เตรียมตัวซื้อตั๋วไปตาย (บันทึกการเดินทางไกลสู่ภายใน ตอนที่1)

หมวดหมู่ของบล็อก: 

จากบล๊อกเรื่องมรณกรรมที่งดงาม ผมได้กล่าวถึงคุณชัยพงษ์ กิตตินราดรไว้ว่า ท่านเป็นตัวอย่างของการขึ้นขบวนรถตายในแบบที่เรียกได้ว่า "มรณกรรมที่งดงาม" ถึงตอนนี้ผมขอนำท่านสมาชิกฯ ได้ลองสัมผัสช่วงหนึ่งของการปฏิบัติธรรมของท่าน (คุณอาชัยพงษ์ปฏิบัติธรรมหลายแนวทาง ตามจริตของท่านที่เป็นศิลปิน) ที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมของมูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากรรมฐานแห่งประเทศไทย ท่านได้บันทึกความทรงจำในแต่ละวันและได้บรรยายด้วยสำนวนโวหารของศิลปินอีกทั้งยังมีภาพวาดสีน้ำอีกด้วย นับว่าควรค่าต่อการรับชมเป็นอย่างยิ่ง จึงอดไม่ได้ที่จะนำมาแบ่งปันกับเพื่อนๆสมาชิกบ้านสวน


บันทึกการเดินทางไกลสู่ภายใน ตอนที่1


อาจารย์ Sayagyi U Ba Khin ผู้ที่เป็นอาจารย์ของ ท่าน S.N. Goenka ได้รับยกย่องว่าเป็นปรมาจารย์ทางวิปัสสนาที่มีชื่อเสียงที่สุดท่านหนึ่งแห่งประเทศพม่า หลังจากที่วิธีปฏิบัติที่ถือเป็นวิธีการดั้งเดิมที่พระพุทธองค์ทรงสอนได้หายสาบสูญไปอย่างสิ้นเชิงจากประเทศต้นกำเนิดที่อินเดีย แม้แต่ศัพท์คำว่า “วิปัสสนา” ก็ไม่มีผู้ที่รู้จักและไม่มีในพจนานุกรมของประเทศ อีกต่อไป

ประเทศพม่าถือว่าโชคดีที่วิธีปฏิบัติดั้งเดิมได้รับการถ่ายทอดมาอย่างบริสุทธ์จากสายตรงที่ได้รับการเผยแผ่จากอินเดียตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ต่างจากประเทศไทยอยู่บ้างที่พุทธศาสนาและวิธีปฏิบัติในการทำวิปัสสนากรรมฐานได้รับมาทางอ้อมจากพุทธศาสนาสายลังกาวงค์ซึ่งผ่านมาทางประเทศศรีลังกาที่เข้ามามีอิทธิพลเมื่อกว่าพันปีก่อน

หลังจากที่ ท่าน U Ba Khin ได้รับการถ่ายทอดวิธีปฏิบัติจากวิปัสสนาจารย์ที่เป็นภิกษุชาวพม่า ท่าน Goenka ชาวอินเดียผู้ที่เกิดและอาศัยอยู่ในพม่าได้ร่ำเรียนวิชาจาก U Ba Khin และได้รับประโยชน์มากมายจากการได้ปฏิบัติ กระทั่งนำเอาสิ่งที่ตนเองได้รับเผยแผ่ไปทั่วโลก ปัจจุบันมีศูนย์วิปัสสนาตามแนวทางดังกล่าวที่สอนโดยท่าน Goenka กว่าร้อยแห่งทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย

ประมาณสิบปีที่แล้วผมมีโอกาสไปอบรมวิปัสสนากรรมฐานของท่าน Goenka ที่ศูนย์ ธรรมกมลา ที่จังหวัดปราจีนบุรี การเข้าอบรมปฏิบัติที่นี่ได้รับการกล่าวขวัญในเรื่องความยากและความเข้มงวดที่สุดแห่งหนึ่ง ตลอดระยะเวลาอบรมในแบบสิบวัน มีข้อห้ามมากมาย ต้องถือศีลห้า และถ้าเป็นศิษย์เก่าต้องถือศีลแปดอย่างเคร่งครัด ห้ามติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง ไม่รู้ข่าวสารใดๆด้วยวิธีการใดๆจากโลกภายนอก ห้ามเอ่ยปากพูดคุย หรือส่งสัญญาณใดๆ หรือแสดงท่าทางใดๆกับผู้ร่วมปฏิบัติคนอื่นๆที่เขาเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Noble Silence ห้ามแม้กระทั่งมองหน้ากันหรือสบตากันโดยตรง การเคลื่อนไหวทุกอย่างต้องกระทำอย่างมีสติและเงียบที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การเปิดปิดประตู การทานอาหาร และอิริยาบททุกอย่างในชีวิตประจำวัน ไม่อนุญาตให้มีการนำสิ่งของมีค่าใดๆเข้าไปรวมทั้งหนังสือ เครื่องเขียน สมุดบันทึก กระเป๋าเงินและโทรศัพย์มือถือต้องฝากเจ้าหน้าที่ที่เรียกกันว่า “ธรรมบริกร”ก่อนการอบรม อาหารที่ทานก็เป็นมังสะวิรัต และทานแค่วันละสองมื้อ มื้อเย็นเป็นน้ำปานะ แต่มื้อเย็นอาจมีข้อยกเว้นสำหรับผู้ที่สุขภาพไม่ดีสามารถทานได้บ้าง ที่สำคัญคือตื่นตีสี่ แล้วตั้งแต่ตีสี่ครึ่งจนกระทั่งกลางคืนสามทุ่ม มีแต่นั่ง นั่ง นั่ง นั่ง และนั่ง..... ขัดสมาธิครับ ตลอดสิบวันติดต่อกัน


สิ่งที่ผมกลัวคือการนั่งแบบที่เรียกว่าชั่วโมงอธิษฐาน ตั้งแต่วันที่สี่เป็นต้นไปจะมีชั่วโมงอธิฐานวันละสามครั้ง ครั้งละหนึ่งชั่วโมงเต็มๆ เพื่อแสดงความมุ่งมั่นและเอาจริงต่อการปฏิบัติ ในชั่วโมงอธิษฐานนั่งแล้วต้องไม่เปลี่ยนท่าหรือไม่กระดุกกระดิกเลยตลอดชั่วโมง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ไม่ง่ายนะครับจะบอกให้.............

การไปเข้าร่วมการปฏิบัติครั้งนี้ผมไปตามคำขอร้องของลูกชายคนเล็ก เขาไปอบรมมาแล้วสองครั้งและอยากให้ผมไป ความจริงหลังจากอบรมครั้งแรกเมื่อสิบปีก่อนผมได้อะไรบางอย่างกลับมา แต่ตลอดระยะเวลาสิบปีจากนั้นผมก็ได้ศึกษาการปฎิบัติอย่างต่อเนื่องมาตลอดตามประสาคนชอบศึกษา จนรู้สึกว่าตนเองมองเห็นวิธีปฏิบัติที่เป็นของตนเองซึ่งต่างออกไปจากวิธีการของที่นี่ไปมาก ก่อนเดินทางสองคืนผมสะดุ้งตื่นกลางดึก คิดถึงความทรหดและยากลำบากของการปฏิบัติของที่นี่ ผู้ที่ไม่ศรัทธาและมีความมุ่งมั่นจริงไม่มีทางผ่านการปฏิบัติตลอดสิบวันของที่นี่ได้ ผมไม่มีความมั่นใจพอ นอนไม่หลับตลอดคืนวันนั้น

วันที่หนึ่ง


ของการปฏิบัติ ช่วงเช้าผมเห็นฝรั่งผมสั้นที่พักอยู่ห้องตรงข้าม ท่าทางน่าจะเป็นชาวเยอรมันแบกกระเป๋าหลบออกไปทางด้านหลังแล้วหายตัวไป พอตกบ่ายฝรั่งหนุ่มๆที่อยู่ห้องข้างผมแบกเป้ใบใหญ่หายตัวไปอีกคน ทั้งๆที่สถานที่ที่ไปอยู่ลึกเข้าไปหลังหมู่บ้าน ที่เรียกว่าบ้านห้วยพลู ที่จังหวัดพิษณุโลก อยู่ลึกเข้าไปในหุบเขาที่เป็นเขตต่อแดนกับบ้านสากเหล็กของจังหวัดพิจิตร การเข้าออกไม่ง่ายเลยและอยู่ห่างจากถนนใหญ่มาก ผมเองก็นั่งปฏิบัติด้วยความรู้สึกทุกข์ทรมานอย่างมาก

