เที่ยว แล้ว เล่า 2 (สวย ๆ งาม ๆ ณ สามร่วม ... ?)

หมวดหมู่ของบล็อก: 

    เที่ยว แล้ว เล่า ตอนที่แล้ว ... เริ่มออกเดินทางต่อจาก “พิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำ ช่องเขาขาด" ... ที่ได้รับการขนานนามว่า “ช่องไฟนรก” หรือ “Hellfire Pass”

     เราออกสู่ถนนสายหลัก ... เลี้ยวซ้ายอีกแล้วครับท่าน ... ขับไปเรื่อย ๆ ด้วยความเร็วที่ไม่สูงมากนัก แม้พื้นผิวจรจรดี แต่สายฝน ที่ลงมาเสริม ความคดเคี้ยว ... โค้ง และเนินสูงชัน มีอยู่มากเป็นช่วง ๆ ทำให้เราต้องใช้เกียร์ต่ำ แต่ต้องเพิ่มความระมัดระวังสูง ... ก็เราไม่ใช่นักขับ Formula 1 นี่ครับ

     ถึง เกริงกระเวีย ... จอดพักรถ พักคน พอได้คลายเกร็ง ... เตรียมจะได้เดินทางต่อ ด้วยว่าบ่ายจัดแล้ว

แต่ก็เก็บภาพ น้ำตกชั้นเตี้ย ๆ ที่ใกล้สุด มาฝาก

 

     อุณหภูมิเครื่องยนต์ลด ... ความเหนื่อย เกร็ง คนขับบรรเทา ... เราก็ออกเดินทางต่อ

          ที่สุดช่วงเย็น ๆ ... เราก็ถึง “สังขละบุรี”

     ดูท้องฟ้า ... ดูนาฬิกาประกอบ ... เห็นว่ายังมีเวลาอีกโข ... จึงมีมติข้ามไปฝั่งชุมชนมอญ ... เหตุผลรึครับ คือวันรุ่งขึ้น จะได้ใช้เวลา ‘ตามไปดูปลายเส้นทางรถไฟ สายสงคราม” เต็มเวลา ไงละครับ

     มติเป็นเอกฉันท์ แต่ตอนที่ข้าพเจ้าไปเยือน พัก สะพานไม้ที่ร่ำลือกันว่า ยาวที่สุดในประเทศ โดนโรคธรรมชาติเล่นงาน กำลังอยู่ระหว่างบำบัด ฟื้นฟู ... ไม่สามารถเดินข้ามไปได้ แม้จะมีสะพานชั่วคราวบวบไม้ไผ่ ใช้แทน แต่ด้วยเงื่อนไขเวลาจำกัด จึงไม่สะดวกที่คณะเราจะเดินไปดูชมสถานที่ต่าง ได้หมด

     เราจึงขับรถอ้อมขึ้นไปข้ามสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ที่โดดเดี่ยวอยู่ทางเหนือชุมชนขึ้นไป ซึ่งเมื่อข้ามสุดสะพานไปได้หน่อยเดียว เราก็เลี้ยวรถขึ้นเนิน สู่จุดชมวิว

ระหว่างเดินไปลานชมวิว ... อินทนิล สะพรั่งดอก ... ยากยั้งใจยกเครื่องโทร ฯ ขึ้นเก็บภาพ

 

ณ ลานชมวิว ... มองไปยังร่างสะพานที่ป่วย อยู่ระหว่างการบำบัด

 

 

 

 

              เอากัน อีกภาพ จะได้เห็นว่าป่วยจริง

 

 

 

 

 

 

     เราอยู่ ชมวิว เก็บภาพ ไม่นาน ก็เดินทางไปถึง ... ร่วมแรก ...

