อีกหนึ่งวัฒนธรรม ... ที่ถูกทำหล่น

หมวดหมู่ของบล็อก: 

    ก่อนจะเสวนา เรื่องนี้ ... ต้องขออนุญาต ปรับความเข้าใจ คำว่า “วัฒนธรรม” ให้ตรงกันก่อน นะครับ ...

    “วัฒนธรรม”  ที่จะนำมาเสวนาในวันนี้ มีความหมายว่า ... “พฤติกรรม และสิ่งที่ กลุ่มคนสร้างขึ้นจากการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และใช้กันอยู่ในหมู่พวก ... เพื่อก่อให้เกิดความเจริญงอกงาม ในวิถีชีวิตของหมู่คณะ

    หนึ่งในวัฒนธรรม ทีว่านั้น ... และสังคมปัจจุบันได้ทำหล่นหาย (จะด้วยเหตุใดก็ตาม) คือ “การลงแขก” ... แถมคำที่มีความหมายในทางสร้างสรรค์ คำนี้ ... ปัจจุบัน ถูกนำมาใช้กับพฤติกรรมหมู่ที่ไม่พึงประสงค์ ด้วยซ้ำ ... คงไม่มีคำอ้างว่า ... “ภาษาดิ้นได้ ... และพัฒนา” หรอกนะ

            เอาครับ ... มาเสวนาตามหัวข้อเรื่องซะที ...

    วัฒนธรรม “ลงแขก เอาแรง” ที่จะคุยกันวันนี้ ... คือการลงแขก “น่ำข้าว” ... อันเป็นหนึ่งวิชาย่อย ในวิชา ... การทำไร่ข้าว ...  ที่เด็ก ๆ ในชุมชนของข้าพเจ้าในวัยเยา ต้องเรียนรู้ และ “สอบปากเปล่า ..."

    ก่อนนี้ ข้าพเจ้า เคยเล่าการทำไร่ข้าวไว้เป็นเบื้องต้น ในบล็อก ..."ข้อสอบวิชาการทำไร่" มาถึงขั้นตอนที่ ...

    “ทำหญ้า เสร็จ ... พื้นที่ไร่ ... พร้อมรับเมล็ดพันธุ์ ธัญพืช ... แล้วละครับ”

        วันนี้จึงมาถึงขั้นตอนของการปลูกแล้วครับ ... เป็นการปลูกด้วยวิธี ทำหลุม แล้วหยอดเมล็ดพันธุ์ ... ซึ่งบ้านข้าพเจ้า (สุราษฎร์ฯ) เรียกขานกันว่า “น่ำข้าว

    ขั้นตอนในการ น่ำข้าว เริ่มจาก ขั้นเตรียมการ ... ซึ่งเป็นหน้าที่ของเจ้าภาพ (เจ้าของไร่) โดยเริ่มตั้งแต่ การบอกกำหนดน่ำ ให้สมาชิกในชุมชนทราบ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเดินบอกทุก ๆ บ้านหรอกครับ ... บอกไปสัก สี่ - ซ้า  - ห้า คน ก็ได้ ... ที่เหลือ เขาก็ไปบอกต่อกันเอง

    เตรียมพันธุ์ ... โดยนำพันธุ์ที่คัดเก็บไว้จากปีกลาย มา นวด ฝัด คัดคุณภาพ ให้พร้อมน่ำ ... แล้วนำ เมล็ดธัญพืช และ พืชประโยชน์อื่น ๆ เช่น ข้าวฟ่าง – แตง  ฯลฯ จนถึงชั้นพริกขี้หนู ลงไปในกระสอบ คลุกคนปนกัน เป็นอันพร้อม ...

    และเตรียม “บอกน่ำ” ซึ่งเป็นอาวุธคู่มือของ Task force กลุ่มหยอดหลุม เป็นกระบอกไม้ไผ่เปลือกบาง ปล้องยาว ไว้สำหรับกรอกพันธุ์ข้าว ... เป็นการยืดเวลาในการน่ำ ไม่ต้องหยุดบ่อย

        อันว่าบอกน่ำ ... ตัดแล้ว พักรอไว้ที่ ไร่

    ก่อนวันน่ำ หนึ่งวัน ก็เตรียมเสบียงเลี้ยงแขกที่จะมาช่วยแรง ... อันนี้สุดแท้แต่ฐานะ ของเจ้าภาพ แขกไม่เรียกร้อง ความต้องการ ...

