ต้นเขยตายแม่ยากชักปรก
ไปเจอต้นไม้โบราณชนิดหนึ่ง มีชื่อและสรรพคุณน่าสนใจ ลูกสุกสีชมพูใสๆขนาดลูกมะเขือพวงดกเต็มต้น สวยมาก ต้นนี้มีชื่อว่า ต้นเขยตายแม่ยากชักปรก
ที่มาของชื่อต้นเขยตายแม่ยายชักปรกนั้นมีตำนานว่าแม่ยายกับลูกเขยเดินทางไปหาของป่า แต่บังเอิญลูกเขยถูกงูฉกตาย แม่ยายจึงหาใบไม้มาคลุมร่างของลูกเขยไว้แล้วกลับไปตามคนมาช่วยหามศพ แต่ยังไม่ทันกลับไปถึงที่เกิดเหตุก็เจอลูกเขยกำลังเดินกลับมา และบอกว่าใบไม้ที่แม่ยายนำมาคลุมไว้ช่วยถอนพิษงูได้
ลองเก็บลูกสุกมาเพาะแล้วแต่ไม่ยอมขึ้นซักทีเลยมีแต่รูปที่ถ่ายมาจากต้นแม่เท่านั้นค่ะ
ลักษณะของลูกและใบ
ลูกดกเป็นพวง เวลาสุกสีชมพู
ดูใกล้ๆจะเห็นเป็นสีชมพูใสสวยมาก พึ่งมารู้ทีหลังว่ากินได้เลยไม่ได้ชิมว่ารสชาดเป็นอย่างไร
มีข้อมูลและสรรพคุณดังนี้ค่ะ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Glycosmis pentaphylla (Retz.) DC.
ชื่อวงศ์ : Rutaceae
ชื่อสมุนไพรอื่น ๆ : กระรอกน้ำ, กระรอกน้ำข้าว (ชลบุรี) ; กระโรกน้ำข้าว, เขยตาย, ลูกเขยตาย (ภาคกลาง) ; เขนทะ (ภาคเหนือ) ; ตาระแป (มลายู-ยะลา) ; น้ำข้าว (ภาคกลาง, ภาคใต้) ; ประยงค์ใหญ่ (กรุงเทพมหานคร) ; พุทธรักษา (สุโขทัย) ; มันหมู (ประจวบคีรีขันธ์) ; ส้มชื่น (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคเหนือ)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ต้น : เขยตายเป็นพรรณไม้ขนาดกลาง ลำต้นนั้นจะโตประมาณเท่ากับต้นหมากและมีความสูงประมาณ 3-6 เมตร ส่วนผิวของลำต้นนั้น จะเป็นสีเทา ๆ ตกกระเป็นดวงสีขาว ๆ มีขนสั้นนุ่มที่กิ่งก้าน
ใบ : ใบเขยตายเป็นใบประกอบ 3-5 ใบ กว้าง 3.5-5 ซม. มีใบย่อย 2-5 ใบ เรียงสลับ กว้าง 4-6 ซม. ยาว 12-18 ซม. แผ่นใบค่อนข้างหนา รูปรีหรือรูปไข่ โคนใบรูปลิ่ม ปลายแหลม ขอบใบด้านบน และด้านล่างเกลี้ยง
ดอก : เขยตายออกดอกช่อ แบบช่อแยกแขนง ดอกย่อยมีก้าน เรียงสลับบนแกนกลาง แต่ละช่อย่อยมีดอกดอกย่อยไม่เท่ากัน มีขนสั้นนุ่ม ก้านช่อยาว 1.5-3 ซม. ก้านดอกย่อยสั้นมากหรือไม่มีก้าน ดอกย่อยขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางดอกประมาณ 0.3 ซม. วงกลีบเลี้ยงเป็นแฉก แต่ละแฉกรูปสามเหลี่ยม กลีบดอกจำนวน 5 อัน สีขาว รูปขอบขนาน ปลายมน เกสรเพศผู้จำนวน 10 อัน เกสรเพศเมียจำนวน 1 อัน อยู่เหนือวงกลีบ
เมล็ด (ผล) : ผลเขยตายนั้นจะมีสีชมพูกลมและโตเท่าผลมะแว้ง ในผลหนึ่งมีเมล็ดอยู่เพียง 1 เมล็ด เมล็ดนั้นจะกลมมีสีดำ เมื่อผลแก่จัดในฤดูหนาว ก็จะมีรสหวาน
