสู่การเกษตรเชิงพาณิช โดยส่งเสริมให้มีการปลอดสารเคมีในการผลิตอาหาร การดำเนินชีวิต 4 ด้านได้แก่ การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การเลี้ยงสัตว์น้ำและสภาพแวดล้อม
เกษตรอินทรีย์
อาชีพเกษตรกร อาชีพที่ผลิตอาหารเลี้ยงประชากร เป็นอาชีพที่ถือได้ว่ามีผู้ประกอบการมากที่สุดในประเทศไทย เป็นอาชีพที่ทำได้ง่ายๆ ไม่ต้องมีความรู้ความชำนาญมากนัก ให้ผลตอบแทนสูงมาก อาจไม่มีอาชีพใดที่ให้ผลตอบแทนสูงมากกว่านี้ และยังให้ผลตอบแทนยาวนานมาก เกษตรกรจึงควรเป็นกลุ่มคนที่มั่งคั่งและมั่งมี แต่ความเป็นจริงเกษตรกรส่วนใหญ่มักมีหนี้สินล้นพ้นตัว และยากจน หากมีใครสอบถามถึงที่มาของปัญหาของเกษตรกร คำตอบที่ได้ส่วนใหญ่ คือ ราคาผลผลิตตกต่ำ สินค้าล้นตลาด พ่อค้าคนกลางกดราคา เกิดโรคและแมลงศัตรูระบาดอย่างรุนแรง ทั้งที่จริงปัญหาต่างๆเกิดจากการที่เกษตรกร ไม่ยอมพึ่งพาตนเอง คอยแต่จะพึ่งผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย ยา ฮอร์โมนสารป้องกันกำจัดโรค และไม่ยอมลดต้นทุนการผลิต มุ่งเน้นที่จะเพิ่มผลผลิตเพียงอย่างเดียว แนวทางที่จะแก้ปัญหานี้น่าจะเป็นการทำเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกร และหันมาพึ่งตนเองอย่างจริงจัง ร่วมกับการลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในเมื่อต้นทุนการผลิตต่ำแล้วราคาผลผลิตถึงแม้จะตกต่ำเพียงใดก็ไม่มีความหมาย หรือแม้สินค้าเกษตรล้นตลาดก็สามารถเปลี่ยนผลผลิตเหล่านี้ เป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้ง่ายๆ
การทำเกษตรอินทรีย์ จัดเป็นเกษตรกรรมทางเลือกที่เป็นแนวทางการเกษตรที่เน้นการให้ความอุดมสมบูรณ์กับผืนดินโดยวิธีธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีประเภทต่างๆทุกชนิดในการผลิต เพื่อความปลอดภัยในสุขภาพทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค มุ่งใช้เศษซาก สิ่งเหลือจากพืชและสัตว์ในรูปอินทรีย์วัตถุ ใช้สินแร่ที่มีตามธรรมชาติ ในการปรับปรุงบำรุงดิน ผสมผสานกับการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ที่หลากหลาย การป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยชีววิธีหรือให้สิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติช่วยควบคุมและทำลายกันเอง
หลักการและเงื่อนไขของเกษตรอินทรีย์ หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีและสารเร่งการเจริญเติบโตในการทำเกษตรอินทรีย์ ที่สามารถส่งผลผ่านวงจรโซ่อาหารมายังผู้บริโภคได้ เพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วยการเติมอินทรียวัตถุและปุ๋ยอินทรีย์ พวกปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยน้ำชีวภาพ การใช้วัสดุคลุมดิน การปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน การควบคุม ป้องกันและกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีชีวภาพ กายภาพ อินทรีย์เคมี การทำปศุสัตว์สัตว์และการทำสัตว์น้ำอินทรีย์จะเป็นการผลิตปศุสัตว์และสัตว์น้ำที่หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ฮอร์โมน ส่งเสริมให้สัตว์มีสุขภาพดี เน้นการป้องกันโรคสัตว์ด้วยการจัดการฟาร์มที่ดี และเหมาะสม
ดินและส่วนประกอบของดิน
ดินถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการทำเกษตร เป็นแหล่งค้ำจุนและยึดเกาะของรากพืชเป็นแหล่งเก็บกักธาตุอาหาร น้ำ อากาศและสร้างสภาวะที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของพืช ดินที่ดีย่อมทำหน้าที่ทั้ง 3 อย่างได้อย่างสมบูรณ์
ดินกำเนิดขึ้นได้อย่างไร ดินเกิดจากการคลุกเคล้าของฝุ่นหิน แร่ธาตุ อินทรียวัตถุจากพืช สัตว์ มีกิจกรรมของชีวมวลหรือจุลินทรีย์และปฏิกิริยาทางเคมีขึ้นในของผสมชนิดนี้การทำงานของจุลินทรีย์ก่อให้เกิด “ฮิวมัส” ทั้งหมดนี้เรียกรวมกันว่าดิน
