......ค้างคาวใต้ใบไม้.....

หมวดหมู่ของบล็อก: 

1.ในความทรงจำ

ยังมีความทรงจำบางอย่างเกี่ยวกับขี้ค้างคาวและการดำนาปลูกข้าวตกค้างอยู่ในจิตสำนึก   

เมื่อครั้งยังเป็นทโมนน้อยที่ไม่ค่อยได้วิ่งเล่นกับเพื่อนเท่าไรนัก ด้วยว่าต้องเป็นแรงงานหนึ่งในท้องทุ่ง  แรงงานเล็กๆ ด้วยสองมือน้อยๆ ช่วยดึงหญ้าที่พ่อแม่ลากมากกองๆ ไว้ก่อนที่จะขนไปกองไว้บนคันนา โปะคันนาให้กว้างขึ้นหนาขึ้น  และเป็นการเตรียมแปลงก่อนปักดำต้นกล้า

อีกภาระเป็นงานที่สบายหน่อยคือ การลากกาละมังขี้ค้างคาวเพื่อให้คนดำนาได้จุ่มรากกล้าข้าวก่อนการปักดำ ก็แค่เอาเชือกผูกกาละมังปลายสายอีกด้านมาผูกเอว เดินไปตรงนั้นตรงโน้นที่มีคนร้องขอต้นกล้าขณะปักดำ 

ขี้ค้างคาวหายาก บางปีเราไม่มี ยุคนั้นปุ๋ยเคมียังไม่มีเข้ามาในหมู่บ้าน เรากินข้าวไร้เคมีอย่างเอร็ดอร่อยและปลอดภัย สอบถามคนแก่ในหมู่บ้านที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปได้ความว่า เราหาปุ๋ยพวกนั้นมาจากคนบนเหนือ คือคนบนพื้นที่สูงที่มีภูเขา มีถ้ำค้างคาว  พวกเขาหอบหิ้วใส่กระสอบมาขายในหมู่บ้านบ้าง ฝากขายไว้ในตลาดบ้าง มีน้อย หายาก จึงไม่ใช่ทุกบ้านจะได้ใช้ 

สีแดงๆ ของปุ๋ยขี้ค้างคาว อาจจะปนดินในถ้ำ หรือหลอกว่าเป็นขี้ค้างคาวก็ไม่อาจทราบได้ มีก็ใช้ ไม่มีก็ไม่ใช้ เพราะจริงๆ ก็แค่จุ่มรากข้าวตอนปักดำเท่านั้นเอง  

ต้นกล้าต้นน้อยมีปุ๋ยรออยู่ที่ราก อาจเป็นสารอาหารหลักของข้าว ไม่นานก็แตกกออวบอ้วน

นอกจากขี้ค้างคาวตอนปักดำเราไม่ได้ใช้ปุ๋ยตัวไหนมาใส่ในนาอีกเลย ต้นข้าวไม่มีเหลืองบักโกรกขาดสารอาหาร  นั่นเพราะเรามีดินดีเป็นฐานอยู่แล้ว เราใช้ควายในการไถทำ คราด ฯลฯ ควายก็ช่วยกันอึใส่ท้องทุ่งให้ปุ๋ยและจุลินทรีย์เพิ่มเข้าไปอีกทาง

ช่วงต้นปี 2559 มีข่าวร้ายข่าวหนึ่งที่ทำให้ผมต้องกลับมาทบทวนเรื่องราวที่เคยตั้งใจไว้เมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว แต่ยังไม่ได้ลงมือ 

ข่าวร้ายที่ว่านั่นคือข่าวเขาถ้ำทอง จ.ลพบุรี พังถล่มทับชาวบ้านปีนไปเก็บขี้ค้างคาวทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นั้น

