เอกสารประกอบการฝึกอบรมชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

หมวดหมู่ของบล็อก: 

มีเอกสารประกอบการฝึกอบรมมาฝาก


เอกสารประกอบการฝึกอบรม 


 ชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สู่เศรษฐกิจพอเพียง


วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบูรณ์


 



  1. ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

  2. ความเป็นมาของโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

  3. เกษตรอินทรีย์

  4. ดินและส่วนประกอบของดิน

  5. การอนุรักษ์ทรัพยากรดิน

  6. ปุ๋ยและการใช้ปุ๋ย

  7. ระบบการปลูกพืช

  8. จุลินทรีย์หรือชีวมวลและการทำงาน

  9. การขยายจุลินทรีย์

  10. ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยชีวภาพแห้ง

  11. ปุ๋ยน้ำจากพืชผัก

  12. ปุ๋ยน้ำจากผลไม้รวม

  13. ปุ๋ยน้ำจากเศษอาหาร

  14. ปุ๋ยปลา

  15. ปุ๋ยจากหอย  ปู  กุ้ง

  16. ปุ๋ยจากซากสัตว์

  17. สารชีวภาพป้องกันกำจัดศัตรูพืช

  18. สารชีวภาพป้องกันกำจัดโรคพืช

สมควร  ภู่ทิม


 


มกราคม   2553


ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อ 4 ธันวาคม 2540.... “ความจริงเคยพูดเสมอในที่ประชุมอย่างนี้ว่า การที่จะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกิน และมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกิน หมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้ให้มีพอเพียงกับตัวเอง”


หลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


ความพอเพียงหมายถึงความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ต่อผลกระทบใดๆอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน  ภายใต้เงื่อนไขความรู้ที่ต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังในการนำวิชาการมาใช้ในการวางแผน และดำเนินงานทุกขั้นตอนและเงื่อนไขคุณธรรม ต้องเสริมสร้างจิตใจของคนในชาติ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา


เป้าหมายของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


มุ่งให้เกิดความสมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี


 


ความเป็นมาของโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน


โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นโครงการความร่วมมือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาโดยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี  วิทยาลัยประมงและต่อมาภายหลังได้มีการขยายเข้าสู่วิทยาลัยการอาชีพในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเพื่อร่วมสืบสานพระราชปณิธานเกษตรกรรมและพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง”  ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ที่ว่า  “อยู่ที่เราพออยู่พอกินและมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพออยู่พอกิน  แบบพอมีพอกิน  หมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้ให้มีพอเพียงกับตัวเอง”  ซึ่งตรงข้ามกับเศรษฐกิจการค้า  ที่ให้มีการพึ่งพาตนเองมากที่สุด  ไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่นหรือปัจจัยจากภายนอกมากนัก  พยายามทำทุกอย่างที่กินและกินทุกอย่างที่ทำได้  ถ้าต้องการกินผักก็ต้องปลูกผัก  ต้องการกินปลา  กินไก่ก็เลี้ยงปลาเลี้ยงไก่  หาทางลดรายจ่ายให้มากที่สุด  ในเมื่อไม่ต้องจ่ายหรือจ่ายน้อย  เนื่องจากของทุกอย่างที่ต้องการมีในครัวเรือนแล้ว  รายได้ที่มีอย่างจำกัดก็ไม่สูญเสียกลับมีมากขึ้นและหลังจากเหลือกินก็แบ่งปันและขายเป็นการเพิ่มพูนรายได้ไปในตัวในขณะเดียวกันการผลิตทุกสิ่งทุกอย่างก็พยายามลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุด  เพาะฉะนั้นผู้ที่ยึดถือพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงจึงไม่ใช่คนจนเสมอไป  แต่จะค่อยๆมั่งมีขึ้นเรื่อยๆ อย่างมั่นคง และสมบูรณ์แบบ ดังนั้นเพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ในเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้จัดทำโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน  ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยการนำจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพและการทำเกษตรกรรมธรรมชาติเข้ามาดำเนินการในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี  ให้คณาจารย์  นักเรียน นักศึกษาและขยายผลไปยังสถาบัน  โรงเรียน  ชุมชน  ประชาชน  เกษตรกร  ฯลฯ  เป็นการช่วยเหลือสังคม  และพัฒนาคุณภาพชีวิตของท้องถิ่นตลอดจนการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งประโยชน์เหล่านี้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน  เพื่อความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สังคมมีความเอื้ออาทรต่อกัน และสามารถขยายผลสู่การเกษตรเชิงพาณิช  โดยส่งเสริมให้มีการปลอดสารเคมีในการผลิตอาหาร  การดำเนินชีวิต  4  ด้านได้แก่  การเพาะปลูก  การเลี้ยงสัตว์  การเลี้ยงสัตว์น้ำและสภาพแวดล้อม


 เกษตรอินทรีย์


          อาชีพเกษตรกร อาชีพที่ผลิตอาหารเลี้ยงประชากร เป็นอาชีพที่ถือได้ว่ามีผู้ประกอบการมากที่สุดในประเทศไทย เป็นอาชีพที่ทำได้ง่ายๆ ไม่ต้องมีความรู้ความชำนาญมากนัก ให้ผลตอบแทนสูงมาก อาจไม่มีอาชีพใดที่ให้ผลตอบแทนสูงมากกว่านี้ และยังให้ผลตอบแทนยาวนานมาก เกษตรกรจึงควรเป็นกลุ่มคนที่มั่งคั่งและมั่งมี แต่ความเป็นจริงเกษตรกรส่วนใหญ่มักมีหนี้สินล้นพ้นตัว และยากจน หากมีใครสอบถามถึงที่มาของปัญหาของเกษตรกร คำตอบที่ได้ส่วนใหญ่ คือ ราคาผลผลิตตกต่ำ สินค้าล้นตลาด พ่อค้าคนกลางกดราคา เกิดโรคและแมลงศัตรูระบาดอย่างรุนแรง ทั้งที่จริงปัญหาต่างๆเกิดจากการที่เกษตรกร ไม่ยอมพึ่งพาตนเอง คอยแต่จะพึ่งผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย ยา ฮอร์โมนสารป้องกันกำจัดโรค  และไม่ยอมลดต้นทุนการผลิต มุ่งเน้นที่จะเพิ่มผลผลิตเพียงอย่างเดียว แนวทางที่จะแก้ปัญหานี้น่าจะเป็นการทำเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกร และหันมาพึ่งตนเองอย่างจริงจัง ร่วมกับการลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในเมื่อต้นทุนการผลิตต่ำแล้วราคาผลผลิตถึงแม้จะตกต่ำเพียงใดก็ไม่มีความหมาย หรือแม้สินค้าเกษตรล้นตลาดก็สามารถเปลี่ยนผลผลิตเหล่านี้ เป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้ง่ายๆ


