วิธีสร้างบุญบารมี

หมวดหมู่ของบล็อก: 
บุญ คือเครื่องชำระสันดาน ความดี กุศล ความสุข ความประพฤติชอบทางกาย วาจา และใจ กุศลธรรม
บารมี คือคุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด เพื่อบรรลุจุดหมายอันสูงสุด
วิธีสร้างบุญบารมีในพระพุทธศาสนามีอยู่ ๓ ขั้นตอน คือการให้ทาน  การถือศีล  และการเจริญภาวนา ที่นิยมเรียกกันว่า “ทาน  ศีล ภาวนา” ซึ่งการให้ทานหรือการทำทานนั้นเป็นการสร้างบุญที่ต่ำที่สุด ได้บุญน้อยที่สุด 
ไม่ว่าจะทำมากอย่างไรก็ไม่มีทางที่จะได้บุญมากไปกว่าการถือศีลไปได้ การถือศีลนั้นแม้จะมากอย่างไร ก็ไม่มีทางมากเกินไปกว่าการเจริญภาวนาไปได้  ฉะนั้น การเจริญภาวนานั้น จึงเป็นการสร้างบุญบารมีที่สูงที่สุด ได้มากที่สุด  

๑. การทำทาน
ผู้ทำทานได้บุญมากหรือน้อยประกอบด้วยองค์ประกอบ ๓ ประการต่อไปนี้
องค์ประกอบข้อ ๑ “วัตถุทานที่ให้ต้องบริสุทธิ์”
ไม่ใช่ของที่ได้มาเพราะการเบียดเบียนผู้อื่น ลักทรัพย์ ยักยอก ฉ้อโกง ปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ เป็นต้น
องค์ประกอบข้อ ๒ “เจตนาในการให้ทานต้องบริสุทธิ์”
เพื่อเป็นการขจัดความโลภ  ความตระหนี่เหนียวแน่น  ความหวงแหนหลงใหลในทรัพย์สมบัติของตนอันเป็นกิเลสหยาบ คือ 
“โลภ กิเลส” และเพื่อเป็นการสงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับความสุขด้วย 
เจตนาในการทำทานบริสุทธิ์  ๓  ระยะ 
(๑) ระยะก่อนที่จะให้ทาน มีจิตโสมนัสร่าเริงเบิกบานยินดีที่จะให้ทาน เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับความสุขเพราะทรัพย์สิ่งของของตน
(๒) ระยะที่กำลังลงมือให้ทาน มีจิตโสมนัสยินดีและเบิกบาน
(๓) ระยะหลังจากที่ได้ให้ทานไปแล้ว เมื่อหวนคิดถึงทานที่ตนได้กระทำไปแล้วครั้งใด ก็มีจิตใจโสมนัสร่างเริงเบิกบาน ยินดีในทานนั้น ๆ
องค์ประกอบข้อ ๓ “เนื้อนาบุญต้องบริสุทธิ์”
เป็นองค์ประกอบข้อที่สำคัญที่สุด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ว่า แม้วัตถุทานจะบริสุทธิ์ดี เจตนาในการทำทานจะบริสุทธิ์ดีจะทำให้ทานนั้นมีผลมากหรือน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับเนื้อนาบุญเป็นลำดับต่อไปนี้ คือ
ทำทานแก่สัตว์เดรัจฉาน  ได้บุญน้อยกว่า
การให้ทานแก่มนุษย์ที่ไม่มีศีล ไม่มีธรรมวินัย  ยังได้บุญน้อยกว่า 
การให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล ๕   ยังได้บุญน้อยกว่า 
การให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล ๘   ยังได้บุญน้อยกว่า
การถวายทานแก่สามเณรซึ่งมีศีล ๑๐   ยังได้บุญน้อยกว่า
การถวายทานแก่พระสมมุติสงฆ์ผู้มีศีลปาฏิโมกข์สังวร ๒๒๗ ข้อ ยังได้บุญน้อยกว่า
การถวายทานแก่พระโสดาบัน   ยังได้บุญน้อยกว่า 
การถวายทานแก่พระสกิทาคามี   ยังได้บุญน้อยกว่า
การถวายทานแก่พระอนาคามี   ยังได้บุญน้อยกว่า
การถวายทานแก่พระอรหันต์    ยังได้บุญน้อยกว่า 
การถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า   ยังได้บุญน้อยกว่า
การถวายทานแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า   ยังได้บุญน้อยกว่า
การถวายสังฆทานที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน ซึ่งแม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง  ก็ยังได้บุญน้อยกว่า
การถวายวิหารทาน ได้แก่การสร้างหรือร่วมสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ศาลาโรงธรรม ศาลาท่าน้ำ ศาลาที่พักอาศัยคนเดินทาง อันเป็นสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันเช่น โรงพยาบาล โรงเรียน บ่อน้ำ แท็งก์น้ำ ศาลาป้ายรถยนต์โดยสารประจำทาง สุสาน เมรุเผาศพ ก็ได้บุญมากให้ทำนองเดียวกัน
การถวายวิหารทานแม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ยังได้บุญน้อยกว่า
การให้ “ธรรมทาน” แม้เพียงครั้งเดียว การให้ธรรมทานก็คือการเทศน์ การสอนธรรมะแก่ผู้อื่นที่ยังไม่รู้ให้ได้รู้ ให้ได้เข้าใจในมรรค ผล นิพพานให้ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฐิได้กลับใจเป็นสัมมาทิฐิ ชักจูงผู้คนให้เข้าปฏิบัติธรรม รวมตลอดถึงการพิมพ์การแจกหนังสือธรรมะ
การให้ธรรมทานมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ยังได้บุญน้อยกว่า
การให้ “อภัยทาน” คือการไม่ผูกโกรธ ไม่อาฆาตจองเวร ไม่พยาบาทคิดร้ายผู้อื่นแม้แต่ศัตรู ซึ่งได้บุญกุศลแรงและสูงมากในฝ่ายทาน 
เพื่อละ “โทสกิเสส” และเป็นการเจริญ “เมตตาพรหมวิหารธรรม”
 
