ตรีธาตุ ตรีโทษ และตรีทูต

หมวดหมู่ของบล็อก: 

ตรีธาตุ ตรีโทษ และ ตรีทูต


  วันนี้มีคำที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวของร่างกายและสุขภาวะมาคุยบอกเล่ากัน เป็นคำที่ได้จากตำราเก่า ๆ ที่รื้อปัดฝุ่นมาอ่านทำความเข้าใจอีกครั้ง ความว่า  โบราณถือว่า วาตะ (วาตะ เทียบเท่ากับลม เช่น อะไรที่พองโตได้น่าจะนับได้ว่าเป็น “ลม” ความหมายที่ลึกลงไปกว่านั้น คือ คำว่า “วา” จะหมายถึงการเคลื่อนไหว คำว่าวาโย วายุ หรือวาตะ จะมีความหมายสูงกว่าลมธรรมดา) ปิตตะ (เทียบเท่ากับสิ่งที่ให้ความร้อน หรือความอบอุ่นแก่ร่างกาย การย่อยอาหาร ความคิด สติปัญญา ฯลฯ) ศเลษมะหรือเสมหะ (ศเลษมะ เทียบเท่ากับสิ่งส่วนให้ร่างกายนุ่มนวลละมุน เกิดกำลังวังชา อดทน เข้มแข็ง มีลักษณะเหนียวอ่อน ชุ่มชื่น เกิดเป็นน้ำลาย น้ำไขข้อ เยื่อเมือก เยื่อมูก น้ำเหลือง มีผลให้ชุ่ม ลื่น หากแปลตามคำก็จะ หมายถึง สิ่งยึดเหนี่ยว หรือผูกพันค้ำจุนสิ่งทั้งหลายให้เข้ากัน) ทั้งสามอย่างนี้เป็นทรัพย์ที่สำคัญที่สุด เรียกทั้งสามอย่างนี้ว่า "ตรีธาตุ" เมื่อตรีธาตุสมดุลกัน ร่างกายจะแข็งแรงเป็นปกติ แต่หากว่าอย่างใดมากหรือน้อย หรือพร่อง ไม่ปรกติ ไม่สบาย จะเรียกตรีธาตุที่ไม่สมดุลนี้ว่าเป็น "ตรีโทษ" ตรีโทษมีทั้งระยะเป็นอย่างอ่อน อย่างกลาง และถึงตายได้ แล้วแต่ว่าจะโทษมากหรือน้อย แต่แล้วก็มีการเรียก "ตรีโทษ"เพี้ยนกันไปว่าเป็น”ตรีทูต”และให้ความหมายไปถึงระยะจะตาย นี้ก็เป็นอีกเรื่องราวที่เราได้ยินบางผู้คนเรียกคนไข้หนักใกล้ตายว่าเข้าขั้นตรีทูต


   หลังอ่านบันทึกนี้ หวังว่าเพื่อน สมช.บ้านสวนฯ คงพอได้ประโยชน์บ้าง อย่างน้อยหากใครสักคนพูดเรื่องตรีทูต ก็ได้เข้าใจแหล่งที่มาของคำนี้ได้ ...  ข้อมูลที่ได้นี้ถอดมาจากความเข้าใจในการอ่านหนังสืออายุรเวทศึกษา(แพทย์แผนโบราณ)หน้า ๘๒-๘๓ (โรงพิมพ์พร้อมจักรการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๑๖)


หมายเหตุ


   ...คำข้างต้นมีความเกี่ยวเนื่องกับร่างกายและหมอไทย  และมีภาษาทั้งบาลีและสันสกฤตเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งเป็นข้อดีทำให้ความหมายของคำไม่ผิดเพี้ยนไป (ต้องขอออกตัวว่าผู้เขียนบันทึกในบล็อกนี้ก็รู้จักคำบาลีสันสกฤตเป็นเพียงบางคำและรู้น้อยมาก)และในการกำกับความหมายของคำ ปิตตะ วาตะ ศเลษมะ(เสมหะ) ก็เป็นการกำกับที่เปรียบเทียบกับการแพทย์ปัจจุบันหรือทางวิทยาศาสตร์ร่วมด้วย


      ****ขอกราบขอขอบพระคุณ ครูบาอาจารย์และท่านผู้รวบรวมและเขียนหนังสืออายุรเวทศึกษา(วิชาแพทย์แผนโบราณ) ท่าน ขุนนิทเทสสุขกิจ (นิทเทส (ถมรัตน์) พุ่มชูศรี) ผู้เป็นแพทย์ประกาศนียบัตรชุด พ.ศ. ๒๔๖๕ ศิริราชพยาบาล แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ซึ่งประสิทธิ์ประสาทวิชาผ่านทางหนังสือที่ท่านรวบรวมเรียบเรียงเขียนไว้