            การทำเกษตรอินทรีย์ จัดเป็นเกษตรกรรมทางเลือกที่เป็นแนวทางการเกษตรที่เน้นการให้ความอุดมสมบูรณ์กับผืนดินโดยวิธีธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีประเภทต่างๆทุกชนิดในการผลิต เพื่อความปลอดภัยในสุขภาพทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค มุ่งใช้เศษซาก สิ่งเหลือจากพืชและสัตว์ในรูปอินทรีย์วัตถุ ใช้สินแร่ที่มีตามธรรมชาติ ในการปรับปรุงบำรุงดิน ผสมผสานกับการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ที่หลากหลาย  การป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยชีววิธีหรือให้สิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติช่วยควบคุมและทำลายกันเอง           


            หลักการและเงื่อนไขของเกษตรอินทรีย์ หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีและสารเร่งการเจริญเติบโตในการทำเกษตรอินทรีย์ ที่สามารถส่งผลผ่านวงจรโซ่อาหารมายังผู้บริโภคได้ เพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วยการเติมอินทรียวัตถุและปุ๋ยอินทรีย์ พวกปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยน้ำชีวภาพ การใช้วัสดุคลุมดิน การปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน การควบคุม ป้องกันและกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีชีวภาพ กายภาพ อินทรีย์เคมี  การทำปศุสัตว์สัตว์และการทำสัตว์น้ำอินทรีย์จะเป็นการผลิตปศุสัตว์และสัตว์น้ำที่หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ฮอร์โมน ส่งเสริมให้สัตว์มีสุขภาพดี เน้นการป้องกันโรคสัตว์ด้วยการจัดการฟาร์มที่ดี และเหมาะสม


 ดินและส่วนประกอบของดิน


            ดินถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการทำเกษตร  เป็นแหล่งค้ำจุนและยึดเกาะของรากพืชเป็นแหล่งเก็บกักธาตุอาหาร  น้ำ  อากาศและสร้างสภาวะที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของพืช  ดินที่ดีย่อมทำหน้าที่ทั้ง  3  อย่างได้อย่างสมบูรณ์


            ดินกำเนิดขึ้นได้อย่างไร  ดินเกิดจากการคลุกเคล้าของฝุ่นหิน  แร่ธาตุ  อินทรียวัตถุจากพืช  สัตว์  มีกิจกรรมของชีวมวลหรือจุลินทรีย์และปฏิกิริยาทางเคมีขึ้นในของผสมชนิดนี้การทำงานของจุลินทรีย์ก่อให้เกิด  “ฮิวมัส”  ทั้งหมดนี้เรียกรวมกันว่าดิน


            ส่วนประกอบของดิน  จากการกำเนิดของดินข้างต้นทำให้รู้ว่า  ดิน  มีองค์ประกอบไปด้วย  หิน  แร่ธาตุ  ที่แตกละเอียดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจนถึงเป็นฝุ่น  อินทรียวัตถุจากพืชและสัตว์ที่ย่อยสลายจนเป็นฮิวมัส  น้ำที่อยู่ระหว่างเม็ดดิน  อากาศที่อยู่ระหว่างช่องว่างของดิน


            ดินดีควรมีลักษณะอย่างไรเกษตรกรมักคิดว่าดินดีควรจะมีสีดำ  นุ่ม  อุดมไปด้วยจุลินทรีย์ไส้เดือนหรือกล่าวตามหลักวิชาการว่า  เป็นดินที่มีโครงสร้างดี  มีความชื้นพอเหมาะ  เต็มไปด้วยธาตุอาหารพืช  อุดมไปด้วยอินทรียวัตถุและฮิวมัส  มีกิจกรรมทางชีวภาพสูง  อุดมไปด้วยชีวมวลและเช่นเดียวกันดินชนิดเดียวกันอาจจะเป็นดินดีหรือดินเลวก็ได้ขื้นอยู่กับปริมาณของอินทรียวัตถุและฮิวมัสในดิน  ดินที่มีฮิวมัสมากกว่าร้อยละ  5  จะมีโครงสร้างดี  เนื่องเพราะฮิวมัสมีความสามารถในการเก็บกักน้ำสูงและก็มีความสามารถในการระบายน้ำดีด้วยเช่นกัน  ดังนั้นดินเหนียวที่มีฮิวมัสสูงก็จะมีการระบายน้ำดี  ดินทรายที่มีฮิวมัสมากก็จะมีปฏิกิริยาตรงข้ามคืออุ้มน้ำได้ดี  ฮิวมัสและอินทรียวัตถุเกิดจากกระบวนการย่อยสลาย  ผุพังของซากพืชและซากสัตว์โดยมีจุลินทรีย์เป็นตัวย่อยสลาย  ฮิวมัสไม่ได้อยู่ในดินอย่างถาวร  แต่จะสลายตัวไปในกระบวนการเปลี่ยนรูปเป็นสารอนินทรีย์ในขณะเป็นธาตุอาหารของพืช  ดังนั้นถ้ากระบวนการป้อนอินทรียวัตถุให้กับดินในการเพาะปลูกหยุดหรือชะงักงัน  โครงสร้างของดินจะเสื่อมโทรมลงและฮิวมัสยังเป็นเครื่องตัดสินความสามารถในการยึดจับธาตุอาหารของดินถ้ามีปริมาณสูงจะทำให้การยึดจับธาตุอาหารสูงตามไปด้วย  ฮิวมัสมีสภาพหรือค่าความเป็นกรดเป็นด่างที่เป็นกลางและยังสามารถลดระดับความรุนแรงของกรดและด่างที่ได้รับจากภายนอกได้อีกด้วยและการย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ให้กลายเป็นอินทรีย์วัตถุและฮิวมัสต้องอาศัยการทำงานของจุลินทรีย์และแม้กระทั่งการปลดปล่อยธาตุอาหารจากฮิวมัสในกระบวนการเปลี่ยนรูปเป็นสารอนินทรีย์ที่มีความสำคัญต่อดินและพืชก็อาศัยการทำงานของจุลินทรีย์  สุขภาพของดินจะมีความสมบูรณ์แข็งแรง ความสมดุลของจุลินทรีย์ในดินจะคงอยู่  จุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคจะถูกควบคุมไว้ในระดับไม่เป็นอันตรายต่อพืชที่ปลูก