ส่วนประกอบของดิน จากการกำเนิดของดินข้างต้นทำให้รู้ว่า ดิน มีองค์ประกอบไปด้วย หิน แร่ธาตุ ที่แตกละเอียดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจนถึงเป็นฝุ่น อินทรียวัตถุจากพืชและสัตว์ที่ย่อยสลายจนเป็นฮิวมัส น้ำที่อยู่ระหว่างเม็ดดิน อากาศที่อยู่ระหว่างช่องว่างของดิน
ดินดีควรมีลักษณะอย่างไรเกษตรกรมักคิดว่าดินดีควรจะมีสีดำ นุ่ม อุดมไปด้วยจุลินทรีย์ไส้เดือนหรือกล่าวตามหลักวิชาการว่า เป็นดินที่มีโครงสร้างดี มีความชื้นพอเหมาะ เต็มไปด้วยธาตุอาหารพืช อุดมไปด้วยอินทรียวัตถุและฮิวมัส มีกิจกรรมทางชีวภาพสูง อุดมไปด้วยชีวมวลและเช่นเดียวกันดินชนิดเดียวกันอาจจะเป็นดินดีหรือดินเลวก็ได้ขื้นอยู่กับปริมาณของอินทรียวัตถุและฮิวมัสในดิน ดินที่มีฮิวมัสมากกว่าร้อยละ 5 จะมีโครงสร้างดี เนื่องเพราะฮิวมัสมีความสามารถในการเก็บกักน้ำสูงและก็มีความสามารถในการระบายน้ำดีด้วยเช่นกัน ดังนั้นดินเหนียวที่มีฮิวมัสสูงก็จะมีการระบายน้ำดี ดินทรายที่มีฮิวมัสมากก็จะมีปฏิกิริยาตรงข้ามคืออุ้มน้ำได้ดี ฮิวมัสและอินทรียวัตถุเกิดจากกระบวนการย่อยสลาย ผุพังของซากพืชและซากสัตว์โดยมีจุลินทรีย์เป็นตัวย่อยสลาย ฮิวมัสไม่ได้อยู่ในดินอย่างถาวร แต่จะสลายตัวไปในกระบวนการเปลี่ยนรูปเป็นสารอนินทรีย์ในขณะเป็นธาตุอาหารของพืช ดังนั้นถ้ากระบวนการป้อนอินทรียวัตถุให้กับดินในการเพาะปลูกหยุดหรือชะงักงัน โครงสร้างของดินจะเสื่อมโทรมลงและฮิวมัสยังเป็นเครื่องตัดสินความสามารถในการยึดจับธาตุอาหารของดินถ้ามีปริมาณสูงจะทำให้การยึดจับธาตุอาหารสูงตามไปด้วย ฮิวมัสมีสภาพหรือค่าความเป็นกรดเป็นด่างที่เป็นกลางและยังสามารถลดระดับความรุนแรงของกรดและด่างที่ได้รับจากภายนอกได้อีกด้วยและการย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ให้กลายเป็นอินทรีย์วัตถุและฮิวมัสต้องอาศัยการทำงานของจุลินทรีย์และแม้กระทั่งการปลดปล่อยธาตุอาหารจากฮิวมัสในกระบวนการเปลี่ยนรูปเป็นสารอนินทรีย์ที่มีความสำคัญต่อดินและพืชก็อาศัยการทำงานของจุลินทรีย์ สุขภาพของดินจะมีความสมบูรณ์แข็งแรง ความสมดุลของจุลินทรีย์ในดินจะคงอยู่ จุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคจะถูกควบคุมไว้ในระดับไม่เป็นอันตรายต่อพืชที่ปลูก
ปัญหาของการทำการเกษตรปัจจุบัน เริ่มเกิดขึ้นหลังจากมีการนำเอาเทคโนโลยีและการเกษตรเคมีมาใช้ในการผลิต ผลผลิตที่ปรากฏดูเสมือนว่าผลผลิตรวมของเกษตรกรเพิ่มขึ้นแต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของชนบทอย่างใหญ่หลวง เพราะเกษตรเคมีมุ่งเน้นแต่ผลได้ทางเศรษฐกิจ ไม่คำนึงถึงปัจจัยทางนิเวศและสังคมจึงเป็นการต่อต้านและทำลายธรรมชาติโดยสิ้นเชิง เทคโนโลยีทางการเกษตรเหล่านี้ก่อให้เกิดผลพวงและปัญหาตามมามากมายหลายประการได้แก่ ปัญหาดินเสื่อมโทรม ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจนไม่คุ้มค่าต่อการผลิต ปัญหาศัตรูพืช ปัญหาสุขภาพ คุณภาพอาหารด้อยลง ปัญหามลพิษในสิ่งแวดล้อม ปัญหาหนี้สิน ปัญหาการอพยพแรงงาน ผลพวงเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรและคนจำนวนมาก แล้วเราจะทำอย่างไรล่ะเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้
การอนุรักษ์ทรัพยากรดิน
เกษตรกรโดยส่วนใหญ่มักคิดว่าการปรับปรุงดินด้วยการเพิ่มธาตูอาหารเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการทำเกษตรกรรมแต่ความจริงการปรับปรุงบำรุงดินต้องทำควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรดินไปพร้อม ๆ กันกล่าว คือ ดินที่ดีนอกจากะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรองแล้วยังต้องมีโครงสร้างทางกายภาพดีทั้งอุ้มน้ำและการะบายน้ำ มีกิจกรรมทางชีวภาพของชีวมวลอย่างแข็งขัน อุดมสมบูรณ์ ดังนั้นการบำรุงดินและการอนุรักษ์ทรัพยากรดินต้องทำควบคู่กันไปตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบของการบำรุงดินและการอนุรักษ์ทรัพยากรดินพบเห็นได้ในป่าธรรมชาติ จะพบว่าพืชป่าที่เก็บจากธรรมชาติตลอดจนผลผลิตจากป่าและของป่าอีกมากมายหลายชนิดมนุษย์สามารถเก็บเกี่ยวบริโภค