กลมกลิ้ง = ชีวิต ... ?

หมวดหมู่ของบล็อก: 

    เคยเกริ่นไว้ ... ก็หลายหน ว่า ... จะเอาอดีตมาเล่า แต่เกิดความลังเลว่า ...

       จะเล่า เรื่องอะไร ... ส่วนเรื่องเกิดขึนเมื่อไรนั้น ไม่ลังเล .... ก็อดีต ไงครับ ... ที่ลังเลว่าจะเล่าเรื่องอะไร ก็เพราะ ...

    เล่าเรื่องที่ เขาว่า” ... ก็ไม่ใช่เราว่านี่หว่า! ... หากเล่าเรื่องประเภทนี้ ก็ต้องเล่าอย่าง อ้อม ๆ แอ้ม ๆ ... ไม่เต็มปาก เต็มคำ เล่าไป ก็สงสัยไป ว่า “จริงเปล่าวะเนียะ?” ... ขาดความมั่นใจในการเล่า ... รสชาติในเนื้อหาก็จะกร่อยลง ... ขนาดเล่าเรื่องจริง ๆ เขายังออกอาการ “เบ่ ย ย ...” กันเลย

    ครั้นจะเล่าเรื่อง “เราว่า” ... มันก็ต้องเป็นเรื่องส่วนตัวของเรา .... อย่างห่าง ๆ ออกไป ... ก็ต้องมีเราเป็นตัวประกอบ ... ถึงจะไม่ใช่ผู้ร่วมคณะแสดง ... ก็ต้องใช่ผู้ชมที่ เกาะชิดติดขอบเวที

    แต่จะให้ถนัดปาก(กา) ในการเล่า ... มันต้องเรื่องของเราเอง ... ก็คนแก่ ๆ ... ขอบเล่าเรื่องเก่าอยู่แล้ว

       ว่าแต่ ... จะมีใครสนใจสักกี่คน เดี๋ยวหน้าโรง ก็ โหรงเหรง ... แล้ก็ร้างรา ในที่สุด ...

    ซึ่ง “คาร์เนกี” ก็ยืนยันไว้ มีสาระว่า “ไม่มีใครสนใจเรื่องคนอื่นมากไปกว่าเรื่องของตนเอง และไม่มีความสุขใดมากกว่าผู้อื่น ‘กล่าวยกย่อง’ เรา แม้จะเป็นเพียงต่ำ ๆ แค่คำ ‘เยินยอ’ ก็ตาม”

    ที่สำคัญ ในการนำเอาเรื่องตัวเองมาเล่า คือ ... ไม่ทราบจะเริ่มต้นตรงไหน? ... ก็ชีวิตเรามัน “กลม จน ไร้มุม จึงหาสาระตัวอย่างในทางดี ... ค่อนข้างยาก

    อ้าว ... จริง ๆ นะครับ ... ชีวิตข้าพเจ้าประหนึ่ง ‘วัตถุทรงกลม’ ... หานิยามเกี่ยวกับ ... ด้าน ... เหลี่ยม ... มุม ... และ กำหนดฐาน ไม่ได้ บอกได้เพียง ขนาด และสีสัน ... แถมบางครั้ง มีเพียง ‘ขนาด’  แต่ไร้ ‘สีสัน’ ด้วยซ้ำไป  เลยสับสน ... ว่าจะเอาตรงไหนมาเล่าดี ... เพราะ มันกลิ้งไปเรื่อย ๆ

         แต่เคย ‘ชันชี’(สัญญา) ไว้แล้ว ... จะเสียแก่ ... เล่าก็เล่า

    ท่านอาจผิดหวังกับเรื่องที่จะเล่า ... เพราะคนอื่น ๆ เขาสามารถเลือกหยิบ เอาส่วนที่ ดี โดดเด่น เป็นตัวอย่าง มาเล่า ได้ ... แต่ ข้าพเจ้าไม่มี!

       ดังนั้น ... คงต้องเล่าแบบบูรณาการ เพื่อลดรสชาติที่ไม่พึงประสงค์ลงซะบ้าง ...

