อีกหนึ่งวัฒนธรรม ... ที่ถูกทำหล่น
ก่อนจะเสวนา เรื่องนี้ ... ต้องขออนุญาต ปรับความเข้าใจ คำว่า “วัฒนธรรม” ให้ตรงกันก่อน นะครับ ...
“วัฒนธรรม” ที่จะนำมาเสวนาในวันนี้ มีความหมายว่า ... “พฤติกรรม และสิ่งที่ กลุ่มคนสร้างขึ้นจากการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และใช้กันอยู่ในหมู่พวก ... เพื่อก่อให้เกิดความเจริญงอกงาม ในวิถีชีวิตของหมู่คณะ”
หนึ่งในวัฒนธรรม ทีว่านั้น ... และสังคมปัจจุบันได้ทำหล่นหาย (จะด้วยเหตุใดก็ตาม) คือ “การลงแขก” ... แถมคำที่มีความหมายในทางสร้างสรรค์ คำนี้ ... ปัจจุบัน ถูกนำมาใช้กับพฤติกรรมหมู่ที่ไม่พึงประสงค์ ด้วยซ้ำ ... คงไม่มีคำอ้างว่า ... “ภาษาดิ้นได้ ... และพัฒนา” หรอกนะ
เอาครับ ... มาเสวนาตามหัวข้อเรื่องซะที ...
วัฒนธรรม “ลงแขก เอาแรง” ที่จะคุยกันวันนี้ ... คือการลงแขก “น่ำข้าว” ... อันเป็นหนึ่งวิชาย่อย ในวิชา ... การทำไร่ข้าว ... ที่เด็ก ๆ ในชุมชนของข้าพเจ้าในวัยเยา ต้องเรียนรู้ และ “สอบปากเปล่า ..."
ก่อนนี้ ข้าพเจ้า เคยเล่าการทำไร่ข้าวไว้เป็นเบื้องต้น ในบล็อก ..."ข้อสอบวิชาการทำไร่" มาถึงขั้นตอนที่ ...
“ทำหญ้า เสร็จ ... พื้นที่ไร่ ... พร้อมรับเมล็ดพันธุ์ ธัญพืช ... แล้วละครับ”
วันนี้จึงมาถึงขั้นตอนของการปลูกแล้วครับ ... เป็นการปลูกด้วยวิธี ทำหลุม แล้วหยอดเมล็ดพันธุ์ ... ซึ่งบ้านข้าพเจ้า (สุราษฎร์ฯ) เรียกขานกันว่า “น่ำข้าว”
ขั้นตอนในการ น่ำข้าว เริ่มจาก ขั้นเตรียมการ ... ซึ่งเป็นหน้าที่ของเจ้าภาพ (เจ้าของไร่) โดยเริ่มตั้งแต่ การบอกกำหนดน่ำ ให้สมาชิกในชุมชนทราบ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเดินบอกทุก ๆ บ้านหรอกครับ ... บอกไปสัก สี่ - ซ้า - ห้า คน ก็ได้ ... ที่เหลือ เขาก็ไปบอกต่อกันเอง
เตรียมพันธุ์ ... โดยนำพันธุ์ที่คัดเก็บไว้จากปีกลาย มา นวด ฝัด คัดคุณภาพ ให้พร้อมน่ำ ... แล้วนำ เมล็ดธัญพืช และ พืชประโยชน์อื่น ๆ เช่น ข้าวฟ่าง – แตง ฯลฯ จนถึงชั้นพริกขี้หนู ลงไปในกระสอบ คลุกคนปนกัน เป็นอันพร้อม ...