        เช้าของวันชันชี (กำหนดนัด)

    เจ้าภาพ พร้อม แม่ครัวอาสาของชุมชน  ก็ช่วยกันเตรียมเสบียงกันที่บ้าน .... เมนูหลัก ๆ เมนูหนึ่งคือแกง และ ต้ม ไก่บ้าน เพราะเลี้ยงกันทุกบ้าน... ที่จริงก็ไม่เป็นเชิงเลี้ยงหรอกครับ เพราะปล่อยไก่ให้หากินกันเอาเอง และที่เอามาแกง ก็พวกกากเดน จาก มูสัง (อีเห็น) พังพอน

    เมนูหลักอีกเมนู คือ “แกงตังหุน” (วุ้นเส้น) ... อันว่าแกงตังหุน จัดได้ว่า เป็นเมนูพิเศษ ในวาระพิเศษ น่ำไร่โดยเฉพาะ คือ ... เป็นแกงกะทิ ใส่กุ้งแห้ง ปลาหมึกแห้ง เครื่องในไก่ เนื้อไก่ ปนลงไปด้วย ฟักเขียวหั่นเส้น เห็ดหูหนู และดอกไม้จีน ... ปรุงรสด้วย กะปิ น้ำตาลปีบ และเกลือ (ไม่นิยมน้ำปลา เพราะจะไปเพิ่มกลิ่นคาว)

    มีจิตอาสา อีก 3 –  4 คน ไปช่วยหาบข้าวปลูก (เมล็ดพันธุ์) จากบ้านเจ้าภาพ ไปไร่ ... ส่วน Task force ตัวใครตัวมัน ไปกันเอาเอง ... กลุ่มเดินสู่จุดหมายปลายทาง ไม่ต้องพกพา คือกลุ่ม น่ำ (หยอดหลุม) ซึ่งมีทั้ง หญิง ชาย ผู้ใหญ่ เด็ก ...

    อีกกลุ่ม คือกลุ่มสร้างหลุม เรียกว่า กลุ่ม “แทงสัก”  กลุ่มนี้ บางคน ก็มี “ไม้สัก” (ไม้สำหรับปักดิน สร้างหลุม) คู่มือ แบกไปแล้วจากบ้าน อีกส่วนหนึ่ง รวมถึงข้าพเจ้าด้วย จะไปหา เลือก ตัด เอาขณะเดินไป ... เจอต้นที่ต้องใจ จับดูถนัดมือ ... ฟัน 3 – 4 ฉับ ขาด ตัดปลาย ยาวตามถนัด ... หาได้ครบคู่ ... แบกไปอย่างนั้นแหละ ... ถึงปลายทาง จัดการ ... เสี้ยมด้านโคน แหลม ... แค่นี้ ก็พร้อมเป็นเครื่องมือประดิษฐ์หลุมแล้ว

    ได้ ฤกษ์ บน ... พูดให้เว่อ งั้นแหละ คือ พวกแทงสัก พร้อม หัวหน้ากลุ่ม ... ซึ่งเลือกขึ้นมาโดยอัตโนมัติ บอกว่าให้ใคร ประเดิมรู ... ซึ่งดูจากประวัติว่า ชำนาญ แบ่งแปลงพื้นที่ แต่ละแปลง ที่เราเรียกกันว่า “หวาด” (กรุณาอย่าถามที่มา ตอบไม่ได้) และชำนาญนำ

    ไม้สักคู่แรก (จากคน ๆ เดียว ครับ แทง สลับสองมือ) ออกนำ พอทิ้งแนว (รูบนพื้นที่ตนหน้าทำไว้) สักคู่สอง ออกตาม ... ตาม ... และ ตาม จนหมดคนสัก เดินเป็นแนวทแยง  ... ภาพปานสวนสนาม ยังไง ก็ยังงั้น

    ส่วนกลุ่มหยอด ... เลือกกระบอกที่ถนัดมือ ... กรอกเมล็ดพันธุ์ ... เตรียมพร้อม รอให้จำนวนหลุมเยอะพอ ... จึง ... หนากระดาน โก้งโค้ง ... ลงมือหยอดพร้อมกัน ... ผู้หยอดคนหนึ่ง จะรับผิดชอบหลุมที่อยู่เบื้องหน้า 4 – 5 หลุม

    วิธีหยอด ... จับกระบอกพันธุ์ ด้วยมือด้านถนัด .. เทเมล็ดพันธุ์ ใส่ฝ่ามืออีกข้าง ... ยื่นมือที่กำเมล็ดพันธุ์ เข้าใกล้หลุม ... เปิดปลายนิ้วปล่อยเมล็ดพันธุ์ ให้ไหลลงหลุม ... ใช้ก้นกระบอกทุบดินปากหลุม ลงปิดเมล็ดพันธุ์ไว้ กันนก และรักษาความชื้น เป็นอันเสร็จ 1 หลุม พอเกิดทักษะแล้ว น่ำได้เร็ว ครับ