          
๒. การรักษาศีล

ศีลคือสิ่งหรือกติกาที่บุคคลจะต้องระวังรักษาตามเพศและฐานะ เช่น เป็นฆราวาส ศีล ๕  ศีล ๘ ศีล ๑๐ และพระภิกษุสงฆ์ศีล ๒๒๗

การรักษาศีลเป็นการเพียรพยายามเพื่อระงับโทษทางกายและวาจา  การบำเพ็ญบุญบารมีที่สูงขึ้นกว่าการให้ทาน  การถือศีลได้บุญมากและน้อยต่างกันไปตามลำดับต่อไปนี้คือ

 การให้อภัยทานมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล ๕ แม้เพียงครั้งเดียว

 การถือศีล ๕ มากถึง ๑๐๐ ครั้ง ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล ๘ เพียงครั้งเดียว

 การถือศีล ๘ มากถึง ๑๐๐ ครั้ง ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล ๑๐ คือการบวชเป็นสามเณร  แม้จะบวชมาเพียงวันเดียวก็ตาม

  การที่ได้บวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา รักษาศีล ๑๐ ไม่ให้ขาด  แม้จะนานถึง ๑๐๐ ปี  ยังได้บุญน้อยกว่าผู้ที่ได้อุปสมบทเป็นพระในพระพุทธศาสนามีศีลปาฏิโมกข์ สังวร ๒๒๗ เพียงวันเดียวก็ตาม

ฉะนั้นในฝ่ายศีลแล้ว การที่ได้อุปสมบทเป็นพระในพระพุทธศาสนาได้บุญบารมีมากที่สุด เพราะเป็นเนกขัมมบารมีในบารมี ๑๐ ทัศ ซึ่งเป็นการออกจากกามเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติธรรมขั้นสูง ๆ คือการภาวนาเพื่อมรรค ผล นิพพาน ต่อ ๆ ไป

