ของนี้ ... เคยทำเล่นเมื่อเป็นเด็ก ?

หมวดหมู่ของบล็อก: 

     ภาพที่ปรากฏ อยู่ด้านบน ... ข้าพเจ้ามั่นใจว่า หลาย ๆ ท่าน โดยเฉพาะ ผู้ที่อ่อนเยาว์ กว่าข้าพเจ้า สัก 20 ปี คงไม่เคยเห็น ... แต่ สำหรับท่านที่รุ่นราวคราวเดียวกับข้าพเจ้า โดยเฉพาะคนปักษ์ใต้ จำนวนไม่น้อย คงเคยเห็น ... และ ยิ่งกว่าเห็น ในสมัยเยาว์วัย คงเคยลงมือทำ ขึ้นมาเล่นเองด้วยซ้ำ

     ใช่เลยครับ ... สิ่งที่ปรากฏเหล่านั้น ... “ทำมาจากลูกยาง” ... ข้าพเจ้าจึงบอกในเบื้องต้นว่า “สำหรับคนรุ่นราวคราวเดียวกับข้าพเจ้า โดยเฉพาะคนปักษ์ใต้ จำนวนไม่น้อย คงเคยเห็น” ทั้งนี้ เพราะ “ลูกยาง” เป็นวัสดุพื้นถิ่นในปักษ์ใต้ ชนิดหนึ่ง ที่เด็ก ๆ สมัยโน้น โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย ชอบนำมาประดิษฐ์เป็นของเล่น

     ซึ่งข้าพเจ้าก็เป็นหนึ่งในเด็ก ๆ เหล่านั้น ที่ใช้ประดิษฐ์ผลนี้ ... แก้เหงา ... และสำหรับอวดอ้างความสามารถ  ฝีมือในกลุ่มเพื่อนฝูง

     เปล่า ... เราไม่ได้เริ่มต้นจากเรื่องที่ยากหรอกครับ ... แต่ทุกอย่าง  เราเริ่มประถมบทการเรียนรู้อย่างง่าย ๆ  เป็นบันไดขั้นแรก  ... แล้วค่อย ๆ ก้าวไปสู่ ขั้น ... ทำได้ ... ทำเป็น ... แล้วนำไปใช้อย่างมีทักษะ ในเบื้องปลาย

        ของเล่นชิ้นที่จะนำเสนอในบันทึกนี้ก็เช่นกัน .... จัดเป็นประถมบทแห่งของเล่นจากลูกยาง

 

 

 

 

 

 

    จากดงลูกยาง ที่เดินผ่าน แล้วหยิบติดมือ มาเล่น ๆ กองนี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

    เลือกหยิบ .... เปลือกลูกยางที่พึงใจ มาคู่หนึ่ง ... ย้ำ “คู่” หนึ่ง ... อย่าให้ผิดคู่นะครับ ไม่งั้น “งานยาก” จะตามมา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

     ได้ที่ชื่นชอบมาแล้ว ... ลอกเอาเปลือกอ่อน ที่หุ้มด้านนอกผล ออก อย่างนี้ ครับ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

    ส่วน “เปลือกแข็ง” ... สลับหัว – ท้าย ... สอดส่วนบาง ๆ กลางเปลือก ให้ขัดยึดกันไว้

     จะได้ ออกมา ดั่งรูปนี้แล

 

 

 

 

 

 

 

 

 

     แค่นี้ เราก็ได้ของเล่นง่าย ... จากวัสดุพื้นถิ่น ไว้แล่นแล้วละครับ ...

     ด้านไหนจะเป็นหัว เป็นท้าย ไร้ปัญญาจะบอก ... ก็สังเกตทั้งสองด้าน ซีครับ

     จะเห็นปุ่มแหลม ยื่นออกมาด้านละปุ่ม ... เห็นไหมครับ ?

 

 

 

 

 

 

    เวลาจะเล่น ... เราก็จับของเล่น ให้อยู่ระหว่าง นิ้วโป้ง กับ นิ้วชี้ หรือ นิ้วกลาง ก็ได้ ... สุดแต่จะถนัด

    โดย ใช้ปลายนิ้วสัมผัส ตรงปุ่มแหลม เบา ๆ ... แล้วใช้ปากเป่าลมไปที่ เปลือกลูกยาง ... เครื่องเล่นก็จะหมุนอย่างกังหัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

     เราเรียกเจ้าของเล่นชิ้นนี้ ว่า “กังหันปากเป่า” ...

     ทำไม่ยาก ... เราจึงมักจะทำเตรียมไว้คราวละหลาย ๆ อัน ... เผื่อมีปัญหา จะได้หยิบตัวใหม่มาเล่นได้ทันใจ

 

 

 

 

 

 

     แค่นี้ ... เราก็มีของเล่นทำเองอย่างง่าย ไว้เล่น หรือเป่าแข่งกะเพื่อน ๆ แล้วละครับ ...