            ปัญหาของการทำการเกษตรปัจจุบัน  เริ่มเกิดขึ้นหลังจากมีการนำเอาเทคโนโลยีและการเกษตรเคมีมาใช้ในการผลิต  ผลผลิตที่ปรากฏดูเสมือนว่าผลผลิตรวมของเกษตรกรเพิ่มขึ้นแต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของชนบทอย่างใหญ่หลวง  เพราะเกษตรเคมีมุ่งเน้นแต่ผลได้ทางเศรษฐกิจ  ไม่คำนึงถึงปัจจัยทางนิเวศและสังคมจึงเป็นการต่อต้านและทำลายธรรมชาติโดยสิ้นเชิง  เทคโนโลยีทางการเกษตรเหล่านี้ก่อให้เกิดผลพวงและปัญหาตามมามากมายหลายประการได้แก่  ปัญหาดินเสื่อมโทรม  ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจนไม่คุ้มค่าต่อการผลิต  ปัญหาศัตรูพืช  ปัญหาสุขภาพ  คุณภาพอาหารด้อยลง  ปัญหามลพิษในสิ่งแวดล้อม  ปัญหาหนี้สิน  ปัญหาการอพยพแรงงาน  ผลพวงเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรและคนจำนวนมาก แล้วเราจะทำอย่างไรล่ะเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้


 การอนุรักษ์ทรัพยากรดิน


            เกษตรกรโดยส่วนใหญ่มักคิดว่าการปรับปรุงดินด้วยการเพิ่มธาตูอาหารเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการทำเกษตรกรรมแต่ความจริงการปรับปรุงบำรุงดินต้องทำควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรดินไปพร้อม ๆ กันกล่าว  คือ ดินที่ดีนอกจากะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรองแล้วยังต้องมีโครงสร้างทางกายภาพดีทั้งอุ้มน้ำและการะบายน้ำ  มีกิจกรรมทางชีวภาพของชีวมวลอย่างแข็งขัน  อุดมสมบูรณ์  ดังนั้นการบำรุงดินและการอนุรักษ์ทรัพยากรดินต้องทำควบคู่กันไปตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบของการบำรุงดินและการอนุรักษ์ทรัพยากรดินพบเห็นได้ในป่าธรรมชาติ  จะพบว่าพืชป่าที่เก็บจากธรรมชาติตลอดจนผลผลิตจากป่าและของป่าอีกมากมายหลายชนิดมนุษย์สามารถเก็บเกี่ยวบริโภค มาใช้ประโยชน์ได้อย่างไม่สิ้นสุดทั้ง ๆ ที่ไม่เคยมีใครไปเกี่ยวข้องหรือเข้าไปจัดการแต่อย่างใด  เนื่องจากป่าธรรมชาติมีการป้อนอินทรีย์วัตถุให้กับตัวเองอย่างสม่ำเสมอและตลอดเวลาซึ่งต่างกับพื้นที่เกษตรกรรมของเกษตรกรที่จัดการปลูกพืช ที่มักจะตักตวงแต่ผลประโยชน์จากดินโดยไม่มีการเหลียวแลผืนดินที่ตนเองเก็บเกี่ยวผลประโยชน์อยู่อย่างต่อเนื่องและยาวนาน ซึ่งไม่มีการป้อนอินทรีย์วัตถุลงไปในดินเลยอย่างมากก็ทำเพียงแค่การเติมธาตุอาหารหรือทำเพียงการบำรุงดินเท่านั้นซึ่งยังไม่พอเพียงต่อความต้องการของดินที่ต้องมีการอนุรักษ์ทรัพยากรดินไปด้วย  หลักการอนุรักษ์ทรัพยากรดิน  จะเน้นที่การเติมอินทรีย์วัตถุหรือฮิวมัสให้กับผืนดินที่ทำการเกษตรอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา  ลดการไถพรวนพลิกพื้นที่  มีการคลุมแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุคลุมแปลง การปลูกพืชคลุมดิน มีการปลูกไม้ยืนต้นและหญ้าตามขอบแปลงและงดใช้สารเคมีในการทำการเกษตร


            การเติมอินทรีย์วัตถุหรือฮิวมัสให้กับผืนดินสามารถทำได้หลากหลายวิธีด้วยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยชีวภาพทั้งหลายได้แก่การใส่ปุ๋ยคอก การใส่ปุ๋ยหมัก  การใส่ปุ๋ยพืชสด  การเติมซากพืชและซากสัตว์ให้ดินเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุที่ง่ายและรวดเร็วแต่ได้ผลดีในการบำรุงและอนุรักษ์ดิน


            การลดการไถพรวนพลิกฟื้นผืนดิน  การลดการไถพรวนจะช่วยสภาพพื้นดินฟื้นตัวขึ้นเองตามธรรมชาติเป็นวิธีการคุ้มครองดินที่เกษตรกรมักมองข้ามโดยคิดว่าการไถพรวนดินช่วยให้ดินมีความร่วนซุยเพิ่มขึ้น  ดินชั้นล่างไม่ถูกกลับขึ้นมาสัมผัสกับแสงแดด  ลม  ฝน  ธาตุอาหารและมวลชีวภาพไม่ถูกทำลาย


            การคลุมแปลง  สามารถใช้วัสดุคลุมแปลงได้ทั้งวัสดุคลุมดินที่เป็นอินทรียวัตถุเช่น  เศษวัชพืช  ใบไม้  ฟางข้าว  ตอซังและวัสดุคลุมดินที่ยังมีชีวิตเช่นการปล่อยให้วัชพืชขึ้นคลุมแปลงไม่มีการทำลายวัชพืช การปลูกพืชตระกูลถั่วต้นเตี้ยคลุมแปลง  การคลุมแปลงจะช่วยลดการสูญเสียความชื้นในดิน  ควบคุมวัชพืชได้ดีและเศษซากวัสดุคลุมแปลงยังกลับกลายเป็นอินทรีย์วัตถุได้อีกด้วย


การปลูกไม้ยืนต้น หญ้าตามขอบแปลงเป็นการเพิ่มการใช้ประโยชน์ใช้สอยบริเวณขอบแปลงมากขึ้น ช่วยป้องกันแดด  ลม การพังทลายของหน้าดิน การเคลื่อนย้ายของโรคแมลงเป็นเขตกันชนระหว่างแปลง และเกษตรกรจะได้รับไม้ฟืน หญ้าเลี้ยงสัตว์ตอบแทนอีกด้วย