     ร่วมนี้ มีวัด สงฆ์ เป็นแหล่งรวมน้ำใจ ... ของคนพื้นถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่ ชนชาวรามัญ เป็นฐานรองรับอันมั่นคง ผนวกกับ ... น้ำใจที่เติมเต็มเข้าไป ของแขกผู้เยี่ยมเยือน

      วัดวังวิเวการาม หรือ วัดหลวงพ่ออุตตมะ กำเนิดขึ้นจากการทุ่มเทแรงใจ ของชาวมอญ และชาวกะเหรี่ยงอพยพ ซึ่งมี พระราชอุดมมงคล ... ที่ทั่ว ๆ ไป รู้จัก เรียก กันว่า หลวงพ่ออุตตมะ เป็นผู้นำทาง แล้วอาศัยศรัทธา ของคนในชุมชน และผู้เยี่ยมเยือน เป็นแรงขับ

เราจอดรถที่หน้าวิหาร

ออกจากรถ ... ก่อนเข้าไปในวิหาร ... เก็บภาพสถาปัตยกรรม ศิลปะแบบพม่า ไว้อีกภาพ

 

 

 

 

     เสร็จแล้ว เข้าสู่วิหาร นมัสการ สรีระ หลวงพ่ออุตตมะ ซึ่งบรรจุอยู่ในปราสาทที่เห็น

 

 

 

 

 

กลับออกมา ยังติดใจอยู่ ... ขออีกภาพ

     ออกจากลานวิหาร และพระอุโบสถ เรามุ่งไปนมัสการ พระเจดีย์พุทธคยาจำลอง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเย็นมากแล้ว ชาวพื้นถิ่นทั้งชาวมอญ และชาวกะเหรี่ยง ส่วนหนึ่งเริ่มพิธีสวดมนต์ทำวัตรเย็น อยู่บนชั้นสองของเจดีย์ และก็มีส่วนหนึ่งกำลังทยอยเดินทางมา เป็นเหตุให้เราไม่อยากขึ้นไปรบกวนพิธีของเขา จึงซื้อดอกไม้ ธูป เทียน นมัสการอยู่เพียงชั้นล่าง แล้วออกมา

 

 

 

 

 

                   แล้วเก็บภาพ ก่อนขึ้นรถ

 

 

 

 

 

     เราขับรถ ไปจอดในตลาด ... เดินตามกลุ่มผู้ท่องเที่ยว คณะอื่น ไปยัง


 

 

     “สะพานอุตตมานุสรณ์” ที่รู้จักเรียกขานกันทั่ว ๆไปว่า “สะพานมอญ” ซึ่งเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในเมืองไทย ที่สำคัญ เป็นสะพานที่เกิดขึ้นจากพลังความร่วมใจ

 

 

 

 

 

 

 

 

     ส่วนหนึ่งของคณะ พร้อมมัคคุเทศก์พื้นถิ่นตัวน้อย ... มาเหยียบ ยืนอยู่บนสะพาน รอสมาชิกพร้อมหน้า ...

 

 

 

 

 

มาพร้อมกันแล้ว ... หน้าเดิน ... ไปเยี่ยมอาการป่วย ของสะพาน แม้เขาอนุญาตให้เข้าไปได้เพียงช่วงหนึ่งก็ยังดี ... อยากเห็นนี่หน่า ...

 

     ที่เขาไม่อนุญาตให้เข้าไปเยี่ยมใกล้ ๆ ไม่ได้กลัวว่าสะพานจะติดเชื้อหรอกนะ ... แต่กลัวว่าผู้เยี่ยมจะติดเชื้อมากกว่า โดยเฉพาะผู้สูงอายุอย่างเรา ... ติดแล้วคงรักษายาก ฮุ ๆ ๆ ๆ

     พลบค่ำแล้ว กลับสู่ที่พักที่จองไว้ ... เข้าสู่กิจกรรม ขจัดความหิวเก่า เพื่อเริ่มต้นความหิวใหม่

ที่เห็นเกลี้ยงจานนะ ไม่ใช่ตะกละนะครับ ... แต่เป็น Good consumer ตะหาก ฮุ ๆ ๆ

     เสร็จจาก โต๊ะอาหาร ... เข้าเรือนพัก

          อรุณวันใหม่ ตื่น ทำภารกิจเสร็จ โผล่มาทอดสายตา

     จากจุดที่ ออกมายืนบนเฉลียงใต้ร่มหลังคา ... มองร่วมที่สอง ... ร่วมนี้ธรรมชาติ สรรค์ มานมนานกาเล คือร่วมของ ... สามสายนที ... ห้วยซองกะเลีย ... ห้วยบิคลี่ และ ห้วยรันตี ที่ไหลมาบรรจบรวมกันเป็นหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ ถึงขนาดใครต่อใคร เรียกขานกันว่า “แม่” คือ ... แม่น้ำแควน้อย

เห็นไกล ๆ อยู่เบื้องหน้าโน่นแหละครับ

 