๓. การภาวนา
เป็นการสร้างบุญบารมีที่ สูงที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุดในพระพุทธศาสนา จัดว่าเป็นแก่นแท้และสูงกว่าฝ่ายศีลมากนัก การเจริญภาวนานั้น มี ๒ อย่าง  คือ (๑) สมถภาวนา (การทำสมาธิ) และ (๒) วิปัสสนาภาวนา (การเจริญปัญญา) แยกอธิบายดังนี้  คือ
 

              (๑) สมถภาวนา (การทำสมาธิ)
ได้แก่ การทำจิตใจให้เป็นสมาธิ หรือเป็นฌาน คือการทำจิตให้มั่นคงอยู่ในอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่านแส่ส่ายไปยังอารมณ์อื่น ๆ วิธีภาวนานั้น มีมากมายหลายร้อยชนิด ซึ่งพระพุทธองค์ทรงบัญญัติแบบอย่างเอาไว้ ๔๐ ประการ  เรียกกันว่า “กรรมฐาน ๔๐” ซึ่งผู้ใดจะเลือกใช้วิธีใดก็ได้ตามแต่สมัครใจ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาศีลให้ครบถ้วนบริบูรณ์ตามเพศของตนเสียก่อน จึงจะสามารถทำจิตให้เป็นฌานได้ หากศีลยังไม่มั่นคง ย่อมเจริญญานให้เกิดขึ้นได้โดยยาก เพราะศีลย่อมเป็นบาทฐาน (เป็นกำลัง) ให้เกิดสมาธิขึ้น อานิสงส์ของสมาธินั้น มีมากกว่าการรักษาศีลอย่างเทียบกันไม่ได้ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสว่า “แม้ จะได้อุปสมบทเป็นภิกษุรักษาศีล ๒๒๗ ข้อ ไม่เคยขาด ไม่ด่างพร้อยมานานถึง ๑๐๐ ปี ก็ยังได้บุญกุศลน้อยกว่าผู้ที่ทำสมาธิเพียงให้จิตสงบนานเพียงชั่วไก่กระพือ ปีก ช้างกระดิกหู” คำว่า “จิตสงบ” ในที่นี้หมายถึงจิตที่เป็นอารมณ์เดียวเพียงชั่ววูบ ที่พระท่านเรียกว่า “ขณิกสมาธิ” คือสมาธิเล็ก ๆ น้อย ๆ สมาธิแบบเด็ก ๆ ที่เพิ่งหัดตั้งไข่ คือหัดยืนแล้วก็ล้มลง แล้วก็ลุกขึ้นยืนใหม่

การทำสมาธิเป็นการสร้างบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ ลงทุนน้อยที่สุด เพราะไม่ได้เสียเงินเสียทอง ไม่ได้เหนื่อยยากต้องแบกหามแต่อย่างใด เพียงแต่คอยเพียงระวังรักษาสติ คุ้มครองจิตมิให้แส่ส่ายไปสู่อารมณ์อื่น ๆ โดยให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น การทำทานเสียอีกยังต้องเสียเงินทอง การสร้างโบสถ์  วิหาร ศาลาโรงธรรมยังต้องเสียทรัพย์ และบางทีก็ต้องเข้าช่วยแบกหามเหนื่อยกาย แต่ก็ได้บุญน้อยกว่าการทำสมาธิอย่างที่เทียบกันไม่ได้
อย่างไรก็ดี การเจริญสมถภาวนาหรือสมาธินั้น แม้จะได้บุญอานิสงส์มากมายมหาศาลอย่างไร ก็ยังไม่ใช่บุญกุศลที่สูงสุดยอดในพระพุทธศาสนา  การเจริญวิปัสสนา (การเจริญปัญญา) จึงจะเป็นการสร้างบุญกุศลที่สูงสุดยอดในพระพุทธศาสนา หากจะเปรียบก็เป็นแก่นไม้โดยแท้