มาใช้ประโยชน์ได้อย่างไม่สิ้นสุดทั้ง ๆ ที่ไม่เคยมีใครไปเกี่ยวข้องหรือเข้าไปจัดการแต่อย่างใด เนื่องจากป่าธรรมชาติมีการป้อนอินทรีย์วัตถุให้กับตัวเองอย่างสม่ำเสมอและตลอดเวลาซึ่งต่างกับพื้นที่เกษตรกรรมของเกษตรกรที่จัดการปลูกพืช ที่มักจะตักตวงแต่ผลประโยชน์จากดินโดยไม่มีการเหลียวแลผืนดินที่ตนเองเก็บเกี่ยวผลประโยชน์อยู่อย่างต่อเนื่องและยาวนาน ซึ่งไม่มีการป้อนอินทรีย์วัตถุลงไปในดินเลยอย่างมากก็ทำเพียงแค่การเติมธาตุอาหารหรือทำเพียงการบำรุงดินเท่านั้นซึ่งยังไม่พอเพียงต่อความต้องการของดินที่ต้องมีการอนุรักษ์ทรัพยากรดินไปด้วย หลักการอนุรักษ์ทรัพยากรดิน จะเน้นที่การเติมอินทรีย์วัตถุหรือฮิวมัสให้กับผืนดินที่ทำการเกษตรอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา ลดการไถพรวนพลิกพื้นที่ มีการคลุมแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุคลุมแปลง การปลูกพืชคลุมดิน มีการปลูกไม้ยืนต้นและหญ้าตามขอบแปลงและงดใช้สารเคมีในการทำการเกษตร
การเติมอินทรีย์วัตถุหรือฮิวมัสให้กับผืนดินสามารถทำได้หลากหลายวิธีด้วยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยชีวภาพทั้งหลายได้แก่การใส่ปุ๋ยคอก การใส่ปุ๋ยหมัก การใส่ปุ๋ยพืชสด การเติมซากพืชและซากสัตว์ให้ดินเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุที่ง่ายและรวดเร็วแต่ได้ผลดีในการบำรุงและอนุรักษ์ดิน
การลดการไถพรวนพลิกฟื้นผืนดิน การลดการไถพรวนจะช่วยสภาพพื้นดินฟื้นตัวขึ้นเองตามธรรมชาติเป็นวิธีการคุ้มครองดินที่เกษตรกรมักมองข้ามโดยคิดว่าการไถพรวนดินช่วยให้ดินมีความร่วนซุยเพิ่มขึ้น ดินชั้นล่างไม่ถูกกลับขึ้นมาสัมผัสกับแสงแดด ลม ฝน ธาตุอาหารและมวลชีวภาพไม่ถูกทำลาย
การคลุมแปลง สามารถใช้วัสดุคลุมแปลงได้ทั้งวัสดุคลุมดินที่เป็นอินทรียวัตถุเช่น เศษวัชพืช ใบไม้ ฟางข้าว ตอซังและวัสดุคลุมดินที่ยังมีชีวิตเช่นการปล่อยให้วัชพืชขึ้นคลุมแปลงไม่มีการทำลายวัชพืช การปลูกพืชตระกูลถั่วต้นเตี้ยคลุมแปลง การคลุมแปลงจะช่วยลดการสูญเสียความชื้นในดิน ควบคุมวัชพืชได้ดีและเศษซากวัสดุคลุมแปลงยังกลับกลายเป็นอินทรีย์วัตถุได้อีกด้วย
การปลูกไม้ยืนต้น หญ้าตามขอบแปลงเป็นการเพิ่มการใช้ประโยชน์ใช้สอยบริเวณขอบแปลงมากขึ้น ช่วยป้องกันแดด ลม การพังทลายของหน้าดิน การเคลื่อนย้ายของโรคแมลงเป็นเขตกันชนระหว่างแปลง และเกษตรกรจะได้รับไม้ฟืน หญ้าเลี้ยงสัตว์ตอบแทนอีกด้วย
การงดใช้สารเคมีในการทำการเกษตร การใช้เคมีเกษตรทำให้ระบบนิเวศของดินเสียสมดุล ควรงดใช้เคมีเกษตรโดยเด็ดขาดถึงแม้จะให้ผลอย่างรวดเร็วในการให้ธาตุอาหารและกำจัดศัตรูพืช
ปุ๋ยและการใช้ปุ๋ย
ปุ๋ย หมายถึง วัตถุหรือสารที่ใส่ลงไปในดินโดยมีความประสงค์จะให้เป็นธาตุอาหาร เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม เพิ่มเติมแก่พืชเพื่อให้พืชได้มีธาตุอาหารดังกล่าวเป็นปริมาณที่เพียงพอและสมดุลกันตามที่พืชต้องการและให้ได้ผลผลิตสูงขึ้น ตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 ได้ให้คำจำกัดความไว้ดังนี้ ปุ๋ยเป็นสารอินทรีย์หรือสารอนินทรีย์ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือทำขึ้นก็ตาม สำหรับใช้เป็นธาตุอาหารแก่พืชได้ ไม่ว่าโดยวิธีใดหรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในดินเพื่อบำรุงความเติบโตของพืช สามารถแบ่งปุ๋ยออกตามกระบวนการผลิตเป็นปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอนินทรีย์ และปุ๋ยอินทรีย์
1. ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอนินทรีย์ เป็นปุ๋ยที่มีองค์ประกอบทางเคมีเป็นอนินทรีย์สารสังเคราะห์
ข้อดีของปุ๋ยเคมี คือ ใส่แล้วพืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที เนื่องจากเป็นธาตุอาหารพืชโดยตรง
หลักการใช้ปุ๋ยเคมี
1.1 ต้องใช้ถูกชนิด
1.2 ต้องใช้ถูกขนาด
1.3 ต้องใช้ให้ถูกเวลา
1.4 ต้องใช้ให้ถูกวิธี
2. ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นปุ๋ยที่ได้มาจากอินทรีย์สารที่ผลิตขึ้นโดยกรรมวิธีต่าง ๆ และก่อนที่จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อพืช จะต้องผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทางชีวภาพเสียก่อน ปุ๋ยอินทรีย์ที่สำคัญได้แก่ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยน้ำชีวภาพ
วิธีการให้ปุ๋ยกับพืช สามารถให้ปุ๋ยกับพืชได้ 2 วิธี
1. ทางดิน โดยการฝังกลบ โรยโคนต้น รองก้นหลุม หว่านไถกลบ พืชนำธาตุอาหารไปใช้ด้วยการดูดซึมผ่านทางรากของพืช
2. ทางใบ โดยการฉีดพ่นทางใบ ในรูปของปุ๋ยน้ำให้พืชดูดซึมผ่านทางใบโดยตรง ส่วนใหญ่อยู่ในรูปปุ๋ยน้ำหรือละลายกับน้ำก่อนให้กับพืช
ระบบการปลูกพืช
การทำเกษตรกรรมในยุคปัจจุบันมุ่งเน้นแต่ผลได้ทางเศรษฐกิจ หวังแต่จะได้ผลผลิตจำนวนมาก การเพาะปลูกพืชจึงไม่คำนึงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อม ผู้คน สิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ มีการนำเอาสารเคมี เมล็ดพันธุ์ลูกผสมใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูงมาใช้ในการผลิต ทำการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปลูกพืชชนิดเดียวกันเป็นเวลานาน ๆ ระบบการปลูกพืชแบบนี้จะก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมายทั้งในเรื่องของการขาดธาตุอาหารพืช การระบาดของแมลงศัตรูพืช การเกิดโรคพืชที่ร้ายแรงและรักษาเยียวยาไม่ได้ต้องย้ายแปลงปลูกไปยังที่ใหม่ มีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจสูงจากการที่ผลผลิตมีราคาตกต่ำ ผลผลิตล้นตลาด ดังที่เราพบเห็นได้ในการทำการเกษตรสมัยใหม่ การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนระบบการปลูกพืชใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการปลูกพืชเชิงเดี่ยวดังกล่าวข้างต้นด้วยการปลูกพืชด้วยระบบการปลูกพืชทางเลือกประกอบด้วย
1. การปลูกพืชที่หลากหลาย การปลูกพืชในไร่นาของเกษตรกรควรมีความหลากหลายทั้งชนิดพืชและหลากหลายทางสายพันธุ์ของพืช การปลูกพืชหลากหลายจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเสียหายของพืชพันธุ์และผลผลิตจากศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี การปลูกพืชหลากหลายทำได้โดยแบ่งไร่นาออกเป็นแปลงย่อย ๆ และเรียงเป็นลำดับสำหรับปลูกพืชที่หลากหลายทั้งชนิดและสายพันธุ์
2. การปลูกพืชหมุนเวียนเป็นการหมุนเวียนสับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูกในพื้นที่ดินเดิม ระบบการปลูกพืชแบบนี้จะช่วยลดปัญหาดินเสื่อมสภาพ การขาดธาตุอาหารในดิน การระบาดของโรคพืชลงได้ การปลูกพืชหมุนเวียนต้องคำนึงถึงปริมาณความต้องการธาตุอาหารของพืชและความต้านทานโรคของพืชที่จะนำมาปลูกหมุนเวียนกันในแปลงปลูกพืช พืชผักเป็นพืชที่ใช้ธาตุอาหารสูงสุดในขณะเดียวกันก็มีความต้านทานโรคต่ำสุด พืชตระกูลถั่วใช้ธาตุอาหารน้อยที่สุดในขณะเดียวกันก็ปลดปล่อยไนโตรเจนให้กับดินด้วยแต่มีความต้านทานโรคในระดับปานกลาง เพื่อเป็นการบำรุงดินจึงควรมีการปลูกพืชตระกูลถั่วหมุนเวียนกับพืชผักและพืชอื่น ๆ
3. การปลูกพืชผสมผสาน เป็นการปลูกพืชหลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน พืชแต่ละชนิดสามารถอยู่ร่วมกันและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นดิน แสงแดด น้ำได้สูงสุด ลดความเสี่ยงจากปัญหาเศรษฐกิจและศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี การปลูกพืชผสมผสานหรือการปลูกพืชร่วมกันควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้คือ ปริมาณการใช้ธาตุอาหารของพืชแต่ละชนิดควรปลูกพืชบำรุงดินร่วมกับพืชอื่นทุกครั้งที่มีการปลูกพืชผสมผสาน ต้องคำนึงถึงความลึกของรากพืชควรปลูกพืชที่มีความลึกของระบบรากแตกต่างกันเพื่อป้องกันการแย่งธาตุอาหารซึ่งกันและกัน มีการปลูกพืชไล่แมลงในแปลงปลูก พืชที่มีขนาดเล็กหรือต้นเตี้ยควรมีความทนทานต่อร่มเงาในการปลูกร่วมกับพืชที่ขนาดลำต้นสูง เพื่อให้พืชที่ปลูกในระบบการปลูกพืชผสมผสานสามารถให้ผลผลิตได้ทุกชนิดที่ปลูกในแปลงของเกษตรกร