และเตรียม “บอกน่ำ” ซึ่งเป็นอาวุธคู่มือของ Task force กลุ่มหยอดหลุม เป็นกระบอกไม้ไผ่เปลือกบาง ปล้องยาว ไว้สำหรับกรอกพันธุ์ข้าว ... เป็นการยืดเวลาในการน่ำ ไม่ต้องหยุดบ่อย
อันว่าบอกน่ำ ... ตัดแล้ว พักรอไว้ที่ ไร่
ก่อนวันน่ำ หนึ่งวัน ก็เตรียมเสบียงเลี้ยงแขกที่จะมาช่วยแรง ... อันนี้สุดแท้แต่ฐานะ ของเจ้าภาพ แขกไม่เรียกร้อง ความต้องการ ...
เช้าของวันชันชี (กำหนดนัด)
เจ้าภาพ พร้อม แม่ครัวอาสาของชุมชน ก็ช่วยกันเตรียมเสบียงกันที่บ้าน .... เมนูหลัก ๆ เมนูหนึ่งคือแกง และ ต้ม ไก่บ้าน เพราะเลี้ยงกันทุกบ้าน... ที่จริงก็ไม่เป็นเชิงเลี้ยงหรอกครับ เพราะปล่อยไก่ให้หากินกันเอาเอง และที่เอามาแกง ก็พวกกากเดน จาก มูสัง (อีเห็น) พังพอน
เมนูหลักอีกเมนู คือ “แกงตังหุน” (วุ้นเส้น) ... อันว่าแกงตังหุน จัดได้ว่า เป็นเมนูพิเศษ ในวาระพิเศษ น่ำไร่โดยเฉพาะ คือ ... เป็นแกงกะทิ ใส่กุ้งแห้ง ปลาหมึกแห้ง เครื่องในไก่ เนื้อไก่ ปนลงไปด้วย ฟักเขียวหั่นเส้น เห็ดหูหนู และดอกไม้จีน ... ปรุงรสด้วย กะปิ น้ำตาลปีบ และเกลือ (ไม่นิยมน้ำปลา เพราะจะไปเพิ่มกลิ่นคาว)
มีจิตอาสา อีก 3 – 4 คน ไปช่วยหาบข้าวปลูก (เมล็ดพันธุ์) จากบ้านเจ้าภาพ ไปไร่ ... ส่วน Task force ตัวใครตัวมัน ไปกันเอาเอง ... กลุ่มเดินสู่จุดหมายปลายทาง ไม่ต้องพกพา คือกลุ่ม น่ำ (หยอดหลุม) ซึ่งมีทั้ง หญิง ชาย ผู้ใหญ่ เด็ก ...
อีกกลุ่ม คือกลุ่มสร้างหลุม เรียกว่า กลุ่ม “แทงสัก” กลุ่มนี้ บางคน ก็มี “ไม้สัก” (ไม้สำหรับปักดิน สร้างหลุม) คู่มือ แบกไปแล้วจากบ้าน อีกส่วนหนึ่ง รวมถึงข้าพเจ้าด้วย จะไปหา เลือก ตัด เอาขณะเดินไป ... เจอต้นที่ต้องใจ จับดูถนัดมือ ... ฟัน 3 – 4 ฉับ ขาด ตัดปลาย ยาวตามถนัด ... หาได้ครบคู่ ... แบกไปอย่างนั้นแหละ ... ถึงปลายทาง จัดการ ... เสี้ยมด้านโคน แหลม ... แค่นี้ ก็พร้อมเป็นเครื่องมือประดิษฐ์หลุมแล้ว
ได้ ฤกษ์ บน ... พูดให้เว่อ งั้นแหละ คือ พวกแทงสัก พร้อม หัวหน้ากลุ่ม ... ซึ่งเลือกขึ้นมาโดยอัตโนมัติ บอกว่าให้ใคร ประเดิมรู ... ซึ่งดูจากประวัติว่า ชำนาญ แบ่งแปลงพื้นที่ แต่ละแปลง ที่เราเรียกกันว่า “หวาด” (กรุณาอย่าถามที่มา ตอบไม่ได้) และชำนาญนำ
