ความทรงจำนอกมิติ

หมวดหมู่ของบล็อก: 



ความทรงจำนอกมิติ

ระบบเศรษฐกิจ-จงมองให้ทะลุม่านบังตา

มกราคม 2553

นพ.ประสาน ต่างใจ

 

          ขออวยพรความสุขความสวัสดีของปีใหม่ ปี พ..๒๕๕๓ แด่ท่านผู้อ่านและคนไทยทุกคน ตลอดจนมนุษย์ทั้งหลายทั่วโลก ซึ่งผู้เขียนคิดว่าต้องการคำอวยพรในวันนี้ยิ่งกว่ายุคใดสมัยใดกระทั่งปีใดในอดีต บทความวันนี้เป็นบทความแรกของปีใหม่ พ..๒๕๕๓ ปีที่ผู้เขียนเขียนมาเมื่อร่วมยี่สิบปีที่แล้ว ว่าให้ระวังน้ำจะเอ่อท่วมโลก แม่น้ำมันคงจะไม่ท่วมในวันนี้ แต่สภาพดินฟ้าอากาศกับระบบเศรษฐกิจที่ดูเผินๆ ไม่ค่อยเกี่ยวกันก็ย่ำแย่ลงไปทุกวัน ทั่วทั้งโลกคงจะย่ำแย่ลงไปกว่านี้ในวันข้างหน้า อย่างไรก็ดี ความแข็งแกร่งมั่นคงไม่ท้อแท้ของเราในจิตใจและจิตวิญญาณ ย่อมสามารถทำให้เรามีความสุขที่แท้จริงเสมอไป แม้ว่ากายจะต้องลำบากยากเข็ญสักเพียงใด นั่นคือสิ่งที่ผู้เขียนเชื่อว่าทุกคนอาจต้องการในขณะนี้

 

          มนุษย์เราส่วนใหญ่มากๆ ไม่รู้หรือทำเป็นไม่รู้ ด้วยการเข้าใจและแปลคำว่า "อวิชชา" อย่างผิดๆ อวิชชาที่ผู้เขียนเข้าใจไม่ได้แปลว่าโง่ หรือโง่เขลา หรือปราศจากความรู้ นั่น-หมายถึงความรู้ที่ได้ยินได้ฟังจากโรงเรียน จากครู จากเพื่อน หรืออ่านจากหนังสือเช่นตำราต่างๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะผู้เขียนคิดว่าความถูกต้องนั้นจะต้องสอดคล้องต้องกันกับธรรมชาติ เนื่องจากธรรมชาติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาในโลกในจักรวาลนี้ เช่นเดียวกับตัวโลกหรือตัวจักรวาลเอง คือด้วยการวิวัฒนาการที่เป็นไปของมันเอง อันเป็นความจริงแท้ในพุทธศาสนา หรือพระจิตของพระเจ้า-ในศาสนาที่มีพระเจ้า คือความจริงแท้นั้น ซึ่งไม่ได้ตางกันสำหรับผู้เขียน ตราบใดที่พระเจ้าเป็นจิตหรือพระจิตที่ไม่มีรูปกายเหมือนคน (personal God)-เพราะฉะนั้น อวิชชาจึงมีความหมายถึงความไม่สอดคล้องกับความจริงแท้ หรือกับธรรมชาติ อวิชชาคือความไม่รู้จักธรรมชาติเลยนั่นเอง และจากอวิชชาเป็นปัจจัยทำให้เกิดกิเลสตัณหาความยึดติด เป็นคุกตะรางกรงขังที่ในพุทธศาสนาเรียกว่า สังสารวัฏ เป็นกรรมหรือการกระทำที่ทำให้เราต้องเกิดใหม่ในภพภูมิต่างๆ อยู่เรื่อยๆ จนกว่าแรงกรรมที่เกิดจากอวิชชาและตัณหาจะหมดสิ้นลงไป

 