    อย่างที่ได้เรียนไว้หลาย ๆ ครั้ง ... ว่าชีวิตข้าพเจ้า ใช่จะวิเศษ ราบรื่น ....

       จากจุดที่ยืนอยู่ในปัจจุบัน ... ชะโงกหน้าดูอดีตวัยเด็ก ... ความรู้สึกบอกตัวเองว่า ต่างกันอย่าง ‘ฟ้าชั้นที่ 16’ (ก็เห็นเขาว่า ๆ กันว่า 16 ชั้นฟ้า) แล้วหลุด ’15 ชั้นดิน’ ดิ่งลงไปหยุดที่ ‘ขุมสุดท้าย’ ของแดนที่เขาเรียกว่า ‘นรก’ นั่นเชียว  ...

    แต่ ... ระยะทางประหนึ่งแค่ เพียงก้าวข้ามรั้ว จากด้านหนึ่ง มายืนอีกด้านหนึ่ง ... เท่านั้นเอง!

        ครับ ... วันนี้ จะนำภาพ (ไม่มีมุมนะครับ) ของพื้นที่ ที่เคยยืนฟากรั้วขะโน้น ... ฟากที่อยู่ในวัยเด็กมาเล่าสู่กันฟังก่อน ...

          โปรดสดับ ... ดั่งนี้

    ชนบท(ไม่ทราบจะบอกว่าไกลโพ้น ได้รึเปล่า) ... ที่มองไปทางไหนก็ตาม ... สายตาก็ถูกสกัดโดยเนินเขาที่ถูกวางซ้อนหลังถัด ๆ กันออกไป โดยฝีมือแห่งธรรมชาติ ... จากสีเขียวใกล้ ๆ ตัว แล้ว เปลี่ยนเข้มขึ้นเรื่อย ตามความห่างของระยะทาง จน ... เป็นสีสีน้ำเงินอมเทา ... แล้วจางหายไป สุดที่สายตาจะค้นเจอ ...

    ผู้ที่ไม่ใช่คนพื้นถิ่นของที่นี่ ... หากปิดตาให้สนิท นำมาถึงที่นี่ แล้วเปิดสิ่งที่ปิดตาออก ... ข้าพเจ้ามั่นใจว่า เขาต้องงุนงง และมีคำถามให้เราตอบ ว่า เข้ามาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร? ... เข้ามาได้จริงหรือ ...?

    อ๊ะ ๆ ๆ ... อย่าเพิ่งเข้าใจว่าข้าพเจ้ากำลังนำท่านเข้าสู่เมืองลับแลในนิยาย นะครับ ... เพราะข้าพเจ้าเขียนนิยายไม่เป็น ... แต่เล่าเรื่องจริงได้ ... และ ถูมิ พื้นบริเวณที่ข้าพเจ้าพรรณนามานั้น คือ:-

        ถิ่นมาตุภูมิ แห่งข้าพเจ้า ...เองแหละ

    ฟังประหนึ่งว่า ชุมชนที่ข้าพเจ้าถือกำเนิดมานั้น เป็นแดนกักกันนักโทษ ที่กำหนดไว้ในหุบเขากระนั้นแหละ .. ครับภูมิประเทศเหมาะ ครับ ... แต่ไม่โดดเดี่ยวหรอกครับ ... ว่าไปแล้ว ในสมัยนั้น ที่นี่ แทบจะคึกคัก ครึกครื้น กว่าตลาดในตัวเทศบาลฯ ซะอีก โดยเฉพาะยามค่ำคืน ... หัวค่ำ ..เสียงเพลงรำวง จากคณะรำวงต่าง ๆ (ปัจจุบัน กำลัง Trend ในชื่อ ‘รำวงย้อนยุค’) ที่เปลี่ยนคณะกันขึ้นไปจูงใจให้คนงานเหมืองแร่ ล้วงกระเป๋า ควักเงินให้ อย่างชื่นมื่น โดยไม่มีการบังคับใด ๆ ... คนที่บารมีสูงหน่อย เหมารอบซะเลย นางรำกี่คน ๆ ก็มารุมรำล้อมคน คนเดียว ... สง่าซะนี่กระไร