ใช่ครับ..ส่วนใหญ่ค้างคาวอาศัยอยู่ในถ้ำหรือสิ่งก่อสร้างที่มืดอับชื้นและไร้ผู้คนรบกวน อยู่อาศัยเป็นเวลานาน ขี้ก็ทับถมสูงขึ้น  ถ้ำบางแห่งในบางยุคสมัย(หรืออาจจะยุคสมัยนี้ด้วย?)มีการสัมปทานจากรัฐอย่างเป็นหลักเป็นฐาน  ไม่ใช่ต่างคนต่างขุดคุ้ยกันเอาอย่างง่ายๆ เหมือนในถ้ำเล็กๆ ที่อาจะไม่มีใครเคยค้นพบมาก่อนนอกจากชาวบ้านในละแวก  และถูกเก็บเป็นความลับเรื่อยมา

ของมีคุณค่า ราคาแพง ความต้องการใช้ยังคงมี มูลค่าของการสัมปทานอาจสูงลิบลิ่วเกินจินตนาการของชาวบ้านอย่างเรา   

2.ย้อนแสง

http://i173.photobucket.com/albums/w60/Suankikran/Rangin%20Photobuget_zpsapye5gip.jpg

ผมเคยประกอบอาชีพเป็นช่างภาพ – เป็นช่างภาพโดยอาชีพ นอกเหนือจากงานที่ต้องรับผิดชอบในฐานะงานประจำซึ่งไม่พ้นเรื่องถ่ายภาพ ลำดับภาพ ฯลฯ โดยความชอบส่วนตัวผมชอบบันทึกภาพแสงใต้ใบไม้ นั่นหมายถึงผมต้องช้อนกล้องเงยขึ้นหรือมองสวนย้อนแสงไปหาความทึบ โปร่งหรือสว่างโพลนของใบไม้ที่ต้องแสงตะวัน

สีเขียวไล่เฉดไล่ความสว่างที่มีระดับของมัน ขึ้นอยู่กับสภาพแสงผ่านกลุ่มเมฆ หรือแสงจ้าในวันที่ท้องฟ้าปรอดโปร่ง และสภาพความหนา,บางของใบไม้แต่ละชนิด

หนึ่งในนั้นผมชอบไม้บ้านๆ อย่างต้นเหรง หรือต้นสิเหรง พืชตระกูลปาล์ม รูปพรรณสัณฐานคล้ายต้นค้อที่ใครหลายคนอาจคุ้นตามากกว่า แต่มันมีความต่างบางอย่างที่คนที่ไม่เคยรู้จักอาจไม่ทันสังเกตhttp://i173.photobucket.com/albums/w60/Suankikran/Rangin%20Photobuget8_zpskbqvakv1.jpg

ปลายใบของต้นค้อ จะมีเส้นก้านใบเลื้อยยาวออกมาจากใบ กลายเป็นเส้นๆ ห้อยติดใบทุกทางใบ 

ค้อมีลำต้นสูงลิบลิ่ว โตไว(ในระยะอายุใกล้เคียงกับสิเหรง  แต่สิเหรงจะเตี้ยกว่า) กลุ่มทางใบของค้อจะสั้นกว่าทางใบของสิเหรง  

เท่าที่สังเกตในจังหวัดเดียวกัน ภูมิถิ่นของค้อจะอยู่ในระดับน้ำทะเลที่สูงกว่าสิเหรง และไม่ค่อยพบต้นค้อในพื้นราบ(มีบ้างแต่น้อย อาจเป็นเพราะชาวบ้านหาประโยชน์จากต้นค้อไม่ได้ หรือน้อยกว่าสิเหรงหลายเท่า จึงตัดโค่นทิ้งไป)

ครับ ผมชอบต้นสิเหรง ทั้งด้วยประโยชน์จากใบที่ใช้มุงหลังคาบ้าน ขนำ(กระต๊อบ) ฯลฯ กั้นเป็นฝาบ้านก็ยังได้ 

ในมุมมองทางศิลปะการถ่ายภาพ แสงใต้ใบต้นสิเหรงจะมีเสน่ห์อย่างบอกไม่ถูก ไม่ว่าจะเป็นใบที่มีความสมบูรณ์แบบ ไม่มีร่องรอยฉีกขาดหรือใบที่มีรอยแหว่งเว้าหรือเปลี่ยนสีผิดแปลก แสงใต้ใบสิเหรงก็ยังคงดึงดูดผมเข้าหาอยู่ทุกบ่อยที่มีโอกาส