    ก่อนนี้ข้าพเจ้า ก็อยู่กะกลุ่มนี้  ... แต่ถูกคำสบประมาทว่า “ดมก้นผู้หญิง” บ้าง อะไรบ้าง กอปรกับ ความแค้น พวกแทงสัก ... ที่พักกินอาหารกลางวันก่อน ... แล้วจะไม่เหลือของชอบ เช่น ตูดไก่ ใบเหยียบย่ำ (ตีนไก่) ไว้ถึงเรา ... จึงแปรพักตร์ หัดแทงสัก จนคณะยอมรับเข้ากลุ่ม

    พูดถึงอาหารกลางวัน ... ก็อย่างที่บอก เมนูหลัก คือแกงไก่ ... แกงไก่ใส่ผักอื่น ๆ ... เช่น ฟักเขียว  ... หน่อไม้สด ... หรือฟักทอง ... ไม่สู้กระไรนัก

    แต่ ... เมนูฮา คือแกงไก่ กับ ลูกกล้วยเถื่อน (ลูกกล้วยป่าอ่อน) นะ ซี ... ทำเสียเส้นบ่อย ... เพราะแกงออกมาแล้ว ดูไม่ออก ว่าไหนเนื้อไก่ ชิ้นไหนลูกกล้วย ... ใส่ปากถึงจะรู้ ... พรรคพวกเป็นได้ฮากันสนุกทุกคำ ที่สำคัญผิด

    ก่อนกิจกรรมพักร้อน พักเหนื่อย จะสิ้นสุด ... เราก็จัดการกรอกปากตัวเอง ด้วยขนมที่ทางพัทลุงเรียกว่า “หนมเท่ดิบ” (ลอดช่อง)

    วัฒนธรรมอีกอย่าง ของการน่ำข้าว ที่บ้านข้าพเจ้า คือ การ “อุก” (ปล้น) ...อุกที่ว่านี้ ไม่ใช่การอุกเอาทรัพย์ ซึงการอุกเอาทรัพย์ ต้องอุกเอาคนมั่งมี ... แต่นี่เป็นการอุกคนจน ... คือ

    ในชุมชน ก็เห็น ๆ กันอยู่ว่า ใคร มีฐานะอย่างไร ... ดังนั้น เมื่อน่ำไร่ที่เป็นไร่หลัก ใกล้เสร็จ และเห็นว่ามีเวลาเหลือ ... ก็จะมีฉันทามติ ... ไปอุไร่คนจน

    โดยมีกลุ่มหนึ่ง ไป เตรียมเมล็ดพันธุ์ จากผู้ถูกอุก ... แล้วแรงงานทั้งหมด จะถ่ายโอนมายังไร่ที่ถูกอุก ... จัดการน่ำให้เสร็จ ... ซึ่งบางทีก็น่ำ ทั้ง ๆ ที่ยังเตรียมพื้นที่ไม่เสร็จด้วยซ้ำ

    เจ้าของไร่ที่ถูกอุก ... ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น ... วัฒนธรรม โบราณเหล่านี้ มันล้าสมัยไป รึอย่างไร ... จึงหาดูไม่ได้ปัจจุบัน

        ก็ไม่ทราบว่า น่าเสียดาย ... หรือน่าชื่นชมยินดี

    ครับ นำมาเล่า ตามที่ชันชี ไว้แล้วนะครับ เห็นจะยุติก่อนอีกหน

               สวัสดีครับ

ความเห็น

ขอบคุณนะคะที่นำสิ่งดีๆมาให้ฟังค่ะ :admire:

กินอยู่อย่างพอเพียง ไม่ขี้อิจฉา ชอบสันโดษ รักธรรมชาติ

  ลุงพาโล ของผมก็ เรียกว่า "ออกปาก"ดีหวาเพราะแค่ห้าหกคนเอง แทงสักสองคนเดินคู่กันต่อหนึ่งอกหยาง นี่ก็ใกล้ได้เวลาอีกแล้วข้าวแค่สุกเต็มที ข้าวสักหม้อใหญ่ ๆ ไก่บ้านสักสองสามตัวทั้งแกงทั้งต้ม น้ำชุบหยิกสักถ้วย หาผักในไร่ ตอดองสักหน่อย ซดน้ำหวันเที่ยง ๆ ...

 การทำงานต้องรู้จริงทำจริงจึงประสบกับความสำเร็จ

   ภาพแห่งจินตนาการมาเต็ม ๆ เลยหลานเหอ

     เห็นทั้งภาพ ... ได้ทั้งรสชาติ ในปาก ... ทั้ง ๆ แขะำไม่ได้กินสักหีด

   ข้าวไร่ ของหลาน ลุงเห็นแล้วแหละ ... หมันเป็นความไขว่ฝัน อย่างหนึ่งของลุง

Laughing เสียดายจัง ลุงไม่หนีบไม้แทงสัก กับบอกน่ำข้าว มาฝากด้วย บางคนมองไม่เห็น

บ้านผมเก็บข้าว เรียก วานคน

..โอกาสไม่ได้มีทุกวัน..