จุลินทรีย์หรือชีวมวลและการทำงาน
จุลินทรีย์ เป็นสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ชนิดหนึ่งที่เหมือนกับสิ่งมีชีวิตทั่วไปที่ต้องการอาหารที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดี มีการขยายพันธุ์เพิ่มจำนวน มีการทำงานและใช้อาหารได้ มีอยู่มากมายหลายชนิดที่รู้จักกันดีได้แก่ รา แบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว ริกเกตเซีย จุลินทรีย์เหล่านี้มีอยู่ทั่วไปในอากาศ ปนเปื้อนอยู่กับอาหาร พืชพันธุ์ เนื้อสัตว์ น้ำกิน น้ำใช้ในครัวเรือน เครื่องมือ เครื่องใช้ต่าง ๆ สามารถจัดแบ่งกลุ่มของจุลินทรีย์ได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
1. จุลินทรีย์กลุ่มที่ดีมีประโยชน์
2. จุลินทรีย์กลุ่มที่เป็นโทษ
3. จุลินทรีย์กลุ่มที่เป็นกลาง
การทำงานของจุลินทรีย์ โดยปรกติจุลินทรีย์จะทำงานโดยการเข้าย่อยสลายวัตถุสิ่งของทั้งที่เป็นอินทรีย์วัตถุและอนินทรีย์วัตถุให้กลายเป็นฮิวมัสและสารอนินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อพืชในกรณีที่จุลินทรีย์กลุ่มที่ดี มีประโยชน์มีมากและทำงานได้ดีมีกลุ่มจุลินทรีย์ที่เป็นกลางคอยช่วยเหลือ การย่อยสลายจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สมบูรณ์ไม่ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นและการบูดเน่า แต่ถ้าเมื่อใดที่จุลินทรีย์กลุ่มที่เป็นโทษมีมากกว่าจุลินทรีย์ที่ดีและเป็นประโยชน์การย่อยสลายจะเกิดขึ้น โดยจุลินทรีย์ที่เป็นกลางเข้าช่วยเช่นเดียวกันแต่การย่อยสลายจะก่อให้เกิดมลพิษทางกลิ่น เกิดกลิ่นเหม็นและเน่าบูด ดังนั้นถ้ามีการเพิ่มจุลินทรีย์กลุ่มที่ดีมีประโยชน์ลงในสภาพแวดล้อม สารอินทรีย์ น้ำ ผืนดินที่ทำการเกษตร เพื่อให้จุลินทรีย์กลุ่มที่ดี มีประโยชน์มีจำนวนและปริมาณมากกว่าจุลินทรีย์ที่เป็นโทษ การย่อยสลายอินทรีย์วัตถุและอนินทรีย์วัตถุ จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ รวดเร็ว ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางกลิ่น เป็นการปรับโครงสร้างของดินให้ดีขึ้น มีฮิวมัสมากและรวดเร็วขึ้นส่งผลถึงธาตุอาหารพืชในดินมีมากขึ้นดินอุดมไปด้วยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์
แหล่งของจุลินทรีย์ เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าจุลินทรีย์มีอยู่ทั่วไปทั้งในอากาศ ปนเปื้อนอยู่กับอาหาร พืชพันธุ์ เนื้อสัตว์ น้ำกิน น้ำใช้ในครัวเรือน เครื่องมือ เครื่องใช้ เราสามารถเก็บหารวบรวมจุลินทรีย์ได้จากแหล่งต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ดังนี้
1. เก็บจุลินทรีย์ที่ดีมีประโยชน์จากอากาศ โดยการใช้อาหารที่จุลินทรีย์ชอบตั้งทิ้งไว้บริเวณที่อุดมไปด้วยจุลินทรีย์ที่ดีมีประโยชน์
2. เก็บจุลินทรีย์ที่ดีมีประโยชน์จากที่ติดมากับพืชผัก ผลไม้ โดยเก็บจากตาสับปะรดปั่นผสมน้ำมะพร้าวหรือจากผลไม้อื่น ๆ
3. เก็บจุลินทรีย์ที่ดีมีประโยชน์จากผืนดินหรือผืนป่าธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์
4. จุลินทรีย์ที่ดีมีประโยชน์ที่หน่วยงานราชการส่งเสริมในรูปของจุลินทรีย์สำเร็จรูป ได้แก่ เชื้อจุลินทรีย์ พด.1 – พด.9 ของกรมพัฒนาที่ดิน
5. จุลินทรีย์ที่ดีมีประโยชน์ที่มีการผลิตจำหน่ายในท้องตลาดมีมากมายหลายบริษัท
การเลือกใช้จุลินทรีย์ที่ดีมีประโยชน์ ประสิทธิภาพสูงจากแหล่งใดขึ้นอยู่กับผู้ใช้ที่ต้องทดสอบ ทดลอง เปรียบเทียบ สังเกตุเองว่าจุลินทรีย์แหล่งใดดีที่สุด แข็งแรง เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมในการผลิตของเรามากที่สุดให้เลือกใช้จุลินทรีย์กลุ่มนั้นหรือขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้ใช้ที่จะตัดสินใจเลือกใช้จุลินทรีย์กลุ่มใดหรือเลือกจากความสะดวกในการจัดเตรียม จัดหาจุลินทรีย์ก็ได้ ว่าจุลินทรีย์จากแหล่งใดสะดวกที่สุด สำหรับการจัดเตรียม จัดหามาใช้ในแปลงเกษตรของเรา