ไม้สักคู่แรก (จากคน ๆ เดียว ครับ แทง สลับสองมือ) ออกนำ พอทิ้งแนว (รูบนพื้นที่ตนหน้าทำไว้) สักคู่สอง ออกตาม ... ตาม ... และ ตาม จนหมดคนสัก เดินเป็นแนวทแยง ... ภาพปานสวนสนาม ยังไง ก็ยังงั้น
ส่วนกลุ่มหยอด ... เลือกกระบอกที่ถนัดมือ ... กรอกเมล็ดพันธุ์ ... เตรียมพร้อม รอให้จำนวนหลุมเยอะพอ ... จึง ... หนากระดาน โก้งโค้ง ... ลงมือหยอดพร้อมกัน ... ผู้หยอดคนหนึ่ง จะรับผิดชอบหลุมที่อยู่เบื้องหน้า 4 – 5 หลุม
วิธีหยอด ... จับกระบอกพันธุ์ ด้วยมือด้านถนัด .. เทเมล็ดพันธุ์ ใส่ฝ่ามืออีกข้าง ... ยื่นมือที่กำเมล็ดพันธุ์ เข้าใกล้หลุม ... เปิดปลายนิ้วปล่อยเมล็ดพันธุ์ ให้ไหลลงหลุม ... ใช้ก้นกระบอกทุบดินปากหลุม ลงปิดเมล็ดพันธุ์ไว้ กันนก และรักษาความชื้น เป็นอันเสร็จ 1 หลุม พอเกิดทักษะแล้ว น่ำได้เร็ว ครับ
ก่อนนี้ข้าพเจ้า ก็อยู่กะกลุ่มนี้ ... แต่ถูกคำสบประมาทว่า “ดมก้นผู้หญิง” บ้าง อะไรบ้าง กอปรกับ ความแค้น พวกแทงสัก ... ที่พักกินอาหารกลางวันก่อน ... แล้วจะไม่เหลือของชอบ เช่น ตูดไก่ ใบเหยียบย่ำ (ตีนไก่) ไว้ถึงเรา ... จึงแปรพักตร์ หัดแทงสัก จนคณะยอมรับเข้ากลุ่ม
พูดถึงอาหารกลางวัน ... ก็อย่างที่บอก เมนูหลัก คือแกงไก่ ... แกงไก่ใส่ผักอื่น ๆ ... เช่น ฟักเขียว ... หน่อไม้สด ... หรือฟักทอง ... ไม่สู้กระไรนัก
แต่ ... เมนูฮา คือแกงไก่ กับ ลูกกล้วยเถื่อน (ลูกกล้วยป่าอ่อน) นะ ซี ... ทำเสียเส้นบ่อย ... เพราะแกงออกมาแล้ว ดูไม่ออก ว่าไหนเนื้อไก่ ชิ้นไหนลูกกล้วย ... ใส่ปากถึงจะรู้ ... พรรคพวกเป็นได้ฮากันสนุกทุกคำ ที่สำคัญผิด
ก่อนกิจกรรมพักร้อน พักเหนื่อย จะสิ้นสุด ... เราก็จัดการกรอกปากตัวเอง ด้วยขนมที่ทางพัทลุงเรียกว่า “หนมเท่ดิบ” (ลอดช่อง)
วัฒนธรรมอีกอย่าง ของการน่ำข้าว ที่บ้านข้าพเจ้า คือ การ “อุก” (ปล้น) ...อุกที่ว่านี้ ไม่ใช่การอุกเอาทรัพย์ ซึงการอุกเอาทรัพย์ ต้องอุกเอาคนมั่งมี ... แต่นี่เป็นการอุกคนจน ... คือ
ในชุมชน ก็เห็น ๆ กันอยู่ว่า ใคร มีฐานะอย่างไร ... ดังนั้น เมื่อน่ำไร่ที่เป็นไร่หลัก ใกล้เสร็จ และเห็นว่ามีเวลาเหลือ ... ก็จะมีฉันทามติ ... ไปอุไร่คนจน
