ผักมะไห่ (ไม่ใช่มะระขี้นก มะห่อย หรือผักไส่)

หมวดหมู่ของบล็อก: 

ผักมะไห่


ผักมะไห่ ไม่ใช่ มะระขี้นกหรือผักไส่ตามที่คนอีสานและคนลาวเรียก หรือผักมะห่อยของคนภาคเหนือตอนบน  และจะเป็นผักชนิดเดียวกันกับผักไห่ในชื่อเพลง “สาวผักไห่” ที่คนอยุธยาเรียกหรือเปล่าก็ยังไม่ทราบเพราะผมยังไม่เคยเห็นรูปร่างหน้าตาของผักไห่ของชาวอำเภอผักไห่จังหวัดอยุธยาเลย  ผักไห่ที่ผมจะกล่าวถึงนี้เป็นผักพื้นบ้านของภาคเหนือตอนบน  มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นผักในตระกูลเดียวกันกับมะระขี้นก และมะระจีนที่ไม่มั่นใจเพราะผมค้นใน Google แล้วไม่พบข้อมูล  พบแต่ข้อมูลที่บอกว่าผักไห่ ผักมะไห่ ผักมะห่อย มะระขี้นก และผักไส่เป็นชื่อผักตัวเดียวกันเรียกต่างกันตามแต่ละท้องถิ่นเท่านั้น  ฉะนั้นผมจึงอยากเผยแพร่ข้อมูลนี้เพื่ออาจจะเป็นประโยชน์ต่อการค้นคว้าของผู้ที่สนใจจะได้ช่วยทำให้เกิดความถูกต้องของข้อมูลมากที่สุด จากรูปจะแสดงให้เห็นความแตกต่างของผักมะไห่กับมะระขี้นก (ผักไส่ / ผักมะห่อย)ได้อย่างชัดเจน 


ลักษณะใบและผลของมะระขี้นก ผักไส่ (อีสาน) หรือมะห่อย (ภาคเหนือตอนบน) 


  ลักษณะใบและผลของมะระขี้นก                   ลักษณะดอกของมะระขี้นก


  


ใบ ยอดอ่อนและดอกของผักมะไห่                     ลักษณะผลของผักมะไห่


ผักมะไห่ เป็นพืชเถาวัลย์ เจริญเติบโตโดยสามารถเลื้อยไปตามพื้นดิน ขึ้นตามรั้ว ตามร้าน หรือต้นไม้เช่นเดียวกับมะระขี้นก และมะระจีน สามารถปลูกให้เลื้อยไปตามพื้นดินเหมือนผักบุ้ง หรือทำร้านให้ขึ้นเหมือนมะระจีนก็ได้  เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่โล่งกลางแดด แต่ก็สามารถงอกได้ในร่มรำไรใต้ต้นไม้แล้วเลื้อยขึ้นตามตนไม้ที่อยู่ใกล้จนสามารถขึ้นไปรับแสงแดดข้างบนได้  เถาของมะไห่สายพันธุ์พื้นบ้านจะตายเมื่อเข้าสู่หน้าแล้ง แต่เนื่องจากรากของมะไห่จะเจริญเติบโตเป็นหัวเหมือนมันเทศ (Sweet potato) ในฤดูฝนและพักตัวในหน้าแล้ง ดังนั้นเมื่อถึงหน้าฝนก็จะแทงหน่อขึ้นมาใหม่แล้วเจริญเติบโตเป็นเถาวัลย์ไปจนสิ้นหน้าฝน  การขยายพันธุ์สำหรับมะไห่พันธุ์พื้นบ้านจึงทำได้ ๒ วิธีคือใช้เมล็ด และใช้หัวในดิน


 


อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีการปรับปรุงพันธุ์โดยหน่วยงานด้านการเกษตรของทางราชการซึ่งชาวบ้านเรียกว่า มะไห่พันธุ์เกษตร ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ใบจะใหญ่ขึ้น แตกแขนงได้ดีและมากกว่าทำให้มียอดอ่อนมากขึ้นรวมทั้งสามารถเจริญเติบโตได้ตลอดปีหากมีความชุ่มชื้นเพียงพอ จึงสามารถปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจได้ (เคยอ่านพบในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ฉบับหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้วว่า มีเกษตรกรรายหนึ่งปลูกมะไห่พันธุ์เกษตรนี้ ๒ ไร่โดยให้เลื้อยบนพื้นดิน สามารถเก็บยอดอ่อนขายได้เดือนละ ๑๐,๐๐๐ กว่าบาท)  แต่พันธุ์เกษตรนี้ไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยเมล็ดเพราะแต่ละผลจะไม่มีเมล็ดเลย แต่เถาที่เลื้อยไปบนพื้นดินถ้าแก่จัดจะมีรากแทงออกมาตามข้อใบเหมือนมันเทศและสามารถเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ได้  ฉะนั้นมะไห่พันธุ์เกษตรจึงขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีใช้หัวในดิน และส่วนของเถาที่แทงรากแล้ว


 


      ใบมะไห่พันธุ์พื้นเมือง                                  ใบมะไห่พันธุ์เกษตร     


 


                                      ผลของมะไห่พันธุ์เกษตร


 