การใช้ประโยชน์จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ การนำจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อทดแทนสารเคมี ในการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ การประมง ในสิ่งแวดล้อมครัวเรือน
- การใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในกิจกรรมการปลูกพืช โดยใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพเป็นผู้ช่วยเหลือในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยน้ำ สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ใช้เพิ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในดินและน้ำบริเวณเพาะปลูก ควบคุมโรคพืช ซึ่งการผลิตปุ๋ยสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชจะนำเสนอในขั้นต่อไป
- การใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการเลี้ยงสัตว์ ทำโดยการให้สัตว์เลี้ยงกินจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพเข้าไปโดยตรง จุลินทรีย์ที่ดีจะไปขับไล่ และควบคุมจุลินทรีย์กลุ่มที่ไม่ดีไม่ให้ทำงาน ทำให้ระบบย่อยอาหารสัตว์เลี้ยงทำงานได้เต็มประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สัตว์มีสุขภาพแข็งแรง เติบโตรวดเร็ว มูลสัตว์มีกลิ่นลดลง มูลสัตว์เปลี่ยนสภาพเป็นอินทรีย์วัตถุเร็วขึ้น
- การใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในกิจกรรมประมง เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ เลี้ยงกุ้ง ทำโดยการเติมจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพลงในน้ำที่เลี้ยงสัตว์น้ำเหล่านี้ เพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในน้ำ ปรับสมดุลน้ำ ย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำ เพิ่มแพลงตอนที่เป็นอาหารสัตว์น้ำ ลดการเน่าเสียของน้ำ
- การใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในสิ่งแวดล้อม ครัวเรือน ใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการลดกลิ่นในห้องน้ำ ห้องส้วม ผลิตปุ๋ยน้ำจากเศษอาหาร ย่อยสลายกากอาหารในบ่อเกรอะทำให้ส้วมไม่เต็ม ทำความสะอาดพื้นผิวกระเบื้อง กระจก กำจัดน้ำเสียในครัวเรือน และอื่นๆ
การขยายจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ หรือ การทำจุลินทรีย์ขยาย
ส่วนผสม
1. จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ 2 ช้อนโต๊ะ
2. กากน้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะ
3. น้ำสะอาด 1 ลิตร
วิธีทำ
ผสมส่วนผสมทั้งหมดเข้าด้วยกันใส่ขวดพลาสติกใสชนิดฝาเกลียว เขย่าให้เข้ากันหมั่นระบายก๊าซบ่อย ๆ เก็บนานกว่า 7 วัน มีกลิ่นหอม อมเปรี้ยวอมหวานเริ่มใช้งานได้
วิธีใช้
ใช้ฉีดพ่นเพิ่มจุลินทรีย์ในดิน ป้องกันกำจัดโรคพืช อัตรา 1/1000 หรือ 1 ช้อนต่อน้ำ 10 ลิตร ทำจุลินทรีย์น้ำ ผลิตปุ๋ยน้ำชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์แห้ง สารชีวภาพป้องกันและขับไล่แมลง ศัตรูพืช
หมายเหตุ :- สามารถขยายจุลินทรีย์จากจุลินทรีย์สดได้ 4 ครั้ง
1 แก้ว ประมาณ 250 ซี.ซี
1 ช้อนโต๊ะ ประมาณ 10 ซี.ซี
ปุ๋ยอินทรีย์ หรือ ปุ๋ยชีวภาพแห้ง
ส่วนผสม
1. มูลสัตว์ 1 ส่วน(กระสอบ)
2. เศษซากพืชสับละเอียด 1 ส่วน(กระสอบ)
3. จุลินทรีย์น้ำ 1-2 แก้ว
4. น้ำสะอาด พอราดรดวัสดุได้ชุ่มชื้น
วิธีทำ
ผสมส่วนผสมทั้งหมดเข้าด้วยกัน ราดรดกองส่วนผสมด้วยน้ำละลายจุลินทรีย์ กลับกองส่วนผสมให้เปียกชื้นทั่วทั้งกองให้พอเหมาะ โดยกำบีบส่วนผสมต้องไม่มีน้ำไหลออกมาและก้อนส่วนผสมไม่แตกใช้วัสดุหรือกระสอบป่านคลุมกอง กลับกองส่วนผสมทุกวันจนกว่าจะเย็นเป็นปรกติและแห้งสนิทหรือใช้เวลาประมาณ 15 วัน นำไปใช้งาน
วิธีใช้
รองก้นหลุมปลูก โรยรอบโคนต้น หว่านในแปลงไถกลบ ผสมดินปลูก
ปุ๋ยน้ำจากพืชผัก
ส่วนผสม
1. ยอดและใบพืชผักเถาเลื้อย 1 ส่วน