          นั่น-พูดกันในด้านของปัจเจกแต่ละบุคคลและทางพุทธศาสนา หรือศาสนาอะไรก็ตามที่เกิดจากลัทธิพระเวทของอินเดียโบราณ ส่วนทางด้านของสังคมโดยรวม ผู้เขียนเชื่อว่าจะต้องมีกรรมที่เกิดจากอวิชชาของสังคมและกิเลสตัณหาของสังคมเหมือนกัน เช่น การกระทำของชุมชนสังคม ประเทศชาติ กระทั่งมนุษยชาติทั่วทั้งโลก ด้วยความเชื่อที่ว่าสังคมประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้าได้ ด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว และเศรษฐกิจจะเติบโตได้ ประชาชนก็ต้องบริโภคมากๆ อุปโภคมากๆ โยนทิ้งโยนขว้างเข้าไปมากๆ เถิดไม่เป็นไรหรอก มีแต่ดี บริโภคนิยม วัตถุนิยม และเทคโนโลยีนิยมเท่านั้น ที่จะทำให้ประเทศเจริญ มั่งคั่ง และมนุษย์สามารถจะควบคุมทาสหรือธรรมชาติได้ เช่นที่ฟรานซิส เบคอน กับนักปรัชญาวัตถุนิยมปรารถนา ดังนั้นจึงมีแต่นักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจอุตสาหกรรม ซีอีเอเท่านั้น ที่ได้เป็นผู้จับจองความมั่งคั่งเอาไว้ตลอดกาล นั่นคือจารีต ประเพณี วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ส่วนนักการเมือง ไม่ว่าซ้ายหรือขวาซึ่งเป็นรัฐบาลของประเทศและของโลก ล้วนแล้วแต่ความคิดในทำนองนี้ทั้งนั้น ยุเข้าไป..ยุเข้าไป เวรกรรมกลัวไปทำไม? ชาติหน้าภพหน้ากับการเกิดใหม่ที่ศาสนาสอนคือความงมงาย

 

          ที่ฟรอยด์บอกในโลกนี้ ในจักรวาลนี้ มนุษย์ยิ่งใหญ่กว่าใครๆ อยู่แล้ว นั่นคือโลกทัศน์เก่า กระบวนทัศน์เก่าที่เราใช้สร้างระบบทุกๆ ระบบ ของอารยธรรมสมัยใหม่ จิตวิญญาณจึงเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลแต่ละคน ..อนิจจาประชาโลกที่น่าสงสาร

 

          คาร์ล จี. จุง นั้นเป็นเหลนของเกอร์เธ-นักปรัชญาและกวีเอกของเยอรมนี ผู้แต่งกวีเรื่อง "เฟาสต์" (Faust and Mephistopheles) ซึ่งมีอิทธิพลเหมือนเป็นด้าน "มืด" หรือชั่วร้ายที่แทบว่าทุกคนมีอยู่ในตัวของตัวเอง ซึ่งว่าไปแล้วนับได้ว่าคือปรัชญาของอารยธรรมตะวันตกที่แท้จริง คาร์ล จุง คิดว่าเขาคือเฟาสต์ เป็นด้าน "มืด" ของคาร์ล จุง นั่นเอง ที่ทำให้เขาลืมและไม่ยอมรับในกรรมร่วมโดยรวมในตอนแรก-ปู่แท้ๆ ของคาร์ล จุง เป็นลูกชายลับๆ นอกสมรสของเกอร์เธ คาร์ล จุง ที่ตอนแรกไม่เชื่อในเรื่องกรรมโดยรวม (collective karma) เพราะไม่น่าเป็นไปได้ที่คนเราจะต้องรับผลกรรมที่ตนไม่ได้กระทำ-หากว่าผลกรรมนั้นเป็นผลของการกระทำจริงๆ ตามที่เป็นปรัชญาของอินเดียโบราณ ซึ่งคาร์ล จุง คุ้นเคยดี ทั้งที่ในตอนแรกไม่ค่อยเชื่อเท่าไรนัก-อย่างไรก็ดี ตอนหลังจุงได้ยอมรับกรรมร่วมโดยรวมทั้งหมดโดยดุษณี

