หลังเท้า กับ หน้ามือ !

หมวดหมู่ของบล็อก: 

    จากวันที่ ทราบผลการสอบ ... ความสัมพันธ์ ระหว่าง ข้าพเจ้า กับ คุณพ่อ ... ดูชื่นมื่นเป็นพิเศษ ...

    ห้วงเวลา 4 – 5 วัน ก่อนถึงวันเดินทางไป มอบตัว(ใช้คำพูดประหนึ่งผู้ต้องหา) ... ที่จริงคือไปรายงานตัว ...  คุณพ่อดูจะตื่นเต้น มากกว่าข้าพเจ้า เสียอีก ท่านกุลีกุจอ เตรียมนั่น เตรียมนี่ ได้แทบทั้งวัน ... เรียกเอาหลักฐานการศึกษา ... กำชับให้หารูปถ่ายไว้ให้พร้อม  ...  ซื้อรองใหม่มาให้ คู่หนึ่ง ... ฯลฯ

        ... วันเดินทางจริงมาถึงแล้ว  ...

    ความกังวล ... ลังเล ... ประหวั่น ... พรั่นใจ ... ประดัง ประเด ... แห่เข้ากระแทกชนข้าพเจ้า  ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก ....

    แม้ขณะนั่งอยู่บนรถไฟแล้ว ... ความวิตก ยังรุมกันเข้ามา เปลี่ยน ... สร้างจินตนาการภาพ ต่าง ๆ ... ไม่หยุดหย่อน  ตลอดเวลา

       ‘เราจะเรียนไหวไหมหนอ ... ก็พื้นฐานมัน “ง่อนแง่น” เต็มที’ ...

    ‘ชวนคุณพ่อ ลงที่สถานีทุ่งสง ... แล้วกลับบ้าน ... ทำสวนดีไหม’ มองใบหน้าที่อิ่มสุข ของคุณพ่อ  ...

       ‘โอ้โฮ ... บ้ารึ ... ได้ไง ... เราเคยทำอะไรให้คุณพ่อ ชื่นใจ เป็นสุขอย่างนี้บ้างไหม ... ขืนทำอย่างที่กำลังติด ... ท่านจะรู้สึกอย่างไร ... เออนา ... อย่าเพิ่งตีตนก่อนไข้ไปซี’

    เลยฝืนยิ้มให้คุณพ่อ ... ไม่ทราบว่าภาพยิ้มออกมาอยู่ในอารมณ์ใด .. แหย ๆ หรือไม่ ... แต่ยิ้มตอบจากคุณพ่อ ... จะเป็นด้วยอุปาทานหรือไม่ ไม่ทราบ ... ดูช่างเปี่ยมด้วยความสุข และประกายความหวัง ...

       ‘ไปตายเอาดาบหน้า เถอะวะ ...’ ตัดสินใจ ... และแล้ว เจ้าขี้ขลาดตัวใหม่ ก็เข้ามาขย่มต่อ ...

    ‘แล้วหากเกิดเรียนไม่ได้ ละวะ ... ไม่อายเขาตายรึ’ ... แหงะหน้าดูหน้าคุพ่ออีกหน ... ท่านกำลังมองออกไปนอกหน้าต่างรถไฟ ... ความรู้สึกอย่างหนึ่ง วิ่งเข้าจับใจ ...

       ‘เอานา ... ทำเพื่อพ่อสักที ... กะอีแค่เรียนหนังสือ ยังไม่เคยเห็นใครตาย’ ...

    วันรายงานตัว เดินยืด ขึ้นตึกอำนวยการ ซึ่งทางวิทยาลัย ใช้เป็นที่รับรายงานตัว ....

    เห็นใครต่อใคร ... มองข้าพเจ้า แล้วยิ้ม ๆ บ้าง ... อมยิ้ม บ้าง ... อาการเหล่านนั้น ชะล้างความมั่นใจของข้าพเจ้า ไปเยอะ ... พยายามฝืนเงยหน้า ส่ายสายตามองคนอื่นที่ยืนอยู่รอบ ๆ ... แล้ว ฉุกคิด ....

       ‘อ้อ... เจ้ากระดุมคอเสื้อเม็ดสุดท้ายนี่เอง ... คือต้นเหตุ ... ก็เราถูกฝึกมาอย่างนี้ นี่หว่า ... ตลกอะไรกันนักหนา กะอีแค่ ... ติดกระดุมคอเสื้อเม็ดสุดท้าย’ ... รู้อย่างนี้แล้ว ... ความมั่นใจก็กลับมาสู่ข้าพเจ้า โดยไม่ต้องเรียกเลยล่ะ

    ก่อนคุณพ่อกลับ ท่านถามว่า “จะให้ส่งเงิน เดือนละเท่าไร ?” ... ก็บอกท่านไปว่า ...