  
3. ชีวิตใต้ใบไม้

http://i173.photobucket.com/albums/w60/Suankikran/Rangin%20Photobuget2_zpsxfw4cd5e.jpg

ด้วยว่าชอบต้นสิเหรงจึงปลูกต้นสิเหรงไว้ในสวน กะว่าวันหนึ่งจะได้ใช้ใบมามุงหลังคาศาลานั่งเล่น   

ในสวนขี้คร้านมีอยู่สามต้น ต้นหนึ่งโดนไถทิ้งเพราะต้องใช้พื้นที่มาทำบ่อเก็บน้ำ อีกสองกำลังโต ใบไม่สวยเพราะอยู่ใต้ร่มไม้อื่น ที่น่าแปลกคือหลายใบถูกอะไรบางอย่างกัดรอบๆ โคนก้านใบ  จุดรวมของก้านใบอ่อนแอเพราะการกัดทำให้ก้านใบทั้งหมดลงเหมือนร่มที่ถูกหุบห้อยแขวนไว้อย่างนั้น 

แรกๆ ไม่คิดว่าจะมีอะไรใต้ใบนั้น เข้าใจว่ามันถูกหนอนบางชนิดกัดกินตั้งแต่ใบพวกนี้ยังเป็นใบอ่อน แต่ไม่ใช่ มันถูกกัดตอนที่มันกางใบออกเต็มที่แล้ว

เมื่อย่องเข้าไปมองจากข้างใต้จะเห็นชีวิตน้อยๆ ห้อยหัวอยู่ในนั้น  

ค้างคาวผลไม้นั่นเอง 

ผมเคยถ่ายภาพตัวเป็นๆ ใต้ใบนั่นได้นะ แต่ไฟล์พวกนั้นเสียหายหมดแล้ว 

นับเป็นความประณีตบรรจงจนอยากเห็นตอนพวกกำลังสร้างบ้านชั่วคราวเพื่ออาศัย อาจค่อยๆ กัดจนก้านใบอ่อนล้าหรุบใบลงลู่เป็นทรงกระบอกสามารถกันแสงจากรอบข้าง กันฝนและน้ำค้างจากด้านบน  พรางตานักล่า  และกลายเป็นบ้านอันอบอุ่นปลอดภัยในเวลาเดียวกัน

http://i173.photobucket.com/albums/w60/Suankikran/Rangin%20Photobuget1_zpslbecncqi.jpg

ตั้งแต่จำความได้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่มีสวนผลไม้ไม่ว่าจะเป็นสวนสมรม สวนพ่อเฒ่า หรือวนเกษตร (ปลูกรวมๆ กันไป)จะมองว่าค้างคาวเป็นศัตรูที่เข้ามาแย่งกินผลไม้ในสวน ทำให้ขายไม่ได้ มีตำหนิ หรือแม้แต่ถูกถล่มจนหมดต้น ไม่ว่าจะเป็น ลางสาด เงาะ กล้วย ชมพู่ หรือไม้ผลเปลือกบางหลายชนิดเป็นอาหารของค้างคาวผลไม้ตัวน้อยๆ พวกนี้ 

แต่หากชาวสวนใจกว้างอีกนิด สังเกตสังการอบๆ สวนสักหน่อยจะเห็นเองว่า ใต้ต้นไม้ใหญ่ในสวนจะมีต้นไม้เล็กๆ ที่เกิดจากเมล็ดไม้ผลหลากชนิดหลายพันธุ์งอกงามโดยไม่รู้ว่ามันมาอยู่ได้อย่างไร

นั่นแหละ...ฝีมือเจ้าตัวเล็ก ผู้อาศัยความมืดเป็นทางด่วนออกหากินและเผยแพร่เมล็ดพันธุ์ให้งอกงาม และหลากหลาย  เป็นวงวัฏหนึ่งในอีกหลากหลายผู้ปิดทองหลังพระ เป็นแรงงานนักปลูกป่าที่มองไม่เห็นตัว