โดยมีกลุ่มหนึ่ง ไป เตรียมเมล็ดพันธุ์ จากผู้ถูกอุก ... แล้วแรงงานทั้งหมด จะถ่ายโอนมายังไร่ที่ถูกอุก ... จัดการน่ำให้เสร็จ ... ซึ่งบางทีก็น่ำ ทั้ง ๆ ที่ยังเตรียมพื้นที่ไม่เสร็จด้วยซ้ำ
เจ้าของไร่ที่ถูกอุก ... ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น ... วัฒนธรรม โบราณเหล่านี้ มันล้าสมัยไป รึอย่างไร ... จึงหาดูไม่ได้ปัจจุบัน
ก็ไม่ทราบว่า น่าเสียดาย ... หรือน่าชื่นชมยินดี
ครับ นำมาเล่า ตามที่ชันชี ไว้แล้วนะครับ เห็นจะยุติก่อนอีกหน
สวัสดีครับ
- บล็อกของ paloo
- อ่าน 5600 ครั้ง
ความเห็น
สาวภูธร
25 มกราคม, 2012 - 14:03
Permalink
Re: อีกหนึ่งวัฒนธรรม ... ที่ถูกทำหล่น
พี่ยุพินตอบได้ชัดเจน :good-job:
paloo
25 มกราคม, 2012 - 14:44
Permalink
Re: อีกหนึ่งวัฒนธรรม ... ที่ถูกทำหล่น
ขออนุญาต .. ตอบรวมกับหลานยุพิน นะครับ
แดง อุบล
25 มกราคม, 2012 - 14:11
Permalink
Re: อีกหนึ่งวัฒนธรรม ... ที่ถูกทำหล่น
แถวบ้านการลงแขกทำนา แทบไม่มีแล้วค่ะ
"เชื่อในผล แห่งการทำความดี"
paloo
25 มกราคม, 2012 - 14:54
Permalink
Re: อีกหนึ่งวัฒนธรรม ... ที่ถูกทำหล่น
ครับ !...
วัฒนธรรม ที่บรรพบุรุษ อุตส่าห์สั่งสมมา นมนาน ... ถูกลืม เลือน ละเลย ไปเรื่อย ๆ แหละ ... ความสมานสามัคคี พื้นฐาน ... จึงคอย ๆ เหิอดหายไป
แล้วจะหวังอะไร กะสามัคคีมหัพภาค
เราออกมาเรียกหา โดยคำพูด แต่ไม่ลงมือ รื้อ ทำ ... ก็ยากจะสำเร็จได้
ทางอิสานเรา มีหลายแห่ง นะ ที่วัฒนธรรมนี้ยังได้รับการสืบทอด อยู่ ... จังหวัดเลย ก็เป็นจังหวัดหนึ่ง ที่ลุงไปเห็น ...
เห็นแล้ว ... ชื่นใจ ครับ ชื่นใจ
แก่
25 มกราคม, 2012 - 14:26
Permalink
Re: อีกหนึ่งวัฒนธรรม ... ที่ถูกทำหล่น
บ้านผม การไปร่วมลงแขกว่าไป "เอาแรง" เสร็จแล้วเจ้าของนาจะมาใช้หนี้ด้วยแรงตนเอง หรือจ้างมาแทน คนต่อคน ไม่เอาเปรียบกัน ตอนเย็นเลิกจากงานลงแขก จะมีการร้องรำทำเพลงกัน ก่อนจะแยกย้ายกันกลับบ้าน
ชาวบ้านสวนน่าจะพิจารณาจัดงานลงแขก ทำอะไรร่วมบ้าง ปีละครั้ง 2 ครั้ง น่าจะดีนะ
paloo
25 มกราคม, 2012 - 15:08
Permalink
Re: อีกหนึ่งวัฒนธรรม ... ที่ถูกทำหล่น
ตรงประเด็นครับ !