วันแรกแต่ละชั่วโมงผ่านไปอย่างลำบาก ช่วงบ่ายอาการคล้าย Claustrophobia กำเริบหนัก ผมไม่เป็นบ่อยนักและไม่เคยคิดว่าจะเป็นปัญหา แต่นั่งไม่ได้เลยพอนั่งขัดสมาธิเกิดอาการผมต้องลุกหนีทันที นี่เพิ่งเริ่มนะอีกตั้งเก้าวันกว่าแนะ ใจเต้นระส่ำ มือเย็นเท้าเย็นกว่าอีก แต่ละนาทีผ่านไปด้วยความทุกข์ทรมาน

คืนนั้นเป็นคืนแห่งความทุกข์ทรมาน ภายในห้องแคบขนาดประมาณ 2.2*1.8เมตร ผมเดินไปมาและคิดอย่างสิ้นหวังทั้งคืน ตลอดคืนนั้นไม่ได้นอนเลยคิดไปเรื่อย แต่ดูเหมือนความกลัวจะเข้าครอบงำ ไม่เคยคิดเลยว่าเราจะมีสภาพเช่นนี้ได้ จนตีสี่ระฆังดังผมโดดร่มในช่วงเช้านั้น พอหกโมงเช้า ผมจัดกระเป๋าตอนมาผมเอาเสื้อผ้าออกจากกระเป๋ามาไว้ข้างนอกหมด

ผมตัดสินใจแล้ว ผมจะ “หนี”


 ...................................อ่านต่อ


จากความคิดเดิมที่จะเล่าประสบการณ์ในการเข้ารับการอบรมวิปัสสนาที่ศูนย์ธรรมกาญจนาแต่บังเอิญได้ไปอ่านพบบันทึกฉบับนี้เข้าให้ น่าสนใจและละเอียดดีมาก เลยขอโอกาสนำมาให้เพื่อนๆสมาชิกฯผู้สนใจได้อ่านกันเลยดีกว่า เป็นบันทึกในการเข้าปฏิบัติธรรมครั้งที่สองของคุณชัยพงษ์ กิตตินราดร ณ.ศูนย์วิปัสสนาธรรมอาภา จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของท่านที่ http://www.bwfoto.net ด้วยความเป็นศิลปินของคุณชัยพงษ์เอง การบันทึกเหตุการณ์ต่างๆจึงมีทั้งสาระและอรรถรสในเชิงวรรณกรรม อีกทั้งยังมีภาพวาดบันทึกความทรงจำเหล่านั้นอีกด้วยจึงทำให้บันทึกฉบับนี้มีคุณค่าและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ขณะที่ข้าพเจ้าส่งอีเมลล์ไปเพื่อขออนุญาตินำบทความไปลงในวารสารทางหลวง โดยที่ไม่ทราบมาก่อนว่าคุณชัยพงษ์ได้อำลาโลกนี้ไปแล้วอย่างสงบและสง่างามสมกับสภาวะธรรมของท่าน แต่ก็ได้รับคำตอบจากคุณชิตพงษ์ลูกชายว่าทางครอบครัวมีความยินดีในการเผยแพร่บทความนี้ในวันถัดมา กุศลและผลบุญใดๆที่เกิดขึ้นจากธรรมทานของบันทึกนี้ อุทิศให้แด่ดวงวิญญาณของคุณชัยพงษ์ กิตตินราดร


 


 

ความเห็น

เพราะการอ่านซ้ำ ทำให้ คิดอย่างมีองค์ประกอบได้ค่ะ ขอบคุณค่ะ

#แตกต่าง.แต่.ไม่แตกแยก#

ขออ่านผ่าน ๆ ก่อนนะคะ  เดี๋ยวจะมาอ่านแบบลึก ๆ อีกหลาย ๆ รอบ

อ่านตามที่ลุงพีเล่ามา..สรุปได้เลย..คนอย่างผมไม่มีทางทำได้..เอาแค่นั่งนิ่งๆสงบและพยามกำหนดสติให้ระลึกอยู่เสมอ ไม่ไหลลื่นไปกับสิ่งเร้าภายนอก..แม้หลับตา..ยังทำได้ไม่เกิน 10 นาที..มันรู้สึกร้อนๆยังไงไม่รู้..เคยลองหลายครั้ง..ดูจะเป็นทุขกิริยา..เสียมากกว่า..

แสวงหาชีวิตที่สงบ..หลบลี้หนีความวุ่นวาย