 

          ที่ผู้เขียนพูดมานั้น คือเรื่องของผัสสะหรือการสัมผัส และการรับรู้ที่เราสัมผัสด้วยประสาทความรู้สึกอันอยู่เบื้องหลังของการกระทำหรือกรรมของเรา-ทั้งมโนกรรม วจีกรรม กายกรรม ทั้งดีและไม่ดี-ที่คิดว่าจริงทางเต๋าและพุทธ และเดี๋ยวนี้แม้ในทางวิทยาศาสตร์เองโดยควอนตัมฟิสิกส์ เรา-ท่านจำนวนไม่น้อยรู้ว่าไม่ใช่ความจริงแท้ นั่นคือความเป็นสอง (dualism) ที่ผู้เขียนได้พูดได้เขียนลงในคอลัมน์นี้หลายครั้งหลายหนแล้ว ความเป็นสองที่อาจทำให้ผู้อ่านบางทีสับสนเพราะความไม่คุ้น ที่จริงมีความหมายของคำว่า "หลง" (delusion) ในโลภ โกรธ หลง ที่เราคนไทยคุ้นกว่า ความเป็นสองหรือ "หลง" ที่ทำให้เราแยกไม่ออกระหว่างตัวตนของเรา (Self) ที่เรารับรู้ กับโลกภายนอก-ด้วยตา หู กายสัมผัส ฯลฯ ของเราเองจากโลกภายนอก และภายในอันผิวเผินจากความจำจากสิ่งภายนอกนั้นแหละในอดีตที่เราระลึกได้ ซึ่งก็คือความคิดนั่นเอง-ที่เห็น ได้ยิน และรู้สึกด้วยการสัมผัสและอื่นๆ (หรือ senses) อันเป็นการรับรู้ของเราเอง ทำให้เราแยกส่วนเป็นอัตวิสัย (subject) และภาวะวิสัย (object) หรือผู้สังเกต (observer) และสิ่งที่ถูกสังเกต (observed) ซึ่งเป็นพื้นฐานของความรู้ และระบบทุกระบบที่เรามีเราใช้ทั้งหมด ซึ่งก็คืออารยธรรมตะวันตกนั่นเอง โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจการตลาดเสรี-ที่เราชาวตะวันออกคลั่งไคล้ใหลหลงกันเป็นนักหนา ไม่ว่าคำว่าโลกาภิวัตน์ การแข่งขันกัน บริโภคนิยม เทคโนโลยี จีดีพีความก้าวหน้า กระทั่งวัตถุนิยมแมทีเรียลิสม์ทั้งหลายทั้งปวง ที่กล่าวมานั้นถือได้ว่าเป็นหัวใจ หรืออย่างน้อยก็เป็นอุดมการณ์ของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม การตลาดเสรี ระบบเศรษฐกิจที่ทุกชุมชนสังคมประเทศชาติ ทั่วทั้งโลกใช้หรือปรารถนากันถ้วนหน้า ทั้งเพื่อปัจเจกบุคคลและเพื่อสังคมประเทศชาติ รวมทั้งสังคมรัฐสวัสดิการและประเทศสังคมนิยมมาร์กซิสม์ โดยไม่เคยแยแสต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อม หรือว่าจะมีวิสัยทัศน์ต่อความยั่งยืนของระบบนิเวศน์วิทยาเลยแม้แต่น้อย นักเศรษฐศาสตร์บางคนในประเทศด้อยพัฒนา กำลังพัฒนา จะใช้คำพวกนี้บางคำด้วยซ้ำเพื่อแสดงวุฒิภาวะของตัว...อนิจจา

 