การงดใช้สารเคมีในการทำการเกษตร  การใช้เคมีเกษตรทำให้ระบบนิเวศของดินเสียสมดุล  ควรงดใช้เคมีเกษตรโดยเด็ดขาดถึงแม้จะให้ผลอย่างรวดเร็วในการให้ธาตุอาหารและกำจัดศัตรูพืช


 ปุ๋ยและการใช้ปุ๋ย


            ปุ๋ย  หมายถึง  วัตถุหรือสารที่ใส่ลงไปในดินโดยมีความประสงค์จะให้เป็นธาตุอาหาร  เช่น  ไนโตรเจน  ฟอสฟอรัส  โพแทสเซียม  เพิ่มเติมแก่พืชเพื่อให้พืชได้มีธาตุอาหารดังกล่าวเป็นปริมาณที่เพียงพอและสมดุลกันตามที่พืชต้องการและให้ได้ผลผลิตสูงขึ้น ตามพระราชบัญญัติปุ๋ย  พ.ศ.2518  ได้ให้คำจำกัดความไว้ดังนี้ ปุ๋ยเป็นสารอินทรีย์หรือสารอนินทรีย์ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือทำขึ้นก็ตาม  สำหรับใช้เป็นธาตุอาหารแก่พืชได้  ไม่ว่าโดยวิธีใดหรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในดินเพื่อบำรุงความเติบโตของพืช  สามารถแบ่งปุ๋ยออกตามกระบวนการผลิตเป็นปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอนินทรีย์ และปุ๋ยอินทรีย์


            1.  ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอนินทรีย์  เป็นปุ๋ยที่มีองค์ประกอบทางเคมีเป็นอนินทรีย์สารสังเคราะห์ 


ข้อดีของปุ๋ยเคมี  คือ  ใส่แล้วพืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที เนื่องจากเป็นธาตุอาหารพืชโดยตรง


หลักการใช้ปุ๋ยเคมี


                        1.1  ต้องใช้ถูกชนิด


                        1.2  ต้องใช้ถูกขนาด


                        1.3  ต้องใช้ให้ถูกเวลา


                        1.4  ต้องใช้ให้ถูกวิธี


            2.  ปุ๋ยอินทรีย์  เป็นปุ๋ยที่ได้มาจากอินทรีย์สารที่ผลิตขึ้นโดยกรรมวิธีต่าง ๆ และก่อนที่จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อพืช  จะต้องผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทางชีวภาพเสียก่อน ปุ๋ยอินทรีย์ที่สำคัญได้แก่  ปุ๋ยหมัก  ปุ๋ยคอก  ปุ๋ยพืชสด  ปุ๋ยน้ำชีวภาพ


            วิธีการให้ปุ๋ยกับพืช  สามารถให้ปุ๋ยกับพืชได้  2  วิธี


                        1.  ทางดิน  โดยการฝังกลบ  โรยโคนต้น  รองก้นหลุม  หว่านไถกลบ  พืชนำธาตุอาหารไปใช้ด้วยการดูดซึมผ่านทางรากของพืช


                        2.  ทางใบ  โดยการฉีดพ่นทางใบ  ในรูปของปุ๋ยน้ำให้พืชดูดซึมผ่านทางใบโดยตรง  ส่วนใหญ่อยู่ในรูปปุ๋ยน้ำหรือละลายกับน้ำก่อนให้กับพืช


 ระบบการปลูกพืช


            การทำเกษตรกรรมในยุคปัจจุบันมุ่งเน้นแต่ผลได้ทางเศรษฐกิจ  หวังแต่จะได้ผลผลิตจำนวนมาก  การเพาะปลูกพืชจึงไม่คำนึงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อม ผู้คน  สิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ  มีการนำเอาสารเคมี  เมล็ดพันธุ์ลูกผสมใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูงมาใช้ในการผลิต  ทำการปลูกพืชเชิงเดี่ยว  ปลูกพืชชนิดเดียวกันเป็นเวลานาน ๆ ระบบการปลูกพืชแบบนี้จะก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมายทั้งในเรื่องของการขาดธาตุอาหารพืช  การระบาดของแมลงศัตรูพืช  การเกิดโรคพืชที่ร้ายแรงและรักษาเยียวยาไม่ได้ต้องย้ายแปลงปลูกไปยังที่ใหม่  มีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจสูงจากการที่ผลผลิตมีราคาตกต่ำ  ผลผลิตล้นตลาด  ดังที่เราพบเห็นได้ในการทำการเกษตรสมัยใหม่  การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนระบบการปลูกพืชใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการปลูกพืชเชิงเดี่ยวดังกล่าวข้างต้นด้วยการปลูกพืชด้วยระบบการปลูกพืชทางเลือกประกอบด้วย


            1.  การปลูกพืชที่หลากหลาย  การปลูกพืชในไร่นาของเกษตรกรควรมีความหลากหลายทั้งชนิดพืชและหลากหลายทางสายพันธุ์ของพืช  การปลูกพืชหลากหลายจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเสียหายของพืชพันธุ์และผลผลิตจากศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี การปลูกพืชหลากหลายทำได้โดยแบ่งไร่นาออกเป็นแปลงย่อย ๆ และเรียงเป็นลำดับสำหรับปลูกพืชที่หลากหลายทั้งชนิดและสายพันธุ์


            2.  การปลูกพืชหมุนเวียนเป็นการหมุนเวียนสับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูกในพื้นที่ดินเดิม  ระบบการปลูกพืชแบบนี้จะช่วยลดปัญหาดินเสื่อมสภาพ  การขาดธาตุอาหารในดิน  การระบาดของโรคพืชลงได้  การปลูกพืชหมุนเวียนต้องคำนึงถึงปริมาณความต้องการธาตุอาหารของพืชและความต้านทานโรคของพืชที่จะนำมาปลูกหมุนเวียนกันในแปลงปลูกพืช  พืชผักเป็นพืชที่ใช้ธาตุอาหารสูงสุดในขณะเดียวกันก็มีความต้านทานโรคต่ำสุด  พืชตระกูลถั่วใช้ธาตุอาหารน้อยที่สุดในขณะเดียวกันก็ปลดปล่อยไนโตรเจนให้กับดินด้วยแต่มีความต้านทานโรคในระดับปานกลาง  เพื่อเป็นการบำรุงดินจึงควรมีการปลูกพืชตระกูลถั่วหมุนเวียนกับพืชผักและพืชอื่น ๆ