ตัวโตขึ้นมาอีกหน่อย เป็นค้างคาวแม่ไก่ ซึ่งเราจะไม่ได้พบตัวใกล้สวนเท่าไหร่ ส่วนจะไปรวมฝูงตามต้นไม้ใหญ่ที่ไหนไม่อาจรู้ได้ มีบางเวลาเท่านั้นที่กลุ่มของค้างคาวแม่ไก่จะบินเข้ามาในสวนเรา เวลาที่ไม้ผลของเราสุกงอมหอมหวาน

จริงๆ แล้วมีอีกด้านที่เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยคือค้างคาวกลุ่มนี้(กลุ่มค้างคาวแม่ไก่)เป็นนักผสมเกสรให้แก่ดอกทุเรียน ด้วยว่าในดอกทุเรียนนั้นมีน้ำหวานที่ค้างคาวชอบกิน 

http://i173.photobucket.com/albums/w60/Suankikran/Rangin%20Photobuget7_zpskg6imrki.jpg

เจอมากับตัวเองเลยเล่าได้

ในหมู่บ้านบางสวนยังมีต้นทุเรียนบ้านอยู่หลายสวน ดอกทุเรียนบานยามค่ำคืน เวลาเดียวกันกับที่ค้างคาวออกหาอาหาร – อะไรจะเหมาะเจาะกันขนาดนั้น

พรานนักล่าประจำหมู่บ้านดันรู้ทางเหล่านี้และยิงมันตายคากิ่งทุเรียนสูงลิบลิ่ว – ตายในหน้าที่ที่ธรรมชาติมอบให้

ถ้าเพียงจะให้เขาทำหน้าที่ของเขา – เรารอรับผล ต่างฝ่ายต่างได้ ไม่ดีกว่าหรือ? 

http://i173.photobucket.com/albums/w60/Suankikran/Rangin%20Photobuget55_zpst6cd1yyf.jpg

ผมจะทำอะไรได้ นอกจากจะบันทึกภาพ บอกกล่าวเล่าเรื่องเล็กน้อย และร้องขออีกสองสามคำเพื่อไม่ให้พวกเกลียดขี้หน้าเท่านั้น

เท่านั้นจริงๆ 

ในวงที่กว้างขึ้น ก็มาเล่าตรงนี้เล้าให้พวกคุณๆ ฟังกัน 

เหมือนเรื่องเล่ารอบกองไฟ

เหมือนเรื่องเศร้ารอบกองไฟ 

 
ช่วงที่ผมทำนาปลูกข้าว ช่วงนั้นนกบางชนิดที่กินเมล็ดข้าวของเรากำลังรุกหนัก วิธีการเดิมๆ ที่เราใช้ไล่นกไม่ค่อยได้ผลจึงใช้วิธีกางอวนเหนือพื้นที่นา เพื่อดักนก

http://i173.photobucket.com/albums/w60/Suankikran/Bat%20in%20net_zpsqtsjhoqm.jpg

เปล่าหรอก ไม่เคยมีนกตัวไหนมาติดอวนของเรา แต่รุ่งเช้าของทุกวันจะเห็นค้างคาวอย่างน้อยตัวสองตัวติดอวนอย่างทรมาน – หน้าที่แกะอวนออกจากผังผืดบางๆ เล็บคมๆ ของค้างคาวตัวน้อยๆ เป็นภาระของผม 

เช้าวันที่สามผมถอดหลักเก็บอวนออกจากพื้นที่นั้น ด้วยว่าค้างคาวพวกนี้คือนักกินแมลงเหนือผืนนาข้าวของเรา ปล่อยให้เขามีชีวิต นั่นนับเป็นเรื่องดีที่สุดแล้ว     

http://i173.photobucket.com/albums/w60/Suankikran/Bat%20in%20net111_zpsmxdzkzts.jpg