   รำวงเลิกแล้ว ... แต่แสงสว่างจากหลอด Incandescent นับ สิบ ๆ ดวง ยังคงทำหน้าที่อยู่ ... นี้หากเป็นในตลาด ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน เขาปิดไปแล้วตั้งแต่ สองทุ่ม ... แต่สำหรับที่นี่ สว่าง ไสว เกือบทั้งหุบเขาตลอดคืน ... เพราะเหมืองฉีดแร่ ไม่เคยหยุด ... เรือขุดก็ทำงานทั้งคืน 

       โอ๊ะ ... หลงประเด็นอีกแล้ว ... ก็ภาพเหล่านั้นมันมาเต้นเร่าอยู่เบื้องหน้า นี่ครับ เลยเคลิ้มไป

    ข้าพเจ้า ซึมซับ อดีตของที่นี่ ไว้เต็มสายเลือด ... ถวิลหาทุกคราที่กลับไปเยือน ... และความสุขพรั่งพรู ถาโถมเข้ามาทุกครั้ง ไม่เคยผิดสัญญา ... แม้เพียงแค่นึก ... ถึงขณะกำลังเขียนบันทึกนี้ ... ก็เหอะ

    หากจะถามว่า ข้าพเจ้าประทับใจอะไรนักหนา ... ฟังที่พรรณนามา ก็ ‘บ้านนอก ... บ้านหนอก” ข้าพเจ้าก็ตอบได้ว่า “ทุกอย่างแหละ

    ภาพก่อนวัยเรียน .... คุณพ่อต้องไปทำหน้าที่ครูประชาบาล คุณแม่ไปทำไร่ ซึงเป็นไร่ข้าว แต่มีสารพัดพืชสวนครัว รวมอยู่ครบครัน แถมล้ำเส้นไปถึงพืชพันธุ์ ที่จะใช้ประกอบเมนูของหวาน เช่นข้าวฟ่าง และพืชหัว ถั่ว งา เก็บข้าวเสร็จ (เก็บด้วยแกะ ครับ ไม่ใช่เกี่ยวดัวยเคียว) ตัด หัก ขุด ผลผลิตเหล่านี้ วางผึ่งเรียงไล่ความชื้น ไว้บนขอนไม้ ในไร่นี่แหละ ทั้งที่ถนอมไว้กิน และเลือกคัดไว้ทำพันธุ์ ... พริกขี้หนู กลิ้งเกลือกอยู่บนพื้นตะแกรง ซึ่งวางอยู่บนตอไม้ กลางแดด ... ฯลฯ  เป็นภาพที่เห็นชินตา ทุกปี

    ปัจจุบัน พันธุ์บางชนิดของพืชเหล่านี้ ... ไร้ร่องรอย ... ข้าพเจ้าตามหาด้วยความถวิลถึง ... เขาจะรู้บ้างไหม ... ว่าข้าพเจ้าคนหนึ่งล่ะ ที่รักเขา

    ตอนนั้นข้าพเจ้า จึงต้องรับหน้าที่อยู่โยง ... ทั้ง ๆ ที่อยากตามคุณแม่ออกไปไร่ด้วย แต่ก็ทราบดีว่า ความหวังจะเป็นหมันไปจนกว่า ข้าวในไร่ สุกเหลือง ทั่วไร่ และเริ่มเก็บ คุณแม่จึงจะยอมให้เราไปด้วย ...ไปคอยวิ่งขึ้นไกวเปลน้องบนขนำ เมื่อยินเสียงร้อง ......  คว้าเกลือสมุทรจากกลาขูด 1 กำมือ ... ไต่กระไดลงมา วิ่งไปเก็บแตงไข่เข้ (ไข่จระเข้) ที่วางขาวเกลื่อนอยู่บนซังข้าว เด็ดใส่ปาก ทั้งลูก ตามด้วยเกลือ เม็ดเขื่อง ... โอ ... ช่างเป็นโภชนาาอันโอชะ ... รสติด เป็น ชิวหาสัญญา จนบัดนี้