การขยายพันธุ์ : เขยตายขยายพันธุ์โดยการชำกิ่ง ตอนกิ่งและเพาะเมล็ด
ส่วนที่ใช้ : ราก เปลือกต้น เนื้อไม้ ดอกและผล
สรรพคุณของสมุนไพร:
ราก มีรสเมาขื่นปร่า กระทุ้งพิษ แก้พิษฝีภายในและภายนอก ขับน้ำนม แก้พิษงู แก้พิษแมลง แก้ไข้กาฬ แก้โรคผิวหนังพูพอง แก้ไข้รากสาด เกลื่อนฝีให้ยุบ แก้ฝีที่นม ตัดรากฝีที่นม
เปลือกต้น แก้ฝีภายนอกและภายใน กระทุ้งพิษ แก้พิษงู ขับน้ำนม แก้พิษต่าง ๆ แก้พิษไข้
เนื้อไม้ กระทุ้งพิษ แก้ฝีภายนอกและภายใน แก้พิษงู ขับน้ำนม
ดอกและผล รักษาหิด ผลเขยตายสุกรับประทานได้
ไม่ระบุส่วนที่ใช้ กระทุ้งพิษ แก้ฝีภายนอกและภายใน แก้พิษงู ขับน้ำนม
ข้อมูลการวิจัยที่สำคัญ :
สารเคมี acid phosphatase ; anthocyanin; polyphenol; polyphenol oxidase ; succinic dehydrogenase.
ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.csamunpri.com/herbals/herbslist/สมุนไำพร-เขยตาย-1832.html
- บล็อกของ Duen
- อ่าน 27409 ครั้ง
ความเห็น
อินเนียร์
31 พฤษภาคม, 2012 - 07:23
Permalink
Re: ต้นเขยตายแม่ยากชักปรก
เพิ่งเข้ามาอ่าน เคยกินตอนยังเป็นเด็กเรียกว่าลูกน้ำข้่าว(ที่สงขลา) ตอนนี้เห็นแล้วไม่กล้ากินกลัวผิดต้นไปกินเอาลูกอย่างอื่นเพราะห่างจากต้นไม้ไปนานมาก พอกลับมาอยู่กับต้นไม้อีกครั้งเลยไม่แน่ใจ ต่อไปพบแล้วจะลองสังเกตุดูครับ ขอบคุณข้อมูลดีๆครับ
:cute:
ทราย
31 พฤษภาคม, 2012 - 13:38
Permalink
Re: ต้นเขยตายแม่ยากชักปรก
ตอนเด็กๆเคยเก็บกินค่ะ รสชาติออกหวานเย็นๆ
ถ้าลูกที่ยังไม่สุกเต็มที่จะออกเฝื่อนๆค่ะ
conan_22
3 พฤศจิกายน, 2012 - 23:33
Permalink
Re: ต้นเขยตายแม่ยากชักปรก
ต้นนี้เพาะไว้สูงเลยศอกแล้วไม่รู้เขาขายกันราคาเท่าไหร่
ช้างป่าชาวกุย
1 มิถุนายน, 2013 - 22:21
Permalink
Re: ต้นเขยตายแม่ยากชักปรก
บ้านผมใช้เป็นยาประจำบ้าน ตัวต่อต่อย หรือตะขาบกัด มันถอนพิษภายใน 10 วินาที คนให้ผมมาเขาบอกชื่อว่า ต้นเขยตายแม่ยายตัดสะ สะแปลว่าเอามาสุมวางปิดไว้ ผมเคยค้นพบอีกชื่อหนึ่งเรียก พญานาคราช อื่นๆตามข้อมูลที่ตามนั้นหละครับ แต่ตำนานก็เล่าเพี้ยนๆกันบ้าง แต่สรุปว่าแม่ยายเอากิ่งไม้ต้นนี้ไปคลุมศพลูกเขยที่โดนงูกัดตาย แล้วมันฟื้นก็คงจะเรียกชื่อตามเหตุการณ์ตามประสาคนโบราณที่ค้นพบไม้สมุนไพรโดยบังเอิน ผมเคยถามที่ร้านขายพันธ์ไม้นี้อยู่ราคาติดไว้ 80 -180บาทตามขนาด เล็ก 15 - 30 เซ็นติเมตร บ้านผมปลูกไว้ต้นแรก 20ปีแล้ว ตอนนี้มันขึ้นไปทั่วบริเวณ ตามกระถางไม้ประดับมันขึ้นทุกกระถาง ใครมาขอยกกระถางไปเลย
รักษาป่ารักบ้านเกิด
หน้า