     สำหรับ ของเล่นจากลูกยาง “ขั้นก้าวหน้า” กว่านี้ ... หากไม่ติดขัด ก็จะนำเสนอในลำดับถัดไป นะครับ

     ของเล่นจากลูกยาง เป็นหนึ่ง ในหลาย ๆ สิ่ง ที่ข้าพเจ้าเมื่อวัยเด็ก มีไว้อวดศักดิ์ศรี และความสามารถของตัวเอง ว่า

     “ข้าก็ทำได้ ทำเป็น ... ไม่ต้องไหว้วาน จ้างใคร หรือ ซื้อหาให้เสียทรัพย์”

     ผิดกับสมัยปัจจุบัน ที่ดูเสมือนว่า เป็นยุคแห่งการอวดของซื้อ ว่า ... “ข้า ... มีอำนาจการซื้อ ของที่ สวย และ สนนราคาสูงกว่า ใครเพื่อน"

อืมม์  ... เพียงไม่กี่ปี ... ช่างต่างกันซะจริง ๆ ... ยุคสังคม “ผลิตเพื่อบริโภคเอง” เลือนหายไป

ยุคสังคมใหม่ ..... “สังคมบริโภค สิ่งสำเร็จรูป” ... แล่น ... เลื่อนเข้ามาแทนอย่างรวดเร็ว

โอ๊ะ .... หากไม่มีใครผลิตมาป้อน ... แล้วเราจะบริโภคอะไรเข้าไปนะนี่ !

 

 

 

ความเห็น

ครับใช่เลยครับลุง เป่าแข่งกันแก้มแทบปริ ถึงตอนนี้ก็ยังทำให้ลูกได้เล่นเช่นกันครับ เปรียบเทียบให้ดูว่า อดีตในวัยเด็กของพ่อ กับ ปัจจุบันของลูกมันช่างต่างกันเช่นไร

 ขอบคุณนะครับลุงที่ทำให้ความรู้สึกดี ๆ เมื่อวันวานหวลกลับมาอีกครั้ง

 การทำงานต้องรู้จริงทำจริงจึงประสบกับความสำเร็จ

   ด้วยความยินดีครับ … ที่ยังเห็นประโยชน์ของวัสดุพื้นถิ่นบ้านเรา … วันกอนลุงไปกานดิด แต่แขบ ๆ เลยไม่ได้แวะเยี่ยม

สวัสดีครับ
ตอนเป็นเด็กลุงก็เคยทำของเล่นจากลูกยางเหมือนกัน แต่ กังหันเป่าปาก ยังไม่เคยทำ คงจะเป็นแบบที่มีเชือกชักเหมือนในภาพแรก และคงได้เล่าสู่กันฟังตอนที่พี่หลวงจะนำเสนอในลำดับถัดไปครับ

 

   ยินดี ที่พบคนคอเดียวกัน ครับ … ว่างเว้นจากภาระกิจ ผมจะนำเสนอ ของเล่นจากลูกยางอีก 2 ตัวที่เหลือครับ

เคยเล่นเหมือนกันครับ  เดี่ยวนี้แบบนี้ไม่มีใครทำ จะโทษเด็กก็ไม่ได้ ผู้ใหญ่หลายๆท่านไม่มีการส่งต่อ

     ใช่เลยครับ เด็ก ๆ เสมือนภาชนะว่าง … การเลือกใส่สิ่งที่เป็นประโยชน์ลงในภาชนะว่าง อยู่ที่สัมมาทิฐิของผู้ใหญ่ ครับ

ของจริงๆ ไม่เคยเห็นค่ะ"ลูกยาง" ที่ว่ามานี้  ขอบคุณค่ะลุงพะโล้ที่ทำให้รู้จักของเล่นในอดีต

 

   ลูกยาง ที่เห็นในภาพ สมัยลุงเป็นเด็ก มีเฉพาะปักษ์ใต้ และมะลายู (มาเลย์ ฯ) ...

      ปัจจุบัน หาดูได้ทุกภาค ... ทั่วประเทศ ปลูกยาง กว่า 50 จังหวัดครับ

ที่บ้านเรียก ลูกหวือ ครูนวลทำเช่นแหละ
ทำแจกเด็ก ๆ ที่ไปเล่นที่บ้านแม่ประจำ
โดยลักไนล่อนที่พ่อใช้ทำสายเบ็ดทำสายชัก
เด็กหญิงจะใช้ทำลูกหมากเก็บ หมากกิด หมากขุม . . .
แต่ตอนนี้ของเล่นแบบนี้เขาไม่เอาแล้ว คงไม่หนุกมั๊ง

  คงเรียกต่างกันครับ ที่บ้านผมเรียกลูกหวือ ... นำมาขึ้นบล็อก ให้ดูต่อจาก บล็อกนี้แล้วครับ ... ซึ่งเราอาจเรียกไม่เหมือนกันก็ได้ครับ ... เป็นปกติของสื่อภาษาครับ

หน้า