        “พ่อส่งเท่าที่พ่อ ไม่ต้องเดือดร้อน เหอะ”

    “แล้วจะพอรึ” ... ท่านถาม ... ก็บอกท่านไปว่า

        “ไม่เป็นไรครับ ... ไม่ต้องห่วง ... ขาดเหลืออย่างไร ... ผมจัดการได้”

    เรื่องอึดอัด อีกเรื่อง คือ ... การนุ่งกางเกงขายาว ... วันแรกที่สวม ... อย่าให้บอกเลยครับ ... ก้าวแทบไม่เป็น ... ก็สมัยนั้น ภาคใต้ทั้งภาค มีวิทยาลัยอยู่แห่งเดียว ...  และก็มี เทคนิค แห่งเดียวที่นุ่งกางเกงขายาว ... นอกนี้ ทุกสถานศึกษา แม้แต่โรงเรียนฝึกหัดครู ก็สวมกางเกงขาสั้นสีดำ

          ในรั้ววิทยาลัย ...

    ภาคเรียนแรก (สมัยนั้นเรียน 3 ภาค... และตัดสินผลการเรียนเป็นร้อยละ) ... เริ่มต้นด้วยความกระท่อน กระแท่น มา า า า ก ... ความพยายาม มีเท่าไร ... ต้องบวกเพิ่ม ... และใช้อย่างเต็มที่ !

    อ่อน ท้อ เมื่อไร ... ยืนนิ่ง ๆ ดูอาคารต่าง ๆ แล้วตั้งคำถามเอากับตัวเอง ...

        ‘ก็อยากเรียนนักไม่ใช่เหรอะ ?’ ... ‘จะหอบความล้มเหลว และเสียใจ กลับไปให้พ่อเรอะ?’ .... ‘หากเรียนไม่สำเร็จ ยังจะกล้ากลับบ้านไหม ?’

          ความมานะ ก็จะพรั่งพรู เข้ามาเอง ...

    ปีแรก ... งบประมาณ ค่อนข้างกระเบียด กระเสียน หน่อย ... แต่ก็ไม่เป็นปัญหานัก ... มีที่อาศัย ... ชุดนักศึกษา ที่คอยซักเปลี่ยนเอา ... อุปกรณ์การเรียน คุณพ่อซื้อที่เป็นหลัก ๆ ไว้ให้แล้ว ... ส่วนอาหาร ... เช้า ข้าวต้มกุ๊ย หรือไม่ก็ข้าวยำ ...  ตอนค่ำ ขนมดู หรือขนมขี้มอดอัดแท่ง ... ตามด้วยน้ำหลาย ๆ แก้ว ... ก็อิ่มครับ ... ไม่เดือดร้อนอะไร ...

    มื้อกลางวันนะรึ ... ส่วนมากก็อาหารว่าง ... จึงบริโภคหนังสือ ในห้องสมุดเป็นหลัก ... ดีซะอีก ก็พื้นฐานการเรียนของข้าพเจ้า “อ่อน” อยู่ ... การบริโภคมื้อกลางวัน เป็นความรู้ ... แม้จะไม่อิ่มกระเพาะ ... แต่ก็ช่วยเติมเต็ม ความรู้ที่อ่อนพร่อง ให้เขินขึ้นได้พอควร ... นี่คือ พระคุณแห่งความยากจน

    จากที่กลัวครู ... ก็ฝึกตนให้เป็นคนกล้า ... กล้า ... เข้าไปกราบวันทา ครู (ขออนุญาต เรียกท่านว่าครู เพราะท่านเป็นครูโดยจิตวิญญาณ) คณิตศาสตร์ ถึงที่บ้าน ด้วยสำนึกอยู่ว่า “ยวบยาบ” ด้านคณิตศาสตร์ ... อาสาดูแลไม้ดอก ไม้ประดับ .. จับ ขยี้ บี้ หนอน .. เพลี้ย ... รดน้ำ ใส่ปุ๋ย ... ให้ท่าน

    ท่านก็มีเมตตา ... ช่วยสอนวิชาให้เป็นพิเศษ ... แถมด้วยขนม (ขาดนม เนย) ... นานเข้า ก็ยกฐานะเป็นศิษย์ก้นกุฏิ ... โอ๊ะ ... ขอโทษ ... ศิษย์ประจำบ้าน ... สอนให้ไม่คิดค่าเรียนพิเศษ อย่างที่เห็นในปัจจุบัน ... คณิตศาสตร์ก็พัฒนา เห็นวัน เห็นคืน ... จน ยืด ยืน อยู่แถวหน้าได้โดยไม่สะทกสะท้านอีกต่อไป

    สอบไล่ ภาคเรียนสุดท้าย ปี 1 ... ผลออกมา ... ต่างจากผลสอบ ปลายปี ม. 6 ... ประหนึ่ง จากหลังเท้า เป็นหน้ามือ ...