ผมจึงบอกว่า "ลงแขกเอาแรง" คือแลกแรงช่วยกันทำ โดยไม่มีเกี่ยงงอน ...
เราไปช่วยแรง "น่ำ" ข้าว ... แต่เพื่อนมา "ปลดหนี้แรง" ในการ "น่ำ" ไม่ได้ ... จะปลดโดย "การกำจัดวัชพืช" ... หรือติดค้าง ไว้ปลด ตอน "เก็บข้าว" ก็ได้ ... เขาำไม่ว่ากัน ...
แล้วแรงที่เอากัน ก็ ไม่ได้วัุดเอาเป็นเอาตาย ว่าต่างกันหรือไม่ จะเป็นเด็กไป - ผู้ใหญ่มา ... หรือ ผู้ใหญ่ไป เด็กมา ก็ไม่ใช่สำคัญ ...
สาระ อยู่ที่ สามัคคี สมานฉันท์ ... ที่ทุกวันนี้เรียกหากันคอจะแตก ต่างหาก
thiwagonblackcat
25 มกราคม, 2012 - 15:58
Permalink
Re: อีกหนึ่งวัฒนธรรม ... ที่ถูกทำหล่น
จริงๆด้วยค่ะ ลงแขก ป้าแมวยังนึกถึงชาวนา การทำนา ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นชาวนา ไม่เคยไปเกี่ยวข้อง แต่บางครั้งเคยจะใช้คำนี้ ก็ไม่กล้าใช้
paloo
25 มกราคม, 2012 - 17:13
Permalink
Re: อีกหนึ่งวัฒนธรรม ... ที่ถูกทำหล่น
สมมติ ใด ๆ ก็ตาม ... มันก็เป็นเช่นนี้ แหละป้า
ของเขาความหมาย ออกเลิศ และสร้างสรร ... ใช้ให้ม้วหมองกันไปเอง
มีด พร้า ... มีด้านคม ... ด้านสัน
แต่ ... มันยังจำเป็นต้องใช้อยู่ดีแหละ ป้า ... ส่วนจะให้ยังประโยชน์ ด้านใด ก็ต้องเลือกใช้เอา
สำคัญ ... ผู้เป็นเจ้าของ ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ... ไม่งั้นจะเป็นอันตรายแก่ ตน
แม่น้องน้ำหนึ่ง
25 มกราคม, 2012 - 23:32
Permalink
Re: อีกหนึ่งวัฒนธรรม ... ที่ถูกทำหล่น
จำได้สมัยมนเป็นเด็กที่บ้านยังมีประเพณีนี้ มนชอบมากเพราะคนเยอะสนุกสนานกันใหญ่ หนุ่มสาวสมัยก่อน ก็มีโอกาสได้จีบกันตอนไปช่วยแรงลงแขกนี้แหละค่ะ แต่พอมนเริ่มโตประเพณีนี้ดูเหมือนเลือนหายไปจริงๆด้วย เสียดายบรรยากาศเก่าๆสมัยเป็นเด็กจังค่ะ
แรงกาย+แรงใจ ลงมือทำในวันนี้ เพื่อชีวิตที่พอเพียง
paloo
26 มกราคม, 2012 - 00:15
Permalink
Re: อีกหนึ่งวัฒนธรรม ... ที่ถูกทำหล่น
สิ่งที่เคยเห็นดังว่า ถูกชะล้างด้วย ธุรกิจ และความรู้สึกว่า ตัวใคร ตัวมัน
ช่วยแรงลงแขกที่หลานมนว่า เลือนไปแล้ว ...
การว่าจ้าง โดยนายจ้าง ... และรับจ้าง โดยแรงงาน เป็นปฏิสัมพันธ์ที่ เข้ามาสอดแทรก แทนที่
หน้า