4. บ้าน(ของ)ค้างคาว 

หน้าบ้านผมปลูกต้นกล้วยพัดไว้ตั้งแต่ทำบ้านใหม่ๆ พร้อมๆ กับฝ้ายคำ รางจืดและสายหยุด ต้นไม้สามชนิดนี้เกาะกลุ่มกันเหนียวแน่นจนบดบังทัศนียภาพที่เคยมีตั้งแต่สร้างบ้าน ยามค่ำคืนที่ฟ้ามืดสนิท ดาวดก เราสามารถนั่งดูดาวได้จากระเบียงหน้าบ้าน จิบน้ำร้อนเอนหลัง มองฟ้าอย่างมีความสุข 
  
วันหนึ่งผมคิดอยากเปลี่ยนวิวกลับเป็นดังเดิม นั่นหมายถึงผมต้องตัดต้นไม้อย่างน้อยสามชนิด แต่งกิ่งตัดเถาว์อีกสองชนิด 

ยังไม่ทันได้ลงมือ ก็พบว่าในกลุ่มใบกล้วยพัดซึ่งลู่ใบลงมาแนบต้นจนรกเรื้อนั่น เป็นที่อาศัยของค้างคาวเพื่อนรักอีกเช่นเคย  

ฤดูกาลผลไม้เมื่อไหร่ก็เห็นเมล็ดผลไม้กองเหลื่อนอยู่ใต้ต้นกล้วยพัด ต้นหูกวางต้นเล็กๆ งอกเต็มไปหมด ทั้งที่สวนขี้คร้านไม่เคยมีต้นหูกวาง 

บางคืนยังได้ยินเสียงนกแสกมาร้องอยู่หน้าบ้าน 

นั่นหมายถึงอะไรกัน ที่นี่คือถิ่นหากินอันอุดมหรือป่าอันดิบเถื่อนและรกชัฎ?

http://i173.photobucket.com/albums/w60/Suankikran/Rangin%20Photobuget3_zpsbbuqrwuk.jpg

นับแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ต้นไม้พวกนั้นยังอยู่เหมือนเดิม – ค้างคาวก็ด้วย  
 
บางคืนที่กล้วยตานีรอบบ้านเริ่มสุก  จะเป็นคืนที่วุ่นวายตั้งแต่หัวค่ำเพราะเสียงร้องและเสียงสะบัดปีกของค้างคาวที่เข้ามากินกล้วยสุกจนต้องออกมาร่วมนั่งสังเกตการณ์ในความมืดพร้อมด้วยกล้องคู่กาย 

กล้องที่ไม่มีแฟล็ชนอก  มีเพียงแฟล็ชติดหัวกล้องตัวเล็กๆ ที่ให้ความสว่างทีละภาพ และลุ้นรออีกนานกว่าระบบจะชาร์ตไฟเต็ม เพื่อเก็บภาพต่อไป

อย่างไรก็แล้วแต่ ผมอดทนรอ ทั้งยุงและแมลงกลางคืน เยี่ยวค้างคาวรดหัวจนกลิ่นฟุ้ง เป็นการถ่ายภาพสัตว์กลางคืนที่มีความสุขที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต  

โดยไม่ต้องคิดไกล ผมว่าค้างคาวที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมากินกล้วยตอนนี้คือค้างคาวที่อยู่หน้าบ้านและในสวนผมเอง....ใต้ใบไม้แห่งนั้น   

จริงๆ ความคิดเรื่องไม่ต้องออกไปหาขี้ค้างคาวในถ้ำไหน ไม่ต้องเสี่ยงกับกลุ่มแอมโมเนียรุนแรง เสี่ยงกับถ้ำพังดินถล่ม คือเราต้องมีรังให้เค้ามาอาศัยเป็นสถานที่ประจำ ทำไมไม่ทำถ้ำหรือบ้านให้เขามาอาศัย โดยจ่ายค่าเช่าเป็นขี้ ปุ๋ยอย่างดีที่ต้นไม้ต้องการ

 ลองสืบค้นในอินเตอร์เน็ทพบว่ามีการสร้างบ้านให้ค้างคาวอยู่จริงๆ ด้วย ทำได้ไม่ยาก

ไม่แน่  พรุ่งนี้ผมจะทำบ้านให้ค้างคาวอยู่ อยากให้ปุ๋ยต้นไม้ต้นไหนก็ เอาไปติดแหมะกับต้นไม้ต้นนั้น 

เข้าท่าดีไหม?