            3.  การปลูกพืชผสมผสาน  เป็นการปลูกพืชหลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน พืชแต่ละชนิดสามารถอยู่ร่วมกันและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  เป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นดิน  แสงแดด  น้ำได้สูงสุด  ลดความเสี่ยงจากปัญหาเศรษฐกิจและศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี  การปลูกพืชผสมผสานหรือการปลูกพืชร่วมกันควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้คือ  ปริมาณการใช้ธาตุอาหารของพืชแต่ละชนิดควรปลูกพืชบำรุงดินร่วมกับพืชอื่นทุกครั้งที่มีการปลูกพืชผสมผสาน  ต้องคำนึงถึงความลึกของรากพืชควรปลูกพืชที่มีความลึกของระบบรากแตกต่างกันเพื่อป้องกันการแย่งธาตุอาหารซึ่งกันและกัน  มีการปลูกพืชไล่แมลงในแปลงปลูก  พืชที่มีขนาดเล็กหรือต้นเตี้ยควรมีความทนทานต่อร่มเงาในการปลูกร่วมกับพืชที่ขนาดลำต้นสูง  เพื่อให้พืชที่ปลูกในระบบการปลูกพืชผสมผสานสามารถให้ผลผลิตได้ทุกชนิดที่ปลูกในแปลงของเกษตรกร


จุลินทรีย์หรือชีวมวลและการทำงาน


            จุลินทรีย์  เป็นสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ชนิดหนึ่งที่เหมือนกับสิ่งมีชีวิตทั่วไปที่ต้องการอาหารที่ดี  สิ่งแวดล้อมที่ดี มีการขยายพันธุ์เพิ่มจำนวน  มีการทำงานและใช้อาหารได้  มีอยู่มากมายหลายชนิดที่รู้จักกันดีได้แก่  รา  แบคทีเรีย  ไวรัส  โปรโตซัว  ริกเกตเซีย  จุลินทรีย์เหล่านี้มีอยู่ทั่วไปในอากาศ  ปนเปื้อนอยู่กับอาหาร    พืชพันธุ์  เนื้อสัตว์  น้ำกิน  น้ำใช้ในครัวเรือน  เครื่องมือ  เครื่องใช้ต่าง ๆ สามารถจัดแบ่งกลุ่มของจุลินทรีย์ได้เป็น  3  กลุ่มใหญ่ ๆ คือ


            1. จุลินทรีย์กลุ่มที่ดีมีประโยชน์


            2.  จุลินทรีย์กลุ่มที่เป็นโทษ


            3.  จุลินทรีย์กลุ่มที่เป็นกลาง


            การทำงานของจุลินทรีย์  โดยปรกติจุลินทรีย์จะทำงานโดยการเข้าย่อยสลายวัตถุสิ่งของทั้งที่เป็นอินทรีย์วัตถุและอนินทรีย์วัตถุให้กลายเป็นฮิวมัสและสารอนินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อพืชในกรณีที่จุลินทรีย์กลุ่มที่ดี  มีประโยชน์มีมากและทำงานได้ดีมีกลุ่มจุลินทรีย์ที่เป็นกลางคอยช่วยเหลือ การย่อยสลายจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว  สมบูรณ์ไม่ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นและการบูดเน่า  แต่ถ้าเมื่อใดที่จุลินทรีย์กลุ่มที่เป็นโทษมีมากกว่าจุลินทรีย์ที่ดีและเป็นประโยชน์การย่อยสลายจะเกิดขึ้น  โดยจุลินทรีย์ที่เป็นกลางเข้าช่วยเช่นเดียวกันแต่การย่อยสลายจะก่อให้เกิดมลพิษทางกลิ่น  เกิดกลิ่นเหม็นและเน่าบูด  ดังนั้นถ้ามีการเพิ่มจุลินทรีย์กลุ่มที่ดีมีประโยชน์ลงในสภาพแวดล้อม  สารอินทรีย์ น้ำ ผืนดินที่ทำการเกษตร  เพื่อให้จุลินทรีย์กลุ่มที่ดี  มีประโยชน์มีจำนวนและปริมาณมากกว่าจุลินทรีย์ที่เป็นโทษ  การย่อยสลายอินทรีย์วัตถุและอนินทรีย์วัตถุ  จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์  รวดเร็ว  ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางกลิ่น  เป็นการปรับโครงสร้างของดินให้ดีขึ้น  มีฮิวมัสมากและรวดเร็วขึ้นส่งผลถึงธาตุอาหารพืชในดินมีมากขึ้นดินอุดมไปด้วยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์


            แหล่งของจุลินทรีย์ เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าจุลินทรีย์มีอยู่ทั่วไปทั้งในอากาศ  ปนเปื้อนอยู่กับอาหาร  พืชพันธุ์  เนื้อสัตว์  น้ำกิน  น้ำใช้ในครัวเรือน  เครื่องมือ  เครื่องใช้  เราสามารถเก็บหารวบรวมจุลินทรีย์ได้จากแหล่งต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ดังนี้


            1.  เก็บจุลินทรีย์ที่ดีมีประโยชน์จากอากาศ  โดยการใช้อาหารที่จุลินทรีย์ชอบตั้งทิ้งไว้บริเวณที่อุดมไปด้วยจุลินทรีย์ที่ดีมีประโยชน์


            2.  เก็บจุลินทรีย์ที่ดีมีประโยชน์จากที่ติดมากับพืชผัก  ผลไม้  โดยเก็บจากตาสับปะรดปั่นผสมน้ำมะพร้าวหรือจากผลไม้อื่น ๆ


            3.  เก็บจุลินทรีย์ที่ดีมีประโยชน์จากผืนดินหรือผืนป่าธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์


            4.  จุลินทรีย์ที่ดีมีประโยชน์ที่หน่วยงานราชการส่งเสริมในรูปของจุลินทรีย์สำเร็จรูป  ได้แก่  เชื้อจุลินทรีย์  พด.1 – พด.9  ของกรมพัฒนาที่ดิน