     ที่เห็นไกลอกไป นอกจากเป็นจุด สามนทีประสบ แล้ว ยังเป็นจุดที่วัดวังวิเวการามเดิม จมอยู่ใต้น้ำยามช่วง       ฤดูฝน ที่ชาวบ้านเรียกขานกันว่า “วัดใต้น้ำ” อีกด้วย

เหลือบสายตาต่ำลง ริมฝั่ง จะเห็นเรือนแพ รอบริการนักท่องเที่ยว

ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ในการสร้างบรรยากาศ

 

     จากจุดที่เราพัก ... เบนมุมสายตามาทางขวามือ แล้วมองต่ำลง จะเห็นศาลาต้นทางข้ามสะพานมอญ ด้านฝั่งนี้ ซึ่งขณะที่คณะเราไปเยือน ส่วนช่วงกลางสะพานขาดอยู่ ยังบูรณไม่เสร็จ

ก็ภาพนี้แหละครับ

 

     ณ ศาลาต้นทาง หลังคาสีแดงที่เห็นตามภาพ เป็นจุดหนึ่ง ที่ทั้งชาวพื้นถิ่น และแขกเยือน ร่วมทำบุญ ตักบาตร ในตอนเช้า ... และจะเห็นภาพเด็ก ๆ เอาดอกไม้ที่เสียบร้อยเป็นก้าน ๆ มาขายด้วย

     เก็บ เสื้อผ้า ที่นำไปด้วยไม่มากนัก ยัดใส่กระเป๋า ... เอามาขึ้นรถ เลยไปจัดการมื้อเช้า

         ระหว่าง บุฟเฟต์ เช้า ซึ่งทางที่พักจัดบริการ มองลงไปจากโต๊ะอาหาร ...

สะพานเชื่อมระหว่างชุมชนในตัวเมือง กับ บริเวณหัวสะพานมอญ

 

        และจากจุดสิ้นสุด ของสะพานดังกล่าว เปิดเชื่อมให้ข้าพเจ้า เห็น ...

     ร่วมสาม อันเป็นร่วมที่เกิดจากสิ่งสร้างด้วยฝีมือ และแรงมนุษย์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ตัวเอง คือ ... สามสายสัญจร ... ข้ามนที ...

     ณ บริเวณด้าน ฝั่งเมือง เป็นจุดสุมหัว ? ...ก็ หัวสะพาน ที่มารวมสุมอยู่ใกล้ ๆ กัน ไงครับ

     สะพานหนึ่ง ... ยินฟังคุ้นหู ตั้งแต่ยังไม่เคยไปเยือนที่นี่ .. แต่ก็มองเห็นได้ในจินตนาการ ... “สะพานมอญ” ... ซึ่งขณะข้าพเจ้าไปเยือนนั้น ด้วยเหตุภัยธรรมชาติ สะพานมอญช่วงกลางลำน้ำ ต้องหักพังลง

     สะพานลูกบวบ หรือ สะพานไม้ไผ่ ที่สำเร็จขึ้นด้วย แรงร่วมใจของชาวบ้าน จึงก่อกำเนิดขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกแทน เป็นการชั่วคราว ...

     อีกหนึ่งสะพาน แม้จะไม่ทอดข้ามสายนที ที่สองสะพานข้างต้นทำหน้าที่ แต่ก็มาสุมหัวอยู่บริเวณเดียวกันดังที่นำมาให้ดู และบอกไว้ข้างต้น ... แว่วเสียงจากคนในละแวกถิ่น เรียกสะพานนี้ว่า “สะพานแดงเทศบาล” ... ผิดถูกไม่กล้ายืนยัน นั่งยัน นอนยัน ... อยากรู้ที่ถูกคืออะไรก็ ... ไป ... แล้ว ถามกันเอาเอง เหอะ

ตรงนี้เอง ... จุดสุมหัวสะพาน ... ที่จุดประกาย ร่วมที่สามแก่ข้าพเจ้า

 

       เสร็จมื้อเช้า ... ล้อเลื่อน สู่จุดหมายต่อไป ... สุดปลายเส้นทางรถไฟ สงครามโลกครั้งที่สอง ในราชอาณาจักรไทย

     ขณะนั่งรถสู่จุดหมายใหม่ ... ข้าพเจ้า ถูกดูดเข้าสู่ภวังค์ “ร่วม” ที่น่ากลัว ... !