    ช่วงนี้จะมีเพื่อนบ้านมาช่วยกันเก็บข้าวในลักษณะลงแขก แลกแรง เราเรียกว่า “ซอ” แต่เปลี่ยนหน้ากันมา ... ใคร มาช่วยกี่วันเจ้าของไร่ ต้องจำไว้ เพราะต้องไป “แก้ซอ” คืนแรงให้ครบ ไม่มีการจ้างเป็นมูลค่าเงิน ... ไม่เกียงแรงว่าผู้ใหญ่ไป ทำไมให้เด็กมา ทำมาก น้อย กว่าเรา ... ปัจจุบัน วัฒนธรรมวิถี ที่พรรณนามานี้ ท่านไม่มีโอกาสเห็นมันอีกแล้ว ... เสียดาย! ครับ ... เสียดาย!

       เราทอดทิ้งสิ่งเหล่านั้น ... เพราะมันล้าสมัยกระนั้นหรือ? ...แล้วหากอยากได้คืน ... เราจะหาได้จากที่ไหน ... อย่างไร!

    เฝ้าบ้าน หน้าที่หลักของข้าพเจ้า คือ เลี้ยงน้อง  คิด ๆ ตอนนั้นมียานอนหลับก็คงดีเนาะ ... จะได้ให้น้องกิน ไม่ต้องคอยเฝ้าไกวเปล (เปลโสร่งเก่า ๆ ของคุณแม่ ผูกกะขื่อ)  ... คนกลับข้าวเปลือกที่ตากไว้ในสาด(เสื่อที่คุณแม่สานจากใบเตย) และคอยแกว่งลำไผ่ ไล่ไก่ ที่แอบมาจิกข้าวในสาดที่ตากไว้ มันน่าโมโห อีตรง ไม่ขโมยเฉย ๆ นะซี ... นิสัยไม่ดี ... เขี่ยซะกระจุย ... ต้องลงไป ยอง ๆ เก็บทีละเม็ด โยนกลับเข้าไปในสาด ท่านอาจว่า “โง่นี่ นั่งเก็บเสียเวลา และร้อน ... ทำไมไม่กอบเอา” ...  ฮึ ๆ ๆ ... ทรายครับ ทราย .. กอบใส่ไป ก็ได้หม่ำทรายกันแปล้ล่ะ

    จะเป็นอิสระจากงาน ก็ตอนคุณแม่อยู่บ้าน แต่ไม่เชิงอิสระนักหรอกนะ ... เพราะแม่สั่งให้เล่นใต้ถุน ... เฝ้าสาดข้าว ... (ท่านคงคิดว่า ‘ตากอะไรกันนัก กันหนา’ ... ขอเรียนว่า คนโบราณเขาซ้อมข้าวไว้กินไม่เกิน 1 สัปดาห์ ยกเว้น ช่วงหน้าฝน เตรียมไว้เยอะหน่อย) ... แต่เรา รน ทน ไม่อยู่ หิ้วคอน้อง ... แอบไปเล่นใต้ถุนบ้านเพื่อน ...

    โอ้ย ... เสียงคุณแม่เรียก!...ไม่ขานครับ หิ้วคอน้อง  ... ตึ้ก ๆ ๆ ... วิ่งกลับ ... ถึงใต้ถุนบ้าน

        “ครับ!”  .... เอ่ยขานรับ ปนเสียงหอบ

    “ไปไหน มา? หือม”  เสียงท่านอัยการซักมาจากบนบ้าน

         “เปล่า!” จำเลยปฏิเสธไว้ก่อน ก็ไม่มีหลักฐานนี่ ฮิ ๆ ๆ

    “แล้วทำไมปล่อยให้ไก่กินข้าว?” (ที่จริงโต้ตอบกันด้วยภาษาไทยถิ่นใต้ตลอด แต่กลัวโดนต่อว่าอีก)

    โอ๊ะ ... ตายล่ะซิ ! อัยการ ยันด้วยหลักฐานเข้าให้แล้ว เลยนึกในใจว่า “พยานพวกนี้ มันน่า ... จับเชือด ... ต้มขมิ้น ตะไคร้ ซะจริง ๆ”

       “เพิ่งไป น่ะ”  ไม่รู้ล่ะ ปฏิเสธไม่พ้น ก็ ภาคเสธไว้ก่อน ไปมัน น้ำใส ๆ ตื้น ๆ งี้แหละ ครีบโผล่บ้างช่างมัน ตัวอย่าโผล่ละกัน คอยหลบ ๆ ฉมวกเอาทีหลัง ...