                                               ๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

https://www.facebook.com/suankikran

ความเห็น

ภาพธรรมชาติก้สวยงามในตัวเองอยู่แล้ว ยิ่งได้ฝีมือของช่างภาพบวกเข้าไปอีก เป็นภาพที่งดงามในแบบที่ไม่ค่อยได้เห็น ค้างคาวนี่เป็นสัตวที่น่าทึ่งมาก มีเอกลักษณ์ ไม่เหมือนสัตว์ตัวไหน ดูลึกลับ บางทีก้ดูเหมือนแดรกคิวล่า แต่จริงๆแล้ว มันก้คือสัตว์น้อย น่ารักน่าสงสารวนึงโดยเฉพาะ เวลาติดบ่วง แต่เจอคนใจดีอย่างคุณsailomloy มันโชคดี ที่จะใช้ชีวิตในแบบของตัวเองในสวนแห่งนี้ และได้นำภาพสวยๆเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟังต่อๆไป ^^

ความสุข..อยู่ที่ใจ

เรื่องโชคดีก็ส่วนหนึ่งครับ

อีกส่วนคือ ต้องสร้าง ต้องเข้มแข็ง ต้องอดทน เพราะการคิดแบบนี้มันสวนกระแส  และการสวนกระแส  มักต้องแลกกับอะไรบางอย่าง เสมอ

ชีวิตจริงมักเป็นแบบนี้ซะด้วย

ออกปากรุนท็อกที !!!

ความลงตัว..ที่หาได้ยาก ....ค้างคาวออกหากิน ..บินมาเจอดอกทุเรียน ซึ่งหอมมากกก..อนิจา ..ไม่เข้าใจกัน ....ความสมดุลย์ คง ต้องรอ  ไหนเลยเราเดือดร้อน นะเจ้าค้างคาว ..ขอแสดงอาณาเขตให้เจ้ารุู้ ว่าเรากำลังทำมาหากิน นะ...เก็บภาพค้างคาว ได้สวยงามจริงๆ ค่ะ

ขอบคุณครับ 

ออกปากรุนท็อกที !!!

ขอบคุณความรู้ ภาพสวยๆ อ่าน ดูเพลิน มีความสุขที่ได้อ่าน

ดีใจที่เกิดมาเป็นคน  จึงเลือกที่จะทำและไม่ทำในสิ่งใดๆใด้ดีกว่า

ค้างคาวในสวนผมไม่ให้ใครมาทำร้าย ผมให้เขาผสมเกสรทุเรียนครับ

เยี่ยมเลยครับ.. 

ออกปากรุนท็อกที !!!

ได้เห็นบรรยากาศอีกมุมหนึ่งพร้อมสาระดี ๆ ขอบคุณครับ (ถ้าไม่บอกว่าเป็นช่างภาพคิดว่าเป็นกวีแบบอ.ถวัลย์เลยนะเนี่ย)

ไร่สุโขทัยนี้ดี ไร่นี้มีแต่ความสุข

คุณถวัลย์ ไม่ใช่กวี ครับ 

แกเป็นจิตรกร เป็นสล่า เป็นศิลปินครับ

ส่วนผม  เป็นช่างตีเหล็กครับ ณ ตอนนี้

ตอนโน้น เป็นช่างภาพ โดยอาชีพ(ไม่ใช่มืออาชีพครับ - ฮา) 

ขอบคุณครับ

ออกปากรุนท็อกที !!!

 

ค้างคาวใต้ร่มไม้

..โอกาสไม่ได้มีทุกวัน..

 

หน้า