“ร่วม” ... อาจก่อคุณอนันต์ ... แต่ก็อาจหยิบยื่นโทษมหันต์ ...

ขึ้นอยู่กับ กิจกรรม อันมี “ทิฐิ” เป็น โยนิ ...

ความเห็น

ตามมาเที่ยวด้วยคน  ภาพที่ลุงถ่ายสวยมากค่ะ ทำให้นึกอยากมาเที่ยว ถ้ามีโอกาส ขอบคุณลุงพาโลมากค่ะ

   ขอบคุณครับ ...

      ลองหาโอกาส ซีครับ ... ไปไม่ยาก ครับ แค่อาจไกลหน่อยเท่านั้น

คุณลุงนำเที่ยว สนุกสนาน มากค่ะ...ไปกับครอบครัว สนุกจริงๆ....... ศิลป ทางพม่า สวยจับใจไม่แพ้ ไทย นะคะ ...การรวมน้ำใจสร้างสะพาน แสดงให้เห็นถึงความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันอย่างมาก หาได้ยาก ในสังคมปัจจุบัน...ความเป็นมาของลำน้ำ แควน้อย...ฟังดูน่าเกรงขามมากค่ะ...

 

   ครับ เขาเหนียวแน่นในการสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมของเขามากครับ ... ทั้งศรัทธาในหลวงพ่ออุตตมะสูงมาก จะบอกว่า ... หลวงพ่อ ประหนึ่งเทพเจ้าของกลุ่มเขาก็ไม่น่าจะห่างนักครับ

นานจังแล้วแล้วไม่ได้เข้าบ้าน
เข้ามาแป๊บเดียว หนีเที่ยวตามคุณลุงซะเลยค่ะ

ลูกอิสานกันดารแท้ แต่บ่อเหี่ยวทางน้ำใจเด้อ
หากแหม่นใหลหลั่งรินปานฝนแต่เมืองฟ้า
มาเด้อพวกพี่น้อง สานสัมพันธ์ให้มันแก่น
ให้ยืนยาวแนบแน่นพอปานปั้นก้อนข้าวเหนียว เด้อพี่น้อง

    ลุงก็เพิ่งเข้าบ้านใหญ่มาได้ไม่นานนี่เองครับ ด้วยว่า PC. ตัวเก่าเจ๊งไปกว่าปีแล้ว เพิ่งหามาใหม่เมื่อไม่กี่วันนี้เอง ครับ

ขอบคุณที่พาเที่ยวครับ วิหารสวยดีครับSmile

“นานุวัฒน์ ทำเกษตรให้สนุกและมีความสุข”

ด้วยความยินดีครับ

    สถาปัตยกรรม และศิลปะ เขาสวยไปอีกแนวหนึ่งครับ ... เขาบอกว่าเป็นศิลปะแบบพม่า

      แต่ผมค้านในใจลึก ๆ ว่า น่าจะเป็นแบบมอญมากกว่า เพราะมีหงส์ ประกอบทั้งในลายกนก และปลายยอดสถาปัตยกรรม แม้จนปราสาทที่บรรจุ สรีระหลวงพ่อ ก็เห็นรูปหงส์ แต่ภาพที่เขาถ่ายให้ มุมต่ำไปหน่อยจึงไม่เห็นส่วนยอด

ผมมากาญจนฯ แต่มาไม่ถึงตรงนี้สักที ด้วยเวลาจำกัดเสมอ.. เป็นสถานที่น่าสนใจมาก ลุงพลาดแล้วไม่เอาภาพกลุ่มชนพื้นเมืองมาฝากมั่ง

..โอกาสไม่ได้มีทุกวัน..

 

    ขออภัยครับ ไม่ทันได้นึกข้อนี้ ... ลุงหวาไปแลเองหวา ... เขาน่ารักมาก ๆ ครับ ทั้งด้านนิสัยใจคอ และความศรัทธาที่พระพุทธศาสนา ที่มั่นคงมาก

     เที่ยวหน้า จะเก็บภาพเด็กน้อยขายดอกไม้เสียบก้าน เรียบง่าย แต่น่ารัก มาฝากครับ ที่จริงเที่ยวนี้ก็ถายมาแหล่ว แต่ค้นไม่พบ สา ๆ อิพลาดลบซะแหล่ว