    เงียบ .. ไม่มีเสียงซักมาจากอัยการอีก ...

        “เล่นมันใต้ถุนบ้านเองนี่ละวะ” ... บอกตัวเอง

    ชุมชนบ้านข้าพเจ้า ก่อนนี้ เขาเลี้ยงหมูไว้ให้กินเศษอาหาร เกือบทุกบ้าน โดยเลี้ยงแบบปล่อย (คงกลัวกรรมการสิทธ์ฯ) ... ขนาดมันจะออกลูก ก็ปล่อยให้มันไปเลือกสถานที่ กัดต้นปุด และหญ้า สร้างซุ้มที่จะออกลูกเอาเอง ตามชอบ ลูกโต ...โน่นแหละ จึงชักโขยงกันกลับมา ... หมูเจ้ากรรมพวกนี้ ตรงอื่นเขาไม่ค่อยอึหรอกครับ ... เขาชอบเอาทางที่ชาวบ้านใช้สัญจรนี่แหละเป็น ลานสุขา ขนาดเอาต้นหมาก หรือไผ่ตง ไปพาด ทอดแล้ว เขาก็อุตส่าห์ คร่อมอึรดจนได้

    อันว่า ... อุจจาระสุกรนี้ไซร้ ท่านว่า แสลงง่ามเท้าดีนักแล  กอปรกับสมัยนั้นมิใคร่สวมรองเท้ากัน รองเท้าส่วนใหญ่ คือ เกี๊ยะ ทำจากไม้ หรือไม่ ก็จากยางนอกรถยนต์ ... ตังนั้น เมื่อย่ำด้วยเท้าเปล่า ไปท่ามกลางข้าศึกเหล่านี้ ตกกลางคืนเป็นได้งาน ...

    ดึงผ้าขะม้า มา ... เลือกมุมหนึ่ง มุมใดก็ได้ ไม่ผิดกติกา มารยาท จะตีเกลียวหรือไม่ ตำราไม่บอกไว้ ... สอดเข้าไประหว่างง่ามนิ้วร่องที่คัน ... ดึงปลายสองด้านไปมา สลับกัน ให้แนบกับร่องนิ้วเท้า ...

    โอ ... เคลิ้ม ... มันส์ ... อย่าให้บอก ... ยิ่งถู ยิ่งมัน ยิ่งคัน ยิ่งถู ... ไม่เชื่อลองซี ! … ผล

    ได้เลือด ... เบาะ ๆ ... ก็ระบม – แตกน้ำ ... มารู้สึกปวดเอาตอนหยุดถูนี่แหละ ตอนถู มันส์ ลืมตัว

    เด็ก ๆ อย่างพวกเรา มีทางออก ครับ และก็สนุกด้วย คือ ตัดไม้ไผ่ มาทำเป็นไม้สูง หรือโทกเทก เดินกัน(ทำกันเองครับ หากไม่ลืม จะทำ ถ่ายมาให้ดู) จากใช้เดินเลี่ยงอึหมู ก็พัฒนาไปสู่การแข่งกันว่าใครเดินได้สูงกว่า ... แล้ว อันนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นการพัฒนารึเปล่า ... คือ ไว้เดินไปเก็บ ผลอาสินของใคร ต่อใครกิน โดยไม่ต้องปีน และไม่ขอ

        สำหรับเด็กผู้หญิง เขาก็แก้ปัญหานี้ โดยการเดินกะลาเอา

    ตอนเริ่มเขียนบล็อกนี้ ตั้งใจว่า จะเล่าเรื่องราวตอนเรียนชั้นประถมด้วย แต่ดูจะยาวมากไป ... เลยเปลี่ยนความคิดว่า อาจนำมาเสนอในโอกาสหน้าจะเหมาะกว่า ...