            5.  จุลินทรีย์ที่ดีมีประโยชน์ที่มีการผลิตจำหน่ายในท้องตลาดมีมากมายหลายบริษัท


            การเลือกใช้จุลินทรีย์ที่ดีมีประโยชน์  ประสิทธิภาพสูงจากแหล่งใดขึ้นอยู่กับผู้ใช้ที่ต้องทดสอบ  ทดลอง  เปรียบเทียบ  สังเกตุเองว่าจุลินทรีย์แหล่งใดดีที่สุด แข็งแรง เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมในการผลิตของเรามากที่สุดให้เลือกใช้จุลินทรีย์กลุ่มนั้นหรือขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้ใช้ที่จะตัดสินใจเลือกใช้จุลินทรีย์กลุ่มใดหรือเลือกจากความสะดวกในการจัดเตรียม  จัดหาจุลินทรีย์ก็ได้  ว่าจุลินทรีย์จากแหล่งใดสะดวกที่สุด  สำหรับการจัดเตรียม  จัดหามาใช้ในแปลงเกษตรของเรา


การใช้ประโยชน์จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ การนำจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อทดแทนสารเคมี ในการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ การประมง ในสิ่งแวดล้อมครัวเรือน



  1. การใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในกิจกรรมการปลูกพืช โดยใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพเป็นผู้ช่วยเหลือในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยน้ำ สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ใช้เพิ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในดินและน้ำบริเวณเพาะปลูก ควบคุมโรคพืช ซึ่งการผลิตปุ๋ยสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชจะนำเสนอในขั้นต่อไป

  2. การใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการเลี้ยงสัตว์ ทำโดยการให้สัตว์เลี้ยงกินจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพเข้าไปโดยตรง จุลินทรีย์ที่ดีจะไปขับไล่ และควบคุมจุลินทรีย์กลุ่มที่ไม่ดีไม่ให้ทำงาน ทำให้ระบบย่อยอาหารสัตว์เลี้ยงทำงานได้เต็มประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สัตว์มีสุขภาพแข็งแรง เติบโตรวดเร็ว มูลสัตว์มีกลิ่นลดลง มูลสัตว์เปลี่ยนสภาพเป็นอินทรีย์วัตถุเร็วขึ้น

  3. การใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในกิจกรรมประมง เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ เลี้ยงกุ้ง ทำโดยการเติมจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพลงในน้ำที่เลี้ยงสัตว์น้ำเหล่านี้ เพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในน้ำ ปรับสมดุลน้ำ ย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำ เพิ่มแพลงตอนที่เป็นอาหารสัตว์น้ำ ลดการเน่าเสียของน้ำ

  4. การใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในสิ่งแวดล้อม ครัวเรือน ใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการลดกลิ่นในห้องน้ำ ห้องส้วม ผลิตปุ๋ยน้ำจากเศษอาหาร ย่อยสลายกากอาหารในบ่อเกรอะทำให้ส้วมไม่เต็ม ทำความสะอาดพื้นผิวกระเบื้อง กระจก กำจัดน้ำเสียในครัวเรือน และอื่นๆ

 การขยายจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ หรือ การทำจุลินทรีย์ขยาย


ส่วนผสม


1.  จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ                    2          ช้อนโต๊ะ


2.  กากน้ำตาล                                 2          ช้อนโต๊ะ


3.  น้ำสะอาด                                   1          ลิตร


วิธีทำ


ผสมส่วนผสมทั้งหมดเข้าด้วยกันใส่ขวดพลาสติกใสชนิดฝาเกลียว  เขย่าให้เข้ากันหมั่นระบายก๊าซบ่อย ๆ เก็บนานกว่า  7  วัน  มีกลิ่นหอม อมเปรี้ยวอมหวานเริ่มใช้งานได้


วิธีใช้


ใช้ฉีดพ่นเพิ่มจุลินทรีย์ในดิน  ป้องกันกำจัดโรคพืช  อัตรา  1/1000 หรือ  1  ช้อนต่อน้ำ  10  ลิตร  ทำจุลินทรีย์น้ำ  ผลิตปุ๋ยน้ำชีวภาพ  ปุ๋ยอินทรีย์แห้ง  สารชีวภาพป้องกันและขับไล่แมลง ศัตรูพืช


หมายเหตุ :- สามารถขยายจุลินทรีย์จากจุลินทรีย์สดได้  4  ครั้ง


                        1  แก้ว          ประมาณ  250  ซี.ซี            


                        1  ช้อนโต๊ะ  ประมาณ     10  ซี.ซี


 


ปุ๋ยอินทรีย์ หรือ ปุ๋ยชีวภาพแห้ง


ส่วนผสม


1.  มูลสัตว์                                1                      ส่วน(กระสอบ)


2. เศษซากพืชสับละเอียด                  1                      ส่วน(กระสอบ)


3.  จุลินทรีย์น้ำ                           1-2                   แก้ว


4.  น้ำสะอาด                             พอราดรดวัสดุได้ชุ่มชื้น


วิธีทำ


            ผสมส่วนผสมทั้งหมดเข้าด้วยกัน  ราดรดกองส่วนผสมด้วยน้ำละลายจุลินทรีย์ กลับกองส่วนผสมให้เปียกชื้นทั่วทั้งกองให้พอเหมาะ โดยกำบีบส่วนผสมต้องไม่มีน้ำไหลออกมาและก้อนส่วนผสมไม่แตกใช้วัสดุหรือกระสอบป่านคลุมกอง กลับกองส่วนผสมทุกวันจนกว่าจะเย็นเป็นปรกติและแห้งสนิทหรือใช้เวลาประมาณ  15  วัน  นำไปใช้งาน


วิธีใช้


            รองก้นหลุมปลูก  โรยรอบโคนต้น  หว่านในแปลงไถกลบ ผสมดินปลูก


  


ปุ๋ยน้ำจากพืชผัก


ส่วนผสม


1.  ยอดและใบพืชผักเถาเลื้อย                  1          ส่วน


2.  ยอดและใบพืชผักกินใบ                     1          ส่วน


3.  ใบพืชอวบน้ำที่มีขนาดใบกว้างใหญ่          1          ส่วน


3.  จุลินทรีย์น้ำ                                 1          แก้ว


4.  กากน้ำตาล                                 1          ส่วน


5  น้ำสะอาด                                          พอท่วมส่วนผสม


วิธีทำ


            หั่น  ย่อย บดใบพืชผักทั้งหมดใส่ถังพลาสติกชนิดมีฝาปิด  เติมจุลินทรีย์  กากน้ำตาล  น้ำตามส่วนผสมคนส่วนผสมให้เข้ากันปิดฝาให้สนิท  หมั่นคนส่วนผสมทุกวัน  หมักนานกว่า  7  วัน  กรองใช้งานได้ ยิ่งหมักนานยิ่งดี