              (๒) วิปัสสนาภาวนา (การเจริญปัญญา)
วิปัสสนา ไม่ใช่ให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวนิ่งอยู่เช่นนั้น  แต่เป็นจิตที่คิดและใคร่ครวญหาเหตุและผลในสภาวธรรมทั้งหลายและสิ่งที่เป็น อารมณ์ของวิปัสสนานั้น มีแต่เพียงอย่างเดียวคือ “ขันธ์ ๕” ซึ่งนิยมเรียกกันว่า “รูป-นาม” โดยรูปมี ๑ ส่วน นามนั้น มี ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร  และวิญญาณ  ขันธ์ ๕ ดังกล่าวเป็นเพียงอุปาทานขันธ์ เพราะแท้จริงแล้วเป็นแต่เพียงสังขารธรรมที่เกิดขึ้นเนื่องจากการปรุงแต่ง แต่เพราะอวิชชา คือความไม่รู้เท่าสภาวธรรม จึงทำให้เกิดความยึดมั่นด้วยอำนาจอุปาทานว่าเป็นตัวตนและของตน การเจริญวิปัสสนาก็โดยมีจิตพิจารณาจนรู้แจ้งเห็นจริงว่า อันสภาวธรรมทั้งหลายอันได้แก่ขันธ์ ๕ นั้นล้วนแต่มีอาการเป็นพระไตรลักษณ์  คือเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา โดย
 

                     (๑) อนิจจัง  คือความไม่เที่ยง  คือสรรพสิ่งทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ สมบัติ เพชร หิน ดิน ทราย และรูปกายของเรา  ล้วนแต่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน  เมื่อมีเกิดขึ้นแล้วก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เพียงแต่จะช้าหรือเร็วก็เท่านั้น  

                      (๒) ทุกขัง ได้แก่ “สภาพที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้” ทุกขัง ในที่นี้มิได้หมายความแต่เพียงว่าเป็นความทุกข์กายทุกข์ใจเท่านั้น แต่การทุกข์กายทุกข์ใจก็เป็นลักษณะส่วนหนึ่งของทุกขังในที่นี้ สรรพสิ่งทั้งหลายเป็นสังขารธรรมเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่อาจที่จะทนตั้งมั่นอยู่ในสภาพนั้น ๆ ได้ตลอดไป ไม่อาจจะทรงตัว และต้องเปลี่ยนแปลงไป เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น จะต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นหนุ่มและสาวแล้วก็เฒ่าแก่ จนในที่สุดก็ต้องตายไป

                      (๓) อนัตตา  ได้แก่ “ความไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สิ่งของ” โดยสรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากปรับปรุงแต่ง  ไม่ว่าจะเป็น “รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ” ล้วนแต่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เช่นรูปขันธ์ย่อมประกอบขึ้นด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ มาประชุมรวมกันเป็นกลุ่มก้อน เป็นหน่วยชีวิตเล็ก ๆ ขึ้นก่อน เรียกในทางวิทยาศาสตร์ว่า “เซลล์” จนเป็นรูปกายของคนและสัตว์ทั้งหลาย  ซึ่งพระท่านรวมเรียกหยาบ ๆ ว่าเป็นธาตุ ๔ เช่น ความร้อน ความเย็น เรียกว่า ธาตุไฟ  ส่วนธรรมชาติที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหว ความตั้งมั่น ความเคร่ง ความตึงและบรรดาสิ่งเคลื่อนไหวไปมาในร่างกายเรียกว่า  ธาตุลม
สมาธิย่อมมีกรรมฐาน ๔๐ เป็นอารมณ์ ส่วนวิปัสสนานั้นมีแต่เพียงอย่างเดียว  คือมี  ขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ เรียกสั้น ๆ ว่า มีแต่รูปกับนามเท่านั้น ขันธ์ ๕ นั้นได้แก่รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ 
ฉะนั้น  การที่จะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพยายามทำสมาธิให้ได้เสียก่อน ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า “ผู้ใดแม้จะทำสมาธิจนจิตเป็นฌานได้นานถึง ๑๐๐ ปี และไม่เสื่อม ก็ยังได้บุญน้อยกว่าผู้ที่มองเห็นความเป็นจริงที่ว่า สรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่ง  ล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แม้จะเห็นเพียงชั่วขณะจิตเดียวก็ตาม”