 

ความเห็น

เป็นเรื่องที่น่ารู้มากครับ รูแล้วก็เกิดประโยชน์สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ครับ


ทุกวันนี้แพทย์แผนไทยกำลังได้รับความนิยม ทังแนวทางการรักษาแบบวิธีธรรมชาติ เป็นแนวทางที่ดีมากเลยครับ


น่าสนใจศึกษา ต้องขอขอบคุณ คุณสายพินมากเลยครับที่ให้ความรู้ ทางด้านนี้


 

หลังจากได้อ่านความเห็นและตอบความเห็นคุณอดุลย์เมื่อเช้านี้แล้ว(ในบันทึกเรื่อง "คุย(ไม่)เฟื่องเรื่องสมุนไพร:สมุนไพร-ลูกน้องป่า") ก็เกิดความคิดผุดตามมาเรื่องการรักษาแบบพื้นบ้าน การแพทย์แผนไทย หรือการแพทย์แผนโบราณ เรียนว่าบันทึกนี้เกิดจากความคิดแว่บหนึ่งเมื่อเช้านี้เลย ... ทำให้คิดเชื่อมต่อว่าจะหยิบยกเรื่องราวอย่างไร และเมื่อผ่านไปสักครู่ใหญ่ ๆ ประกอบกับได้อ่านหนังสือเล่มหนา ๆ ที่วางใกล้ ๆ หน้าจอคอมพิวเตอร์นี้ เลยสรุปความคิดและเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟัง จะว่าไปก็เป็นเรื่องน่ายินดีทีเดียว ที่ปัจจุบันมีการกลับมาสนใจการแพทย์ไทย แต่อย่างหนึ่งในผู้สนใจแพทย์ไทยนั้นหากได้ทำความเข้าใจอย่างมากตามครูบาอาจารย์ท่านสอนให้เข้าใจชัดเจนให้ได้ถึงปรัชญา แนวคิดหลักในการรักษาแบบตะวันออกที่แตกต่างจากทางตะวันตก หากว่าไม่ชัดเจน ก็จะเกิดผลตามมาคือหลงเข้าใจนำเอายาไทย ไปรักษาแบบยาฝรั่ง ซึ่งโดยหลักคิดแล้วการรักษาด้วยยาไทยหรือแผนไทยนั้นใช้ความรู้ความชำนาญในการรักษามาแต่เดิมตกทอดมาหลายรุ่น ความรู้ทางตะวันตกจะใช้ห้องแลป มีการทดลองกับสัตว์ทดลอง รักษาในเชิงลึกระดับเซลล์ หรือการฆ่าเชื้อโรค ทางด้านการแพทย์ตะวันออกนั้นที่เข้าใจคือทำให้ร่างกายที่ป่วยไข้กลับแข็งแรงเข้าสู่ภาวะปรกติ มีความสมดุล แล้วร่างกายจะรักษาตัวเองได้ตามมา


ทั้งนี้โดยส่วนตัวมองว่า การแพทย์ในแต่ละแผนมีข้อดีและข้อจำกัด การแพทย์ไทยก็เช่นกัน หากสามารถใช้ข้อดีในการรักษาได้ ต่อเมื่อพบข้อจำกัดเรานำการแพทย์ตะวันตกมาใช้แก้ข้อจำกัดนั้นก็เป็นเรื่องน่าสนใจ แต่อย่างไรก็ตามทั้งผู้รักษาแผนไทย ประชาชน และคนไทย หากได้ทราบและเข้าใจปรัชญาแนวคิดที่ชัดเจนของการรักษาแผนไทยแล้ว น่าจะช่วยให้มีการรักษาแบบแผนไทยไม่สับสน ซึ่ง ตัวอย่างความสับสน อาจเช่น การที่เอาฤทธิ์ยาฟ้าทะลายโจรไปลดไข้ เหมือนอย่างยาพาราเซตามอล  หรือเอาไปฆ่าเชื้อโรคเพื่อแก้อาการเจ็บคออะไรทำนองนี้ เป็นต้น ซึ่งตามความเข้าใจแล้ว แนวคิดอย่างนี้เป็นแนวคิดที่ดูแล้วน่าจะสวนทางการรักษาแผนตะวันออก


อีกอย่างหากเป็นการรักษาแผนไทยที่บูรณาการกับจุดเด่นในบางอย่างของทางแผนตะวันตก ก็เป็นเรื่องน่าสนใจ เอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ตะวันตกมาประยุกต์ร่วมด้วย เช่น เพื่อช่วยง่ายแก่การตรวจอาการของโรค เป็นต้น