    ต้องขออภัยที่เปรียบเทียบเช่นนี้ เพราะต่างกันเห็นชัดจริง ๆ ... จากหน้ามือ เป็นหลังมือ ไม่ได้ต่างกันมากนักหรอกครับ ... ลองยกขึ้นมาแล้วพลิกดูเถอะ ... ก็เหมือน ๆ กันแหละ ... ต่างกันก็เฉพาะสี ... และเส้นสายลายมือ

    และแล้ว ... ความเปลี่ยนแปลงที่ก่อความวิตกก็มาเยือนอีกครา ... เมื่อ ขึ้นขั้นปีที่ 2 ... คือ

    ทางวิทยาลัย ... เปลี่ยนการเรียนจาก 3 ภาคเรียน ... มาเป็น 2 ภาคเรียน ... และ เปลี่ยนการวัดผล จาก “ร้อยละ” ... เป็น ... ระดับ (เกรด) ... ทดลองใช้ครั้งแรก มี 6 ระดับ เรียงจากมากไปหาน้อย คือ  A - B – C – D – E ส่วน ระดับ F คือตก ... ต้องลงทะเบียนใหม่

    ที่วิตก ... เพราะเดิมนั้น การวัดเป็นร้อยละ สามารถ นำคะแนนของวิชาที่ได้สูง ๆ มารวมเฉลี่ยกับ วิชาที่ได้คะแนนน้อย ๆ ได้ ... แต่การวัดผลแบบใหม่ เป็นระดับ ... เราไม่คุ้น ... จึงรู้สึกเหมือนเป็นกระบวนการสร้างความเห็นแก่ตัว ให้แต่ละวิชา ... คือตัวใครตัวมัน ... เอาไปเฉลี่ยช่วยเพื่อนไม่ได้ ...

    ทีน่ากลัวหนักขึ้นไปอีกคือ ... หาก “ตกวิชาใด” และลงทะเบียนเรียนซ้ำ ... จำนวน “หน่วยกิต” ของวิชาที่ลงใหม่นั้น จะถูกนำไปรวมเป็นตัวหาร เพิ่ม ... ดึงระดับผลการเรียนเฉลี่ยให้ลดลง อีก ... เฮ้อ ...

    อีกอย่าง ... เนื่องจาก ยังไม่เคยมีสถานศึกษาไหน เคยใช้ระบบนี้ ... จะปรึกษา ถามใคร ก็ไม่มีใครรู้ ... จึงสร้างความกดดันให้แก่พวกเรา อยู่อักโข  ...

    ‘หากลงทะเบียน เต็มอัตราศึก ... เกิดไม่ผ่านขึ้นมา สักวิชา สองวิชา ... ระดับเฉลี่ย ไม่ ถูกฉุด ทรุดลงวูบวาบ ละหรือ ... หากลง ยั้ง ๆ ไม่หมด ... แล้วเรียนกันชาติไหน จึงจะจบ’

    สุดท้าย ... ตัดสินใจ ... ลงเต็มอัตรา ... ภาคเรียนแรก ผ่านหมด ... กำลังใจมาเต็ม ๆ ...

    ปัญหาอีกอย่างของข้าพเจ้า คือภาษาอังกฤษ อย่างที่เล่าไว้ใน  http://www.bansuanporpeang.com ... ก็ ... สมัยที่ข้าพเจ้าเรียน ตำราช่างที่เป็นภาษาไทย หาทำยายาก ... ในห้องสมุด เล่มไหน หยิบออกมา ... เล่มนั้นก็ภาษาอังกฤษแหละ ... ช่างไม่รู้ ... ไม่เห็นใจกันบ้างเลย ว่า ... เราโง่ภาษา”  ... แต่จำต้องค้นคว้า ... ทำรายงานส่งอาจารย์ อยู่ดีแหละ

    ยืม กลับมาอ่านที่บ้าน ... ก็แทบแก้ปัญหาไม่ได้ ... เปิดดิกชันนารี แทบจะขาดเป็นเล่ม ๆ เจอคำแปลบ้าง ไม่เจอบ้าง ... ก็เป็นศัพท์เทคนิคทางช่าง นี่ครับ ... แปลออกมาแล้ว ... เรียงประโยคแล้ว ... อ่านเองยังไม่เข้าใจเลย !

     ตัดสินใจ ... สมัครเรียนภาษาอังกฤษ กับ American University Alumni (AUA) ...