2. ยอดและใบพืชผักกินใบ 1 ส่วน
3. ใบพืชอวบน้ำที่มีขนาดใบกว้างใหญ่ 1 ส่วน
3. จุลินทรีย์น้ำ 1 แก้ว
4. กากน้ำตาล 1 ส่วน
5 น้ำสะอาด พอท่วมส่วนผสม
วิธีทำ
หั่น ย่อย บดใบพืชผักทั้งหมดใส่ถังพลาสติกชนิดมีฝาปิด เติมจุลินทรีย์ กากน้ำตาล น้ำตามส่วนผสมคนส่วนผสมให้เข้ากันปิดฝาให้สนิท หมั่นคนส่วนผสมทุกวัน หมักนานกว่า 7 วัน กรองใช้งานได้ ยิ่งหมักนานยิ่งดี
วิธีใช้
4 – 5 ช้อนผสมน้ำ 10 ลิตร ฉีดพ่น ราดรดโคนต้น ทำให้พืชผักกำลังเจริญเติบโต โตไว ใบใหญ่ หนา ลำต้นอวบอ้วน น้ำหนักดี รสชาติดี กรอบ อร่อย เก็บรักษาได้นาน คุณค่าทางอาหารสูง
ปุ๋ยน้ำจากผลไม้รวม
ส่วนผสม
1. ผลไม้แก่จัดหรือสุกมีสีเหลือง 3 ส่วน
2. จุลินทรีย์น้ำ 1 แก้ว
3. กากน้ำตาล 1 ส่วน
4. น้ำสะอาด พอท่วมส่วนผสม
วิธีทำ
หั่น ย่อย บดผลไม้ทั้งหมดใสถังพลาสติกชนิดมีฝาบิด เติมจุลินทรีย์ กากน้ำตาล น้ำตามส่วนผสม คนส่วนผสมให้เข้ากันปิดฝาให้สนิทหมั่นคนบ่อย ๆ หมักนานกว่า 7 วันใช้งานได้ ยิ่งหมักนานยิ่งดี ถ้าเป็นผลไม้ที่มีรสหวานอยู่แล้วไม่ต้องใส่กากน้ำตาล
วิธีใช้
4 – 5 ช้อน ผสมน้ำ 10 ลิตร ฉีดพ่น ราดรดโคนต้น ให้กับพืชที่กำลังให้ผลผลิตทำให้ออกดอกดี ดอกดก ขั้วดอกเหนียว ติดผลดก ลดการหลุดล่วงของผล ขยายขนาดผลทั้งทางกว้างและยาว พวงใหญ่ น้ำหนักดี สีสันจัดจ้าน รสชาดอร่อย เก็บรักษาได้นาน
ปุ๋ยน้ำจากเศษอาหาร
ส่วนผสม
1. เศษอาหารจากครัวเรือน 3 ส่วน
2. จุลินทรีย์น้ำ 1 แก้ว
3. กากน้ำตาล 1 ส่วน
4. น้ำสะอาด พอท่วมส่วนผสม
วิธีทำ
หั่น ย่อย ผสมเศษอาหารที่มีทั้งหมดใส่ถังพลาสติกชนิดมีฝาปิด เศษอาหารต้องยังไม่บูด เน่า เติมจุลินทรีย์ กากน้ำตาล ตามส่วนผสม คนให้ส่วนผสมเข้ากันปิดฝาให้สนิท หมั่นคนบ่อย ๆ หมักนานกว่า 7 วัน เป็นน้ำสีน้ำตาลมีกลิ่นหอมใช้งานได้ ยิ่งหมักนานยิ่งดี
วิธีใช้
4 – 5 ช้อนผสมน้ำ 10 ลิตร ฉีดพ่น ราดรดโคนต้นพืช ผัก ไม้ผล พืชไร่ ไม้ดอก ไม้ประดับ
ปุ๋ยปลา
ส่วนผสม
1. เศษปลา หัว เลือด เกร็ด ปลาเล็กปลาน้อย 1 ส่วน
2. จุลินทรีย์น้ำ 1 แก้ว
3. กากน้ำตาล 1 –2 ส่วน
4. น้ำสะอาด พอท่วมส่วนผสม
วิธีทำ
หั่น ย่อย บดเศษปลาที่มีทั้งหมดใส่ถังพลาสติกชนิดมีฝาปิด เติมจุลินทรีย์ กากน้ำตาล น้ำตามส่วนผสม คนส่วนผสมให้เข้ากันปิดฝาให้สนิท หมั่นคนบ่อย ๆ หมักนานกว่า 7 วัน เป็นน้ำสีน้ำตาลมีกลิ่นหอมใช้งานได้ ยิ่งหมักนานยิ่งดี
วิธีใช้
4 – 5 ช้อนผสมน้ำ 10 ลิตร ฉีดพ่น ราด รด โคนต้นพืชผัก ไม้ผล พืชไร่ ไม้ดอก ไม้ประดับ
ปุ๋ยน้ำจากหอย ปู กุ้ง
ส่วนผสม
1. หอยทาก หอยเชอรี่ ปู กุ้ง 1 ส่วน
2. จุลินทรีย์น้ำ 1 แก้ว
3. กากน้ำตาล 1 – 2 ส่วน
4. น้ำสะอาด พอท่วมส่วนผสม
วิธีทำ
ย่อย บด ตำส่วนผสมทั้งหมดให้ละเอียดที่สุดใส่ถังพลาสติกชนิดมีฝาปิด เติมจุลินทรีย์ กากน้ำตาล น้ำตามส่วนผสม คนส่วนผสมให้เข้ากันปิดฝาให้สนิท หมั่นคนบ่อย ๆ หมักนานกว่า 7 วัน เป็นน้ำสีน้ำตาลมีกลิ่นหอมใช้งานได้ ยิ่งหมักนานยิ่งดี ถ้าเป็นหอยอย่างเดียวไม่ต้องเติมน้ำเพราะในตัวหอยมีน้ำอยู่มากแล้ว
วิธีใช้
4 – 5 ช้อนผสมน้ำ 10 ลิตร ฉีดพ่น ราด รด โคนต้นพืชผัก ไม้ผล พืชไร่ ไม้ดอก ไม้ประดับ
ปุ๋ยน้ำจากซากสัตว์
ส่วนผสม
1. ซากไก่ สุกร กบ สุนัข รก ลูกสัตว์ 1 ส่วน
2. จุลินทรีย์น้ำ 1 แก้ว
3. กากน้ำตาล 1 – 2 ส่วน
4. น้ำสะอาด พอท่วมส่วนผสม
วิธีทำ
บด ย่อย ซากสัตว์สิ่งเหลือจากการฆ่าสัตว์ทั้งหมดใส่ถังพลาสติกชนิดมีฝาปิด เติมจุลินทรีย์ กากน้ำตาล น้ำตามส่วนผสม คนส่วนผสมให้เข้ากันปิดฝาให้สนิท หมั่นคนบ่อย ๆ หมักนานกว่า 7 วัน เป็นน้ำสีน้ำตาลมีกลิ่นหอมใช้งานได้ ยิ่งหมักนานยิ่งดี
วิธีใช้
4 – 5 ช้อนผสมน้ำ 10 ลิตร ฉีดพ่น ราด รด โคนต้นพืชผัก ไม้ผล พืชไร่ ไม้ดอก ไม้ประดับ
สารชีวภาพป้องกันกำจัดศัตรูพืช
ส่วนผสม
1. สมุนไพรรสชาติเผ็ด ร้อน ขม ฝาด 2 ส่วน
2. สมุนไพรที่เป็นพิษกับมนุษย์และสัตว์ 1 ส่วน
3. กากน้ำตาล 1 ส่วน
4. จุลินทรีย์ 1 แก้ว
5. น้ำสะอาด พอท่วมส่วนผสม
วิธีทำ