ต้องขอขอบคุณคุณอดุลย์อย่างมากอีกครั้ง

ขอบคุณมากครับพี่สำหรับข้อมูลดีๆครับ


ขอบคุณมากที่เข้ามาเป็นกำลังใจกันในบันทึกที่มีแต่ตัวหนังสือล้วน ๆ ค่ะ คุณรุท

อืม..ปกคติจะเห็น ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่คุณสายพินให้มานี่เป็น วาตะ-ลม ปิตตะ-ไฟ ศเลษมะ-น้ำ น่าจะมีอีกตัวนะที่เป็นดิน เอาอุจจะ แทนดินได้มะ เลยไม่ใช่ตรีธาตุ แต่เป็นจตุรธาตุแทน อิอิ

แสวงหาชีวิตที่สงบ..หลบลี้หนีความวุ่นวาย

คุณตั้ม อ่านความเห็นแล้วยิ้ม ยิ้มแล้วต้องรีบคว้าตำรามาทำความเข้าใจกันต่อเลย นี้บอกกันตรงไปตรงมาเลยค่ะ คำถามนี้เคยคิดถามตัวเองแต่ไม่จริงจังกับการหาคำตอบ พอเจอคุณตั้มเป็นแนวร่วมคำถามละก้อ คิดว่าคุ้มค่าแน่หากว่าตั้งใจอ่านหาคำตอบมาสรุปบอกเล่ากันอย่างที่เข้าใจจากการอ่านละก้อ ได้รู้กันมากกว่าหนึ่งคน


เรื่องของเรื่องสรุปได้ความมาว่า ร่างกายประกอบด้วยสามส่วน คือ


๑ ส่วนอาหารธาตุ(อาหารธาตุเป็นสิ่งที่เข้าไปเลี้ยงร่างกาย ลักษณะเป็นของแข็ง ของเหลว และปราณ(อากาศที่หายใจเข้าไป) เมื่อร่างกายย่อยแล้ว อาหารธาตุจะกลายเป็นเทหธาตุ ในรูปของตรีธาตุ ที่เป็น วาตะ ปิตตะ และเสมหะ)


๒ ส่วนธารณธาตุ (ธารณธาตุเป็นอาหารที่ร่างกายย่อยแล้วจากข้อ ๑ เข้าไปเป็นโครงสร้างของร่างกาย เป็นทั้งน้ำเลือด น้ำเหลือง กล้ามเนื้อ ไขมัน ไขกระดูก ฯลฯ )


๓ ส่วนมละธาตุ (มละธาตุ เป็นธาตุที่ร่างกายขับออก ได้แก่ คูธหรืออุจจาระ มูตรหรือปัสสาวะ และสเวทะหรือเสโทหรือเหงื่อ)


อุจจาระจึงเป็นส่วนของมละธาตุ


แต่พอมากล่าวถึง ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ประกอบขึ้นเป็นโลกกลม ๆ ลูกนี้ ก็มีดิน น้ำ ลม ไฟ ประกอบเป็นโลกกันยาววาหนาคืบกว้างศอก ซึ่งคือ ร่างกายนี้ด้วย ก็จะมีการกล่าวถึงธาตุสี่(ปถวีธาตุ อาโปธาตุ วาโยธาตุ และเตโชธาตุ)ที่ว่าด้วยเรื่องธาตุสี่อันเป็นที่ตั้งที่แรกเกิดของโรค



  • ปถวีธาตุ (ธาตุดิน มี ๒๐ อย่าง อุจจาระจัดอยู่ในธาตุดิน มีศัพท์เฉพาะเรียกอุจจาระว่ากรีสัง แปลว่าอาหารเก่า)

  • อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ มี ๑๒ อย่าง )

  • วาโยธาตุ (ธาตุลม มี ๖ อย่าง)

  • เตโชธาตุ (ธาตุไฟ มี ๔ อย่าง)

ต้องขอขอบคุณคุณตั้มกับข้อคิดเห็นนี้ทำให้วันนี้ส่วนตัวเองก็ได้หายสงสัยไปด้วย ขอบคุณมากเลยนะคะ ยังไงต้องรบกวนคุณตั้มเข้ามาช่วยตั้งข้อสังเกตข้อคิดเห็นบ่อย ๆ ด้วยค่ะ

ขอบคุณความรู้ที่นำมาแบ่งปันค่ะพี่สายพิน

แบ่งปัน สร้างสรรค์ พอเพียง

 

ขอบคุณน้องโน่ แวะมาเยี่ยมชมให้กำลังใจกันค่ะ

:cute: :cute: :cute:

ขอบคุณค่ะ น้องสาว ไว้มีโอกาสจะนำมาฝากอีกนะคะ

หน้า