          ผู้เขียนและคนจำนวนไม่น้อยของโลก มีความเชื่อมั่นหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า การพัฒนาชาติในรูปแบบที่เรากำลังทำอยู่ หรือว่าอารยธรรม "สมัยใหม่" และระบบทุกระบบที่เราสร้างขึ้น พร้อมกับนำมาใช้พัฒนาสังคมเพื่อคุณภาพของชีวิตมนุษย์แต่เพียงเผ่าพันธุ์เดียวนั้น ผิดทั้งธรรมชาติและคุณธรรม (virtue) อย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้เพราะว่าทั้งหมดนั้น ไม่เคยและไม่ได้ตั้งอยู่บนความรู้ที่เป็นความจริงที่แท้จริงเลยแม้แต่น้อยนิด หากแต่ตั้งบนความรู้ที่ได้มาจากความรู้สึก หรือเวทนา หรือประสาทสัมผัส (senses) เช่นที่ตาเห็น หูได้ยิน บอกเรา ซึ่งความรู้สึกเรื่องของเวทนาและอารมณ์ จะเป็นความจริงที่แท้จริงได้อย่างไร? ที่เห็นหรือได้ยินจึงเป็นเรื่องของความเป็นสอง (dualism) หรือความจริงทางโลกทางสังคม ที่ไกลจากความจริงแท้นัก-ทั้งในทางศาสนากับในปัจจุบัน ทางฟิสิกส์แห่งยุคใหม่-ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้นความรู้กับระบบทุกๆ ระบบที่เป็นพื้นฐานที่เราสร้างหรือใช้กันทั้งโลกนั้น จึงผิดและผิดอย่างว่ามาตั้งหลายร้อยปี

 

          จากวันนั้น-เมื่อหลายร้อยปีที่ว่านั้น-ถึงวันนี้ มนุษยชาติได้มีวิวัฒนาการทางกายแทบจะเสร็จสิ้นแล้ว จึงมีแต่วิวัฒนาการทางสังคมมาตลอดเวลา วิวัฒนาการของสังคมมนุษย์นั้น ส่วนใหญ่มากๆ โดยเฉพาะตั้งแต่ยุคของเหตุผล หรือตั้งแต่มากกว่า 500 ปีมานี้ แทบว่าจะขึ้นต่อกับความรู้ (knowledge) โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยาศาสตร์กายภาพที่ตาเห็น หูได้ยิน ฯลฯ แทบว่าเพียงอย่างเดียว ซึ่งความรู้ที่เรารับรู้จากประสาทสัมผัส (senses) ของเราที่ล้วนแล้วแต่ไม่จริงอย่างแท้จริง เป็นแต่ความรู้สึก เป็นเวทนาที่แยกออกจากอารมณ์ไม่ได้ เว้นเสียแต่ว่ามนุษย์เราจะมีวิวัฒนาการทางจิตสู่จิตวิญญาณ (spirituality) ดังที่ได้กล่าวมาแล้วมาตลอดเวลา ดังนั้นระบบทุกๆ ระบบของสังคมที่มนุษย์คิดสร้างขึ้นในระหว่างการเจริญเติบโต-แล้วนำมาใช้พัฒนาสังคม

 

          ความรู้เหล่านั้นจึงเป็นความรู้แห่งความรู้สึกทั้งสิ้น เสมือนมีม่านบังตาปิดเอาไว้ จึงหาใช่ความจริงที่แท้จริงไม่-มนุษย์เรากำลังเริ่มจะมีการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการทางจิตสู่จิตวิญญาณบ้างแล้วแม้ในขณะนี้ แต่จะประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางจิตอย่างแท้จริงและทั่วทั้งโลก ก็เมื่อภายหลังการสูญเสียอย่างยิ่งใหญ่อย่างปุบปับฉับพลันทันทีทันใด จากมหาภัยธรรมชาติอันสุดจะคาดคิดภายใน 2012-13 นี้เป็นส่วนใหญ่