                                ผลของมะไห่พันธุ์พื้น



หัวของผักมะไห่ที่จะพักตัวในหน้าแล้ง และงอกใหม่ตอนต้นฝน


(ปกติหัวของมะไห่จะอยู่ใต้ผิวดิน แต่หัวที่เห็นนี้พอดีอยู่ตรงแนวน้ำฝนตกจากชายคาบ้าน ถูกน้ำฝนเซาะก็เลยโผล่ออกมาให้เห็นดังรูป ซึ่งพอพ้นฝนต้องเอาดินกลบหนาๆไม่เช่นนั้นหัวจะเหี่ยวและเน่า)


ส่วนของผักมะไห่ที่ใช้ประโยชน์ด้านอาหาร


ประโยชน์หลักของผักมะไห่คือใช้เป็นอาหาร  ผักมะไห่จะมีรสขมเล็กน้อย ขมน้อยกว่ามะระขี้นก และกลิ่นของผักสดจะไม่ฉุนมากเหมือนมะระขี้นก  แต่การใช้ประโยชน์จะเหมือนกับมะระขี้นกเลย


๑.      ยอดอ่อนลวกกินกับน้ำพริก  ใส่แกงเห็ดโคนและแกงอ่อมปลาไหล  (ยังไม่เคยกินยอดสดกับน้ำพริก หรือลาบเหมือนมะระขี้นก แต่ความนิยมกินยอดอ่อนของมะระขี้นกมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น)


๒.    ผลอ่อนและแก่กินสด หรือลวกกินกับน้ำพริก  ใส่แกงเห็ดโคนและแกงอ่อมปลาไหล


อย่างไรก็ตามการใช้ยอดอ่อนของมะไห่ประกอบอาหารมีเทคนิคที่สำคัญคือ ถ้าลวกให้ใส่ผักตอนน้ำกำลังเดือดจัดรีบคนแล้วตักออกจากน้ำร้อนใส่กระชอนเลย ถ้าใส่เป็นผักแกงให้ใส่ตอนจะยกหม้อลงจากเตาคือใส่แล้วรีบคนแล้วยกหม้อออกจากเตาไฟเลย (เหมือนกับเราใส่ผักชีต้นหอมในต้มยำ) เพราะว่าผักมะไห่จะสุกเร็ว และถ้าใช้เวลานานในการลวกหรือแกงจะทำให้มีรสขมมากจนไม่อร่อย (รสขมจะเพิ่มขึ้นเป็น ๒ – ๓ เท่า)  ส่วนผลของมะไห่สามารถใช้เวลาในการลวก หรือแกงนานก็ได้ จนกว่าจะสุกหรือเปื่อยก็ไม่มีปัญหาเรื่องรสขม


ส่วนสรรพคุณทางสมุนไพรยังไม่มีข้อมูล

ความเห็น

แถวบ้านป้าเกี้ยวเรียกมะระว่า ลูกผักไห  แต่ไม่รวมมะระขี้นก

Low Tech แต่ใจรัก

:sweating: เรียกไม่ค่อยถูกเหมือนกันค่ะ ขอบคุณที่มาให้ความรู้เพิ่มเติมนะคะ :cheer3:

สุดมือสอย ก็ปล่อยมันไป^^ ธรรมะ จากท่าน ว.วชิรเมธี

ขอบคุณความรู้ค่ะ ที่นำมาแบ่งปันนะคะ

 ขอบคุณข้อมูลค่ะ ผักมะไห่  ชอบทานมากค่ะ


 แอนรู้จักแต่พันธ์พื้นบ้าน  ยอดแกงเลียง ผลแกงไตปลา ทานอร่อยมากค่ะ

....ความสุขอย่างแท้จริง ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง....

ลักษณะใบและผลของมะระขี้นก ผักไส่ (อีสาน) หรือมะห่อย (ภาคเหนือตอนบน)

ที่บ้านเรียกมะระขี้นก

ที่บ้านเรียกผักไห่

ขอบคุณที่นำความรู้มาฝาก

มีเมล็ดแจกไหมครับ อยากปลูกเอาไว้กิน ชอบกินเหมือนกันครับ

พอมีครับ ช่วงนี้เถาเริ่มจะเหี่ยวและลงหัวแล้ว ลูกแก่ก็จะมีเยอะ

ที่บ้านจะมีอยู่สองอย่าง ผักไห่ กับ ผักแหมะ แต่ไม่รู้ว่าแตกต่างกันอย่างไร เพระสองอย่างนี้ดูไปดูมาแล้วแทบจะเหมือนกันเลยทีเดียว หรือว่ามันเป็นชนิดเดียวกันหว่า:confused:  เหมือนกัน

"ความสุขของชีวิตในวันนี้ คือทำตามวิถีพอเพียงของพ่อ"

ที่บ้านก็มีเป็นมะไห่พื้นบ้านเก็บเอามาลวกกินกับน้ำพริกปลาร้าอร่อยดีครับ แต่ที่อิสานเรียกผักไส่หวานครับ ชอบขึ้นในหน้าฝนครับ

ดีหรือชั่วอยู่ที่ตัวทำ สูงหรือต่ำอยู่ที่ทำตัว


บุคคลจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร

หน้า