วิธีใช้


            4 – 5 ช้อนผสมน้ำ  10  ลิตร  ฉีดพ่น  ราดรดโคนต้น  ทำให้พืชผักกำลังเจริญเติบโต  โตไว ใบใหญ่  หนา  ลำต้นอวบอ้วน  น้ำหนักดี  รสชาติดี กรอบ  อร่อย  เก็บรักษาได้นาน  คุณค่าทางอาหารสูง


 


ปุ๋ยน้ำจากผลไม้รวม


ส่วนผสม


1.  ผลไม้แก่จัดหรือสุกมีสีเหลือง                           3          ส่วน


2.  จุลินทรีย์น้ำ                                            1          แก้ว


3.  กากน้ำตาล                                            1          ส่วน


4.  น้ำสะอาด                                                     พอท่วมส่วนผสม


วิธีทำ


            หั่น  ย่อย  บดผลไม้ทั้งหมดใสถังพลาสติกชนิดมีฝาบิด  เติมจุลินทรีย์  กากน้ำตาล  น้ำตามส่วนผสม  คนส่วนผสมให้เข้ากันปิดฝาให้สนิทหมั่นคนบ่อย ๆ หมักนานกว่า  7  วันใช้งานได้ ยิ่งหมักนานยิ่งดี ถ้าเป็นผลไม้ที่มีรสหวานอยู่แล้วไม่ต้องใส่กากน้ำตาล


วิธีใช้


            4 – 5 ช้อน  ผสมน้ำ  10  ลิตร  ฉีดพ่น  ราดรดโคนต้น  ให้กับพืชที่กำลังให้ผลผลิตทำให้ออกดอกดี  ดอกดก  ขั้วดอกเหนียว  ติดผลดก  ลดการหลุดล่วงของผล  ขยายขนาดผลทั้งทางกว้างและยาว  พวงใหญ่  น้ำหนักดี  สีสันจัดจ้าน  รสชาดอร่อย  เก็บรักษาได้นาน


 


ปุ๋ยน้ำจากเศษอาหาร


ส่วนผสม


1.  เศษอาหารจากครัวเรือน                      3          ส่วน


2.  จุลินทรีย์น้ำ                                  1          แก้ว


3.  กากน้ำตาล                                  1          ส่วน


4.  น้ำสะอาด                                         พอท่วมส่วนผสม


วิธีทำ


            หั่น  ย่อย  ผสมเศษอาหารที่มีทั้งหมดใส่ถังพลาสติกชนิดมีฝาปิด  เศษอาหารต้องยังไม่บูด  เน่า  เติมจุลินทรีย์  กากน้ำตาล  ตามส่วนผสม  คนให้ส่วนผสมเข้ากันปิดฝาให้สนิท  หมั่นคนบ่อย ๆ หมักนานกว่า  7  วัน  เป็นน้ำสีน้ำตาลมีกลิ่นหอมใช้งานได้ ยิ่งหมักนานยิ่งดี


วิธีใช้


            4 – 5 ช้อนผสมน้ำ   10  ลิตร  ฉีดพ่น  ราดรดโคนต้นพืช  ผัก  ไม้ผล  พืชไร่  ไม้ดอก  ไม้ประดับ


 


 ปุ๋ยปลา


ส่วนผสม


1.  เศษปลา หัว เลือด เกร็ด ปลาเล็กปลาน้อย         1                      ส่วน


2.  จุลินทรีย์น้ำ                                       1                      แก้ว


3.  กากน้ำตาล                                        1 –2                 ส่วน


4.  น้ำสะอาด                                                     พอท่วมส่วนผสม


วิธีทำ


            หั่น  ย่อย  บดเศษปลาที่มีทั้งหมดใส่ถังพลาสติกชนิดมีฝาปิด  เติมจุลินทรีย์  กากน้ำตาล  น้ำตามส่วนผสม  คนส่วนผสมให้เข้ากันปิดฝาให้สนิท  หมั่นคนบ่อย ๆ หมักนานกว่า  7  วัน  เป็นน้ำสีน้ำตาลมีกลิ่นหอมใช้งานได้ ยิ่งหมักนานยิ่งดี


วิธีใช้


            4 – 5  ช้อนผสมน้ำ  10  ลิตร  ฉีดพ่น  ราด  รด  โคนต้นพืชผัก  ไม้ผล  พืชไร่  ไม้ดอก  ไม้ประดับ


 


 ปุ๋ยน้ำจากหอย  ปู  กุ้ง


ส่วนผสม


1.  หอยทาก  หอยเชอรี่  ปู  กุ้ง                  1                      ส่วน


2.  จุลินทรีย์น้ำ                                   1                      แก้ว


3.  กากน้ำตาล                                    1 – 2                ส่วน


4.  น้ำสะอาด                                         พอท่วมส่วนผสม


วิธีทำ


            ย่อย  บด  ตำส่วนผสมทั้งหมดให้ละเอียดที่สุดใส่ถังพลาสติกชนิดมีฝาปิด  เติมจุลินทรีย์  กากน้ำตาล  น้ำตามส่วนผสม  คนส่วนผสมให้เข้ากันปิดฝาให้สนิท  หมั่นคนบ่อย ๆ หมักนานกว่า  7  วัน  เป็นน้ำสีน้ำตาลมีกลิ่นหอมใช้งานได้ ยิ่งหมักนานยิ่งดี ถ้าเป็นหอยอย่างเดียวไม่ต้องเติมน้ำเพราะในตัวหอยมีน้ำอยู่มากแล้ว


วิธีใช้


            4 – 5  ช้อนผสมน้ำ  10  ลิตร  ฉีดพ่น  ราด  รด  โคนต้นพืชผัก  ไม้ผล  พืชไร่  ไม้ดอก  ไม้ประดับ


 


 ปุ๋ยน้ำจากซากสัตว์


ส่วนผสม


1.  ซากไก่ สุกร กบ  สุนัข รก ลูกสัตว์          1                      ส่วน


2.  จุลินทรีย์น้ำ                                1                      แก้ว


3.  กากน้ำตาล                                 1 – 2                ส่วน


4.  น้ำสะอาด                                         พอท่วมส่วนผสม


วิธีทำ


            บด  ย่อย  ซากสัตว์สิ่งเหลือจากการฆ่าสัตว์ทั้งหมดใส่ถังพลาสติกชนิดมีฝาปิด  เติมจุลินทรีย์  กากน้ำตาล  น้ำตามส่วนผสม  คนส่วนผสมให้เข้ากันปิดฝาให้สนิท  หมั่นคนบ่อย ๆ หมักนานกว่า  7  วัน  เป็นน้ำสีน้ำตาลมีกลิ่นหอมใช้งานได้ ยิ่งหมักนานยิ่งดี