 

          ดังที่ผู้เขียนได้เขียนในช่วงหลังๆ มานี้ หลังจากปี 2013 หรือภายในทศวรรษนี้เป็นต้นไป มนุษยชาติ-ส่วนที่เหลือที่จะมีไม่มากนัก-ก็จะไม่หวนกลับไปใช้รูปแบบของสังคมเก่าเดิม หรือกระบวนทัศน์เก่าๆ เดิมๆ อีกเลย รวมทั้งความรู้ที่ตั้งอยู่บนประสาทสัมผัสความรู้สึก หรือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกายภาพเพียงอย่างเดียวอีก กระบวนทัศน์ใหม่ของสังคมทั้งหลายทั้งปวงจะต้องมีจิตนำกาย หรือให้ยิ่งกว่านั้นให้จิตวิญญาณ (spirituality) เป็นฝ่ายนำอารยธรรมที่เราเคยเรียกว่าอารยธรรม "สมัยใหม่" อันมีกิเลสตัณหาและอวิชชาเป็นหลักการแต่เพียงด้านเดียวจริงๆ กับการมองมนุษยชาติเป็นสัตว์ ด้วยการมองด้านของรูปกายและวัตถุหรือชีววิทยาเพียงอย่างเดียว ก็จะจบสิ้นหมดลง

 

          ตั้งแต่นี้ต่อไปมนุษยชาติก็จะอยู่กับความจริงที่แท้จริง อยู่กับฟิสิกส์ใหม่ที่ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีความแน่นอน มีแต่ไหลเลื่อนเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงโดยเชื่อมโยงกันกับทั้งหมด ตามทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์และทฤษฎีควอนตัม ทั้งสองทฤษฎีซึ่งจักรวาลให้มา เพื่อให้เรารู้และพิสูจน์ความจริงแท้นั้น

 

          ตั้งแต่ต่อไปนี้ (ด้วยวิวัฒนาการของจิตวิญญาณ หรือ noogenesis) มนุษยชาติจะได้อยู่กับความถูกต้องเสียที พอกันทีกับสังคมแยกส่วนที่แตกแยก พอกันทีกับเศรษฐกิจบริโภคนิยม การตลาดเสรีที่เอื้อแต่ความโลภ พอกันทีกับการเหยียบย่ำเอาเปรียบสิ่งแวดล้อม-ระบบนิเวศน์ธรรมชาติ พอกันทีกับการก่อการร้ายและสงคราม ฯลฯ ได้เวลาแล้วที่มนุษยชาติจะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่เต็มรูปแบบ และมีจิตวิวัฒน์สู่ระดับจิตวิญญาณไล่สูงขึ้นไปเสียที.

 

          ลุงพูน ขออนุญาต นำบทความของท่าน นพ.ประสาน ต่างใจ มาลงในเวบ "บ้านสวนพอเพียง" ด้วยครับ เป็นบทความเกี่ยวกับวิทยศาสตร์สมัยใหม่ ที่เราอาจจะไม่เคยเรียนรู้มาก่อน เป็นบทความที่ท่านได้เขียนขึ้น กว่าสิบปีมาแล้ว สิ่งที่ท่านเขียนก็เริ่มปรากฏขึ้นมาให้เห็นกันบ้างแล้วในปัจจุบัน สมาชิกในกลุ่มเห็นเป็นอย่างไรบ้าง ติชมกันได้นะครับ หรือเห็นว่าไม่เหมาะสม หรือไม่ตรงกับ เรื่องราวสำหรับ บ้านสวนพอเพียง ก็แนะนำกันได้ครับ

ความเห็น

สวัสดีค่ะลุงพูน โดยส่วนตัว ชอบสวนป่า ของลุงพูน มากกว่าค่ะ สวย ร่มรื่น ทำให้สบายใจ ..... ขอบคุณนะคะ