    การตัดสินใจดังกล่าว ... ใกล้เคียงกับการหาเหาใส่หัว .. เพราะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ... ดังนั้น        กระบวนการจัดหาทุนการศึกษาเสริม จึงเกิดขึ้น ... หากได้ทุนมาโดย ไม่ผิดศีลธรรม ไม่ก่อความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ข้าพเจ้า ทำได้ ...

    งานหาทุนเสริม ที่เป็นหลัก คือ ... ปั่นสามล้อ ... ส่วนการขึ้นเวทีต่อยมวย เป็นงานรองลงมา ... รับติดตั้งระบบไฟฟ้าในบ้าน และ รับตักส้วม ... เป็นงานจรพิเศษ แต่รายได้งาม .... และ หนึ่งในที่มาของทุนพิเศษ คือ ขับรถเครื่องรับจ้าง ระหว่างปิดภาคเรียนปลายปี ที่เล่าไว้ใน http://www.bansuanporpeang.com แล้วนั่นแหละ

    งบที่ได้จากคุณพ่อ ... จ่ายค่าที่พัก และผูกอาหารเช้า ก็หมดแล้ว ... ดังนั้น งบใช้จ่าย อื่น ๆ จึงมาจากรายได้พิเศษ ที่เล่ามานี่แหละครับ

    จากการไปเรียนภาษา กับ AUA ... จึง ... จ๊ะเอ๋กับ อาจารย์ผู้สอนภาษาอังกฤษให้ข้าพเจ้าที่วิทยาลัย ... แต่ท่านเรียน Course สูงกว่าข้าพเจ้า 4 ระดับ ... จบ Course ทุก ๆ ครั้ง ก็ร่วม สังสรรค์ คละระดับ ประจำ ... ดังนั้น เวลามีปัญหา ... ปรึกษาท่านได้ตลอดเวลา ... ซึ่งช่วยให้ข้าพเจ้า ขจัด ร่องรอยความบอบช้ำของใบหู และเสียง กำกับ ที่ว่า เอกพจน์ บุรุษที่สาม กริยาต้องเติม เอสสสส... ออกไปได้ ... เกิดทัศนคติ ที่ดีต่อภาษามากขึ้น ...

    ผลการเรียนภาษา ... พัฒนาขึ้น ... อ่าน นิยาย สืบสวน สอบสวนฉบับ ภาษาอังกฤษ ที่อาจารย์ กรุณาให้ยืม ได้อรรถรส เพิ่มขึ้น ถึงแม้จะไม่สมบูรณ์ก็ตาม

    เมื่อข้าพเจ้า ... จบการศึกษา ชั้น ปวช. ... ความภูมิใจ ที่สอบผ่านได้ทุก ๆ ภาคเรียน โดยไม่มีวิชาติดค้าง ... เป็นเพียงแค่ “เศษธุลี” ของความภูมิใจ ... ที่

              ทำให้คุณพ่อ สมหวัง และ เป็นสุข

ความเห็น

   โดยสันดาน (ขออภัยที่ใช้คำที่อาจเห็นว่าไม่สุภาพ) ลุงก็ใช่จะชอบ ! ...

  แต่ด้วย รัก และ เห็นว่า เป็นหนทางหนึ่ง ที่จะแสดง กตเวทิตา ต่อบุพการีได้ ..

    จึงทำไป ... ดุจโยนเมล็ดพืชลงดิน อย่างไม่ตั้งใจ ... แต่พืช เขาทำหน้าที่ดี ...

       ลุงจึงรับอานิสงส์ .. ที่หลงมา ก็เท่านั้นเอง

ชอบอ่านบล็อกของคุณลุง มีข้อคิดทุกบล็อกเลย  แต่ไม่เคยเข้ามาโพสต์ความเห็น บล็อกนี้อ่านแล้วย้อนนึกถึงตัวเองที่เป็นคนขี้เกียจ    :sweating:  ไม่ค่อยชอบกินอาหารว่าง เท่าไหร่

   พออยู่ พอกิน พอใช้ พอใจ = พอเพียง

   ลุงก็มิได้ชอบ ... แต่

    สถานการบังคับ ... จึงได้บอกไงครับ ... ว่า

      "ขอบคุณความยากจน"

นอกจากจะอ่านแล้วได้ข้อคิด ชวนติดตาม ยังอ่านเพลินจนลืมโหวตเลยค่ะคุณลุง บล็อกสมาชิกท่านอื่นหนูชอบอ่านแล้วมีภาพให้ดูนะคะ แต่บล็อกคุณลุง ถึงจะไม่มีภาพให้เห็น แต่อ่านแล้วนึกเห็นภาพน่ะค่ะ  

แบ่งปัน สร้างสรรค์ พอเพียง

 

หน้า