วิธีใช้


            4 – 5  ช้อนผสมน้ำ  10  ลิตร  ฉีดพ่น  ราด  รด  โคนต้นพืชผัก  ไม้ผล  พืชไร่  ไม้ดอก  ไม้ประดับ


 


สารชีวภาพป้องกันกำจัดศัตรูพืช


ส่วนผสม


1.  สมุนไพรรสชาติเผ็ด ร้อน  ขม  ฝาด                   2          ส่วน


2.  สมุนไพรที่เป็นพิษกับมนุษย์และสัตว์                   1          ส่วน


3.  กากน้ำตาล                                           1          ส่วน


4.  จุลินทรีย์                                              1          แก้ว


5.  น้ำสะอาด                                                     พอท่วมส่วนผสม


วิธีทำ


            หั่น  ย่อย  บด  พืชสมุนไพรทั้งหมดใส่ถังพลาสติกชนิดมีฝาปิด  สมุนไพร  ยิ่งหลากหลายยิ่งดี  เติมจุลินทรีย์  กากน้ำตาล  น้ำตามส่วน  คนส่วนผสมให้เข้ากันปิดฝาให้สนิท  หมั่นคนบ่อย ๆ หมักนานกว่า  7  วันใช้งานได้ ยิ่งหมักนานยิ่งดี


วิธีใช้


            1/2   แก้ว  ผสมน้ำ  20  ลิตร  ฉีด  พ่น  ราด  รด  พืชผัก  ไม้ใบ  ไม้ดอก  ไม้ผล  พืชไร่  ป้องกันกำจัด  ขับไล่ศัตรูพืช  หนอน แมลง


 


 สารชีวภาพป้องกันกำจัดโรคพืช


ส่วนผสม


1.  ละหุ่ง และมะละกอทั้ง 5                                2          ส่วน


2.  แค และมะรุมทั้ง 5                                     1          ส่วน


3.  กากน้ำตาล                                            1          ส่วน


4.  จุลินทรีย์                                               1          แก้ว


5.  น้ำสะอาด                                                     พอท่วมส่วนผสม


วิธีทำ


            หั่น  ย่อย  บด  พืชทั้งหมดใส่ถังพลาสติกชนิดมีฝาปิด  พืชยิ่งมากส่วนยิ่งดี  เติมจุลินทรีย์  กากน้ำตาล  น้ำตามส่วน  คนส่วนผสมให้เข้ากันปิดฝาให้สนิท  หมั่นคนบ่อย ๆ หมักนานกว่า  7  วันใช้งานได้ ยิ่งหมักนานยิ่งดี


วิธีใช้


            1/2   แก้ว  ผสมน้ำ  20  ลิตร  ฉีด  พ่น  ราด  รด  พืชผัก  ไม้ใบ  ไม้ดอก  ไม้ผล  พืชไร่  ป้องกันกำจัดโรคพืช


 


เอกสารอ้างอิง


 


การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, 2548.  โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน.  พิมพ์ครั้งที่  22  กรุงเทพฯ : กองผลิตสื่อประชาสัมพันธ์


คณาจารย์ภาควิชาปฐพีวิทยา, 2544.  ปฐพีวิทยาเบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่  9  กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


ชิมเป  มูรากามิ, 2547.  สู่สำนึกธรรมชาติ  คู่มือเกษตรกรรมนิเวศเขตร้อน. พิมพ์ครั้งที่  2  กรุงเทพฯ : ปาปิรุส  พับลิเคชั่น.


มูลนิธิบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ด้วยกิจกรรมทางศาสนา,  2541.  การประยุกต์ใช้จุลินทรีย์ อี เอ็ม. 


พิมพ์ครั้งที่  8  กรุงเทพฯ :  ธีรสารการพิมพ์


มูลนิธิสายใยแผ่นดิน, 2547. เกษตรยั่งยืน  วิถีการเกษตรเพื่ออนาคต.  พิมพ์ครั้งที่  2  กรุงเทพฯ : ปาปิรุส  พับลิเคชั่น.


รัช  รุจิรวรรธน์ , 2549.  เกษตรคิวเซ(มกราคม – กุมภาพันธ์).  กรุงเทพฯ : ก.พล (1996).


เอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการเกษตรอินทรีย์จังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเพชรบูรณ์


 


 

ความเห็น

 เป็นประโยชน์มากครับ ขอบคุณสำหรับการแบ่งปัน


ขออนุญาตเซฟเก็บไว้ศึกษาครับ

ยังไม่ได้อ่านครับ..แต่ตอนนี้...ครูดมาพริ้นเรียบร้อยแล้ว...


ขอบคุณครับ...

เป็นเพียงแค่มดตะนอย ตัวจ้อยจิด  ทีพลัดติดกลางช่อ พอเพียงใหญ่

คือหนึ่งเสียงหนึ่งคิดเห็น ที่เป็นไป อาจถูกใจหรือไม่บ้าง ลองชั่งดู

ของเค้าดีจริง

แต่เรียกชื่อเจ้าของบล๊อกไม่ถูกอ่ะค่ะ  เปิดเผยตัวหน่อยดีมั๊ย เดี๋ยวขอปริ้นไปอ่านต่อที่บ้านค่ะ

แบ่งปัน สร้างสรรค์ พอเพียง

 

ขอบคุณครับ  ยังไม่ได้อ่านเหมือนกัน  แต่คงดูดไว้ก่อนครับ

  เรียกง่ายๆว่า ขวัญก็ได้นะครับ my nickname

น่าสนใจครับ

..ของดี

มีประโยชน์

น่าสนใจ ก๊อบไว้อ่านก็ดีนะคะ

 

น่าสนใจมากทีเดียวครับ 

ขออนุญาต ก๊อปไว้เป็นคู่มืออ้างอิงนะครับ

 


(ตอน) มา...(ตอน) อยู่...และก

ได้ก๊อปปี้เก็บไว้เรียบร้อยแล้วค่ะ  มีประโยชน์มากเลยค่ะ

ยังไม่เวลาดูรายละเอียด แต่เก็บข้อมูลไว้ก่อนค่ะ...ของดีๆๆมีต้องเก็บไว้

ชีวืตที่เพียงพอ..

หน้า