      เอาเป็นว่า ... ตกลงตามนี้ นะครับ ... ปิดม่าน ... ทานข้าวกันก่อน

ความเห็น

เขาว่าใครเล่าเรื่องในอดีต "เข้าวัยหนุ่มเหลือน้อย". แล้วค่ะ ขอบคุณค่ะ พยายามจับผิดหลายบล๊อกแล้ว แสดงว่าเป็นคนพิมพ์ดีดเก่งๆมากๆ เลย

   ก็ อดีตพนักงานพิมพ์ ไง ...

     ผิดบ่อยแหละ ...หู ตา ฟ่าฟาง มาอ่านทวน ...เจอเข้า ก็ต้องรีบเข้าไปแก้

       กลัวผู้อ่าน จะสื่อผิด ... หลานยุพิน เข้าไปหลังแก้ไขแล้ว  กระมัง

ขอบคุณครับลุงพาโล อ่านจนตาลายเลยครับ:sweating: สวัสดีปีใหม่ครับ:bye:

   ครับ ... สุขขีปีใหม่ เช่นกันนะครับ

      ก็อย่างที่บอกแหละครับ ถ้าคุยเรื่องตัวเอง คุยได้ยาว แล้วก็เพลิน 

       ตองขออภัย ที่ยาว น่าเบื่อ แต่หากสั้นไป ก็ไม่เห็นภาพพจน์

ในอดีตตอนเด็ก ๆ ก็มีวิถีชีวิตคล้าย ๆ แบบนี้แหละ...ไปช่วยแม่เก็บข้าวนวดข้าว แต่เดี๋ยวนี้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป ไร่นาแปลสภาพเป็นสวนปาล์ม สวนยางหมดแล้ว เมื่อก่อนทำนากันทุกครัวเรือน พอหมดฤดูทำนาก็จะมีหนังขายยามาฉายให้แลกันตลอด นั่งแลกันในป่าซังข้าวนั่นแหละ บางทีก้าไปหยบแลหนุ่มๆ สาว ๆ จีบกันมั้ง(หนุกดี)...เดี๋ยวนี้หนุ่มสาวเดินห้างแลหนังโรงกันหมดแล้ว...วิถีชีวิตเดิม ๆ ค่อย ๆ เลือนหายไป นึกแล้วก็น่าเสียดาย :bye:  

   ใช่ครับ ... เพราะคิดถึง และเสียดาย วัฒนธรรม อารยะธรรม ที่บรรพบุรุษ สั่งสมมา ไม่ทราบกี่พันปี ... มาถึงรุ่นเรา หลงใหล ได้ปลื้มกับตะวันตก ... มีของดี ๆ แต่ไม่เห็นคุณค่า จับโยนลงหลุม กลบฝัง นึกว่าเป็นเศษกระเบื้อง ... สมเพชตัวเอง ที่ทำสิ่งเหล่านั้นหายไป ... จึงต้องมาชื่นชมด้วยอักษร ลม ๆ แล้ง ๆ ... เลยยาวไปหน่อย

อ่านแล้ว มโนภาพตาม เป็นเหมือนส่ิงที่ถวิลหาเลยครับ อยู่กับธรรมชาติ วิถีชีวิตเรียบง่าย พึ่งพาอาศัยเกื้อกูลกัน

ย้อนคิดถึงวัยเด็กของตัวเรา อยู่บางกอกมีแต่ถนนปูน กับ บ้านช่องแออัด การพนัน สิ่งเสพติด อันธพาล ไม่รู้ว่ารอดพ้นเป็นผู้เป็นคนมาได้อย่างไรเหมือนกัน ต้องขอบพระคุณพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ครู อาจารย์ ทั้งหลายที่คอยอบรม ทั้งต้องคอยทัดทาน ลาก จูง ให้อยู่ในทางที่ถูกที่ควร

ผมรอติดตามตอนต่อไปอยู่นะครับ คุณลุง

จะปลูกต้นไม้ในใจเธอ