 
โดย
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช  สกลมหาสังฆปริณายก

(คัดลอกส่วนสำคัญจากหนังสือวิธีสร้างบุญบารมี  เพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทาน)

ความเห็น

ลุงพีเจ้าขา..แล้วสร้างถนนแอสฟัสติกส์เข้าสำนักปฏิบัติธรรมของแม่ชีล่ะคะ...:confused:

.................

ทำทานแก่ผู้มีศีลได้บุญได้กุศลแน่นอนจ้า ขออนุโมทนาด้วยครับ

พอกิน พอใช้ พอใจ คือความหมายของ พอเพียง

หยอยเองเน้นแต่เรื่องฝึกเจริญสติค่ะลุงพี ปีนี้ยังคิดชวนพี่น้องทางใต้เข้าเงียบที่สวนโมก หลายปีแล้วที่ไม่ได้กลับไป วันล้ออายุพุทธาสปีนี้ก็ไม่ได้ไป จะเสร็จงานรวบรวมเรื่องอาหารพื้นบ้านประมาณสิงหา จากนั้นก็ทำเรื่องจิตใจได้แล้วค่ะลุงพี 

สักวัน....สรจะเดินตามพี่หยอยบ้าง พี่หยอยมีข้อความถึงนะคะ

ขอบคุณมากค่ะ...ยังจัดสรรเวลาไปศึกษาธรรมะ ไม่ได้เลย แต่อยากศึกษาแบบลึกซึ้ง เคยดูรายการที่ อ.สุจินต์บรรยายแล้วไม่ค่อยเข้าใจภาษาธรรมะ:confused:

สั้น ๆ ตอนนี้คือกำลังทำใจให้สงบ

ปล่อยว่างเสียบ้าง  คิดว่าไม่เป็นไร  มองอะไรที่เป็นปัญหาผ่านไปบ้าง และ ให้อภัย

 

และเนื่องจากไม่เหลือเฟือไม่มีตังค์เหลือไปสร้างวิหาร  เลยจัดการนำบทความไปเผยแพร่ต่อเป็นธรรมทาน  อย่างน้อยวันนี้ก็ได้ทำบุญอะไรไปบ้าง

   ขอบคุณ อย่างยิ่งต่อธรรมทาน ที่ลุงนำมาให้ ครับ

ทำให้หูตาสว่างขึ้นอีกเยอะเลยค่ะ  ความรู้สำหรับผู้ที่เริ่มต้นใหม่ ๆ อย่างครูหนิง  แต่ที่จัดการยากเหลือเกินคือ รู้ทันอารมณ์ตนเอง สติแส่ส่ายไปมาอยู่เรื่อย ต้องขอคำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์

เคยสัมผัสธรรมมะจริง ก็ตอนบวชเนกขัมมะที่วัดไทรงาม จ. สุพรรณบุรี ค่ะ ตอนนั้นชอบมากเลย ผู้คนก็ดี แต่พอเดี๋ยวนี้ห่างเกินไป รู้สึกว่าด้านไม่ดีในตัวเรากำลังกลับมาดีแล้ว  :embarrassed: ก็หาโอกาสไปอยู่ ขอบคุณลุงพีที่เข้ามาเตือนสติอีกครั้งนะคะ :bye:

อนุโมทนาสาธุค่ะ  การให้ธรรม  ย่อมชนะการให้ทั้วปวง และ ศีลคืออาภรณ์อันประเสริฐ


ขอบพระคุณค่ะ

หน้า