หั่น ย่อย บด พืชสมุนไพรทั้งหมดใส่ถังพลาสติกชนิดมีฝาปิด สมุนไพร ยิ่งหลากหลายยิ่งดี เติมจุลินทรีย์ กากน้ำตาล น้ำตามส่วน คนส่วนผสมให้เข้ากันปิดฝาให้สนิท หมั่นคนบ่อย ๆ หมักนานกว่า 7 วันใช้งานได้ ยิ่งหมักนานยิ่งดี
วิธีใช้
1/2 แก้ว ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีด พ่น ราด รด พืชผัก ไม้ใบ ไม้ดอก ไม้ผล พืชไร่ ป้องกันกำจัด ขับไล่ศัตรูพืช หนอน แมลง
สารชีวภาพป้องกันกำจัดโรคพืช
ส่วนผสม
1. ละหุ่ง และมะละกอทั้ง 5 2 ส่วน
2. แค และมะรุมทั้ง 5 1 ส่วน
3. กากน้ำตาล 1 ส่วน
4. จุลินทรีย์ 1 แก้ว
5. น้ำสะอาด พอท่วมส่วนผสม
วิธีทำ
หั่น ย่อย บด พืชทั้งหมดใส่ถังพลาสติกชนิดมีฝาปิด พืชยิ่งมากส่วนยิ่งดี เติมจุลินทรีย์ กากน้ำตาล น้ำตามส่วน คนส่วนผสมให้เข้ากันปิดฝาให้สนิท หมั่นคนบ่อย ๆ หมักนานกว่า 7 วันใช้งานได้ ยิ่งหมักนานยิ่งดี
วิธีใช้
1/2 แก้ว ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีด พ่น ราด รด พืชผัก ไม้ใบ ไม้ดอก ไม้ผล พืชไร่ ป้องกันกำจัดโรคพืช
เอกสารอ้างอิง
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, 2548. โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน. พิมพ์ครั้งที่ 22 กรุงเทพฯ : กองผลิตสื่อประชาสัมพันธ์
คณาจารย์ภาควิชาปฐพีวิทยา, 2544. ปฐพีวิทยาเบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ 9 กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ชิมเป มูรากามิ, 2547. สู่สำนึกธรรมชาติ คู่มือเกษตรกรรมนิเวศเขตร้อน. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ : ปาปิรุส พับลิเคชั่น.
มูลนิธิบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ด้วยกิจกรรมทางศาสนา, 2541. การประยุกต์ใช้จุลินทรีย์ อี เอ็ม.
พิมพ์ครั้งที่ 8 กรุงเทพฯ : ธีรสารการพิมพ์
มูลนิธิสายใยแผ่นดิน, 2547. เกษตรยั่งยืน วิถีการเกษตรเพื่ออนาคต. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ : ปาปิรุส พับลิเคชั่น.
รัช รุจิรวรรธน์ , 2549. เกษตรคิวเซ(มกราคม – กุมภาพันธ์). กรุงเทพฯ : ก.พล (1996).
เอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการเกษตรอินทรีย์จังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเพชรบูรณ์
- บล็อกของ rai ariya
- อ่าน 9869 ครั้ง
ความเห็น
james
27 ตุลาคม, 2010 - 16:03
Permalink
ขอบคุณมากครับ
เป็นประโยชน์มากครับ ขอบคุณสำหรับการแบ่งปัน
ขออนุญาตเซฟเก็บไว้ศึกษาครับ
มานี มานะ วีระ ชูใจ
27 ตุลาคม, 2010 - 16:23
Permalink
บอกตามตรง
ยังไม่ได้อ่านครับ..แต่ตอนนี้...ครูดมาพริ้นเรียบร้อยแล้ว...
ขอบคุณครับ...
เป็นเพียงแค่มดตะนอย ตัวจ้อยจิด ทีพลัดติดกลางช่อ พอเพียงใหญ่
คือหนึ่งเสียงหนึ่งคิดเห็น ที่เป็นไป อาจถูกใจหรือไม่บ้าง ลองชั่งดู
หนูนิว
27 ตุลาคม, 2010 - 16:27
Permalink
ว้าว...
ของเค้าดีจริง
อารีย์_กำแพงเพชร
27 ตุลาคม, 2010 - 16:32
Permalink
ขอบคุณสำหรับข้อมูลดี ๆ ค่ะ
แต่เรียกชื่อเจ้าของบล๊อกไม่ถูกอ่ะค่ะ เปิดเผยตัวหน่อยดีมั๊ย เดี๋ยวขอปริ้นไปอ่านต่อที่บ้านค่ะ
แบ่งปัน สร้างสรรค์ พอเพียง
bnakorn
27 ตุลาคม, 2010 - 16:32
Permalink
ขอบคุณครับ
ขอบคุณครับ ยังไม่ได้อ่านเหมือนกัน แต่คงดูดไว้ก่อนครับ
เรียกง่ายๆว่า ขวัญก็ได้นะครับ my nickname
คนยอง
27 ตุลาคม, 2010 - 17:12
Permalink
น่าสนใจ
น่าสนใจครับ
..ของดี
มีประโยชน์
สวนฟักแฟงแตงไทย
27 ตุลาคม, 2010 - 18:52
Permalink
ข้อมูลวิชาการดีค่ะ
น่าสนใจ ก๊อบไว้อ่านก็ดีนะคะ
อนุบาลเกษตร
27 ตุลาคม, 2010 - 19:21
Permalink
ขอบคุณมากครับ
น่าสนใจมากทีเดียวครับ
ขออนุญาต ก๊อปไว้เป็นคู่มืออ้างอิงนะครับ
(ตอน) มา...(ตอน) อยู่...และก
ดาวเรือง
27 ตุลาคม, 2010 - 19:27
Permalink
ขอบคุณมากค่ะ
ได้ก๊อปปี้เก็บไว้เรียบร้อยแล้วค่ะ มีประโยชน์มากเลยค่ะ
สาวน้อย
27 ตุลาคม, 2010 - 20:58
Permalink
เยี่ยมมากค่ะ
ยังไม่เวลาดูรายละเอียด แต่เก็บข้อมูลไว้ก่อนค่ะ...ของดีๆๆมีต้องเก็บไว้
ชีวืตที่เพียงพอ..
หน้า