 

   ถ้าอีเก็บภาพ อยู่เครง(ปัจจุบัน) ต้องสร้างภาพเอา ... ของแท้ สูนเหม็ดแหล่ว

การลงแขก บ้านเกิดลุง (สุราษฎร์ฯ) "ซอ" ก้าเรียก "ออกปาก" ก้าเรียก ฟังกันโหร่เรื่องทั้งสองคำ

:uhuhuh: :uhuhuh: :uhuhuh: :uhuhuh: ชอบแกงไก่ใส่กล้ยเถื่อนค่ะ แยกไม่ออกดี ไม่ต้องเลือก

   ลุงว่า แกงกับหน่อไม้สดทุบ ดีกว่า ... เลือกง่าย ... ไม่อายเพื่อน

ลงแขก หมายถึง บอกแขกหลายคนช่วยกันทำการ

         ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว หมายถึง การที่เจ้าของนาจะบอกเพื่อนบ้านให้รู้ว่าจะเกี่ยวข้าวเมื่อใด และเมื่อถึงวันที่กำหนดเจ้าของนาก็จะต้องปักธงที่ที่นาของตนเพื่อให้เพื่อน บ้านหรือแขกที่รู้จะได้มาช่วยเกี่ยวได้ถูกต้องทั้งนี้เจ้าของนาจะต้องจัด เตรียมอาหาร คาวหวาน สุรา บุหรี่ น้ำดื่ม ไว้รองรับด้วย และในการขณะเกี่ยวข้าวก็จะมีการละเล่นร้องเพลงเกี่ยวข้องระหว่างหนุ่มสาว เป็นที่สนุกสนานและเพลิดเพลินเพื่อคลายความเหน็ดเหนื่อยได้

 

        ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวนี้เป็นประเพณีที่แสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจของคนไทย ที่มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังสามารถช่วยสร้างความสมัครสมานสามัคคีกันในหมู่บ้านได้อีกด้วย นอกจากนี้ทำให้เกิดวัฒนธรรมและการขับร้องเพลงอันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของ ผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม

ประเพณีและวันสำคัญของไทย   อ่านกันตรงนี้ได้เลยค่ะ


ลุงพะโล้ พามาย้อนวัฒนธรรมในอดีตที่อาจจะถูกลืมเลือนไป "การลงแขกเกี่ยวข้าว" พออ่านต่อไป เริ่มไม่เข้าใจแล้วค่ะลุง..แต่ก็ขอบคุณค่ะที่ถ่ายทอด และได้ให้ระลึกถึงค่ะ
อักษรเขียวๆ ข้างต้นหนูหาความหมายมาให้ค่ะ...

  "การลงแขกเกี่ยวข้าว" พออ่านต่อไป เริ่มไม่เข้าใจแล้วค่ะลุง.."

    ประโยคที่หลานว่า กับที่ลุงเล่าในบล็อก ไม่มีอะไรซับซ้อน หรอกครับ หากหลานพอมีเวลา โปรดอ่านซ้ำอีกหน อาจเห็นจุดเหมือน ของการลงแขกที่ลุงเล่า

    อันที่จริง ... ลงแขกที่หลานยุพิน กรุณาอธิบายความหมายนั้น ... ก็ Concept เดียวกันกะที่ลุงนำมาเล่านั่นแหละ

   เพียงแต่วัฒนธรรมการทำไร่ข้าว ของพื้นถิ่น ... บ้านลุง เขาจะลงแขก เอาแรง เกือบทุกขั้นตอน ตั้งแต่ การจุดเผาไร่ จนถึง ... "เก็บข้าว" แหละ ...

   โปรดสังเกต ... ลุงใช้คำว่า "เก็บข้าว" ไม่ใช่ "เกี่ยวข้าว" ... นี่เป็นข้อต่างอีกข้อ ที่ลุงนำมาเล่า

   ต้องขออภัยที่ สร้างความสับสน เข้าใจยาก

   และที่เล่าในตอนนี้ เป็นตอนหนึ่งของการลงแขก ที่บ้านลุง เรียกว่า ซอ หรือ ออกปาก แต่ ... เป็นการซอ หรือแขก ในขั้นตอนการปลูก ชาวบ้าน เรียกว่า "น่ำข้าว"

   ขอบคุณ ที่ให้โอกาส ลุงทำความกระจ่าง .. อาจมีหลายคนที่คลุมเครือ แต่ขี้เกียจเสียเวลาถาม

หน้า